ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 535อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 540อ่านอรรถกถา 12 / 551อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬยมกวรรค
โกสัมพิยสูตร ทรงโปรดภิกษุชาวเมืองโกสัมพี

               อรรถกถาโกสัมพิยสูตร               
               โกสัมพิกสูตรมีคำเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ :-
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า "ใกล้กรุงโกสัมพี" ความว่า ใกล้พระนครมีชื่ออย่างนี้.
               ทราบว่า ได้มีต้นเล็บเหยี่ยวอย่างหนาแน่นในที่มีสวนและสระโบกขรณีเป็นต้นเหล่านั้นๆ แห่งพระนครนั้น เพราะฉะนั้น พระนครนั้นได้ถึงการนับว่า โกสัมพี. อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า ชื่อว่าโกสัมพี เพราะฤาษี ชื่อกุสัมพะ ให้สร้างไว้ไม่ไกลจากอาศรม.
               บทว่า "โฆสิตาราม" ได้แก่ อารามที่โฆสิตเศรษฐีให้สร้างไว้.
               ได้ยินว่า ในครั้งก่อนได้มีแว่นแคว้นชื่อว่า อทิละ
               ลำดับนั้น คนเข็ญใจคนหนึ่งชื่อ โกตุหลิก เพราะเกิดฉาตกภัย จึงพร้อมด้วยบุตรและภรรยาไปแว่นแคว้นที่กำหนดตามคันนา เมื่อไม่อาจจะพาบุตรไปได้ จึงทิ้งแล้วไป. มารดาได้กลับมาอุ้มบุตรนั้นไป. ทั้งสองคนนั้นเข้าไปยังบ้านผู้เลี้ยงโคหลังหนึ่ง.
               ก็ครั้งนั้น คนทั้งหลายได้จัดแจงข้าวปายาสอย่างมากไว้เพื่อผู้เลี้ยงโคทั้งหลาย สามีภรรยาทั้งสองนั้นได้ข้าวปายาสจากบ้านนั้นบริโภคแล้ว.
               ขณะนั้น เมื่อบุรุษนั้นบริโภคข้าวปายาสมาก ไม่อาจจะให้ย่อยได้ ตายลงตอนกลางคืน ถือปฏิสนธิเกิดเป็นลูกสุนัขในท้องของสุนัขตัวเมียในบ้านนั้น. ลูกสุนัขนั้นได้เป็นที่รัก ที่โปรดปรานของผู้เลี้ยง.
               ก็ผู้เลี้ยงโคได้บำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าอยู่. ถึงพระปัจเจกพุทธเจ้า เมื่อฉันเสร็จแล้ว ก็ให้ก้อนข้าวก้อนหนึ่งแก่ลูกสุนัขนั้น. มันทำความรักให้เกิดในพระปัจเจกพุทธเจ้า ไปบรรณศาลากับผู้เลี้ยงโค. เมื่อผู้เลี้ยงโคไม่ได้ตระเตรียม ลูกสุนัขนั้นก็ไปในเวลาฉันด้วยตนเองแล้วเห่าที่ประตูบรรณศาลา เพื่อจะบอกเวลา. แม้เมื่อเห็นเนื้อร้ายระหว่างทางก็เห่าให้หนีไป.
               ลูกสุนัขนั้นมีจิตอ่อนโยนในพระปัจเจกพุทธเจ้า ตายแล้วเกิดในเทวโลก.
               ครั้งนั้น เทพบุตรนั้นได้มีชื่อว่า โฆสกเทพบุตร. เมื่อเคลื่อนจากเทวโลกได้เกิดในเรือนตระกูลหลังหนึ่งในกรุงโกสัมพี. เศรษฐีเป็นผู้ไม่มีบุตร จึงให้ทรัพย์แก่บิดามารดาของเด็กนั้นพามาเป็นบุตร.
               ลำดับนั้น เมื่อบุตรของตนเกิด เศรษฐีนั้นได้พยายามเพื่อจะฆ่าถึงเจ็ดครั้ง. เด็กนั้นเพราะตนมีบุญไม่ถึงความตายในที่ ๗ แห่ง ครั้งสุดท้ายได้ชีวิตเพราะความฉลาดของธิดาเศรษฐีคนหนึ่ง. ต่อมา เมื่อบิดาล่วงไปจึงได้ตำแหน่งเศรษฐีชื่อว่า โฆสิตเศรษฐี.
               ในกรุงโกสัมพีมีเศรษฐีอื่นอยู่แล้ว ๒ คน คือกุกกุฏเศรษฐี ๑ ปาวาริกเศรษฐี ๑ รวมโฆสิตเศรษฐีนี้เข้าด้วยจึงมี ๓ คน.
               ครั้งนั้น พวกเศรษฐีผู้เป็นสหายกันนั้นมีฤาษี ๕๐๐ เป็นชีต้นอยู่เชิงภูเขา. บางครั้งบางคราว พวกฤาษีนั้นจะมาถิ่นของมนุษย์เพื่อต้องการเสพรสเค็มและเปรี้ยว. คราวหนึ่งในฤดูร้อน เมื่อไปถิ่นมนุษย์ได้ก้าวถลำที่กันดารอย่างมาก หาน้ำมิได้ เมื่อสุดที่กันดารแล้ว เห็นต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง คิดกันว่า "ในต้นไม้นี้น่าจะมีเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่สิงอยู่แน่ จะเป็นความดี ถ้าเทวดานั้นจะพึงให้น้ำดื่มและของควรบริโภคแก่พวกเรา".
               เทวดารู้อัธยาศัยของพวกฤาษีนั้น จึงคิดว่า เราจะสงเคราะห์พวกฤาษีนี้ด้วยอานุภาพตน จึงบันดาลให้สายน้ำประมาณงอนไถ ไหลจากระหว่างคบไม้.
               หมู่ฤาษีเห็นเกลียวน้ำเหมือนลำแท่งเงิน จึงเอาภาชนะของตนตักน้ำบริโภค พากันคิดว่า "พวกเราเทวดาให้น้ำดื่ม ก็ป่าใหญ่นี้ไม่มีหมู่บ้าน จะพึงเป็นความดีหนอ ถ้าเทวดาจะให้อาหารแม้แก่พวกเรา.
               เทวดาจึงให้ข้าวต้มและของขบเคี้ยวที่เป็นทิพย์เป็นต้น ให้อิ่มหนำแล้วด้วยอำนาจการเข้าไปสำเร็จแก่พวกฤาษี.
               พวกฤาษีต่างพากันคิดว่า พวกเราเทวดาให้ของทุกอย่าง ไม่ว่าเป็นน้ำดื่มและอาหาร ถ้าเทวดาจะพึงแสดงตนแก่พวกเราก็จะดีหนอ. พวกฤาษีนั้นจึงกล่าวว่า ท่านเทวดา สมบัติของท่านมาก ทำกรรมอะไรไว้ จึงบรรลุสมบัตินี้"
               ท. ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทำกรรมนิดหน่อยไม่ใหญ่โตอะไร
               ก็เทวดาอาศัยอุโบสถกรรมกึ่งหนึ่งจึงได้สมบัตินั้น.
               ได้ยินว่า ครั้งนั้น เทพบุตรนี้ได้เป็นคนงานในเรือนของท่านอนาถบิณฑิกะ. เพราะว่าในเรือนของเศรษฐี ทุกวันอุโบสถ คนทั้งหมดโดยที่สุดทาสและคนงานก็เป็นผู้รักษาอุโบสถ.
               วันหนึ่ง คนงานนี้ผู้เดียวเท่านั้น ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ไปทำงาน. มหาเศรษฐีเมื่อได้กำหนดมนุษย์ผู้ที่ควรจะได้อาหารทั้งหลาย ได้รู้ว่า "เขาคนเดียวเท่านั้นไปป่าเสียแล้ว" จึงได้ให้จัดอาหารไว้เพื่อเวลาเย็น. หญิงรับใช้ผู้เป็นแม่ครัวหุงข้าวเพื่อเขาคนเดียวเท่านั้น เมื่อเขากลับจากป่าจึงได้คดข้าวไปให้.
               คนงานจึงกล่าวว่า "เวลานี้วันอื่นๆ ทั้งเรือนได้มีเสียงอย่างเดียว วันนี้เงียบสนิทเหลือเกิน นี่เหตุอะไรหนอแล". แม่ครัวนั้นบอกแก่เขาแล้วว่า "วันนี้ในเรือนนี้คนทั้งหมดเป็นผู้รักษาอุโบสถ มหาเศรษฐีได้ให้จัดอาหารเฉพาะท่านผู้เดียว".
               ก. จริงหรือแม่.
               ท. จริงจ๊ะ.
               ก. ผู้สมาทานอุโบสถเวลานี้จะเป็นอุโบสถกรรมหรือไม่ แม่ ท่านจงถามมหาเศรษฐีอย่างนี้เถิด".
               มหาเศรษฐีถูกหญิงรับใช้ไปถามจึงกล่าวว่า "ไม่เป็นอุโบสถทั้งหมดหรอก แต่จะเป็นอุโบสถกึ่งหนึ่ง เขาจงรักษาอุโบสถเถิด." คนงานนั้นจึงไม่บริโภคอาหาร บ้วนปาก รักษาอุโบสถไปที่อยู่ของตนแล้วนอน เมื่อเขามีร่างกายสิ้นอาหาร ลมได้กำเริบแล้วในกลางคืน ตายเวลาเช้ามืด เกิดเป็นเทพบุตรที่ต้นไทรในดงไทรใหญ่ เพราะผลเป็นเครื่องไหลแห่งอุโบสถกรรมกึ่งหนึ่ง.
               เทพบุตรนั้นบอกความเป็นไปนั้นแก่พวกฤาษี.
               ฤ. ท่านประกาศบอกสิ่งที่เราไม่เคยได้ยินว่า พระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ ให้ได้ยินว่า "พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลกแล้วหรือหนอ.
               ท. ทรงอุบัติขึ้นแล้วครับ ท่านผู้เจริญ.
               ฤ. บัดนี้ ประทับอยู่ที่ไหน
               ท. ทรงอาศัยกรุงสาวัตถีประทับอยู่ในพระเชตวัน ท่านผู้เจริญ.
               ฤ. ท่านจงหยุดก่อนเถิด พวกข้าพเจ้าจักเฝ้าพระศาสดา ต่างร่าเริงยินดี ออกไปถึงพระนครโกสัมพีโดยลำดับ.
               พวกมหาเศรษฐีทราบว่าฤาษีทั้งหลายมาแล้ว จึงต้อนรับแล้วว่า ท่านขอรับ พรุ่งนี้ขอจงรับภิกษาของพวกข้าพเจ้า. ครั้งถึงวันรุ่งขึ้นก็ได้ถวายมหาทานแก่คณะฤาษี. พวกฤาษีฉันแล้ว จึงถามกันว่า พวกเราจะไปกันนะ.
               ศ. ท่านผู้เจริญ. พระคุณเจ้าเวลาอื่นละก็พักอยู่เดือน ๑ บ้าง ๒ เดือนบ้าง ๓ เดือนบ้าง ๔ เดือนบ้างจึงจะไป แต่ครั้งนี้มาเมื่อวานนี้กล่าวว่า พวกเราจะไปวันนี้จริงๆ นี้เหตุอะไร.
               ฤ. ใช่แล้ว ท่านคฤหบดี. พระพุทธเจ้าทรงอุบัติในโลกแล้ว เราไม่สามารถรู้อันตรายชีวิตได้ เพราะเหตุนั้น พวกเราจึงรีบไป.
               ศ. ท่านครับ ถ้าเช่นนั้น แม้พวกข้าพเจ้าก็จะไปด้วย ขอพวกท่านจงไปรวมกับพวกข้าพเจ้าเถิด.
               ฤ. พวกท่านชื่อว่าเป็นมหาชนอยู่ครองเรือน จงหยุดอยู่ก่อน พวกข้าพเจ้าจะไปก่อนดังนี้ พากันออกไป ไม่พักที่หนึ่งเกิน ๒ วัน ได้ไปอย่างรีบร้อนนั่นเทียว ถึงเมืองสาวัตถีแล้วจึงมาสำนักพระศาสดาในพระเชตวันวิหาร. ทั้งหมดนั่นเทียวฟังธรรมกถาอย่างไพเราะในที่นั้น บวชแล้ว ได้บรรลุพระอรหัตต์.
               ฝ่ายเศรษฐีทั้ง ๓ ขับเกวียนไปคนละ ๕๐๐ เล่มบรรทุกเนยใส น้ำผึ้ง น้ำอ้อยและผ้าเปลือกไม้เป็นต้น ออกจากกรุงโกสัมพีถึงเมืองสาวัตถีโดยลำดับ ผูกค่ายใกล้พระเชตวัน พากันไปสำนักพระศาสดา ถวายบังคมทำปฏิสันถารแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
               พระศาสดาได้ตรัสธรรมกถาอย่างไพเราะแก่สหายแม้ทั้ง ๓. พวกเศรษฐีเหล่านั้นเกิดโสมนัสอย่างแรง ทูลนิมนต์พระศาสดา วันรุ่งขึ้นได้ถวายมหาทาน.
               พวกเขาถวายแล้วทุกวันรุ่งขึ้นๆ รวมความแล้วได้ถวายอย่างนี้ตลอดครึ่งเดือนทีเดียว หมอบที่ใกล้พระบาทกราบทูลว่า "ขอพระองค์จงประทานปฏิญาณเพื่อเสด็จมาชนบทของพวกข้าพระองค์."
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า คฤหบดีทั้งหลาย พระตถาคตเจ้าทั้งหลายย่อมยินดีอย่างยิ่งในเรือนอันว่างเปล่า.
               พวกคฤหบดีต่างกำหนดกันว่า "เหตุเท่านี้ ก็เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประทานปฏิญาณแล้ว" แล้วคิดว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานปฏิญาณแก่พวกเราแล้ว" ถวายบังคมพระทศพลออกไปให้สร้างวิหารทุกๆ หนึ่งโยชน์ระหว่างหนทางถึงกรุงโกสัมพีโดยลำดับ ต่างพากันกล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติในโลกแล้ว.
               ฝ่ายเศรษฐีทั้ง ๓ บริจาคทรัพย์จำนวนมากในอารามของตนๆ ให้สร้างวิหารสำหรับเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาคเจ้า. เศรษฐีทั้ง ๓ นั้น กุกกุฏเศรษฐีให้สร้างกุกกุฏาราม. ปาวาริกเศรษฐีให้สร้างปาวาริกัมพวัน ในป่ามะม่วง. โฆสิตเศรษฐีให้สร้างโฆสิตาราม.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาโฆสิตารามนั้น จึงตรัสว่า ในอารามที่โฆสิตเศรษฐีให้สร้างไว้.
               ในบทเป็นต้นว่า "เกิดความบาดหมาง" ควรทำวิเคราะห์ว่า เบื้องต้นแห่งความทะเลาะ ชื่อว่าความบาดหมาง ความบาดหมางนั้นเกิดแก่ภิกษุเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น ชื่อว่ามีความบาดหมางเกิด. การทะเลาะที่ถึงที่สุดด้วยอำนาจการประมือเป็นต้นเกิดแก่ภิกษุเหล่านั้น เหตุนั้น ชื่อว่าผู้มีความทะเลาะเกิดแล้ว.
               สองบทว่า "วาทะที่ผิดกัน" ความว่า ภิกษุเหล่านั้นถึงการวิวาทนั้น เหตุนั้น ชื่อว่าถึงการกล่าวต่างกัน.
               บทว่า "ด้วยหอกคือปาก" ได้แก่ ด้วยหอกคือวาจาทั้งหลาย.
               บทว่า "เจาะอยู่" คือ แทงอยู่.
               หลายบทว่า "ภิกษุเหล่านั้นไม่ยังกันและกันให้ยินยอม และไม่เข้าถึงความยินยอม" ความว่า ภิกษุเหล่านั้นแสดงเหตุผลแล้วไม่ยินยอมกันและกัน. อธิบายว่า ถ้าปรารถนาจะให้กันและกันยินยอมไซร้. พวกเธอก็จะไม่เข้าถึงความยินยอมแม้อย่างนั้น (ทั้ง) ไม่ปรารถนาเพื่อจะยินยอม. แม้ในการเพ่งเล็งก็นัยนี้.
               คำว่า เห็นในคำว่า เพ่งเล็งนั้น เป็นไวพจน์ของคำว่า "รู้พร้อม"
               ทราบว่า ภิกษุ ๒ รูป คือพระฝ่ายทรงวินัยและพระฝ่ายทรงพระสูตร อยู่วัดเดียวกัน. ทั้ง ๒ รูปนั้น ภิกษุฝ่ายทรงพระสูตร วันหนึ่งเข้าเวจกุฏีเหลือน้ำสำหรับล้างไว้ในภาชนะแล้วออกไป ภิกษุผู้ทรงวินัยเข้าไปภายหลัง เห็นน้ำนั้น ออกมาแล้วถามภิกษุนั้นว่า คุณ น้ำนี้คุณเหลือไว้หรือ.
               ส. ใช่ คุณ.
               ว. ท่านไม่รู้ว่าเป็นอาบัติในเพราะเหตุนั้นหรือ.
               ส. ครับ ไม่ทราบ.
               ว. ช่างเถอะคุณ เป็นอาบัติในข้อนี้.
               ส. ถ้ามี ผมจะแสดง.
               ว. คุณ ก็ถ้าคุณไม่จงใจทำลงไปเพราะขาดสติ คุณก็ไม่เป็นอาบัติ.
               ภิกษุผู้ทรงพระสูตรได้เป็นผู้เห็นว่า ไม่เป็นอาบัติในสิ่งที่เป็นอาบัติ. ภิกษุผู้ทรงวินัยจึงบอกแก่พวกนิสิตของตนว่า ท่านผู้ทรงพระสูตรนี้แม้ต้องอาบัติก็ยังไม่รู้". พวกภิกษุนิสิตของภิกษุฝ่ายวินัยเห็นพวกนิสิตของภิกษุผู้จำพระสูตรจึงกล่าวว่า อุปัชฌาย์ของพวกท่านแม้ต้องอาบัติแล้วก็ไม่รู้ว่าเป็นอาบัติ. ภิกษุผู้นิสิตของภิกษุผู้ทรงจำพระสูตรเหล่านั้นจึงไปบอกแก่อุปัชฌาย์ของตน. ภิกษุผู้ทรงจำพระสูตรจึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระวินัยธรนี้ ครั้งก่อนกล่าวว่าไม่เป็นอาบัติ บัดนี้กล่าวว่าเป็นอาบัติ เขาเป็นคนกล่าวเท็จ". พวกนิสิตของภิกษุผู้ทรงพระสูตรจึงไปกล่าวว่า อุปัชฌาย์ของพวกท่านกล่าวเท็จ ดังนี้ แพร่ความทะเลาะไปสู่กันและกัน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาความทะเลาะนั้น จึงตรัสคำนี้ไว้.
               บทว่า "ได้กราบทูลอย่างนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้า" ความว่า ได้กราบทูลคำเบื้องต้นนั้นว่า พระพุทธเจ้า ข้าพระองค์ขอประทานโอกาส พวกภิกษุในกรุงโกสัมพีเกิดความบาดหมางกันแล้ว. ก็ภิกษุนั้นไม่ได้กล่าวคำนั้น เพราะประสงค์เป็นที่รัก ทั้งไม่ได้กล่าวเพราะต้องการการแตกแยก แต่ที่แท้เพราะต้องการประโยชน์ (และ) ความเกื้อกูล.
               นัยว่า ภิกษุนี้เป็นผู้ทำให้เกิดสามัคคีกัน ฉะนั้นจึงได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ภิกษุเหล่านี้ปรารภการบาดหมางและวิวาทอย่างที่เราและภิกษุอื่นก็ไม่อาจทำให้พร้อมเพรียงกันได้ แม้ไฉนพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงไม่มีผู้เปรียบในโลกพร้อมทั้งเทวโลกเสด็จไปเอง หรือว่ารับสั่งให้เรียกมาสำนักของพระองค์ ตรัสธรรมเทศนาเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน ประกอบด้วยขันธ์และเมตตาแก่ภิกษุเหล่านั้น ก็จะพึงทำให้สมัครสมานกันได้ จึงได้ไปกราบทูล เพราะใคร่ประโยชน์ (และ) ความเกื้อกูล.
               บทว่า "ภิกษุทั้งหลาย. ธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึง ๖ เหล่านี้" ความว่า ปรารภเทศนาด้วยอำนาจความทะเลาะและความบาดหมางในหนหลัง.
               หลายบทว่า "ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึง ๖ มาแล้วในฐานะนี้" ความว่า โกสัมพิกสูตรนี้เป็นอันมาแล้ว ตามความสืบต่ออย่างนี้.
               ในบทนี้ บทว่า "เป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึง" ความว่า เมื่อกาลล่วงไปนาน ไม่ควรลืม เพราะประกอบด้วยธรรมที่ควรระลึกถึง ผู้ใดบำเพ็ญธรรมเหล่านั้น ธรรมเหล่านั้นย่อมทำผู้นั้นให้เป็นที่รักของเพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกัน เหตุนั้น ชื่อว่าเป็นเครื่องทำให้เป็นที่รัก.
               ชื่อว่าเป็นเครื่องกระทำความเคารพ เพราะทำความเคารพ.
               บทว่า "เพื่อสงเคราะห์" ความว่า เพื่อประโยชน์แก่การสงเคราะห์.
               บทว่า "เพื่อไม่วิวาท" ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่ความไม่วิวาท.
               บทว่า "เพื่อความพร้อมเพรียง" ได้แก่ เพื่อประโยชน์สมัครสมานกัน.
               บทว่า "เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน" ความว่า เพื่อประโยชน์แห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือเพื่อไม่ทำให้ต่างกัน.
               บทว่า "เป็นไปพร้อม" ได้แก่ มีอยู่.
               บทว่า "เมตตากายกรรม" ได้แก่ กายกรรมที่พึงทำด้วยจิตประกอบด้วยเมตตา.
               แม้ในวจีกรรม และมโนกรรมก็นัยนี้นั่นเทียว.
               เมตตาจิตเหล่านี้มาแล้วด้วยอำนาจภิกษุทั้งหลาย ย่อมหาได้แม้ในพวกคฤหัสถ์. เมตตาเป็นเครื่องบำเพ็ญอภิสมาจาริกธรรมด้วยจิตประกอบด้วยเมตตาของภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่ากายกรรม.
               กรรมเป็นต้นอย่างนี้คือ การไปเพื่อประโยชน์ไหว้เจดีย์ ๑ ไหว้ต้นโพธิ์ ๑ นิมนต์พระสงฆ์ ๑ การเห็นภิกษุทั้งหลายผู้เข้าไปโคจรคามเพื่อบิณฑบาตแล้วต้อนรับ ๑ การรับบาตร ๑ การปูอาสนะ ๑ การตามส่ง ๑ ของพวกคฤหัสถ์ ชื่อว่าเมตตากายกรรม.
               ชื่อว่าเมตตาวจีกรรม คือการบอกสิกขาบท คือบัญญัติเกี่ยวกับมารยาท การบอกกัมมัฏฐาน การแสดงธรรม การบอกพุทธพจน์คือพระไตรปิฏก ด้วยจิตเมตตาของภิกษุทั้งหลาย.
               อนึ่ง กรรมในกาลเป็นที่กล่าวเป็นต้นว่า เราจะไปไหว้พระเจดีย์ ๑ ไหว้ต้นโพธิ์ ๑ จักให้ทำการฟังธรรม ๑ จักบูชาด้วยประทีปมาลัยดอกไม้ ๑ จักประพฤติสมาทานสุจริตสาม ๑ ถวายสลากภัตรเป็นต้น ๑ ถวายผ้าจำนำพรรษา ๑ ถวายปัจจัย ๔ แก่สงฆ์ในวันนี้ ๑ พวกท่านจงนิมนต์พระสงฆ์แล้วจัดแจงของเคี้ยวของฉันเป็นต้น ๑ จงปูอาสนะ ๑ จงตั้งน้ำดื่ม ๑ จงต้อนรับแล้วนำมาพระสงฆ์นั้นมาด้วยตนเอง ๑ จงนิมนต์พระสงฆ์ให้นั่งบนอาสนะที่ปูไว้ เกิดความพอใจ ขมักเขม้นแล้วจงทำความขวนขวายดังนี้ของพวกคฤหัสถ์ ชื่อว่า เมตตาวจีกรรม.
               การลุกขึ้นแต่เช้าแล้วปฏิบัติร่างกาย ทำวัตรเจดีย์และคณะเป็นต้น นั่งบนอาสนะอันสงัด คิดว่า "ขอพวกภิกษุในวิหารนี้ จงมีสุขไม่มีเวร ไม่พยาบาทกันเถิด" ชื่อว่าเมตตามโนกรรม.
               บทว่า "ที่แจ้ง และที่ลับ" ความว่า ต่อหน้าด้วย ลับหลังด้วย. บรรดากรรมนั้น การถึงความเป็นเพื่อนในจีวรกรรมเป็นต้นของภิกษุทั้งหลายผู้ใหม่ ชื่อว่าเมตตากายกรรมต่อหน้า.
               อนึ่ง สามีจิกรรมทั้งหมดต่างด้วยกรรมมีการล้างเท้าและพัดให้เป็นต้นของพระเถระ ชื่อว่าเมตตากายกรรมต่อหน้า.
               การไม่ทำความดูดายในเครื่องไม้เป็นต้น ที่ทั้งสองฝ่ายเก็บไว้ไม่ดีแล้วเก็บ ดุจเก็บของที่ตนเก็บไว้ไม่ดี ชื่อว่าเมตตากายกรรมลับหลัง.
               การกล่าวยกย่องอย่างนี้ว่า "พระเทวเถระ พระติสสะเถระ" ชื่อว่าเมตตาวจีกรรมต่อหน้า.
               ก็การที่บุคคลถามเฉพาะภิกษุที่ไม่อยู่ในวิหารเทียว กล่าวอ้างว่าเป็นของตนอย่างนี้ว่า "พระเทวเถระของพวกเราไปไหน จะมาเวลาใดหนอ พระติสสะเถระของพวกเราไปไหน จะมาเวลาใดหนอ" ดังนี้ ชื่อว่าเมตตาวจีกรรมลับหลัง.
               อนึ่ง การลืมนัยน์ตาซึ่งสนิทด้วยความรักประกอบด้วยเมตตาแล้วดูด้วยใบหน้าที่ผ่องใสดี ชื่อว่าเมตตามโนกรรมต่อหน้า.
               การประมวลมาว่า "ขอพระเทวเถระ พระติสสะเถระจงไม่มีโรค มีอาพาธน้อย" ชื่อว่าเมตตามโนกรรมลับหลัง.
               บทว่า "ลาภ" ได้แก่ ปัจจัยที่ได้มีจีวรเป็นต้น.
               บทว่า "เป็นธรรม" ความว่า ปัจจัยที่เกิดขึ้นด้วยวัตร คือการเว้นเลี้ยงชีพผิดต่างด้วยการโกหกเป็นต้น แล้วเที่ยวไปเพื่ออาหารโดยธรรมโดยเสมอ.
               บทว่า "โดยที่สุด แม้เป็นเพียงอาหารที่รวมลงในบาตร" ความว่า แม้เป็นเพียงอาหาร ๒-๓ ทัพพี ที่รวมลงในบาตร คืออยู่ในภายในบาตร โดยส่วนสุดข้างหลัง.
               ในบทว่า "ผู้บริโภค (อาหาร) ที่ยังมิได้แบ่งไว้นี้" ชื่อว่าผู้มีอาหารที่แจกจ่ายแล้วมี ๒ คือ แจกจ่ายอามิส ๑ แจกบุคคล ๑.
               ในการแบ่งแจก ทั้ง ๒ นั้น การแบ่งด้วยจิตอย่างนี้ว่า เราจะให้เท่านี้ จะไม่ให้เท่านี้. ชื่อว่าแบ่งแจกอามิส. การแบ่งด้วยจิตอย่างนี้ว่า "เราจะให้แก่คนโน้น ไม่ให้แก่คนโน้น" ชื่อว่าแบ่งแจกบุคคล.
               ข้อที่บุคคลไม่ทำแม้ทั้ง ๒ อย่างนั้นและบริโภคอาหารที่มิได้แบ่งไว้นี้ ชื่อว่าผู้มีปกติบริโภคอาหารที่ยังมิได้แบ่งไว้.
               ในคำว่า "ผู้มีปกติบริโภคทั่วไป กับเพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกัน ผู้มีศีล" มีอธิบายว่า ภิกษุผู้มีปกติบริโภคทั่วไปมีลักษณะดังนี้ เธอได้สิ่งใดๆ ประณีต ก็ไม่ให้สิ่งนั้นๆ ด้วยลาภ เธอจะให้ลาภแก่คฤหัสถ์ทั้งหลายก็ด้วยการมุ่งหน้าแสวงหา ทั้งตนก็ไม่บริโภค เมื่อจะรับก็รับเอาด้วยคิดว่า "จงเป็นของทั่วไปแก่สงฆ์" เคาะระฆังแล้ว แลดูดุจของสงฆ์ที่ควรบริโภค.
               ถามว่า ก็ใครบำเพ็ญธรรมเป็นเครื่องให้ระลึกถึงกัน (และ) ใครไม่บำเพ็ญ.
               ตอบว่า ผู้ทุศีลไม่บำเพ็ญก่อน เพราะว่า ผู้มีศีลทั้งหลายย่อมไม่ถือเอาสิ่งของที่เป็นของผู้นั้น. ส่วนว่า ผู้มีศีลบริสุทธิ์ไม่ทำวัตรให้ขาด ให้เต็มอยู่.
               ในข้อนั้น มีธรรมเนียมนี้ (เป็นอุทาหรณ์)
               ก็ผู้ที่ทำเจาะจงแล้วจึงให้แก่มารดาบิดาหรือว่าอาจารย์และอุปัชฌาย์เป็นต้นนั้น ให้สิ่งที่ควรให้. ผู้นั้นย่อมไม่มีธรรมเป็นเครื่องให้ระลึกถึงกัน. มีแต่การรักษาความกังวล เพราะว่า ผู้พ้นจากความกังวลเท่านั้น จึงจะสมควรกับธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน. ผู้นั้นเมื่อจะให้เจาะจง ควรให้แก่ภิกษุผู้เป็นไข้ ผู้พยาบาลภิกษุไข้ ผู้จรมา ผู้เตรียมจะไปบ้าง แก่ผู้บวชใหม่ที่ไม่รู้วัตรสำหรับรับสังฆาฏิและบาตร เมื่อจะถวายแก่ภิกษุเหล่านั้น ตั้งแต่อาสนะสำหรับพระเถระลงมาไม่ควรถวายให้เหลือนิดหน่อย ถวายเท่าที่ท่านถือเอานั้น. เมื่อไม่เหลือ ไม่มี ก็ควรเที่ยวไปบิณฑบาตแล้วถวายของที่ประณีตนั้นๆ ตั้งแต่อาสนะพระเถระลงมา แล้วฉันของที่เหลือ
               เพราะกล่าวอย่างนี้ว่า "ผู้มีศีล" ดังนี้ ถึงการไม่ให้แก่ผู้ไม่มีศีล ก็ควร. ด้วยว่า ธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกันนี้ เป็นอันบริษัทที่มิได้ศึกษาไม่บำเพ็ญแล้ว เพราะว่า เมื่อบริษัทได้ศึกษาแล้ว ผู้ที่ได้แต่ผู้อื่นนั้น ย่อมไม่ถือเอา แม้เมื่อไม่ได้จากผู้อื่น ก็ถือเอาพอประมาณเท่านั้น ไม่ถือเอาเกิน. ก็แล ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกันนี้ ภิกษุผู้เมื่อจะให้วัตถุที่ตนเที่ยวไปบิณฑบาตซ้ำซากได้แล้วๆ ประพฤติให้เต็มตั้ง ๑๒ ปี ไม่หย่อนกว่านั้น.
               ก็ถ้าว่า ภิกษุผู้บำเพ็ญธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกันวางบาตรที่เต็มด้วยบิณฑบาต ที่โรงฉันแล้วไปอาบน้ำ. พระสังฆเถระถามว่า "นี้บาตรใคร" เมื่อเขากล่าวว่า "ของภิกษุผู้บำเพ็ญธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน" จึงกล่าวว่า "พวกท่านจงนำบาตรนั้นมา" แล้วจัดแจงบิณฑบาตทุกอย่าง ฉันแล้ววางบาตรเปล่าไว้.
               ภิกษุนั้นเกิดความเสียใจว่า "ภิกษุทั้งหลายฉัน (อาหาร) ของเราแล้วให้เหลือแต่บาตรเปล่าไว้." สาราณิยธรรมย่อมแตก เป็นอันเธอต้องบำเพ็ญอีก ๑๒ ปี.
               ก็สาราณิยธรรมนี้ เช่นกับติตถิยปริวาส เมื่อขาดคราวเดียว ก็พึงประพฤติอีก.
               ภิกษุใดเกิดความดีใจว่า "ข้อที่ภิกษุผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกับเรา ไม่ถามโดยเอื้อเฟื้อถึงอาหารที่อยู่ในบาตรแล้วฉัน นั้นเป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ." ภิกษุนั้นชื่อว่า มีสาราณิยธรรมเต็มแล้ว.
               ส่วนความริษยาและความตระหนี่ จะไม่มีแก่ภิกษุผู้บำเพ็ญสาราณิยธรรมอย่างนี้แน่นอน. เธอเป็นที่รักของพวกมนุษย์ ทั้งปัจจัยก็หาได้ง่ายกว่านัก ถึงสิ่งของที่อยู่ในบาตรที่เขาถวายแก่เธอก็ไม่สิ้นไป. ย่อมได้สิ่งของดีเลิศ ในส่วนสิ่งของที่พึงแบ่ง ครั้นถึงความหวาดกลัวหรือความหิวโหย พวกเทพย่อมขวนขวาย.
               ในข้อนั้น มีเรื่องเหล่านี้เป็นอุทาหรณ์.
               ฟังมาว่า พระติสสะเถระผู้อยู่ที่เสลาคิรีวิหาร อาศัยบ้านมหาคิรีอยู่ เมื่อพระมหาเถระ ๕๐ รูปกำลังไปเกาะนาคเพื่อไหว้เจดีย์ เที่ยวบิณฑบาตในบ้านคิรีไม่ได้อะไรออกไปแล้ว. เมื่อพระเถระเข้าไปเห็นพระมหาเถระเหล่านั้น ถามว่า ท่านได้อะไรบ้างครับ.
               ม. คุณ พวกเราได้เที่ยวไปแล้ว.
               พระเถระนั้นรู้ว่า พระมหาเถระเหล่านั้นไม่ได้อะไร จึงกล่าวว่า ท่านครับ ขอท่านทั้งหลายจงอยู่ที่นี้จนกว่ากระผมจะมา.
               ม. คุณ พวกเราตั้ง ๕๐ คนก็ยังไม่ได้พอให้เปียกบาตร.
               ถ. ท่านครับ ธรรมดาผู้อยู่ประจำเป็นผู้สามารถ แม้เมื่อไม่ได้ก็ยังรู้สภาพประมาณภิกษาจาร. พวกพระเถระมาแล้ว พระเถระจึงเข้าไปหมู่บ้าน. มหาอุบาสิกาในเรือนที่ห่างไกลได้จัดแจงน้ำนมและข้าวสวย ยืนคอยดูพระเถระ เมื่อพระเถระถึงประตูเท่านั้น ก็ได้บรรจุบาตรให้เต็มถวายแล้ว. พระเถระถือบาตรนั้นไปสำนักพระเถระทั้งหลาย กล่าวกับพระสังฆเถระว่า ท่านครับ ขอท่านจงรับเถิด. พระเถระมองดูหน้าพระเถระที่เหลือพลางคิดว่า พวกเราตั้งเท่านี้ไม่ได้อะไรเลย ภิกษุนี้ถือเอามาแล้วเร็วทีเดียว นี่อะไรกันหนอ.
               พระเถระทราบด้วยอาการแลดูเทียว จึงกล่าวว่า "บิณฑบาต กระผมได้มาโดยชอบธรรม ขอพวกท่านจงหมดรังเกียจรับเอาเถิด" แล้วได้ให้แก่พระเถระทั้งหมดตามต้องการตั้งแต่ต้น ถึงตนก็ฉันตามต้องการ. ลำดับนั้น เมื่อฉันเสร็จ พวกพระเถระจึงถามท่านว่า "คุณแทงตลอดโลกุตตรธรรมเมื่อไร คุณ".
               ถ. ท่านครับ กระผมยังไม่มีโลกุตตรธรรมหรอกครับ.
               ม. คุณได้ฌานหรือ
               ถ. แม้นั่นก็ไม่มี ครับ".
               ม. คุณได้ปาฏิหาริย์มิใช่หรือ.
               ถ. ท่านครับ กระผมบำเพ็ญสาราณิยธรรม ตั้งแต่กระผมบำเพ็ญสาราณิยธรรมมา ถึงมีภิกษุตั้ง ๑,๐๐๐ รูป อาหารในบาตรก็ยังไม่หมดไป.
               ม. ดีแล้วๆ ท่านสัตบุรุษ นี้สมควรแก่ท่าน.
               ในคำว่า "อาหารในบาตรของท่านก็ยังไม่หมดไปก่อน" มีเรื่องดังต่อไปนี้.
               พระเถระองค์นี้อีกนั่นแหละ ได้ไปที่ถวายทาน ในที่บูชาใหญ่แห่งคิรีภัณฑ์วิหารที่เจดีย์บรรพต ถามว่า "ทานนี้มีอะไรเป็นของอย่างดี". "ผ้า ๒ ผืนครับท่าน". "ผ้าทั้งสองผืนนั้นถึงแก่เรานะ". อำมาตย์ฟังคำนั้นจึงกราบทูลพระราชาว่า "พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุหนุ่มกล่าวอย่างนี้."
               ร. "ความคิดของภิกษุหนุ่มสมควรทีเดียว แต่ว่า พระมหาเถระทั้งหลายก็เหมาะแก่ผ้าเนื้อดี แล้วทรงวางได้ด้วยทรงดำริว่า "เราจะถวายพระมหาเถระทั้งหลาย". เมื่อพระภิกษุยืนตามลำดับ ผ้า ๒ ผืนที่ทูนได้บนพระเศียรของพระองค์ผู้กำลังถวาย ไม่ลงมาสู่พระหัตถ์สักผืนหนึ่ง (ส่วน) ผ้าผืนอื่นๆ เท่านั้นที่ลงมา แต่ว่าเวลาถวายพระหนุ่ม ผ้าทั้ง ๒ ผืนนั้นก็ลงมาสู่พระหัตถ์. ท้าวเธอทรงวางบนมือภิกษุหนุ่มนั้น มองหน้าอำมาตย์ทรงให้ภิกษุหนุ่มนั่งแล้วถวายทาน ทรงละพระสงฆ์มาประทับใกล้ภิกษุหนุ่ม ตรัสว่า "ท่านครับ ธรรมนี้ ท่านแทงตลอดเมื่อไร". เมื่อไม่กล่าวแบบไม่อ้อมๆ จึงถวายพระพรว่า "มหาบพิตร อาตมภาพไม่มีโลกุตตรธรรม".
               ร. พระคุณเจ้าได้กล่าวไว้ก่อนมิใช่หรือ ขอรับ.
               ถ. ถวายพระพรมหาบพิตร อาตมภาพบำเพ็ญสาราณิยธรรม ตั้งแต่เวลาอาตมภาพบำเพ็ญธรรมนั้นมา ก็ได้สิ่งของอย่างดีเลิศในที่ที่พึงแบ่ง.
               ร. "ดีแล้ว ดีแล้ว ท่านครับ นี้ควรแก่ท่าน" ทรงไหว้แล้วหลีกไป
               ในคำว่า "ได้ของดีเลิศในที่ที่พึงแบ่ง" นี้ มีเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์.
               ก็ภิกษุทั้งหลายมีปกติอยู่ในบ้านภาตระในจัณฑาลติสสภยะวิหาร ไม่บอกพระเถรีชื่อว่านาคา หลีกไปแล้ว. พระเถรีกล่าวกับพวกภิกษุณีสาวเวลาเช้ามืดว่า "หมู่บ้านสงัดเสียงเหลือเกิน พวกท่านจงสอบสวนดูก่อนซิ." ภิกษุณีสาวเหล่านั้นไปรู้ว่าภิกษุทั้งหมดไปแล้ว จึงกลับมาบอกพระเถรี.
               พระเถรีนั้นได้ฟังแล้ว กล่าวว่า "พวกท่านอย่าคิดว่าภิกษุเหล่านั้นไปแล้ว จงทำความเพียรในการเล่าเรียนบาลี สอบถามและการใส่ใจโดยแยบคายเถอะ" เมื่อถึงเวลาเที่ยวภิกษาจึงห่มผ้า ได้เป็นรูปที่ ๑๒ ยืนที่โคนต้นไทรใกล้ปากดง. เทวดาผู้สิ่งอยู่ที่ต้นไม้ก็ได้ถวายบิณฑบาตแก่ภิกษุณี ๑๒ รูป จึงกล่าวว่า "พระแม่เจ้า ขออย่าไปที่อื่นเลย มาประจำที่นี้เท่านั้นเถิด".
               ก็พระเถรีมีน้องชายคนเล็กชื่อว่านาคเถระ. พระนาคเถระนั้นคิดว่า "เราไม่อาจให้ภัยอย่างใหญ่เป็นไปในที่นี้ พวกเราจะไปยังฝั่งอื่น" เป็นรูปที่ ๑๒ เทียว ออกจากที่อยู่ของตน แล้วมาหมู่บ้านภาตระด้วยคิดว่า "เราจะเยี่ยมพระเถรีแล้วก็จะไป."
               พระเถรีได้ฟังว่า พวกพระเถระมา จึงไปสำนักพระเถระเหล่านั้น ถามว่า "อะไรกัน พระผู้เป็นเจ้า" ท่านจึงบอกความเป็นไปนั้น. พระเถรีนั้นจึงกล่าวว่า "ตลอดวันหนึ่ง วันนี้พวกท่านจงพักในวิหาร ต่อพรุ่งนี้จึงค่อยไป." พวกพระเถระมาวิหาร.
               รุ่งขึ้นพระเถรีเที่ยวบิณฑบาตที่โคนต้นไม้ แล้วเข้าไปหาพระเถระกล่าวว่า "ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายจงฉันบิณฑบาตนี้เถิด." พระเถระกล่าวว่า "เถรี สมควรหรือ" จึงได้ยืนนิ่งเสีย.
               เถรี. "พ่อ บิณฑบาตนี้ชอบธรรม พระคุณเจ้าทั้งหลายอย่ารังเกียจ ฉันเถิด."
               เถระ. "เถรี สมควรหรือ."
               นางจับบาตรแล้วโยนไปบนอากาศ บาตรได้ลอยอยู่ในอากาศ พระเถระกล่าวว่า "อาหารของภิกษุณีลอยอยู่ประมาณเจ็ดชั่วลำตาล" เมื่อกล่าวว่า "ขึ้นชื่อว่าภัยมิใช่มีอยู่ทุกเวลา ภัยสงบ".
               เมื่อจะกล่าวอริยวงศ์ก็จะกล่าวว่า "ท่านครับ ท่านฉันอาหารของนางภิกษุณีที่ได้จากบิณฑบาตแล้ว ปล่อยเวลาให้ล่วงไปดังนี้ เมื่อจะประพฤติตามความคิดก็ไม่อาจจะสนับสนุนได้ เถรี ขอพวกท่านจงไม่ประมาทเถิด." แล้วเดินขึ้นหนทาง.
               ฝ่ายรุกขเทวดายืนคิดอยู่ว่า "หากพระเถระจะบริโภคบิณฑบาตจากมือพระเถรี เราก็จะไม่ให้เธอกลับ" เห็นพระเถระเดินไป จึงลงจากต้นไม้กล่าวว่า "ท่านเจ้าข้า ขอจงให้บาตร" แล้วรับบาตรนำพระเถระมาโคนต้นไม้นั่นแหละ ปูอาสนะถวายบิณฑบาต ให้พระเถระซึ่งฉันแล้วทำปฏิญญา แล้วบำรุงภิกษุณี ๑๒ รูป ภิกษุ ๑๒ รูป ตลอด ๗ ปี.
               ในคำว่า "เทวดาขวนขวาย" นี้มีเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์. ก็ในเรื่องนี้ พระเถรีได้เป็นผู้บำเพ็ญสาราณิยธรรม.
               ในบทว่า "ไม่ขาด" เป็นต้น มีอธิบายว่า ภิกษุใดมีสิกขาบททำลายในเบื้องต้นและที่สุดในกองอาบัติทั้ง ๗ ภิกษุนั้นชื่อว่ามีศีลขาด ดุจผ้าขาดรอบๆ ริม.
               อนึ่ง ภิกษุใดมีสิกขาบททำลายท่ามกลาง ภิกษุนั้นชื่อว่ามีศีลทะลุ ดุจผ้าทะลุตรงกลาง. ภิกษุใดทำลาย ๒, ๓ สิกขาบทตามลำดับ ภิกษุนั้นชื่อว่ามีศีลด่าง ดุจแม่โคที่มีสีดำหรือแดงเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยสีที่ตัดกันตั้งขึ้นบนหลังหรือท้อง. ภิกษุใดมีสิกขาบททำลายระหว่างๆ ภิกษุนั้น ชื่อว่าศีลพร้อย ดุจแม่โคที่มีจุดลายไปทั้งตัว.
               ส่วนภิกษุใดมีสิกขาบทไม่ทำลายหมด ภิกษุนั้น ชื่อว่ามีศีลเหล่านั้นไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย.
               ก็สิกขาบทเหล่านี้นั้น ชื่อว่าเป็นไท เพราะพ้นจากความเป็นทาสแห่งตัณหาแล้วทำให้เป็นอิสระ ชื่อว่าวิญญูชนสรรเสริญ เพราะวิญญูชนทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญแล้ว.
               ชื่อว่าอะไรๆ ลูบคลำไม่ได้ เพราะตัณหาเป็นต้นลูบคลำไม่ได้ และเพราะกิเลสอะไรๆ ไม่อาจเพื่อจะลูบคลำว่า "ท่านเคยต้องสิกขาบทชื่อนี้" ย่อมเป็นไปเพื่อสมาธิอย่างเฉียดๆ หรือสมาธิอย่างแนบแน่น ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่าเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น.
               บทว่า "ถึงความเป็นผู้มีศีลเสมอกันอยู่" ความว่า ผู้มีศีลเข้าถึงความเสมอกันกับภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในส่วนทิศเหล่านั้นๆ อยู่. เพราะว่า ศีลของพระโสดาบันเป็นต้น สม่ำเสมอกันด้วยศีลของพระโสดาบันเป็นต้นเหล่าอื่น. ที่อยู่ระหว่างทะเลบ้าง เทวโลกบ้างแน่แท้ (แต่) ไม่มีความแตกต่างกันโดยมรรคและศีล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาศีลนั้น จึงได้ตรัสคำนี้.
               บทว่า "ทิฏฐินี้ใด" ความว่า สัมมาทิฏฐิที่ประกอบพร้อมด้วยมรรค.
               บทว่า "อริยะ" ได้แก่ ไม่มีโทษ.
               บทว่า "นำออก" คือ นำออกไป.
               บทว่า "ผู้ทำกรรมนั้น" ได้แก่ ผู้ใดเป็นผู้ทำอย่างนั้น.
               บทว่า "เพื่อสิ้นทุกข์" ได้แก่ เพื่อความสิ้นทุกข์ทั้งหมด.
               บทว่า "ถึงความเสมอกันด้วยความเห็น" ความว่า เป็นผู้เข้าถึงความเป็นผู้มีความเห็นเสมอกันอยู่.
               บทว่า "เลิศ" ได้แก่ เจริญที่สุด.
               บทว่า "รวมไม้กลอนทั้งปวงไว้" ได้แก่ ยึดไว้ดี. อธิบายว่า "ทำกลอนทุกอันให้จดกัน เหตุนั้น ชื่อว่าให้ต่อๆ กัน."
               บทว่า "ยอดนี้ใด" ความว่า ที่ต่อเรือนยอดกับช่อฟ้า เหตุนั้น ชื่อว่ายอด.
               ก็ปราสาท ๕ ชั้นเป็นต้นที่ยอดนั้นตรึงไว้เทียวจึงตั้งอยู่ได้ เมื่อยอดนั้นตกไป ปราสาททั้งหมดตั้งต้นแต่ดินเหนียวก็ตกไป. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนี้.
               บทว่า "ฉันนั้นนั่นเทียวแล" ความว่า ความเห็นอย่างประเสริฐและเลิศแห่งสาราณิยธรรมเหล่านี้นั้น พึงเห็นว่าเป็นตัวรวบรวม และตัวเชื่อมดุจยอดของเรือนยอดฉะนั้น.
               ในบทว่า "ภิกษุทั้งหลาย ก็ความเห็นนี้ใด อย่างไร" อธิบายว่า ภิกษุทั้งหลาย ทิฏฐิในโสดาปัตติมรรค ท่านกล่าวว่า "ไกลจากข้าศึก คือเป็นสภาพนำออก ย่อมนำออกไป เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบของนักปฏิบัติ." ทิฏฐินั้นนำออกอย่างไร นำออกเพราะเหตุอะไร.
               บทว่า "หรือว่า เป็นผู้มีจิตถูกรุมแล้ว" ความว่า ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตถูกรุมแล้ว แม้ด้วยเหตุเท่านี้." ในบททั้งปวงก็นัยนี้.
               บทว่า "ใจของเราตั้งมั่นดีแล้ว" ความว่า จิตเราตั้งไว้ดีแล้ว.
               บทว่า "เพื่อรู้สัจจะทั้งหลาย" ได้แก่ เพื่อประโยชน์รู้สัจจะ ๔.
               ในบทเป็นต้นว่า "ประเสริฐ" มีอธิบายว่า เพราะญาณนั้นย่อมมีแก่ผู้ประเสริฐ หามีแก่ปุถุชนไม่ ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า "ประเสริฐ." ส่วนว่า แม้โลกุตตรธรรมของคนพวกใดมีอยู่ ก็เป็นของคนพวกนั้นเท่านั้น หามีแก่พวกอื่นไม่ ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า "ยอดเยี่ยมในโลก".
               มีคำอธิบายว่า ชื่อว่าไม่ทั่วไปกับปุถุชนทั้งหลาย เพราะไม่มีแก่ปุถุชน.
               ในวาระทั้งหมดก็นัยนี้.
               บทว่า "เราได้ความสงบเฉพาะตน" ความว่า เราได้ความสงบในจิตของตน.
               แม้ในความดับก็นัยนี้. ในบทว่า "ดับแม้นี้" ย่อมได้ทั้งความสงบ ทั้งความเป็นผู้มีอารมณ์เลิศเป็นหนึ่ง.
               บทว่า "ดับ" ได้แก่ เข้าไปสงบกิเลส.
               บทว่า "ทิฏฐิเห็นปานนั้น" ได้แก่ โสดาปัตติมรรคทิฏฐิเห็นปานนั้น.
               บทว่า "โดยธรรมดา" คือ โดยสภาพ.
               สภาพนี้ ชื่อว่า ธรรมดานี้.
               บทว่า "ย่อมปรากฏการตั้งขึ้น" ความว่า การตั้งขึ้นด้วยอำนาจสังฆกรรม หรือเทศนาย่อมปรากฏ. จริงอยู่ อริยสาวก เมื่อต้องอาบัติก็ต้องอาบัติด้วยไม่จงใจ เหมือนการสร้างกุฏีในครุกาบัติ (และ) เหมือนต้องอาบัติในเพราะการนอนร่วมในที่มุงที่บังเดียวกันเป็นต้นในลหุกาบัติ แน่นอน พระอริยสาวกนั้นไม่แกล้ง คือไม่จงใจต้องอาบัตินั้น ต้องแล้วก็ไม่ปกปิด เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำเป็นต้นว่า "ครั้งนั้นแล........นั้นพลันทีเดียว."
               บทว่า "หนุ่ม" ได้แก่ ยังอ่อน.
               บทว่า "กุมาร" ได้แก่ มิใช่คนแก่.
               บทว่า "เขลา" คือ ชื่อว่าเขลา เพราะตาและหูยังไร้เดียงสา.
               บทว่า "นอนหงาย" ความว่า ชื่อว่าเป็นผู้นอนหงาย เพราะยังอ่อนนัก ไม่อาจจะนอนข้างขวาหรือข้างซ้ายได้.
               บทว่า "ได้เหยียบถ่าน" ความว่า เอามือหรือเท้าที่เหยียดไปทางนี้บ้าง ทางโน้นบ้าง ถูกแล้ว ก็เมื่อพวกมนุษย์ถูกอยู่อย่างนี้ มือจะชักออกเร็ว ทำช้าไม่ได้ แม้ครั้งนั้น คนทั้งหลายเอามือข้างหนึ่งข้างใดจับถ่านเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาย่อมไปได้ไกล. แต่ว่า มือและเท้าของเด็กอ่อนยังละเอียดอ่อน. เด็กนั้นเพียงถูกไฟลวกเอาเท่านั้นก็จะร้องกรี๊ด ทิ้งไปโดยเร็ว. ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงเด็กอ่อนไว้ในที่นี้เทียว. คนแก่เมื่อถูกไหม้ย่อมทนได้. แต่ว่าเด็กอ่อนนี้ทนไม่ได้. เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงเด็กอ่อนเทียว.
               บทว่า "แสดง" ความว่า เมื่อบุคคลที่พอๆ กันเป็นผู้รับอาบัติ ก็ไม่รอว่ากลางวันหรือกลางคืน ไปที่อยู่ของภิกษุที่พอๆ กันนั้น แม้ในกลางคืน ประกอบด้วยองค์ ๔ แสดงทีเดียว.
               บทว่า "สูง ต่ำ" ได้แก่ สูงๆ ต่ำๆ.
               กิจที่ควรกล่าวอย่างนี้ว่า "เราจะทำอย่างไรแล้วทำ ชื่อว่ากิจที่ควรจะทำอย่างไร".
               ในกิจเหล่านั้น กิจเป็นต้นอย่างนี้ คือ การทำหรือย้อมจีวร ๑ การงานที่พระเจดีย์ ๑ การงานที่ควรทำที่โรงอุโบสถ ๑ เรือนพระเจดีย์ ๑ เรือนโพธิ์ ๑ ชื่อว่าการงานอย่างสูง. การงานเล็กน้อยมีการล้างและทาเท้าเป็นต้น ชื่อว่าการงานอย่างต่ำ.
               อีกอย่างหนึ่ง การงานมีการฉาบทาปูนขาวเป็นต้นที่เจดีย์ ชื่อว่าการงานอย่างสูง. ในการงานเหล่านั้น การสุผ้ากาสาวะ ๑ การชักน้ำมา ๑ การทำเกรียง ๑ การพาดบันได ๑ ชื่อว่าการงานอย่างต่ำ.
               บทว่า "ถึงความขวนขวาย" ความว่า เป็นผู้ปฏิบัติความขวนขวายที่ควรทำ.
               บทว่า "เป็นผู้เพ่งอย่างกล้า" ความว่า เป็นผู้มีความปรารถนาอย่างหนาแน่น.
               บทว่า "และถอนหญ้า" ได้แก่ เล็มหญ้าเคี้ยวกินอยู่.
               บทว่า "ใส่ใจถึงลูกโค" ความว่า คอยแลดูลูกโคอยู่ด้วย.
               เหมือนอย่างว่า โคแม่ลูกอ่อน จะไม่ทิ้งลูกโคที่รวมกันมาป่า แล้วนอนในที่หนึ่งไปไกล แม่โคนั้นจะเที่ยวไปในที่ใกล้ๆ ลูกโคและเล็มหญ้าแล้ว ก็ชูคอขึ้นชำเลืองดูลูกโคไปด้วยทีเดียว.
               พระโสดาบันก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทำกิจที่ควรทำทั้งสูงต่ำ น้อมไปในกิจนั้น เป็นผู้บำเพ็ญไม่ย่อหย่อน มีความพอใจอย่างแรงกล้า เป็นผู้มีความปรารถนาอย่างหนาแน่นกระทำ.
               ในข้อนั้น มีเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์.
               เล่ากันว่า เมื่อกำลังฉาบทาปูนที่มหาเจดีย์ พระอริยสาวกรูปหนึ่งมือข้างหนึ่งถือภาชนะใส่ปูน ข้างหนึ่งถือเกรียง คิดว่า "ฉาบปูนแล้วขึ้นฐานพระเจดีย์" ภิกษุรูปหนึ่งกายมีน้ำหนักมาก ได้ไปยืนใกล้พระเถระ พระเถระในที่อื่นเป็นผู้ล่าช้าอย่างยิ่ง เพราะเหตุนั้นจึงจากที่นั้นไปที่อื่น. ถึงภิกษุนั้นก็ได้ไปที่นั้นนั่นเทียว. พระเถระได้ไปที่อื่นอีกดังนี้แล. พระเถระได้กล่าวกะภิกษุผู้มาในที่ ๒-๓ แห่งอย่างนี้ว่า ท่านสัตบุรุษ เนินพระเจดีย์ใหญ่ ท่านไม่ได้โอกาสที่อื่นหรือ. พระเถระนอกนี้ก็ไม่ยอมหลีกไป.
               บทว่า "ประกอบด้วยความเป็นผู้มีกำลัง" ได้แก่ ประกอบด้วยกำลัง.
               บทว่า "ทำให้มี" ความว่า ทำความเป็นผู้มีประโยชน์คือ เป็นผู้มีประโยชน์.
               บทว่า "ใส่ใจ" ความว่า ทำไว้ในใจ คือรวบรวมสิ่งทั้งหมดมาด้วยใจ ชื่อว่าไม่ทำความฟุ้งซ่านแม้เพียงเล็กน้อย รวบรวมมาด้วยจิตทั้งสิ้น.
               บทว่า "เงี่ยโสต" ความว่า มีโสตอันตั้งไว้แล้ว.
               ก็พระอริยสาวกทั้งหลายเป็นผู้รักการฟังธรรม เมื่อจะไปฟังธรรมก็ไม่นั่งหลับ สนทนากับใครๆ หรือมีจิตฟุ้งซ่าน. โดยที่แท้ ท่านเป็นผู้ไม่อิ่มในการฟังธรรม เหมือนบริโภคน้ำอมฤต จนถึงอรุณขึ้นไปในการฟังธรรม เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้อย่างนี้.
               บทว่า "ธรรมดา เป็นอันตั้งไว้ดีแล้ว" ความว่า สภาวะเป็นอันท่านแสวงหาไว้ดีแล้ว.
               คำว่า "เพราะกระทำให้แจ้งในโสดาปัตติผล" นี้เป็นคำกล่าวถึงเหตุ. อธิบายว่า เพราะญาณที่ทำให้แจ้งแล้วด้วยโสดาปัตติผล.
               บทว่า "มาตามพร้อมแล้วด้วยองค์ ๗ อย่างนี้" ความว่า ประกอบด้วยญาณเป็นเครื่องพิจารณาอย่างใหญ่เหล่านี้ อย่างนี้. อาจารย์ทั้งหลายมีถ้อยคำที่เสมอกันนี้ก่อน. ส่วนโลกุตตรมรรคที่ชื่อว่า มีขณะจิตมาก ไม่มี.
               ส่วนอาจารย์ผู้ชอบกล่าวเคาะเล่น ย่อมกล่าวว่า มรรคที่ชื่อว่า มีขณะจิตหนึ่งไม่มี การเจริญมรรคมีได้ตลอด ๗ ปี ส่วนกิเลสทั้งหลาย เมื่อจะขาดสูญโดยเร็ว ก็ย่อมขาดสูญด้วยญาณทั้ง ๗ เพราะคำว่า "พึงให้เจริญตลอด ๗ ปี."
               อาจารย์นั้นจะถูกเขากล่าวว่า จงนำพระสูตรมา. เมื่อไม่เห็นสูตรอื่นเขาก็จะนำพระสูตรนี้มาแสดงอย่างแน่นอนว่า "ญาณที่เราบรรลุนี้เป็นที่หนึ่งแห่งพระสูตรนั้น ญาณที่เราบรรลุแล้วนี้เป็นที่สองแห่งพระสูตรนั้น ฯลฯ ญาณที่เราบรรลุแล้วนี้เป็นที่เจ็ดแห่งพระสูตรนั้น."
               ลำดับนั้น อาจารย์นั้นก็จะถูกกล่าวว่า ก็พระสูตรนี้มีเนื้อความที่พึงนำไป มีเนื้อความที่นำไปแล้วหรือ. แต่นั้นก็จะกล่าวว่า มีเนื้อความที่นำไปแล้ว. พระสูตรฉันใด เนื้อความก็ฉันนั้น.
               อาจารย์นั้นก็จะพึงถูกกล่าวว่า ความเป็นธรรมก็จะตั้งมั่นด้วยดี ประโยชน์มีประมาณเท่านี้ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล. อาจารย์นั้นย่อมกล่าวว่า ประโยชน์แห่งการทำให้แจ้งโสดาปัตติผลมีแน่นอน.
               แต่นั้นก็จะถูกถามว่า ผู้พรั่งพร้อมด้วยมรรคย่อมทำผลให้แจ้ง แล้วกลายเป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยผลหรือ. เมื่อรู้ก็ตอบว่า ผู้พรั่งพร้อมด้วยมรรค ย่อมทำให้แจ้งผล กลายเป็นพรั่งพร้อมด้วยผล.
               แต่นั้นถูกซักอีกว่า "เพราะท่านยังไม่อบรมมรรค" ในพระพุทธดำรัสนี้ว่า "ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยองค์ ๗ อย่างนี้เป็นผู้ประกอบด้วยโสดาปัตติผล". จึงกระโดดไปกล่าวสะเปะสะปะเหมือนกับว่า ผมยังไม่ได้พระสูตรว่า อริยสาวกจะยึดเอาผลให้ได้ ธรรมดาภิกษุผู้จะแก้ปัญหาควรอยู่ในสำนักอาจารย์ เรียนเอาพระพุทธพจน์ทราบอรรถรสแล้วกล่าวถ้อยคำ.
               ญาณ ๗ เหล่านี้จัดเป็นญาณเครื่องพิจารณาของพระอริยสาวกทีเดียว. โลกุตมรรค ที่ชื่อว่ามีขณะจิตมากย่อมไม่มี พึงให้ยอมรับว่า "มีขณะจิตเดียวเท่านั้น"
               ถ้าเขาจะรู้ก็จงรู้ หากไม่รู้ก็จงส่งไปว่า "ท่านจงไปเข้าวิหารแต่เช้าตรู่แล้วดื่มข้าวต้มเสีย."
               คำที่เหลือในบททั้งปวงตื้นนั่นเทียวแล.

               จบอรรถกถาโกสัมพิยสูตรที่ ๘               
               ------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬยมกวรรค โกสัมพิยสูตร ทรงโปรดภิกษุชาวเมืองโกสัมพี จบ.
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 535อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 540อ่านอรรถกถา 12 / 551อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=9992&Z=10133
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=7615
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=7615
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :