ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 56อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 62อ่านอรรถกถา 13 / 84อ่านอรรถกถา 13 / 734
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหบดีวรรค
อุปาลิวาทสูตร เรื่องทีฆตปัสสีนิครนถ์

หน้าต่างที่ ๒ / ๓.

               เรื่องป่ามาตังคะ               
               ในอดีตกาล ณ นครพาราณสี เศรษฐีผู้มีทรัพย์สมบัติ ๔๐ โกฏิมีธิดาคนหนึ่งชื่อทิฏฐมังคลิกา สะสวยน่ารักน่าชม นางเป็นที่ปรารถนาของคนเป็นอันมาก เพราะนางเพียบพร้อมด้วยรูปสมบัติ โภคสมบัติและกุลสมบัติ ชายใดส่งคนไปสู่ขอนาง นางเห็นชายนั้นแล้ว ก็จะยกเรื่องชาติ มิฉะนั้น ก็เรื่องมือเท้าเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นเป็นข้อตำหนิ กล่าวว่าผู้นั้นเป็นใคร เกิดไม่ดี ทรวดทรงไม่ดี ดังนี้เป็นต้นแล้ว ก็สั่งให้เชิญเขากลับไปเสีย แล้วพูดสั่งว่า ถ้าข้าได้เห็นคนเช่นนี้ พวกเจ้าจงเอาน้ำมา ข้าจักล้างตา แล้วก็ล้างตา. เพราะเหตุที่นางมีอาการผิดปกติที่เขาเห็นๆ กัน สั่งให้เชิญชายไปเสีย ฉะนั้น จึงเกิดเรียกชื่อนางว่า ทิฏฐมังคลิกา ชื่อเดิมหายไป.
               วันหนึ่ง นางตั้งใจจะลงเล่นน้ำในแม่น้ำคงคา จึงสั่งให้จัดตกแต่งท่าน้ำ บรรทุกของเคี้ยวของกินเป็นอันมากเต็มเล่มเกวียน เอาของหอมและดอกไม้เป็นต้น ไปขึ้นยานปิดมิดชิด มีหมู่ญาติแวดล้อมออกจากคฤหาสน์ไป.
               สมัยนั้น พระมหาบุรุษเกิดในกำเนิดคนจัณฑาล อาศัยอยู่ในเรือนที่มุงหนังนอกพระนคร เขาชื่อว่ามาตังคะ. เขาอายุ ๑๖ ปี ต้องการจะเข้าไปในพระนครด้วยกิจบางอย่าง จึงนุ่งผ้าเก่า สีเขียวผืนหนึ่ง ผูกข้อมือผืนหนึ่ง มือข้างหนึ่งถือกระเช้า ข้างหนึ่งถือกระดิ่ง ห้ามคนนั้นๆ เพื่อให้เขารู้ว่า นายเจ้าข้า โปรดระลึกไว้ว่า ข้าเป็นจัณฑาล เจียมเนื้อเจียมตัว นบนอบคนทั้งหลายที่เขาพบ เข้าไปยังพระนครเดินถนนใหญ่.
               นางทิฏฐมังคลิกาได้ยินเสียงกระดิ่ง ก็มองทางช่องม่าน เห็นนายมาตังคะเดินมาแต่ไกล ถามว่านั่นอะไร. คนของนางตอบว่า นายมาตังคะจ๊ะ นาย. นางพูดว่า ข้าทำอะไรไม่ดีไว้หนอ นี้เป็นผลของกรรมอะไร ความย่อยยับจึงปรากฏแก่ข้าหนอ ข้ากำลังไปด้วยกิจที่เป็นมงคล กลับได้พบคนจัณฑาล รังเกียจจนตัวสั่น ถ่มน้ำลายแล้วบอกพี่เลี้ยง ให้รีบนำน้ำมา ข้าจักล้างลูกตาที่เห็นคนจัณฑาล บ้วนปากที่เอ่ยชื่อ แล้วก็ล้างตาและปาก ให้กลับรถ ส่งสิ่งของที่เตรียมไว้ไปยังคฤหาสน์ ตัวเองก็ขึ้นไปสู่ปราสาท.
               พวกนักเลงสุราเป็นต้นและเหล่าคนที่บำรุงนางถามกันว่า นางทิฏฐมังคลิกาไปไหน จึงไม่มาในเวลานี้ ฟังเรื่องราวแล้วก็เคียดแค้นว่า อาศัยเจ้าจัณฑาล พวกเราจึงไม่ได้รับรางวัลใหญ่ เช่นสุรา เนื้อ ของหอม ดอกไม้เป็นต้น จงจับเจ้าจัณฑาลกันเถอะ แล้วเสาะหาจนพบสถานที่ไปตะคอกขู่มาตังคะบัณฑิตผู้ไม่ผิดว่า เฮ้ย เจ้ามาตังคะ เพราะอาศัยเจ้า พวกข้าจึงไม่ได้รางวัลอันนี้ๆ ว่าแล้ว ก็จับผมกระชากล้มลงที่พื้น กระแทกด้วยข้อศอกและก้อนหินเป็นต้น สำคัญว่าตาย จึงพากันจับลากไปทิ้งไว้ที่กองขยะ.
               ฝ่ายมหาบุรุษรู้สึกตัว คลำมือเท้าดูคิดว่า ทุกข์อันนี้อาศัยใครหนอจึงเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่อาศัยใครอื่น ต้องอาศัยนางทิฏฐมังคลิกาแน่จึงเกิดขึ้น เราเป็นลูกผู้ชายจักต้องให้นางซบลงแทบเท้าให้ได้ โกรธตัวสั่นอยู่ ไปยังประตูบ้านตระกูลของนางทิฏฐมังคลิกา นอนที่ลานบ้านด้วยตั้งใจว่า เราได้นางทิฏฐมังคลิกาจึงจะลุก เมื่อไม่ได้ก็จะตายเสียที่นี้นี่แหละ.
               สมัยนั้น ชมพูทวีปมีประเพณีว่า คนจัณฑาลโกรธนอนตายใกล้ประตูห้องของผู้ใด คนที่อยู่ในห้องของผู้นั้นทั้งหมดต้องตกเป็นจัณฑาล เมื่อคนจัณฑาลตายกลางเรือน คนที่อยู่ในเรือนทั้งหมดต้องเป็นจัณฑาล เมื่อเขาตายที่ประตูเรือน คนที่อยู่ในเรือนระหว่างสองข้างต้องเป็นจัณฑาล เมื่อเขาตายที่ลานบ้าน คนที่อยู่ในเรือนทั้ง ๑๔ หลัง ข้างโน้น ๗ ข้างนี้ ๗ ทั้งหมดต้องตกเป็นจัณฑาล แต่พระโพธิสัตว์นอนที่ลานบ้าน. คนทั้งหลายจึงบอกแก่เศรษฐีว่า นายขอรับ นายมาตังคะนอนที่ลานบ้านของนาย.
               เศรษฐีพูดว่า ไปซี พนาย เพราะเหตุอะไรกัน พวกเจ้าจงให้ทรัพย์มันมาสกหนึ่ง ให้มันลุกไป. คนเหล่านั้นออกไปบอกว่า ลุกขึ้นรับมาสกนี้ ลุกขึ้นไปเสีย.
               นายมาตังคะบอกว่า ข้าไม่ได้นอนเพื่อต้องการมาสก แต่ข้านอนเพื่อต้องการนางทิฏฐมังคลิกา. คนทั้งหลายถามว่า นางทิฏฐมังคลิกามีโทษอะไรหรือ. เขาตอบว่า พวกท่านมองไม่เห็นโทษอะไรๆ ของนางดอก ข้าไม่มีความผิด พวกคนของนางทำข้าย่อยยับ ข้าได้นางจึงจะลุก เมื่อไม่ได้ก็ไม่ลุก. คนเหล่านั้นจึงพากันไปบอกเศรษฐี เศรษฐีรู้โทษของธิดา จึงส่งคนไปพร้อมกับบอกว่า พวกเจ้าจงไปให้มันกหาปณะหนึ่ง. นายมาตังคะนั้นก็บอกว่า ข้าไม่ปรารถนากหาปณะ แต่ปรารถนานางคนเดียว.
               เศรษฐีและภริยาได้ฟังก็ได้แต่สังเวชว่า ธิดาที่เป็นที่รักของเรามีคนเดียว ก็มาทำลายประเพณีเสีย แม้เด็กอื่นก็ไม่มี จึงบอกคนทั้งหลายว่า ไปซี พ่อคุณ เดี๋ยวใครๆ จะปลิดชีวิตมันเสียหรอก เมื่อมันตาย เราทุกคนก็จะฉิบหายกัน พวกเจ้าจงอารักขามันไว้ แล้วก็ห้อมล้อมจัดแจงอารักขา ส่งข้าวต้มข้าวสวยทรัพย์ไปให้.
               ถึงอย่างนั้น นายมาตังคะนั้นก็ปฏิเสธทุกอย่าง เวลาก็ล่วงไปวันหนึ่ง สอง-สาม-สี่-ห้าวัน คนที่อยู่เรือนแห่งละ ๗ ต่อจากเรือนนั้นๆ ก็ลุกขึ้นพูดว่า พวกเราไม่อาจจะกลายเป็นจัณฑาล เพราะพวกท่านได้ พวกท่านอย่าทำให้เราฉิบหายกันเลย จงให้ทิฏฐมังคลิกา แล้วให้นายมาตังคะลุกขึ้น.
               เศรษฐีและภริยานั้นก็ส่งทรัพย์ไปให้เขาร้อยหนึ่งบ้าง พันหนึ่งบ้าง แสนหนึ่งบ้าง นายมาตังคะนั้นก็ปฏิเสธอย่างเดียว หกวันก็ล่วงไปอย่างนี้ ถึงวันที่เจ็ด คนที่อยู่ในเรือนทั้ง ๑๔ สองข้างก็ประชุมกันอีกว่า เราไม่อาจกลายเป็นจัณฑาลทั้งที่พวกท่านก็ไม่ต้องการ เราจักให้ทิฏฐมังคลิกาแก่นายมาตังคะนั้นละ. มารดาบิดาของนางเพียบด้วยความโศกศัลย์ ถึงกับแน่นิ่งล้มลงบนที่นอน.
               คนที่อยู่ในเรือนทั้ง ๑๔ หลังสองข้าง ก็พากันขึ้นปราสาท เปลื้องเครื่องประดับทุกอย่างของนาง ประหนึ่งเก็บกิ่งทองกวาวที่ดอกบานแล้ว เอาเล็บทำแสกแล้วผูกผมไว้ ให้นุ่งผ้าเขียวเก่าๆ ผูกชิ้นผ้าเขียวเก่าๆ ไว้ที่มือให้ประดับตุ้มหูดีบุกไว้ที่หูสองข้าง มอบกระเช้าใบตาล ให้ลงจากปราสาท จับแขนทั้งสองข้างไว้ ไปมอบให้มหาบุรุษพร้อมกับกล่าวว่า จงพาสามีของเจ้าไป.
               ทิฏฐมังคลิกาเป็นเด็กหญิงสุขุมาลชาติ ไม่เคยยกของหนักที่ว่าแม้แต่ดอกบัวขาบ ก็หนักเสียเหลือเกิน ก็พูดว่า ลุกขึ้นซินาย ไปกันเถอะ. พระโพธิสัตว์ก็นอนเฉยพูดว่าเราไม่ลุก. นางย้อนถามว่า จะให้พูดว่าอะไรเล่า. นายมาตังคะก็สอนว่า เจ้าจงพูดกะเราว่า ท่านมาตังคะจงลุกขึ้นซิ เจ้านาย. นางก็พูดอย่างนั้น. นายมาตังคะบอกว่า พวกคนของเจ้าใช่ไหม ทำให้เราไม่สามารถลุกขึ้น เจ้าจับแขนเราฉุดให้ลุกขึ้นซิ. นางก็กระทำตาม. พระโพธิสัตว์ทำทีว่าลุก แต่ก็กลิ้งล้มลงไปที่พื้น ร้องลั่นว่า แม่มหาจำเริญทิฏฐมังคลิกา ใช้ผู้คนทุบจนยับเยินก่อนแล้ว บัดนี้ตัวเองยังจะทุบอีก. นางพูดว่า ข้าจะทำอย่างไรเล่าเจ้านาย. จงจับสองมือฉุดให้ลุกขึ้น. นางฉุดให้ลุกขึ้นได้แล้ว พูดว่าเราไปกันเถอะนาย.
               พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ธรรมดาว่า สัตว์ดิรัจฉานมีอยู่ในป่า นี่เราเป็นมนุษย์ ข้าถูกคนของเจ้าทุบบอบช้ำ ไม่สามารถเดินไปด้วยเท้าได้ เจ้าจงเอาหลังแบกข้าไป. นางก็น้อมตัวลงก้มหลังให้ พระโพธิสัตว์ก็ขึ้นหลัง นางพาไปยังประตูเมืองด้านตะวันออก แล้วถามว่า ที่อยู่ของนายอยู่ที่นี้หรือ. เขาตอบว่า ที่ประตูเมืองด้านตะวันออก พวกลูกจัณฑาลอยู่ไม่ได้ดอก. เขาไม่บอกที่อยู่ของตน ให้นางแบกไปยังทุกประตู.
               ถามว่า เพราะเหตุไร.
               ตอบว่า เขาคิดว่า เราจะทำมานะนางที่ขึ้นถึงยอดภพให้ลดลงให้จงได้.
               มหาชนกระทำการแซ่ซ้องกึกก้องว่า นอกจากคนเช่นท่าน ไม่มีคนอื่นที่จะทำลายมานะของนางได้. ถึงประตูเมืองด้านตะวันตก นางถามว่า ที่อยู่ของนายอยู่ที่นี้หรือนาย. เขากลับย้อนถามว่า นั่นที่ไหน. นางตอบว่า ประตูเมืองด้านตะวันตกนาย. เขาบอกว่า ออกทางประตูเมืองด้านตะวันตกแล้ว มองเห็นเรือนมุงหนัง ก็ไปเถอะ. นางเดินไปถึงแล้วก็ถามว่า เรือนมุงหนังหลังนี้เป็นที่อยู่ของนายหรือ. เขาตอบว่า จ้ะ แล้วก็ลงจากหลังนาง เดินเข้าไปยังเรือนมุงหนัง.
               พระโพธิสัตว์ผู้เป็นปราชญ์แสวงหาพระสัพพัญญุตญาณอยู่ในเรือนหลังนั้น ๗-๘ วัน มิได้ทำการระคนด้วยชาติ (สมสู่) ในวันเหล่านั้น. เขาคิดแล้วคิดอีกว่าถ้าธิดาของสกุลใหญ่อาศัยเราจะไม่ประสบยศ (เกียรติ, อิสริยะ บริวาร) ยิ่งใหญ่ เราอยู่ในสำนักพระพุทธเจ้าถึง ๒๔ พระองค์ก็ยังไม่สามารถทำกิจคืออภิเษกพระราชาทั้งหลายในสกลชมพูทวีป ด้วยน้ำชำระเท้าของนางได้ ต่อแต่นั้นก็ดำริว่า เราอยู่ท่ามกลางเรือน (เป็นคฤหัสถ์) คงไม่สามารถ แต่บวชแล้วจึงจักสามารถ แล้วก็เรียกนางสั่งว่า เจ้าทิฏฐมังคลิกา แต่ก่อน ข้าอยู่คนเดียวทำงานบ้าง ก็พอเลี้ยงชีวิตอยู่ได้ แต่เดี๋ยวนี้ข้ามีภริยา ไม่ทำงาน ไม่อาจจะมีชีวิตอยู่ได้ เจ้าอย่ากระสันไปเลยจนกว่าข้าจะกลับมา.
               พระโพธิสัตว์เข้าไปป่า เก็บเอาผ้าเปื้อนๆ ที่ป่าช้าเป็นต้นมาทำผ้านุ่งผ้าห่ม บวชเป็นสมณะเที่ยวไปคนเดียว ได้ความสงัดกาย บริกรรมกสิณ ทำสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ให้เกิดแล้วดำริว่า บัดนี้ เราอาจเป็นที่พึ่งอาศัยของนางทิฏฐมังคลิกาได้ จึงเดินมุ่งหน้าไปยังกรุงพาราณสี ห่มจีวรเที่ยวภิกขาจาร เดินตรงไปยังเรือนของนางทิฏฐมังคลิกา.
               นางเห็นพระโพธิสัตว์ยืนอยู่ใกล้ประตู จำไม่ได้ก็บอกว่า โปรดไปข้างหน้าเถิดเจ้าข้า นี้ที่อยู่ของพวกคนจัณฑาล. พระโพธิสัตว์ก็ยืนอยู่ในที่นั้นนั่นแหละ นางดูแล้วดูอีกก็จำได้ เอามือทุบอก ร้องลั่นล้มลงใกล้ๆ เท้า กล่าวว่า นาย ถ้านายยังมีจิตใจอยู่เช่นนี้ เหตุไรนายจึงทำข้าให้เสื่อมจากยศใหญ่ ทำข้าให้ขาดที่พึ่ง แล้วก็คร่ำครวญไปต่างๆ เช็ดตาสองข้างลุกขึ้น รับภาชนะอาหาร นิมนต์ให้เข้าไปนั่งภายในเรือนถวายอาหาร.
               พระมหาบุรุษฉันแล้วก็กล่าวว่า ทิฏฐมังคลิกา เจ้าอย่าโศกเศร้า อย่าคร่ำครวญไปเลย เราสามารถทำให้กิจ คือการอภิเษกพระราชาทั้งหลายในสกลชมพูทวีป ด้วยน้ำชำระเท้าของเจ้า แต่เจ้าต้องทำตามคำของเราอย่างหนึ่ง เจ้าจงเข้าไปยังพระนคร ป่าวประกาศไปให้ทั่วพระนครว่า สามีของข้าไม่ใช่จัณฑาล แต่เป็นท้าวมหาพรหม.
               เมื่อพระโพธิสัตว์กล่าวอย่างนั้นแล้ว นางทิฏฐมังคลิกาก็พูดว่า นาย แม้โดยปกติ ข้าก็ถึงความย่อยยับ เพราะโทษแห่งปากจึงไม่อาจจะพูดได้. พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ก็เมื่อเรายังอยู่ในเรือน เจ้าเคยได้ยินคำพูดเหลวไหลหรือ เราไม่พูดเหลวไหลแม้ในครั้งนั้น บัดนี้เราบวชแล้วจะพูดเหลวไหลได้อย่างไร เราชื่อว่าเป็นบุรุษ พูดแต่คำจริง แล้วกล่าวต่อไปว่า วันนี้เป็นวัน ๘ ค่ำแห่งปักษ์ เจ้าจงป่าวประกาศว่า ในวันอุโบสถล่วงไป ๗ วัน นับแต่วันนี้ ท้าวมหาพรหมสามีของข้าจักทำลายวงพระจันทร์แล้วมายังสำนักของข้า ครั้นกล่าวแล้วก็หลีกไป.
               นางเชื่อ ร่าเริงยินดี กล้าหาญ เข้าไปยังพระนคร ในเวลาเช้าเย็นป่าวประกาศอย่างนั้น คนทั้งหลายก็ปรบมือหัวเราะ เย้ยหยันว่า ดูเอาเถิด นางทิฏฐมังคลิกาของพวกเรา ทำลูกจัณฑาลให้เป็นท้าวมหาพรหม. แม้วันรุ่งขึ้น นางก็เข้าไปเช้าเย็น ป่าวประกาศอย่างนั้นนั่นแหละว่า บัดนี้ ล่วงไป ๑ วัน ๒ วัน ๓ วัน ๔ วัน ๕ วัน ๖ วัน บัดนี้ท้าวมหาพรหมสามีของข้า จักทำลายวงพระจันทร์ มายังสำนักของข้า.
               พราหมณ์ทั้งหลายคิดกันว่า นางทิฏฐมังคลิกานี้กล้าหาญเกินตัวพูดออกไป บางคราวน่าจะมีจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ มาเถิดเราจักจัดแจงที่อยู่ของนางทิฏฐมังคลิกา แล้วช่วยกันแผ้วถางไปรอบๆ ภายนอกเรือนมุงหนัง โรยทรายไว้ แม้นางก็เข้าไปยังพระนครแต่เช้าในวันอุโบสถ ป่าวประกาศว่า ได้ยินว่า วันนี้ สามีของข้าจักมา.
               พราหมณ์ทั้งหลายก็คิดกันว่า นางทิฏฐมังคลิกาผู้นี้อ้างไม่ไกลเลย ได้ยินว่า วันนี้ ท้าวมหาพรหมจักมา พวกเราช่วยจัดแจงที่อยู่กันเถอะ แล้วก็ปัดกวาดเรือนมุงหนังให้สะอาด ทำพื้นที่ให้เขียวชะอุ่ม แวดล้อมด้วยผ้าใหม่ๆ ลาดบัลลังก์ที่สมควรขนาดใหญ่ ระบายเพดานผ้าไว้ข้างบน ห้อยของหอมและพวงดอกไม้ เมื่อพราหมณ์เหล่านั้นกำลังจัดแจงอยู่ ดวงอาทิตย์ก็ตก.
               พอดวงจันทร์ขึ้นพระมหาบุรุษก็เข้าปาทกฌานและอภิญญา ออกจากอภิญญาแล้วก็บริกรรม ด้วยจิตฝ่ายกามาวจร เนรมิตอัตภาพพรหมประมาณ ๑๒ โยชน์ ด้วยจิตที่ประกอบด้วยฤทธิ์ เหาะขึ้นสู่เวหาส เข้าไปภายในจันทรวิมาน ทำลายวงพระจันทร์ ซึ่งกำลังลอยขึ้นจากชายป่า ละจันทรวิมานแล้ว ก็อยู่ข้างหน้า อธิษฐานว่า ขอมหาชนจงเห็นเรา. มหาชนเห็นแล้วก็กล่าวว่า ผู้เจริญทั้งหลาย คำของนางทิฏฐมังคลิกาเป็นจริง ท้าวมหาพรหมเสด็จมา พวกเราจักบูชาท่าน แล้วถือเอาของหอมและพวงดอกไม้ยืนล้อมเรือนของนางทิฏฐมังคลิกาไว้.
               พระมหาบุรุษเหาะเวียนไปรอบๆ กรุงพาราณสี ๗ ครั้งเหนือศีรษะ รู้ว่ามหาชนเห็นแล้วละอัตภาพประมาณ ๑๒ โยชน์เสีย แล้วเนรมิตอัตภาพเท่าคนธรรมดา เมื่อมหาชนกำลังดูอยู่ ก็เข้ายังเรือนมุงหนัง. มหาชนเห็นแล้วก็พูดว่า ท้าวมหาพรหมของพวกเราเสด็จมาแล้ว พวกเจ้าจงนำม่านมาวงนิเวศน์ไว้ด้วยม่านขนาดใหญ่ยืนล้อมไว้ แม้พระมหาบุรุษก็นั่งกลางที่นอนอันมีสิริ นางทิฏฐมังคลิกาก็ยืนอยู่ใกล้ๆ.
               ครั้งนั้น พระมหาบุรุษก็ถามนางว่า ดูก่อน ทิฏฐมังคลิกา เจ้ามีระดูหรือ.
               นางตอบว่า จ้ะ นาย. พระมหาบุรุษกล่าวว่า เจ้าจงรับบุตรที่เราให้ไว้ แล้วเอาปลายนิ้วมือแตะบริเวณท้อง. ด้วยการแตะท้องเท่านั้น นางก็ตั้งครรภ์.
               พระมหาบุรุษกล่าวว่า ดูก่อนทิฏฐมังคลิกา ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ น้ำชำระเท้าของเจ้า จักเป็นน้ำอภิเษกพระราชาทั้งหลายในสกลชมพูทวีป เจ้าจงยืนขึ้น ดังนี้แล้วเนรมิตอัตภาพพรหม เมื่อมหาชนกำลังดูอยู่ก็ออกจากเรือนเหาะขึ้นสู่เวหาส เข้าไปยังวงพระจันทร์นั่นแล.
               ตั้งแต่ก่อนที่นางได้ชื่อว่า พรหมปชาบดี ชื่อว่าผู้ที่จะได้น้ำสำหรับล้างเท้าไม่มี. พวกพราหมณ์ปรึกษากันว่าพวกเราจักเชิญพรหมปชาบดีให้เข้าไปอยู่ภายในพระนคร หามไปด้วยวอทอง ไม่ให้คนที่มีชาติไม่บริสุทธิ์ ๗ ชั่วคนหามวอ. พราหมณ์ผู้มีชาติและมนต์ ๑๖ คนหามไป. คนที่เหลือบูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น เข้าไปสู่พระนคร ปรึกษากันว่า ผู้เจริญทั้งหลาย พรหมปชาบดีไม่อาจอยู่ในเรือนที่ตนเคยอยู่มาได้แล้ว พวกเราจักหาที่ดินสร้างเรือนแก่นาง นางจงอยู่ที่มณฑปที่พวกเรากำลังสร้างอยู่ ดังนี้ แล้วจัดให้นางอยู่ที่มณฑป.
               ตั้งแต่นั้นมา คนทั้งหลายได้แต่ยืนอยู่ พอเห็นนาง ผู้ต้องการไหว้ก็ต้องให้กหาปณะหนึ่งจึงจะไหว้ได้, ผู้ต้องการไหว้ในที่รอบๆ พอได้ยินเสียง ต้องให้ร้อยกหาปณะ จึงไหว้ได้, ผู้ต้องการไหว้ในที่ใกล้ ซึ่งเป็นที่ได้ยินเสียงพูดตามปกติ ต้องให้ห้าร้อยกหาปณะ จึงไหว้ได้, ผู้ต้องการวางศีรษะที่เท้าแล้วไหว้ ต้องให้หนึ่งพันกหาปณะ, ผู้ปรารถนาน้ำชำระเท้า ต้องให้หมื่นกหาปณะ จึงได้. นางมาแต่ภายนอกพระนครจนถึงมณฑปภายในพระนคร ได้ทรัพย์ประมาณร้อยโกฏิ. สกลชมพูทวีปก็เลื่องลือกัน.
               พระราชาทั้งปวงคิดว่า เราจักทำการอภิเษกด้วยน้ำชำระเท้าของพรหมปชาบดี ทรงส่งทรัพย์ไปแสนกหาปณะจึงได้น้ำมา. นางกำลังอยู่ในมณฑปนั้นแล ก็คลอดบุตรออกมา กุมารที่อาศัยพระมหาบุรุษได้มาก็ผ่องใส ถึงพร้อมด้วยลักษณะ. สกลชมพูทวีปก็โกลาหลเป็นอันเดียวกันว่า บุตรของท้าวมหาพรหมเกิดแล้ว ทรัพย์ที่ได้มาแต่คนนั้นๆ ก็ประมาณพันโกฏิ ด้วยประสงค์ว่าจะเป็นค่าขีรมณี (คือค่าน้ำนม) ของกุมาร แม้นิเวศน์ (ที่อยู่) ก็สำเร็จด้วยทรัพย์มีประมาณเพียงเท่านั้น. คนทั้งหลายปรึกษากันว่า พวกเราจักขนานนามของกุมาร แล้วตกแต่งนิเวศน์ให้กุมารสรงสนานด้วยน้ำหอม ประดับประดาแล้ว ก็ขนานนามว่ามัณฑพยะ เพราะเกิดในมณฑป กุมารจำเริญมาด้วยความสุข ก็ถึงวัยเล่าเรียนศิลปะ ปราชญ์ผู้รู้ศิลป์ในสกลชมพูทวีปก็มายังสำนักของกุมาร ให้กุมารศึกษาศิลป.
               กุมารเฉลียวฉลาดมีปัญญา ก็เล่าเรียนศิลปะที่สดับๆ มาแล้วได้เหมือนร้อยแก้วมุกดาฉะนั้น ศิลปะที่เล่าเรียนๆ ไว้แล้ว ก็ทรงจำไว้ประหนึ่งน้ำมันที่ใส่ในหม้อทองฉะนั้น ตราบจนปริยัติคล่องปาก เพราะเหตุนั้น ปริยัติที่ชื่อว่าไม่เล่าเรียนไม่มี. พราหมณ์ทั้งหลายก็ห้อมล้อมกุมารนั้นเที่ยวไป แม้กุมารนั้นก็เป็นผู้ที่พราหมณ์เลี้ยงดูแล้ว. พราหมณ์แปดหมื่นคนรับนิตยภัตในเรือน แม้เรือนของกุมารนั้นก็ใหญ่โตมีซุ้มประตูถึง ๗ ซุ้ม. ทรัพย์ที่ชาวชมพูทวีปส่งให้ในวันมงคลในเรือนก็ตกประมาณแสนโกฏิ.
               ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็ระบุว่า กุมารประมาทหรือไม่ประมาทหนอ ก็ทราบเรื่องราวของกุมารนั้นตลอด ดำริว่า กุมารที่เกิดแล้ว พราหมณ์เลี้ยงไว้ ทานที่ให้ในเขตใดมีผลมาก เขายังไม่รู้ถึงเขตนั้น เราจะไปทรมานเขา แล้วก็ห่มจีวรถือภาชนะใส่อาหาร คิดว่าซุ้มประตูทั้งหลายคับแคบนัก เราไม่อาจเข้าไปทางซุ้มประตูได้ จึงมาทางอากาศ ลง ณ น่านอากาศ ในที่ๆ พวกพราหมณ์ ๘๐,๐๐๐ คนบริโภคอาหาร แม้มัณฑพยกุมารก็ให้คนจับทัพพีทองอังคาสตน โดยสั่งว่าพวกเจ้าจงให้กับข้าวตรงนี้ ให้ข้าวตรงนี้.
               ครั้นเห็นพระโพธิสัตว์ ก็โกรธ ประหนึ่งงูพิษถูกตีด้วยท่อนไม้
               จึงกล่าวคาถานี้ว่า.
                                   กุโต นุ อาคจฺฉสิ ทุมฺมวาสี
                                   โอคลฺลโก ปํสุปิสาจโกว
                                   สงฺการโจลํ ปฏิมุญฺจ กณฺเฐ
                                   โก เร ตุวํ โหสิ อทกฺขิเณยฺโย.

                         เจ้านุ่งห่มผ้าเก่าๆ เข็ญใจ รูปร่างดังปีศาจคลุกฝุ่น
                         คล้องผ้าที่ได้มาในกองขยะไว้ที่คอ เฮ้ย ... เจ้าเป็น
                         ใคร เจ้าไม่ใช่ทักขิไณยบุคคลนี่.


               พระโพธิสัตว์ไม่โกรธ จึงกล่าวสอนเขาว่า
                                   อนฺนํ ตวยิทํ ปกตํ ยสสฺสิ
                                   ตํ ขชฺชเร ภุญฺชเร ปิยฺยเร จ
                                   ชานาสิ มํ ตฺวํ ปรทตฺตูปชีวึ
                                   อุตฺติฏฺฐปิณฺฑํ ลภตํ สปาโก.

                         ข้าวที่ท่านจัดไว้สำหรับพวกมียศ พวกมียศย่อม
                         เคี้ยวย่อมกินข้าวนั้นและดื่มน้ำนั้น. ท่านย่อมรู้
                         จักเรา ผู้ซึ่งเลี้ยงชีวิตด้วยทานที่คนอื่นให้ คน
                         จัณฑาลควรจะได้อาหารที่คนลุกขึ้นยืนยื่นให้.


               มัณฑพยกุมารนั้น เมื่อแสดงว่า ข้าวนี้ไม่ได้จัดไว้สำหรับคนเช่นท่าน
               จึงกล่าวว่า
                                   อนฺนํ มมยิทํ ปกตํ พฺราหฺมณานํ
                                   อตฺตตฺถิยา สทฺทหโต มมยิทํ
                                   อเปหิ เอตฺโต กิมิธฏฺฐิโตสิ
                                   น มาทิสา ตุยฺห ททนฺติ ชมฺม.

                         ข้าวนี้เราจัดไว้สำหรับพราหมณ์ทั้งหลาย ข้าวนี้
                         เราผู้มีศรัทธา จัดไว้เพื่อประโยชน์ของตนเอง
                         จงออกไปเสียจากที่นี้ ยังคงยืนอยู่ในที่นี้ทำไม
                         เล่า คนอย่างเราไม่ให้ทานแก่เจ้าดอก คนถ่อย.


               ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ เพื่อแสดงว่า ธรรมดาว่าทานควรให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง ทั้งที่มีคุณธรรมทั้งที่ไม่มีคุณธรรม เหมือนอย่างว่า พืชที่เขาปลูกลงในที่ลุ่มก็ดี ที่ดอนก็ดี อาศัยรสดินและรสน้ำย่อมงอกออกผลฉันใด ทานที่ชื่อว่าไร้ผลย่อมไม่มีฉันนั้น ทานที่ให้แก่ผู้มีคุณธรรม ย่อมมีผลมากเหมือนพืชที่หว่านลงในเนื้อที่นาดีฉะนั้น
               จึงกล่าวคาถานี้ว่า
                                   ถเล จ นินฺเน จ วปนฺติ พีชํ
                                   อนูปเขตฺเต ผลมาสมานา
                                   เอตาย สทฺธาย ททาหิ ทานํ
                                   อปฺเปว อาราธเย ทกฺขิเณยฺเย.

                         คนทั้งหลายผู้หวังผล ย่อมหว่านพืชลงในเนื้อที่
                         นาดอน นาลุ่ม และนาไม่ลุ่ม ไม่ดอนฉันใด
                         ท่านจงให้ทานด้วยศรัทธานั้นฉันนั้น ทำไฉน
                         จะพึงได้ผู้ที่ควรรับทาน.


               ครั้งนั้น กุมารโกรธจัด ตะคอกคนรักษาประตูเป็นต้นว่า ใครให้เจ้าคนหัวโล้นนี้เข้ามา แล้วกล่าวคาถาว่า
                                   เขตฺตานิ มยฺหํ วิทิตานิ โลเก
                                   เยสฺวาหํ พีชานิ ปติฏฺฐเปมิ
                                   เย พฺราหฺมณา ชาติมนฺตูปปนฺนา
                                   ตานีธ เขตฺตานิ สุเปสลานิ.

                         เนื้อนาที่จะปลูกพืชในโลก เรารู้แล้วพราหมณ์เหล่าใด
                         สมบูรณ์ด้วยชาติและมนต์ พราหมณ์เหล่านั้นคือเนื้อ
                         นาในที่นี้ มีศีลเป็นที่รักทั้งนั้น ดังนี้.


               แล้วสั่งว่า พวกเจ้าจงโบยเจ้าคนถ่อยผู้นี้ด้วยไม้ ลากเขาที่คอให้ออกไปข้างนอกให้พ้นซุ้มประตูทั้ง ๗ ซุ้ม. ครั้งนั้น พระมหาบุรุษจึงกล่าวกะมัณฑพยกุมารนั้นว่า
                                   คิรึ นเขน ขนสิ    อโย ทนฺเตภิ ขาทสิ
                                   ชาตเวทํ ปทหสิ    โย อิสึ ปริภาสสิ.
                         เจ้าผู้ใดบริภาษฤษี เจ้าผู้นั้นก็เหมือนขุดขุนเขาด้วยเล็บ
                         เคี้ยวเหล็กด้วยฟัน กลืนไฟลงไปในลำคอฉะนั้น.

               ครั้นกล่าวดังนั้นแล้ว ดำริว่า ถ้ากุมารนี้จะพึงให้เราจับที่มือที่เท้า ก็จะทำทุกข์ให้เกิดขึ้น จะพึงประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก แล้วก็เหาะขึ้นสู่เวหาส เพราะความเอ็นดูสัตว์ ไปลงที่ระหว่างถนน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสคาถานี้ว่า
                                   อิทํ วตฺวาน มาตงฺโค    อิสึ สจฺจปรกฺกโม
                                   อนฺตลิกฺขสฺมึ ปกฺกามิ    พฺราหฺมณานํ อุทิกฺขตํ.
                         มาตังคฤษีผู้มีสัจจะเป็นเบื้องหน้า ครั้นกล่าวคำนี้แล้ว
                         ก็หลีกไปในอากาศ ต่อหน้าพราหมณ์ผู้มองดูอยู่ ดังนี้.

               ทันใดนั้นนั่นเอง ท้าวเทวราชผู้เป็นหัวหน้าแห่งเหล่าเทวดาผู้รักษาพระนคร ก็บิดคอมัณฑพยกุมาร. หน้าของเขาก็หันไปอยู่ข้างหลัง ตาก็กลับ น้ำลายไหลยืดทางปากตัวก็แข็ง ดังถูกหลาวเสียบฉะนั้น เหล่ายักษ์ที่เป็นข้าจำนวน ๘๐,๐๐๐ คนก็กระทำแก่พราหมณ์ ๘๐,๐๐๐ คนอย่างนั้นเหมือนกัน คนทั้งหลายก็รีบไปบอกแก่พรหมปชาบดี.
               นางรีบรุดมาเห็นอาการอันแปลกนั้นแล้ว ก็กล่าวอย่างนี้ว่า
                                   อาเวฐิตํ ปิฏฺฐิโต อุตฺตมงฺคํ
                                   พาหํ ปสาเรติ อกมฺมเนยฺยํ
                                   เสตานิ อกฺขีนิ ยถา มตสฺส
                                   โก เม อิมํ ปุตฺตมกาสิ เอวํ.

                         หัวถูกบิดไปอยู่ข้างหลัง เหยียดแขนไป ทำอะไรก็ไม่ได้
                         ลูกตาก็ขาวเหมือนคนตาย ใครทำแก่บุตรนี้ของเราอย่างนี้.


               คนทั้งหลายก็บอกแก่นางว่า
                                   อิธาคมา สมโณ ทุมฺมวาสี
                                   โอคลฺลโก ปํสุปิสาจโกว
                                   สงฺการโจลํ ปริมุญฺจ กณฺเฐ
                                   โส เต อิมํ ปุตฺตมกาสิ เอวํ.

                         สมณะนุ่งผ้าเก่าเข็ญใจ รูปร่างดังปีศาจคลุกฝุ่น
                         คล้องผ้าที่เก็บมาแต่กองขยะไว้ที่คอ มาที่นี้
                         สมณะนั้นทำแก่บุตรของท่านอย่างนี้.


               นางได้ฟังแล้วก็รู้ชัดว่า เจ้านายผู้ให้ยศแก่เรารู้ว่า บุตรประมาท คงจักมาเพื่ออนุเคราะห์ต่อบุตรนั้น จึงถามคนบำรุงเลี้ยงว่า
                                   กตมํ ทิสํ อคมา ภูริปญฺโญ
                                   อกฺขาถ เม มาณวา เอตมตฺถํ
                                   คนฺตฺวาน ตํ ปฏิกเรมุ อจฺจยํ
                                   อปฺเปว นํ ปุตฺต ลเภมุ ชีวีตํ.

                         ผู้มีปัญญาดังแผ่นดิน ไปทางทิศไหน
                         มาณพทั้งหลาย พวกเจ้าจงบอกความ
                         นี้แก่เรา เราจะไปขอขมาโทษท่าน
                         ทำไฉน บุตรของเราจะพึงได้ชีวิต.


               คนเหล่านั้น ก็บอกว่า
                                   เวหาสยํ อคมา ภูริปญฺโญ
                                   ปถทฺธุโน ปณฺณรเสว จนฺโท
                                   อถาปิ โส ปุริมํ ทิสํ อคญฺฉิ
                                   สจฺจปฺปฏิญฺโญ อิสิ สาธุรูโป.

                         ท่านผู้มีปัญญาดังแผ่นดิน เหาะไปในเวหาส
                         ไปได้ตลอดเหมือนดวงจันทร์วันเพ็ญ ทั้งท่าน
                         ก็ไปทางทิศตะวันออก ท่านเป็นฤษี ปฏิญญา
                         ในสัจจะ เป็นคนดี.


               แม้พระมหาบุรุษก็อธิษฐานว่า ตั้งแต่สถานที่ลงระหว่างถนน รอยเท้าของเราอย่าหายไปด้วยอำนาจของช้างม้าเป็นต้นเลย ทิฏฐมังคลิกาคนเดียวจงเห็นเรา คนอื่นอย่าเห็น แล้วออกเที่ยวขออาหาร รับข้าวสุกคลุกพอประทังชีวิต นั่งบริโภคที่ศาลาพักคนเดินทาง วางอาหารที่เหลือบริโภคหน่อยหนึ่งไว้ในภาชนะใส่อาหารนั่นแล.
               แม้นางทิฏฐมังคลิกาลงจากปราสาทเดินไปตามระหว่างถนน พบรอยเท้าก็รู้ว่า นี้รอยเท้าของเจ้านายที่ให้ยศเรา ก็เดินไปตามรอยเท้า (พบแล้ว) ไหว้แล้วกล่าวว่า ท่านเจ้าขา ขอท่านโปรดยกโทษผิดที่ทาสของเจ้านายทำไว้ให้ข้าด้วยเถิด ก็ท่านชื่อว่าไม่อยู่ในอำนาจของความโกรธ โปรดให้ชีวิตแก่บุตรของข้าด้วยเถิด
               แล้วก็กล่าวเป็นคาถาว่า
                                   อาเวฐิตํ ปิฏฺฐิโต อุตฺตมงฺคํ
                                   พาหํ ปสาเรติ อกมฺมเนยฺยํ
                                   เสตานิ อกฺขีนิ ยถา มตสฺส
                                   โก เม อิมํ ปุตฺตมกาสิ เอวํ.

                         หัวก็ถูกบิดไปอยู่ข้างหลัง เหยียดแขนไป ทำอะไร
                         ก็ไม่ได้ ลูกตาทั้งสองก็ขาวเหมือนคนตาย ใครทำ
                         แก่บุตรนี้ของข้าอย่างนี้.


               พระมหาบุรุษกล่าวว่า เราไม่ทำอย่างนั้นดอก แต่เมื่อเหล่าภูตยักษ์และเทวดาผู้เคารพในนักบวช เห็นผู้เบียดเบียนนักบวช จักทำก็ได้กระมัง.
               นางกล่าวว่า ท่านเจ้าขา ท่านคงไม่มีใจคิดประทุษร้ายสิ้นเชิง คงเป็นพวกเทวดาทำแน่ พวกเทวดาขอขมาง่ายไหม ข้าจะปฏิบัติอย่างไรเล่า ท่านเจ้าขา.
               พระมหาบุรุษกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น เราจะบอกยาแก่เจ้า อาหารที่เหลือเรากินยังมีอยู่ในภาชนะใส่อาหารของเรา เจ้าจงเทน้ำหน่อยหนึ่งลงในภาชนะนั้น แล้วถือเอาหน่อยหนึ่งใส่ปากบุตรของเจ้า ส่วนที่เหลือเอาลงคนในภาชนะน้ำแล้วเอาใส่ปากพวกพราหมณ์แปดหมื่นคน. นางก็รับคำว่า จะทำตาม ถืออาหารไหว้พระมหาบุรุษแล้ว ก็ไปทำตามที่สั่ง พออาหารถูกใส่ลงในปาก. ท้าวเทวราชผู้เป็นหัวหน้ารู้ว่า เมื่อเจ้านายทำยาเสียเอง พวกเราก็ไม่อาจทำอะไรได้ แล้วก็ปล่อยกุมาร กุมารนั้นกลืนอาหารแล้วก็มีอาการเป็นปกติเสมือนไม่เคยทุกข์อะไรๆ เลย.
               ครั้งนั้น มารดาก็กล่าวกะกุมารนั้นว่า พ่อเอ๋ย เจ้าจงดูอาการอันแปลกของพวกพราหมณ์ประจำตระกูลของเจ้าที่ปราศจากหิริโอตตัปปะนี่สิ เป็นสมณะไม่น่าจะเป็นอย่างนี้เลย เจ้าให้พวกสมณะฉันเสียสิ พ่อ. ต่อนั้นนางก็ให้คนอาหารส่วนที่เหลือลงในภาชนะน้ำให้ใส่ลงในปากพราหมณ์ทั้งหลาย เหล่ายักษ์ก็ปล่อยทันที แล้วหนีไป.
               พวกพราหมณ์กลืนอาหารแล้ว ก็ลุกขึ้นถามว่า เอาอะไรใส่ปากพวกเรา.
               นางตอบว่า อาหารเดนของมาตังคฤษี.
               พราหมณ์เหล่านั้นไม่แสดงความเสมอภาคว่า พวกเราถูกบังคับให้กินอาหารเดนของคนจัณฑาล ไม่เป็นพราหมณ์แล้ว บัดนี้ พราหมณ์เหล่านี้ไม่ใช่พราหมณ์บริสุทธิ์ แต่นั้น จึงพากันหนีออกจากที่นั้น ไปยังแคว้นเมชฌะ รำพึงว่า พวกเราชื่อว่าพราหมณ์ผู้ต้องหวาดสะดุ้ง (หลังหวะ) ในนครของพระเจ้าเมชฌะ. ดังนี้แล้ว ก็บริโภคอยู่แต่ในกรุงราชคฤห์.
               สมัยนั้น พระโพธิสัตว์เที่ยวกระทำการข่มคนชั่ว ทรมานคนถือมานะอยู่.
               ครั้งนั้น ดาบสรูปหนึ่งชื่อชาติมันตะ เข้าใจตนเองว่าไม่มีใครเสมอเรา ไม่ยอมแม้แต่จะเข้าใจคนอื่นๆ พระโพธิสัตว์พบดาบสนั้นอาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาก็เดินไปในที่นั้น ด้วยหมายจะข่มมานะของดาบสนั้น.
               ชาติมันตดาบสจึงถามว่า พ่อมหาจำเริญ เป็นชาติอะไร. พระโพธิสัตว์ตอบว่า ข้าเป็นชาติจัณฑาล ท่านอาจารย์. ดาบสก็ตะเพิดว่า ไป ไป เจ้าจัณฑาลจงอยู่เสียทางใต้แม่น้ำคงคา อย่าทำน้ำทางเหนือแม่น้ำคงคาให้เป็นเดนเลย.
               พระโพธิสัตว์ก็ตอบรับว่า ดีละ ท่านอาจารย์ ข้าจักอยู่ในที่ท่านบอก แล้วก็ไปอยู่ทางใต้แม่น้ำคงคา อธิษฐานว่า น้ำของแม่น้ำคงคาจงไหลทวนกระแส.
               เช้าตรู่ ชาติมันตดาบสก็ลงไปยังแม่น้ำคงคา บ้วนปากล้างหน้า ชำระชฏา (ผมที่มวยไว้). พระโพธิสัตว์นั้นเคี้ยวไม้สีฟัน ถ่มเขฬะเป็นก้อนๆ ลงในแม่น้ำ ไม้สีฟันและเขฬะที่ถ่มก็ลอยไปที่ดาบสนั้น พระโพธิสัตว์อธิษฐานว่า ไม้สีฟันและเขฬะนั้นอย่าติดในที่อื่น ให้ติดอยู่ที่ชฏาของดาบสนั้นผู้เดียว ทั้งเขฬะทั้งไม้สีฟันก็ติดอยู่ที่ชฏาของดาบสนั้นเท่านั้น. ดาบสก็เดือดร้อนรำคาญใจว่า การกระทำนี่ต้องเป็นของเจ้าจัณฑาลแน่ จึงเดินไปถามว่า พ่อมหาจำเริญจัณฑาล น้ำของแม่น้ำคงคานี้ เจ้าทำให้มันไหลทวนกระแสหรือ. ขอรับ ท่านอาจารย์. ถ้าอย่างนั้น เจ้าอย่าอยู่ทางใต้แม่คงคาเลย จงอยู่เสียทางเหนือแม่คงคาเถอะ.
               พระโพธิสัตว์ก็รับคำว่า ขอรับ ท่านอาจารย์ ข้าจักอยู่ในที่ตามที่ท่านบอก แล้วก็อยู่ ณ ที่นั้น คลายฤทธิ์เสีย น้ำก็ไหลตามปกติ. ดาบสก็ประสบความย่อยยับนั้นอีก จึงไปถามพระโพธิสัตว์ว่า พ่อมหาจำเริญจัณฑาล น้ำของแม่คงคานี้ เจ้าทำให้มันไหลทวนกระแส บางครั้งก็ทำให้มันไหลตามกระแสหรือ. ขอรับ ท่านอาจารย์.
               ดาบสจึงสาปว่า เจ้าไม่ให้นักบวชผู้อยู่เป็นปกติสุข อยู่โดยสะดวกเลย ศีรษะของเจ้าจักแตกออก ๗ เสี่ยงในวันที่ครบ ๗ นับแต่วันนี้ไป. ดีละ ท่านอาจารย์ ส่วนข้าก็ไม่ให้ดวงอาทิตย์ขึ้น.
               ครั้งนั้น มหาสัตว์คิดว่า คำสาปแช่งจักตกลงเบื้องบนของดาบสนั้นเท่านั้น เราจำต้องรักษาดาบสนั้นไว้. วันรุ่งขึ้น ก็ไม่ให้ดวงอาทิตย์ขึ้นด้วยฤทธิ์ เพราะเอ็นดูสัตว์ ธรรมดาอิทธิวิสัยของผู้มีฤทธิ์เป็นอจินไตย (ไม่ควรคิด) ตั้งแต่นั้นมา ก็ไม่ปรากฏว่าดวงอาทิตย์ขึ้น ก็กำหนดกลางคืนกลางวันกันไม่ได้ ไม่มีผู้ประกอบการงาน เช่น ทำนา ค้าขายเป็นต้น คนทั้งหลายก็ประสบอันตราย ด้วยไม่รู้ว่า นี้ยักษ์บันดาล หรือภูตผี เทวดา นาค ครุฑบันดาล คิดกันว่าจะควรทำอย่างไรกันหนอ ปรึกษากันว่า ธรรมดาว่าราชสกุลมีปัญญามาก จะไม่อาจคิดถึงประโยชน์ของโลกหรือ มาพวกเราไปราชสกุลกันเถิด แล้วก็พากันไปยังราชสกุลร้องทุกข์.
               พระราชาสดับแล้วแม้จะทรงกลัว ก็ทำเป็นไม่กลัว ตรัสว่า อย่ากลัวกันไปเลย พ่อเอ๋ย ดาบสชื่อชาติมันตะอยู่ริมฝั่งแม่คงคา คงจักรู้เหตุอันนั้น เราจักไปถามท่านให้หายสงสัย พอ ๒-๓ วัน ก็เสด็จพร้อมด้วยพวกคนผู้บำเพ็ญประโยชน์เข้าไปหาดาบส ได้รับปฏิสันถารแล้ว ก็ตรัสถามเรื่องนั้น.
               ดาบสก็ทูลว่า ถวายพระพรมหาบพิตร มีจัณฑาลอยู่คนหนึ่ง เขาทำน้ำของแม่น้ำคงคานี้บางครั้งก็ให้ไหลตามกระแส บางครั้งก็ให้ไหลทวนกระแส คำอะไรๆ ที่อาตมากล่าวเพื่อประโยชน์นั้นก็มีอยู่ ขอได้โปรดตรัสถามจัณฑาลคนนั้น เขาคงจะรู้.
               พระราชาเสด็จไปยังสำนักของมาตังคฤษี ตรัสถามว่า ท่านผู้เจริญ ท่านไม่ให้ดวงอาทิตย์ขึ้นหรือ. ถวายพระพรมหาบพิตร. เพราะเหตุไรเล่า เจ้าข้า. เพราะชาติมันตดาบสสาปแช่งอาตมภาพผู้ไม่ผิด อาตมภาพจักให้ดวงอาทิตย์ขึ้นก็ต่อเมื่อชาติมันตดาบสนั้นมาไหว้อาตมภาพ ขอขมาแล้ว ถวายพระพร.
               พระราชาก็เสด็จไปตรัสชวนว่า มาเถิด ท่านอาจารย์ขอขมาดาบสเสีย. ทูลว่า มหาบพิตร อาตมาไม่ไหว้จัณฑาลดอก. ตรัสว่า อย่าทำอย่างนี้ซิ ท่านอาจารย์ โปรดเห็นแก่หน้าชาวแคว้นเถิด. ชาติมันตดาบสนั้นก็ปฏิเสธอย่างนั้นอีก. พระราชาก็เสด็จเข้าไปหาพระโพธิสัตว์ตรัสว่า ท่านอาจารย์ ท่านชาติมันตดาบสไม่ปรารถนาขอขมานี่.
               พระโพธิสัตว์ทูลว่า เมื่อชาติมันตดาบสไม่ขอขมา อาตมภาพก็ไม่ปล่อยดวงอาทิตย์.
               พระราชาทรงดำริว่า ชาติมันตดาบสผู้นี้ไม่ยอมขอขมามาตังคฤษีนี้ เมื่อชาติมันตดาบสไม่ขอขมาก็ไม่ยอมปล่อยดวงอาทิตย์ ประโยชน์อะไรแก่พวกเราด้วยดาบสนั้น เราจักเห็นแก่ชาวโลก แล้วตรัสสั่งคนทั้งหลายว่า ท่านผู้เจริญ พวกท่านจงไปจับมือเท้าชาติมันตดาบสนั้นมายังสำนักของดาบส (มาตังคฤษี) ให้นำชาติมันตดาบสนั้นมาแล้ว ให้หมอบแทบเท้าของมาตังคฤษี ตรัสว่า โปรดเอ็นดูชาวแว่นแคว้นขอขมามาตังคฤษีนั้นเสีย.
               พระโพธิสัตว์ทูลว่า อาตมภาพงดโทษกะผู้ขอขมา ก็แต่ว่าคำสาปของชาติมันตดาบสนั้นก็จักตกบนศีรษะของชาติมันตดาบสนั้นนั่นเอง เมื่ออาตมาปล่อยดวงอาทิตย์แล้ว แสงของดวงอาทิตย์จักตกบนศีรษะของชาติมันตดาบสนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ศีรษะของดาบสนั้นจักแตกออก ๗ เสี่ยง ขอดาบสนั้นอย่าประสบความย่อยยับนั้นเลย มาเถิดท่านจงลงน้ำประมาณเพียงคอ จงวางก้อนดินเหนียวขนาดใหญ่ไว้บนศีรษะ เราจักปล่อยดวงอาทิตย์ แสงของดวงอาทิตย์ตกต้องที่ก้อนดินเหนียว จักทำลายก้อนดินเหนียวนั้นแตกเป็น ๗ เสี่ยง. เมื่อดาบสนั้นทิ้งก้อนดินเหนียวเสีย แล้วดำน้ำไปโผล่ขึ้นทางท่าอื่น ท่านทั้งหลายจงบอกดาบสนั้นดังนี้ ดาบสนั้นจักมีความสวัสดีปลอดภัย.
               คนทั้งหลายก็รับคำว่าจักทำอย่างนั้น แล้วก็ทำตามสั่งทุกประการ. ความสวัสดีก็มีแก่ดาบสนั้นนั่นเองเหมือนอย่างนั้น. ตั้งแต่นั้นมา ชาติมันตดาบสนั้นก็ได้คิดว่า ขึ้นชื่อว่าชาติไม่เป็นเหตุ คุณภายในของเหล่านักบวชต่างหากเป็นเหตุ ก็ละมานะความถือชาติและโคตร ไม่มัวเมาอีกเลย. ดังนั้น เมื่อชาติมันตดาบสถูกทรมานแล้ว มหาชนก็ได้รู้ถึงเรี่ยวแรงของพระโพธิสัตว์ เกิดโกลาหลเอิกเกริกเป็นการใหญ่ พระราชาตรัสวอนขอให้พระโพธิสัตว์ไปยังพระนครของพระองค์.
               พระโพธิสัตว์ก็ถวายปฏิญญารับคำขอ ดำริว่าจักทรมานพราหมณ์แปดหมื่นคนนั้น และจักเปลื้องปฏิญญา แล้วไปยังพระนครของพระเจ้าเมชฌะ.
               พราหมณ์ทั้งหลายเห็นพระโพธิสัตว์เท่านั้น ก็ปรึกษากันว่า ท่านผู้เจริญ นี้มหาโจรผู้นั้นแหละมาแล้ว บัดนี้จักทำพวกเราให้ปรากฏ (เปิดโปง) ว่า พวกเราทั้งหมดนี้กินเดนไม่เป็นพราหมณ์แล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเราก็จักอยู่แม้ในที่นี้ไม่ได้ จักฆ่ามันก่อนละ แล้วพากันไปเฝ้าพระราชาทูลว่า ขอถวายพระพร ขอมหาบพิตรโปรดอย่าทรงสำคัญนักบวชจัณฑาลผู้นี้ว่าเป็นคนดีเลย นักบวชจัณฑาลผู้นี้รู้มนต์หนัก จับแผ่นดินทำให้เป็นอากาศก็ได้ จับอากาศทำให้เป็นแผ่นดินก็ได้ จับที่ไกลทำให้ใกล้ก็ได้ จับที่ใกล้ทำให้ไกลก็ได้ กลับแม่คงคาทำให้ไหลขึ้นก็ได้ เมื่อปรารถนาอาจพลิกแผ่นดินก็ได้ ทำอันตรายพระชนม์ชีพก็ได้ หรือว่าขึ้นชื่อว่าจิตของคนอื่นไม่อาจยึดไว้ได้ทุกเวลา นักบวชจัณฑาลผู้นี้เมื่อได้ที่พึ่งในนครนี้ก็จะพึงทำแม้ราชสมบัติของมหาบพิตรให้พินาศก็ได้ ทำอันตรายพระชนมชีพก็ได้ ตัดขาดพระราชวงศ์ก็ได้ ขอมหาบพิตรโปรดเชื่อคำของพวกอาตมาเถิด จะฆ่าเขาเสียได้ในวันนี้ก็ควร ขอถวายพระพร.
               ขึ้นชื่อว่าพระราชาทั้งหลาย ย่อมมีปรปักษ์ ดังนั้น ท้าวเธอจึงตกลงพระทัยด้วยอำนาจถ้อยคำของพราหมณ์เหล่านั้น.
               ฝ่ายพระโพธิสัตว์เที่ยวขออาหารไปในพระนคร เดินไปยังพระราชอุทยาน ปราศจากความสงสัย เพราะเป็นผู้ไม่มีความผิด นั่งบนแผ่นศิลาอันเป็นมงคล. สติระลึกไม่ได้เลยในเวลาเพียงครู่เดียว เพราะญาณที่สามารถระลึกได้ ๘๐ กัป คืออดีต ๔๐ กัปอนาคต ๔๐ กัป ระลึกไม่ได้.
               พระราชาไม่ให้คนอื่นล่วงรู้ เสด็จไปด้วยพระองค์เอง ทรงเอาพระแสงดาบฟันพระมหาบุรุษซึ่งนั่งเผลอตัว เพราะระลึกไม่ได้ ขาด ๒ ท่อน.
               ฝนคือพืชโลหะที่ ๘ ฝนคือโคลนตมที่ ๙ ก็ตกลงในแว่นแคว้นของพระราชาพระองค์นั้น ฝน ๙ ชนิดตกลงในแว่นแคว้นของพระราชาแม้พระองค์นี้ด้วยประการฉะนี้. พระราชาพระองค์นั้นพร้อมทั้งบริษัทก็บังเกิดในมหานรก.
               ด้วยเหตุนั้น สังกิจจบัณฑิตจึงกล่าวว่า
                                   อุปหจฺจ มนํ เมชฺโฌ มาตงฺคสฺมึ ยสฺสสิเน
                                   สปาริสชฺโช อุจฺฉินฺโน เมชฺฌารญฺญํ ตทา อหุ.

                         พระเจ้าเมชฌะพร้อมทั้งบริษัท ทรงขาดคุณธรรม
                         ทรงกระทบพระทัยในเพราะมาตังคะฤษีผู้มีเกียรติยศ
                         ป่าชื่อว่าเมชฌะ จึงได้มีมาแต่ครั้งนั้น.


               พึงทราบว่า ป่าเมชฌะกลายเป็นป่าไปด้วยประการฉะนี้. แต่ป่าเมชฌะนั้น ท่านเรียกว่า ป่ามาตังคะ เพราะอำนาจของฤษีชื่อมาตังคะ.

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหบดีวรรค อุปาลิวาทสูตร เรื่องทีฆตปัสสีนิครนถ์
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 56อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 62อ่านอรรถกถา 13 / 84อ่านอรรถกถา 13 / 734
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=1044&Z=1477
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=975
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=975
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :