ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 20อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 27อ่านอรรถกถา 12 / 53อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค
ภยเภรวสูตร ว่าด้วยสิ่งที่เป็นภัยและน่าหวาดกลัว

หน้าต่างที่ ๓ / ๓.

               ความหมายของศัพท์ว่า อภิกกันตะ               
               [๕๒] พราหมณ์ได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้ว รู้สึกพอใจจึงได้กล่าวคำว่า อนุกมฺปิตรูปา ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุกมฺปิตรูปา แปลว่า เป็นชนิดที่พระโคดมผู้เจริญอนุเคราะห์แล้ว คือเป็นผู้อันพระโคดมผู้เจริญเกื้อหนุนแล้วเป็นสภาพ.
               บทว่า ชนตา แปลว่า หมู่ชน.
               บทว่า ยถาตํ อรหตา สมฺมาสมฺพุทฺเธน ความว่า (หมู่ชนรุ่นหลัง) อันพระโคดมผู้เจริญอนุเคราะห์แล้ว อย่างที่ผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะพึงอนุเคราะห์.
               ก็พราหมณ์ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว เมื่อจะแสดงความชื่นชมพระธรรมเทศนานั้นของพระผู้มีพระภาคเจ้าอีก จึงได้กล่าวคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระดำรัสของพระองค์จับใจยิ่งนัก พระดำรัสของพระองค์จับใจยิ่งนัก.
               ในคำว่า อภิกฺกนฺตํ โภ โคตม เป็นต้นนั้น อภิกกันตศัพท์นี้ ใช้ในความหมายว่า ขยะ สิ้นไป, หมดไป, ล่วงเลย สุนทร ดี อภิรูปะ สวยงาม และ อัพภนุโมทนะ ชื่นชม, ยินดี.
               ก็อภิกกันตศัพท์ที่ใช้ในความหมายว่า "ขยะ" (เช่น) ในประโยคเป็นต้นว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีล่วงไปแล้ว ปฐมยามผ่านพ้นไปแล้ว ภิกษุสงฆ์นั่ง (คอย) อยู่นานแล้ว.
               ใช้ในความหมายว่า "สุนทระ" (เช่น) ในประโยคเป็นต้นว่า บรรดาบุคคล ๔ คนนี้ คนนี้ดีกว่า และประณีตกว่า.
               ใช้ในความหมายว่า "อภิรูปะ" (เช่น) ในประโยคเป็นต้นว่า ใครช่างรุ่งเรืองด้วยฤทธิ์และยศ มีผิวพรรณสวยงาม ทำทิศทั้งปวงให้สว่างไสว (มา) กราบเท้าของเราตถาคต.
               ใช้ในความหมายว่า "อัพภนุโมทนะ" (เช่น) ในประโยคเป็นต้นว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระดำรัสของพระองค์จับใจยิ่งนัก.
               แม้ในที่นี้ อภิกกันตศัพท์ก็ใช้ในความหมายแห่ง "อัพภนุโมทนะ ชื่นชม, ยินดี" เหมือนกัน.
               ก็เพราะเหตุที่อภิกกันตศัพท์ใช้ในความหมายแห่งอัพภนุโมทนะ ฉะนั้น จึงควรทราบว่า (คำว่า อภิกฺกนฺตํ โภ โคตม)
               ท่านอธิบายไว้ว่า ได้แก่ สาธุ สาธุ โภ โคตม ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระดำรัสของพระองค์ดีแล้ว ดีแล้ว พระเจ้าข้า.

               เหตุผลที่ใช้อภิกกันตศัพท์ ๒ ครั้ง               
               (นักปราชญ์ได้กล่าวคาถาประพันธ์นี้ไว้ว่า)
                         ท่านผู้รู้พึงทำการกล่าวซ้ำใน (คำพูดแสดง) ความกลัว (ภเย)
                         ความโกรธ (โกเธ) การสรรเสริญ (ปสํสายํ) ความรีบด่วน (ตุริเต)
                         ความตื่นเต้น (โกตุหเล) ความอัศจรรย์ใจ (อจฺฉเร) ความร่าเริง
                         ยินดี (หาเส) ความโศก (โสเก) และความเลื่อมใส (ปาสาเท).

               และด้วยลักษณะ (เหตุผลดังว่ามา) นี้ อภิกกันตศัพท์นี้พึงทราบว่า พราหมณ์กล่าวไว้ถึง ๒ ครั้งในที่นี้ ก็ด้วยอำนาจความเลื่อมใสและความสรรเสริญ.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อภิกฺกนฺตํ แปลว่า น่าใคร่อย่างยิ่ง คือน่าปรารถนาอย่างยิ่ง. อธิบายว่า น่าพอใจอย่างยิ่ง คือดียิ่งนัก.
               ในอภิกกันตศัพท์ทั้ง ๒ นั้น พราหมณ์ชมเชยเทศนาด้วย อภิกกันตศัพท์ (ที่มีความหมาย) อย่างหนึ่ง ประกาศความเลื่อมใสของตนด้วยอภิกกันตศัพท์ (ที่มีความหมาย) อีกอย่างหนึ่ง.
               ก็ในความหมายทั้ง ๒ นี้มีอธิบายดังนี้ว่า
               พระธรรมเทศนาของพระโคดมผู้เจริญน่าจับใจยิ่งนัก ความเลื่อมใสของข้าพระองค์อาศัยธรรมเทศนาของพระโคดมผู้เจริญ ก็น่าพอใจยิ่งนัก. หรือไม่ก็พราหมณ์นี้มุ่งใช้ความหมายทั้ง ๒ (ไปในการ) ชมเชยพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างเดียว. (คือชมเชยว่า) พระดำรัสของพระโคดมผู้เจริญนับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะยังโทษให้พินาศไป นับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะให้บรรลุคุณ.
               อนึ่ง นักศึกษาพึงประกอบ (คำว่า) โภโต โคตมสฺส วจนํ อภิกฺกนฺตํ เข้ากับบททั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า :-
               พระดำรัสของพระโคดมผู้เจริญนับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะทำให้เกิดศรัทธา นับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะทำให้เกิดปัญญา.
               พระดำรัสของพระโคดมผู้เจริญนับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะพรั่งพร้อมด้วยอรรถะ (ความหมาย) นับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะพรั่งพร้อมด้วยพยัญชนะ.
               พระดำรัสของพระโคดมผู้เจริญนับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะมีบทง่าย นับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะมีความหมายลึกซึ้ง.
               พระดำรัสของพระโคดมผู้เจริญนับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะ (ฟังแล้ว) รื่นหู นับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะ (ฟังแล้ว) ซึ้งใจ.
               พระดำรัสของพระโคดมผู้เจริญนับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะไม่ยกตน นับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะไม่ข่มคนอื่น.
               พระดำรัสของพระโคดมผู้เจริญนับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะเยือกเย็นด้วยพระกรุณา นับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะผ่องแผ้วด้วยพระปัญญา.
               พระดำรัสของพระโคดมผู้เจริญนับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะเป็นที่รื่นรมย์ตามคัลลอง นับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะทนต่อการถูกโจมตี.
               พระดำรัสของพระโคดมผู้เจริญนับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะฟังอยู่ก็เป็นสุข นับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะใคร่ครวญอยู่ก็เป็นประโยชน์.

               อุปมา ๔ ข้อ               
               ต่อจากนั้น พราหมณ์ได้ชมเชยพระธรรมเทศนานั่นแลด้วยอุปมา ๔ ข้อ
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิกุชฺชิตํ ได้แก่ ภาชนะที่วางคว่ำปากลงหรือที่มีปากอยู่ข้างใต้.
               บทว่า อุกฺกุชฺเชยฺย ได้แก่ พึงหงายปากขึ้น.
               บทว่า ปฏิจฺฉนฺนํ ได้แก่ ที่เขาปิดไว้ด้วยหญ้าและใบไม้เป็นต้น.
               บทว่า วิวเรยฺย แปลว่า พึงเปิด.
               บทว่า มุฬฺหสฺส ได้แก่ (บุคคล) ผู้หลงทิศ.
               บทว่า มคฺคํ อาจิกฺเขยฺย ความว่า พึงจับที่มือแล้วบอกว่า นี่ทาง.
               บทว่า อนฺธกาเร คือ ในความมืดมีองค์ ๔ (คือมึด) เพราะวันแรม ๑๔ ค่ำ เพราะเป็นเวลาเที่ยงคืน เพราะป่าทึบ และเพราะเมฆหนาบดบัง.
               ความหมายของบทที่ไม่ง่ายมีเท่านี้ก่อน.
               ส่วนคำอธิบายประกอบความหมายมีดังต่อไปนี้ว่า :-
               พระโคดมผู้เจริญผู้ยังข้าพระองค์ผู้เบือนหน้าหนีจากสัทธรรม ตกไปในอสัทธรรม ให้พ้นมาจากอสัทธรรม เหมือนใครๆ พึงหงายของที่คว่ำขึ้นฉะนั้น ผู้เปิดเผยศาสนาซึ่งถูกปิดบังไว้ด้วยรกชัฏคือมิจฉาทิฏฐิ จำเดิมแต่ศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ อันตรธานไป เหมือนใครๆ พึงเปิดของที่ถูกปิดบังออกฉะนั้น ผู้บอกทางสวรรค์และนิพพานแก่ข้าพระองค์ผู้เดินหลงไปสู่ทางสายต่ำคือทางที่ผิด เหมือนใครๆ บอกทางแก่คนหลงทางฉะนั้น ชื่อว่าได้ทรงประกาศธรรมะไว้แล้วโดยอเนกปริยายแก่ข้าพระองค์ เพราะทรงประกาศไว้แล้วโดยปริยายเหล่านี้ โดยทรงส่องแสงสว่างคือพระธรรมเทศนาอันกำจัดเสียซึ่งความมืด คือโมหะที่ปกปิดพระรัตนตรัยนั้นไว้ แก่ข้าพระองค์ผู้จมดิ่งลงไปในความมืดคือโมหะ มองไม่เห็นรูปพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น เหมือนใครๆ พึงส่องแสงเพลิงในที่มืดฉะนั้น.
               พราหมณ์ครั้นชมเชยพระธรรมเทศนาอย่างนี้แล้ว มีจิตเลื่อมใสในพระรัตนตรัยเพราะเทศนานี้ เมื่อจะทำอาการของบุคคลผู้เลื่อมใส จึงกล่าวคำว่า เอสาหํ ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอสาหํ ตัดบทเป็น เอโส อหํ (ข้าพระองค์นั่น).
               หลายบทว่า ภวนฺตํ โคตมํ สรณํ คจฺฉามิ ความว่า ข้าพเจ้าขอถึง ขอคบ ขอเสพ ขอเข้าไปนั่งใกล้พระโคดมผู้เจริญด้วยความประสงค์นี้ว่า ขอพระโคดมผู้เจริญจงเป็นที่ระลึก เป็นที่พึ่ง เป็นผู้ทำลายความทุกข์และเป็นผู้สรรค์สร้างประโยชน์สุขให้แก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด.
               อีกอย่างหนึ่งความว่า ข้าพระองค์รู้ คือทราบอยู่อย่างนี้. เพราะว่า ธาตุเหล่าใด แปลว่า "ไป" ธาตุเหล่านั้นก็ย่อมแปลว่า "รู้" ได้ด้วย. เพราะฉะนั้น บทว่า คจฺฉามิ นี้ พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวความหมายไว้ดังนี้ว่า ชานามิ พุชฺฌามิ (รู้อยู่, ทราบอยู่).
               ก็ในคำว่า ธมฺมญฺจ ภิกฺขุสงฺฆญฺจ นี้พึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้ :-
               ที่ชื่อว่าธรรม เพราะมีความหมายว่า ทรงไว้ซึ่งบุคคลทั้งหลายผู้ได้บรรลุ (อริย) มรรค ผู้ทำให้แจ้งซึ่งนิโรธแล้ว (และ) ผู้ปฏิบัติตามคำที่พระพุทธเจ้าทรงพร่ำสอนเป็นประจำมิให้ตกไปในอบาย ๔. ธรรมนั้น เมื่อว่าโดยความหมาย ก็ได้แก่ อริยมรรคและนิพพาน.
               สมจริงด้วยพระดำรัสที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เป็นสังขตะ (ถูกปัจจัยปรุงแต่ง) มีอยู่เท่าใด อริยมรรคมีองค์ ๘ ตถาคตกล่าวว่า เป็นยอดแห่งธรรมที่เป็นสังขตะเหล่านั้น
               ความพิสดารเป็นดังว่ามานี้. และไม่ใช่แต่อริยมรรคและนิพพานอย่างเดียวเท่านั้น (ที่ชื่อว่าธรรม). โดยที่แท้แล แม้ปริยัติธรรมพร้อมทั้งอริยผลทั้งหลาย (ก็ชื่อว่าธรรม).
               สมจริงดังคำที่เทพบุตรกล่าวไว้ในฉัตตมาณวกวิมานวัตถุว่า
                         ท่านจงเข้าถึงธรรมนี้ซึ่งเป็นธรรมสำหรับสำรอกราคะ
                         ไม่หวั่นไหว ไม่มีความโศก ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง
                         ไม่ปฏิกูล เป็นธรรมอันไพเราะที่พระพุทธเจ้าทรง
                         เชี่ยวชาญแล้ว ทั้งยังได้ทรงจำแนกไว้เรียบร้อย
                         เพื่อเป็นที่ระลึกที่พึ่งเถิด
.
               ในคาถานี้พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :-
               บทว่า เป็นธรรมสำหรับสำรอกราคะ คือเทพบุตรกล่าวถึงมรรค.
               บทว่า เป็นธรรมไม่หวั่นไหว ไม่มีความโศก คือเทพบุตรกล่าวถึงผล.
               บทว่า เป็นธรรมที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง คือเทพบุตรกล่าวถึงนิพพาน.
               บทว่า ไม่ปฏิกูล เป็นธรรมอันไพเราะที่พระพุทธเจ้าทรงเชี่ยวชาญแล้วทั้งยังได้ทรงจำแนกไว้เรียบร้อยนี้ คือเทพบุตรกล่าวถึงพระธรรมขันธ์ทั้งหมดที่ทรงจำแนกไว้เป็นพระไตรปิฎก.
               ที่ชื่อว่า สังฆะ (สงฆ์) เพราะหมายความว่า รวมกันด้วยเครื่องรวมคือทิฏฐิและศีล.
               สงฆ์นั้น เมื่อว่าโดยความหมาย คือหมู่พระอริยบุคคล ๘ จำพวก.
               สมจริงดังคำที่เทพบุตรกล่าวไว้ในคัมภีร์วิมานวัตถุนั้นเองว่า
                         ก็บัณฑิตกล่าวทานที่บุคคลถวายแล้วในบุคคล ๔ คู่
                         เหล่าใด ซึ่งเป็นคู่บุคคลที่สะอาด บุคคล ๔ คู่เหล่านั้น
                         คือบุคคล ๘ จำพวก ซึ่งเป็นผู้เห็นธรรม ขอท่านจง
                         เข้าถึงพระสงฆ์นี้เพื่อเป็นที่ระลึกที่พึ่งเถิด.

               หมู่แห่งภิกษุทั้งหลายชื่อว่า ภิกษุสงฆ์.
               พราหมณ์ได้ประกาศการถึงสรณะทั้ง ๓ ด้วยถ้อยคำมีเพียงเท่านี้.

               สรณคมน์               
               บัดนี้ เพื่อความเป็นผู้ฉลาดในสรณคมน์เหล่านั้นจึงควรทราบวิธีนี้ คือ
                         สรณะ การถึงสรณะ ผู้ถึงสรณะ
                         ประเภทแห่งการถึงสรณะ ผลแห่งการถึงสรณะ
                         สังกิเลส (ความเศร้าหมอง) และเภทะ (ความหมดสภาพ).
               ถามว่า วิธีนี้มีความหมายเป็นอย่างไรบ้าง?
               ตอบว่า ควรทราบความหมายโดยความหมายเฉพาะบทก่อน.
               ที่ชื่อว่า สรณะ เพราะหมายความว่าเบียดเบียน. อธิบายว่า ย่อมกำจัด คือทำความกลัว ความหมายสะดุ้ง ความทุกข์ กิเลสที่เป็นเหตุให้ไปสู่ทุคติของบุคคลผู้ถึงสรณะให้พินาศไปด้วยการถึงสรณะนั้นแล. คำว่า สรณะนั่นเป็นชื่อเรียกพระรัตนตรัย.
               อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่า พุทธะ เพราะหมายความว่า ขจัดซึ่งภัยของสัตว์ทั้งหลายโดยทำสัตว์ทั้งหลายให้เป็นไปในประโยชน์เกื้อกูล และถอยกลับจากสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์เกื้อกูล.
               ที่ชื่อว่า ธรรม เพราะทำสัตว์ทั้งหลายให้ช่วยข้ามพ้นจากกันดาร คือภพและเพราะให้ความเบาใจแก่สัตว์ทั้งหลาย.
               ที่ชื่อว่า สงฆ์ เพราะทำสักการะทั้งหลายแม้เป็นของน้อยค่าให้ได้รับผลอันไพบูลย์ เพราะฉะนั้น พระรัตนตรัยจึงชื่อว่า สรณะ โดยบรรยายนี้ด้วย.
               จิตตุปบาท (ความเกิดความคิดขึ้น) ที่มีกิเลสอันถูกขจัดแล้วด้วยความเป็นผู้เคารพเลื่อมใสในสรณะนั้น อันเป็นไปโดยอาการที่มีความเคารพเลื่อมใสในพระรัตนตรัยนั้นเป็นเบื้องหน้า ชื่อว่า สรณคมน์.
               สัตว์ผู้พรั่งพร้อมด้วยสรณคมน์นั้น ชื่อว่า ถึงสรณะ.
               อธิบายว่า ย่อมเข้าถึงรัตนะทั้ง ๓ เหล่านี้ว่าเป็นสรณะ (ที่ระลึก ที่พึ่ง) ว่าเป็นปรายนะ (เครื่องนำทาง) ด้วยจิตตุปบาทมีประการดังกล่าวแล้ว.
               นักศึกษาพึงทราบ สรณะ การถึงสรณะ และผู้ถึงสรณะ ทั้ง ๓ อย่างนี้ก่อน.

               ประเภทแห่งการถึงสรณะ               
               ส่วนในประเภทแห่งการถึงสรณะ (การถึงสรณะมีกี่ประเภท) พึงทราบอธิบายต่อไป.
               การถึงสรณะมี ๒ คือ การถึงสรณะที่เป็นโลกุตตระ ๑ การถึงสรณะที่เป็นโลกิยะ ๑.
               ในสองอย่างนั้น การถึงสรณะที่เป็นโลกุตตระของบุคคลผู้เห็นสัจจะแล้ว เมื่อว่าโดยอารมณ์ย่อมมีนิพพานเป็นอารมณ์ เมื่อว่าโดยกิจย่อมสำเร็จได้ในพระรัตนตรัยแม้ทั้งสิ้น เพราะตัดขาดกิเลสที่เป็นเหตุขัดขวางการถึงสรณะได้ในขณะแห่งมรรค.
               (ส่วน) การถึงสรณะที่เป็นโลกิยะของปุถุชน เมื่อว่าโดยอารมณ์ ย่อมมีพระพุทธคุณเป็นต้นเป็นอารมณ์ สำเร็จได้ด้วยการข่มกิเลสที่เป็นเหตุขัดขวางการถึงสรณะไว้ได้.
               การถึงสรณะนั้น เมื่อว่าโดยความหมาย ได้แก่ การได้ศรัทธาในพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น และสัมมาทิฏฐิที่มีศรัทธา (ในพระรัตนตรัยนั้น) เป็นพื้นฐานท่านเรียกว่า ทิฏฐุชุกรรม (การทำความเห็นให้ตรง) (ซึ่งอยู่) ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐.
               การถึงสรณะแบบนี้นั้นมีอยู่ ๔ อย่าง คือ (การถึง)
                         ด้วยการมอบตน ๑
                         ด้วยการมีพระรัตนตรัยนั้นเป็นเครื่องนำทาง ๑
                         ด้วยการยอมเป็นศิษย์ ๑
                         ด้วยการถวายมือ (การประนมมือทำความเคารพ) ๑.
               ใน ๔ อย่างนั้น ที่ชื่อว่าการมอบตน ได้แก่การยอมสละตนแด่พระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น (ด้วยการกล่าว) อย่างนี้ว่า นับแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอมอบตนถวายแด่พระพุทธเจ้า แด่พระธรรม และแด่พระสงฆ์.
               ที่ชื่อว่าการมีพระรัตนตรัยนั้นเป็นเครื่องนำทาง ได้แก่การที่มีพระรัตนตรัยนั้นเป็นที่ไปในเบื้องหน้า (ด้วยการพูด) อย่างนี้ว่า นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าไว้ว่า ข้าพเจ้าขอมีพระพุทธเจ้าเป็นผู้นำทาง ขอมีพระธรรมเป็นผู้นำทาง ขอมีพระสงฆ์เป็นผู้นำทาง.
               ที่ชื่อว่าการถวายมือ ได้แก่การทำความนอบน้อมอย่างสูงในพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น (ด้วยการพูด) อย่างนี้ว่า นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าไว้ว่า ข้าพเจ้าขอทำการกราบไหว้ การลุกรับ การประนมมือ การทำความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นนั่นแล.
               ก็บุคคลเมื่อทำอาการอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาอาการทั้ง ๔ อย่างนี้ จัดว่าได้รับการถึงสรณะแล้วทีเดียว.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบการมอบตน (ด้วยการพูด) แม้อย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าขอสละตนแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า แด่พระธรรม (และ) แด่พระสงฆ์ ข้าพเจ้าขอสละชีวิตแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า แด่พระธรรม (และ) แด่พระสงฆ์ ข้าพเจ้าสละตนแล้วทีเดียวแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า แด่พระธรรม (และ) แด่พระสงฆ์ ข้าพเจ้าสละชีวิตแล้วทีเดียวแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า แด่พระธรรม (และ) แด่พระสงฆ์ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า (พระธรรมและพระสงฆ์) ว่าเป็นสรณะ โดยขอเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ขอพระพุทธเจ้า (พระธรรมและพระสงฆ์) จงเป็นที่ระลึกที่พึ่ง เป็นที่อาศัย เป็นที่ต้านทานของข้าพเจ้า.
               พึงเห็นการเข้าถึงความเป็นศิษย์ (การยอมตัวเป็นศิษย์) เหมือนการเข้าถึงความเป็นศิษย์ในการถึงสรณะของพระมหากัสสปะ (ด้วยการพูด) แม้อย่างนี้ว่า ขอข้าพเจ้าพึงได้พบพระศาสดา พึงได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอข้าพเจ้าพึงได้พบพระสุคต พึงได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอข้าพเจ้าพึงได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พึงได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พึงทราบความที่มีพระรัตนตรัยนั้นเป็นเครื่องนำทาง (เป็นที่ไปในเบื้องหน้า) เหมือนการถึงสรณะของชนทั้งหลายมีอาฬวกยักษ์เป็นต้น (ด้วยการพูด) แม้อย่างนี้ว่า
                         ข้าพเจ้านั้นจักเที่ยวไปจากหมู่บ้าน (นี้) สู่หมู่บ้าน (โน้น)
                         จากเมือง (นี้) สู่เมือง (โน้น) (เพื่อ) นมัสการพระสัมมา
                         สัมพุทธเจ้า ความเป็นธรรมที่ดีแห่งพระธรรม (และความ
                         เป็นสงฆ์ที่ดีแห่งพระสงฆ์).
               พึงเห็นการพนมมือไหว้ แม้อย่างนี้ว่า
               ครั้งนั้นแล พราหมณ์ชื่อพรหมายุลุกขึ้นจากที่นั่ง ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้วซบศีรษะลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า จูบพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยปาก นวดเฟ้นด้วยฝ่ามือ แล้วประกาศชื่อว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นพราหมณ์ชื่อพรหมายุ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นพราหมณ์ชื่อพรหมายุ.
               ก็การพนมมือไหว้นั้นมีอยู่ ๔ อย่าง คือ (ถวายมือ) เพราะเป็นญาติ เพราะความกลัว เพราะเป็นอาจารย์ และเพราะเป็นทักขิไณยบุคคล.
               บรรดาการพนมมือไหว้ ๔ อย่างนั้น การถึงสรณะมีได้ด้วยการพนมมือไหว้เพราะเป็นทักขิไณยบุคคล ไม่ใช่เป็นด้วยเหตุ ๓ อย่างนอกจากนี้.
               เพราะว่า สรณะอันบุคคลย่อมรับได้ด้วยบุคคลผู้ประเสริฐสุด จะหมดสภาพไป (ก็หมด) ด้วยอำนาจบุคคลผู้ประเสริฐสุดเหมือนกัน. เพราะฉะนั้น บุคคลใดจะมีเชื้อสายเป็นศากยะหรือเป็นโกลิยะก็ตาม ถวายบังคม (พระพุทธเจ้า) ด้วยสำคัญว่า พระพุทธเจ้าเป็นพระญาติของเราทั้งหลาย. บุคคลนั้นยังไม่จัดว่าได้รับสรณะเลย.
               หรือว่าบุคคลใดถวายบังคมพระพุทธเจ้าด้วยความกลัวว่า พระสมณโคดมเป็นผู้อันพระราชาบูชาแล้ว มีอานุภาพมาก เมื่อเราไม่ไหว้จะพึงทำความเสียหายให้แก่เราได้. บุคคลนั้นก็ยังไม่จัดว่าได้รับสรณะเหมือนกัน.
               แม้บุคคลใดระลึกถึงคำสอนบางอย่างที่ได้เรียนในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อครั้งที่พระองค์ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ หรือในพุทธกาลได้เรียนคำสอนทำนองนี้ว่า
                         บุคคลควรใช้สอย เลี้ยงชีวิตด้วยทรัพย์ส่วนหนึ่ง
                         ลงทุนทำงานด้วยทรัพย์สองส่วน และส่วนที่สี่ควร
                         เก็บไว้ (เพราะมันจะอำนวยประโยชน์ได้) เมื่อ
                         คราวมีความจำเป็นต้องใช้.

               (เกิดความเลื่อมใส) ถวายบังคมด้วยความรู้สึกว่า พระองค์เป็นพระอาจารย์ของเรา. บุคคลนั้นก็ชื่อว่ายังไม่ได้รับสรณะเหมือนกัน.
               ส่วนบุคคลใดถวายบังคมด้วยความสำคัญว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นอัครทักขิไณยบุคคลในโลก บุคคลนั้นแลจัดว่าได้รับสรณะแล้ว. อุบาสกหรืออุบาสิกาผู้ได้รับสรณะอย่างนี้แล้วจะไหว้ญาติแม้ที่บวชในสำนักอัญญเดียร์ถีย์ด้วยความรู้สึกว่า ท่านผู้นี้เป็นญาติของเรา ดังนี้ การถึงสรณะก็ยังไม่หมดสภาพไป (ไม่เสีย) จะป่วยกล่าวไปไยถึงบุคคลหรืออุบาสิกาผู้ไหว้ญาติที่ยังไม่บวชเล่า.
               สำหรับอุบาสกหรืออุบาสิกาผู้ถวายบังคมพระราชาก็เหมือนกัน คือถวายบังคมด้วยอำนาจความกลัวว่า พระราชาพระองค์นั้นเพราะเป็นผู้ที่ชาวแว่นแคว้นบูชากันแล้ว เมื่อเราไม่ถวายบังคมก็จะทรงทำความเสียหายให้แก่เราได้ ดังนี้ การถึงสรณะก็ยังไม่หมดสภาพไป (ยังไม่เสีย) เหมือนเมื่อบุคคลแม้ไหว้เดียรถีย์ ผู้ให้การศึกษาศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยคิดว่า ผู้นี้เป็นอาจารย์ของเรา การถึงสรณะก็ยังไม่หมดสภาพไป ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบประเภทแห่งการถึงสรณะอย่างนี้แล.
               ก็การถึงสรณะที่เป็นโลกุตตระในที่นี้ มีสามัญญผล ๔ เป็นวิบากผล มีความสิ้นไปแห่งทุกข์ทั้งมวลเป็นอานิสงสผล.
               สมด้วยพระดำรัสที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า
                         ก็บุคคลใดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์
                         ว่าเป็นสรณะ (ที่ระลึก ที่พึ่ง) บุคคลนั้นย่อมเห็น
                         อริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ คือ ย่อมเห็นทุกข์
                         เหตุเกิดของทุกข์ ความดับทุกข์ และอริยมรรค
                         มีองค์ ๘ ซึ่งเป็นทางให้เข้าถึงความดับทุกข์ สรณะ
                         (ที่ระลึก ที่พึ่ง) อย่างนั้นแลจึงจะเป็นสรณะอันเกษม
                         เป็นสรณะอันสูงสุด เพราะอาศัยสรณะนั่น บุคคลจึง
                         หลุดพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวงได้.

               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบอานิสงสผลของการถึงสรณะนั่นแม้ด้วยอำนาจแห่งเหตุมีการไม่เข้าไปยึดถือโดยความเป็นของเที่ยงเป็นต้น.
               สมจริงดังพระดำรัสที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส (เป็นไปไม่ได้เลย) ที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิจะพึงเข้าไปยึดถือสังขารอะไรๆ ว่าเที่ยง ว่าเป็นสุข จะพึงเข้าไปยึดถือธรรมอะไรๆ ว่าเป็นอัตตา จะพึงปลงชีวิตมารดา จะพึงปลงชีวิตบิดา จะพึงปลงชีวิตพระอรหันต์ จะพึงเป็นผู้มีจิตชั่วร้ายยังโลหิตของพระตถาคตให้ห้อ จะพึงทำลายสงฆ์ จะพึงอ้างศาสดาอื่น ฐานะอย่างนี้จะมีไม่ได้.
               ส่วนการถึงสรณะที่เป็นโลกิยะย่อมมีภพสมบัติและโภคสมบัติเป็นผลเหมือนกัน.
               สมจริงดังพระดำรัสที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า
                         บุคคลที่ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ จักไม่ไปสู่อบายภูมิ
                         ครั้นละร่างกายที่เป็นมนุษย์แล้วจักยังกายทิพย์ให้บริบูรณ์
                         (เกิดในหมู่เทพ).

               แม้เรื่องอื่น ท่านก็กล่าวไว้.
               (คือ) คราวครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพพร้อมด้วยเทวดาแปดหมื่นได้เข้าไปหาพระมหาโมคคัลลานะ. พระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวกะท้าวสักกะจอมเทพ ผู้ประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่งดังนี้ว่า ขอถวายพระพรพระองค์ผู้จอมเทพ การถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ เป็นการดีแท้ เพราะการถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ เป็นเหตุแล สัตว์บางพวกในโลกนี้ตายแล้ว จึงได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์อย่างนี้ สัตว์เหล่านั้น (เกิดเป็นเทวดาแล้ว) ย่อมเด่นล้ำเทวดาพวกอื่นด้วยฐานะ ๑๐ คือ ด้วยอายุอันเป็นทิพย์ วรรณะอันเป็นทิพย์ สุขอันเป็นทิพย์ ยศอันเป็นทิพย์ ความเป็นใหญ่อันเป็นทิพย์ รูปอันเป็นทิพย์ เสียงอันเป็นทิพย์ กลิ่นอันเป็นทิพย์ รสอันเป็นทิพย์ โผฏฐัพพะอันเป็นทิพย์.
               ใน (การถึง) พระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ก็นัยนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบผลอันสำคัญของการถึงสรณะแม้ด้วยอำนาจแห่งสูตรมีเวลามสูตรเป็นต้น.
               พึงทราบผลแห่งการถึงสรณะอย่างนี้.
               ในการถึงสรณะ ๒ อย่างนั้น การถึงสรณะที่เป็นโลกิยะย่อมเศร้าหมองด้วยเหตุทั้งหลายมีความไม่รู้ ความสงสัยและความรู้ (ความเข้าใจ) ผิดเป็นต้นในพระรัตนตรัย เป็นการถึงสรณะที่ไม่มีความรุ่งเรืองมาก ไม่กว้างไกลมาก.
               (ส่วน) การถึงสรณะที่เป็นโลกุตตระไม่มีความเศร้าหมอง.
               การถึงสรณะที่เป็นโลกิยะมีการหมดสภาพอยู่ ๒ อย่างคือ
                         การหมดสภาพ (เภโท) แบบมีโทษ ๑
                         การหมดสภาพแบบไม่มีโทษ ๑.
               ในการหมดสภาพทั้งสองนั้น การหมดสภาพแบบมีโทษย่อมมีด้วยเหตุทั้งหลาย มีการมอบตนในศาสดาอื่นเป็นต้น การหมดสภาพแบบนั้นมีผลไม่น่าปรารถนา. การหมดสภาพแบบไม่มีโทษในเพราะการทำกาลกิริยา การหมดสภาพแบบนั้นไม่มีผลเพราะไม่มีวิบาก.
               แต่การถึงสรณะแบบโลกุตตระ ไม่มีการหมดสภาพเลย.
               จริงอยู่ พระอริยสาวก (ตายแล้วไปเกิด) แม้ในภพอื่นก็จะไม่ยอมยกย่องคนอื่นว่าเป็นศาสดา (แทนพระพุทธเจ้า).
               พึงทราบความเศร้าหมองและการหมดสภาพของการถึงสรณะดังพรรณนามาฉะนี้.

               อุบาสก               
               บทว่า อุปาสกํ มํ ภวํ โคตโม ธาเรตุ ความว่า ขอพระโคดมผู้เจริญจงจำ. อธิบายว่า จงรู้จักข้าพเจ้าอย่างนี้ว่า ผู้นี้เป็นอุบาสก.
               ก็ในที่นี้เพื่อความเป็นผู้ฉลาดในวิธีแสดงตนเป็นอุบาสกจึงควรทราบข้อปลีกย่อยนี้ว่า
                         อุบาสกคือใคร? เพราะเหตุไร จึงเรียกว่า อุบาสก?
                         อุบาสกนั้นมีศีลเป็นอย่างไร? มีอาชีพเป็นอย่างไร?
                         มีวิบัติเป็นอย่างไร? มีสมบัติเป็นอย่างไร?
               ในข้อปลีกย่อยเหล่านั้น ที่ว่า อุบาสกคืออะไร?
               ได้แก่ คฤหัสถ์คนใดคนหนึ่งผู้ถึงไตรสรณะ.
               สมจริงดังพระดำรัสที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า
               ดูก่อนมหานาม เมื่อใดแลอุบาสกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม (และ) พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ. ดูก่อนมหานาม บุคคลย่อมเป็นอุบาสกด้วยอาการเท่านี้แล.
               ที่ว่า เพราะเหตุไร จึงเรียกว่า อุบาสก?
               ได้แก่ เพราะเข้าไปนั่งใกล้พระรัตนตรัย.
               จริงอยู่ บุคคลนั้นชื่อว่าอุบาสก เพราะเข้าไปนั่งใกล้พระพุทธเจ้า พระธรรม (และ) พระสงฆ์.
               ที่ว่า อุบาสกนั้นมีศีลเป็นอย่างไร?
               ได้แก่ เจตนาเป็นเครื่องงดเว้น ๕ อย่าง.
               สมจริงดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า
               ดูก่อนมหานาม เมื่อใดแล อุบาสกเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต จากอทินนาทาน จากกาเมสุมิจฉาจาร จากมุสาวาท (และ) จากฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทคือน้ำเมา อันได้แก่สุราและเมรัย.
               ดูก่อนมหานาม อุบาสกย่อมเป็นผู้มีศีลด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล.
               ที่ว่า มีอาชีพเป็นอย่างไร?
               ได้แก่ การละการค้าขายผิด ๕ อย่างแล้วเลี้ยงชีวิตโดยชอบธรรม.
               สมจริงดังพระดำรัสที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ อย่างเหล่านี้อันอุบาสกไม่ควรทำ
               ๕ อย่างมีอะไรบ้าง คือ การค้าขายศัสตราวุธ ๑ การค้าขายสัตว์ ๑ การค้าขายเนื้อ ๑ การค้าขายน้ำเมา ๑ การค้าขายยาพิษ ๑
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ อย่างนี้แล อุบาสกไม่ควรทำ.
               ที่ว่า มีวิบัติเป็นอย่างไร?
               ได้แก่ ความวิบัติแห่งศีลและอาชีวะของอุบาสกนั้นนั่นแลอันใด อันนี้เป็นความวิบัติของอุบาสกนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง อุบาสกนั้นเป็นคนจัณฑาลและเศร้าหมองด้วยมลทินต่างๆ ด้วยวิบัติอันใด แม้วิบัตินั้นก็พึงทราบว่า เป็นวิบัติของอุบาสกนั้นๆ. และความเป็นคนจัณฑาลนั้น เมื่อว่าโดยความหมาย ก็ได้แก่ธรรม ๕ ประการมีความเป็นผู้ไม่มีศรัทธาเป็นต้น.
               เหมือนดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่างย่อมเป็นอุบาสกจัณฑาล เป็นอุบาสกมีมลทิน เป็นอุบาสกมีความเศร้าหมองและเป็นอุบาสกต่ำช้า.
               ธรรม ๕ ประการอะไรบ้าง (คือ) เป็นผู้ไม่มีศรัทธา (ในพระรัตนตรัย) ๑ เป็นคนทุศีล ๑ เป็นคนถือมงคลตื่นข่าว คือเชื่อมงคล (ฤกษ์, ยาม) ไม่เชื่อกรรม ๑ แสวงหาทักขิไณยบุคคล นอกจากศาสนานี้ (พุทธศาสนา) ๑ บำเพ็ญกุศลในศาสนานั้น ๑.
               ที่ว่า มีสมบัติเป็นอย่างไร?
               ได้แก่ ความถึงพร้อมด้วยศีลและความถึงพร้อมด้วยอาชีวะของอุบาสกนั้นชื่อว่า สมบัติ.
               อนึ่ง ธรรม ๕ ประการมีศรัทธาในพระรัตนตรัยเป็นต้นของอุบาสกนั้นเหล่าใด ธรรม ๕ ประการเหล่านั้นชื่อว่า สมบัติ.
               เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่างย่อมเป็นอุบาสกแก้ว เป็นอุบาสกดอกปทุม และเป็นอุบาสกดอกบุณฑริก.
               ธรรม ๕ อย่างมีอะไรบ้าง
               (คือ) เป็นผู้มีศรัทธา (ในพระรัตนตรัย) ๑ เป็นผู้มีศีล ๑ เป็นคนไม่ถือมงคลตื่นข่าว คือเชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล ๑ ไม่แสวงหาทักขิไณยบุคคลนอกพุทธศาสนานี้ ๑ บำเพ็ญกุศลในพุทธศาสนานี้ ๑.

               ความหมายของอัคคะศัพท์               
               อัคคะศัพท์นี้ในคำว่า อชฺชตคฺเค นี้ ย่อมใช้ในอรรถว่า เบื้องต้น (อาทิ) เบื้องปลาย (โกฏิ) ส่วน (โกฏฺฐาส) และประเสริฐที่สุด (เสฏฺฐ).
               ก็อัคคะศัพท์ใช้ในอรรถว่า
               - เบื้องต้น (เช่น) ในประโยคเป็นต้นว่า แน่ะนายประตูเพื่อนรัก ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปข้าพเจ้าขอปิดประตูสำหรับพวกนิครนถ์.
               - เบื้องปลาย (เช่น) ในประโยคเป็นต้นว่า บุคคลพึงลูบคลำยอดอ้อย ยอดไผ่ ด้วยปลายนิ้วมือนั้นแล.
               - ส่วน (เช่น) ในประโยคเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตอนุญาตให้แบ่งจากส่วนสิ่งของที่มีรสเปรี้ยว ที่มีรสหวาน หรือส่วนสิ่งของที่มีรสขมตามส่วนวิหารหรือตามส่วนบริเวณ.
               - ประเสริฐที่สุด (เช่น) ในประโยคเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายจำนวนเท่าใดที่ไม่มีเท้าก็ตาม ฯลฯ พระตถาคต บัณฑิตกล่าวว่าเป็นผู้ประเสริฐที่สุดของสัตว์เหล่านั้น.
               แต่ในที่นี้ อัคคะศัพท์นี้พึงเห็นว่า ลงในอรรถว่า เบื้องต้น. เพราะฉะนั้น ในคำว่า อชฺชตคฺเค นี้ พึงเห็นความหมายอย่างนี้ว่า เริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.
               บทว่า อชฺชตํ ได้แก่ อชฺชภาวํ (แปลว่า ความมีในวันนี้).
               บาลีว่า อชฺชทคฺเค ดังนี้ก็มี. อักษร (เป็นอาคม) ทำหน้าที่เชื่อมบท (ระหว่าง อชฺช กับ อคฺเค) แปลว่า เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้.
               บทว่า ปาณุเปตํ แปลว่า เข้าถึงด้วยชีวิต.
               อธิบายว่า ขอพระโคดมผู้เจริญจงทรงจำ คือจงทรงทราบข้าพระองค์ไว้ว่าเป็นอุบาสก คือไวยาวัจกร (ผู้รับใช้พระ) ถึงสรณะด้วยไตรสรณคมน์แบบไม่มีศาสดาอื่น (นอกจากพระโคดม) ตลอดเวลาที่ชีวิตของข้าพระองค์ยังเป็นไปอยู่ เพราะว่าข้าพระองค์ ถ้าแม้นใครๆ จะพึงใช้มีดคมตัดศีรษะของข้าพเจ้าไซร้ ก็จะไม่ขอกล่าวพระพุทธเจ้าว่าไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระธรรมว่าไม่ใช่พระธรรม (และ) พระสงฆ์ว่าไม่ใช่พระสงฆ์.
               พราหมณ์ครั้นถึงสรณะด้วยการมอบตนอย่างนี้แล้ว และปวารณาด้วยปัจจัย ๔ ลุกขึ้นจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วเดินเวียนขวา (รอบพระผู้มีพระภาคเจ้า) ๓ รอบแล้วหลีกไปแล.

               จบอรรถกถาภยเภรวสูตร.               
               จบพระสูตรที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค ภยเภรวสูตร ว่าด้วยสิ่งที่เป็นภัยและน่าหวาดกลัว จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 20อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 27อ่านอรรถกถา 12 / 53อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=517&Z=751
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=3019
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=3019
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :