ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 540อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 551อ่านอรรถกถา 12 / 557อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬยมกวรรค
พรหมนิมันตนิกสูตร ว่าด้วยพกพรหมมีทิฏฐิอันลามก

               อรรถกถาพรหมนิมันตนิกสูตร               
               พรหมนิมันตนิกสูตร ขึ้นต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ :-
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า "ทิฏฐิอันชั่ว" ได้แก่ ความเห็นว่าเที่ยงอันลามก.
               คำว่า "นี้เป็นของเที่ยง" คือพูดว่า ฐานะของพรหมพร้อมกับโอกาสอันเป็นของไม่เที่ยงนี้ว่า เที่ยง. คำว่า "แน่นอน" เป็นต้น ก็เป็นคำใช้แทนคำว่า "เที่ยง" นั้นนั่นเอง.
               ในคำเหล่านั้น คำว่า "แน่นอน" คือ มั่นคง. คำว่า "เที่ยงแท้" คือ มีอยู่ทุกเมื่อ.
               คำว่า "ล้วน" คือ ทั้งหมดไม่มีขาด.
               คำว่า "มีความไม่เคลื่อนเป็นธรรมดา" คือ มีสภาพไม่เคลื่อนไป. ถึงฐานะในคำเป็นต้นว่า "นี้แล ย่อมไม่เกิด" นี้คือพูดหมายเอาว่า ผู้เกิด ผู้แก่ ผู้ตาย ผู้เคลื่อน ผู้บังเกิดขึ้น ย่อมไม่มี.
               คำว่า "และก็อื่นจากนี้" คือ ความเห็นว่าเที่ยงแท้อย่างแรงย่อมเป็นของที่เกิดขึ้นแล้วแก่เขาอย่างนี้ว่า ชื่อว่าเหตุแห่งการออกไปอย่างอื่นที่นอกเหนือจากฐานะของพรหม พร้อมทั้งโอกาสนี้ไม่มี.
               ก็แหละ ผู้พูดเช่นนี้นั้นย่อมป้องกันทุกอย่างคือ ชั้นของฌานข้างบน ๓ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑.
               คำว่า "ผู้ไปในความไม่รู้" ความว่า ผู้ไปคือประกอบในความไม่รู้ ชื่อว่าเป็นผู้ไม่รู้ คือเป็นผู้บอด.
               คำว่า "ก็ชื่อใน...ใด" คือ ชื่อใด.
               มารในบททั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย! ครั้งนั้น มารผู้มีบาปได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า อย่างไร?
               เล่ามาว่า มารนั้นนั่งคำนึงถึงพระศาสดาในบ้านตัวเองตลอดเวลาว่า "วันนี้ พระโคดมผู้สมณะอยู่ที่ตำบล หรืออำเภออะไร?" และตอนที่กำลังคำนึงอยู่นี้ รู้ว่า "กำลังอาศัยเมืองอุกกัฏฐะอยู่ที่ป่าสุภคะ" จึงสำรวจดู แล้วจะไปไหนอีกหนอ? ก็เห็นว่ากำลังไปพรหมโลก จึงคิดว่า พระโคดมผู้สมณะกำลังไปพรหมโลก เราจะไปทำให้พอใจในธรรมเทศนาอย่างผิดๆ ตลอดเวลาที่มารกล่าวธรรมกถาในที่นั้นแล้ว ยังไม่ทำให้คณะพรหมก้าวพ้นวิสัยของเรา จึงเดินสะกดรอยพระศาสดาแล้วมายืนกำบังตัวในระหว่างหมู่พรหม.
               มารรู้ว่า พวกพรหมถูกพระศาสดารุกราน, จึงได้ยืนทำตัวเป็นผู้ค้ำชูพรหม เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาป" ดังนี้
               คำว่า "เข้าสิงพรหมปาริสัชชะแล้ว" คือ มารเข้าสู่ร่างของพรหมปริสัชชะองค์หนึ่ง ก็ยังไม่สามารถเข้าสอดแทรกมหาพรหม หรือพวกพรหมปุโรหิตได้.
               คำว่า "อย่ารุกรานผู้นี้" คือ อย่าได้รุกรานพกพรหมนี้.
               คำว่า "ครอบงำ (เป็นผู้ยิ่งใหญ่)" คือ เป็นผู้ครอบงำตั้งอยู่ คือเจริญที่สุด (ใหญ่ที่สุด, หัวหน้า).
               คำว่า "ไม่ถูกครอบงำ" คือ พวกอื่นครอบงำไม่ได้.
               คำว่า "โดยแท้" เป็นนิบาตลงในคำที่ระบุว่าส่วนเดียว มารแสดงว่า ผู้เห็นด้วยอำนาจการเห็น ย่อมเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง.
               คำว่า "ผู้หมุนอำนาจ" คือ ย่อมยังชนทั้งหมดให้เป็นไปในอำนาจ.
               คำว่า "เป็นอิศวร" คือ เป็นใหญ่ในโลก.
               คำว่า "ผู้สร้าง ผู้นิรมิต" คือ เป็นผู้สร้างและผู้นิรมิตโลกไว้ มารแสดงว่าแผ่นดินหิมพานต์ เขาสิเนรุ จักรวาล มหาสมุทร พระจันทร์และพระอาทิตย์ มหาพรหมองค์นี้นิรมิตไว้.
               คำว่า "ผู้ประเสริฐสุด ผู้จัดแจง" คือ มหาพรหมองค์นี้เป็นผู้ประเสริฐสุด และเป็นผู้จัดแจง. มารแสดงว่า มหาพรหมองค์นี้ได้จัดหมู่สัตว์ไว้อย่างนี้ว่า เธอเป็นกษัตริย์ เธอเป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร เป็นชาวบ้าน เป็นนักบวช กระทั่งเป็นอูฐ เป็นโค.
               มารกล่าวว่า มหาพรหมองค์นี้ ชื่อว่าเป็นผู้มีอำนาจ เพราะสะสมอำนาจไว้ มหาพรหมองค์นี้เป็นพระบิดาของพวกภูตและพวกภัพย์ ด้วยบทว่า เป็นผู้มีอำนาจ เป็นพระบิดาของพวกภูตและภัพย์.
               ในคำว่า พวกภูตและภัพย์นั้น พวกสัตว์ที่เกิดในไข่และในมดลูก ชื่อว่าภัพย์. ตอนอยู่ภายในกระเปาะไข่และภายในลำไส้ (มดลูก) ตั้งแต่เวลาที่ออกมาข้างนอกแล้ว ชื่อว่าภูต. พวกที่เกิดตามเหงื่อไคล (เช่นในน้ำครำ เป็นต้น) ในขณะจิตแรกเป็นภัพย์. ตั้งแต่ขณะจิตที่สองไปเป็นภูต. พวกผู้ผุดเกิดเป็นภัพย์ในอิริยาบถแรก ตั้งแต่อิริยาบถที่สองไป พึงทราบว่าเป็นภูต.
               มารกล่าวว่า เป็นพระบิดาของพวกภูตและภัพย์ ด้วยสำคัญว่า พวกสัตว์แม้ทั้งหมดนั้นเป็นลูกของมหาพรหมองค์นี้.
               ด้วยบทว่า "ผู้ตำหนิแผ่นดินนี้ มารแสดงว่า พวกเขาได้เป็นผู้ตำหนิแผ่นดินมาแล้ว เหมือนที่เธอกำลังตำหนิ เกลียดแผ่นดินว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่เป็นตัวตน ในบัดนี้ และไม่ใช่แต่เธอเท่านั้นหรอก.
               แม้ในคำเป็นต้นว่า ผู้ตำหนิน้ำ ก็ทำนองเดียวกันนี้แหละ.
               คำว่า "ตั้งอยู่ในกายอันทราม" ได้แก่ เกิดในอบายทั้งสี่.
               ด้วยบทว่า "ผู้ชมแผ่นดิน" นี้ มารกล่าวว่าพวกเขาได้เป็นผู้ชมแผ่นดิน คือเป็นผู้พูดสรรเสริญคุณแผ่นดินมาแล้วอย่างนี้ คือพวกเขาไม่ตำหนิ (แต่ชมว่า) แผ่นดินเที่ยงแท้ แน่นอน ถาวร ไม่ขาด ไม่สิ้น เหมือนที่เธอกำลังตำหนิ.๑-
____________________________
๑- กำลังชมกระมัง?

               คำว่า "ผู้มีความเพลิดเพลินในแผ่นดิน" ได้แก่ เป็นผู้มีความเพลิดเพลินในแผ่นดินด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ. แม้ในบทที่เหลือทั้งหลายก็ทำนองเดียวกันนี้แหละ.
               คำว่า "ดำรงอยู่ในกายที่ประณีต" ได้แก่ เกิดในพรหมโลก.
               คำว่า "ฉะนั้น ฉัน...กะเธอ" คือ เพราะเหตุนั้น ฉัน...กะเธอ.
               คำว่า "เอาเถอะ" เป็นนิบาตลงในอรรถว่าเตือน.
               คำว่า "เข้าไปเป็นไปล่วง" คือก้าวล่วง. ปาฐะว่า อุปาติวตฺติโต เข้าไปประพฤติล่วงบ้างก็มี. ใจความก็อย่างเดียวกันนี้แหละ.
               คำว่า "ให้โดดหนีไปด้วยกระบอง" คือ เอาดุ้นกระบองยาวสี่ศอกตีให้หนีไป.
               คำว่า "ในเหวนรก" คือ ในบึงใหญ่ ลึกร้อยชั่วคน.
               คำว่า "พึงพลาด" ได้แก่ ไม่พึงอาจเพื่อจะทำเป็นที่ยึดที่เหยียบในที่ซึ่งพอจะเอามือจับ หรือพอจะวางเท้าได้.
               ด้วยคำว่า "ภิกษุ เธอเห็นมิใช่หรือ?" นี้ มารแสดงอิทธานุภาพของผู้ที่ดำรงอยู่ในโอวาทของพรหมว่า ภิกษุ เธอก็ย่อมเห็นพรหมบริษัทที่ประชุมกันกระจ่างสว่างไสว รุ่งเรืองโชติช่วงนี้ มิใช่หรือ.
               คำว่า "ภิกษุทั้งหลาย มารผู้มีบาปได้น้อมเอาพรหมบริษัทมาสู่เรา อย่างนี้แล" ความว่า ภิกษุทั้งหลาย มารผู้มีบาปกล่าวอยู่อย่างนี้ว่า "ภิกษุ เธอก็ย่อมเห็นพรหมบริษัทที่สว่างไสวด้วยยศ และด้วยสิริมิใช่หรือ? ถึงเธอก็เถอะ ถ้าไม่ก้าวล่วงคำมหาพรหม ทำตามที่พรหมกล่าวกับเธอแล้ว เธอเองก็จะต้องรุ่งเรืองด้วยยศและสิริแบบนี้เหมือนกัน" ก็น้อม คือนำเอาพรหมบริษัทมาสู่เรา.
               คำว่า "ท่านอย่าสำคัญไป" คือ มารผู้มีบาป ท่านอย่าสำคัญไปเลย.
               คำว่า "ท่านเป็นมารผู้ลามก" คือ มาร เรารู้จักท่านว่า ท่านชื่อว่ามาร เพราะฆ่ามหาชน ท่านชื่อว่าผู้สกปรก เพราะกระทำพร้อมด้วยเหล็กอย่างสกปรกคือลามก แก่มหาชน.
               คำว่า "อายุทั้งหมด" คือ อายุทั้งสิ้น.
               คำว่า "เขาเหล่านั้นแลพึงทราบอย่างนี้" คือ พรหมมากล่าวสืบไปว่า พวกเขาถึงพร้อมด้วยการทำตบะอย่างใหญ่อย่างนี้ ส่วนเธอเพิ่งเกิดมาเมื่อวานซืน (วันก่อน) จะรู้อะไร. แม้ในวันนี้ ในปากของเธอก็ยังมีกลิ่นน้ำนมพัดมา (ปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม).
               คำว่า "จะกลืนกินแผ่นดิน" คือ จักกลืนกินแผ่นดินจนหมดเกลี้ยงแล้วถือเอาด้วยตัณหา มานะและทิฏฐิ.
               คำว่า "ท่านจะเป็นผู้ติดสอยห้อยตามเรา." คือ ท่านจะเป็นผู้ติดเราแจ หมายความว่า เมื่อเราเดินท่านก็เดินตาม เรายืนท่านก็ยืนข้าง, เรานั่งท่านก็นั่งข้าง, เรานอนท่านก็นอนข้าง.
               คำว่า "เป็นผู้นอนเฝ้าโยง" คือ เป็นผู้นอนในเรือนเรา.
               คำว่า "เป็นผู้พึงกระทำตามความใคร่ เป็นผู้พึงแบกขน" ความว่า แกเป็นผู้ต้องทำสิ่งที่ฉันต้องการตามความพอใจของตัวฉันเอง และเมื่อจะแบกขนมา แกก็จะเป็นผู้ที่ต้องทำให้ต่ำกว่า เตี้ยกว่า แม้แต่พุ่มผักไห่เสียอีก.
               พรหมย่อมพูดรวน ย่อมระราน พระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ ด้วยคำนี้ชื่อว่า ย่อมพูดรวน คือ พรหมชื่อว่าย่อมพูดรวนก่อนอย่างนี้ว่า "ภิกษุ ถ้าเธอจะกลืนกินแผ่นดินนั้นด้วยตัณหาเป็นต้น เธอก็จะเป็นผู้นอนใกล้เรา เมื่อเราเดินเธอก็จะเดิน เรายืนเธอก็จะยืน เรานั่งเธอก็จะนั่ง เรานอนเธอก็จะนอน เราจะปกป้องเธอ แล้วทำเธอให้เป็นคนสนิท เป็นคนภายใน.
               ส่วนด้วยบทที่เหลือ ชื่อว่าย่อมระราน.
               ในบทเหล่านี้แล มีอธิบายดังต่อไปนี้
               พรหม ชื่อว่าย่อมระรานอย่างนี้ว่า "ถ้าเธอจะกลืนกินแผ่นดิน เธอก็จะกลายเป็นผู้นอนในเรือนเรา คอยเราเดินเป็นต้นแล้วจึงจะเดิน จะยืน จะนั่ง หรือจะนอน จะถืออารักขาเราในเรือนเรา เราจะทำเธอตามความใคร่ และจะทำเธอให้แบกขนอะไรไปต่ำเสียยิ่งกว่ากอผักไห่".
               แต่พรหมนี้อาศัยความถือตัว ฉะนั้น ในที่นี้จึงหมายเอาเพียงการระรานเท่านั้น.
               ในเรื่องน้ำเป็นต้น ก็ทำนองนี้เหมือนกัน.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสคำเป็นต้นว่า อีกอย่างหนึ่ง ของท่าน เรา พรหม แล้วมาทรงคิดว่า พรหมนี้อาศัยความถือตัว จึงสำคัญว่า "เราย่อมรู้" เป็นผู้ถูกสมมติโดยยศของตัวเอง จึงไม่เห็นอะไรสักนิด ที่สามารถจะถูกต้องร่างกายได้ ควรข่มอีกหน่อย แล้วจึงทรงเริ่มเทศนานี้.
               ในคำเหล่านั้น คำว่า "ย่อมรู้ชัดคติด้วย" ความว่า เราย่อมรู้ชัดซึ่งความสำเร็จด้วย.
               คำว่า "และความรุ่งเรือง" คือ เราย่อมรู้ชัดซึ่งอานุภาพด้วย.
               คำว่า "เป็นผู้ยิ่งใหญ่ขนาดนี้" คือ เป็นผู้มียศใหญ่ มีบริวารมาก.
               คำว่า "พระจันทร์และพระอาทิตย์ ย่อมบริหารมีประมาณเพียงไร" คือ พระจันทร์และพระอาทิตย์ย่อมท่องเที่ยวไปในที่มีประมาณเพียงใด.
               คำว่า "ทิศทั้งหลาย สว่างรุ่งเรือง" คือ ส่องแสงสว่างรุ่งเรืองในทิศทั้งหลาย หรือว่าทิศทั้งหลายย่อมส่องแสงสว่างรุ่งเรือง เพราะพระจันทร์และพระอาทิตย์เหล่านั้น.
               คำว่า "เพียงนั้น พันโลก" คือ โลก (ธาตุ) หนึ่งพันโดยประมาณเพียงนั้น. อธิบายว่า พันจักรวาล รวมทั้งจักรวาลนี้ด้วย.
               คำว่า "อำนาจของเธอย่อมเป็นไปในพันจักรวาล" คือ อำนาจของเธอย่อมเป็นไปในพันจักรวาลนี้.
               คำว่า "เธอย่อมรู้ ซึ่งสัตว์อื่นที่ยิ่งกว่าสัตว์อื่น" (คือต่างชั้นกับ, แตกต่างกัน) คือ เธอย่อมรู้จักสัตว์ที่มีระดับต่างกันคือ สูงต่ำ เลวประณีต ในพันจักรวาลนี้.
               คำว่า "และผู้มีราคะและผู้ไม่มีราคะ" คือ ไม่ใช่แต่รู้จักสัตว์ที่มีระดับแตกต่างกันว่า คนนี้เป็นผู้ยิ่งใหญ่ คนนี้เป็นคนปกติ (คนธรรมดาสามัญ) ดังนี้เท่านั้น หากแต่ยังรู้จักคนที่ยังมีราคะ และปราศจากราคะอย่างนี้ว่า "คนนี้ยังมีราคะ คนนี้ปราศจากราคะแล้ว".
               คำว่า "ความเป็นอย่างนี้และความเป็นอย่างอื่น" คือ จักรวาลนี้เรียกว่าความเป็นอย่างนี้ จักรวาล ๙๙๙ ที่เหลือจากนี้เรียกความเป็นอย่างอื่น.
               คำว่า "การมาการไปของเหล่าสัตว์นี้" คือ เธอยังรู้ชัดการมาของพวกสัตว์ด้วยอำนาจปฏิสนธิ และคติด้วยอำนาจจุติ ในพันจักรวาลนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงข่มว่า "ความสำคัญ ก็แลเราย่อมเป็นผู้ยิ่งใหญ่กว่าเธอ เธอแค่เป็นพรหมในพันจักรวาล ส่วนพรหมเหล่าอื่นจะหาขนาดที่เกินเธอ ๒,๐๐๐ ๓,๐๐๐ ๔,๐๐๐ ๕,๐๐๐ ๑๐,๐๐๐ และ ๑๐๐,๐๐๐ ก็ไม่มี, ยังมาทำความสำคัญว่า เราใหญ่ เหมือนพยายามเอาผ้าขี้ริ้ว ๔ ศอกมาทำเป็นขนาดผ้า.
               คำว่า "เข้าถึงในที่นี้" คือ เข้าถึงชั้นของฌานที่หนึ่งนี้.
               คำว่า "เพราะเหตุนั้นเธอจึงไม่รู้จักอันนั้น" คือ เพราะเหตุนั้น เธอจึงไม่รู้จักกายนั้น.
               คำว่า "ผู้ที่พอๆ กับเธอก็ไม่เลย." คือ ผู้ที่แม้ถึงฐานะที่พึงรู้เท่ากับเธอ ก็ไม่ใช่เป็นเรา.
               คำว่า "รู้ยิ่ง" คือ รู้อย่างทั่วถึง.
               คำว่า "พึงต่ำ แต่ที่ไหน" คือ ก็แหละความเป็นผู้ต่ำกว่าเธอ จะมีแก่เรา แต่ที่ไหน?
               ได้ยินว่า พรหมองค์นี้เป็นผู้เกิดในหนหลัง เมื่อยังไม่เกิดการเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า ได้บวชเป็นฤาษี ทำการบริกรรมกสิณ ทำให้เกิดสมาบัติ ไม่เสื่อมจากฌาน ตายแล้วก็เกิดถือเอาอายุ ๕๐๐ กัปในพรหมโลกชั้นเวหัปผลาในชั้นฌานที่สี่.
               ครั้นดำรงอยู่ในที่นั้นจนตลอดอายุแล้ว ก็ทำในกำเนิดหนหลัง อบรมฌานที่สามอย่างประณีตแล้ว จึงเกิดถือเอาอายุ ๖๔ กัปในพรหมโลกชั้นสุภกิณหา. อบรมฌานที่สองในชั้นนั้น เกิดถือเอาอายุ ๘ กัปในชั้นอาภัสสร. ในชั้นนั้นได้อบรมฌานที่หนึ่งแล้วก็เกิดเป็นผู้มีอายุกัปหนึ่งในชั้นฌานที่หนึ่ง.
               ในตอนแรกๆ เขารู้ได้อย่างทั่วถึงทั้งกรรมที่ได้สร้าง ทั้งสถานที่เกิด. แต่เมื่อเวลาล่วงไป เขาลืมหมดทั้งสองอย่าง จึงบังเกิดความเห็นว่าเที่ยงขึ้นมา. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสกะเขาว่า "เพราะเหตุนั้น เธอจึงไม่รู้ถึงอันนั้น ฯลฯ เราพึงต่ำแต่ไหน?.
               ทีนั้น พรหมคิดว่า "พระโคดมผู้สมณะมารู้ทั้งอายุ ที่เกิดและกรรมที่สร้างไว้เมื่อก่อนของเรา, เอาละ เราจะถามถึงกรรมที่สร้างไว้เมื่อก่อนกะท่าน" ดังนี้แล้ว จึงทูลถามบุพกรรมของตนกะพระศาสดา.
               พระศาสดาจึงตรัสว่า :-
               ได้ยินว่า เมื่อก่อน พรหมนี้ได้เกิดในเรือนแห่งตระกูล เห็นโทษในกามทั้งหลายแล้ว จึงคิดว่า "เราจะทำที่สุดของความเกิด ความแก่และความตาย" แล้วออกไปบวชเป็นฤาษี ยังสมาบัติให้เกิดขึ้นแล้ว เป็นผู้ได้ฌานที่มีอภิญญารองรับ ให้สร้างโรงมุงใบไม้ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ฆ่าเวลาด้วยความยินดีในฌาน.
               ก็แล ในครั้งนั้น บางครั้งบางคราวก็มีพวกพ่อค้าขับเกวียน ๕๐๐ เล่มผ่านทะเลทรายมา. ก็แหละในทะเลทราย (นั้น) กลางวันจะไปไม่ได้ ไปได้แต่กลางคืน. ครั้งนั้น โคที่เทียมคู่แอกของเกวียนเล่มแรกเดินไปแล้ว ก็กลับหันหน้ามาตามทางที่มาอีก เกวียนเล่มถัดๆ มาก็กลับไปตามๆ กันต่อ เมื่อสว่างจึงได้รู้ว่ากลับ. และครั้งนั้นเป็นวันข้ามพ้นทะเลทรายของพวกเขาเสียด้วย จึงคิดกันว่า "ฟืน และน้ำหมดเกลี้ยงทั้งนั้น เพราะฉะนั้น คราวนี้พวกเราตายแน่" แล้วก็เอาโคผูกไว้ที่ล้อ พวกคนต่างก็เข้าไปนอนที่ร่มเกวียน.
               ฝ่ายดาบสเช้าขึ้นมาก็ออกจากบรรณศาลา นั่งมองดูแม่น้ำคงคา ที่ประตูบรรณศาลานั่นเอง ได้เห็น (พวกพ่อค้า) แล้ว ครั้นได้เห็นแม่น้ำคงคามีห้วงน้ำใหญ่เต็มไหลมาเหมือนลำแก้วมณี จึงคิดว่า "ในโลกนี้ มีบ้างไหมหนอ พวกสัตว์ที่กำลังลำบาก เพราะไม่ได้น้ำอร่อยเห็นปานนี้? เมื่อท่านพิจารณาอยู่อย่างนี้ ก็ได้เห็นกองเกวียนนั้นในทะเลทราย จึงคิดว่า "ขอสัตว์เหล่านี้จงอย่าฉิบหาย" แล้วก็อธิษฐานด้วยอภิญญาจิตว่า ขอให้ลำน้ำใหญ่จงตัดขาดจากนี้หันหน้าไปหากองเกวียนในทะเลทรายเถิด. พร้อมกับเกิดความคิดขึ้น น้ำก็ไหลไปทะเลทรายนั้น ราวกะว่าขึ้นมาตามคลอง. พวกคนต่างลุกขึ้นเพราะเสียงน้ำได้พบน้ำต่างร่าเริงยินดี ได้อาบดื่มกันแล้วให้พวกโคดื่มน้ำ เสร็จแล้วก็พากันไปสู่ที่ซึ่งตนต้องการ โดยความปลอดภัย.
               เมื่อพระศาสดาจะทรงแสดงบุพกรรมนั้นของพรหม จึงตรัสคาถานี้ว่า :-
                         เธอได้ให้พวกคนที่กระหาย ไปเผชิญหน้าเอา
                         ในทะเลทรายร้อนจำนวนมาก ดื่มน้ำใด. นั้น
                         เป็นพรตและศีลวัตรเก่าของเธอ. เราตามระลึก
                         ได้ คล้ายกะคนหลับแล้วตื่น.
               ในสมัยอื่นอีก ดาบสให้สร้างโรงมุงใบไม้อยู่อาศัยหมู่บ้านชาวป่า. ก็แหละสมัยนั้นพวกโจรโจมตีหมู่บ้านนั้น ถือเอาของมีค่าติดมือ (ต้อนช้างสาร) แล้วต้อนวัวและเชลยไป ทั้งวัวทั้งหมา ทั้งคนก็ร้องดังลั่น.
               ดาบสได้ยินเสียงนั้นก็ใคร่ครวญว่า มันอะไรกันหนอ ก็รู้ว่า "ภัยเกิดขึ้นแก่พวกคน" จึงคิดว่า "เมื่อเราเห็นอยู่ ขอสัตว์เหล่านี้จงอย่าฉิบหาย" แล้วก็เข้าฌานซึ่งมีอภิญญารองรับ ออกแล้วก็นิรมิตกองทัพสี่เหล่าที่เตรียมพร้อมกำลังเดินมาสวนทางมากับพวกโจรด้วยอภิญญาจิต. พวกโจรได้เห็นก็พากันเข้าใจว่า "พระราชา" จึงทิ้งการปล้นหลีกไป
               ดาบสอธิษฐานว่า "อันใดเป็นของผู้ใด อันนั้นก็จงเป็นของของผู้นั้นนั่นแล. ของนั้นก็ได้เป็นอย่างนั้นนั่นแล. มหาชนก็ถึงความปลอดภัย.
               พระศาสดาเมื่อจะทรงชี้บุพกรรมแม้นี้ของพรหมนั้น จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
                         เธอได้ปล่อย๒- คนที่ถูกต้อน ของที่พึงเอา
                         ซึ่งกำลังถูกนำไปที่ตระกูลเนื้อทรายใด,
                         นั้นเป็นพรต และศีลวัตรเก่าของเธอ,
                         เราตามระลึกได้คล้ายกะคนหลับแล้วตื่น.
               คำที่ว่าตระกูลเนื้อทรายในที่นี้ หมายถึงที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา.
____________________________
๒- บาลี อโมจยึ เข้าใจเป็น อโมจยิ จึงแปลตามนี้

               สมัยอื่นอีก ตระกูลที่อยู่ตามแม่น้ำคงคาตอนบน กระทำสันถวไมตรีกับตระกูลที่อยู่ทางแม่น้ำคงคาตอนล่าง พากันผูกแพเรือให้ติดกัน แล้วช่วยกันขนเอาของเคี้ยวของกิน และระเบียบของหอมเป็นอันมากมาใส่ แล้วก็มาตามกระแสแม่คงคา. พวกคนก็พากันเคี้ยวกิน ฟ้อนรำทำเพลง สนุกสนานกันเต็มที่ เหมือนกะขี่เทพวิมานไป.
               นาคที่เกิดในแม่น้ำคงคาเห็นเข้าก็เดือดดาลว่า "คนเหล่านี้ไม่ทำแม้แต่สัญญาในเรา คราวนี้ เราจะให้พวกมันถึงทะเลให้ได้" แล้วก็นิรมิตร่างกายใหญ่โต แยกน้ำออกเป็นสองส่วน โผล่มาแผ่พังพาน พ่นเสียงฟู่ๆ อยู่. มหาชนได้เห็นก็กลัว ส่งเสียงหลง.
               ดาบสนั่งที่บรรณศาลาได้ยินเข้า ใคร่ครวญว่า "คนพวกนี้ร้องเพลง ฟ้อนรำ เกิดความสนุกสนานมา แต่บัดนี้ร้องชนิดเสียงร้องกลัวตาย, อะไรกันหนอ?" ได้เห็นพญานาคจึงคิดว่า "เมื่อเราเห็นอยู่ ขอสัตว์ทั้งหลายจงอย่าฉิบหาย" แล้วก็เข้าฌานที่มีอภิญญารองรับ ละร่างแล้วแปลงเป็นเพศครุฑ แล้วแสดงต่อพญานาค. พญานาคกลัวหุบพังพานดำน้ำไป (เข้าสู่น้ำ). มหาชนก็ถึงความสวัสดี.
               เมื่อพระศาสดาจะทรงชี้บุพกรรมนี้ของพรหมนั้น จึงตรัสคาถานี้ว่า :-
                         เธอได้ใช้กำลังครอบงำ เข้าแก้เรือที่ถูกนาคโหดร้าย
                         ยึดไว้ในกระแสคงคา เพราะงานของคน นั้นเป็นพรต
                         และศีลวัตรเก่าของเธอ, เราตามระลึกได้คล้ายกะคน
                         ที่หลับแล้วตื่น.
               ในสมัยอื่นอีก พรหมองค์นี้บวชเป็นฤาษี เป็นดาบส ชื่อเกสวะ.
               โดยสมัยนั้น พระโพธิสัตว์ของเราเป็นมาณพชื่อกัปป์ เป็นลูกศิษย์ติดสอยห้อยตามท่านเกสวะ รับสนองกิจการงาน ประพฤติถูกอกถูกใจ ถึงพร้อมด้วยความรอบรู้ เป็นผู้ประพฤติประโยชน์. เว้นนายกัปป์แล้ว เกสวะก็ไม่สามารถจะเป็นไปได้. เพราะได้อาศัยนายกัปป์นั้นแหละ เกสวะจึงเลี้ยงชีพได้.
               พระศาสดาเมื่อจะทรงแสดงบุพกรรมแม้นี้ของพรหมนั้น จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
                         ก็เราเป็นนายกัปป์ ติดสอยห้อยตามเธอ
                         เธอก็ได้เข้าใจว่าเรามีความรอบรู้ มีพรต,
                         นั้นเป็นพรต เป็นศีลวัตรเก่าของเธอ,
                         เราตามระลึกได้ คล้ายกะคนหลับแล้วตื่น.
               พระศาสดาได้ทรงประกาศกรรมที่ทำแล้วในอัตภาพต่างๆ ของพรหมดังที่ว่ามานี้.
               ขณะที่พระศาสดากำลังตรัสอยู่นั่นเอง พรหมก็กำหนดแล้ว. กรรมทุกอย่างของพรหมนั้น ปรากฏเหมือนรูปที่ปรากฏเมื่อประทีปพันดวงลุกโพลงขึ้นฉะนั้น.
               พรหมนั้นมีจิตเลื่อมใสกล่าวคาถานี้ว่า :-
                         ท่านรู้ชัดอายุของเรานี้แน่นอน ท่านรู้แม้สิ่งอื่นๆ
                         เหมือนอย่างพระพุทธเจ้า อานุภาพอันท่านให้
                         ลุกโพลงแล้วนี้ ก็อย่างนั้นแล ย่อมยังพรหมโลก
                         ให้สว่าง ตั้งอยู่.
               ทีนั้น เมื่อจะทรงประกาศความเป็นผู้เท่าเทียมกับผู้หาใครเท่าเทียมไม่ได้ แม้ยิ่งขึ้นไปแก่พรหมองค์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำเป็นต้นว่า ซึ่งแผ่นดินแล เรา พรหม.
               ในคำเหล่านั้น คำว่า "ไม่เป็นไปตาม เพราะอรรถว่าเป็นแผ่นดินแห่งแผ่นดิน" ความว่า ไม่เป็นไปตาม ได้แก่ไม่ถึงเพราะความเป็นแผ่นดินแห่งแผ่นดิน.
               ถามว่า นั้น ได้แก่อะไรเล่า?
               ตอบว่า ได้แก่พระนิพพาน. ก็แลพระนิพพานนั้น ชื่อว่าไม่ถึงโดยความเป็นแผ่นดิน เพราะความที่พระนิพพานนั้น พ้นจากสภาวะที่ถูกปัจจัยทุกอย่างปรุงแต่ง.
               คำว่า "รู้ยิ่งซึ่งพระนิพพานนั้น" ความว่า รู้คือทำพระนิพพานนั้นให้แจ่มแจ้งแล้ว.
               คำว่า "ไม่เพียงพอกะแผ่นดิน" ความว่า เราไม่ถือเอาแผ่นดินด้วยการถือเอาด้วยอำนาจตัณหาทิฏฐิและมานะ. แม้ในน้ำเป็นต้น ก็ทำนองเดียวกันนี้แหละ.
               ส่วนความพิสดารพึงทราบตามแบบที่กล่าวแล้วในมูลปริยายสูตรนั่นแล.
               พรหมนี้แสดงอักขระว่า "ทั้งหมด" เพราะความที่ตนเป็นผู้กล่าวคำนี้ว่า "ถ้าแล ของเธอ ผู้นิรทุกข์ แห่งทั้งหมด" เพราะอรรถว่าทั้งหมด แล้วเอาความผิดในอักขระมากล่าว.
               แต่พระศาสดาทรงเป็นผู้สามารถ จึงทรงหมายเอาสิ่งใดมาตรัสว่า "ทั้งหมด".
               พรหมจึงกล่าวว่า เธอหมายเอาหมดทั้งหมดมากล่าวว่า ทั้งหมด เธอพูดว่า ไม่เป็นไปตาม เพราะอรรถว่าทั้งหมด ถ้าสิ่งที่ไม่เป็นไปตามทั้งหมดไม่มี สิ่งที่ไม่เป็นไปตามของสิ่งนั้นก็มี ขอให้คำของเธอจงอย่าเป็นคำที่เปล่าๆ เท่านั้นเลย อย่าเป็นคนที่ว่างๆ เท่านั้นเลย แล้วก็ข่มพระศาสดาด้วยมุสาวาท (คือหาว่าทรงพูดเท็จ) ว่า ขอให้คำของท่านจงอย่าเป็นคำที่เปล่าๆ จงอย่าเป็นคำที่ว่างๆ ดังนี้.
               ส่วนพระศาสดาทรงเป็นนักพูดเสียยิ่งกว่าพรหมนี้ตั้งร้อยเท่าพันเท่า ฉะนั้น เมื่อจะทรงนำเอาเหตุมาเพื่อย่ำยีคำพูดของพรหมนั้นว่า เราจะกล่าวถึงสภาวะทั้งหมด เราจะกล่าวสภาวะที่ไม่มีอะไรเป็นไปตาม จงฟังเรา จึงตรัสคำเป็นต้นว่า วิญญาณ.
               ในคำเหล่านั้น คำว่า "วิญญาณ" ความว่า พึงเข้าใจแจ่มแจ้ง.
               คำว่า "เห็นไม่ได้" ความว่า ชื่อว่าเห็นไม่ได้ เพราะไม่เข้าสู่คลองแห่งจักขุวิญญาณ. แม้ด้วยบททั้งสอง (นี้) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงพระนิพพานนั่นเอง.
               คำว่า "ไม่มีที่สุด" ความว่า ชื่อว่าหาที่สุดไม่ได้ เพราะพระนิพพานนี้นั้นเว้นจากระหว่างแห่งการเกิดและการเสื่อม.
               สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ตรัสไว้แล้วว่า
                         สัตว์ทั้งหลายมีที่สุด พระนิพพานที่ไม่เกิด ไม่มีที่สุด
                         สัตว์ทั้งหลายไม่ปรากฏในที่สุด เราได้ประกาศที่สุด
                         ในสัตว์แล้ว.
               คำว่า "เข้าถึงแสงทั้งหมด" ได้แก่สมบูรณ์ด้วยแสงโดยประการทั้งปวง. จริงอยู่ นอกจากพระนิพพานแล้ว ไม่มีสิ่งอื่นที่มีแสงกว่า มีความโชติช่วงกว่า มีที่สุดที่หมดจดกว่า หรือขาวกว่า.
               อีกอย่างหนึ่ง พระนิพพานเป็นแดนเกิดจากที่ทั้งปวงทีเดียว ในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ไม่ใช่ไม่มี เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นแดนเกิดโดยประการทั้งปวง. จริงอยู่ ในทิศตะวันออกเป็นต้น ชื่อว่าในทิศโน้น ไม่พึงกล่าวว่า ไม่มีพระนิพพาน.
               อีกอย่างหนึ่ง คำว่า "แสง" เป็นชื่อของท่า.
               ชื่อว่ามีท่าทุกแห่ง เพราะทุกแห่งมีท่า. เขาเล่าเกี่ยวกับพระนิพพานว่า ผู้อยากจะข้ามมหาสมุทรโดยที่ใดๆ ที่นั้นๆ แล้วย่อมเป็นท่า, ชื่อว่าที่ที่ไม่ใช่ท่า ย่อมไม่มีฉันใด ในกัมมัฏฐาน ๓๘ อย่าง ผู้ประสงค์จะข้ามไปพระนิพพานด้วยหัวข้อสำคัญใดๆ หัวข้อนั้นๆ แลย่อมเป็นท่า, ไม่มีกัมมัฏฐานที่ชื่อว่าไม่เป็นท่าของพระนิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน,
               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "เป็นท่าทุกแห่ง".
               คำว่า "นั้นแห่งแผ่นดิน เพราะอรรถว่าแผ่นดิน" ความว่า พระนิพพานนั้นเป็นสภาพที่ไม่เป็นไปตามแผ่นดิน เพราะอรรถว่าแผ่นดิน และไม่เป็นไปตามน้ำเป็นต้น อื่นจากแผ่นดินนั้น เพราะสภาพแห่งน้ำเป็นต้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งพระดำรัสว่า ธรรมชาติที่เป็นไปในภูมิ ๓ ทั้งหมดอันเป็นวิสัยของบุคคลแบบเธออันใด ธรรมชาตินั้นเป็นธรรมชาติที่พึงรู้แจ้ง เห็นไม่ได้ไม่มีที่สุด ท่าทุกแห่งเป็นธรรมชาติที่ไม่เป็นไปตาม (อะไรๆ) เพราะอรรถว่าทั้งหมดของธรรมชาติ ทั้งหมดนั้น ดังนี้.
____________________________

               คำที่พกพรหมกล่าวไว้ในพระบาลีว่า ข้าแต่ท่านผู้หาทุกข์มิได้ ถ้าท่านรู้จักสิ่งที่ไม่ใช่สิ่งทั้งปวงนั้น อธิบายว่า พกพรหมมุ่งอักขระแล้วแสดงโทษในอักขระฯ
               พกพรหมเข้าใจว่าถ้อยคำที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้น หมายถึงทุกๆ สิ่ง. เขาจึงหาว่าพระพุทธเจ้ากล่าวคำเท็จ ด้วยใช้ถ้อยคำว่า ถ้าสิ่งทั้งปวงไม่มี ความไม่มีแห่งสิ่งทั้งปวงนั้นก็ต้องมีอยู่ อย่าให้ถ้อยคำของท่านเป็นถ้อยคำที่ไม่จริง ดังนี้.
               แต่พระศาสดาเป็นผู้ฉลาดยิ่งกว่าพกพรหมนั้นตั้งร้อยเท่าพันเท่า พระองค์จึงได้ทรงยกเอานิพพานขึ้นมาแสดงเพื่อให้เห็นว่า สิ่งที่ไม่ใช่ดิน น้ำ ไฟ ลมเป็นต้นนั้น ได้แก่ นิพพานฯ
               ก็นิพพานนั้นเป็นของควรรู้ แต่ไม่มีใครเห็นด้วยจักษุวิญญาณ เป็นของไม่มีที่สุด เพราะปราศจากความเกิด และความสิ้นไปฯ
               ข้อนี้สมกับที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                         สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วทั้งหลาย ต้องมีที่สุดทั้งนั้น ส่วนสิ่งที่ไม่เกิด
                         ไม่มีที่สุด. ผู้ที่เกิดแล้วย่อมไม่ปรากฎในที่สุด นักปราชญ์ได้
                         ประกาศที่สุดไว้ในผู้ที่เกิดแล้ว ดังนี้ฯ
               คำว่า มีรัศมีโดยประการทั้งปวง นั้นหมายความว่า นิพพานนั้นมีรัศมียิ่งกว่าสิ่งอื่น รุ่งเรืองยิ่งกว่าสิ่งอื่น บริสุทธิ์ยิ่งกว่าสิ่งอื่น ขาวผ่องยิ่งกว่าสิ่งอื่นฯ
               อีกอย่างหนึ่ง นิพพานนั้น ใครๆ ไม่ควรกล่าวว่า มีอยู่ในทิศนั้น ทิศนี้ฯ
               อีกอย่างหนึ่ง นิพพานมีทางไปได้หลายทาง กล่าวคือกรรมฐาน ๓๘ ประการ เหมือนกับมหาสมุทรซึ่งมีทางลงเป็นอันมากฉะนั้นฯ
               สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สิ่งที่ควรรู้ แต่ไม่เห็นด้วยตา ไม่มีที่สุด มีรัศมีโดยประการทั้งปวงนั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่า ธรรมในภูมิ ๓ ทั้งสิ้นเป็นวิสัยแห่งมาร ส่วนนิพพานนั้นไม่เป็นวิสัยแห่งมาร ดังนี้ฯ
____________________________

               ลำดับนั้น พรหมถูกพระศาสดาบังคับให้สละสิ่งที่ถือไว้แล้วๆ เมื่อมองไม่เห็นอะไรที่พึงถือเอาก็ใคร่จะทำลัทธิไว้ จึงพูดว่า "เอาเถิด ถ้าอย่างนั้น เราจะหายตัวแก่ท่าน นะผู้นิรทุกข์!"
               ในคำเหล่านั้น คำว่า "เราจะหายตัว" ความว่า พรหมกล่าวว่า เราจะกระทำปาฏิหาริย์ไม่ให้ใครเห็นตัว.
               คำว่า "ถ้าเธอสามารถ" ความว่า ถ้าเธอสามารถ ก็จงทำปาฏิหาริย์ที่หายตัวได้จริงๆ เพื่อความหายตัวแก่เราซิ.
               คำว่า "เธอไม่สามารถจะหายตัวแก่เราหรอก" ความว่า เธอจะไม่สามารถเพื่อจะหายตัวแก่เราได้หรอก.
               ถามว่า ก็แล พรหมนี้เป็นผู้ใคร่จะทำอะไร?
               ตอบว่า เป็นผู้ใคร่เพื่อจะไปสู่ปฏิสนธิดั้งเดิม.
               จริงอยู่ อัตภาพที่ได้จากปฏิสนธิดั้งเดิมของพวกพรหมเป็นสิ่งละเอียดเป็นที่พึ่งแก่ผู้อื่นไม่ได้ ย่อมดำรงอยู่ด้วยกายที่ถูกสร้างอย่างยิ่ง (อภิสังขาร) นั่นเอง. พระศาสดาไม่ได้ประทานเพื่อไปสู่ปฏิสนธิดั้งเดิมแก่พรหมนั้น. หรือเมื่อไม่ไปสู่ปฏิสนธิดั้งเดิม พรหมพึงทำตัวให้หายไปแล้วเป็นผู้ที่ไม่มีใครมองเห็นด้วยความมืดใด. พระศาสดาก็ทรงบรรเทาความมืดนั้นเสียแล้ว เพราะฉะนั้น พรหมจึงไม่สามารถจะหายตัวได้. เมื่อเขาไม่สามารถแอบซ่อนในวิมาน จึงแอบซ่อนที่ไม้กัลปพฤกษ์ นั่งกระหย่งอยู่.
               พวกพรหมก็ทำการเยาะเย้ยว่า พกพรหมนี้แลแอบซ่อนในวิมาน แอบซ่อนที่ไม้กัลปพฤกษ์ นั่งกระหย่งอยู่. พรหม ท่านชื่อว่าย่อมก่อให้เกิดสัญญาว่า "เราจะหายตัว" เขาถูกพวกพรหมเยาะเย้ยเอา ก็แสนจะอับอายขายหน้า.
               คำว่า "เมื่อพรหมพูดอย่างนั้น เรา ภิกษุทั้งหลาย" ความว่า ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพรหมนั้นกล่าวอย่างนั้นว่า "เอาละ ถ้าอย่างนั้น แก่เธอ ผู้นิรทุกข์ เราจะหายตัว เรามองเห็นว่าพรหมนั้นไม่สามารถจะหายตัวได้ จึงได้กล่าวคำนี้.
               คำว่า "เราได้กล่าวคาถานี้" ความว่า ถามว่า ทำไมพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสพระคาถา? ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงคิดว่า พวกพรหมจงอย่ามีโอกาสพูดอย่างนี้ว่า ใครจะสามารถทราบได้อย่างไรว่า ในที่นี้มีพระโคดมผู้เป็นสมณะหรือไม่มี จึงได้ตรัสพระคาถาแล้วเสด็จหายพระองค์ไป.
               ในคำเหล่านั้น บาทพระคาถาว่า "เราได้มองเห็นภัยในภพนั่นแล" ความว่า เราได้มองเห็นภัยในภพโดยแท้.
               บาทพระคาถาว่า "ภพและผู้แสวงหาวิภพ" ความว่า เห็นภพของสัตว์แม้ทั้งสามอย่างมีกามภพเป็นต้นนี้ เห็นผู้แสวงหาวิภพ คือแสวงหาอยู่ ได้แก่เสาะหาอยู่ซึ่งวิภพ และเห็น (ภัย) ในภพนั่นแลเนืองๆ.
               คำว่า "ไม่พร่ำหาภพ" ความว่า ไม่บ่นพร่ำ คือไม่แสวงหาภพไรๆ ด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ. บาทคาถาว่า "และไม่ยึดมั่นความเพลิดเพลิน" ความว่า ไม่เข้าถึง คือไม่ได้ถือเอาตัณหาในภพ.
               พระศาสดา เมื่อทรงประกาศความจริงสี่ประการ ทรงแสดงพระธรรมด้วยประการฉะนี้.
               เมื่อทรงเทศน์จบ พรหมประมาณหมื่นองค์ ยังวิปัสสนาให้ถือเอาครรภ์ (ตั้งท้องแล้วก็คลอดเหมือนข้าวกล้าตั้งท้องแล้วก็ออกรวง) ตามแนวแห่งเทศนา แล้วก็ดื่มน้ำอมฤตคือมรรคผล.
               คำว่า "เป็นผู้เกิดจิตเป็นอัศจรรย์พิลึกพิลั่นแล้ว" ความว่า เป็นผู้เกิดอัศจรรย์ เกิดความหลากใจและเกิดความยินดีแล้ว. บาทพระคาถาว่า "ทรงถอนภพพร้อมทั้งรากเหง้าได้แล้ว" ความว่า ทรงถอนคือทรงรื้อ ได้แก่ทรงกระชากภพพร้อมทั้งรากเหง้าของเทวดาและมนุษย์เป็นอันมากแม้เหล่าอื่น ด้วยเทศนานั้นๆ ของพระองค์ที่ควงไม้โพธิ์.
               ก็แลในสมัยนั้น มารผู้มีบาปเป็นผู้อันความโกรธครอบงำแล้ว คิดว่า "เมื่อเราท่องเที่ยวอยู่นั่นแหละ พรหมประมาณหมื่นองค์เป็นไปล่วงอำนาจเราไปได้ เพราะพระโคดมผู้สมณะแสดงธรรม จึงเข้าสิงในร่างของพรหมปาริสัชชะองค์ใดองค์หนึ่ง เพราะความเป็นผู้ถูกความโกรธครอบงำแล้ว เพื่อทรงแสดงมารนั้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า "ครั้งนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย" ดังนี้.
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า "หากแกตามตรัสรู้อย่างนี้" ความว่า หากแกมาตามตรัสรู้ความจริงสี่อย่างด้วยตนอย่างนี้.
               คำว่า "อย่าน้อมหมู่สาวกเข้าไป" ความว่า อย่าน้อมเอาธรรมนั้นเข้าไปในสาวกที่เป็นคฤหัสถ์ หรือสาวกที่เป็นบรรพชิต.
               คำว่า "ตั้งอยู่ในกายทราม" ความว่า ดำรงอยู่ในอบายทั้ง ๔.
               คำว่า "ตั้งอยู่ในกายประณีต" ความว่า ดำรงอยู่ในพรหมโลก.
               มารกล่าวคำนี้หมายเอาพวกใคร? กล่าวหมายเอาพวกดาบสและปริพาชกที่เป็นนักบวชในลัทธิภายนอก. ความจริงมีอยู่ว่า เมื่อยังไม่เกิดยุคแห่งการเกิดพระพุทธเจ้า พวกกุลบุตรบวชเป็นดาบส ไม่เลือกอะไรๆ ของใครๆ เที่ยวเร่ร่อนไปคนเดียว บังเกิดสมาบัติ แล้วก็เข้าถึงพรหมโลก. มารกล่าวหมายเอาพวกเหล่านั้น.
               บาทคาถาว่า ผู้นิรทุกข์! ท่านไม่ได้เอ่ยถึงกุศลเลย ความว่า ผู้นิรทุกข์ ท่านไม่ได้เอ่ยถึงกุศล ไม่สั่งสอน ไม่กล่าวธรรมกถาแก่คนเหล่าอื่น ข้อนั้นเป็นการดีกว่า.
               คำว่า "จงอย่าสั่งสอนผู้อื่น" ความว่า ท่านอย่าเที่ยวแสวงหามนุษย์โลกเป็นเวลา เทวโลกเป็นเวลา พรหมโลกเป็นเวลา นาคโลกเป็นเวลา จงนั่งฆ่าเวลาด้วยความสุขในฌานในมรรคและในผลในที่เดียว.
               คำว่า "เพราะความเป็นผู้ไม่พูดพร่ำ" ความว่า เพราะความเป็นผู้ไม่คุยโว.
               คำว่า "และเพราะความเป็นการเชื้อเชิญของพรหม" ความว่า และเพราะคำเชื้อเชิญของพกพรหมด้วยตำแหน่งแห่งพรหมผู้มีโอกาสพร้อมโดยนัยเป็นต้นว่า ผู้นิรทุกข์ นี้แลเป็นของเที่ยง.
               คำว่า "ตสฺมา" แปลว่า เพราะเหตุนั้น.
               คำว่า "พรหมนิมันตนิก" นั่นแล เป็นชื่อ เป็นคำสำหรับนับ เป็นคำที่รู้พร้อมกัน เป็นคำแต่งตั้ง เกิดแล้ว แต่คำร้อยแก้วนี้.
               คำที่เหลือในที่ทั้งปวงตื้นแล้วทั้งนั้น ดังนี้แล.

               จบอรรถกถาพรหมนิมันตนิกสูตรที่ ๙               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬยมกวรรค พรหมนิมันตนิกสูตร ว่าด้วยพกพรหมมีทิฏฐิอันลามก จบ.
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 540อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 551อ่านอรรถกถา 12 / 557อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=10134&Z=10286
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=7994
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=7994
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :