ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 110อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 131อ่านอรรถกถา 12 / 153อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค
สติปัฏฐานสูตร ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน

หน้าต่างที่ ๔ / ๖.

               เรื่องพระมหาเถระ               
               เล่ากันมาว่า พระมหาเถระนั่งในที่พักกลางวัน เมื่อจะสนทนากับเหล่าอันเตวาสิก ได้กำมือเข้าแล้วแบออกอย่างเดิม (จากนั้น) จึงค่อยๆ กำเข้าอีก. เหล่าอันเตวาสิกได้เรียนถามท่านว่า ใต้เท้าขอรับ เหตุไฉน ใต้เท้าจึงกำมือเข้าอย่างเร็วแล้วกลับแบไว้อย่างเดิม จากนั้นจึงค่อยๆ กำเข้าอีก.
               พระมหาเถระตอบว่า คุณ ตั้งแต่ผมเริ่มใส่ใจกรรมฐาน ผมไม่เคยละกรรมฐานแล้วกำมือเลย แต่บัดนี้ผมจะพูดกับพวกคุณ ได้ละ กรรมฐานแล้วจึงกำมือ เพราะฉะนั้น ผมจึงได้แบมือออกไปตามเดิมแล้ว ค่อยๆ กำเข้าอีก.
               อันเตวาสิกทั้งหลายกราบเรียนว่า ดีแล้ว ขอรับใต้เท้า ธรรมดาภิกษุควรจะเป็นแบบนี้. แม้ในอิริยาปถบรรพนี้ การไม่ละกรรมฐาน พึงทราบว่า ชื่อว่าโคจรสัมปชัญญะด้วยประการฉะนี้.
               ไม่มีอะไรในภายในที่ชื่อว่าอัตตา คู้เข้ามาหรือเหยียดออกไปอยู่. แต่การคู้เข้าและเหยียดออก มีได้โดยการแผ่ขยายของวาโยธาตุที่เกิดแต่กิริยาจิตมีประการดังที่กล่าวมาแล้ว เหมือนการเคลื่อนไหวมือและเท้าของหุ่นโดยการชักด้วยเชือก เพราะฉะนั้น ก็การกำหนดรู้ (ดังที่กล่าวมานี้) พึงทราบเถิดว่า ชื่อว่ามีอสัมโมหสัมปชัญญะในอิริยาปถบรรพนี้.
               การใช้ผ้าสังฆาฏิและผ้าจีวรโดยการนุ่งการห่ม๑- การใช้บาตรโดยการรักษาเป็นต้น ชื่อว่าธารณะ ในคำว่า สงฺฆาฏิปตฺตจีวรธารเณ นี้.
               การได้อามิสของภิกษุผู้นุ่งและห่มแล้ว เที่ยวไปบิณฑบาต และประโยชน์มีประการดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้นั้นแหละโดยนัยมีอาทิว่า สีตสฺส ปฏิฆาตาย (เพื่อบำบัดหนาว) ชื่อว่าประโยชน์ในการครองผ้าสังฆาฏิและผ้าจีวรนั้น ผู้ศึกษาควรเข้าใจสาตถกสัมปชัญญะด้วยสามารถแห่งประโยชน์นั้นก่อน.
____________________________
๑- ปาฐะว่า นิวาสนปารุปนวเสน น่าจะเป็น ปารุปนวเสน
    ซึ่งแปลว่า ห่ม เพราะเป็นผ้าห่ม ไม่ใช่ผ้านุ่ง, -ผู้แปล-.

               ส่วนจีวรเนื้อละเอียดเป็นสัปปายะของผู้มีปกติร้อน (ขี้ร้อน) และผู้มีกำลังน้อย (แต่) จีวรเนื้อหยาบหนาเป็นสัปปายะของผู้มีปกติหนาวมาก (ขี้หนาว) ผิดไปจากนี้ก็ไม่เป็นสัปปายะ. จีวรเก่าไม่เป็นสัปปายะของใครๆ เลย เพราะมันทำความกังวลใจให้ท่านโดยให้ความข้องใจเป็นต้น. ผ้าจีวรชนิดชิ้นเดียว (ไม่ได้ตัดให้เป็นขัณฑ์) และผ้าเปลือกไม้เป็นต้นที่เป็นที่ตั้งแห่งความโลภก็อย่างนั้น เพราะผ้าเช่นนั้นทำอันตรายแก่การอยู่โดดเดี่ยวในป่า หรือทำอันตรายถึงแก่ชีวิตก็มี และโดยตรงแล้วผ้าจีวรผืนใดที่เกิดขึ้น (ได้มา) ด้วยอำนาจมิจฉาชีพมีการทำนิมิตเป็นต้น และจีวรใดเมื่อท่านใช้อยู่ อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมลง จีวรนั้นเป็นอสัปปายะ แต่จีวรที่ผิดแผกไปจากนี้เป็นสัปปายะ.
               ในสัมปชัญญบรรพนี้ ผู้ศึกษาพึงเข้าใจสัปปายสัมปชัญญะด้วยอำนาจของจีวรนั้น และโคจรสัมปชัญญะด้วยอำนาจการไม่ละทิ้งกรรมฐานเลย.
               ไม่มีอะไรที่ชื่อว่าอัตตาในภายในของภิกษุผู้ห่มจีวรอยู่ มีแต่การห่มจีวร โดยการแผ่ขยายของวาโยธาตุที่เกิดแต่กิริยาของจิตมีประการดังที่กล่าวแล้วเท่านั้น.
               บรรดาจีวรและกายทั้ง ๒ อย่างนั้น ถึงจีวรก็ไม่มีความตั้งใจ ถึงกายก็ไม่มีความตั้งใจ จีวรก็ไม่รู้ว่าเราห่มกาย. ถึงกายก็ไม่รู้ว่าจีวรห่มเรา. ธาตุทั้งหลายเท่านั้นปกคลุมกลุ่มธาตุไว้ เหมือนเอาผ้าเก่าห่อรูปคือคัมภีร์ เพราะฉะนั้น ได้จีวรที่ดีแล้วก็ไม่ควรทำความดีใจเลย ได้ไม่ดีก็ไม่ควรเสียใจ.
               อธิบายว่า คนบางพวกพากันสักการะ นาค จอมปลวกเจดีย์และต้นไม้เป็นต้น๒- ด้วยดอกไม้ของหอมและผ้าเป็นต้น.
____________________________
๒- ปาฐะว่า นานาวมฺมิกเจติยรุกฺขาทีสุ ฉบับพม่าเป็น นาควมฺมิกเจติยรุกฺขาทีสุ แปลตามฉบับพม่า.

               แต่คนบางเหล่าทำสิ่งที่ไม่ใช่สักการะ เช่นถ่ายอุจจาระปัสสาวะรดเอาโคลนทา เอาท่อนไม้ตีและศัสตราประหารเป็นต้น นาค จอมปลวกและต้นไม้เป็นต้นจะไม่ทำความยินดียินร้ายด้วยสักการะหรืออสักการะนั้น (ฉันใด) ภิกษุก็เช่นนั้นเหมือนกัน ได้จีวรดีแล้วก็ไม่ควรทำความดีใจ ได้ไม่ดีก็ไม่ควรเสียใจ.
               ในสัมปชัญญบรรพนี้ ผู้ศึกษาควรเข้าใจอสัมโมหสัมปชัญญะ ด้วยอำนาจการพิจารณาที่เป็นไปแล้วดังที่พรรณนามานี้เทอญ.
               แม้ในการอุ้มบาตร ก็ควรทราบอสัมโมหสัมปชัญญะ ด้วยอำนาจประโยชน์ที่จะพึงได้๓- เพราะมีการถือบาตรเป็นปัจจัยอย่างนี้ว่า เราจักไม่รีบร้อนถือบาตร แต่จะถือเอาบาตร (โดยมีกรรมฐานเป็นสำคัญ) เที่ยวไปบิณฑบาต ก็จักได้ภิกษา.
____________________________
๓- ปาฐะว่า ปฏิลภิตพฺพํ อตฺตวเสน พม่าเป็น ปฏิลภิตพฺพอตฺถวเสน แปลตามฉบับพม่า.

               ส่วนบาตรหนักไม่เป็นสัปปายะ สำหรับภิกษุผู้มีร่างกายผอมและแรงน้อย และบาตรที่เชื่อม (เหล็ก) เข้ากัน ๔-๕ แผ่น ตะไบไม่เรียบร้อย ไม่เป็นสัปปายะแก่คนใดคนหนึ่งเลย๔- เพราะว่า บาตรที่ล้างยาก ไม่เหมาะ ก็เมื่อล้างบาตรนั่นแหละ เธอจะมีความกังวล. ส่วนบาตรที่มีสีเหมือนแก้วมณีเป็นที่ตั้งแห่งความโลภ ไม่เป็นสัปปายะโดยนัยที่ได้กล่าวไว้แล้วในจีวรนั่นแหละ แต่บาตรที่ได้มาโดยการทำนิมิตเป็นต้น ซึ่งเมื่อภิกษุนั้นใช้ อกุศลธรรมจะเจริญขึ้น กุศลธรรมจะเสื่อมลง บาตรนี้เป็นอสัปปายะโดยส่วนเดียวเท่านั้น บาตรที่ผิดแผกไป (จากนี้) เป็นสัปปายะ.
               พึงทราบสัปปายสัมปชัญญะด้วยสามารถแห่งบาตรนั้น พึงทราบโคจรสัมชัญญะโดยไม่ละกรรมฐาน.
____________________________
๔- ปาฐะว่า อสปฺปาโย จ พม่าเป็น อสปฺปาโยว แปลตามพม่า.

               ไม่มีอะไรที่ชื่อว่าเป็นอัตตาในภายในแก่ภิกษุอุ้มบาตรอยู่ ธรรมดาการอุ้มบาตรจะมีได้ก็โดยการแผ่ขยายของวาโยธาตุที่เกิดขึ้น เพราะกิริยาของจิตมีประการดังที่กล่าวมาแล้ว บรรดามือและบาตรทั้ง ๒ อย่างนั้น ทั้งบาตรก็ไม่มีความตั้งใจ ทั้งมือก็ไม่มีความตั้งใจ บาตรก็ไม่รู้ว่ามืออุ้มเรา ถึงมือก็ไม่รู้ว่าเราอุ้มบาตร ธาตุทั้งหลายเท่านั้นอุ้มกลุ่มธาตุ เหมือนกับในเวลาเอาคีมคีบบาตรที่สุมไฟ เพราะฉะนั้น ในสัมปชัญญบรรพนี้ พึงทราบอสัมโมหสัมปชัญญะโดยการพิจารณาที่เป็นไปแล้ว ดังที่พรรณนามานี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุใดพิจารณาเห็นจีวรเหมือนผ้าพันแผล บาตรเหมือนกระเบื้องใส่ยา และภิกษาที่ได้มาในบาตรเหมือนยาในกระเบื้อง ภิกษุนี้พึงทราบเถิดว่า เป็นผู้มีปกติทำความรู้ตัวสูงสุดเป็นปกติด้วยอสัมโมหสัมปชัญญะในการพาดสังฆาฏิ อุ้มบาตรและห่มจีวร เหมือนกับชายที่มีความเอ็นดู เห็นคนอนาถา๕- นอนอยู่ที่ศาลาสำหรับคนอนาถามีมือเท้าด้วน มีน้ำเหลืองและเลือดทั้งหมู่หนอนไหลออกจากปากแผล มีแมลงวันหัวเขียวตอมหึ่ง จึงได้หาผ้าพันแผลและยา พร้อมทั้งกระเบื้องใส่ยาไปมอบให้เขาเหล่านั้น ในจำนวนสิ่งของเหล่านั้น แม้ผ้าที่เนื้อละเอียดก็ตกแก่บางพวก ที่เนื้อหยาบก็ตกแก่บางพวก ถึงกะลาใส่ยาที่ทรวดทรงงามก็ตกแก่บางพวก ที่ทรวดทรงไม่งามก็ตกแก่บางพวก พวกเขาจะไม่ดีใจหรือเสียใจในสิ่งของเหล่านั้น เพราะพวกเขามีความต้องการผ้าเพียงแต่ใช้ปิดแผลเท่านั้น และกะลาเพียงแต่ใช้รับยาเท่านั้นฉะนั้น.
____________________________
๕- ปาฐะว่า พม่ามีศัพท์ นิปนฺเน ในระหว่างนี้ จึงแปลตามพม่า.

               พึงทราบวินิจฉัย ในการฉันเป็นต้น (ดังต่อไปนี้) :-
               บทว่า อสิเต ความว่า ในการฉันบิณฑบาต.
               บทว่า ปิเต ความว่า ในการดื่มข้าวยาคูเป็นต้น.
               บทว่า ขาทิเต ความว่า ในการเคี้ยวของเคี้ยวที่ทำด้วยแป้งเป็นต้น.
               บทว่า สายิเต ความว่า ในการดื่มของดื่มมีน้ำอ้อยเป็นต้น.
               ในการฉันเป็นต้นนั้น ประโยชน์ทั้ง ๘ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้โดยนัยมีอาทิว่า เนว ทวาย (ไม่ใช่เพื่อเล่น) ชื่อว่าประโยชน์ ผู้ศึกษาพึงทราบสาตถกสัมปชัญญะด้วยสามารถแห่งประโยชน์นั้น.
               ก็ผู้ใดมีความไม่สบาย เพราะโภชนะใด โภชนะนั้นเป็นอสัปปายะสำหรับผู้นั้น. ส่วนโภชนะใดได้มาโดยการทำนิมิตเป็นต้น และเมื่อเธอฉันโภชนะใด อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมสิ้นไป. โภชนะนั้นเป็นอสัปปายะโดยถ่ายเดียวเท่านั้น. แต่ที่ผิดเพี้ยนไป (จากนี้) เป็นสัปปายะ.
               ผู้ศึกษาควรเข้าใจสัปปายสัมปชัญญะ ด้วยอำนาจแห่งโภชนะที่เป็นสัปปายะนั้น และพึงทราบโคจรสัมปชัญญะ โดยไม่ละทิ้งกรรมฐานเลย.
               ไม่มีใคร ชื่อว่าอัตตาในภายในเป็นผู้กิน มีแต่การรับบาตรธรรมดา โดยการแผ่ขยายแห่งวาโยธาตุที่เกิดแต่กิริยาของจิตมีประการดังที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น มีแต่การหย่อนมือลงในบาตรธรรมดา โดยการแผ่ขยายแห่งวาโยธาตุอันเกิดแต่กิริยาของจิตเท่านั้น มีแต่การปั้นคำข้าว การยกคำข้าวขึ้นและการอ้าปากรับ โดยการแผ่ขยายของวาโยธาตุที่เกิดแต่กิริยาของจิตเท่านั้น ไม่มีใครเอากุญแจและเครื่องยนต์เปิดกระดูกคาง มีแต่การวางคำข้าวไว้ในปาก การให้ฟันบนทำหน้าที่แทนสาก การให้ฟันข้างล่างทำหน้าที่แทนครก และการให้ลิ้นทำหน้าที่แทนมือ โดยการแผ่ขยายของวาโยธาตุที่เกิดแต่กิริยาของจิตเท่านั้น.
               ด้วยเหตุอย่างนี้ น้ำลายจำนวนเล็กน้อยจากปลายลิ้น ในบรรดาปลายและโคนนั้น (และ) น้ำลายจำนวนมากจากโคนลิ้นก็จะคลุกเคล้าคำข้าวนั้น คำข้าวนั้นจะพลิกไปมาด้วยมือคือลิ้นในครกคือฟัน (กราม) ล่าง เปียกชุ่มไปด้วยน้ำคือเขฬะ บดละเอียดด้วยสากคือฟัน (กราม) บน, ขึ้นชื่อว่าใครๆ จะเอาช้อนหรือทัพพีสอดเข้าไปข้างใน (ปาก) ไม่มี, (คำข้าว) เข้าไปได้ เพราะวาโยธาตุนั่นเอง คำข้าวที่เข้าๆ ไปแล้ว ใครๆ ชื่อว่าจะยั้งไว้ ทำให้เป็น (เหมือน) สุมกองฟางไว้ไม่มี แต่จะวางไว้ได้ด้วยอำนาจวาโยธาตุเท่านั้น. ที่วางๆ ไว้แล้ว ใครๆ ชื่อว่าจะตั้งเตาติดไฟต้มให้เปื่อยไม่มี แต่จะเปื่อยได้เพราะเตโชธาตุเท่านั้น. ที่เปื่อยแล้วๆ ใครๆ ชื่อว่าจะเอาไม้ถือหรือไม้เท้า เขี่ยออกไปข้างนอกก็ไม่มี วาโยธาตุเท่านั้นจะนำออกไป
               ด้วยเหตุอย่างนี้ วาโยธาตุนำ (คำข้าว) เข้าไปด้วย นำออกไปด้วย ให้หยุดอยู่ด้วย ให้พลิกไปมาด้วย ให้ย่อยไปด้วย ให้นำ (กาก) ออกไปด้วย. ปฐวีธาตุทรงไว้ด้วย ให้พลิกไปด้วย ให้ย่อยด้วย. อาโปธาตุให้เกาะกุมกันไว้ด้วย รักษาไว้ให้สดอยู่ด้วย. เตโชธาตุจะย่อยคำข้าวที่เข้าไปข้างในแล้ว อากาศธาตุเป็นช่องทาง วิญญาณธาตุคำนึงถึงโดยอาศัยการประกอบกันโดยชอบ ในธาตุนั้นๆ. ผู้ศึกษาพึงเข้าใจสัมโมหสัมปชัญญะในสัมปชัญญบรรพโดยการพิจารณาที่เป็นไปแล้ว ดังที่พรรณนามานี้เทอญ.

               ปฏิกูล ๑๐               
               อีกอย่างหนึ่ง พระโยคาวจรควรทราบอสัมโมหสัมปชัญญะ ในสัมปชัญญบรรพนี้ โดยการพิจารณาถึงความปฏิกูล ๑๐ อย่างนี้ คือ โดยการไป ๑ โดยการแสวงหา ๑ โดยการฉัน ๑ โดยอัธยาศัย ๑ โดยการเก็บไว้ (ในกระเพาะอาหาร) ๑ โดยส่วนที่ยังไม่ย่อย ๑ โดยส่วนที่ย่อยแล้ว ๑ โดยผล ๑ โดยซึมซาบ ๑ โดยเปรอะเปื้อน ๑.
               ส่วนกถาอย่างพิสดาร ในสัมปชัญญบรรพนี้ ควรถือเอาจากนิเทศแห่งอาหาเรปฏิกูลสัญญา ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคเทอญ.
               บทว่า อุจฺจารปสฺสาวกมฺเม ความว่า ในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ (เพราะว่า) ถึงเวลานั้นแล้ว เมื่อไม่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ เหงื่อจะไหลออกทั่วร่างกาย นัยน์ตาจะพร่า จิตไม่เป็นเอกัคตา และโรคอื่นๆ ก็จะเกิดขึ้น. แต่เมื่อถ่ายแล้วสิ่งทั้งหมดนั้นจะไม่มี เพราะฉะนั้น ข้อความนี้เป็นอรรถาธิบายในคำว่า อุจฺจารปสฺสาวกมฺเม นี้. ผู้ศึกษาพึงเข้าใจสาตถกสัมปชัญญะด้วยอำนาจแห่งเนื้อความนั้น.
               ที่เมื่อถ่ายอุจจาระปัสสาวะในที่ไม่สมควรจะเป็นอาบัติ จะเสื่อมยศ (เสียเกียรติ) จะเป็นอันตรายแก่ชีวิต แต่เมื่อถ่ายในที่เหมาะสม สิ่งทั้งหมดนั้นจะไม่มี เพราะฉะนั้น การถ่ายในที่เหมาะสมนี้จึงเป็นสัปปายะ. ในอุจจารปัสสาวกรรมนี้ ผู้ศึกษาพึงทราบสัปปายสัมปชัญญะด้วยอำนาจแห่งสัปปายะนั้น.
               ส่วนโคจรสัมปชัญญะ พึงทราบด้วยอำนาจการไม่ละทิ้งกรรมฐานนั่นแหละ.
               ไม่มีใครชื่อว่าเป็นอัตตาในภายในถ่ายอุจจาระปัสสาวะ มีแต่การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ เพราะการแผ่ขยายแห่งวาโยธาตุที่เกิดแต่กิริยาของจิตเท่านั้น, ก็อุจจาระและปัสสาวะที่ขังอยู่ในไส้แก่และกระเพาะปัสสาวะ ถูกกำลังลมดันไป ก็จะออกไปเอง โดยไม่อยากให้ออกเลย เหมือนเมื่อฝีแก่แล้ว หนองและเลือดจะไหลออกไปเอง โดยไม่อยาก (ให้ไหล) เพราะฝีแตก และเหมือนกับน้ำจะไหลออกจากภาชนะใส่น้ำที่ดันแล้ว โดยไม่อยาก (ให้ไหล) ฉะนั้น.
               ก็อุจจาระและปัสสาวะนี้ใดที่ถ่ายออกไปแล้ว อุจจาระและปัสสาวะนี้นั้นแห่งอัตตาของภิกษุนั้น จะไม่มีเลย ของผู้อื่นก็ไม่มี จะมีก็แต่การขับถ่ายของร่างกายเท่านั้น.
               เหมือนอะไรหรือ?
               เหมือนเมื่อเทน้ำเก่าทิ้งจากหม้อน้ำแล้ว หม้อก็ไม่มีน้ำนั้นเลย สิ่งอื่นก็ไม่มี คงมีแต่เพียงปฏิบัติการอย่างเดียวเท่านั้นฉันใด ผู้ศึกษาพึงเข้าใจสัมโมหสัมปชัญญะ ในสัมปชัญบรรพนี้ โดยการพิจารณากิริยาอาการที่เป็นไปแล้วฉันนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในการเดินเป็นต้น (ดังต่อไปนี้) :-
               บทว่า คเต ได้แก่ ในการเดินไป.
               บทว่า ฐิเต ได้แก่ ในการยืน.
               บทว่า นิสินฺเน ได้แก่ ในการนั่ง.
               บทว่า สุตฺเต ได้แก่ ในการนอนหลับ.
               บทว่า ชาคริเต ได้แก่ ในการตื่น.
               บทว่า ภาสิเต ได้แก่ ในการกล่าว.
               บทว่า ตุณฺหีภาเว ได้แก่ ในการไม่พูด.
               พระองค์ได้ตรัสอิริยาบถยาวนานไว้ในฐานะนี้ว่า เมื่อเดินไปก็รู้ว่าเรากำลังเดินบ้าง, ยืนแล้วก็รู้ว่าเรายืนแล้วบ้าง, นั่งแล้วก็รู้ว่าเรานั่งแล้วบ้าง นอนแล้วก็รู้ว่าเรานอนแล้วบ้าง. ตรัสอิริยาบถกลางๆ ไว้ในฐานะนี้ว่า ในการก้าวไปข้างหน้า, ในการถอยกลับ, ในการแลตรง. ในการแลซ้ายแลขวา, ในการเหยียดออก.
               แต่ในบรรพนี้ ตรัสอิริยาบถปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ ไว้ว่า ในการเดิน, ในการยืน, ในการนั่ง ในการหลับ ในการตื่น เพราะฉะนั้น พึงทราบความเป็นผู้ทำความรู้สึกตัวเป็นปกติ โดยนัยที่ตรัสไว้ในฐานะเหล่านี้นั่นแหละ.
               ก็ท่านมหาสิวเถระผู้ทรงพระไตรปิฎกได้กล่าวไว้ว่า ผู้ใดเดินไปหรือจงกรมนานๆ แล้วต่อมาจึงยืน พิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า รูปธรรมและอรูปธรรมที่เป็นไปแล้วในเวลาจงกรม ได้ดับไปแล้วในเวลาจงกรมนี้เอง ผู้นี้นั้นชื่อว่าทำความรู้สึกตัวในการเดิน.
               ผู้ใด เมื่อทำการสาธยาย, แก้ปัญหา หรือมนสิการกรรมฐาน ยืนอยู่นานๆ แล้วต่อมาจึงนั่ง พิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า รูปธรรมและอรูปธรรมที่เป็นไปแล้วในเวลายืน ได้ดับไปแล้วในเวลายืนนี้เอง ผู้นี้นั้นชื่อว่าทำความรู้สึกตัวในการยืน.
               ผู้ใดนั่งนานๆ โดยทำการสาธยายเป็นต้นนั้นเอง แล้วต่อมาจึงนอน พิจารณาเห็นอย่างนี้ รูปธรรมและอรูปธรรมที่เป็นไปแล้วในเวลานั่ง ได้ดับไปแล้วในเวลานั่งนี้เอง ผู้นี้นั้นชื่อว่าทำความรู้สึกตัวในการนั่ง.
               ผู้ใดนอนอยู่นั่นแหละ ทำการสาธยายไปพลาง หรือมนสิการกรรมฐานไปพลาง ก้าวลงสู่ความหลับ ต่อมาจึงลุกขึ้น พิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า รูปธรรมและอรูปธรรมที่เป็นไปแล้วในเวลานอน ได้ดับไปแล้วในเวลานอนนี้เอง ผู้นี้นั้นชื่อว่าทำความรู้สึกตัวทั้งในการหลับ ทั้งในการตื่น. เพราะว่าจิตที่สำเร็จด้วยกิริยา ไม่มีการเป็นไป (ไม่ขึ้นสู่วิถี) ชื่อว่าหลับ มีการเป็นไป ชื่อว่าตื่น เพราะฉะนั้น (ผู้นั้นจึงชื่อว่าทำความรู้สึกตัวทั้งในการหลับ ทั้งในการตื่น).
               ส่วนผู้ใด เมื่อพูดก็พูดมีสติ รู้สึกตัวว่า ธรรมดาว่าเสียงนี้อาศัยริมฝีปาก อาศัยฟัน, ลิ้น, เพดานและประโยคของจิตที่เหมาะสมกับจิตนั้น แล้วจึงเกิดขึ้นได้.
               อีกอย่างหนึ่ง ผู้ใดทำการสาธยายธรรม บอกธรรม แปลธรรม (สอน) กรรมฐาน หรือวิสัชนาปัญหาเป็นเวลานาน ต่อมาจึงนิ่งพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า รูปธรรมและอรูปธรรมที่เป็นไปแล้วในเวลาพูด ก็ดับไปแล้วในเวลาพูดนี้เอง. ผู้นี้นั้นชื่อว่าทำความรู้สึกตัวในการพูด.
               ผู้ใดดุษณีภาพ มนสิการถึงธรรมหรือกรรมฐานนานๆ ต่อมาพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า รูปธรรมและอรูปธรรมที่เป็นไปในเวลานิ่ง ก็ได้ดับไปแล้วในเวลานิ่งนั้นเอง เมื่อมีการเป็นไปแห่งอุปาทายรูป (เขา) ก็ชื่อว่าพูด เมื่อไม่มี ก็ชื่อว่าเป็นผู้นิ่ง ผู้นี้นั้นชื่อว่าทำความรู้สึกในดุษณีภาพ.
               สัมปชัญญะที่มีอสัมโมหะเป็นธุระที่พระมหาเถระกล่าวไว้แล้วนี้นั้น พระองค์ทรงประสงค์เอาแล้วในสติปัฏฐานสูตรนี้.
               ส่วนในสามัญญผลสูตร ได้สัมปชัญญะหมดทั้ง ๔ อย่าง. เพราะฉะนั้น ในสามัญญผลสูตรนี้ ผู้ศึกษาพึงทราบความเป็นผู้กระทำความรู้สึกตัวไว้เป็นพิเศษ ด้วยอำนาจสัมปชัญญะที่ไม่ลืมหลง.
               และในทุกๆ บทว่า สมฺปชานการี สมฺปชานการี ผู้ศึกษาพึงทราบอรรถาธิบายด้วยอำนาจสัมปชัญญะที่ประกอบด้วยสติเหมือนกัน.
               ส่วนในวิภังคปกรณ์ พระองค์ทรงจำแนกบทเหล่านี้ไว้อย่างนี้เหมือนกันว่า พระโยคาวจรมีสติ มีสัมปชัญญะก้าวไปข้างหน้า มีสติ มีสัมปชัญญะถอยกลับ.
               บทว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา๑- ความว่า พระโยคาวจร ชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายของตน หรือของผู้อื่น คือในกายของตนตามกาล (ที่ควร) หรือกายของผู้อื่นตามกาล (ที่ควร) โดยการกำหนดด้วยสัมปชัญญะ ๔ ประการอย่างนี้.
____________________________
๑- ปาฐะว่า อิทานิ แต่ฉบับพม่าเป็น อิติ แปลตามฉบับพม่า.

               แม้ในจตุสัมปชัญญบรรพนี้ ก็ควรนำเอาความเกิดความเสื่อมแห่งรูปขันธ์นั่นเอง ไปไว้ในคำทั้งหลายมีอาทิว่า สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี วา คำที่ยังเหลือเป็นเช่นเดียวกันกับคำที่ได้กล่าวมาแล้วนั่นแหละ.

               อริยสัจในสัมปชัญญะ               
               ในที่นี้ สติที่กำหนดด้วยสัมปชัญญะ ๔ ประการเป็นทุกขสัจ ตัณหาเดิมที่ยังสติให้ปรากฏ (เป็นสมุฏฐานของสติ) เป็นสมุทัยสัจ การไม่เป็นไปของสติและตัณหาเดิมทั้ง ๒ นั้นเป็นนิโรธสัจ อริยมรรคมีประการดังที่กล่าวมาแล้ว เป็นมรรคสัจ.
               พระโยคาวจรขวนขวายด้วยอำนาจสัจจะทั้ง ๔ อย่างนี้แล้ว จะบรรลุความดับ (ตัณหา) เพราะฉะนั้น จึงเป็นช่องทางแห่งธรรมเป็นเหตุนำออกจากทุกข์ จนถึงพระอรหัตด้วยอำนาจแห่งพระโยคาวจรผู้กำหนดด้วยสัมปชัญญะ ๔ ประการรูปหนึ่งแล.
               จบจตุสัมปชัญญบรรพ               

               ปฏิกูลมนสิการบรรพ               
               [๑๓๖] พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงจำแนกกายานุปัสสนาด้วยอำนาจแห่งสัมปชัญญะ ๔ ประการดังพรรณนานี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงจำแนกด้วยอำนาจมนสิการโดยเป็นของปฏิกูล จึงได้ตรัสคำมีอาทิว่า ปุน จปรํ ดังนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในปฏิกูลมนสิการบรรพ ดังต่อไปนี้ :-
               คำใดที่จะต้องกล่าวในคำว่า อิมเมว กายํ เป็นต้น คำนั้นทั้งหมด๑- ได้กล่าวไว้แล้วในกายคตาสติกรรมฐาน ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคโดยพิสดารด้วยอาการทุกอย่าง.
____________________________
๑- ฉบับพม่ามีคำว่า สพฺพํ จึงแปลตามบาลีของพม่า.

               บทว่า อุภโตมุขา ความว่า (ไถ้) ประกอบด้วยปาก ๒ ทาง คือทั้งทางล่างทั้งทางบน.
               บทว่า นานาวิหิตสฺส แปลว่า มีอย่างต่างๆ.
               ก็ในเรื่องนี้มีข้ออุปมาเป็นการเทียบเคียงกันดังนี้ :-
               อธิบายว่า กาย คือมหาภูตรูป ๔ พึงทราบว่า เหมือนไถ้มีปาก ๒ ทาง อาการ ๓๒ มีผมเป็นต้น พึงทราบว่า เหมือนธัญญชาตินานาชนิดที่เทปนกันในไถ้. พระโยคาวจรพึงทราบว่า เหมือนบุรุษมีตาดี, อาการปรากฏแจ่มชัดแห่งอาการ ๓๒ แก่พระโยคี พึงทราบว่าเหมือนเวลาที่ธัญญชาตินานาชนิด๒- ปรากฏแก่บุรุษนั้นผู้แก้ไถ้นั้นแล้วตรวจดูฉะนั้น.
____________________________
๒- ปาฐะว่า ปกฺขิตนานาวิธชญฺญํ ฉบับพม่าเป็น ปกฺขิตฺตนานาวิธธญฺญสฺส แปลตามพม่า.

               บทว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา ความว่า พระโยคาวจร ชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายของตน หรือในกายของผู้อื่น คือในกายของตนตามกาล (ที่เหมาะสม) หรือในกายของผู้อื่นตามกาล (ที่เหมาะสม) ด้วยการกำหนดในผมเป็นต้น.
               คำต่อจากนี้ไป มีนัยดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นแหละ.
               จริงอยู่ ในปฏิกูลมนสิการบรรพนี้ สติที่กำหนดอาการ ๓๒ เป็นทุกขสัจอย่างเดียว ผู้ศึกษาควรทำการประกอบความดังที่พรรณนามาอย่างนี้แล้ว ทราบมุขแห่งการออกไป (จากทุกข์).
               คำที่เหลือ (จากที่อธิบายมาแล้วนี้) เป็นเช่นกับคำก่อนนั้นเอง ดังนี้แล.
               จบปฏิกูลมนสิการบรรพ               

               ธาตุมนสิการบรรพ               
               [๑๓๗] พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงจำแนกกายานุปัสสนาด้วยอำนาจปฏิกูลมนสิการอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงจำแนกด้วยอำนาจการมนสิการถึงธาตุ จึงตรัสคำมีอาทิว่า ปุน จปรํ ไว้.
               ในคำเหล่านั้นมีการพรรณนาความพร้อมกับคำอุปมาเป็นการเปรียบเทียบกัน ดังนี้ :-

               เปรียบพระเหมือนคนฆ่าวัว               
               คนฆ่าวัวบางคนหรือลูกมือของเขาที่เป็นลูกจ้างฆ่าวัวแล้ว ชำแหละแล้ว ต้องแบ่งแยกออกเป็นส่วนๆ นั่ง (ขาย) อยู่ที่ทาง ๔ แพร่ง. กล่าวคือที่ท่ามกลางถนนใหญ่ที่แยกไป ๔ ทิศฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณากายตามที่สถิตอยู่แล้วโดยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งแห่งอิริยาบถทั้ง ๔ และตามที่ดำรงอยู่แล้ว เพราะตามที่ได้ตั้งปณิธานไว้อย่างนี้ว่า มีอยู่ในกายนี้ (คือ) ธาตุดิน ฯลฯ ธาตุลม.
               มีพุทธาธิบายไว้อย่างไร?
               มีพุทธาธิบายไว้ว่า :-
               คนฆ่าโค เมื่อกำลังเลี้ยงโคก็ดี กำลังจูงไปสู่ที่ฆ่าสัตว์ก็ดี ครั้นจูงไปแล้วกำลังผูกให้ยืนอยู่ที่นั้นก็ดี กำลังฆ่าก็ดี กำลังดูวัวที่เขาฆ่าแล้วก็ดี ความหมายรู้ว่าแม่โค ยังไม่จางหายไปตลอดเวลาที่ยังไม่ชำแหละแม่โคนั้นแบ่งแยกออกเป็นส่วนๆ แต่ครั้นนั่งแบ่ง (เนื้อ) แล้ว ความหมายรู้ว่าแม่โค ก็จะจางหายไป. ความหมายรู้ว่าเนื้อ ก็จะเป็นไปเข้ามาแทนที่ เขาจะไม่มีความคิดอย่างนี้ว่าเราขายแม่โค เขาเหล่านี้ซื้อแม่โค. โดยที่แท้แล้ว เขาจะมีความคิดอย่างนี้เท่านั้นว่าเราขายเนื้อ เขาเหล่านี้ซื้อเนื้อฉันใด.
               ในเวลาที่ภิกษุแม้รูปนี้ยังเป็นพาลปุถุชนอยู่ก่อนก็เช่นนั้นเหมือนกัน ความหมายรู้ว่าสัตว์หรือบุคคลของท่านผู้เป็นคฤหัสถ์ก็ดี ผู้บวชแล้วก็ดี ยังไม่อันตรธานไป ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้ทำกายนี้นั้นเอง ตามที่สถิตอยู่แล้ว ตามที่ตั้งอยู่แล้วให้เป็นการแยกออกไปจากก้อนแล้วเห็นโดยเป็นธาตุ แต่เมื่อท่านพิจารณาเห็นอยู่โดยเป็นธาตุ สัตตสัญญา (ความหมายรู้ว่าสัตว์) ของท่านก็จะอันตรธานไป จิตจะตั้งอยู่ด้วยอำนาจของธาตุนั้นเอง.
               เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า เธอจะพิจารณาเห็นกายนี้ตามที่สถิตอยู่แล้ว ตามที่ตั้งอยู่แล้วโดยเป็นธาตุว่า ในกายนี้มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมอยู่. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นายโคฆาตก์ผู้ขยัน หรือ ฯลฯ วาโยธาตุ แม้ฉันใด.
               อธิบายว่า ภิกษุผู้บำเพ็ญเพียร (โยคี) เหมือนคนฆ่าโค ความหมายรู้ว่าสัตว์ เหมือนความหมายรู้ว่าแม่โค อิริยาบถ ๔ เหมือนทางใหญ่ ๔ แพร่ง การพิจารณาเห็น (กาย) โดยเป็นธาตุ เหมือนนายโคฆาตก์ผู้นั่งแบ่ง (เนื้อ) ออกเป็นส่วนๆ. นี้คือการพรรณนาความตามพระบาลีในธาตุมนสิการบรรพนี้.
               ส่วนกถาว่าด้วยกรรมฐาน ได้ให้พิสดารไว้แล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.
               บทว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา ความว่า พระโยคาวจรมีปกติพิจารณาเห็นกายในกายของตน หรือในกายของผู้อื่น คือมีปกติพิจารณาเห็นกายในกายของตนตามกาล หรือในกายของผู้อื่นตามกาล อยู่อย่างนี้ คือโดยการกำหนดธาตุ ๔.
               คำต่อจากนี้ไปมีนัยดังที่กล่าวมาแล้วนั้นแหละ. เพราะว่าในธาตุมนสิการบรรพนี้ สติที่กำหนดธาตุ ๔ เป็นทุกขสัจอย่างเดียว.
               บัณฑิตพึงทราบช่องทางแห่งธรรมเครื่องนำออก (จากทุกข์) ตามที่ได้อธิบายความประกอบมาอย่างนี้แล.
               คำที่เหลือเช่นกับคำก่อนนั้นเอง ดังนี้แล.
               จบธาตุมนสิการบรรพ               

               นวสีวถิกาบรรพ               
               [๑๓๘] พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงจำแนกกายานุปัสสนาด้วยอำนาจการมนสิการถึงธาตุอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงจำแนกด้วยนวสีวถิกาบรรพ (ข้อธรรมที่ว่าด้วยป่าช้า ๙) จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ปุน จปรํ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เสยฺยถาปิ ปสฺเสยฺย ได้แก่ ยถา ปสฺเสยฺย (แปลว่า พึงเห็นฉันใด).
               บทว่า สรีรํ ได้แก่ร่างกายของคนที่ตายแล้ว.
               บทว่า สีวถิกาย ฉฑฺฑิตํ ความว่า ที่เขาทอดทิ้งไว้ที่ป่าช้า.
               ร่างของคนที่ตายแล้ววันเดียว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเอกาหมตะ.
               ร่างกายของคนที่ตายแล้ว ๒ วัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าทวีหมตะ.
               ร่างกายของคนที่ตายแล้ว ๓ วัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าตีหมตะ.
               ศพที่พองลมเหมือนสูบ ชื่อ อุทธุมาตกะ (ขึ้นพอง) เพราะขึ้นพอง โดยอืดขึ้นไปตามลำดับหลังจากสิ้นชีวิตแล้ว.
               สีช้ำดำเขียว เขาเรียกว่า วินีละ. วินีลกะก็คือวินีละนั้นเอง.
               อีกอย่างหนึ่ง ศพที่มีสีเขียวปั๊ด น่าเกลียด เพราะเป็นของปฏิกูล เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าวินีลกะ. คำว่า วินีลกะ นี้ เป็นชื่อของซากศพที่มีสีแดง ในที่ที่มีเนื้อนูน มีสีขาวในที่ที่หนองคั่งอยู่ แต่โดยมากมีสีเขียว ในที่ที่มีสีเขียว ก็เหมือนคลุมด้วยผ้าสีเขียว.
               อีกอย่างหนึ่ง หนองที่ไหลออกจากปากแผลทั้ง ๙ แห่งแม้ในที่ที่แตกปริแล้ว ชื่อว่าวิปุพพะ. วิปุพพะก็คือวิปุพพกะนั่นเอง.
               อีกอย่างหนึ่ง หนองที่ช้ำน่าเกลียด เพราะปฏิกูล เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าวิปุพพกะ. ศพที่กลายเป็นช้ำหนอง คือถึงภาวะอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าวิปุพพกชาตะ.
               บทว่า โส อิมเมว กายํ ความว่า ภิกษุนั้นน้อมกายของตนนี้เข้าไป (เปรียบเทียบ) กับกายนั้นด้วยญาณ.
               บทว่า อุปสํหรติ แปลว่า น้อมนำเข้าไป.
               น้อมนำเข้าไปอย่างไร?
               น้อมนำเข้าไปอย่างนี้ว่า ถึงกายนี้ก็เถอะ เป็นธรรมดาอย่างนี้ มีสภาพอย่างนี้ ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้.
               ท่านกล่าวอธิบายไว้อย่างไร?
               ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า เพราะมีธรรม ๓ อย่างเหล่านี้ คือ อายุ ไออุ่น วิญญาณ กายนี้จึงทนต่อ (การผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ) มียืนและเดินเป็นต้นได้ แต่เพราะไม่มีธรรม ๓ เหล่านี้ ร่างกายแม้นี้จึงมีอย่างนี้เป็นธรรมดา คือมีสภาพเป็นของเน่าเปื่อยอย่างนี้เหมือนกัน.
               บทว่า เอวํภาวี ความว่า (กายนี้) จักเป็นอย่างนี้เหมือนกัน คือจักเป็นประเภท (ต่างๆ) มีเป็นร่างกายที่พองอืดเป็นต้น.
               บทว่า เอวํ อนตีโต ความว่า ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ คือความเป็นร่างกายที่พองอืดเป็นต้นไปได้.
               บทว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา ความว่า พระโยคาวจรมีปกติพิจารณาเห็นกายในกายของตน หรือในกายของผู้อื่น คือมีปกติพิจารณาเห็นกายของตนตามกาล หรือในกายของผู้อื่นตามกาลอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ คือด้วยการกำหนดร่างกายมีเป็นร่างกายที่พองอืดเป็นต้น.
               บทว่า ขชฺชมานํ ความว่า ร่างกายที่ถูกสัตว์ทั้งหลายมีกากับแร้งเป็นต้น จิกกิน โดยจับอยู่ที่อวัยวะมีท้องเป็นต้น แล้วจิกเอาเนื้อท้อง เนื้อริมฝีปาก (และ) กระบอกตาเป็นต้น ออกมา (กิน).
               บทว่า สมํสโลหิตํ ความว่า ร่างกายที่ประกอบไปด้วยเนื้อและเลือดอันเหลือเศษติดอยู่.
               บทว่า นิมฺมํสโลหิตมกฺขิตํ ความว่า ถึงเมื่อเนื้อหมดไปแล้ว เลือดก็ยังไม่แห้ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาเลือดนั้น จึงตรัสว่า โลหิตมกฺขิตํ ดังนี้.
               บทว่า อญฺเญน ได้แก่โดยทิสาภาคอื่น.
               บทว่า หตฺถฏฺฐิกํ ความว่า กระดูกมือทั้ง ๖๔ ชิ้น กระจัดกระจายไปต่างทิศต่างทางกัน. แม้ในกระดูกเท้าเป็นต้น ก็นัยเดียวกันนี้.
               บทว่า เตโรวสฺสิกานิ ได้แก่ (กระดูก) ค้างปี.
               บทว่า ปูตีนิ ความว่า กระดูกที่อยู่ในที่กลางแจ้ง เมื่อต้องลมแดดและฝนจึงผุ กระดูกค้างปียังไม่ผุ แต่กระดูกที่ฝังอยู่ภายในดิน ย่อมอยู่ได้นานกว่า.
               บทว่า จุณฺณกชาตานิ ได้แก่แหลกละเอียดกระจัดกระจายไป.
               ในทุกบท บัณฑิตพึงแต่งถ้อยคำประกอบความด้วยอำนาจแห่งกาย ที่ถูกกากับแร้งจิกกินเป็นต้น ตามนัยที่กล่าวไว้แล้วว่า โส อิมเมว ดังนี้.
               บทว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา ความว่า พระโยคาวจรมีปกติพิจารณาเห็นกายในกายของตน หรือในกายของผู้อื่น คือมีปกติพิจารณาเห็นกายในกายของตนตามกาล หรือในกายของผู้อื่นตามกาลอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ คือด้วยการกำหนดกายมีกายที่ถูกแร้งกาเป็นต้น จิกกินเป็นอาทิ จนกระทั่งถึงเป็นของแหลกละเอียดเป็นผุยผง.

               ป่าช้า ๙               
               ก็ป่าช้า ๙ พึงประมวลไว้ในที่ตรงนี้ (คือ) :-
               ป่าช้าทั้งหมดที่ตรัสไว้โดยนัยเป็นต้นว่า เอกาหมตํ วา (ซากศพที่ตายได้แล้ว ๑ วัน) บ้าง ๑,
               ป่าช้า (ที่ตรัสไว้) เป็นต้นว่า กาเกหิ วา ขชฺชมานํ (ซากศพที่ถูกพวกกาจิกกิน) บ้าง ๑,
               ป่าช้า (ที่ตรัสไว้) ว่า อฏฺฐิกสขงฺลิกํ สมํสโลหิตํ นหารุสมฺพนฺธํ (ซากศพที่มีแต่ร่างกระดูกยังมีเนื้อและเลือดติดอยู่ ยังมีเส้นเอ็นร้อยรัด) ๑,
               ป่าช้า (ที่ตรัสไว้) ว่า นิมฺมํสโลหิตมกฺขิตํ นหารุสมฺพนฺธํ (ซากศพที่ไม่มีเนื้อ แต่ยังเปื้อนเลือด ยังมีเส้นเอ็นร้อยรัด) ๑,
               ป่าช้า (ที่ตรัสไว้) ว่า อปคตมํสโลหิตํ นหารุสมฺพนฺธํ (ซากศพที่ไม่มีเนื้อและเลือดติดอยู่ แต่ยังมีเส้นเอ็นร้อยรัด) ๑,
               ป่าช้า (ที่ตรัสไว้) เป็นต้นว่า อฏฺฐิกานิ อปคตสมฺพนฺธนานิ (กระดูกที่ไม่มีเส้นเอ็นร้อยรัด) ๑,
               ป่าช้า (ที่ตรัสไว้) ว่า อฏฺฐิกานิ เสตานิ สงฺขวณฺณปฏิภาคานิ (กระดูกขาวดังสีสังข์) ๑,
               ป่าช้า (ที่ตรัสไว้) ว่า ปุญฺชกิตานิ เตโรวสฺสิกานิ (กระดูกที่รวมอยู่เป็นกอง ค้างปี) ๑,
               ป่าช้า (ที่ตรัสไว้) ว่า ปูตีนิ จุณฺณกชาตานิ (กระดูกผุแหลกเป็นผุยผง) ๑,
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงป่าช้า ๙ อย่างไว้ในที่นี้แล้ว เมื่อจะจบกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จึงตรัสว่า เอวํ โข ภิกฺขเว ดังนี้.

               อริยสัจในนวสีวถิกา               
               สติเป็นเครื่องกำหนดป่าช้า ๙ ในนวสีวถิกาบรรพนั้น เป็นทุกขสัจ ตัณหาเก่าที่เป็นตัวการให้เกิดสตินั้น เป็นสมุทยสัจ ความไม่เป็นไปแห่งทุกขสัจและสมุทยสัจ ทั้ง ๒ เป็นนิโรธสัจ. อริยมรรคที่เป็นตัวการกำหนดรู้ทุกข์ ละสมุทัย มีนิโรธ (นิพพาน) เป็นอารมณ์ เป็นมัคคสัจ.
               พระโยคาวจร ย่อมก้าวบรรลุถึงนิพพานด้วยอำนาจสัจจะ ๔ ดังพรรณนามานี้ สรุปว่านี้เป็นทางแห่งธรรมเครื่องนำออก จนถึงพระอรหัตของภิกษุผู้กำหนดป่าช้า ๙ แล.
               จบนวสีวถิกาบรรพ               

               ก็กายานุปัสสนา ๑๔ บรรพ คือ อานาปานบรรพ ๑ อิริยาปถบรรพ ๑ จตุสัมปชัญญบรรพ ๑ ปฏิกูลมนสิการบรรพ ๑ ธาตุมนสิการบรรพ ๑ นวสีวถิกาบรรพ ๙ เป็นอันจบลงแล้ว ด้วยคำมีประมาณเท่านี้.
               บรรดาบรรพเหล่านั้น เฉพาะ ๒ บรรพนี้คือ อานาปานบรรพ ๑ ปฏิกูลมนสิการบรรพ ๑ เป็นอัปปนากัมมัฏฐาน (กัมมัฏฐานที่ให้บรรลุอัปปนาสมาธิ) ส่วนที่เหลือทั้ง ๑๒ บรรพ เป็นอุปจารกัมมัฏฐาน (กัมมัฏฐานที่ให้บรรลุอุปจารสมาธิ) เท่านั้น เพราะตรัสป่าช้าทั้งหลายไว้ด้วยอำนาจอาทีนวานุปัสสนาแล.
               จบกายานุปัสสนา               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค สติปัฏฐานสูตร ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 110อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 131อ่านอรรถกถา 12 / 153อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=1754&Z=2150
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=6135
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=6135
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :