ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 289อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 292อ่านอรรถกถา 12 / 301อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โอปัมมวรรค
รถวินีตสูตร ภิกษุชาวชาติภูมิยกย่องพระปุณณมันตานีบุตร

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               บทว่า อารทฺธวิริโย ได้แก่ ประคองความเพียร. อธิบายว่า มีความเพียรทางกายและทางใจบริบูรณ์. จริงอยู่ ภิกษุใด กิเลสเกิดขึ้นในขณะเดิน ก็ไม่ยอมยืน (หยุด) กิเลสเกิดขึ้นในขณะยืน ก็ไม่ยอมนั่ง กิเลสเกิดขึ้นในขณะนั่ง ก็ไม่ยอมนอน ย่อมเที่ยวไป เหมือนร่ายมนต์บังคับงูเห่าจับไว้ และเหมือนเหยียบคอศัตรู ภิกษุนี้ชื่อว่าผู้ปรารภความเพียร. พระเถระก็เป็นเช่นนั้น สอนเรื่องปรารภความเพียรแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนั้นเหมือนกัน.
               จตุปาริสุทธิศีล ชื่อว่าศีล ในคำว่า สีลสมฺปนฺโน เป็นต้น. สมาบัติ ๘ เป็นบาทของวิปัสสนา ชื่อว่าสมาธิ. ญาณที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ ชื่อว่าปัญญา. วิมุตติที่เป็นอริยผล ชื่อว่าวิมุตติ. ปัจจเวกขณญาณ ๑๙ ชื่อว่าญาณทัสสนะ.
               พระเถระสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นต้น สอนเรื่องศีลเป็นต้นแม้แก่ภิกษุทั้งหลาย. พระมันตานีบุตรนี้นั้น ชื่อว่าโอวาทกะ เพราะโอวาทด้วยกถาวัตถุ ๑๐ ภิกษุรูปหนึ่งย่อมสอนตนได้อย่างเดียว ไม่สามารถจะยักเยื้องข้อความที่ละเอียดให้คนอื่นรู้ได้อย่างใด พระเถระไม่เป็นอย่างนั้น. แต่พระเถระชื่อว่าวิญญาปกะ เพราะทำผู้อื่นให้รู้กถาวัตถุ ๑๐ เหล่านั้นด้วย. ภิกษุรูปหนึ่งสามารถทำผู้อื่นให้รู้ ไม่สามารถจะแสดงเหตุได้. พระเถระชื่อว่าสันทัสสกะ เพราะแสดงเหตุได้ด้วย. ภิกษุรูปหนึ่งแสดงเหตุที่มีอยู่ แต่ไม่สามารถจะให้เขาเชื่อถือได้. พระเถระชื่อว่าสมาทปกะ เพราะสามารถให้เขาเชื่อถือได้. ก็พระเถระชื่อว่าสมุตเตชกะ เพราะครั้นชวนเขาอย่างนั้นแล้ว ทำภิกษุทั้งหลายให้อาจหาญโดยทำให้เกิดอุตสาหะในกถาวัตถุเหล่านั้น. ชื่อว่าสัมปหังสกะ เพราะสรรเสริญภิกษุที่เกิดอุตสาหะแล้วทำให้ร่าเริง.
               บทว่า สุลทฺธลาภา ได้แก่ ย่อมชื่อว่าได้คุณมีอัตภาพเป็นมนุษย์และบรรพชาเป็นต้นของภิกษุแม้เหล่าอื่น. อธิบายว่า คุณธรรมเหล่านี้เป็นลาภอย่างดีของท่านปุณณะผู้ซึ่งมีชื่อเสียงขจรไปอย่างนี้ ต่อพระพักตร์ของพระศาสดา.
               อนึ่ง การกล่าวสรรเสริญโดยผู้มิใช่บัณฑิต ไม่เป็นลาภอย่างนั้น ส่วนการสรรเสริญโดยบัณฑิต เป็นลาภ.
               อีกอย่างหนึ่ง การสรรเสริญโดยคฤหัสถ์ก็ไม่เป็นลาภอย่างนั้น.
               ก็คฤหัสถ์คิดว่า เราจักสรรเสริญกำลังกล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้าของเราเป็นผู้มีวาจาละเอียดอ่อน มีวาจาน่าคบเป็นสหาย มีวาจาไพเราะ สงเคราะห์ผู้ที่มาวิหารด้วยข้าวต้มข้าวสวยและน้ำอ้อยเป็นต้น เท่ากับพูดติเตียนนั่นเอง. คฤหัสถ์คิดว่าเราจักติเตียน พูดว่า พระเถระนี้เป็นเหมือนคนปัญญาอ่อน เป็นเหมือนคนไม่มีเรี่ยวแรง เป็นเหมือนคนหน้านิ่วคิ้วขมวด ไม่มีความคุ้นเคยกับพระเถระนี้ เท่ากับสรรเสริญนั่นเอง. แม้เพื่อนพรหมจารีพูดสรรเสริญลับหลังพระศาสดา ก็ไม่เป็นลาภอย่างนั้น ส่วนผู้สรรเสริญเฉพาะพระพักตร์พระศาสดา เป็นลาภอย่างยิ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยอำนาจประโยชน์แม้ดังกล่าวมาฉะนี้จึงตรัสว่า สุลทฺธลาโภ ดังนี้.
               บทว่า อนุมสฺส อนุมสฺส ได้แก่ กำหนดเจาะจงกถาวัตถุ ๑๐.
               บทว่า ตญฺจ สตฺถา อพฺภนุโมทติ ความว่า พระศาสดาทรงอนุโมทนาคุณของภิกษุนั้นนั้น คือคุณนั้นอย่างนี้ว่า ภิกษุนั้นเป็นผู้มักน้อยและเป็นผู้สันโดษ. ท่านหมายเอาลาภ ๕ อย่างนี้ คือ การที่ผู้รู้สรรเสริญเป็นลาภอย่างหนึ่ง การที่เพื่อนพรหมจารีสรรเสริญเป็นลาภอย่างหนึ่ง การที่เพื่อนพรหมจารีสรรเสริญเฉพาะพระพักตร์พระศาสดาเป็นลาภอย่างหนึ่ง การกำหนดเจาะจงกถาวัตถุ ๑๐ เป็นลาภอย่างหนึ่ง การที่พระศาสดาทรงอนุโมทนาอย่างยิ่ง เป็นลาภอันหนึ่ง จึงกล่าวว่า สุลทฺธลาภา ดังนี้ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า กทาจิ คือ ในกาลบางคราว.
               บทว่า กรหจิ เป็นไวพจน์ของบทว่า กทาจิ นั่นเอง.
               บทว่า อปฺเปว นาม สิยา โกจิเทว กถาสลฺลาโป ได้แก่ ไฉนหนอ แม้การเจรจาอวดอ้างบางอย่างจะพึงมี. เขาว่า พระเถระไม่เคยเห็นท่านพระปุณณะมาเลย ไม่เคยสดับธรรมกถาของท่าน ดังนั้น ท่านจึงปรารถนาจะเห็นท่านพระปุณณะบ้าง การกล่าวธรรมของท่านบ้าง จึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า ยถาภิรนฺตํ ได้แก่ ประทับอยู่ตามพระอัธยาศัย.
               จริงอยู่ พระพุทธะทั้งหลาย เมื่อประทับอยู่ในที่แห่งหนึ่ง ชื่อว่าไม่มีความไม่ยินดี เพราะอาศัยความวิบัติแห่งร่มเงาและน้ำเป็นต้น เสนาสนะอันไม่ผาสุก หรือความไม่ศรัทธาเป็นต้นของเหล่าผู้คน ไม่มีแม้ความยินดีว่า เราจะอยู่เป็นผาสุก ในที่นี้แล้วอยู่นานๆ เหตุสิ่งเหล่านั้นมีพรั่งพร้อม. แต่เมื่อพระตถาคตประทับอยู่ในที่ใด สัตว์ทั้งหลายตั้งอยู่ในสรณะ สมาทานศีลหรือบรรพชา ก็หรือว่าแต่นั้น สัตว์เหล่านั้นมีอุปนิสสัยแห่งโสดาปัตติมรรคเป็นต้น. พระพุทธะทั้งหลายย่อมประทับอยู่ในที่นั้น ตามอัธยาศัยที่จะทรงสถาปนาสัตว์เหล่านั้นไว้ในสมบัติเหล่านั้น เพราะไม่มีสัตว์เหล่านั้นจึงเสด็จหลีกไป. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ยถาอชฺฌาสยํ วิหริตฺวา.
               บทว่า จาริกญฺจรมาโน ความว่า เสด็จพุทธดำเนินทางไกล. ก็ชื่อว่าการจาริกของพระผู้มีพระภาคเจ้า นี้มี ๒ อย่าง คือ รีบจาริก ๑ ไม่รีบจาริก ๑.
               บรรดาจาริกทั้ง ๒ นั้น การที่ทรงเห็นบุคคลผู้ควรตรัสรู้แม้ในที่ไกล แล้วรีบเสด็จไปเพื่อโปรดให้เขาตรัสรู้ ชื่อว่ารีบจาริก. การรีบจาริกนั้นพึงเห็นเช่นเสด็จออกต้อนรับท่านมหากัสสปะเป็นต้น.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อเสด็จต้อนรับพระมหากัสสปะ เสด็จไปตลอดหนทาง ๓ คาวุต โดยครู่เดียว. เสด็จไป ๓๐ โยชน์ เพื่อโปรดอาฬวกยักษ์ โปรดองคุลิมาลก็เหมือนกัน แต่โปรดปุกกุสาติ ๔๕ โยชน์ โปรดพระเจ้ามหากัปปิน ๒,๐๐๐ โยชน์ โปรดขทิรวนิยเถระ ๗๐๐ โยชน์ โปรดวนวาสีติสสสามเณร สัทธิวิหาริกของพระธรรมเสนาบดี ๒,๐๐๐ โยชน์ ๓ คาวุต.
               ได้ยินว่า วันหนึ่งพระเถระทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จะไปสำนักติสสสามเณร.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ถึงเราก็จักไป แล้วตรัสสั่งท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ เธอจงบอกภิกษุผู้ได้อภิญญาหก ๒๐,๐๐๐ รูปว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักเสด็จไปสำนักของวนวาสีติสสามเณร.
               รุ่งขึ้นจากวันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระขีณาสพ ๒๐,๐๐๐ รูป แวดล้อมเหาะไปทางอากาศ เสด็จลงใกล้ประตูโคจรคามของติสสสามเณรนั้นสุดทาง ๒,๐๐๐ โยชน์ ทรงห่มจีวร. พวกผู้คนไปทำงานเห็นเข้าก็กล่าวกันว่า ท่านผู้เจริญ พระศาสดาเสด็จมา พวกท่านมาทำงานกันแล้วช่วยกันปูอาสนะ ถวายข้าวยาคู ทำทานวัตร แล้วถามภิกษุหนุ่มทั้งหลายว่า ท่านขอรับ พระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จไปไหน. อุบาสกทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่เสด็จในที่อื่นดอก เสด็จมาเยี่ยมติสสสามเณรในที่นี้นี่แหละ. ผู้คนเหล่านั้นเกิดโสมนัสว่า ได้ยินว่า พระศาสดาเสด็จมาเยี่ยมพระเถระประจำตระกูลของพวกเรา พระเถระของพวกเรา ไม่ใช่ต่ำต้อยเลยหนอ.
               ลำดับนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำภัตตกิจเสร็จ สามเณรก็เข้าบ้านบิณฑบาต ถามว่า มีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่หรือ.
               ครั้งนั้น อุบาสกเหล่านั้นบอกแก่สามเณรว่า ท่านเจ้าข้า พระศาสดาเสด็จมาแล้ว. สามเณรนั้นเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เอื้อเฟื้อด้วยอาหารบิณฑบาต. พระศาสดาเอาพระหัตถ์จับบาตรของสามเณร แล้วตรัสว่า พอละสามเณร เราเสร็จภัตตกิจแล้ว. แต่นั้น สามเณรก็กราบเรียนพระอุปัชฌายะ นั่งเหนืออาสนะที่ถึงแก่ตน แล้วกระทำภัตตกิจ. ครั้นสามเณรเสร็จภัตตกิจแล้ว พระศาสดาตรัสมงคลแล้ว เสด็จออกไปประทับยืนใกล้ประตูบ้าน ตรัสถามว่า ติสสะ ทางไปที่อยู่ของเธอทางไหน. สามเณรกราบทูลว่า ทางนี้ พระเจ้าข้า. ตรัสว่า ติสสะ เธอจงชี้ทางเดินไปข้างหน้า.
               ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้แสดงทางแก่โลกพร้อมทั้งเทวโลก แต่ทรงกระทำสามเณรนั้นให้เป็นมัคคุเทสก์ ด้วยพุทธประสงค์ว่า จักได้เห็นสามเณรตลอดทางสิ้น ๓ คาวุต. สามเณรไปยังที่อยู่ของตนได้กระทำวัตรแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามสามเณรนั้นว่า ติสสะ ที่จงกรมตรงไหน แล้วเสด็จไปที่จงกรมนั้น ประทับนั่งบนหินสำหรับนั่งของสามเณรแล้วตรัสถามว่า ติสสะ เธออยู่เป็นสุขในที่นี้หรือ. สามเณรนั้นทูลว่า พระเจ้าข้าขอรับ ข้าพระองค์อยู่ในที่นี้ ได้ยินเสียงราชสีห์ เสือ ช้าง เนื้อและนกยูงเป็นต้นก็เกิดอรัญญสัญญา ว่าเราจะอยู่เป็นสุขด้วยสัญญานั้น.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสั่งสามเณรนั้นว่า ติสสะ เธอจงให้ภิกษุสงฆ์ประชุมกัน เราจะให้ตำแหน่งพุทธทายาทแก่เธอ ทรงให้ภิกษุสงฆ์ประชุมกันกึ่งโยชน์ ให้สามเณรอุปสมบทแล้วได้เสด็จไป ยังที่อยู่ของพระองค์นั้นแล เหตุนั้น จาริกนี้จึงชื่อว่ารีบจาริก.
               ส่วนการเสด็จของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงอนุเคราะห์โลก ด้วยการเสด็จบิณฑบาตเป็นต้นโดยทางโยชน์หนึ่งและกึ่งโยชน์ทุกๆ วันตามลำดับ คามนิคม ชื่อว่าไม่รีบจาริก.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกอย่างนี้ ย่อมเสด็จจาริกไปในมณฑล ๓ มณฑลใดมณฑลหนึ่งอย่างนี้ คือ มหามณฑล มัชฌิมมณฑล อันติมมณฑล. ในมณฑลทั้ง ๓ นั้น ที่ ๙๐๐ โยชน์จัดเป็นมหามณฑล ที่ ๖๐๐ โยชน์จัดเป็นมัชฌิมมณฑล ที่ ๓๐๐ โยชน์จัดเป็นอันติมมณฑล.
               ครั้งใดมีพระพุทธประสงค์จะเสด็จจาริกไปในมหามณฑล ทรงปวารณาในวันมหาปวารณาแล้ว ในวันปาฏิบท มีภิกษุหมู่ใหญ่เป็นบริวารเสด็จออกไป ได้เกิดโกลาหลเป็นอันเดียวกัน ตลอดเนื้อที่ ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ. พวกที่มาก่อนๆ ได้นิมนต์ให้กลับ. ในมณฑล ๒ นอกนี้ สักการะย่อมรวมลงในมหามณฑล. ถ้าในที่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่วันสองวันในคามนิคมนั้นๆ ทรงอนุเคราะห์มหาชนด้วยการทรงรับอามิสทาน และทรงเจริญกุศลส่วนที่อาศัยวิวัฏฏะ ด้วยการประทานธรรมแก่มหาชนนั้น ๙ เดือน จึงเสด็จการจาริก.
               ก็ถ้าภายในพรรษา ภิกษุทั้งหลายมีสมถวิปัสสนายังอ่อน ก็ไม่ทรงปวารณาในวันมหาปวารณา แต่จะทรงเลื่อนปวารณาออกไปปวารณา ในวันปวารณากลางเดือนกัตติกา (เดือน ๑๒) วันแรกของเดือนมิคสิระ (เดือน ๑) มีภิกษุหมู่ใหญ่เป็นบริวาร เสด็จออกเที่ยวไปตลอดมัชฌิมมณฑล. เมื่อทรงมีพระพุทธประสงค์จะเสด็จจาริกในมัชฌิมมณฑล ด้วยเหตุแม้อย่างอื่น ก็ประทับอยู่ ๔ เดือนแล้วจึงเสด็จออกไป. ในมณฑลทั้งสองนอกนี้ ลาภสักการะย่อมรวมลงในมัชฌิมมณฑล โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุเคราะห์โลกด้วยนัยข้างต้น ๘ เดือน จึงเสร็จการจาริก. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ประจำ ๔ เดือนแล้ว เหล่าเวไนยสัตว์มีอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ก็จะทรงคอยอินทรีย์ของเวไนยสัตว์เหล่านั้นแก่กล้า จะประทับอยู่ในที่นั้นนั่นแหละ เดือน ๑ บ้าง ๒-๓ เดือนบ้าง แล้วทรงมีภิกษุหมู่ใหญ่เป็นบริวาร เสด็จออกไป ในมณฑลสองนอกนี้ ลาภสักการะย่อมรวมลงในอันติมมณฑล โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงอนุเคราะห์โลกโดยนัยข้างต้น ๗ เดือนบ้าง ๖ เดือนบ้าง ๕ เดือนบ้าง ๔ เดือนบ้าง จึงเสร็จการจาริก. ดังนั้น เมื่อทรงจาริกไปในมณฑล ๓ มณฑลใดมณฑลหนึ่ง จึงไม่ใช่จาริกไปเพราะเหตุแห่งปัจจัยมีจีวรเป็นต้น. โดยที่แท้ เสด็จจาริกไปเพื่อทรงอนุเคราะห์ ด้วยพระพุทธประสงค์อย่างนี้ว่า คนเหล่าใดเป็นทุคคตะ เป็นพาล เป็นคนแก่ เป็นคนเจ็บป่วย ครั้งไร คนเหล่านั้นจักมาเห็นตถาคต ก็เมื่อเราจาริกไป มหาชนก็จักได้เห็นตถาคต ในที่นั้น คนบางพวกก็จักทำจิตให้เลื่อมใส บางพวกก็จักบูชาด้วยดอกไม้เป็นต้น บางพวกจักถวายภิกษาสักทัพพีหนึ่ง บางพวกก็จักสละความเห็นผิดเป็นสัมมาทิฏฐิ ข้อนั้นก็จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่คนเหล่านั้นตลอดกาลนาน.
               อนึ่ง พระพุทธะผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายย่อมเสด็จจาริกด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ เพื่อประโยชน์แก่ความสุขของสรีระ โดยการยึดพักแข้งขา ๑ เพื่อประโยชน์คือคอยการเกิดอัตถุปปัตติ (เกิดเรื่องเป็นเหตุให้ตรัสธรรมเทศนา) ๑ เพื่อประโยชน์แก่การทรงบัญญัติสิกขาบทสำหรับภิกษุทั้งหลาย ๑ เพื่อประโยชน์โปรดสัตว์ที่ควรตรัสรู้ ผู้มีอินทรีย์แก่กล้าแล้วในที่นั้นๆ ให้ตรัสรู้ ๑.
               พระพุทธผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย ย่อมเสด็จจาริกด้วยเหตุ ๔ ประการ อย่างอื่นอีก คือสัตว์ทั้งหลายจักถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะบ้าง จักถึงพระธรรมเป็นสรณะบ้าง จักถึงพระสงฆ์เป็นสรณะบ้าง เราจักทำบริษัท ๔ ให้เอิบอิ่มด้วยการฟังธรรมครั้งใหญ่บ้าง.
               พระพุทธะผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายย่อมเสด็จจาริกด้วยเหตุ ๕ ประการอย่างอื่น คือเหล่าสัตว์จักเว้นจากปาณาติบาตบ้าง จากอทินนาทาน จากกาเมสุมิจฉาจาร จากมุสาวาท จากสุราเมรัยมัชชปมาทัฏฐานบ้าง. พระพุทธะผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย ย่อมเสด็จจาริกไปด้วยเหตุ ๘ ประการอย่างอื่น คือเขาจักได้ปฐมฌานบ้าง ทุติยฌานบ้าง ฯลฯ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติบ้าง.
               พระพุทธะผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายย่อมเสด็จจาริกไปด้วยเหตุ ๘ ประการอย่างอื่นอีก คือเขาจักบรรลุโสดาปัตติมรรคบ้าง โสดาปัตติผลบ้าง ฯลฯ จักกระทำให้แจ้งพระอรหัตตผลบ้าง.
               นี้ชื่อว่า อตุริตจาริก ไม่รีบจาริก ท่านประสงค์ในที่นี้.
               จาริกนั้นมี ๒ อย่าง คือ นิพันธจาริก การจาริกโดยมีข้อผูกพัน ๑ อนิพันธจาริก การจาริกโดยไม่มีข้อผูกพัน ๑. ในจาริก ๒ อย่างนี้ การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปโปรดสัตว์ผู้ควรตรัสรู้ผู้เดียวเท่านั้น ชื่อว่านิพันธจาริก. การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปตามลำดับคามนิคมนคร ชื่อว่าอนิพันธจาริก.
               อนิพันธจาริกนี้ ท่านประสงค์เอาในที่นี้.
               บทว่า เสนาสนํ สํสาเมตฺวา แปลว่า เก็บงำเสนาสนะ.
               พระเถระเมื่อเก็บเสนาสนะนั้น ก็เอาบาตรเล็กบาตรใหญ่ ถลกเล็กถลกใหญ่ จีวรแพรและจีวรผ้าเปลือกไม้เป็นต้นทำเป็นห่อ บรรจุเนยใสและน้ำมันเป็นต้นเต็มหม้อ เก็บไว้ในห้อง ปิดประตู ให้ประกอบกุญแจ (ลูกดาล) ตีตรา เก็บงำโดยเพียงอาปุจฉา บอกกล่าวภิกษุเจ้าถิ่น ตามพระบาลีว่า ถ้าไม่มีภิกษุหรือสามเณร คนวัดหรือเจ้าของวิหาร ก็เอาเตียงซ้อนเตียง เอาตั่งซ้อนตั่ง วางไว้บนหิน ๔ แผ่น กองสายระเดียงจีวร หรือเชือกห้อยจีวรวางไว้ข้างบน ปิดประตูหน้าต่างแล้ว พึงหลีกไป.
               บทว่า เยน สาวตฺถี เตน จาริกํ ปกฺกามิ ความว่า ท่านพระปุณณมันตานีบุตรประสงค์จะเฝ้าพระศาสดา จึงหลีกไปโดยทิศทางที่กรุงสาวัตถีตั้งอยู่. ก็เมื่อหลีกไป ท่านก็ให้กราบทูลแด่พระเจ้าสุทโธทนมหาราช ให้ทรงรับเนยใส น้ำมัน น้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้นไปแล้ว เมื่อหลีกไปก็นำเพียงบาตรจีวร หลีกไปลำพังผู้เดียว เหมือนช้างตกมันละโขลงหลีกไป เหมือนราชสีห์ ไม่มีกิจด้วยเพื่อน.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ท่านมากรุงราชคฤห์พร้อมด้วยอันเตวาสิกของตน ๕๐๐ รูป แต่บัดนี้ หลีกไปผู้เดียว.
               ตอบว่า กรุงราชคฤห์ไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ ๖๐ โยชน์ ส่วนกรุงสาวัตถีไกล ๕๐ โยชน์ พระศาสดาเสด็จมาจากกรุงราชคฤห์ ๔๕ โยชน์ ประทับอยู่กรุงสาวัตถี ท่านฟังมาว่า บัดนี้ใกล้เข้ามาแล้ว เราจักหลีกไปผู้เดียว ดังนั้น ข้อนี้จึงไม่เป็นเหตุ.
               แท้จริง ท่านเมื่อไปยังสำนักพระพุทธะทั้งหลาย พึงไปสิ้นทางแม้ ๑,๐๐๐ โยชน์ แต่ในครั้งนั้น ท่านไม่อาจได้กายวิเวก ฉะนั้น เพราะต้องการจะไปกับคนมาก เมื่อกล่าวว่า เราจะไปคนเดียว ก็กล่าวเสียว่า เราจะอยู่ในที่นี้ลำพังคนเดียว เมื่อพูดว่า เราจะอยู่คนเดียว ก็พูดเสียว่า เราจะไปคนเดียว เพราะฉะนั้น ท่านไม่อาจจะนั่งเข้าสมาบัติในขณะที่ปรารถนาแล้วปรารถนาเล่า หรือได้กายวิเวกในเสนาสนะที่ผาสุก แต่เมื่ออยู่ลำพังผู้เดียว ก็จะได้สิ่งนั้นทั้งหมดโดยง่าย ดังนั้น ท่านจึงไม่ไปในครั้งนั้นหลีกไป ณ บัดนี้.
               ในคำว่า จาริกํ จรมาโน นี้ ชื่อว่าจาริกนี้ ย่อมได้แก่พระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น เพื่อสงเคราะห์มหาชนก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ได้แม้แก่สาวกทั้งหลายด้วย ศัพท์ขยายกินความถึงพระพุทธทั้งหลาย เหมือนพัดใบตาลที่เขาทำด้วยเสื่อลำแพนเป็นต้น.
               บทว่า เยน ภควา ความว่า พระปุณณมันตานีบุตรเที่ยวบิณฑบาตไปในบ้านแห่งหนึ่ง ไม่ไกลกรุงสาวัตถีทำภัตกิจแล้ว เข้าไปสู่พระเชตวันไปยังที่อยู่ของพระสารีบุตรเถระ หรือของพระมหาโมคคัลลานเถระล้างเท้าแล้วทาน้ำมัน ฉันน้ำดื่มหรือน้ำปานะ พักหน่อยหนึ่ง ไม่เกิด จิตคิดว่าจะเฝ้าพระศาสดา แล้วเดินตรงแน่วไปยังบริเวณพระคันธกุฎี.
               ด้วยว่า พระเถระประสงค์จะเฝ้าพระศาสดา แต่ไม่มีกิจกับภิกษุอื่น เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่เกิดจิตคิดแม้อย่างนี้ว่า เราจักพาพระราหุลหรือพระอานนท์ให้ทำโอกาสเฝ้าพระศาสดา.
               จริงอยู่ เถระเป็นผู้สนิทสนมในพระพุทธศาสนาเองทีเดียว เหมือนนักรบใหญ่ผู้มีชัยชนะในสงครามของพระราชา. เหมือนอย่างว่า นักรบเช่นนั้นประสงค์จะเฝ้าพระราชา ชื่อว่าไม่มีกิจที่จะคบคนอื่น เฝ้าพระราชาย่อมเฝ้าได้ทีเดียว เพราะเป็นผู้สนิทสนมฉันใด แม้พระเถระก็ฉันนั้นเป็นผู้คุ้นเคยในพระพุทธศาสนา ท่านก็ไม่มีกิจที่จะคบภิกษุอื่นแล้ว เฝ้าพระศาสดา เพราะฉะนั้น ท่านล้างเท้าแล้วก็เช็ดที่เช็ดเท้า เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า. แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเล็งเห็นว่าเวลารุ่งเช้า มันตานีบุตรจักมา เพราะฉะนั้น จึงเสด็จเข้าไปยังพระคันธกุฎีไม่ใส่กลอน ระงับความกระวนกระวาย ลุกขึ้นประทับนั่ง. พระเถระผลักบานประตูเข้าไปยังพระคันธกุฎี ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
               บทว่า ธมฺมิยา กถาย ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสธรรมีกถา ตรัสอานิสงส์สามัคคีรสแก่กุลบุตร ๓ คนในจุลลโคสิงคสูตร ตรัสอานิสงส์ถวายที่พักในเสขสูตร ตรัสกถาที่เกี่ยวด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณอันทำให้ได้สติในฆฏิการสูตร ตรัสธัมมุทเทส ๔ ในรัฏฐปาลสูตร ตรัสเรื่องอานิสงส์ถวายน้ำดื่มในเสลสูตร เมื่อตรัสธรรมกถา ตรัสอานิสงส์ในความเป็นผู้อยู่ผู้เดียวแก่พระภคุเถระในอุปักกิเลสสูตร.
               แต่ในรถวินีตสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่ท่านพระปุณณะ ทรงแสดงเรื่องกถาชื่ออนันตนัย อันเป็นที่อาศัยกถาวัตถุ ๑๐ ว่า ดูก่อนปุณณะ แม้นี้ก็ชื่อว่าอัปปิจฉกถา สันโตสกถาเหมือนกัน ประหนึ่งประทับยืนอยู่ที่สุดเขตเหยียดพระหัตถ์ไปในมหาสมุทรแก่พระสาวกผู้บรรลุปฏิสัมภิทา.
               บทว่า เยนนฺธวํ ความว่า ได้ยินว่า ครั้งนั้น เวลาหลังอาหาร พระเชตวันพลุกพล่าน คนเป็นอันมากมีกษัตริย์ พราหมณ์เป็นต้น หลั่งไหลมาสู่พระเชตวัน เหมือนสถานค่ายของพระเจ้าจักรพรรดิ ภิกษุไม่อาจเพื่อได้ความสงัด ส่วนอันธวันสงัดเสมือนเรือนทำความเพียร เพราะฉะนั้น ท่านปุณณมันตานีบุตรจึงเข้าไปยังอันธวัน. ก็เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่เห็นเหล่าพระมหาเถระ. เขาว่าเพราะท่านคิดอย่างนี้ว่า เรามาเวลาเย็นจักเห็นเหล่าพระมหาเถระ แล้วจักเฝ้าพระทศพลอีก การปรนนิบัติพระมหาเถระอย่างนี้ก็จะมีครั้งเดียว สำหรับพระศาสดาจักมี ๒ ครั้ง แต่นั้นเราถวายบังคมพระศาสดาแล้วก็จักกลับที่อยู่ของเราเลย.
               บทว่า อภิณฺหํ กิตฺตยมาโน อโหสิ ได้แก่ สรรเสริญบ่อยๆ อยู่. ได้ยินว่า พระเถระคิดว่า เขาว่า บุตรนางมันตานีชื่อปุณณะ ไม่คลุกคลีกับบริษัท ๔ ท่านจักมาเฝ้าพระทศพล ท่านไม่ทันพบเราก็จักไปแล้วหรือหนอ แล้วสรรเสริญท่านพระปุณณะท่ามกลางสงฆ์ ทุกๆ วันตั้งแต่นั้นมา เพื่อเตือนสติแก่เหล่าพระเถระ พระนวกะและพระมัชฌิมะ.
               ได้ยินว่า ท่านมีความคิดอย่างนี้ว่า ธรรมดาว่า ภิกษุแก่ๆ ไม่อยู่ภายในวิหารทุกเวลา แม้เมื่อเรากล่าวคุณของท่าน ก็ผู้ใดจักเห็นภิกษุนั้น ผู้นั้นก็จักมาบอก. ครั้งนั้น สัทธิวิหาริกของพระเถระผู้นั้นได้เห็นท่านพระปุณณมันตานีบุตร กำลังถือบาตรจีวรเข้าไปยังพระคันธกุฎี.
               ถามว่า ก็ท่านได้รู้จักท่านพระปุณณมันตานีบุตรนั้น อย่างไร.
               ตอบว่า ภิกษุรูปนั้นได้รู้ทั่วถึงพระธรรมกถาของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ตรัสระบุชื่อปุณณะ ปุณณะว่า พระเถระที่พระอุปัชฌาย์ของเราสรรเสริญอยู่บ่อยๆ รูปนี้นี่เอง ดังนั้น ภิกษุรูปนั้นจึงมาบอกแก่พระเถระ.
               บทว่า นิสีทนํ อาทาย ได้แก่ ท่อผ้าที่มีชาย ท่านเรียก ชื่อว่านิสีทนะ. ก็พระเถระถือท่อนหนังไป. บทว่า ปิฏฺฐิโต ปิฏฺฐิโต แปลว่า ข้างหลังๆ.
               บทว่า สีสานุโลกิ ความว่า ภิกษุใดเดินไปเห็นหลังในที่ดอน เห็นศีรษะในที่ลุ่ม ภิกษุนี้เรียกว่ามองเห็นศีรษะ คือภิกษุเป็นเช่นนั้นติดตามไป. ก็พระเถระแม้เดินไปใกล้ชิดเพราะมีเสียงฝีเท้าที่ย่างไปก็ไม่ลำบากเพราะเสียงเท้า แต่ท่านรู้ว่า นี้ไม่ใช่เวลาที่จะแสดงความบันเทิงกัน จึงไม่ไปใกล้ชิด.
               ธรรมดาอันธวันเป็นป่าใหญ่ คนที่มองไม่เห็นคนที่นั่งอยู่ในที่แห่งหนึ่ง ต้องกระทำเสียงอันไม่ผาสุก (ตะโกน) ว่าผู้มีอายุ ปุณณะ ปุณณะ เพราะฉะนั้น พระเถระจึงอยู่ไม่ไกลนัก เพื่อจะรู้สถานที่ท่านนั่ง จึงเดินไปพอมองเห็นศีรษะ.
               บทว่า ทิวาวิหารํ นิสีทิ ได้แก่ นั่งเพื่อประโยชน์แก่การพักกลางวัน.
               ทั้ง ๒ ท่านนั้น ทั้งท่านปุณณะ ทั้งพระสารีบุตรเถระก็เป็นชาติแห่งอุทิจจพราหมณ์ ทั้งพระปุณณะเถระ ทั้งพระสารีบุตรเถระ ก็มีวรรณะเหมือนทอง ทั้งพระปุณณะเถระ ทั้งพระสารีบุตร ก็ถึงพร้อมด้วยสมาบัติ สัมปยุตด้วยพระอรหัตตผล ทั้งพระปุณณะเถระก็ถึงพร้อมด้วยอภินิหารแสนกัปป์ ทั้งพระสารีบุตรเถระก็ถึงพร้อมด้วยอภินิหารหนึ่งอสงไขย ยิ่งด้วยแสนกัปป์ ทั้งพระปุณณะเถระทั้งพระสารีบุตรเถระ ก็เป็นพระมหาขีณาสพผู้บรรลุปฏิสัมภิทา. ดังนั้น จึงเป็นเหมือนราชสีห์สองตัวเข้าไปยังถ้ำทองถ้ำเดียวกัน เหมือนเสือโคร่งสองตัวลงสู่ที่สะบัดแข้ง สะบัดขาแห่งเดียวกัน เหมือนพญาช้างฉัททันต์สองเชือกเข้าสู่สาลวันที่มีดอกบานดีแล้วแห่งเดียวกัน เหมือนพญาสุบรรณสองตัวเข้าสู่ฉิมพลีวันแห่งเดียวกัน เหมือนท้าวเวสสวัณสององค์ประทับยานนรพาหนอันเดียวกัน เหมือนท้าวสักกะสององค์ประทับร่วมบัณฑุกัมพลแท่นเดียวกัน เหมือนท้าวหาริตมหาพรหมสององค์ประทับอยู่ภายในวิมานเดียวกัน พระมหาเถระนั้นเป็นชาติพราหมณ์ทั้งสองรูป มีวรรณะเหมือนทองทั้งสองรูป ได้สมาบัติทั้งสองรูป ถึงพร้อมด้วยอภินิหารทั้งสองรูป เป็นพระมหาขีณาสพผู้บรรลุปฏิสัมภิทาทั้งสองรูป เข้าไปไพรสณฑ์แห่งเดียวกัน ทำไพรสณฑ์นั้นให้สง่างาม.
               บทว่า ภควติ โน อาวุโส พฺรหฺมจริยํ วุสฺสติ ความว่า ท่านพระสารีบุตรทั้งที่รู้อยู่ว่า ท่านพระปุณณะมันตานีบุตรนั้นอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ถามเพื่อตั้งเรื่องขึ้นดังนี้ว่า ผู้มีอายุ ท่านอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าของพวกเราหรือ.
               จริงอยู่ เมื่อกถาแรกยังไม่ตั้งขึ้น กถาหลังก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น พระเถระจึงถามอย่างนี้. พระเถระก็กล่าวคล้อยตามว่า อย่างนั้นซิ ผู้มีอายุ.
               ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรใคร่จะฟังคำตอบปัญหาของท่านพระปุณณมันตานีบุตรนั้น จึงถามวิสุทธิ ๗ ตามลำดับว่า ผู้มีอายุ ท่านอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อสีลวิสุทธิหรือหนอ. เรื่องพิสดารของวิสุทธิ ๗ นั้น กล่าวไว้แล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรค. ก็เพราะเหตุที่การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ของผู้ที่แม้ตั้งอยู่ในจตุปาริสุทธิศีลเป็นต้น ยังไม่ถึงที่สุด ฉะนั้น ท่านพระปุณณะจึงปฏิเสธทั้งหมดว่า ไม่ใช่อย่างนี้ดอก ผู้มีอายุ.
               บทว่า กิมตฺถํ จรหาวุโส ความว่า ท่านพระสารีบุตรถามว่า ผิว่า ท่านไม่อยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อประโยชน์แก่สีลวิสุทธิเป็นต้น เมื่อเป็นดังนั้น ท่านอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่ออันใดเล่า.
               ปรินิพพานที่หาปัจจัยมิได้ ชื่อว่าอนุปาทาปรินิพพาน ในคำว่า อนุปาทาปรินิพฺพานตฺถํ โข อาวุโส นี้. อุปาทานมี ๒ ส่วน คือ คหณุปาทาน ๑ ปัจจยุปาทาน ๑.
               อุปาทาน ๔ อย่าง มีกามุปาทานเป็นต้น ชื่อว่าคหณุปาทาน. ปัจจัยที่กล่าวแล้วอย่างนี้ว่า สังขารเกิดมีเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ชื่อว่าปัจจยุปาทาน.
               บรรดาอุปาทานเหล่านั้น อาจารย์ทั้งหลายผู้ถือคหณุปาทาน เรียกอรหัตตผลที่ไม่ยึดถือธรรมอะไรๆ แม้ด้วยอุปาทาน ๔ อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นไปว่า อนุปาทาปรินิพพาน ในคำนี้ว่า อนุปาทาปรินิพฺพานํ.
               จริงอยู่ พระอรหัตตผลนั้นหาประกอบด้วยอุปาทาน ยึดธรรมอะไรไม่ และท่านกล่าวว่าปรินิพพาน เพราะเกิดในที่สุดแห่งกิเลสปรินิพพาน. ส่วนอาจารย์ผู้ถือปัจจยุปาทานเรียกปรินิพพานที่หาปัจจัยมิได้ ที่ไม่เกิดขึ้นโดยปัจจัย ที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง ได้แก่อมตธาตุนั่นเองว่าอนุปาทาปรินิพพาน ในคำว่า อนุปาทาปรินิพพาน. นี้เป็นที่สุด นี้เป็นเงื่อนปลาย นี้เป็นที่จบ ด้วยว่า การอยู่จบพรหมจรรย์ของผู้ถืออปัจจยปรินิพพานย่อมชื่อว่า ถึงที่สุด เพราะฉะนั้น พระเถระจึงกล่าวว่าอนุปาทาปรินิพพาน.
               ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งอนุปาทาปรินิพพานนั้น เริ่มถามอีกว่า ผู้มีอายุ สีลวิสุทธิหรือ ชื่อว่าอนุปาทาปรินิพพาน. ฝ่ายพระเถระปฏิเสธคำนั้นทั้งหมดในปริวัฏ คือรอบทั้งหลายอย่างนั้นเหมือนกัน เมื่อแสดงโทษในที่สุด จึงกล่าวคำมีอาทิว่า สีลวิสุทฺธิญฺเจ อาวุโส.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปญฺญเปยฺย แปลว่า ถ้าพึงบัญญัติไซร้.
               บทว่า สอุปาทานํ เยว สมานํ อนุปาทาปรินิพฺพานํ ปญฺญเปยฺย ความว่า พึงบัญญัติเฉพาะสคหณธรรมว่า นิคคหณธรรม พึงบัญญัติเฉพาะสปัจจยธรรม ว่าอปัจจยธรรม พึงบัญญัติเฉพาะสังขตธรรมว่า อสังขตธรรม. ก็พึงถือเนื้อความในญาณทัสสนวิสุทธิ์อย่างนี้ว่า พึงบัญญัติเฉพาะสัปปัจจัยธรรมว่า อปัจจัยธรรม พึงบัญญัติเฉพาะสังขตธรรมว่า อสังขตธรรม. พึงเห็นโลกิยพาลปุถุชนผู้เดินไปตามวัฏฏะ ในคำว่า ปุถุชฺชโน หาวุโส นี้. จริงอยู่ ปุถุชนนั้นเว้นธรรมเหล่านี้โดยประการทั้งปวง เพราะแม้เพียงจตุปาริสุทธิศีลก็ไม่มี.
               บทว่า เตนหิ ความว่า บัณฑิตบางพวกย่อมรู้ทั่วถึงอรรถได้โดยอุปมาด้วยเหตุใด ด้วยเหตุนั้น เราจึงอุปมาแก่ท่าน.
               บทว่า สตฺต รถวินีตานิ ได้แก่ รถ ๗ ผลัดที่เทียมด้วยม้าอาชาไนยที่ฝึกแล้ว.
               บทว่า ยาวเทว จิตฺตวิสุทฺธตฺถา ความว่า ท่านผู้มีอายุ ชื่อว่าสีลวิสุทธินี้ย่อมมีเพียงเพื่อประโยชน์แห่งจิตตวิสุทธิ.
               บทว่า จิตฺตวิสุทฺธตฺถา นี้เป็นปัญจมีวิภัตติ.
               ก็ในข้อนี้ มีใจความดังต่อไปนี้
               ประโยชน์กล่าวคือจิตตวิสุทธิ มีอยู่เพียงใด ชื่อว่าสีลวิสุทธินี้ ก็พึงปรารถนาเพียงนั้น ก็จิตตวิสุทธินี้นั้นเป็นประโยชน์ของสีลวิสุทธิ นี้เป็นที่สุด นี้เป็นเบื้องปลาย. จริงอยู่ ผู้ตั้งอยู่ในจิตตวิสุทธิย่อมชื่อว่า ทำกิจแห่งสีลวิสุทธิ.
               ในบททั้งปวงก็นัยนี้.
               ในข้อนี้มีการเทียบเคียงด้วยข้ออุปมาดังต่อไปนี้
               พระโยคาวจรผู้ขลาดกลัวต่อชราและมรณะ พึงเห็นเหมือนพระเจ้าปเสนทิโกศล สักกายนครพึงเห็นเหมือนสาวัตถีนคร นครคือพระนิพพาน พึงเห็นเหมือนนครสาเกต เวลาที่พระโยคีเกิด คือการตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔ ที่ยังไม่รู้ พึงเห็นเหมือนเวลาพระราชาผู้นำความเจริญ กิจรีบด่วนที่จะพึงรีบไปถึงเมืองสาเกต วิสุทธิ ๗ พึงเห็นเหมือนรถ ๗ ผลัด เวลาที่ตั้งอยู่ในสีลวิสุทธิพึงเห็นเหมือนเวลาขึ้นรถผลัดที่หนึ่ง เวลาที่ตั้งอยู่ในจิตตวิสุทธิเป็นต้นโดยสีลวิสุทธิเป็นต้นพึงเห็นเหมือนเวลาที่ขึ้นสู่รถผลัดที่ ๒ โดยรถผลัดที่ ๑ เป็นต้น เวลาที่พระโยคาวจรทำกิเลสทั้งปวงให้สิ้นไปด้วยญาณทัสสนวิสุทธิแล้วขึ้นไปบนปราสาท คือธรรมประเสริฐ ผู้มีกุศลธรรม ๕๐ เป็นเบื้องหน้าเป็นบริวาร เข้าผลสมาบัติอันมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ แล้วนั่งในที่นอนคือนิโรธ พึงเห็นเหมือนเวลาที่เสวยโภชนะมีรสดีของพระราชาผู้เสด็จลงที่ภายในประตูเมืองสาเกตด้วยรถผลัดที่ ๗ แล้วแวดล้อมไปด้วยหมู่ญาติมิตร ณ เบื้องบนปราสาท.
               พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรถามถึงวิสุทธิ ๗ กะท่านพระปุณณะผู้ได้กถาวัตถุ ๑๐ ประการด้วยประการฉะนี้. ท่านพระปุณณะก็วิสัชชนากถาวัตถุ ๑๐ ประการ.
               ก็พระธรรมเสนาบดีเมื่อถามอย่างนี้ รู้หรือไม่รู้จึงถาม ก็หรือว่าท่านเป็นผู้ฉลาดในลัทธิจึงถามในวิสัย หรือไม่ฉลาดในลัทธิจึงถามในอวิสัย ฝ่ายพระปุณณเถระรู้หรือไม่รู้จึงวิสัชชนา ก็หรือว่าท่านเป็นผู้ฉลาดในลัทธิจึงวิสัชชนาในวิสัย หรือไม่ฉลาดในลัทธิจึงวิสัชชนาในอวิสัย.
               ก็ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรรู้เป็นผู้ฉลาดในลัทธิจึงถามในวิสัย เพราะฉะนั้น ท่านพระปุณณะเมื่อกล่าวจึงกล่าวกะพระธรรมเสนาบดีเท่านั้น ท่านพระปุณณะรู้ เป็นผู้ฉลาดในลัทธิจึงแก้ในวิสัย เพราะฉะนั้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร เมื่อกล่าวพึงกล่าวกะท่านพระปุณณะเท่านั้น. ก็ข้อที่ท่านย่อไว้ในวิสุทธิทั้งหลาย ท่านก็ให้พิสดารแล้วในกถาวัตถุทั้งหลาย ข้อที่ท่านย่อไว้ในกถาวัตถุทั้งหลาย ท่านก็ให้พิสดารแล้วในวิสุทธิทั้งหลาย ข้อนั้นพึงทราบโดยนัยนี้.
               จริงอยู่ ในวิสุทธิทั้งหลาย สีลวิสุทธิอย่างเดียวก็มาเป็นกถาวัตถุ ๔ คือ อัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา อสังสัคกถา สีลกถา. จิตตวิสุทธิอย่างเดียวก็มาเป็นกถาวัตถุ ๓ คือ ปวิเวกกถา วิริยารัมภกถา สมาธิกถา. อันดับแรกข้อที่ท่านย่อไว้ในวิสุทธิทั้งหลาย ท่านก็ให้พิสดารแล้วในกถาวัตถุทั้งหลายด้วยประการฉะนี้.
               ส่วนบรรดากถาวัตถุทั้งหลาย ปัญญากถาอย่างเดียวมาเป็นวิสุทธิ ๕ คือ ทิฏฐิวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ มัคคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ญาณทัสสนวิสุทธิ.
               ข้อที่ท่านย่อไว้ในกถาวัตถุ ท่านให้พิสดารแล้วในวิสุทธิทั้งหลายด้วยประการฉะนี้.
               เพราะฉะนั้น พระสารีบุตรเถระ เมื่อถามวิสุทธิ ๗ ไม่ถามอย่างอื่น ถามเฉพาะกถาวัตถุ ๑๐ เท่านั้น. ฝ่ายพระปุณณเถระ เมื่อจะวิสัชชนาวิสุทธิ ๗ ก็ไม่วิสัชชนาอย่างอื่น วิสัชชนาเฉพาะกถาวัตถุ ๑๐ เท่านั้น. แม้ท่านทั้ง ๒ นั้นรู้แล้วเป็นผู้ฉลาดในลัทธิ พึงทราบว่า ถามและวิสัชชนาปัญหาในวิสัยเท่านั้น.
               บทว่า โก นาม อายสฺมา ความว่า พระเถระไม่รู้ชื่อของท่าน ก็หามิได้ แต่เมื่อรู้ก็ถาม ด้วยหมายจะได้ความบันเทิง. ก็พระเถระเมื่อจะบันเทิงจึงกล่าวคำนี้ว่า กถญฺจ ปน อายสฺมนฺตํ.
               บทว่า มนฺตานีปุตฺโต ได้แก่ เป็นบุตรของนางพราหมณี ชื่อว่ามันตานี.
               บทว่า ตํ ในคำว่า ยถาตํ นี้เป็นเพียงนิบาต.
               ความสังเขปในข้อนี้มีดังนี้ว่า ท่านพยากรณ์แล้วเหมือนอย่างพระสาวกผู้สดับพยากรณ์.
               บทว่า อนุมสฺส อนุมสฺส คือ ยังกำหนดกถาวัตถุ ๑๐.
               ผ้าโพกคือเทริด เรียกว่าเวละ ในคำว่า เวลญฺฑุเกน นี้ ถ้าหากเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายให้ท่านนั่งในที่นั้น บริหารผ้าโพกอยู่บนศีรษะ ก็จะพึงได้เห็น แม้การเห็นที่ได้แล้วอย่างนี้ก็เป็นลาภของเพื่อนพรหมจารีทีเดียว เพราะเหตุนั้น ท่านจึงแสดงอุบายแห่งการเห็นเนืองๆ ด้วยการกำหนดที่อันไม่ใช่ฐานะ. ก็พระเถระเมื่อไม่บริหารอย่างนี้ ต้องการจะถามปัญหา หรือต้องการจะฟังธรรมแสวงหาอยู่ว่า พระเถระยืนที่ไหน นั่งที่ไหน จะพึงประพฤติ. แต่เมื่อบริหารอย่างนี้ ก้มศีรษะลงในขณะที่ต้องการให้พระเถระนั่งบนอาสนะที่สมควรอย่างใหญ่ จึงอาจถามปัญหา หรือฟังธรรมได้. ท่านจึงแสดงอุบายแห่งการเห็นเนืองๆ ด้วยการกำหนดสิ่งซึ่งมิใช่ฐานะด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า สารีปุตฺโตติ จ ปน มํ ความว่า ก็แลเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายรู้จักเราอย่างนี้ว่า เป็นบุตรของนางพราหมณี ชื่อว่าสารี.
               บทว่า สตฺถุกปฺเปน ได้แก่ เสมือนพระศาสดา.
               ท่านพระปุณณะยกพระสารีบุตรเถระ ประดุจตั้งไว้จดจันทรมณฑลด้วยบทเดียวเท่านั้น ด้วยประการฉะนี้. จริงอยู่ ความที่พระเถระเป็นพระธรรมกถึก โดยส่วนเดียวปรากฏแล้วในที่นี้ ก็เมื่อเรียกอมาตย์ว่าผู้ใหญ่ พึงเรียกว่าเสมือนพระราชา เรียกโคว่าขนาดเท่าช้าง เรียกว่าบึงขนาดเท่ามหาสมุทร เรียกแสงสว่างว่าขนาดเท่าแสงสว่างของดวงจันทร์ดวงอาทิตย์. ต่อแต่นั้น ก็ไม่มีการเรียกเพื่อนพรหมจารีเหล่านั้นว่าใหญ่. เมื่อจะเรียกแม้พระสาวกว่าใหญ่ ก็พึงเรียกว่าเทียบเท่าพระพุทธเจ้า. ต่อแต่นั้น ก็ไม่มีพระเถระนั้นเป็นใหญ่. ท่านพระปุณณะยกพระเถระเหมือนตั้งไว้จรดจันทรมณฑล ด้วยบทเดียวเท่านั้น ด้วยประการฉะนี้.
               ในคำว่า เอตฺตกํปิ โน นปฺปฏิภาเสยฺย นี้มีอธิบายอย่างนี้ว่า
               ไม่มีความไม่มีไหวพริบสำหรับพระเถระผู้ไม่ประมาทซึ่งบรรลุปฏิสัมภิทา ก็ข้ออุปมานี้อันใด ท่านนำมาแล้ว ไม่ควรนำข้ออุปมานั้นมา ควรกล่าวแต่ใจความเท่านั้น แต่จะนำข้ออุปมามาได้ ก็สำหรับผู้ไม่รู้ด้วยอุปมาทั้งหลาย แต่ในอรรถกถา ท่านปฏิเสธข้อนี้กล่าวว่า ขึ้นชื่อว่าข้ออุปมา นำมาได้แม้ในสำนักของพระพุทธะทั้งหลาย ก็ท่านยำเกรงพระเถระจึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า อนุมสฺส อนุมสฺส ปุจฺฉิตา ได้แก่ กำหนดไว้ถนัดถนี่ ถามกถาวัตถุ ๑๐.
               ถามว่า ก็การปุจฉาหรือวิสัชชนาปัญหา เป็นของหนัก.
               ตอบว่า การเล่าเรียนแล้วปุจฉาไม่หนัก ส่วนการวิสัชชนาหนัก ทั้งปุจฉาทั้งวิสัชชนา มีเหตุหรือมีการณ์ ก็หนักทั้งนั้น.
               บทว่า สมฺโมทึสุ ได้แก่ มีจิตเสมอกันบันเทิง.
               เทศนาจบลงตามลำดับอนุสนธิด้วยประการฉะนี้แล.


               จบอรรถกถาวินีตสูตรที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โอปัมมวรรค รถวินีตสูตร ภิกษุชาวชาติภูมิยกย่องพระปุณณมันตานีบุตร จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 289อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 292อ่านอรรถกถา 12 / 301อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=4938&Z=5108
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=1058
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=1058
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :