ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 312อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 329อ่านอรรถกถา 12 / 340อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โอปัมมวรรค
จูฬหัตถิปโทปมสูตร อุปมาด้วยรอยเท้าช้าง

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               บทว่า อตฺตนา แปลว่า ด้วยทั้งอัตภาพ ท่านอธิบายไว้ว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาย่อมทำอัตภาพให้สะอาดอยู่.
               บทว่า อพฺรหฺมจริยํ แปลว่า ประพฤติไม่ประเสริฐ. ชื่อว่า พฺรหฺมจารี เพราะประพฤติอาจาระอันประเสริฐ คือประเสริฐสุด. บทว่า อาราจารี ได้แก่ ผู้ประพฤติห่างไกลจากอพรหมจรรย์.
               บทว่า เมถุนา ได้แก่ อสัทธรรมที่นับว่าเมถุนเพราะซ่องเสพ โดยได้โวหารว่า เมถุนกะ เพราะเป็นเสมือนถูกราคะกลุ้มรุม. บทว่า คามธมฺมา แปลว่า ธรรมของชาวบ้าน.
               ชื่อว่าสัจจวาที เพราะพูดคำจริง. ชื่อว่า สจฺจสนฺโธ เพราะเอาสัจจะกับสัจจะเชื่อมต่อกัน. อธิบายว่า ไม่พูดปนเท็จ.
               ความจริง บุรุษใดบางครั้งพูดเท็จ บางครั้งพูดจริง ไม่เอาสัจจะกับสัจจะเชื่อมต่อกัน เพราะสัจจะกับมุสาวาทไม่อยู่ในภายใน เพราะเหตุนั้น บุรุษนั้นไม่ชื่อว่าเอาสัจจะกับสัจจะเชื่อมต่อกัน แต่ผู้นี้หาเป็นเช่นนั้นไม่. ผู้ไม่กล่าวมุสาวาท แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต แต่เอาสัจจะกับสัจจะเชื่อมต่อกันพูดจริงตลอดเรื่อง เพราะเหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่าสัจจสันธะ.
               บทว่า เถโต แปลว่า มั่นคง. อธิบายว่า ผู้พูดมั่นคง.
               จริงอยู่ บุคคลผู้หนึ่งเป็นผู้มีถ้อยคำไม่มั่นคง เหมือนย้อมด้วยขมิ้น เหมือนปักหลักไว้ที่กองแกลบและเหมือนฟักที่เขาวางไว้บนหลังม้าฉะนั้น. ผู้หนึ่งมีถ้อยคำมั่นคง เหมือนรอยจารึกในหินและเหมือนเสาเขื่อน แม้เมื่อเขาเอาดาบฟันศีรษะ ก็ไม่กล่าวถ้อยคำให้เป็น ๒ ผู้นี้ชื่อว่า เถตะ ผู้มีถ้อยคำมั่นคง.
               บทว่า ปจฺจยิโก แปลว่า บุคคลผู้ที่ควรเชื่อได้. อธิบายว่า ผู้น่าเชื่อ.
               ความจริง บุคคลบางคน เป็นผู้ไม่ควรเชื่อ เมื่อเขาถามว่าคำนี้ใครกล่าว คนโน้นหรือกล่าว ย่อมถูกเขาต่อว่า ว่าอย่าเชื่อคำของผู้นั้น. คนหนึ่งเป็นคนที่ควรเชื่อได้ เมื่อเขาถามว่า คำนี้ใครกล่าว คนโน้นหรือกล่าว ย่อมถูกต่อว่า ว่าถ้าเขาพูดไซร้ คำนี้เท่านั้นเป็นประมาณ บัดนี้ไม่มีคำที่ต้องสอบสวน คำนี้ต้องเป็นอย่างนั้นเอง ผู้นี้ท่านเรียกว่าผู้ที่ควรเชื่อได้.
               บทว่า อวิสํวาทโก โลกสฺส ความว่า ย่อมไม่กล่าวคำเป็นพิษกะชาวโลก เพราะมีปกติกล่าวแต่คำสัตย์นั้น.
               บทว่า อิเมสํ เภทาย ความว่า เพื่อทำลายเหล่าชนที่ได้ยินในสำนักของคนที่พูดว่าได้ฟังมาจากข้างนี้.
               บทว่า ภินฺนานํ วา สนฺธาตา ความว่า เมื่อคน ๒ ฝ่ายเป็นมิตรกันหรือเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกันมีร่วมอุปัชฌายะเดียวกันเป็นต้น แตกกันด้วยกิจบางอย่างแล้ว ผู้ที่ควรเชื่อได้เข้าไปหาที่ละฝ่ายแล้ว พูดทำความสมานเป็นต้นว่า การอย่างนี้หาสมควรแก่พวกท่านผู้เกิดในตระกูลเช่นนี้ ผู้เป็นพหุสูตอย่างนี้ไม่ ดังนี้.
               บทว่า อนุปฺปทาตา ได้แก่ ผู้สนับสนุนบุคคลที่ปรองดองแล้ว.
               อธิบายว่า ผู้ที่ควรเชื่อได้เห็นคนทั้งสองผู้สามัคคีกันอยู่แล้ว พูดทำให้มั่นเข้าว่า การอย่างนี้เป็นการสมควรแก่พวกท่านผู้เกิดในตระกูลเห็นปานนั้น ผู้ประกอบด้วยคุณเห็นปานนี้ ดังนี้เป็นต้น.
               ชื่อว่า สมคฺคาราโม เพราะมีคนมีสามัคคีเป็นที่มายินดี. อธิบายว่า คนผู้สามัคคีกันไม่มีในที่ใด ย่อมไม่ปรารถนาจะอยู่ในที่นั้น. บาลีว่า สมคฺคราโม ดังนี้ก็มี. ความก็อย่างนี้เหมือนกัน.
               บทว่า สมคฺครโต ได้แก่ ผู้ยินดีในเหล่าคนผู้พร้อมเพรียงกัน. อธิบายว่า ย่อมไม่ปรารถนาละคนผู้สามัคคีกันเหล่านั้นไปในที่อื่น. ชื่อว่าผู้ชื่นชมในคนผู้สามัคคีกัน เพราะผู้ที่ควรเชื่อได้นั้น เห็นก็ดี ได้ยินก็ดี ซึ่งเหล่าคนผู้สามัคคีกัน ย่อมยินดี.
               บทว่า สมคฺคกรณึ วาจํ ภาสิตา ความว่า บุคคลผู้ที่ควรเชื่อได้นั้น ย่อมกล่าววาจาที่ทำคนให้สามัคคีกัน ซึ่งเป็นวาจาแสดงคุณของสามัคคีอย่างเดียว หากล่าววาจาตรงกันข้ามจากนี้ไม่.
               โทษท่านเรียกว่า เอล ในบทว่า เนลา ดังนี้ วาจา ชื่อว่าหาโทษมิได้ เพราะโทษของวาจานั้นไม่มี. อธิบายว่า วาจาไม่มีโทษ บทว่า เนลา นั้นเหมือน เนละศัพท์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในคาถานี้ว่า เนลงฺโค เสตปจฺฉาโท ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า กณฺณสุขา ได้แก่วาจาสบายหู คือไม่เกิดความเสียดแทงหูเหมือนถูกเข็มแทง เพราะเป็นวาจาไพเราะโดยพยัญชนะ ชื่อว่าวาจาเป็นที่ตั้งแห่งความรัก เพราะวาจานั้นไม่ทำให้เกิดความโกรธ ทำความรักให้เกิดทั่วสรีระ เพราะเป็นวาจาไพเราะโดยอรรถ. ชื่อว่าเป็นวาจาจับใจ เพราะวาจานั้นย่อมถึงใจ คือไม่กระทบกระทั่ง เข้าไปถึงจิตโดยสะดวก. ชื่อว่าเป็นวาจาชาวเมือง เพราะวาจานั้นมีอยู่ในเมืองเหตุเป็นวาจาที่บริบูรณ์ด้วยคุณ. ชื่อว่าโปรี เพราะวาจานั้นเป็นวาจาอ่อนโยนประหนึ่งว่า หญิงผู้เจริญในบุรี ดังนี้ก็มี.
               ชื่อว่าโปรี เพราะวาจานั้นเป็นวาจาของชาวเมืองดังนี้ก็มี. อธิบายว่า เป็นถ้อยคำของชาวเมือง. ด้วยว่า ชาวเมืองย่อมเป็นผู้มีถ้อยคำสมควร คือเรียกคนปูนพ่อว่าพ่อ คนผู้ปูนแม่ว่าแม่ ปูนพี่ว่าพี่.
               ชื่อว่าผู้มีวาจาอันคนเป็นอันมากรักใคร่ เพราะถ้อยคำเห็นปานนั้น ย่อมเป็นวาจาอันคนเป็นอันมากชอบใจ. ชื่อว่าเป็นวาจาเป็นที่พอใจของชนเป็นอันมาก เพราะวาจานั้นเป็นที่พอใจคือทำความเจริญใจแก่ชนเป็นอันมาก เพราะเป็นวาจาที่คนทั้งหลายรักใคร่นั่นเอง.
               บุคคลผู้ชื่อว่ากาลวาที เพราะกล่าวโดยกาล. อธิบายว่า บุคคลนั้นย่อมกำหนดกาลอันควรกล่าวแล้วกล่าว.
               ชื่อว่าผู้มีปกติกล่าวคำจริง เพราะย่อมกล่าวคำที่จริง คือคำแท้ ได้แก่คำเป็นจริงอย่างเดียว.
               ชื่อว่าผู้มีปกติกล่าวอาศัยประโยชน์ เพราะบุคคลนั่นกล่าวกระทำให้เป็นคำอาศัยอรรถอันเป็นประโยชน์ในภพนี้และภพหน้าอย่างเดียว. ชื่อว่าผู้มีปกติกล่าวอาศัยธรรม เพราะบุคคลนั้นย่อมกล่าวทำให้เป็นคำอาศัยโลกุตตรธรรม ๙. ชื่อว่าผู้มีปกติกล่าวอาศัยวินัย เพราะกล่าวกระทำให้เป็นคำอาศัยสังวรวินัยและปหานวินัย.
               โอกาสที่ตั้ง ท่านเรียกว่าหลักฐาน หลักฐานของวาจานั้นมีอยู่ เหตุนั้น วาจานั้นชื่อว่ามีหลักฐาน. อธิบายว่า บุคคลผู้ที่ควรเชื่อได้นั้น ย่อมเป็นผู้กล่าววาจาอันสมควรที่จะพึงเก็บไว้ในหทัย.
               บทว่า กาเลน ความว่า ก็บุคคลผู้ควรเชื่อได้นั้นแม้เมื่อกล่าวคำเห็นปานนั้น ย่อมไม่กล่าวโดยกาลอันไม่สมควรด้วยถือว่าจักกล่าวคำมีหลักฐานดังนี้ แต่พิจารณากาลอันสมควรแล้ว จึงกล่าว.
               บทว่า สาปเทสํ ความว่า มีอุปมา มีเหตุ.
               บทว่า ปริยนฺตวตึ มีความว่า ที่สุดของวาจานั้นจะปรากฏด้วยประการใด บุคคลผู้เชื่อได้นั้นกล่าวแสดงที่สุดโดยประการนั้น.
               บทว่า อตฺถสญฺหิตํ ความว่า ชื่อว่าถึงพร้อมด้วยประโยชน์ เพราะวาจานั้นอันบุคคลผู้จำแนกอยู่โดยนัยแม้เป็นอันมากไม่อาจจะให้ถือเอาที่สุดได้.
               อีกอย่างหนึ่ง มีความว่า บุคคลผู้ควรเชื่อนั้นย่อมกล่าววาจาอันชื่อว่าประกอบด้วยประโยชน์ เพราะวาจานั้นเป็นวาจาประกอบด้วยประโยชน์ที่เขากล่าว ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า บุคคลผู้ควรเชื่อนั้น หายกคำอย่างหนึ่งแล้ว ไพล่ไปกล่าวเสียอีกอย่างหนึ่งไม่.
               บทว่า วีชคามภูตคามสารมฺภา ความว่า เว้นจากการพรากพืชคาม ๕ อย่าง คือพืชเกิดแต่ราก พืชเกิดแต่ลำต้น พืชเกิดแต่ข้อ พืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่เมล็ด และภูตคามมีของเขียวหญ้าและต้นไม้เป็นต้นชนิดใดชนิดหนึ่ง คือทำลายโดยตัดและเผาเป็นต้น.
               บทว่า เอกภตฺติโก ความว่า ภัตร ๒ อย่าง คือ ภัตรที่จะพึงบริโภคในเวลาเข้า ภัตรที่จะพึงบริโภคในเวลาเย็น.
               ในสองอย่างนั้น ภัตรที่จะพึงบริโภคในเวลาเช้า กำหนดภายในเที่ยงวัน. ภัตรที่จะพึงบริโภคในเวลาเย็น กำหนดตั้งแต่เที่ยงวันถึงภายในอรุณ. เพราะฉะนั้น แม้จะบริโภคภายในเที่ยงวันตั้งแต่ ๑๐ ครั้ง ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีภัตรหนเดียว ท่านหมายเอาความเป็นผู้มีภัตรหนเดียวนั้นกล่าวว่า เอกภตฺติโก ดังนี้.
               ชื่อว่า รตฺตูปรโต เพราะเว้นจากการบริโภคในเวลากลางคืนนั้น. การบริโภคในเวลาเลยเที่ยงไปแล้วจนถึงพระอาทิตย์ตก ชื่อว่าบริโภคในเวลาวิกาล. เพราะเว้นจากวิกาลโภชน์นั้น จึงชื่อว่าเว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล.
               ชื่อว่า วิสูกทสฺนํ เพราะเป็นการดูที่เป็นข้าศึกศัตรูเพราะไม่อนุโลมตามพระศาสนา.
               ชื่อว่า นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา เพราะการฟ้อน การขับ การประโคมด้วยการอำนาจฟ้อนเองและให้ผู้อื่นฟ้อนเป็นต้น และการดูที่เป็นข้าศึกซึ่งการฟ้อนเป็นต้นที่เป็นไปแม้อย่างต่ำมีนกยูงรำแพนเป็นต้น. การประกอบเองก็ดี การให้ผู้อื่นประกอบก็ดี ซึ่งการฟ้อนเป็นต้นหรือการดูการฟ้อนเป็นต้นที่ผู้อื่นประกอบย่อมไม่ควรแก่ภิกษุและภิกษุณีทั้งนั้น.
               บทว่า มาลา ในคำว่า มาลาเป็นต้น ได้แก่ดอกไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง.
               บทว่า คนฺธํ ได้แก่ ของหอมชนิดใดชนิดหนึ่ง.
               บทว่า วิเลปนํ ได้แก่ เครื่องประเทืองผิว.
               ผู้ประดับในเครื่องประดับเหล่านั้น ชื่อว่าทัดทรง. ผู้ทำที่พร่องให้เต็ม ชื่อว่าประดับ. ผู้ยินดีด้วยของหอมและเครื่องประเทืองผิว ชื่อว่าตกแต่ง. เหตุท่านเรียกว่าฐานะ. อธิบายว่า เพราะฉะนั้น มหาชนทำการทัดทรงดอกไม้เป็นต้นเหล่านั้นด้วยเจตนาเครื่องทุศีลใด เป็นผู้งดเว้นจากเจตนาเครื่องทุศีลนั้น.
               ที่นอนอันเกินประมาณ ท่านเรียกอุจจาสยนะ. เครื่องลาดที่ไม่สมควร ชื่อว่ามหาสยนะ. อธิบายว่า งดเว้นจากที่นอนสูงและที่นอนใหญ่นั้น.
               บทว่า ชาตรูปํ ได้แก่ ทอง. บทว่า รชฏํ ความว่า วัตถุเหล่าใดถึงการบัญญัติว่า กหาปณะ มาสกโลหะ มาสกยาง มาสกไม้ งดเว้นจากการรับวัตถุทั้งสองนั้น. อธิบายว่า ไม่รับเอง ไม่ให้คนอื่นรับวัตถุทั้งสองนั้น ไม่ยินดีวัตถุทั้งสองที่คนอื่นเก็บไว้.
               บทว่า อามกธญฺญปฏิคฺคหณา ได้แก่ จากการรับธัญญชาติดิบ ๗ อย่างคือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง ลูกเดือย หญ้ากับแก้. มิใช่ห้ามการรับธัญญชาติเหล่านั้นอย่างเดียวเท่านั้น แม้การถูกต้องก็ไม่ควรแก่ภิกษุทั้งหลาย.
               ในบทว่า อามกมํสปฏิคฺคหณา นี้ความว่า การรับเนื้อและปลาดิบ ย่อมไม่ควรแก่ภิกษุทั้งหลาย การถูกต้องก็ไม่ควร นอกจากที่ทรงอนุญาตไว้โดยเฉพาะ.
               คำว่า อิตฺถี ในคำว่า อิตฺถี กุมาริกปฏิคฺคหณา นี้ได้แก่หญิงที่กำลังอยู่กับผู้ชาย นอกนั้นจัดเป็นหญิงสาว. การรับก็ดี การจับต้องก็ดี ซึ่งหญิงเหล่านั้น.
               ในบทว่า ทาสีทาส ปฏิคฺคหณา นี้ ความว่า ไม่ควรรับชนเหล่านั้นไว้โดยเป็นทาสหญิงทาสชายเลย แต่เมื่อเขาพูดว่าฉันถวายเป็นกัปปิยการก ฉันถวายเป็นคนวัด ก็ควรได้รับ.
               ในแพะและแกะเป็นต้น มีนาและสวนเป็นที่สุด พึงใคร่ครวญนัยที่สมควรและไม่สมควรตามวินัย. ในบรรดานาและสวนนั้น ชื่อว่านา คือที่ปลูกปุพพัณณชาติ ชื่อว่าที่สวน คือที่ปลูกอปรัณณชาติ.
               อีกอย่างหนึ่ง ที่ที่ปุพพัณณชาติและอปรัณณชาติทั้งสองงอกขึ้นนั้น ชื่อว่านา ภูมิภาคที่มิได้ทำไว้เพื่อประโยชน์นั้น ชื่อว่าสวน. ก็ในที่นี้ท่านรวมแม้บึงและหนองเป็นต้น โดยมีนาและสวนเป็นสำคัญ.
               งานทูตคือการถือหนังสือหรือข่าวสารของคฤหัสถ์ไปในที่นั้นๆ เรียกว่า ทูเตยะ (การส่งข่าวสาร). การไปด้วยกิจเล็กๆ น้อยๆ ของผู้ที่เขาส่งไปจากเรือน(นี้) สู่เรือนโน้น ท่านเรียกว่าการรับใช้. การกระทำทั้งสองอย่างนั้น ชื่อว่าอนุโยค เพราะฉะนั้น พึงเห็นความในข้อนี้ว่า การประกอบเนืองๆ ซึ่งการส่งข่าวสารและการรับใช้.
               บทว่า กยวิกฺกยา ได้แก่ การซื้อและการขาย.
               บทว่า กูฏํ ในคำว่า ตุลากูฏ เป็นต้น ได้แก่ การโกง.
               ก่อนอื่นในการโกงเหล่านั้น การโกงด้วยตาชั่งมี ๔ อย่าง คือโกงโดยรูป โกงโดยอวัยวะ โกงโดยรับ โกงโดยปกปิด.
               ในการโกง ๔ อย่างนั้น ชื่อว่าการโกงโดยรูป คือการทำตาชั่ง ๒ อันให้รูปเท่ากัน เมื่อรับก็รับด้วยตาชั่งอันใหญ่ เมื่อให้ก็ให้ด้วยตาชั่งอันเล็ก. ชื่อว่าโกงโดยอวัยวะ คือเมื่อรับก็เอามือกดตาชั่งข้างหลังไว้ เมื่อให้ก็เอามือกดตาชั่งข้างหน้าไว้. ชื่อว่าการโกงโดยรับ คือเมื่อรับก็จับเชือกที่ต้น เมื่อให้ก็จับเชือกที่ปลาย. ชื่อว่าโกงโดยปกปิด คือกระทำตาชั่งกลวงแล้วใส่ผงเหล็กไว้ข้างใน เมื่อรับก็กระทำตาชั่งนั้นไว้ทางหลัง เมื่อให้ก็กระทำตาชั่งไว้ทางปลาย.
               ถาดทองคำเรียกว่าสำริด. การโกงด้วยถาดทองนั้น ชื่อว่าโกงด้วยสำริด.
               อย่างไร? คือกระทำถาดทองขึ้นใบหนึ่ง แล้วกระทำถาดโลหะอย่างอื่น ๒-๓ ใบให้มีสีเหมือนทอง แต่นั้นไปยังชนบทเข้าไปหาตระกูลที่มั่งคั่งตระกูลใดตระกูลหนึ่ง กล่าวว่า ท่านจงซื้อภาชนะทอง เมื่อเขาถามราคาเป็นผู้ประสงค์จะให้สิ่งที่มีราคามากกว่า. แต่นั้นเมื่อคนเหล่านั้นพูดว่า บอกที่เถิดข้าพเจ้าจะทราบว่าถาดเหล่านี้เป็นทองคำได้อย่างไร จึงบอกว่า ท่านจงทดลองเอาเถอะ แล้วเอาถาดทองครูดที่หิน แล้วมอบถาดทั้งหมดให้ไป.
               ชื่อการโกงด้วยเครื่องตวงวัดมี ๓ อย่างคือ หทยเภท ๑ สิขาเภท ๑ รัชชุเภท ๑.
               ใน ๓ อย่างนั้น หทยเภทะใช้ในเวลาตวงเนยใสและน้ำมันเป็นต้น คือเมื่อจะซื้อเนยใสและน้ำมันเป็นต้นเหล่านั้น ก็บอกว่าจงค่อยๆ ริน แล้วให้เนยใสและน้ำมันเป็นอันมากไหลลงในภายในภาชนะ ด้วยเครื่องตวงที่มีช่องอยู่ภายในรับเอา เมื่อจะขายก็ปิดช่องเสียทำให้เต็มเร็วๆ ให้ไป. สิขาเภทะใช้ในเวลาตวงงาและข้าวสารเป็นต้น คือเมื่อจะตวงซื้องาและข้าวสารเป็นต้นเหล่านั้นก็ค่อยๆ ยอดพูนสูงขึ้นถือเอา เมื่อตวงขายก็รีบตวงให้เต็มแล้วปาดขายไป. รัชชุเภทะใช้ในเวลาวัดที่นาและที่สวน คือเมื่อไม่ได้สินจ้างก็วัดทำนาที่แม้ไม่ใหญ่ก็ให้ใหญ่ได้.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า อักโกฏนะ เป็นต้น.
               บทว่า อุกฺโกฏนํ หมายเอาการโกงเพื่อทำคนผู้เป็นเจ้าของไม่ให้เป็นเจ้าของ.
               บทว่า วญฺจนํ ได้แก่ การลวงคนอื่นด้วยอุบายนั้นๆ.
               ในข้อนั้นมีเรื่องหนึ่งเป็นอุทาหรณ์ดังต่อไปนี้
               เล่ากันมาว่า นายพรานคนหนึ่งจับเนื้อและลูกเนื้อมา. นักเลงคนหนึ่งพูดกะเขาว่า ผู้เจริญเนื้อราคาเท่าไร ลูกเนื้อราคาเท่าไร. เมื่อเขาตอบว่าเนื้อ ๒ กหาปณะ ลูกเนื้อ ๑ กหาปณะ จึงให้ ๑ กหาปณะแล้ว พาเอาลูกเนื้อไปได้หน่อยหนึ่ง ก็กลับมาพูดว่าฉันไม่ต้องการลูกเนื้อละ ท่านจงให้เนื้อแก่ฉัน. ถ้าเช่นนั้นท่านจงให้ ๒ กหาปณะ. นักเลงนั้นพูดว่า ผู้เจริญ เราให้ ๑ กหาปณะ แก่ท่านก่อนแล้วมิใช่หรือ. รับว่า เออให้แล้ว. จึงกล่าวว่า ท่านจงเอาลูกเนื้อแม้นี้ไป เมื่อเป็นเช่นนั้น กหาปณะนั้นและลูกเนื้อซึ่งได้ราคา ๑ กหาปณะ นี้ จึงรวมเป็น ๒ กหาปณะ นี้ จึงรวมเป็น ๒ กหาปณะ. นายพรานกำหนดว่า เขากล่าวมีเหตุผลจึงรับเอาลูกเนื้อไว้แล้วให้เนื้อไป.
               บทว่า นิกติ ได้แก่ การลวงด้วยวิธีปลอมโดยทำสิ่งซึ่งไม่ใช่สังวาลว่าเป็นสังวาล ที่ไม่ใช่แก้วมณีว่าเป็นแก้วมณี ที่มิใช่ทองว่าเป็นทอง ด้วยการตลบตะแลงหรือด้วยกลลวง.
               บทว่า สาวิโยโค แปลว่า การตลบตะแลงด้วยการโกง. คำว่า สาวิโยโค นี้เป็นชื่อของการคดโกงเป็นต้นเหล่านั้นนั่นเอง. เพราะฉะนั้น พึงเห็นความในคำว่า สาวิโยโค นี้ว่า ตลบตะแลงด้วยการคดโกง ตลบตะแลงด้วยหลอกลวง. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า การแสดงสิ่งหนึ่งแล้วเปลี่ยนเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ชื่อว่าสาวิโยคะ ตลบตะแลง. แต่คำนั้นท่านก็รวมเข้าด้วยการหลอกลวงเหมือนกัน.
               พึงทราบวินิจฉัยในข้อว่าเฉทนะเป็นต้น คำว่า เฉทนํ ได้แก่ การตัดมือเป็นต้น.
               บทว่า วโธ ได้แก่ การทำให้ตาย.
               บทว่า พนฺโธ ได้แก่ การจองจำด้วยเครื่องจำคือเชือกเป็นต้น.
               บทว่า วิปราโมโส ได้แก่ การบังมี ๒ อย่าง คือ บังด้วยหิมะและบังด้วยพุ่มไม้.
               ใน ๒ อย่างนั้น บังด้วยหิมะในเวลาหิมะตกแล้วพูดเท็จกะชนผู้เดินไป นี้เรียกว่า หิมวิปราโมส หิมะบังด้วยหิมะ. บังด้วยพุ่มไม้เป็นต้นแล้วพูดเท็จ นี้เรียกว่า คุมพวิปราโมสะ บังด้วยพุ่มไม้. การปล้นสะดมชาวบ้านและชาวนิคมเป็นต้นท่านเรียกว่า อาโลโป การปล้น.
               บทว่า สหสากาโร ได้แก่ การกระทำอย่างฉับพลัน คือเข้าไปสู่เรือนแล้วจี้อกของคนทั้งหลายแล้วฉวยสิ่งของตามปรารถนาไป เป็นผู้เว้นขาดจากอาการตัด ฆ่า จองจำ บัง ปล้น จี้นั้น ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า โส สนฺตุฏฺโฐ โหติ ความว่า ภิกษุนี้นั้นประกอบด้วยอิตรีตรปัจจัยสันโดษ ๑๒ อย่าง ในปัจจัย ๔ ดังกล่าวแล้วในหนหลัง.
               อนึ่ง บริขาร ๘ คือ ไตรจีวร บาตร มีดน้อยสำหรับเหลาไม้สีฟัน เข็มเล่มหนึ่งประคตเอว ผ้ากรองน้ำ ย่อมควรแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยสันโดษในปัจจัยตามมีตามได้ ๑๒ อย่างนี้.
               สมจริงดังพระโปราณาจารย์ กล่าวไว้ว่า
                         บริขารเหล่านี้ คือ ไตรจีวร บาตร มีดน้อย
                         เข็มและประคตเอว เป็น ๘ ทั้งผ้ากรองน้ำ
                         ย่อมควรแก่ภิกษุผู้ประกอบความเพียรด้วย.
               บริขารเหล่านั้นแม้ทั้งหมด เป็นเครื่องบริหารกายก็ได้ บริหารท้องก็ได้ อย่างไร.
               ก่อนอื่น ไตรจีวรย่อมบริหารคือเลี้ยงกาย ในคราวที่นุ่งและหุ่ม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นเครื่องบริหารกาย. ย่อมบริหารคือเลี้ยงท้อง ในคราวที่กรองน้ำด้วยมุมจีวรแล้วดื่มและในคราวที่ห่อผลไม้ใหญ่น้อยที่ควรเคี้ยวกินได้ด้วยชายจีวรนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นเครื่องบริหารท้อง.
               แม้บาตรก็เป็นเครื่องบริหารกาย ในคราวที่ตักน้ำด้วยบาตรนั้น อาบและในคราวตักน้ำด้วยบาตรนั้นประพรมกุฏี. เป็นเครื่องบริหารท้อง ในคราวรับอาหารด้วยบาตรนั้นฉัน.
               แม้มีดน้อยย่อมเป็นเครื่องบริหารกายในคราวที่เหลาไม้สีฟันและในคราวที่ทำขาเตียงตั่งและคันกลด เป็นเครื่องบริหารท้องในคราวที่ตัดอ้อยและปอกมะพร้าวเป็นต้น. แม้เข็มย่อมเป็นเครื่องบริหารกายในคราวที่เย็บจีวร เป็นเครื่องบริหารท้องในคราวจิ้มขนมหรือผลไม้ฉัน.
               แม้ประคดเอวย่อมเป็นเครื่องบริหารกายในคราวคาดเที่ยวไป เป็นเครื่องบริหารท้องในคราวมัดอ้อยเป็นต้นถือเอาไป. แม้ผ้ากรองน้ำย่อมเป็นเครื่องบริหารกายในคราวที่กรองน้ำด้วยผ้านั้นอาบ และในคราวที่กรองน้ำด้วยผ้านั้นแล้วทำการประพรมเสนาสนะ เป็นเครื่องบริหารท้องในคราวที่กรองน้ำดื่มและในคราวที่ห่องาข้าวสารและข้าวเม่าเป็นต้นด้วยผ้านั้นแล้วฉัน.
               นี้เป็นประมาณบริขารของภิกษุผู้มีบริขาร ๘ เท่านั้น.
               ส่วนภิกษุผู้มีบริขาร ๙ เข้าไปสู่ที่นอนจะมีเครื่องลาดสำหรับเสนาสนะนั้น หรือลูกกุญแจก็ควร. ภิกษุผู้มีบริขาร ๑๐ จะมีผ้านิสีทนะหรือแผ่นหนังก็ควร. ภิกษุผู้มีบริขาร ๑๑ จะมีไม้เท้าคนแก่หรือทะนานน้ำมันก็ควร. ภิกษุผู้มีบริขาร ๑๒ จะมีร่มหรือรองเท้าก็ควร.
               ก็ในภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้มีบริขาร ๘ เท่านั้น ชื่อว่าผู้สันโดษ นอกนั้นใครๆ ก็ไม่ควรกล่าวว่า ไม่สันโดษ เป็นผู้มักมาก เป็นผู้อยากใหญ่ ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมดเป็นผู้มักน้อย สันโดษ เลี้ยงง่าย และมีความประพฤติเบาทีเดียว.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงแสดงพระสูตรนี้ด้วยสามารถแห่งภิกษุเหล่านั้น ทรงแสดงด้วยอำนาจแห่งภิกษุผู้มีบริขาร ๘.
               จริงอยู่ ภิกษุผู้มีบริขาร ๘ นั้นห่อมีดน้อยและเข็มไว้ในผ้ากรองน้ำเก็บไว้ในบาตรแล้วคล้องบาตรไว้ที่จะงอยบ่านุ่งห่มไตรจีวร คาดประคดเอวแล้วหลีกไปสบายตามประสงค์. เธอไม่ต้องกลับมาเอาอะไรอีก.
               ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงความประพฤติเบาพร้อมของภิกษุนี้ จึงตรัสว่า สนฺตุฏฺโฐ โหติ กายบริหาริเยน จีวเรน ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กายบริหาริเยน คือ เพียงเป็นเครื่องบริหารกาย.
               บทว่า กุจฺฉิปริหาริเยน ได้แก่ เพียงเป็นเครื่องบริหารท้อง.
               บทว่า สมาทาเยว ปกฺกมติ ความว่า เธอถือเอาเพียงเครื่องบริขาร ๘ ทั้งหมดนั้นติดตัวไป ย่อมไม่ข้องหรือติดอยู่ว่า วิหาร บริเวณ อุปัฏฐากของเรา ภิกษุผู้มีบริขาร ๘ นั้นใช้สอยเสนาสนะที่ตนปรารถนาแล้วๆ คือไพรสณฑ์ โคนไม้ ชายป่า อยู่คนเดียว นั่งคนเดียวไม่มีเพื่อนในอิริยาบถทั้งปวง ดุจลูกศรที่พ้นจากแล่งและดุจช้างตกมันปลีกไปจากโขลงฉะนั้น ย่อมถึงความเป็นผู้เหมือนนอแรด.
               ที่ท่านพรรณนาไว้อย่างนี้ว่า
                                   จาตุทฺทิโส อปฺปฏิโฆ จ โหติ
                                   สนฺตุสฺสมาโน อิตรีตเรน
                                   ปริสฺสยานํ สหิตา อจฺฉมฺภี
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.

                         ภิกษุผู้สันโดษ ย่อมเป็นผู้อยู่เป็นสุขในทิศทั้ง ๔
                         และเป็นผู้ไม่หงุดหงิด สันโดษด้วยปัจจัยตามมี
                         ตามได้ ครอบงำอันตรายทั้งหลาย ไม่หวาดเสียว
                         เที่ยวไปคนเดียวดังนอแรด.

               บัดนี้ เมื่อทรงสาธกความข้อนั้น ด้วยอุปมาจึงตรัสว่า เสยฺยถาปิ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปกฺขี สกุโณ ได้แก่ นกมีปีก.
               บทว่า เฑติ แปลว่า บิน.
               ก็ความสังเขปในข้อนี้มีดังนี้.
               ธรรมดาว่านกทั้งหลายรู้ว่า ต้นไม้ในถิ่นโน้นมีผลสุก จึงพากันมาจากทิศต่างๆ เจาะจิกกินผลของต้นไม้นั้นด้วยเล็บ ปีกและจะงอยปากเป็นต้น. นกเหล่านั้นไม่มีความคิดว่า นี้สำหรับวันนี้ๆ สำหรับวันพรุ่งนี้ แต่เมื่อผลไม้หมด มันก็ไม่ต้องรักษาต้นไม้ไว้ ไม่ต้องเอาปีก เล็บหรือจะงอยปากเก็บไว้ที่ต้นไม้นั้น โดยที่แท้ไม่มีความอาลัยในต้นนั้น ตัวใดปรารถนาทิศภาคใด ตัวนั้นมีภาระคือปีกของตนเท่านั้นบินไปทางทิศนั้นฉันใด ภิกษุนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่มีความคิดปราศจากความอาลัย หลีกไป มุ่งมั่นแต่จะหลีกไปอย่างเดียว.
               บทว่า อริเยน แปลว่า ไม่มีโทษ. บทว่า อชฺฌตฺตํ แปลว่า ในอัตตภาพของตน. บทว่า อนวชฺชสุขํ แปลว่า สุขที่ไม่มีโทษ. บทว่า โส จกฺขุนา รูปํ ทิสฺวา ความว่า ภิกษุนั้น คือผู้ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอริยะนี้ เห็นรูปด้วยวิญญาณจักษุ.
               คำที่จะพึงกล่าวในบทที่เหลือทั้งหมดกล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค.
               บทว่า อพฺยาเสกสุขํ ได้แก่ สุขที่ไม่ระคนด้วยกิเลส. ท่านกล่าวว่า สุขที่ไม่คาบเกี่ยวด้วยกิเลสก็มี.
               จริงอยู่ สุขในอินทรียสังวรชื่อว่า ไม่คาบเกี่ยว เพราะเป็นไปด้วยอำนาจเพียงรูปที่เห็นแล้วในอารมณ์มีรูปที่เห็นแล้วเป็นต้น.
               บทว่า โส อภิกฺกนฺเต ปฏิกฺกนฺเต ความว่า ภิกษุนั้น คือผู้ประกอบด้วยการสำรวมอินทรีย์มีใจเป็นที่ ๖ เป็นผู้มีปกติกระทำด้วยความรู้ตัวด้วยสติและสัมปชัญญะ ในฐานะทั้ง ๗ นี้มีการก้าวไปและการถอยกลับเป็นต้น. คำที่จะพึงกล่าวในข้อนั้นได้กล่าวไว้แล้วในสติปัฏฐานสูตรนั่นแล.
               ด้วยคำว่า โส อิมินา จ เป็นต้น ท่านแสดงไว้อย่างไร. ท่านแสดงถึงปัจจัยสมบัติแห่งการอยู่ป่า.
               จริงอยู่ การอยู่ป่าของผู้ที่ไม่มีปัจจัยเหล่านี้ย่อมไม่สำเร็จ จะถูกค่อนว่าเหมือนกับสัตว์ดิรัจฉานหรือพรานไพร. เหล่าเทวดาผู้สิงอยู่ในป่าช่วยกันประกาศก้องด้วยเสียงที่น่ากลัวว่า ภิกษุชั่วเห็นปานนี้อยู่ป่าไปทำไม เอามือตีศีรษะ กระทำอาการให้หนีไป. ความไม่มีเกียรติยศก็แพร่ไปว่า ภิกษุโน้นเข้าไปป่ากระทำกรรมชั่วเช่นนี้.
               แต่การอยู่ป่าของภิกษุผู้ที่มีปัจจัย ๔ เหล่านั้นย่อมสำเร็จ. แท้จริงเธอเมื่อพิจารณาถึงศีลของตนอยู่ไม่เห็นความด่างพร้อยไรๆ ก็ทำให้เกิดปีติ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นโดยความสิ้นไป ย่อมก้าวลงสู่อริยภูมิ. เหล่าเทวดาผู้สิงอยู่ในป่าดีใจก็สรรเสริญ. เกียรติยศของภิกษุนั้นย่อมแผ่ออกไป เหมือนหยาดน้ำมันงาที่ใส่ลงในน้ำฉะนั้นด้วยประการฉะนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิวิตฺตํ แปลว่า ว่าง. อธิบายว่า ไม่มีเสียงคือไร้เสียง. ก็ท่านหมายเอาคำนี้เอง จึงกล่าวไว้ในวิภังค์ว่า บทว่า วิวิตฺตํ ความว่า แม้หากว่า เสนาสนะมีในที่ใกล้ไซร้ และเสนาสนะนั้นไม่เกลื่อนด้วยคฤหัสถ์แลบรรพชิต เพราะฉะนั้น เสนาสนะนั้น ชื่อว่าวิวิตตะ.
               ชื่อว่าเสนาสนะ เพราะเป็นที่นอนและเป็นที่นั่ง คำนั่นเป็นชื่อของเตียงและตั่งเป็นต้น. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า บทว่า เสนาสนะ ได้แก่เสนาสนะคือที่นอน ที่นั่ง ตั่ง ฟูก หมอน วิหาร เพิง ปราสาท เรือนแถว ถ้ำ ป้อม ศาลา ที่เร้น พุ่มไผ่ โคนไม้ มณฑป อันเป็นที่ที่ภิกษุต้องอาศัยทั้งหมดนั่น จัดเป็นเสนาสนะ.
               อนึ่ง วิหาร เพิง ปราสาท เรือนแถว ถ้ำ นี้ชื่อว่าวิหารเสนาสนะ เสนาสนะ คือที่อยู่ เตียง ตั่ง ฟูก หมอน นี้ชื่อว่ามัญจปีฐเสนาสนะ แผงจาก ท่อนหนัง เครื่องลาดทำด้วยหญ้า เครื่องลาดทำด้วยใบไม้ นี้ชื่อว่าสันถตเสนาสนะ เสนาสนะคือสันถัต อันเป็นที่ที่ภิกษุอาศัย นี้ชื่อว่าโอกาสเสนาสนะ เสนาสนะคือที่ว่าง รวมทั้ง ๔ ดังว่ามานี้ จัดเป็นเสนาสนะ. เสนาสนะนั้นทั้งหมด ท่านรวมความไว้ด้วยศัพท์ว่า เสนาสนะเหมือนกัน.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงเสนาสนะอันสมควรแก่ภิกษุผู้จาริกไปในทิศทั้ง ๔ ซึ่งเสมือนนกนี้ จึงตรัสคำว่า อรญฺญํ รุกฺขมูลํ ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อรญฺญํ ได้แก่ ที่ทั้งหมดนอกเสาเขื่อนออกไปนั่นชื่อว่าป่า. ข้อนี้มาโดยเรื่องสองเหล่าภิกษุณี. เสนาสนะชั่ว ๕๐๐ ลูกธนูเป็นที่สุดชื่อว่าเสนาสนะป่า ก็เสนาสนะป่านี้สมควรแก่ภิกษุนี้. ลักษณะของเสนาสนะนั่นกล่าวไว้แล้วในธุดงคนิเทศ ในวิสุทธิมรรค.
               บทว่า รุกฺขมูลํ ได้แก่ โคนต้นไม้อันสงัดมีร่มเงาเย็นแห่งใดแห่งหนึ่ง.
               บทว่า ปพฺพตํ แปลว่า ภูเขาสิลา. จริงอยู่ เมื่อภิกษุใช้น้ำที่แอ่งน้ำที่ภูเขาศิลานั้น นั่ง ณ ร่มเงาของต้นไม้อันเย็น ต้องลมเย็นที่โชยมาในทิศต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ จิตก็มีอารมณ์เป็นอันเดียว.
               น้ำท่านเรียกว่า กํ ในคำว่า กนฺทรํ ที่อันน้ำกัด ที่อันน้ำเซาะ ได้แก่ประเทศแห่งภูเขา ที่อาจารย์บางพวกเรียกว่า นทีตุมพะบ้าง นทีกุฏฏะบ้าง. แท้จริงในประเทศแห่งภูเขานั้นมีทรายเสมือนแผ่นเงิน น้ำเสมือนแท่งแก้วมณี ย่อมไหลผ่านชัฏแห่งป่าเหมือนเพดานแก้วมณีบนยอด ภิกษุลงสู่ห้วยละหานเห็นปานนั้น ดื่มน้ำ ลูบตัวให้เย็น ยกทรายขึ้น ปูผ้าบังสกุลจีวรนั่งทำสมณธรรม จิตก็มีอารมณ์เดียว.
               บทว่า คิริคุหํ ได้แก่ มีช่องใหญ่เช่นกับอุโมงค์ ระหว่างภูเขา ๒ ลูก หรือภูเขาลูกเดียวกัน. ลักษณะสุสานกล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค.
               บทว่า วนปตฺถํ ได้แก่ สถานที่ใกล้เคียงที่พวกมนุษย์ไม่ไถไม่หว่าน. ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ ท่านจึงกล่าวว่า วนปตฺถํ เป็นชื่อของเสนาสนะที่ห่างไกล.
               บทว่า อพฺโภกาสํ ได้แก่ ที่ไม่มุงบัง. แต่ภิกษุประสงค์ก็กั้นกลดอยู่ในที่นั้นได้.
               บทว่า ปลาลปุญชํ ได้แก่ ลอมฟาง.
               จริงอยู่ เหล่าภิกษุชักฟางจากลอมฟางใหญ่ ทำที่อยู่เสมือนเงื้อมภูเขาและที่เร้นวางฟางไว้ข้างพุ่มไม้เป็นต้น แล้วนั่งทำสมณธรรมภายใต้ ท่านหมายเอาลอมฟางนั้นจึงกล่าวคำนี้.
               บทว่า ปจฺฉาภฺตตํ คือ ภายหลังภัต.
               บทว่า ปิณฺฑปาตปฏิกฺกนฺโต แปลว่า กลับจากบิณฑบาต.
               บทว่า ปลฺลงฺกํ ได้แก่ นั่งพับขาโดยรอบ.
               บทว่า อาภุชิตฺวา แปลว่า ติดกัน.
               บทว่า อุชุํ กายํ ปณิธาย ได้แก่ ตั้งกายข้างบนให้ตรง เอาปลายกับปลายกระดูกสันหลัง ๑๘ ชิ้นให้จดกัน.
               จริงอยู่ ภิกษุนั่งอย่างนี้หนังเนื้อเอ็นไม่ขัดกัน เมื่อเป็นอย่างนั้นเวทนาทั้งหลายที่พึงเกิดทุกขณะ เพราะความขัดกันแห่งหนังเนื้อเอ็นเหล่านั้นเป็นปัจจัย ก็ไม่เกิดแก่ภิกษุนั้น เมื่อเวทนาเหล่านั้นไม่เกิดขึ้น จิตก็มีอารมณ์เดียว. กัมมัฏฐานก็ไม่ตกไป ก็เข้าถึงความเจริญงอกงาม.
               บทว่า ปริมุขํ สติ อุปฏฺฐเปตฺวา ความว่า ตั้งสติมุ่งตรงต่อพระกัมมัฏฐานหรือกระทำไว้ใกล้หน้า. ด้วยเหตุนั้นแล ท่านจึงกล่าวไว้ในวิภังค์ว่า สตินี้ย่อมตั้งมั่น ตั้งมั่นด้วยดีที่ปลายจมูกหรือเงาหน้า ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ตั้งสติไว้รอบหน้า.
               อีกอย่างหนึ่ง ศัพท์ว่า ปริ มีอรรถว่าถือเอาโดยรอบ. ศัพท์ว่า มุขํ มีอรรถว่านำออก. ศัพท์ว่า สติ มีอรรถว่าปรากฏ. ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปริมุขํ สตึ พึงเห็นความในคำนี้โดยนัยที่กล่าวมาแล้ว ในปฏิสัมภิทามรรคด้วยประการฉะนี้.
               ในคำนั้นมีความสังเขปดังนี้ว่า ปริคฺคหิตนิยฺยานํ สตึ กตฺวา ทำสติเครื่องนำออกจากทุกข์ที่กำหนดไว้เป็นอารมณ์.
               อุปาทานขันธ์ ๕ ชื่อว่าโลก ในคำว่า อภิชฺฌํ โลเก นี้ เพราะอรรถว่าชำรุดทรุดโทรม เพราะฉะนั้น ในคำนี้มีเนื้อความดังนี้ว่า ละราคะในอุปาทานขันธ์ ๕ ข่มกามฉันทะ.
               บทว่า วิคตาภิชฺเฌน ความว่า ชื่อว่าปราศจากอภิชฌา เพราะละด้วยวิกขัมภนปหานะ ไม่ใช่เสมือนจักขุวิญญาณ.
               บทว่า อภิชฺฌาย จิตฺตํ ปริโสเธติ ความว่า ย่อมเปลื้องจิตจากอภิชฌา คือกระทำโดยประการที่อภิชฌานั้นปล่อยและครั้นปล่อยแล้วก็ไม่จับจิตนั้นอีก.
               แม้ในคำว่า พฺยาปาทปโทสมฺปหาย ดังนี้เป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน. ชื่อว่าพยาปาทะ เพราะเป็นเครื่องเบียดเบียน คือ จิตละปกติเดิมเหมือนขนมกุมมาสบูดเป็นต้น. ชื่อว่าปโทสะ เพราะประทุษร้ายด้วยการให้ถึงวิการหรือประทุษร้าย ผู้อื่นให้พินาศ. คำทั้ง ๒ นี้เป็นชื่อของโกรธเหมือนกัน.
               ถีนะเป็นความป่วยทางจิต มิทธะเป็นความป่วยทางเจตสิก. ทั้งถีนะทั้งมิทธะ ชื่อว่าถีนมิทธะ.
               บทว่า อาโลกสญฺญี ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยปัญญาอันบริสุทธิ์ ปราศจากนีวรณ์ เพราะสามารถจำแสงสว่างที่ตนเห็นทั้งกลางคืนและกลางวันได้.
               บทว่า สโต สมฺปชาโน ได้แก่ ประกอบด้วยสติและญาณ (ปัญญา). ทั้ง ๒ นี้ ท่านกล่าวไว้ เพราะเป็นธรรมอุปการะแก่อาโลกสัญญา. ทั้งอุทธัจจะ ทั้งกุกกุจจะ ชื่อว่าอุทธัจจกุกกุจจะ.
               บทว่า ติณฺณวิจิกิจฺโฉ แปลว่า ข้ามพ้นความสงสัยได้แล้ว. ชื่อว่า อกถํกถี ผู้ไม่มีความสงสัยเป็นเหตุกล่าวว่า อย่างไร เพราะไม่เป็นไปอย่างนี้ว่า นี้เป็นอย่างไร.
               บทว่า กุสเลสุ ธมฺเมสุ ได้แก่ ธรรมไม่มีโทษ. อธิบายว่า ไม่สงสัยไม่เคลือบแคลงอย่างนี้ว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล หรือธรรมเหล่านี้จัดเป็นกุศลได้อย่างไร. ในข้อนี้มีความสังเขปดังนี้. แต่เมื่อว่าโดยแยกตามอรรถและลักษณะแห่งคำเป็นต้นในนีวรณ์เหล่านี้ คำที่ควรกล่าวทั้งหมดก็กล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค.
               บทว่า ปญฺญาย ทุพฺพลีกรเณ ความว่า นีวรณ์ ๕ เหล่านี้ เมื่อเกิดย่อมไม่ให้เกิดปัญญาทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระที่ยังไม่เกิด แม้ที่เกิดแล้วก็ตัดสมาบัติ ๘ อภิญญา ๕ ให้ขาดตกไป เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปญฺญาย ทุพพลีกรณา กระทำปัญญาให้อ่อนกำลัง.
               บทว่า ตถาคตปทํ อิติปิ ความว่า ทางคือญาณ ร่องรอยคือญาณของพระตถาคตแม้นี้ ท่านเรียกว่าฐานอันญาณเหยียบแล้ว.
               บทว่า ตถาคตนิเสวิตํ ได้แก่ ฐานอันสีข้างคือญาณของพระตถาคตสีแล้ว.
               บทว่า ตถาคตารญฺชิตํ ได้แก่ ฐานอันพระเขี้ยวแก้ว คือญาณของพระตถาคตกระทบแล้ว.
               บทว่า ยถาภูตํ ปชานาติ ได้แก่ ย่อมรู้ตามสภาวะความเป็นจริง.
               บทว่า น เตฺวว ตาว อริยสาวโก นิฏฺฐํ คโต โหติ ความว่า ฌานและอภิญญาเหล่านี้ย่อมทั่วไปแม้กับคนภายนอกพระศาสนา เพราะฉะนั้น พระอริยสาวกจึงไม่สำเร็จก่อน ที่ชื่อว่ายังไม่สำเร็จก่อนก็เพราะยังไม่สำเร็จแม้ในขณะแห่งมรรคจิต.
               บทว่า อปิจ โข นิฏฺฐํ คจฺฉติ ความว่า ก็อีกอย่างหนึ่งแล ในขณะแห่งมรรคจิตย่อมถึงความสำเร็จในรัตนะ ๓ โดยอาการนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระสัมมาสัมพุทธะหนอ เหมือนคนต่อช้างเห็นช้างใหญ่ฉะนั้น.
               บทว่า นิฏฺฐํ คโต โหติ ความว่า เมื่อถึงความสำเร็จในขณะแห่งมรรคจิตอย่างนี้ ย่อมถึงความสำเร็จในรัตนะ ๓ โดยอาการทั้งปวง เพราะมีกิจทั้งหมดเสร็จแล้วในขณะแห่งอรหัตตผลจิต.
               คำที่เหลือในที่ทุกแห่งมีความง่ายทั้งนั้น.


               จบอรรถกถาจุลลหัตถิปโทปมสูตรที่ ๗               
               --------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โอปัมมวรรค จูฬหัตถิปโทปมสูตร อุปมาด้วยรอยเท้าช้าง จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 312อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 329อ่านอรรถกถา 12 / 340อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=5763&Z=6041
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=2597
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=2597
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :