ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 403อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 423อ่านอรรถกถา 13 / 452อ่านอรรถกถา 13 / 734
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ราชวรรค
รัฐปาลสูตร

               อรรถกถารัฏฐปาลสูตร               
               รัฏฐปาลสูตรเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
               พึงทราบวินิจฉัยในรัฏฐปาลสูตรนั้น ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ถุลฺลโกฏฺฐิตํ ได้แก่ แน่นยุ้ง คือเต็มเปี่ยมเรือนยุ้ง.
               ได้ยินว่า ชนบทนั้นมีข้าวกล้าเป็นนิตย์ คือเมล็ดข้าวออกไปเข้าลานทุกเมื่อ. ด้วยเหตุนั้น ในนิคมนั้น ยุ้งทั้งหลายจึงเต็มอยู่เป็นนิตย์ เพราะฉะนั้น ชนบทนั้นจึงนับได้ว่า ถุลลโกฏฐิตะ แปลว่า มีข้าวแน่นยุ้งทีเดียว.
               เหตุไร ท่านพระรัฐปาลจึงชื่อว่ารัฐปาละ.
               ที่ชื่อว่ารัฐปาละ เพราะเป็นผู้สามารถดำรงรักษารัฐที่แบ่งแยกได้.
               ถามว่า ชื่อของท่านพระรัฐปาละนั้น เกิดขึ้นเมื่อไร.
               ตอบว่า เมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ.
               จริงอยู่ ปลาย ๑๐๐,๐๐๐ กัปก่อนแต่กัปนี้ มนุษย์มีอายุ ๑๐๐,๐๐๐ ปี พระศาสดาพระนามว่าปทุมุตตระอุบัติขึ้นมีภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูปเป็นบริวาร เสด็จจาริกเพื่อโปรดโลก
               ที่ท่านหมายเอากล่าวไว้ว่า๑-
                         พระศาสดาพระนามว่าปทุมุตตระ มีพระชนกพระนามว่า
                         พระเจ้าอานันทะ พระชนนีพระนามว่า พระนางสุชาดา
                         ณ นครหงสวดี.

____________________________
๑- ขุ. พุทฺธ. เล่ม ๓๓.๒/ข้อ ๑๑

               ครั้นพระปทุมุตตรพุทธเจ้ายังไม่ทรงอุบัติ. กุฎุมพีสองคนแห่งกรุงหงสวดีมีศรัทธาเลื่อมใส ตั้งโรงทานสำหรับคนเข็ญใจ คนเดินทางและยาจกเป็นต้น. ครั้งนั้น ดาบส ๕๐๐ ตนผู้อยู่ในภูเขา มาถึงกรุงหงสวดี. คนทั้งสองนั้นก็แบ่งดาบส คนละครึ่งบำรุงกัน. ดาบสทั้งหลายอยู่ชั่วเวลานิดหน่อย ก็กลับไปยังภูเขา. พระสังฆเถระทั้งสองก็แยกย้ายไป.
               ครั้งนั้น กุฎุมพีทั้งสองนั้นก็ทำการบำรุงดาบสเหล่านั้นจนตลอดชีวิต. เมื่อเหล่าดาบสบริโภคแล้วอนุโมทนา รูปหนึ่งกล่าวพรรณนาคุณของภพท้าวสักกะ รูปหนึ่งพรรณนาคุณภพของนาคราช เจ้าแผ่นดิน. บรรดากุฎุมพีทั้งสอง คนหนึ่งปรารถนาภพท้าวสักกะก็บังเกิดเป็นท้าวสักกะ. คนหนึ่งปรารถนาภพนาคก็เป็นนาคราชชื่อปาลิตะ. ท้าวสักกะเห็นนาคนั้นมายังทีบำรุงของตน จึงถามว่าท่านยังยินดียิ่งในกำเนิดนาคอยู่หรือ. ปาลิตะนาคราชนั้นตอบว่า เราไม่ยินดีดอก.
               ท้าวสักกะบอกว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านจงถวายทานแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าปทุมุตตระสิ แล้วทำความปรารถนาจะอยู่ในที่นี้ เราทั้งสองจะอยู่เป็นสุข. นาคราชนิมนต์พระศาสดามา ถวายมหาทาน ๗ วันแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งมีภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูปเป็นบริวาร เห็นสามเณรโอรสของพระปทุมุตตรทศพล ชื่ออุปเรวตะ วันที่ ๗ ถวายผ้าทิพย์แด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข จึงปรารถนาตำแหน่งของสามเณร.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูอนาคตกาล ทรงเห็นว่าเขาจักเป็นราหุลกุมาร โอรสของพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคตมะ ในอนาคตกาล จึงตรัสว่าความปรารถนาของท่านจักสำเร็จ. นาคราชก็บอกความนั้นแก่ท้าวสักกะ. ท้าวสักกะฟังแล้วก็ถวายทาน ๗ วันอย่างนั้นเหมือนกัน เห็นกุลบุตรชื่อรัฐปาละผู้ธำรงรัฐที่แบ่งแยกกัน แล้วบวชด้วยศรัทธา จึงตั้งความปรารถนาว่า ในอนาคตกาล เมื่อพระพุทธเจ้าเช่นพระองค์อุบัติในโลก แม้ข้าพระองค์ก็บังเกิดในตระกูลที่สามารถธำรงรักษารัฐที่แบ่งแยกกัน พึงมีชื่อว่ารัฐปาละ ผู้บวชด้วยศรัทธาเหมือนกุลบุตรผู้นี้.
               พระศาสดาทรงทราบว่าความปรารถนาสำเร็จ จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
                         ตระกูลใดชื่อตระกูลรัฐปาละ จักมีอยู่เพื่อเลี้ยง
                         คนสี่วรรณะ พร้อมทั้งพระราชา กุลบุตรผู้นี้จัก
                         เกิดในตระกูลนั้น.
               พึงทราบว่าชื่อนี้ ของท่านพระรัฐปาละนั้นเกิดขึ้น ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า เอตทโหสิ ความว่า ความคิดอะไรๆ ว่า ยถา ยถา โข เป็นต้นได้มีแล้ว.
               คำสังเขปในคำนั้นมีดังนี้.
               เราแลรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วด้วยเหตุใดๆ ก็เป็นอันเราพิจารณาใคร่ครวญแล้ว ด้วยเหตุนั้นๆ อย่างนี้ว่า พรหมจรรย์คือสิกขา ๓ นั้นใด เราพึงประพฤติให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียว เพราะทำไม่ให้ขาดแม้วันหนึ่ง ให้ถึงจริมกจิต และพึงประพฤติให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดังสังข์ขัด เช่นกับสังข์ที่ขัดสีแล้ว ได้แก่เทียบกับสังข์ที่ชำระแล้ว เพราะทำให้ไม่มีมลทิน โดยมลทินคือกิเลสแม้ในวันหนึ่ง แล้วให้ถึงจริมกจิต.
               บทว่า อิทํ น สุกรํ อคารํ อชฺฌาวสตา ความว่า พรหมจรรย์นั้นอันผู้อยู่ท่ามกลางเรือนประพฤติให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ฯลฯ กระทำไม่ได้ง่ายเลย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวดห่มผ้าอันเหมาะแก่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ที่ชื่อว่า กาสายะ เพราะย้อมด้วยน้ำฝาด. ออกจากเรือนบวชไม่มีเรือน.
               บทว่า อจิรปกฺกนฺเตสุ ถุลฺลโกฏฺฐิตเกสุ พฺราหฺมณคหปติเกสุ เยน ภควา เตนูปสงฺกมิ ความว่า ในเมื่อพราหมณ์และคหบดีเหล่านั้นยังไม่ลุกไป รัฐปาลกุลบุตรก็ไม่ทูลขอบรรพชาต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะเหตุไร.
               เพราะญาติสาโลหิตมิตรทั้งหลายของเขาในที่นั้นเป็นจำนวนมาก ก็หวังกันอยู่ คนเหล่านั้นกล่าวว่า ท่านเป็นลูกคนเดียวของมารดาบิดา ท่านไม่ควรบวช แล้วพึงจับเขาที่แขนคร่ามา แต่นั่น บรรพชาก็จักเป็นอันตราย. เขาลุกขึ้นไปพร้อมกับบริษัทเดินไปหน่อยหนึ่ง แล้วก็กลับทำเลสว่ามีกิจเนื่องอยู่ด้วยสรีระบางอย่าง แล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลขอบรรพชา.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อถโข รฏฺฐปาโล กุลปุตฺโต อจิรวฺฏฺฐิตาย ปริสาย ฯเปฯ ปพฺพาเชตุ มํ ภควา. ก็เพราะนับจำเดิมแต่ราหุลกุมารบวชแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงบวชบุตรที่มารดาบิดาไม่อนุญาต ฉะนั้น จึงตรัสถามเขาว่า อนุญฺญาโตสิ ปน ตฺวํ รฏฺฐปาล มาตาปิตูหิ ฯเปฯ ปพฺพชฺชาย.
               ในคำว่า อมฺม ตาต นี้ รัฐปาละเรียกมารดาว่า อมฺม เรียกบิดาว่า ตาต.
               บทว่า เอกปุตฺตโก แปลว่า บุตรน้อยคนเดียวเท่านั้น บุตรไรๆ อื่นไม่ว่าพี่หรือน้องไม่มี. ก็ในคำนี้ เมื่อควรจะกล่าวว่า เอกปุตฺโต ก็กล่าวว่า เอกปุตฺตโก ด้วยอำนาจความเอ็นดู.
               บทว่า ปิโย แปลว่า เกิดปีติ. บทว่า มนาโป แปลว่า เจริญใจ. บทว่า สุเข ฐิโต แปลว่า ตั้งอยู่ในสุขนั่นแหละ. อธิบายว่า จำเริญสุข.
               บทว่า สุขปริหโฏ แปลว่า บริหารด้วยความสุข. ตั้งแต่เวลาเกิดมา เขามีแม่นมโดยอุ้มไม่วางมือ เล่นด้วยเครื่องเล่นของเด็กมีรถม้าน้อยๆ เป็นต้น ให้บริโภคแต่โภชนะที่มีรสดี ชื่อว่าบริหารด้วยความสุข.
               บทว่า น ตฺวํ ตาต รฏฺฐปาล กสฺสจิ ทุกฺขสฺส ชานาสิ ความว่า พ่อรัฐปาละ เจ้าไม่รู้ระลึกไม่ได้ถึงส่วนของความทุกข์แม้ประมาณน้อย.
               บทว่า มรเณนปิ เต มยํ อกามกา วินา ภวิสฺสาม ความว่า แม้ถ้าท่านจะพึงตายเสีย เมื่อพวกเรายังเป็นอยู่ไซร้ แม้เพราะความตายของท่าน พวกเราไม่ต้องการ ไม่ปรารถนา ไม่ชอบใจตน ก็จำจักต้องพลัดพราก หรือจักถึงความพลัดพรากท่านไป.
               บทว่า กึ ปน มยํ ตํ ความว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุที่เราจักอนุญาตให้ท่านเป็นอยู่ ชื่ออะไร.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบความในคำว่า กึ ปน มยนฺตํ นี้อย่างนี้ว่า ด้วยเหตุไรพวกเราจึงจักอนุญาตให้ท่านมีชีวิตอยู่.
               บทว่า ตตฺเถว ความว่า ในที่ที่มารดาบิดาไม่อนุญาตท่านให้ดำรงอยู่.
               บทว่า อนนฺตรหิตาย ความว่า เพราะไม่ต้องการด้วยเครื่องลาดอะไรๆ.
               บทว่า ปริจาเรหิ ความว่า ทะนุบำรุงดนตรีการฟ้อนและนักฟ้อนเป็นต้น บำเรอตัวตามความสุขพร้อมด้วยเหล่าสหายในที่นั้น. อธิบายว่า นำเข้าไปที่โน้นที่นี่.
               อีกนัยหนึ่ง บทว่า ปริจาเรหิ ท่านอธิบายว่า ทะนุบำรุงดนตรีการฟ้อนและนักฟ้อนเป็นต้น ร่าเริงยินดีเล่นกับเหล่าสหาย.
               บทว่า กาเม ปริภุญฺชนฺโต ความว่า บริโภคโภคะพร้อมกับบุตรภริยาของตน.
               บทว่า ปุญฺญานิ กโรนฺโต ความว่า ปรารภพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ กระทำกุศลกรรมชำระทางไปสู่สุคติ มีการมอบถวายทานเป็นต้น.
               บทว่า ตุณฺหี อโหสิ ได้แก่ ไม่พูดจาปราศรัย เพื่อตัดการพูดต่อไป.
               ครั้งนั้น มารดาบิดาของเขาพูด ๓ ครั้งไม่ได้แม้คำตอบ จึงให้เรียกสหายมาพูดว่า สหายของเจ้านั้นอยากจะบวช ห้ามเขาทีเถอะ. แม้สหายเหล่านั้นเข้าไปหาเขาแล้วพูด ๓ ครั้ง. แม้สำหรับสหายเหล่านั้น เขาก็นิ่ง. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อถโข รฏฺฐปาลสฺส กุลปุตฺตสฺส สหายกา ฯเปฯ ตุณฺหี อโหสิ.
               ครั้งนั้น เหล่าสหายของเขาก็คิดอย่างนี้ว่า ถ้าเพื่อนผู้นี้ไม่ได้บวชก็จักตายไซร้ เราก็จักไม่ได้คุณอะไรๆ แต่เขาบวชแล้ว ทั้งมารดาบิดาก็จักเห็นเป็นครั้งคราว ทั้งเราก็จักเห็น ก็ธรรมดาว่าการบรรพชานี้เป็นของหนัก เขาจะต้องถือบาตรเดินไป เที่ยวบิณฑบาตทุกวันๆ พรหมจรรย์ที่มีการนอนหนเดียว กินหนเดียว หนักนักหนา ก็เพื่อนของเรานี้เป็นชาวเมืองสุขุมาลชาติ เขาเมื่อไม่อาจประพฤติพรหมจรรย์นั้นได้ ก็จะต้องมาในที่นี้อีกแน่แท้ เอาเถอะ เราจักให้มารดาบิดาของเขาอนุญาต.
               สหายเหล่านั้นได้กระทำอย่างนั้น.
               แม้มารดาบิดากระทำกติกาสัญญานี้ว่า ก็เขาบวชแล้วพึงอุทิศมารดาบิดา จึงอนุญาตเขา. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อถโข รฏฺฐปาลสฺส กุลปุตฺตสฺส สหายา เยน รฏฺฐหาลสฺส กุลปุตฺตสฺส มาตาปิตโร ฯเปฯ อนุญฺญาโตสิ มาตาปิตูหิ ฯ เปฯ อุทฺทิสิตพฺพา.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุทฺทิสิตพฺพา ความว่า พึงมาแสดงตนอย่างที่มารดาบิดาเห็นได้บางครั้งบางคราว.
               บทว่า พลํ คเหตฺวา ความว่า บริโภคโภชนะอันสบาย บำรุงกายด้วยการขัดสีเป็นต้น เกิดกำลังกายแล้ว ไหว้มารดาบิดา ละเครือญาติที่มีน้ำตานองหน้า เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า ฯลฯ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดบวชข้าพระองค์เถิด พระเจ้าข้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุรูปหนึ่งซึ่งยืนอยู่ในที่ใกล้ สั่งว่า ภิกษุ ถ้าอย่างนั้น เธอจงให้รัฐปาละบรรพชาและอุปสมบท. ภิกษุนั้นรับพระพุทธพจน์ว่า สาธุ พระเจ้าข้า ได้กุลบุตรชื่อรัฐปาละ ที่พระชินเจ้าประทานเป็นสัทธิวิหาริก ให้บรรพชาและอุปสมบท. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อลตฺถ โข รฏฺฐปาโล กุลปุตฺโต ภควโต สนฺติเก ปพฺพชฺชํ อลตฺถ อุปสมฺปทํ.
               บทว่า ปหิตตฺโต วิหรนฺโต ความว่า อยู่อย่างนี้ ๑๒ ปี.
               จริงอยู่ ท่านผู้นี้เป็นไนยบุคคลมีบุญแม้พร้อมด้วยบุญเก่าอยู่ ก็ต้องบำเพ็ญสมณธรรมด้วย ความมุ่งมั่นว่าพระอรหัตวันนี้ พระอรหัตวันนี้ ปีที่ ๑๒ จึงบรรลุพระอรหัต.
               บทว่า เยน ภควา เตนูปสงฺกมิ ความว่า พระเถระคิดว่า มารดาบิดาของเราอนุญาตให้บวช กล่าวว่า เจ้าต้องมาพบเราบางครั้งบางคราว แล้วจึงอนุญาต ก็มารดาบิดาเป็นผู้กระทำกิจที่ทำได้ยาก ก็เราบวชด้วยอัธยาศรัยอันใด อัธยาศัยอันนั้นอยู่เหนือกระหม่อมของเรา บัดนี้ เราจักทูลลาพระผู้มีพระภาคเจ้า แสดงตัวแก่มารดาบิดา แล้วประสงค์จะทูลลา จึงเข้าเฝ้า.
               บทว่า มนสากาสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงใส่พระทัยว่า เมื่อพระรัฐปาละไปแล้ว จักมีอุปสรรคไรๆ ไหมหนอ ทรงทราบว่าจักมีแน่ ทรงตรวจดูว่าพระรัฐปาละจักสามารถย่ำยีอุปสรรคนั้นหรือหนอ ทรงเห็นว่าพระรัฐบาละนั้นบรรลุพระอรหัต ก็ทรงทราบว่าจักสามารถ จึงทรงอนุญาต. ด้วยเหตุนั้น จึงกล่าวว่า ยถา ภควา อญฺญาสิ ฯเปฯ กาลํ มญฺญสิ ดังนี้.
               บทว่า มิคาจิเร ได้แก่ พระอุทยานมีชื่ออย่างนี้.
               ก็พระราชอุทยานนั้น พระราชาพระราชทานแก่เหล่าบรรพชิตที่มาถึงในกาลมิใช่เวลา เป็นอันทรงอนุญาตอย่างนี้ว่า จงใช้สอยอุทยานนี้ตามความสบายเถิด. เพราะฉะนั้น พระเถระไม่เกิดแม้ความคิดว่า เราจะบอกบิดามารดาว่าเรามาแล้ว มารดาบิดานั้นจักส่งน้ำล้างเท้า น้ำมันทาเท้าเป็นต้นแก่เรา แล้วเข้าไปยังพระราชอุทยานนั้นแล.
               บทว่า ปิณฺฑาย ปาวิสิ ได้แก่ เข้าไปบิณฑบาตในวันที่ ๒. บทว่า มชฺฌิมาย ได้แก่ ซุ้มประตูกลางของเรือนมี ๗ ซุ้มประตู. บทว่า อุลฺลิกฺขาเปติ ได้แก่ ให้ช่างสระผม.
               บทว่า เอตทโวจ ได้แก่ บิดาคิดว่า สมณะเหล่านี้ให้บุตรที่รักคนเดียวของเราบวช เราไม่เห็นแม้แต่วันเดียว เหมือนมอบไว้ในมือโจร สมณะเหล่านี้กระทำการหยาบช้าอย่างนี้ ยังจะเข้าใจว่า ที่นี้ควรจะเข้ามาอีก ควรจะคร่าไปเสียจากที่นี้ จึงกล่าวคำว่า เอตํ อิเมหิ มุณฺฑเกหิ.
               บทว่า ญาติทาสี ได้แก่ ทาสีของพวกญาติ.
               บทว่า อาภิโทสิกํ ได้แก่ ขนมที่ค้างคืน คือขนมที่ล่วงคืนหนึ่งไปแล้ว เป็นของบูด.
               ในคำนั้นมีความของบทดังนี้.
               ชื่อว่า อาภิโทส เพราะถูกโทษ คือความบูดครอบงำแล้ว. อภิโทสนั้นแล ก็คืออาภิโทสิก. นี้เป็นชื่อของขนมที่ล่วงเลยคือหนึ่งไปแล้ว คือขนมที่ค้างคืนอันนั้น.
               บทว่า กุมฺมาสํ ได้แก่ ขนมที่ทำด้วยข้าวเหนียว.
               บทว่า ฉฑฺเฑตุกามา โหติ ความว่า เพราะเหตุที่โดยที่สุด แม้แต่ทาสกรรมกรทั้งโค ก็ไม่ควรกิน ฉะนั้น ทาสีประสงค์ก็จะทิ้งขนมนั้นไปในภายนอกเหมือนขยะ.
               บทว่า สเจตํ ตัดบทว่า สเจ เอตํ.
               พระเถระเรียกทาสีนางนมของตนนั้นด้วยอริยโวหารว่า ภคินิ.
               บทว่า ฉฑฺฑนียธมฺมํ ความว่า มีอันจะต้องทิ้งไปเป็นสภาวะ.
               ท่านอธิบายไว้ว่า ดูก่อนน้องหญิง ถ้าสิ่งนี้มีอันจะต้องทิ้งไปในภายนอกเป็นธรรมดา ไม่หวงแหนไว้ไซร้ เจ้าจงเกลี่ยลงในบาตรของเรานี้.
               ถามว่า ทำไมพระเถระจึงได้กล่าวอย่างนี้ ไม่เป็นการขอหรือพูดเหมือนขอหรือ.
               ตอบว่า ไม่เป็น.
               เพราะเหตุไร. เพราะเขาสละความหวงแหนแล้ว.
               จริงอยู่ ของใดมีอันจะต้องทิ้งไปเป็นธรรม เขาสละความหวงแหนแล้ว เจ้าของไม่ใยดีในของใด ควรจะกล่าวว่าจงนำของนั้นมาให้ทั้งหมด จงเกลี่ยลงในบาตรนี้. ด้วยเหตุนั้นนั่นแล ท่านพระรัฐปาละนี้เป็นผู้ดำรงอยู่ในอริยวงศ์อันเลิศอยู่ จึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า หตฺถานํ ได้แก่ มือทั้งสองตั้งแต่ข้อมือของพระเถระผู้น้อมบาตรเพื่อรับภิกษา.
               บทว่า ปาทานํ ได้แก่ เท้าแม้ทั้งสองตั้งแต่ชายผ้านุ่ง.
               บทว่า สรสฺส ได้แก่ เสียงที่เปล่งวาจาว่า น้องหญิง ถ้าของนั้นเป็นต้น.
               บทว่า นิมิตฺตํ อคฺคเหสิ ความว่า นางทาสี เมื่อพิจารณาดูหลังมือเป็นต้นก็ยึดคืน จำได้ กำหนดอาการที่เคยกำหนดในเวลาที่ท่านเป็นคฤหัสถ์ว่า หลังมือแลเท้าเหล่านี้เช่นเดียวกับหลังเต่าทอง นิ้วมือที่กลมดีเหมือนเกลียวหรดาล เสียงไพเราะเหมือนของรัฐบาลบุตรของเรา.
               ก็เมื่อท่านพระรัฐบาลนั้นอยู่ป่าถึง ๑๒ ปี และบริโภคโภชนะคือคำข้าว ผิวพรรณของร่างกาย จึงเห็นเป็นคนอื่นไป. ด้วยเหตุนั้น ทาสีของญาติเห็นเถระนั้นจึงจำไม่ได้ แต่ยังถือนิมิตได้.
               บทว่า รฏฺฐปาลสฺส มาตรํ เอตทโวจ ความว่า แม้เหล่านางนมผู้ทะนุถนอมอวัยวะน้อยใหญ่ของพระเถระให้ดื่มน้ำนม เลี้ยงมาจนเติบโต ก็ไม่อาจพูดกับบุตรนายผู้บวชแล้วถึงความเป็นพระมหาขีณาสพ เป็นต้นว่า ท่านเจ้าข้า ท่านหรือหนอคือรัฐปาละ บุตรของเรา จึงรีบเข้าเรือนกล่าวคำนี้กะมารดาของรัฐบาล.
               ศัพท์ว่า ยคฺเฆ เป็นนิบาตลงในอรรถว่าบอกกล่าว.
               ศัพท์ว่า เช ในคำว่า สเจ เช สจฺจํ นี้เป็นนิบาต ในอรรถว่าร้องเรียก.
               จริงอยู่ คนทั้งหลายย่อมร้องเรียกคนที่เป็นทาสทาสีในชนบทนั้น. เพราะเหตุนั้นแล พึงเห็นความในบทนี้อย่างนี้ว่า แม่ทาสีผู้เจริญ ถ้าเจ้าพูดจริง.
               บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า เหตุไรจึงเข้าไป.
               นางคิดว่า สตรีทั้งหลายในสกุลใหญ่ เมื่อออกไปในภายนอก ย่อมได้รับการติเตียนก็นี้เป็นกิจด่วน จำเราจักบอกกิจนั้นแก่เศรษฐี เพราะฉะนั้น นางจึงเข้าไป.
               บทว่า อญฺญตรํ กุฑฺฑมูลํ ความว่า ได้ยินว่า ในที่นั้นมีศาลาอยู่ใกล้เรือนของทานบดี. ที่ศาลานั้น เขาจัดอาสนะไว้ น้ำและน้ำข้าวเขาก็จัดตั้งไว้ในศาลานั้น บรรพชิตทั้งหลายเที่ยวบิณฑบาต แล้วนั่งฉัน.
               ถ้าว่า บรรพชิตทั้งหลายปรารถนาก็จะถือเอาสิ่งของแม้ของทานบดีทั้งหลาย เพราะฉะนั้น แม้ที่นั้นก็พึงทราบว่า ใกล้ฝาแห่งหนึ่งแห่งศาลาเช่นนี้ของตระกูลตระกูลหนึ่ง. แท้จริง บรรพชิตทั้งหลายหานั่งฉันในที่อันไม่สมควรอย่างมนุษย์ยากไร้ไม่.
               ศัพท์ว่า อตฺถิ ในคำว่า อตฺถิ นาม ตาต นี้ ลงในอรรถว่ามีอยู่.
               ศัพท์ว่า นาม เป็นนิบาตลงในอรรถว่าถาม หรือสำคัญ.
               ท่านอธิบายว่า บิดาพึงกล่าวว่า ซึ่งเจ้าจักมาถึงในที่เช่นนี้ บริโภคขนมค้างคืนของเราใด พ่อรัฐปาละ พวกเรานั้นมีทรัพย์อยู่หนอ มิใช่ไม่มีทรัพย์. บิดาพึงกล่าวว่า อนึ่ง เจ้าพึงนั่งในที่เช่นนี้ บริโภคขนมค้างคืนของพวกเราใด พวกเรานั้นยังมีชีวิตอยู่หนอ มิใช่ผู้ตายไปแล้ว.
               อนึ่ง เจ้าแม้ถูกเลี้ยงเติบโตมาด้วยรสโภชนะอันดี ไม่พิการจะบริโภคขนมค้างคืนน่าเกลียดอันนี้ใด ดังบริโภคอมฤต พ่อรัฐปาละ คุณเครื่องเป็นสมณะอาศัยพระศาสนา แนบแน่นภายในของเจ้า ชะรอยจะมีอยู่.
               ก็คหบดีนั้นไม่อาจกล่าวเนื้อความนี้ให้บริบูรณ์ได้ เพราะถูกทุกข์ทิ่มแทงแล้ว กล่าวได้แต่เพียงเท่านี้ว่า พ่อรัฐปาละ มีหรือที่เจ้าจักบริโภคขนมค้างคืน.
               ก็ในข้อนี้ นักคิดอักษรกล่าวลักษณะนี้ไว้.
               ท่านทำคำอนาคตกาลว่า ปริภิญฺชิสฺสสิ ใกล้บทในศัพท์ว่า อตฺถิ นี้ ด้วยอรรถอันไม่บริบูรณ์ ตามการกำหนดของตน.
               คำนั้นมีเนื้อความดังนี้ว่า
               มีอยู่หรือ พ่อรัฐปาละ ที่พ่อจะฉันขนมกุมาสบูด แม้เราเห็นกับตาก็ไม่เชื่อ ทนไม่ได้. คฤหบดียืนจับที่ขอบปากบาตรของพระเถระ กล่าวคำมีประมาณเท่านี้.
               เมื่อบิดายืนจับที่ขอบปากบาตรอยู่นั้นแล แม้พระเถระก็ฉันขนมบูดนั้นที่ส่งกลิ่นบูดในที่ที่แตกเหมือนฟองไข่เน่า เป็นเช่นกับรากสุนัข. เล่าว่า ปุถุชนก็ไม่อาจกินขนมเช่นนั้นได้. แต่พระเถระดำรงอยู่ในอริยฤทธิ ฉันเหมือนกับฉันอมฤตรสทิพย์โอชา รับน้ำด้วยธรรมกรก ล้างบาตร ปากและมือเท้า กล่าวคำเป็นต้นว่า กุโต ดน คหปติ.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า กุโต โน แปลว่า แต่ที่ไหนหนอ.
               บทว่า เนว ทานํ ความว่า ไม่ได้ทานโดยไทยธรรมเลย.
               บทว่า น ปจฺจกฺขานํ ความว่า ไม่ได้แม้คำเรียกขาน โดยปฏิสันถารอย่างนี้ว่า พ่อรัฐปาละ เจ้าพอทนบ้างหรือ มาด้วยความลำบากเล็กน้อยบ้างหรือ พ่อไม่ฉันอาหารในเรือนก่อนหรือ.
               ก็เพราะเหตุไร พระเถระจึงกล่าวอย่างนี้.
               เพราะอนุเคราะห์บิดา.
               ได้ยินว่า พระเถระคิดอย่างนี้ว่า บิดานี้พูดกะเราฉันใด เห็นที่จะพูดกะบรรพชิตแม้อื่นฉันนั้น ก็ในพระพุทธศาสนา ภายในของเหล่าภิกษุผู้ปกปิดคุณเช่นเรา เหมือนดอกปทุมในระหว่างใบ เหมือนไฟที่เถ้าปิด เหมือนแก่นจันทร์ที่กะพี้ปิด เหมือนแก้วมุกดาที่ดินปิด เหมือนดวงจันทร์ที่เมฆฝนปิด ย่อมไม่มี ถ้อยคำเห็นปานนี้จักเป็นไปในภิกษุเหล่านั้น บิดาก็จักตั้งอยู่ในความระมัดระวัง เพราะเหตุนั้น พระเถระจึงกล่าวอย่างนี้ด้วยความอนุเคราะห์.
               บทว่า อหิ ตาต ความว่า คหบดีพูดว่า พ่อเอ่ยเรือนของเจ้าไม่มีดอก มาเราไปเรือนกัน.
               บทว่า อลํ ได้แก่ พระเถระเมื่อปฏิเสธจึงกล่าวอย่างนี้ เพราะเป็นผู้ถือเอกาสนิกังคธุดงค์อย่างอุกฤษฏ์.
               บทว่า อธิวาเสสิ ความว่า แต่พระเถระโดยปกติเป็นผู้ถือสปทานจาริกังคธุดงค์อย่างอุกฤษฏฺ์ จึงไม่รับภิกษา เพื่อฉันในวันรุ่งขึ้น แต่รับด้วยความอนุเคราะห์มารดา.
               ได้ยินว่า มารดาของพระเถระรำลึกแล้วรำลึกเล่าถึงพระเถระ ก็เกิดความโศกอย่างใหญ่ ร้องห่มร้องไห้มีดวงตาฟกซ้ำ. เพราะฉะนั้น พระเถระคิดว่า ถ้าเราจักไม่ไปเยี่ยมมารดานั้น หัวใจของมารดาจะพึงแตก จึงรับด้วยความอนุเคราะห์.
               บทว่า การาเปตฺวา ความว่า ให้กระทำเป็น ๒ กอง คือ เงินกองหนึ่ง ทองกองหนึ่ง.
               ถามว่า ก็กองทรัพย์ใหญ่โตเพียงไร.
               ตอบว่า ใหญ่เหมือนอย่างบุรุษยืนข้างนี้ ไม่เห็นบุรุษ ขนาดสันทัดที่ยืนข้างโน้น.
               บิดาเมื่อแสดงกองกหาปณะและกองทอง จึงกล่าวว่า อิทนฺเต ตาต.
               บทว่า มตฺติกํ แปลว่า ทรัพย์มาข้างมารดา. อธิบายว่า ทรัพย์นี้เป็นของยายของเจ้า เมื่อมารดามาเรือนนี้ มารดาก็ให้ทรัพย์ เพื่อประโยชน์แก่ของหอม แลดอกไม้เป็นต้น.
               บทว่า อญฺญํ ปิตฺติกํ อญฺญํ ปิตามหํ ความว่า ทรัพย์ใดเป็นของบิดาและปู่ของเจ้า ทรัพย์นั้นที่เก็บไว้และที่ใช้การงานอย่างอื่นมีมากเหลือเกิน.
               ก็ในคำนั้น คำว่า ปิตามหํ นี้พึงทราบว่า ลบตัทธิต. ปาฐะว่า เปตามหํ ก็มี.
               บทว่า สกฺกา ตาต รฏฺฐปาล ความว่า พ่อรัฐบาล ไม่ใช่บรรพชิตอย่างเดียวที่สามารถทำบุญได้ แม้ผู้ครองเรือนบริโภคโภคะก็สามารถตั้งอยู่ในสรณะ ๓ สมาทานสิกขาบท ๕ ทำบุญมีทานเป็นต้นยิ่งๆ ขึ้นไป มาเถอะพ่อ เจ้า ฯลฯ จงกระทำบุญ.
               พระเถระกล่าวอย่างนี้ว่า ตโตนิทานํ หมายถึง ความโศกเป็นต้นที่เกิดแก่ผู้รักษาทรัพย์นั้นๆ และผู้ถึงความสิ้นทรัพย์ ด้วยอำนาจราชภัยเป็นต้น เพราะทรัพย์เป็นเหตุ เพราะทรัพย์เป็นปัจจัย.
               ครั้นพระเถระกล่าวอย่างนั้น เศรษฐีคฤหบดีคิดว่า เรานำทรัพย์นี้มาด้วยหมายจะให้บุตรนี้สึก บัดนี้ บุตรนั้นกลับเริ่มสอนธรรมแก่เรา อย่าเลย เขาจักไม่ทำตามคำของเราแน่ แล้วจักลุกขึ้นไปให้เปิดประตูห้องนางในของบุตรนั้น ส่งคนไปบอกว่า ผู้นี้เป็นสามี พวกเจ้าจงไป ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง พยายามจับตัวมาให้ได้. นางรำทั้งหลายผู้อยู่ในวัยทั้งสามออกไปล้อมพระเถระไว้.
               ท่านกล่าวคำว่า ปุราณทุติยิกา เป็นต้น หมายถึงหญิงหัวหน้า ๒ คน ในบรรดานางรำเหล่านั้น.
               บทว่า ปจฺเจกํ ปาเทสุ คเหตฺวา ได้แก่ จับพระเถระนั้นที่เท้าคนละข้าง. เพราะเหตุไร นางรำเหล่านั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระลูกเจ้าพ่อเอ่ย นางอัปสรเป็นเช่นไร.
               ได้ยินว่า ครั้งนั้นคนทั้งหลายเห็นเจ้าหนุ่มบ้าง พราหมณ์หนุ่มบ้าง ลูกเศรษฐีบ้าง เป็นอันมากละสมบัติใหญ่บวชกัน ไม่รู้คุณของบรรพชา จึงตั้งคำถามว่า เหตุไร คนเหล่านี้จึงบวช. ทีนั้นคนเหล่าอื่นจึงกล่าวว่า เพราะเหตุแห่งเทพอัปสร เทพนาฏกะ. ถ้อยคำนั้นได้แพร่ไปอย่างกว้างขวาง.
               นางฟ้อนรำเหล่านั้นทั้งหมดจำถ้อยคำนั้นได้แล้ว จึงกล่าวอย่างนี้. พระเถระเมื่อจะปฏิเสธจึงกล่าวว่า น โข มยํ ภคินี น้องหญิง เราไม่ใช่ประพฤติพรหมจรรย์ เพราะเหตุแห่งนางอัปสร.
               บทว่า สมุทาจรติ แปลว่า ย่อมร้องเรียก ย่อมกล่าว.
               บทว่า ตตฺเถว มุจฺฉิตา ปปตึสุ ความว่า นางรำทั้งหลายเห็นพระเถระร้องเรียกด้วยวาทะว่าน้องหญิง จึงคิดว่า พวกเรามิได้ออกไปข้างนอกถึง ๑๒ ปี ด้วยคิดว่า วันนี้ ลูกเจ้าจักมา พวกเราพึงเป็นอยู่ด้วยอำนาจของทารกเหล่าใด เราอาศัยท่านก็ไม่ได้ทารกเหล่านั้น เราเป็นผู้เสื่อมทั้งข้างโน้นทั้งข้างอื่น ชื่อว่าโลกนี้เป็นของเราหรือ เพราะฉะนั้น พวกนางรำแม้เหล่านั้น เมื่อคิดเพื่อตนว่า บัดนี้เราไม่มีที่พึงแล้ว ก็เกิดความโศกอย่างแรงว่า บัดนี้ท่านผู้นี้ไม่ต้องการพวกเรา และพวกเราก็ยังเป็นภริยาอยู่ เขาคงจะสำคัญเหมือนเด็กหญิง นอนอยู่ในท้องแม่คนเดียวกับตน จึงล้มสลบลงในที่นั้นนั่นแหละ. อธิบายว่า ล้มไป.
               บทว่า มา โน วิเหเฐถ ความว่า อย่าแสดงทรัพย์และส่งมาตุคามมาเบียดเบียนเราเลย.
               ถามว่า พระเถระกล่าวอย่างนั่นเพราะเหตุไร.
               ตอบว่า เพราะอนุเคราะห์มารดาบิดา.
               เล่ากันว่า เศรษฐีนั้นสำคัญว่า ขึ้นชื่อว่าเพศบรรพชิตเศร้าหมอง เราจักให้เปลื้องเพศบรรพชิตออก ให้อาบน้ำ บริโภคร่วมกันสามคน จึงไม่ถวายภิกษาแก่พระเถระ.
               พระเถระคิดว่า มารดาบิดาเหล่านี้กระทำอันตรายในอาหารแก่พระขีณาสพเช่นเรา จะพึงประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก จึงกล่าวอย่างนี้ด้วยความอนุเคราะห์มารดาบิดานั้น.
               บทว่า คาถา อภาสิ แปลว่า ได้กล่าวคาถาทั้งหลาย.
               บรรดาบทเหล่านั้นด้วยบทว่า ปสฺส พระเถระกล่าวหมายถึงคนที่อยู่ใกล้.
               บทว่า จตฺตํ แปลว่า งดงามด้วยสิ่งที่ปัจจัยก่อขึ้น.
               บทว่า พิมฺพํ แปลว่า อัตตภาพ.
               บทว่า อรุกายํ ได้แก่ กลุ่มแผลคือปากแผลทั้ง ๙.
               บทว่า สมุสฺสิตํ ได้แก่ ที่ผูกกระดูก ๓๐๐ ท่อนกับเอ็น ๙๐๐ ฉาบด้วยชิ้นเนื้อ ๙๐๐ ยกขึ้นโดยรอบ.
               บทว่า อาตุรํ ได้แก่ อาดูรเป็นนิจเพราะอาดูรด้วยชรา อาดูรด้วยโรคและอาดูรด้วยกิเลส.
               บทว่า พหุสงฺกปฺปํ ความว่า มีความดำริอย่างมาก ด้วยความดำริคือความปรารถนาที่เกิดขึ้นแก่ศพเหล่าอื่น.
               เป็นความจริง เหล่าบุรุษย่อมเกิดความดำริในร่างกายของสตรี เหล่าสตรีย่อมเกิดความดำริในร่างกายของบุรุษเหล่านั้น.
               อนึ่ง เหล่ากาและสุนัขเป็นต้นย่อมปรารถนาร่างกายนั้น แม้ที่เป็นซากศพที่เขาทิ้งในป่าช้า เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ามีความดำริมาก.
               บทว่า ยสฺส นตฺถิ ธุวํ ฐิติ ความว่า กายใดไม่มีความตั้งมั่นโดยส่วนเดียว เหมือนมายาพยัพแดดฟองน้ำต่อมน้ำเป็นต้น ความที่ร่างกายนั้นมีอันแตกไปเป็นของธรรมดา เป็นของแน่นอน.
               บทว่า ตเจน โอนทฺธํ ได้แก่ หุ้มด้วยหนังมนุษย์สด.
               บทว่า สห วตฺเถภิ โสภติ ความว่า แม้รูปที่แต่งให้งดงามด้วยของหอมเป็นต้น ด้วยกุณฑลมณี ย่อมงดงามพร้อมด้วยผ้าที่แต่งรูป เว้นผ้าเสียก็น่าเกลียดไม่ควรมองดู.
               บทว่า อลฺลตฺตกกตา ได้แก่ รดด้วยน้ำครั่งสด.
               บทว่า จุณฺณกมกฺขิตํ ได้แก่ เอาปลายเมล็ดพรรณผักกาดแคะต่อมที่ใบหน้าเป็นต้นออก เอาดินเค็มกำจัดเลือดร้าย เอาแป้งงาทำโลหิตให้ใส เอาขมิ้นประเทืองผิว เอาแป้งผัดหน้า. ด้วยเหตุนั้น ร่างกายนั้นจึงงามอย่างยิ่ง. ท่านกล่าวคำนั้นหมายเอากายนั้น.
               บทว่า อฏฺฐปทกตา ความว่า ทำด้วยน้ำต่างลากไปกระทำให้เป็นวงกลมๆ ชายหน้าผาก แต้มให้เป็นแปดลอน.
               บทว่า อญฺชนี ได้แก่ หลอดหยอดตา.
               บทว่า โอทหิ แปลว่า ตั้งไว้.
               บทว่า ปาสํ ได้แก่ ข่ายที่ทำด้วยป่าน.
               บทว่า นาสทา ได้แก่ ไม่กระทบ.
               บทว่า นิวาปํ ได้แก่ อาหารเช่นกับเหยื่อและหญ้าที่กล่าวไว้ในนิวาปสูตร.
               บทว่า กนฺทนฺเต แปลว่า ร่ำร้องรำพัน.
               ก็พระเถระแสดงมารดาบิดาให้เป็นเหมือนพรานล่าเนื้อด้วยคาถานี้. แสดงเหล่าญาตินอกนั้นเป็นเหมือนบริวารของพรานล่าเนื้อ เงินและทองเหมือนข่ายป่าน โภชนะที่ตนบริโภคเหมือนเหยื่อและหญ้า ตนเองเหมือนเนื้อใหญ่. เปรียบเหมือนเนื้อใหญ่เคี้ยวเหยื่อและหญ้าเป็นอาหารตามต้องการ ดื่มน้ำชูคอ ตรวจดูบริวาร คิดว่า เราไปสู่ที่นี้จักปลอดภัย กระโดดขึ้นมิให้กระทบบ่วงของเหล่านายพรานเนื้อผู้กำลังคร่ำครวญอยู่เข้าป่าไป ถูกลมอ่อนๆ โชยอยู่ภายใต้พุ่มไม้ประดุจฉัตร มีเงาทึบ ยืนตรวจดูทางที่มาฉันใด พระเถระก็ฉันนั้นเหมือนกัน ครั้นกล่าวคาถาเหล่านี้แล้ว ก็เหาะไปปรากฏที่พระราชอุทยานชื่อว่ามิคาจิระ.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระเถระจึงเหาะไป.
               ตอบว่า ได้ยินว่า เศรษฐีบิดาของพระเถระนั้นให้ทำลูกดาลไว้ที่ซุ้มประตูทั้ง ๗ สั่งนักมวยปล้ำไว้ว่า ถ้าพระเถระจักออกไป จงจับมือเท้าพระเถระไว้เปลื้องผ้ากาสายะออกให้ถือเพศคฤหัสถ์. เพราะฉะนั้น พระเถระจึงคิดว่า มารดาบิดานั้นจับมือเท้าพระมหาขีณาสพเช่นเรา จะพึงประสบสิ่งมิใช่บุญ ข้อนั้นอย่าได้มีแก่มารดาบิดาเลย จึงได้เหาะไป. ก็พระเถระชาวปรสมุทร ยังยืนกล่าวคาถาเหล่านี้แล้วเหาะไปปรากฏที่พระราชอุทยานมิคาจิระของพระเจ้าโกรัพยะ.
               แนวทางถ้อยคำมีดังนี้.
               คำว่า มิคฺคโว เป็นชื่อของคนเฝ้าพระอุทยานนั้น.
               บทว่า โสเธนฺโต ได้แก่ กระทำทางไปพระราชอุทยานให้เสมอ ให้ถากสถานที่ที่ควรจะถาก ให้กวาดสถานที่ที่ควรจะกวาดและกระทำการเกลี่ยทรายโรยดอกไม้ตั้งหม้อน้ำเต็ม ตั้งต้นกล้วยเป็นต้น ไว้ภายในพระราชอุทยาน.
               บทว่า เยน ราชา โกรโพฺย เตนูปสงฺกมิ ความว่า คนเฝ้าสวนคิดว่า พระราชาของเราตรัสชมกุลบุตรผู้นี้ทุกเมื่อ ทรงมีพระประสงค์จะพบแต่ไม่ทรงทราบว่า กุลบุตรผู้นั้นมาแล้ว เพราะฉะนั้น บรรณาการนี้เป็นของยิ่งใหญ่ เราจักไปกราบทูลพระราชา จึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าโกรัพยะ.
               บทว่า กิตฺตยมาโน อโหสิ ความว่า ได้ยินว่า พระราชานั้นระลึกแล้วระลึกถึงพระเถระตรัสคุณว่า กุลบุตรผู้ละสมบัติใหญ่เห็นปานนั้นบวชแล้ว กลับมาอีกก็ไม่ใยดี ทั้งในท่ามกลางหมู่พล ทั้งท่ามกลางนางรำ ชื่อว่ากระทำกิจที่ทำได้ยาก. พระเจ้าโกรัพยนี้ทรงถือเอาคุณข้อนั้นจึงตรัสอย่างนี้.
               บทว่า วิสชฺเชถาติ วตฺวา ความว่า สิ่งใดสมควรแก่ผู้ใดในพวกคนสนิท มหาอำมาตย์และไพร่พลเป็นต้น ก็ให้พระราชทานสิ่งนั้นแก่ผู้นั้น.
               บทว่า อุสฺสตาย อุสฺสตาย ความว่า ที่คับคั่งแล้วคับคั่งแล้ว. ทรงพาบริษัทที่คับคั่งด้วยมหาอำมาตย์ข้าราชการผู้ใหญ่เป็นต้นเข้าไปแล้ว. พระราชาทรงสำคัญว่า เครื่องลาดไม้ยังบางจึงเป็นอันทรงกระทำให้ชั้นดอกไม้เป็นต้นหนา กำหนดไว้กว้าง ไม่บอกกล่าวแล้วนั่งในที่เช่นนั้นไม่ควร จึงกล่าวอย่างนี้ว่า อิธ ภวํ รฏฺฐปาโล กฏฺฐตฺถเร นีสีทตุ พระรัฐปาละผู้เจริญ โปรดนั่งบนเครื่องลาดไม้ในที่นี้.
               บทว่า ปาริชุญฺญานิ ความว่า ภาวะคือความเสื่อม ได้แก่ความสิ้นไป.
               บทว่า ชิณฺโณ ได้แก่ แก่เพราะชรา.
               บทว่า วิฑฺโฒ คือ เจริญด้วยวัย.
               บทว่า มหลฺลโก คือ แก่โดยชาติ.
               บทว่า อทฺธคโต คือ ล่วงกาลผ่านวัย.
               บทว่า วโยอนุปฺปตฺโต คือถึงปัจฉิมวัยแล้ว.
               บทว่า ปพฺพชติ ได้แก่ ไปวิหารใกล้ๆ ไหว้ภิกษุ ให้ท่านเกิดความการุณอ้อนวอนว่า ครั้งผมเป็นหนุ่ม ทำกุศลไว้มาก บัดนี้เป็นคนแก่ ชื่อว่าการบรรพชานี้เป็นของคนแก่ กระผมจักกวาดลานเจดีย์ กระทำการแผ้วถางเป็นอยู่ โปรดให้ผมบวชเถิดขอรับ. พระเถระก็ให้บวชด้วยความกรุณา. ท่านกล่าวคำนี้หมายถึงการบวชเมื่อแก่นั้น.
               แม้ในวารที่สอง ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อปฺปาพาโธ ได้แก่ ไม่มีโรค.
               บทว่า อปฺปาตงฺโก ได้แก่ ไม่มีทุกข์.
               บทว่า สมเวปากินิยา ได้แก่ ประกอบด้วยไฟธาตุที่ย่อยอาหารสม่ำเสมอดี.
               บทว่า คหณิยา ได้แก่ เตโธธาตุที่เกิดแต่กรรม.
               อาหารของผู้ใดที่พอบริโภคแล้วย่อมย่อย ก็หรือว่าของผู้ใดย่อมตั้งอยู่อย่างนั้นเหมือนอาหารที่ยังเป็นห่ออยู่ ประกอบด้วยไฟธาตุที่ย่อยสม่ำเสมอกันทั้งสองนั้น. ส่วนผู้ใดเวลาบริโภคแล้วก็เกิดความต้องการอาหาร ผู้นี้ชื่อว่าประกอบด้วยไฟธาตุที่ย่อยสม่ำเสมอดี.
               บทว่า นาติสีตาย นาจฺจุณฺหาย ได้แก่ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนักด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ.
               บทว่า อนุปพฺเพน ความว่า ตามลำดับเป็นต้นว่า พระราชาทรงพิจารณา.
               ในวาระที่สองก็พึงทราบโดยลำดับมีราชภัยโจรภัยและฉาตกภัยเป็นต้น.
               บทว่า ธมฺมุทฺเทสา อุทฺทิฏฺฐา ได้แก่ ยกธรรมนิทเทสขึ้นแสดง.
               บทว่า อุปนียคิ ได้แก่ ไปใกล้ชรามรณะ หรือถูกนำไปในชรามรณะนั้นด้วยความสิ้นอายุ.
               บทว่า อทฺธุโว คือ เว้นจากการตั้งอยู่ยั่งยืน.
               บทว่า อตาโณ ได้แก่ เว้นจากความสามารถที่จะต่อต้าน.
               บทว่า อนภิสฺสโร ได้แก่ ไม่มีสรณะ คือเว้นจากความสามารถที่จะมีสรณะให้ยิ่งแล้วเบาใจ.
               บทว่า อสฺสโก คือ ไม่มีของตน เว้นจากของที่เป็นของตน.
               บทว่า สพฺพํ ปหาย คมนียํ ได้แก่ โลกจำต้องละสิ่งทั้งปวงที่กำหนดว่าเป็นของตนไป.
               บทว่า ตณฺหาทาโส แปลว่า เป็นทาสแห่งตัณหา.
               บทว่า หตถิสฺมิ แปลว่า ในเพราะศิลปะช้าง.
               บทว่า กตาวี ได้แก่ กระทำกิจเสร็จแล้ว ศึกษาเสร็จแล้ว. อธิบายว่า มีศิลปะคล่องแคล่ว.
               ในบททั้งปวงก็นัยนี้.
               บทว่า อูรุพลี ได้แก่ สมบูรณ์ด้วยกำลังขา.
               จริงอยู่ ผู้ใดมีกำลังขาที่จะจับโล่และอาวุธ เข้าไปสู่กองทัพของปรปักษ์ ทำลายสิ่งที่ยังมิได้ทำลาย ธำรงสิ่งที่ทำลายไว้ได้แล้วนำราชสมบัติที่อยู่ในมือของปรปักษ์มาได้ ผู้นี้ชื่อว่ามีกำลังขา.
               บทว่า พาหุพลี ได้แก่ สมบูรณ์ด้วยกำลังแขน.
               คำที่เหลือก็เช่นกับนัยก่อนนั่นแล.
               บทว่า อลมตฺโต แปลว่า มีอัตตภาพอันสามารถ.
               บทว่า ปริโยธาย วตฺติสฺสนฺติ ได้แก่ กำหนดถือเอาว่า จักครอบงำอันตรายที่เกิดขึ้นเป็นไป. พระราชานั้นทรงนำเหตุแห่งธัมมุทเทสในเบื้องสูงมากล่าวคำนี้ว่า ท่านรัฐบาลผู้เจริญ เงินทองเป็นอันมากในราชสกุลนี้มีอยู่.
               บทว่า อถาปรํ เอตทโวจ ความว่า พระเถระได้กล่าวลำดับธัมมุทเทส ๔ โดยนัยเป็นต้นว่า เอตํ ปสฺสามิ โลเก.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ภิยฺโย จ กาเม อภิปตฺถยนฺติ ความว่า ปรารถนาวัตถุกามและกิเลสกามยิ่งๆ ขึ้นไปอย่างนี้ว่า ได้หนึ่งอยากได้สอง ได้สองอยากได้สี่.
               บทว่า ปสยฺห ได้แก่ ชมคุณสมบัติ.
               บทว่า สสาครนฺตํ ได้แก่ พร้อมด้วยมีสาครเป็นที่สุด.
               บทว่า โอรํ สมุททสฺส ความว่า ไม่อิ่มด้วยรัฐของตน มีสมุทรเป็นของเขต.
               บทว่า น หตฺถิ ตัดบทว่า น หิ อตฺถิ แปลว่า ไม่มีเลย.
               บทว่า อโห วตาโน ตัดบทว่า อโห วต นุ. อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะก็อย่างนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อมราติจาหุ ตัดบทว่า อมรํอิติ จ อาหุ. ท่านอธิบายว่า ญาติล้อมญาติผู้ตาย คร่ำครวญ ชนทั้งหลายกล่าวคำเป็นต้นแม้ว่า โอ หนอ พี่ของเราตาย บุตรของเราตาย.
               บทว่า ผุสนฺติ ผสฺสํ คือ ถูกต้องมรณผัสสะ.
               บทว่า ตเถว ผุฏฺโฐ ความว่า คนโง่ฉันใด แม้นักปราชญ์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มรณผัสสะถูกต้องแล้ว ชื่อว่าคนที่มรณผัสสะไม่ถูกต้องไม่มี. ข้อความแปลกันมีดังนี้.
               บทว่า พาโล หิ พาลฺยา วิธิโตว เสติ ความว่า คนโง่อาศัยมรณผัสสะ แทงแล้วนอนอยู่ เพราะความเป็นคนพาลถูกมรณผัสสะกระทบแล้วนอนอยู่ ย่อมหวั่นไหว ย่อมผันแปรด้วยความวิปฏิสารเป็นต้นว่า เราไม่ได้กระทำความดีไว้หนอ.
               บทว่า ธีโร จ น เวธติ ความว่า คนฉลาดเห็นสุคตินิมิต ก็ไม่หวั่นไม่ไหว.
               บทว่า ยาย โวสานํ อิธาธิคจฺฉติ ความว่า บรรลุพระอรหัตที่สุดแห่งกิจทั้งปวงในโลกนี้ด้วยปัญญาอันใด ก็ปัญญาอันนั้นสูงสุดกว่าทรัพย์.
               บทว่า อโพฺยสิตตฺตา ความว่า เพราะยังอยู่ไม่จบพรหมจรรย์. อธิบายว่า เพราะยังไม่มีการบรรลุอรหัต.
               บทว่า ภวาภเวสุ ได้แก่ ในภพเลวและประณีต.
               บทว่า อุเปติ คพฺภญฺจ ปรญฺจ โลกํ ความว่า เมื่อคนเหล่านั้นกระทำบาปอยู่ สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งต้องประสบสังสารวัฏสืบๆ ไป ย่อมเข้าถึงครรภ์และโลกอื่น.
               บทว่า ตสฺสปฺปญฺโญ ความว่า คนไม่มีปัญญาอื่นก็เชื่อถือคนไม่มีปัญญาเช่นนั้นนั้น.
               บทว่า สกมฺมุนา หญฺญติ ความว่า ย่อมเดือดร้อนด้วยกรรมกรณ์มีตีด้วยหวายเป็นต้น ด้วยอำนาจกรรมที่ตนเองทำไว้.
               บทว่า เปจฺจ ปรมฺหิ โลเก ความว่า ไปจากโลกนี้แล้ว เดือดร้อนในอบายโลกอื่น.
               บทว่า วิรูปรูเปน มีรูปต่างๆ. อธิบายว่า มีสภาวะต่างๆ.
               บทว่า กามคุเณสุ ได้แก่ เห็นอาทีนพในกามคุณทั้งปวงทั้งในปัจจุบันและภายภาคหน้า.
               บทว่า ทหรา แปลว่า อ่อน โดยที่สุดเพียงเป็นกลละ.
               บทว่า วุฑฺฒา คือ เกินร้อยปี.
               บทว่า อปณฺณกํ สามญฺญเมว เสยฺโย ความว่า มหาราช อาตมภาพบวชเพราะใคร่ครวญแล้วว่า สามัญญผลเท่านั้นไม่ผลัดไม่แยกเป็นสอง นำสัตว์ออกจากทุกข์โดยส่วนเดียว เป็นธรรมอันยิ่งกว่าด้วย ประณีตกว่าด้วย เพราะฉะนั้น พระองค์ทรงเห็น ทรงสดับอย่างไร จึงตรัสข้อใด จงจำอาตมภาพว่า อาตมภาพเห็นและฟังข้อนี้จึงออกบวช แล้วก็จบเทศนาแล.

               จบอรรถกถารัฏฐปาลสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ราชวรรค รัฐปาลสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 403อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 423อ่านอรรถกถา 13 / 452อ่านอรรถกถา 13 / 734
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=6825&Z=7248
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=5284
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=5284
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :