บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ในทักขิณาคิรีชนบท ความว่า ภูเขาชื่อคิรี. คำนี้เป็นชื่อของชนบทในด้านทิศทักษิณแห่งภูเขาที่ตั้งล้อมกรุงราชคฤห์. บทว่า ที่ประตูตัณฑุลปาละ ความว่า กรุงราชคฤห์มีประตูใหญ่ ๓๒ ประตู ประตูเล็ก ๖๔ ประตู. บรรดาประตูเหล่านั้น ประตูแห่งหนึ่งชื่อว่าประตูตัณฑุปาละ. ท่านธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวหมายเอาประตูตัณฑุลปาละนั้น. คำว่า อาศัยพระราชา ความว่า ธนัญชานิพราหมณ์อันพระราชาทรงส่งไปว่า จงไปเก็บส่วนแบ่งข้าวกล้าโดยไม่เบียดเบียนประชาชน เขาไปเก็บเอาข้าวกล้ามาหมดเลย และเป็นผู้อันประชาชนพูดว่า ท่านผู้เจริญ อย่าทำพวกข้าพเจ้าให้ฉิบหาย กลับกล่าวว่า ข้าวกล้าที่หว่านไว้ในราชสกุลมีน้อย พระราชาทรงสั่งเราอย่างนี้ในเวลาที่จะมาทีเดียว พวกท่านอย่าได้คร่ำครวญไปเลย. ธนัญชานิพราหมณ์อาศัยพระราชาอย่างนี้ ชื่อว่า ย่อมปล้นพราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย. ข้าวเข้าบ้านตนโดยส่วนมาก ส่งเข้าราชสกุลมีประมาณน้อยแล. และถูกพระราชาตรัสถามว่า ท่านไม่ได้ทำการบีบบังคับพราหมณ์และคหบดีทั้งหลายหรือ ก็กราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่มหาราช ในวาระนี้ นามีข้าวกล้าน้อย เพราะฉะนั้น เมื่อข้าพระพุทธเจ้าไม่บีบบังคับเก็บเอา จึงไม่มากแล. ธนัญชานิพราหมณ์อาศัยพราหมณ์และคหบดีทั้งหลายอย่างนี้ปล้นพระราชา. คำว่า จงดื่มน้ำนมสด ความว่า จงดื่มน้ำนมสดอ่อนๆ. คำว่า แห่งภัตตาหารก่อน ความว่า เวลาภัตตาหารจักมีตราบเท่าที่ท่านนั่งดื่มนมสด. ธนัญชานิพราหมณ์แสดงว่า ชนทั้งหลายจักนำอาหารเช้ามาเพื่อเราทั้งหลาย ณ ที่นี้แหละ. ในคำว่า มารดาและบิดา ดังนี้เป็นต้น พึงทราบเนื้อความโดยนัยนี้ว่า บิดามารดาแก่เฒ่า อันบุตรพึงแสวงหาเครื่องปูลาดและเครื่องนุ่งห่มอ่อนๆ ผ้าเนื้อละเอียด โภชนะที่มีรสอร่อย และของหอมกับพวงดอกไม้ที่หอมดีเป็นต้นมาพอกเลี้ยง. บิดากระทำกิจทุกอย่างมีงานมงคลในการตั้งชื่อบุตรและธิดา พึงเลี้ยงดูบุตรและภรรยา. ก็เมื่อไม่ทำอย่างนี้ การติเตียนย่อมเกิดขึ้น. บทว่า เป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม อธิบายว่า กรรมคือความเป็นผู้ไม่มีศีลห้า หรือไม่มีศีลสิบ ชื่อว่าอธรรม ในที่นี้. บทว่า พึงฉุดคร่า คือ พึงฉุดเข้าไปสู่นรกขุมนั้นๆ เพื่อกระทำกรรมกรณ์ มีการจองจำ ๕ อย่างเป็นต้น. บทว่า ผู้ประพฤติชอบธรรม คือ ผู้มีปรกติทำการงานมีการไถนาและการค้าขายเป็นต้นที่ชอบธรรม. บทว่า ย่อมถอยลง คือ ส่างลง ได้แก่คลายลง. บทว่า กล้าขึ้น คือ กำเริบขึ้น ได้แก่เพิ่มขึ้น. บทว่า ประเสริฐ แปลว่า ประเสริฐกว่า. บทว่า เลว คือ ต่ำช้า ลามก. คำนี้ว่า สารีบุตร ก็พราหมณ์กระทำกาละแล้ว ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะพระเถระด้วยพระประสงค์ว่า เธอจงไป ณ ที่นั้นแล้วแสดงธรรมแก่พราหมณ์นั้น. แม้พระเถระก็ไปในขณะนั้นทันทีแล้วแสดงธรรมแก่มหาพรหม. จำเดิมแต่นั้นไป เมื่อพระเถระแม้กล่าวคาถา ๔ บาท ก็ไม่กล่าวถึงความหลุดพ้นด้วยสัจจะ ๔ แล. จบอรรถกถาธนัญชานิสูตรที่ ๗ ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พราหมณวรรค ธนัญชานิสูตร เรื่องธนัญชานิพราหมณ์ จบ. |