ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 488อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 493อ่านอรรถกถา 12 / 505อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬยมกวรรค
มหาเวทัลลสูตร การสนทนาธรรมที่ทำให้เกิดปีติ

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               คำว่า "ย่อมรู้ชัดด้วยตาคือปัญญา" คือ ย่อมรู้ด้วยปัญญาที่ชื่อว่าเป็นดวงตา เพราะอรรถว่าเป็นผู้นำทุกทางในการเห็น.
               ในคำว่า "ย่อมรู้ชัดด้วยตาคือปัญญา" นั้น ปัญญามี ๒ อย่าง คือ ปัญญาในสมาธิและปัญญาในวิปัสสนา. ย่อมรู้ชัดทั้งโดยหน้าที่ ทั้งโดยความไม่หลงลืม ด้วยปัญญาในสมาธิ. ท่านกล่าวความรู้โดยอารมณ์ด้วยการแทงลักษณะได้ทะลุด้วยปัญญาในวิปัสสนา.
               คำว่า "เพื่อต้องการอะไร" คือ อะไรเป็นความต้องการแห่งปัญญานี้.
               ในคำเป็นต้นว่า "มีความรู้ยิ่งเป็นที่ต้องการ" คือ ชื่อว่ามีความรู้ยิ่งเป็นที่ต้องการ เพราะย่อมรู้ยิ่งซึ่งสิ่งที่จะพึงรู้เป็นอย่างยิ่ง. ที่ชื่อว่ามีความกำหนดรู้เป็นที่ต้องการ เพราะย่อมกำหนดรู้สิ่งที่จะต้องกำหนดให้รู้. ชื่อว่ามีการละเป็นที่หมาย ก็เพราะย่อมละสิ่งที่จะต้องละ.
               ก็แล ปัญญานี้แม้ที่เป็นปัญญาแบบโลกๆ ก็มีความรู้ยิ่งเป็นที่ต้องการ มีความกำหนดรู้เป็นที่ประสงค์ และมีการละโดยการข่มไว้เป็นที่หมาย. ที่เป็นแบบอยู่เหนือโลก ก็มีความรู้ยิ่งเป็นที่ต้องการ มีความกำหนดรู้เป็นจุดประสงค์ และมีการละโดยการตัดขาดเป็นเป้าหมาย. ในปัญญาทั้งสองนั้น ปัญญาแบบโลกๆ ย่อมรู้ชัดทั้งโดยหน้าที่ ทั้งโดยความไม่หลงลืม ปัญญาที่อยู่เหนือโลกย่อมรู้ชัดโดยความไม่หลงลืม.
               คำว่า "อาศัยความเห็นที่ถูกต้อง" คือ อาศัยความเห็นที่ถูกต้องในวิปัสสนา และความเห็นที่ถูกต้องในมรรค. คำว่า "และเสียงจากผู้อื่น" คือ การฟังเสียงที่เป็นที่สบาย. คำว่า "ความเอาใจใส่อย่างมีเหตุผล" คือ เอาใจใส่ในอุบาย (วิธีการ) ของตน.
               แม้ในหมู่พระสาวกเหล่านั้นเล่า ปัจจัยทั้งสองย่อมควรได้แก่ท่านแม่ทัพธรรม (พระสารีบุตร) เท่านั้น. เพราะพระเถระถึงจะบำเพ็ญบารมีมาตั้งหนึ่งอสงไขยกำไรอีกแสนกัป ก็ยังไม่สามารถละกิเลสแม้แต่นิดเดียวโดยธรรมดาของตนได้. ต่อเมื่อได้ฟังคาถานี้จากพระอัสสชิเถระที่ขึ้นต้นว่า "สิ่งเหล่าใดมีเหตุเป็นแดนเกิด (=เกิดมาจากเหตุ)" จึงแทงทะลุได้.
               สำหรับเหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้าและเหล่าพระสัพพัญญูพุทธเจ้า ไม่มีงานเกี่ยวกับเสียงจากคนอื่น. ผู้ที่ดำรงอยู่ในความเอาใจใส่อย่างมีเหตุผลเท่านั้น จึงจะให้เกิดปัจเจกโพธิญาณและสัพพัญญูคุณทั้งหลายได้.
               คำว่า "อัน...ช่วยเกื้อหนุนแล้ว" คือ ได้รับอุปการะแล้ว.
               คำว่า "ความเห็นที่ถูกต้อง" คือ ความเห็นที่ถูกต้องในอรหัตตมรรค (ทางแห่งความเป็นพระอรหันต์) ความเห็นที่ถูกต้องในอรหัตตมรรคนั้นเกิดในขณะแห่งผล. ที่ชื่อว่า มีความเห็นหลุดพ้น เพราะจิตเป็นผล เพราะความหลุดพ้นเพราะปฏิบัติทางจิตเป็นผลของท่าน. ที่ชื่อว่ามีผลคือสิ่งที่ไหลออกมาจากความหลุดพ้นในทางจิตใจ เพราะผลคือสิ่งที่ไหลออกมากล่าวคือความหลุดพ้นในทางจิตใจของท่านมีอยู่. แม้ในบทที่สองก็ทำนองเดียวกันนี้แหละ. และพึงทราบว่าในผลเหล่านี้ผลที่ ๔ ชื่อว่าความหลุดพ้น เพราะความรู้ชัด สิ่งที่เหลือเป็นความหลุดพ้นเพราะจิตใจ. ในคำเป็นต้นว่า "อันศีลเกื้อหนุนแล้ว" ศีลอันมีความบริสุทธิ์ ๔ อย่างชื่อว่าศีล.
               คำว่า "การฟัง" คือ การฟังเรื่องราวอันเป็นที่สบาย (ถูกอารมณ์).
               คำว่า "สากัจฉา" ได้แก่ ถ้อยคำที่ตัดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในกัมมัฏฐาน.
               คำว่า "สมถะ (ความสงบ)" ได้แก่ สมาบัติ ๘ ที่มีวิปัสสนารองรับ.
               คำว่า "วิปัสสนา (ความเห็นแจ่มแจ้ง)" คือ การตามเห็น (อนุปัสสนา) ๗ อย่าง.
               ก็แหละ พระอรหัตตมรรคย่อมเกิดขึ้นแล้วให้ผลแก่ผู้ที่กำลังบำเพ็ญศีลอันมีความหมดจดสี่อย่าง ฟังเรื่องราวอันเป็นที่สบาย ตัดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในกัมมัฏฐาน ทำงานในสมาบัติแปดที่มีวิปัสสนารองรับ อบรมการตามพิจารณาเห็น ๗ อย่างอยู่. พึงทราบข้อเปรียบเทียบที่เหมือนอย่างคนที่อยากกินมะม่วงสุกหวาน ติดซุ้มน้ำไว้รอบลูกต้นมะม่วงอย่างมั่นคง, ถือหม้อน้ำรดน้ำเป็นบางครั้งบางคราว, สร้างคันเพื่อกันน้ำไม่ให้ไหลออกอย่างมั่นคง, เอาเถาวัลย์ที่อยู่ใกล้ๆ ท่อนไม้แห้งๆ รังมดแดงหรือใยแมงมุมออกไป, เอาจอบ (หรือเสียม) ไปขุดรอบๆ โคนเป็นบางเวลา, เมื่อเขาระแวดระวังทำเหตุครบ ๕ อย่างดังที่กล่าวมานี้อยู่ มะม่วงก็เจริญแล้วให้ผล.
               พึงเห็นศีลอันมีความหมดจดสี่อย่าง เหมือนการติดซุ้มรอบต้นไม้, การฟังเรื่องราว (ธรรม) เหมือนการรดน้ำเป็นบางเวลา, สมถะเหมือนการกระทำความมั่นคงด้วยคัน, การตัดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในกัมมัฏฐานเหมือนการเอาเถาวัลย์ที่อยู่ใกล้ๆ ออก, การอบรมปัญญาเครื่องตามพิจารณาเห็น ๗ อย่างเหมือนการเอาจอบมาขุดรอบๆ โคนเป็นบางเวลา, พึงทราบการให้ผลคือความเป็นพระอรหันต์เพราะความเข้าใจที่ถูกต้องซึ่งสิ่งห้าอย่างเหล่านี้ของภิกษุนี้ตามเกื้อหนุนแล้ว เหมือนเวลาต้นมะม่วงที่เหตุทั้งห้าอย่างเหล่านั้นตามเกื้อหนุนแล้วให้ผลหวานอร่อย ฉะนั้น.
               ท่านพระมหาโกฏฐิกเถระย่อมถามถึงอะไรในคำนี้ว่า "ผู้มีอายุก็แล ภพมีเท่าไร" พระเถระย่อมถามว่า "ความสืบต่อไปถึงรากทีเดียว คนโง่ย่อมไม่ขึ้นจากภพเหล่าใด ข้าพเจ้าจะขอถามถึงภพเหล่านั้น"
               ในภพเหล่านั้น คำว่า "กามภพ" เพราะพระเถระท่านรวมเอาสิ่งทั้งสองคือการกระทำที่เข้าถึงกามภพและขันธ์ที่ตัณหามานะและทิฏฐิยึดเอาไว้ ซึ่งเกิดขึ้นมาเพราะการกระทำเป็นอันเดียวกันแล้วจึงกล่าวว่า "กามภพ" แม้ในรูปภพและอรูปภพ ก็มีทำนองเดียวกันนี้แหละ.
               คำว่า "ต่อไป" ได้แก่ในอนาคต. การเกิดขึ้นในภพใหม่อีก ชื่อว่า "การเกิดขึ้นอย่างยิ่งในภพใหม่อีก" ในที่นี้ท่านถามถึงการเวียนว่ายตายเกิด.
               ความยินดีอย่างยิ่งในสิ่งนั้นๆ อย่างนี้คือ ความยินดีอย่างยิ่งในรูป ความยินดีอย่างยิ่งในเสียงเป็นต้น ชื่อว่า "ความยินดีอย่างยิ่งในสิ่งนั้นๆ" คำนี้เป็นปฐมาวิภัติ ลงในตติยาวิภัตินั่นเทียว จึงมีอธิบายว่า "การเกิดขึ้นในภพใหม่อีกย่อมมี เพราะความยินดีอย่างยิ่งในสิ่งนั้นๆ.
               ก็แล ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ ก็เป็นอันว่าพระเถระทำให้ความหมุนเวียน (แห่งชีวิต) ถึงที่สุดแล้วแสดงว่า "การไปมี, การมาก็มี การไปและการมาก็มี ความหมุนเวียนก็ย่อมหมุนไป" ดังนี้.
               บัดนี้ เมื่อจะถามถึงความเลิกหมุนเวียน พระมหาโกฏิฐิกเถระจึงได้กล่าวคำเป็นต้นว่า "ก็อย่างไร ท่านผู้มีอายุ" ในการตอบคำถามนั้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               คำว่า "เพราะสำรอกความไม่รู้" ได้แก่ เพราะความสิ้นไปและจืดจางแห่งความไม่รู้.
               คำว่า "เพราะเกิดความรู้ขึ้น" ได้แก่เพราะเกิดความรู้ในพระอรหัตตมรรค. อย่าไปกล่าวคำทั้งสองนี้ว่า "ความไม่รู้ดับก่อน หรือความรู้เกิดก่อน" เพราะเกิดความรู้ขึ้น ความไม่รู้จึงเป็นอันดับไปโดยแท้ เหมือนความมืดหายไป เพราะแสงโพลงของตะเกียง.
               คำว่า "เพราะความทะยานอยากดับไปโดยไม่เหลือ" ได้แก่ เพราะความดับไปโดยไม่เหลือ คือความสิ้นไปแห่งความทะยานอยาก.
               คำว่า "ไม่มีความเกิดขึ้นในภพใหม่อีก" คือ ความเกิดขึ้นแห่งภพใหม่อีกต่อไปอย่างนี้ย่อมไม่มี, การไป การมา ทั้งการไปและการมาก็ย่อมไม่มี. วงกลม (ของชีวิต) ก็หยุดหมุนไปด้วยประการฉะนี้. ก็เป็นอันว่า พระเถระทำให้วงกลม (ของชีวิต) ถึงที่สุดแล้วแสดง.
               พระเถระย่อมถามถึงอะไรในคำนี้ว่า "ท่านผู้มีอายุ ก็เป็นไฉนเล่า?" ภิกษุผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน (คือทั้งเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ) ย่อมเข้านิโรธเป็นบางครั้งบางคราว. พระเถระย่อมถามว่า "ข้าพเจ้าขอถามฌานที่หนึ่งซึ่งมีนิโรธเป็นเครื่องรองรับของภิกษุนั้น"
               ในคำนี้ว่า "ผู้มีอายุ ก็แลฌานที่หนึ่งนี้" พระเถระย่อมถามถึงอะไร? ธรรมดาภิกษุผู้เข้านิโรธต้องเข้าใจถึงขอบเขตส่วนกำหนดองค์ว่า ฌานนี้มีองค์ห้า นี้มีองค์สี่ นี้มีองค์สาม นี้มีองค์สอง. พระเถระจึงถามว่า "ข้าพเจ้าจะขอถามถึงขอบเขตส่วนสำหรับกำหนดองค์.
               ในองค์เป็นต้นว่า "ความตรึก" (นี้) ความตรึกมีการยกขึ้น (คือยกอารมณ์ขึ้นสู่จิต หรือยกจิตขึ้นสู่อารมณ์) เป็นลักษณะ ความตรองมีการเคล้าคลึง (อารมณ์) เป็นลักษณะ, ความเอิบอิ่มมีการแผ่ไปเป็นลักษณะ. ความสบายมีความชื่นใจเป็นลักษณะ. ความที่จิตมีอารมณ์เดียวมีความไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะ. สิ่งทั้งห้าอย่างนี้ย่อมเป็นไปด้วยประการฉะนี้.
               ในคำว่า "ที่องค์นั้นละได้แล้ว" นี้ พระเถระย่อมถามถึงอะไร?
               ท่านถามว่า ธรรมดาภิกษุผู้จะเข้านิโรธต้องเข้าใจองค์ที่เป็นอุปการะและที่ไม่ใช่เป็นอุปการะ ข้าพเจ้าจะขอถามองค์เหล่านั้น.
               สำหรับคำตอบในคำถามนี้ปรากฏแล้วแลด้วยประการฉะนี้ ก็เป็นอันว่าท่านได้ถือเอาฌานที่หนึ่งซึ่งมีนิโรธเป็นที่รองรับไว้ในชั้นล่างแล้ว พระเถระจึงจะถามการเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ อันเป็นอนันตรปัจจัยแห่งฌานที่หนึ่งนั้นในชั้นบน. ก็แลสมาบัติทั้ง ๖ ในระหว่างแห่งเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น พึงทราบว่าท่านได้ย่อไว้ หรือท่านชี้นัยแก้ไว้แล้ว.
               บัดนี้ เมื่อจะถามประสาททั้งห้าที่อาศัยวิญญาณ พระมหาโกฏฐิกเถระจึงกล่าวว่า "ผู้มีอายุ ห้าเหล่านี้" เป็นต้น.
               ในคำเหล่านั้น คำว่า "โคจรวิสัย" คือ วิสัยอันเป็นโคจร.
               คำว่า "ของกันและกัน" ได้แก่ ไม่ยอมเสวยเฉพาะโคจรวิสัย (อารมณ์เป็นที่เที่ยวไป) ของแต่ละอย่างๆ อย่างนี้ คือ หู (รับอารมณ์ได้ทั้ง) ของตาและของหู หรือ (รับอารมณ์) ของตา. หากรวมเอาอารมณ์ที่เป็นรูปต่างด้วยสีเขียวเป็นต้น แล้วโอนไปให้อินทรีย์คือหูแล้วพูดว่า "เอ้า...แกลองกำหนดมันก่อนซิ...ลองว่าให้แจ่มแจ้งมาซิว่า นี้มันชื่ออารมณ์อะไร" ถึงวิญญาณทางตาก็เถอะ ยกปากออกแล้ว มันก็จะพึงพูดตามธรรมดาของตนอย่างนี้ว่า "เฮ้ย...ไอ้บอดแล้วโง่ด้วย ต่อให้มึงวิ่งวนอยู่ตั้งร้อยปีพันปีก็เถอะ นอกจากกูแล้ว มึงจะได้ผู้รู้จักสิ่งนี้ที่ไหน เอามันมาน้อมใส่ในประสาทตาซิ กูจะรู้จักอารมณ์นั้น ไม่ว่ามันจะเขียวหรือเหลือง นั่นมันไม่ใช่วิสัยของผู้อื่นเลย มันต้องเป็นวิสัยของกูเท่านั้น"
               แม้ในทวารที่เหลือ ก็มีนัยอย่างเดียวกันนี้แล.
               อย่างนี้ชื่อว่าอินทรีย์ เหล่านี้ไม่ยอมรับเสวยโคจรวิสัยของกันและกัน.
               คำว่า "อะไรเป็นที่พึ่งอาศัย" ได้แก่ ท่านถามว่า "อะไรเป็นที่พึ่งอาศัยของอินทรีย์เหล่านี้ คืออินทรีย์เหล่านี้อาศัยอะไร."
               คำว่า "มีใจเป็นที่พึ่งอาศัย" ได้แก่ มีใจเป็นที่แล่นไป (เสพอารมณ์ หรือทำกรรม) เป็นที่พึ่งอาศัย.
               คำว่า "ใจนั่นแหละ...ของ...เหล่านั้น" ได้แก่ ใจที่แล่นไปตามมโนทวาร หรือใจที่แล่นไปทางทวารทั้งห้า ย่อมเสวยโคจรวิสัยแห่งอินทรีย์เหล่านั้น ด้วยอำนาจความกำหนัดเป็นต้น.
               จริงอยู่ ความรู้แจ้งในทางตา ย่อมเป็นสักแต่ว่าเห็นรูปเท่านั้น ไม่มีความกำหนัด ความคิดประทุษร้าย หรือความหลงในการเห็นรูปเป็นต้น แต่จิตที่แล่นไปในทวารนี้ต่างหาก ย่อมกำหนัด ย่อมประทุษร้าย หรือย่อมหลง.
               แม้ในความรู้แจ้งทางหูเป็นต้น ก็ทำนองเดียวกันนี้แหละ.
               ต่อไปนี้เป็นการเปรียบเทียบในเรื่องอินทรีย์เหล่านั้น คือ
               มีเรื่องเล่าว่า มีกำนันอ่อนแอ ๕ คนพากันซ่องเสพพระราชา แล้วก็ได้กำไรเล็กน้อยในหมู่บ้าน ๕ ตระกูลแห่งหนึ่งด้วยความยากลำบาก. ของเพียงเท่านี้แหละ คือปรับเป็นปลาหนึ่งส่วน เนื้อหนึ่งส่วน กหาปณะพอซื้อเชือกได้หนึ่งเส้น กหาปณะพอซื้อเชือกผูกช้างได้ ๑ เส้น สี่กหาปณะ แปดกหาปณะ สิบหกกหาปณะ สามสิบสองกหาปณะ หรือหกสิบสี่กหาปณะในหมู่บ้านนั้นย่อมถึงพวกกำนันเหล่านั้น. พระราชาเท่านั้นทรงรับพลีใหญ่โตเป็นหมวดสิ่งของร้อยสิ่ง ห้าร้อยสิ่ง พันสิ่ง.
               พึงทราบว่า ประสาททั้งห้าเหมือนหมู่บ้านห้าตระกูลในที่นั้น, ความรู้แจ้ง (วิญญาณ) ทั้งห้าเหมือนกำนันอ่อนแอห้าคน. การแล่นไปเสพอารมณ์ (ชวนะ) เหมือนพระราชา. หน้าที่แค่การเห็นรูปเป็นต้นแห่งความรู้แจ้งในทางตาเป็นต้น เหมือนกำนันอ่อนแอได้รับกำไรเล็กน้อย. ส่วนความกำหนัดเป็นต้นไม่มีในประสาทเหล่านี้. พึงทราบความกำหนัดเป็นต้นของจิตที่ทำหน้าที่แล่นไปเสพอารมณ์ในทวารเหล่านั้น เหมือนการรับพลีจำนวนมากของพระราชา.
               ในคำว่า "ห้าเหล่านี้ ผู้มีอายุ" นี้ พระเถระย่อมถามถึงอะไร ท่านถามถึงประสาททั้งห้าภายในนิโรธว่า สำหรับพวกสิ่งที่หารูปร่างไม่ได้ (นั้น) เมื่อความเป็นไปที่สำเร็จมาจากกิริยา (จิต) กำลังดำเนินไปอยู่ ก็จะเป็นปัจจัยที่เข้มแข็งแก่ประสาททั้งหลาย ก็ผู้ใดดับประสาทที่เป็นไปแล้วนั้นแล้วเข้านิโรธสมาบัติ ประสาททั้งห้าภายในนิโรธของผู้นั้นอาศัยอะไรจึงตั้งอยู่ได้ ข้าพเจ้าขอถามสิ่งนี้ด้วยประการฉะนี้.
               คำว่า "อาศัยอายุ" ได้แก่ อาศัยธรรมชาติที่เป็นใหญ่ทำหน้าที่เป็นอยู่ (ชีวิตินทรีย์) ตั้งอยู่.
               คำว่า "อาศัยไออุ่น" ได้แก่ สิ่งที่เป็นใหญ่ในการเป็นอยู่ อาศัยไฟที่เกิดจากกรรมตั้งอยู่. ก็เพราะแม้ไฟที่ผลิตมาจากกรรม เว้นสิ่งที่เป็นใหญ่ในการเป็นอยู่ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ ฉะนั้น ท่านจึงว่า ไออุ่นอาศัยอายุตั้งอยู่.
               คำว่า "ลุกไหม้อยู่" ได้แก่ โพลงอยู่.
               คำว่า "อาศัยเปลวไฟ" ได้แก่ อาศัยเปลวแสง.
               คำว่า "แสงย่อมปรากฏ" ได้แก่ แสงสว่างย่อมปรากฏ.
               คำว่า "เปลวไฟอาศัยแสง" ได้แก่ เปลวไฟอาศัยแสงสว่างจึงปรากฏ.
               ในคำว่า "ฉันนั้น นั่นแล ท่านผู้มีอายุ อายุย่อมอาศัยไออุ่นตั้งอยู่" นี้คือ ไฟที่เกิดจากกรรมเหมือนเปลวไฟ สิ่งที่เป็นใหญ่ในการเป็นอยู่เหมือนแสงสว่าง.
               จริงอยู่ เปลวไฟ เมื่อจะเกิดก็ถือเอาแสงสว่างนั่นแหละเกิดขึ้น. แม้เปลวไฟเองนั้นก็ย่อมเป็นของปรากฏเป็นเล็กใหญ่ยาวสั้นตามแสงสว่างที่ตนนั้นให้เกิดนั่นแหละ การใช้สิ่งที่เป็นใหญ่ในการเป็นอยู่ซึ่งเกิดพร้อมกับมหาภูตรูปที่เกิดจากกรรม ซึ่งอาศัยไออุ่น ตามรักษาไออุ่น ก็เหมือนความปรากฏแห่งความเป็นไปของเปลวไฟนั้นเอง เพราะแสงสว่างที่ความเป็นไปแห่งเปลวไฟในแสงสว่างนั้นให้เกิด.
               จริงอยู่ สิ่งที่เป็นใหญ่ในการเป็นอยู่ ย่อมรักษาไออุ่นที่เป็นไปอันเกิดจากกรรมไว้ สิบปีบ้าง ยี่สิบปีบ้าง ฯลฯ ร้อยปีบ้าง. ด้วยประการฉะนี้ มหาภูตรูปจึงเป็นปัจจัยด้วยอำนาจนิสสัยปัจจัยเป็นต้นแห่งรูปอาศัย. ฉะนั้น จึงเป็นอันว่า อายุย่อมอาศัยไออุ่นตั้งอยู่. ความเป็นใหญ่ในความเป็นอยู่ย่อมรักษามหาภูตรูปทั้งหลายไว้ ด้วยเหตุนี้ จึงควรเข้าใจว่า ไออุ่นย่อมอาศัยอายุตั้งอยู่.
               คำว่า "อายุสังขาร" ก็คือ อายุนั่นเอง.
               คำว่า "สิ่งที่มีความรู้สึก" คือ สิ่งที่เป็นเครื่องรู้สึก.
               คำว่า "การออกย่อมปรากฏ" คือ การออกจากสมาบัติก็ปรากฏ.
               จริงอยู่ ภิกษุใดเกิดพอใจในอรูปที่เป็นไปแล้ว จึงดับความรู้จำและความรู้สึกแล้วเข้าสู่นิโรธ สิ่งที่ไม่มีรูปร่างซึ่งมีสิ่งที่เป็นใหญ่ในการเป็นอยู่ของรูปเป็นปัจจัยก็เกิดแก่ภิกษุนั้นตามอำนาจเวลา ตามที่กะไว้ ส่วนสิ่งทั้งที่มีรูปและไม่มีรูปที่เป็นไปแล้วอย่างนั้นก็คงเป็นไป.
               เหมือนอะไร?
               เหมือนชายคนหนึ่งเกิดกลุ้มขึ้นมาในเพราะเปลวไฟที่เป็นไป จึงเอาน้ำมาสาด ทำให้เปลวไฟเลิกเป็นไป เอาขี้เถ้ามากลบถ่านไว้แล้วก็นั่งนิ่ง. เมื่อเขาอยากให้มีเปลวอีก ก็เขี่ยขี้เถ้าออกแล้วพลิกถ่านกลับ เติมเชื้อแล้วเป่าลมด้วยปาก หรือพัดลมด้วยก้านตาล (เอาพัดใบตาลพัด) ทีนั้นเปลวไฟที่เป็นไปก็เป็นไปอีกฉันใด,
               ฉันนั้นนั่นแล สิ่งที่ไม่มีรูปก็เหมือนเปลวไฟที่เป็นไป. การที่ภิกษุเกิดกลุ้มใจขึ้นมาในเพราะอรูป (ฌาน) ที่เป็นไปแล้วจึงดับความรู้จำและความรู้สึกเข้านิโรธ ก็เหมือนการที่คนเกิดรำคาญในเพราะเปลวไฟที่เป็นไปแล้ว จึงเอาน้ำมาสาดทำให้เปลวไฟเลิกเป็นไปเอาขี้เถ้ามากลบถ่านไว้แล้วนั่งนิ่ง. สิ่งที่เป็นใหญ่ในการเป็นอยู่ของรูปคือธาตุไฟที่เกิดจากกรรม ก็คงเป็นไปเหมือนกับถ่านที่เอาขี้เถ้ากลบไว้. การไปตามเวลาที่ภิกษุกะไว้ เหมือนกับการที่เมื่อคนต้องการเปลวไฟอีก เขี่ยขี้เถ้าเป็นต้นออกไป. ความเป็นไปของสิ่งที่มีรูปและไม่มีรูปในเมื่อสิ่งที่ไม่มีรูปเกิดขึ้นอีก พึงทราบว่าเหมือนความเป็นไปของแสงไฟ.
               คำว่า "อายุ ไออุ่นและวิญญาณ" หมายความว่า สิ่งสามอย่างเหล่านี้คือ สิ่งที่เป็นใหญ่ในการเป็นอยู่ของรูป ๑ ธาตุไฟที่เกิดจากกรรม ๑ จิต ๑ ละทิ้งรูปกายนี้เมื่อไร เมื่อนั้นก็ถูกทอดทิ้งนอนบนแผ่นดินเหมือนท่อนไม้ที่ไร้จิตใจฉะนั้น.
               สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างนี้ว่า
                         อายุ ไออุ่น และวิญญาณ ละร่างนี้ไปเมื่อใด
                         เมื่อนั้นก็ถูกทิ้งให้นอนอย่างไร้จิตใจ กลาย
                         เป็นอาหารของสัตว์อื่นไป.

               การหายใจเข้าและการหายใจออกชื่อว่า "เครื่องปรุงกาย" ความตรึกและความตรองชื่อว่า "เครื่องปรุงวาจา" ความรู้จำและความรู้สึกชื่อว่า "เครื่องปรุงจิต" ความเป็นใหญ่ในการเป็นอยู่ของรูปชื่อว่า "อายุ".
               คำว่า "แตกไปโดยรอบ" ได้แก่ ถูกกำจัด ฉิบหายแล้ว.
               ในเรื่องของนิโรธ (ความดับ) นั้น บางท่านกล่าวว่า จิตยังไม่ดับเพราะคำ (บาลี) ว่า "เครื่องปรุงจิตของผู้เข้านิโรธเท่านั้นที่ดับไป, ฉะนั้น จึงเป็นการเข้าถึงกายพร้อมกับจิต".
               พึงกล่าว (ค้าน) ท่านเหล่านั้นว่า "คำพูดก็ไม่ดับน่ะซี" เพราะคำ (บาลี) ว่า แม้เครื่องปรุงคำพูดของเธอก็ดับไปด้วย ฉะนั้น ผู้เข้านิโรธสมาบัติพึงนั่งกล่าวธรรมอยู่ก็ได้ พึงนั่งทำการท่องหนังสืออยู่ก็ได้ และจิตของผู้ที่ทำกาละตายไปแล้วก็พึงไม่ดับ เพราะคำ (บาลี) ว่า "แม้เครื่องปรุงจิตของเขาก็ดับไปแล้ว" ฉะนั้น ผู้เผาแม่พ่อหรือพระอรหันต์ที่ตายไปแล้ว ก็จะพึงเป็นผู้ทำอนันตริยกรรมน่ะซี".
               เพราะฉะนั้น อย่าไปทำความยึดมั่นในพยัญชนะ พึงตั้งอยู่ในแบบแผน (นัย) แล้วพิจารณาใจความให้รอบคอบ. จริงอยู่ ใจความเป็นหลักที่พึ่งอาศัย ไม่ใช่พยัญชนะ.
               คำว่า "อินทรีย์ทั้งหลายผ่องใสแล้ว" ความว่า จริงอยู่ เมื่อความเป็นไปที่สำเร็จมาจากกิริยาจิตกำลังเป็นไป เมื่ออารมณ์ภายนอกกำลังกระทบประสาท อินทรีย์ทั้งหลายย่อมเหนื่อยเป็นเหมือนกับถูกกระแทกถูกทำ เหมือนกับกระจกที่ตั้งไว้ในทางใหญ่สี่แยก ถูกละอองฝุ่นที่ฟุ้งขึ้นเพราะลมเป็นต้นทำให้แปดเปื้อนฉะนั้น. ประสาททั้งห้าที่อยู่ภายในนิโรธของภิกษุผู้เข้านิโรธ ย่อมรุ่งเรืองเหลือที่จะเปรียบ เหมือนกระจกที่ใส่ไว้ในถุงแล้วตั้งไว้ในตู้เป็นต้น ย่อมรุ่งเรืองในภายในนั่นเองฉันใด ก็ฉันนั้น. เพราะฉะนั้น พระสารีบุตรเถระจึงได้กล่าวว่า "อินทรีย์ทั้งหลายผ่องใสแล้ว".
               ในคำว่า "ผู้มีอายุ ก็ปัจจัยมีเท่าไร" พระมหาโกฏฐิกเถระย่อมถามถึงอะไร.
               ท่านย่อมถามว่า ข้าพเจ้าจะขอถามถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ อันเป็นอนันตรปัจจัยของนิโรธ. สำหรับในการแก้ปัญหานั้น พระสารีบุตรเถระได้กล่าวถึงปัจจัยที่ไปปราศไว้สี่อย่างว่า "และเพราะละสุขเสียได้" เป็นต้น.
               ในคำว่า "ไม่มีเครื่องหมาย" นี้ ท่านย่อมถามถึงอะไร.
               ท่านถามว่า ข้าพเจ้าจะขอถามถึงผลสมาบัติของผู้ออกจากนิโรธ. ก็แหละการออกจากสมาบัติที่เหลือย่อมมีเพราะภวังค์. ส่วนการออกจากนิโรธย่อมมีเพราะผลสมาบัติอันหลั่งไหลมาจากวิปัสสนา. ฉะนั้น พระเถระจึงถามถึงการออกจากนิโรธนั้นแล.
               คำว่า "มีเครื่องหมายทุกอย่าง" ได้แก่ อารมณ์ทั้งหมดมีรูปเป็นต้น.
               คำว่า "และการใส่ใจในธาตุที่ไม่มีเครื่องหมาย" ได้แก่ การใส่ใจในนิพพานธาตุที่ปราศจากเครื่องหมายทุกชนิด. พระเถระกล่าวหมายเอาความใส่ใจที่เกิดพร้อมกับผลสมาบัติด้วยประการฉะนี้. เป็นอันว่า ท่านถือเอาฌานที่หนึ่งที่มีนิโรธเป็นที่รองรับในชั้นล่างแล้ว, เนวสัญญานาสัญญายตนะที่เป็นอนันตรปัจจัยของนิโรธ ท่านก็ถือเอาแล้ว, ผลสมาบัติของผู้ออกจากนิโรธ ท่านก็ถือเอาในบทนี้แล้วแล.
               ในที่นี้พึงกล่าวถึง นิโรธกถา (ถ้อยคำว่าด้วยความดับ) นิโรธกถานั้นมาแล้วในปฏิสัมภิทามรรคอย่างนี้ว่า "ความรู้ชัดสำหรับใช้อบรมบ่มความชำนิชำนาญ ย่อมมีได้ด้วยความสงบ ระงับเครื่องปรุงแต่งทั้งสามอย่าง เพราะผู้ประกอบด้วยผลสองอย่าง ด้วยการดำเนินไปในความรู้ทั้งสิบหกอย่าง และการดำเนินไปในสมาธิเก้าอย่าง ความรู้ (ญาณ) ย่อมมีได้ด้วยการเข้านิโรธ"
               ส่วนคำวินิจฉัยทุกแง่ทุกมุมของนิโรธกถานั้น ท่านกล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค.
               บัดนี้ เมื่อจะถามถึงสมาบัติสำหรับใช้สอย พระเถระจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า "ผู้มีอายุ ก็แลปัจจัยมีเท่าไร" ก็ธรรมดาการหยุดของผลสมาบัติของผู้ออกจากนิโรธไม่มี.
               การหยุด (ฐิติ ได้แก่ฐิติขณะ) เป็นไปหนึ่งหรือสองวาระจิตเท่านั้น แล้วก็หยั่งลงสู่ภวังค์ สำหรับภิกษุที่นั่งดับสิ่งที่ไม่มีรูปที่เป็นไปแล้วตลอดเจ็ดวันนี้ จะตั้งอยู่ในผลสมาบัติของผู้ออกจากนิโรธได้ไม่นาน. แต่ในสมาบัติสำหรับใช้สอย การกำหนดเวลาเป็นเรื่องสำคัญแท้, ฉะนั้น ชื่อว่าการหยุดนั้นจึงย่อมมีได้.
               เพราะเหตุนั้น พระมหาโกฏฐิกเถระจึงกล่าวว่า "ด้วยการตั้งอยู่ (ฐิติ) แห่งผลสมาบัติที่ไม่มีเครื่องหมาย" หมายความว่า "ปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่ได้นานแห่งผลสมาบัตินั้นมีเท่าไร".
               ส่วนในการแก้ปัญหานั้น ท่านกล่าวถึงการกะเวลาว่า "และการปรุงแต่งอย่างยิ่งในกาลก่อน"
               พระมหาโกฏฐิกเถระถามถึงการออกจาภวังค์ในคำว่า "แห่งการออก" นี้.
               แม้ในการแก้ปัญหานั้น ท่านก็ได้กล่าวถึงความใส่ใจที่เกิดขึ้นพร้อมกับภวังค์ด้วยอำนาจเครื่องหมายมีรูปเป็นต้นว่า "และการใส่ใจเครื่องหมายทุกชนิด".
               ในคำว่า "ผู้มีอายุ...ก็แลนี้ใด" นี้ พระมหาโกฏฐิกเถระถามถึงอะไร.
               ท่านถามว่าในที่นี้ไม่มีข้อใหม่อย่างอื่น ข้าพเจ้าจะขอเอาสิ่งที่กล่าวเสร็จแล้วในหนหลังนั่นแหละมารวมเป็นอันเดียวกันแล้วจึงถาม.
               ก็แล สิ่งเหล่านี้ ท่านกล่าวไว้ที่ไหน ท่านกล่าวความหลุดพ้นทางใจที่ไม่มีขอบเขตจำกัดไว้ในที่นี้แลว่า "ย่อมจำสีเขียวก็ได้ ย่อมจำสีเหลือง สีแดง สีขาวก็ได้."
               ท่านกล่าวถึงความเป็นของว่างเปล่าในสูตรนี้ว่า "ย่อมรู้ชัดอากิญจัญญา" ในที่นี้ว่า พึงรู้อากิญจัญญายตนะที่บริกรรมว่า "ไม่มีอะไรๆ (หรืออะไรน้อยหนึ่งก็ไม่มี)" ด้วยตาคือความรู้ชัด.
               ท่านกล่าวถึงความหลุดพ้นทางใจที่ไม่มีเครื่องหมายในพระสูตรนี้ว่า "ผู้มีอายุ...ก็ปัจจัยของความหยุดอยู่ของการออกแห่งความหลุดพ้นทางใจซึ่งไม่มีเครื่องหมายมีเท่าไร".
               ท่านย่อมเอาสิ่งที่กล่าวเสร็จแล้วในหนหลังนั่นแหละมารวมเข้าเป็นอันเดียวกันในที่นี้ แล้วจึงถามอย่างนี้. เพราะกล่าวว่า "ก็และท่านใส่ความหลุดพ้นนั้นแล้วจึงแสดงความหลุดพ้นนี้ไว้ในที่นั้นๆ หรือ" จึงยังมีสิ่งเหล่าอื่นอีกสี่อย่างที่มีชื่ออย่างเดียวกัน. สิ่งอย่างเดียวกันมีชื่อถึง ๔ อย่างก็มี. ท่านจึงถามเพื่อให้ผู้ตอบทำสิ่งหนึ่งให้แจ่มแจ้งแล้วบอกในที่นี้.
               ในอรรถกถาท่านทำความตกลงใจดังนี้.
               คำในการตอบคำถามนั้นว่า "ผู้มีอายุ...นี้เรียกว่าความหลุดพ้นทางใจที่ไม่มีประมาณ (ไม่มีขอบเขตจำกัด)" คือ นี้ชื่อว่าความหลุดพ้นทางใจที่ไม่มีประมาณ เพราะไม่มีประมาณแห่งการแผ่ไป.
               จริงอยู่ ความหลุดพ้นทางใจที่ไม่มีประมาณนี้ ย่อมแผ่ไปในสัตว์ไม่จำกัดจำนวน หรือแผ่ไปในสัตว์หนึ่งจนถึงไม่มีสัตว์เหลืออยู่.
               คำว่า "ผู้มีอายุ...นี้เรียกว่าอากิญจัญญา" คือ ที่ชื่อว่าอากิญจัญญา เพราะไม่มีความกังวลในอารมณ์.
               คำว่า "หรือจากตน" คือ ว่างจากตน กล่าวคืออัตภาพบุรุษและบุคคลเป็นต้น.
               คำว่า "หรือจากของตน" ได้แก่ ว่างจากของตน กล่าวคือเครื่องเครามีจีวรเป็นต้น.
               คำว่า "ไม่มีเครื่องหมาย" ได้แก่ ชื่อว่าไม่มีเครื่องหมาย เพราะไม่มีเครื่องหมายมีความกำหนัดเป็นต้น. พระเถระกล่าวหมายเอาการเข้าถึงอรหัตตผล.
               คำว่า "ใจความก็ต่างกัน และ พยัญชนะก็ต่างกัน" ได้แก่ ทั้งพยัญชนะทั้งใจความของสิ่งเหล่านั้นแตกต่างกัน. ในความแตกต่างกันเหล่านั้น ความแตกต่างกันแห่งพยัญชนะแจ่มแจ้งแล้ว.
               ส่วนใจความ คือความหลุดพ้นทางใจที่ไม่จำกัดจำนวน (อปฺปมาณา เจโตวิมุตฺติ) เป็นมหัคคตะ. เป็นรูปาวจรโดยภูมิ แต่โดยอารมณ์มีสัตว์บัญญัติเป็นอารมณ์. อากิญจัญญาโดยภูมิเป็นอรูปาวจร โดยอารมณ์มีอารมณ์ที่ไม่พึงกล่าว. ความเป็นของว่าง (สุญฺตา) โดยภูมิเป็นกามาวจร โดยอารมณ์มีสังขารเป็นอารมณ์.
               สำหรับในที่นี้ท่านหมายเอาวิปัสสนาว่า ความเป็นของว่าง. ความไม่มีนิมิต (อนิมิตฺตา) โดยภูมิเป็นโลกุตตระ โดยอารมณ์มีพระนิพพานเป็นอารมณ์.
               ในคำเป็นต้นว่า "ผู้มีอายุ ความกำหนัดแล เป็นสิ่งทำความประมาณ" ท่านกล่าวสิ่งที่ทำความประมาณไว้ว่า "เหมือนอย่างว่าที่เชิงเขามีน้ำเน่าสิบห้าชนิด เป็นน้ำมีสีดำปรากฏราวกับว่าลึกตั้งร้อยวาแก่ผู้มองดู ไม่มีแม้แค่ท่วมหลังเท้าของผู้เอาไม้เท้าหรือเชือกวัดอยู่ฉันใด
               ฉันนั้นเหมือนกัน กิเลสมีความกำหนัดเป็นต้นยังไม่เกิดขึ้นตราบใด ตราบนั้นก็ไม่มีใครสามารถรู้จักบุคคลได้ ต่างก็ปรากฏเหมือนพระโสดาบัน เหมือนพระสกทาคามี และเหมือนพระอนาคามี. ต่อเมื่อความกำหนัดเป็นต้นเกิดขึ้นแก่เขา จึงปรากฏออกมาว่า เป็นผู้กำหนัด ผู้ดุร้าย ผู้หลง. ความกำหนัดเป็นต้นเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นแสดงประมาณของบุคคลว่า "คนนี้เพียงเท่านี้" ดังที่ว่ามานี้.
               คำว่า "ผู้มีอายุ ความหลุดพ้นทางใจที่มีสัตว์อันบุคคลพึงประมาณไม่ได้ มีประมาณเท่าใดแล" คือความหลุดพ้นทางใจที่ไม่มีประมาณมีประมาณเพียงใด ก็แลการหลุดพ้นทางใจที่ไม่มีประมาณเหล่านั้นมีเท่าไร มี ๑๒ อย่าง คือ พรหมวิหาร ๔ มรรค ๔ ผล ๔.
               ใน ๑๒ อย่างนั้น พรหมวิหารชื่อว่าไม่มีประมาณ เพราะความที่การแผ่ไปไม่มีประมาณ ที่เหลือชื่อว่าไม่มีประมาณ เพราะไม่มีกิเลสเครื่องทำประมาณ. แม้พระนิพพานก็ประมาณไม่ได้เหมือนกัน. ส่วนความหลุดพ้นทางใจไม่มี (ในพระนิพพานนั้น) ฉะนั้น ท่านจึงไม่จัดเข้า.
               คำว่า "ไม่กำเริบ" หมายเอาความหลุดพ้นทางใจคือพระอรหัตตผล.
               ก็แล ความหลุดพ้นทางใจคือพระอรหัตตผลนั้นเป็นใหญ่กว่าอะไรๆ หมด. ฉะนั้น ท่านจึงว่า "อันท่านย่อมกล่าวว่าเป็นเลิศ"
               คำว่า "ผู้มีอายุ ความกำหนัดแลเป็นตัวเบียดเบียน" คือ ความกำหนัด แม้เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมเบียดเบียน ย่ำยี รบกวนบุคคล ฉะนั้น ท่านจึงว่าเป็นตัวเบียดเบียน (ตัวก่อให้เกิดความกังวล, ความยุ่ง).
               เล่ากันมาว่า พวกคนกำลังพากันเอาวัวนวดลานข้าวอยู่ ต่างพากันพูดว่า "ไอ้ดำ..เบียดเข้าไป เบียดไอ้แดงเข้าไป" พึงทราบอรรถว่าย่ำยี อรรถว่าเบียดเบียน ดังที่ว่ามานี้.
               แม้ในความประทุษร้ายและความหลง ก็มีทำนองเดียวกันนี้เหมือนกัน.
               สิ่งเก้าอย่างคือ อากิญจัญญายตนะ ๑ มรรคและผลอย่างละหนึ่งๆ (รวมเป็นแปด) ชื่ออากิญจัญญาเจโตวิมุตติ.
               ใน ๙ อย่างนั้น อากิญจัญญายตนะ ชื่ออากิญจัญญา เพราะไม่มีอารมณ์ที่ก่อให้เกิดความกังวล (ความเบียดเบียน, ความย่ำยี, ความรบกวน, ความยุ่งยาก, หรือน้อยหนึ่ง, อะไรๆ น้อยหนึ่ง) แก่ใจ.
               มรรค (๔) และผล (๔) ชื่ออากิญจัญญา เพราะไม่มีความเบียดเบียน คือเพราะความไม่มีกิเลสเครื่องย่ำยีและเครื่องก่อให้เกิดความกังวล. แม้พระนิพพานก็เป็นอากิญจัญญา แต่ไม่มีความหลุดพ้นแห่งใจ (เพราะใจไม่มีในพระนิพพาน พระนิพพานไม่มีใจ) เพราะฉะนั้น จึงไม่จัดเข้า.
               ในคำว่า "ผู้มีอายุ ความกำหนัดแลเป็นเครื่องทำเครื่องหมาย" เป็นต้น ความว่า เมื่อความกำหนัดยังไม่เกิดตราบใด ตราบนั้น ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่าเป็นอริยะหรือเป็นปุถุชน.
               ก็แลความกำหนัดเมื่อจะเกิดขึ้นก็เกิดขึ้น เหมือนกำลังทำเครื่องหมายสำหรับจำได้ว่า "บุคคลนี้ ชื่อว่าผู้มีความกำหนัด" เพราะฉะนั้น ท่านจึงว่า "เป็นเครื่องทำเครื่องหมาย เหมือนลูกวัว ๒ ตัวที่เหมือนกันของ ๒ ตระกูล ตราบเท่าที่ยังไม่ได้ทำเครื่องหมายแก่ลูกวัวทั้ง ๒ ตัวนั้น ก็ย่อมไม่มีใครที่สามารถรู้ได้ว่า "นี้เป็นลูกวัวของตระกูลโน้น นี้ของตระกูลโน้น" แต่เมื่อใดเอาเหล็กแหลมที่ปลายหอกเป็นต้นมาทำเครื่องหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็มีผู้สามารถรู้ได้ฉันใด ก็ฉันนั้นเหมือนกัน. แม้ในความดุร้ายและความหลง ก็มีทำนองอย่างเดียวกันนี้เหมือนกัน.
               วิปัสสนา ๑ อรูป ๔ มรรค ๔ และผล ๔ รวมเป็น ๑๓ สิ่ง (นี้) ชื่อว่า "ความหลุดพ้นแห่งใจที่ไม่มีอะไรเป็นเครื่องหมาย".
               ในสิบสามสิ่งนั้น วิปัสสนาชื่อว่าไม่มีอะไรเป็นเครื่องหมาย ก็เพราะเพิกถอนเครื่องหมายว่าเที่ยง เครื่องหมายว่าสุข เครื่องหมายว่าตัวตนเสียได้.
               อรูป ๔ ชื่อว่าไม่มีอะไรเป็นเครื่องหมาย เพราะไม่มีรูปเป็นเครื่องหมาย.
               มรรคผล ชื่อว่าไม่มีอะไรเป็นเครื่องหมายก็เพราะไม่มีกิเลสที่เป็นเครื่องทำเครื่องหมาย.
               แม้พระนิพพานก็ไม่มีอะไรเป็นเครื่องหมายเหมือนกัน แต่พระนิพพานนั้นไม่เป็นความหลุดพ้นแห่งใจ เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่ได้จัดเข้าไว้.
               แล้วทำไมจึงไม่จัดความหลุดพ้นแห่งใจชนิดที่เป็นของว่างไว้ด้วยเล่า ความหลุดพ้นแห่งใจที่เป็นของว่างนั้น ชื่อว่าไม่เข้าไปในกิเลสทุกชนิดเลย เพราะคำ (บาลี) เป็นต้นว่า "ว่างจากความกำหนัด" เพราะฉะนั้นจึงไม่จัดเข้าไว้เป็นแผนกหนึ่งต่างหาก.
               คำว่า "มีใจความเป็นอันเดียวกัน" ได้แก่ และด้วยอำนาจอารมณ์ ก็มีใจความเป็นอันเดียวกัน. ก็แล คำทั้งหมดนี้คือ "ไม่มีประมาณ, ความเป็นของไม่มีเครื่องกังวล, ความเป็นของว่าง,ไม่มีอะไรเป็นเครื่องหมาย" เป็นชื่อของพระนิพพานทั้งนั้น.
               จึงเป็นอันสรุปได้ว่า ก็แลตามแบบนี้ความหลุดพ้นแห่งใจที่ไม่มีประมาณในที่อื่น ความเป็นของไม่มีเครื่องกังวลในที่อื่น ความหลุดพ้นแห่งใจที่ไม่มีอะไรเป็นเครื่องหมายในที่อื่น (ทั้งหมดนั้นล้วนแต่) มีใจความเป็นอันเดียวกัน, ตามแบบนี้ ต่างกันแต่พยัญชนะ (เท่านั้น).
               พระเถระจบเทศนาลงตามอนุสนธิแท้ ดังที่ได้แสดงมาด้วยประการฉะนี้แล.


               จบอรรถกถามหาเวทัลลสูตรที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬยมกวรรค มหาเวทัลลสูตร การสนทนาธรรมที่ทำให้เกิดปีติ จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 488อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 493อ่านอรรถกถา 12 / 505อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=9220&Z=9419
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=6197
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=6197
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :