ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 198อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 234อ่านอรรถกถา 14 / 247อ่านอรรถกถา 14 / 853
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อนุปทวรรค
พหุธาตุกสูตร

               ๕. อรรถกถาพหุธาตกสูตร               
               พหุธาตกสูตร มีคำเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
               ในพระสูตรนั้นมีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

               ภัย อุปัทวะ อุปสรรค               
               ในบทว่า ภยานิ เป็นต้น มีอธิบายว่า ความสะดุ้งแห่งจิต ชื่อว่าภัย. อาการแห่งจิตที่ไม่มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ชื่อว่าอุปัทวะ. อาการที่ติดขัดคืออาการที่ขัดข้องในอารมณ์นั้นๆ ชื่อว่าอุปสรรค.
               พึงทราบความต่างของอาการมีความกลัว (ภัย) เป็นต้นเหล่านั้นอย่างนี้:-
               พวกโจรที่อาศัยอยู่ในที่อันไม่สม่ำเสมอมีภูเขาเป็นต้น ส่งข่าวแก่ชาวชนบทว่า ในวันโน้น พวกเราจะเข้าปล้นบ้านของพวกท่าน. จำเดิมแต่ได้ฟังพฤติการณ์นั้นแล้ว พวกชาวชนบทย่อมถึงความกลัว ความสะดุ้ง มีชื่อว่าความสะดุ้งแห่งจิต.
               พวกชาวชนบทพากันคิดว่า ที่นี้พวกโจรมันโกรธจักนำเอาแม้ความพินาศมาสู่พวกเรา จึงถือเอาของสำคัญๆ เข้าป่าไปพร้อมกับสัตว์ ๒ เท้าและสัตว์ ๔ เท้า นอนบนพื้นดินในที่นั้นๆ ถูกเหลือบยุงเป็นต้นกัด ก็เข้าไประหว่างพุ่มไม้ เหยียบย่ำตอและหนาม ภาวะที่ชาวชนบทเหล่านั้นเที่ยวซัดส่ายไปอย่างนี้ ชื่อว่าอาการที่จิตไม่มีอารมณ์เป็นหนึ่ง.
               แต่นั้น เมื่อพวกโจรไม่มาตามวันที่พูด ก็พากันคิดว่า ข่าวนั้นคงจะเป็นข่าวลอยๆ พวกเรา (ควร) จักเข้าบ้านพร้อมทั้งสิ่งของ ก็พากันเข้าไปยังบ้าน. ทีนั้น พวกโจรรู้ว่าชาวบ้านกลับเข้าบ้าน จึงล้อมบ้านไว้ จุดไฟที่ประตู ฆ่าพวกมนุษย์ปล้นเอาทรัพย์สมบัติทุกสิ่งไป. บรรดามนุษย์เหล่านั้น พวกที่เหลือจากถูกฆ่า พากันดับไฟแล้ว นั่งจับเจ่าเศร้าโศกถึงสมบัติที่พินาศไปแล้วในที่นั้นๆ ที่ร่มเงายุ้งข้าวและฝาเรือนเป็นต้น. อาการที่ติดขัดดังกล่าวนี้ ชื่อว่าอาการขัดข้อง.

               ภัยเกิดจากคนพาล               
               บทว่า นฬาคารา แปลว่า เรือนที่มุงด้วยไม้อ้อ. ก็ในเรือนที่กั้นด้วยไม้อ้อนี้ แต่สัมภาระที่เหลือในเรือนนี้ล้วนแล้วด้วยไม้ (เนื้อแข็ง) แม้ในเรือนที่มุงด้วยหญ้าก็นัยนี้นั่นแหละ.
               บทว่า พาลโต อุปฺปชฺชนฺติ ความว่า อาศัยคนพาลเท่านั้นจึงเกิดขึ้น.
               เพราะคนพาลเป็นคนไม่ฉลาด ปรารถนาความเป็นพระราชา ความเป็นอุปราชหรือตำแหน่งใหญ่อย่างอื่น พาเอานักเลงโตที่เป็นเด็กขาดพ่อแม่อบรมเช่นกับตนจำนวนเล็กน้อย กล่าวว่า พวกท่านจงมา เราจักทำพวกท่านให้เป็นใหญ่ ดังนี้แล้วไปอาศัยชัฏเขาเป็นต้นอยู่ ปล้นบ้านตามชายแดน ประกาศให้รู้ว่าเป็นพวกดุร้าย (ทามริกะ) แล้วปล้นนิคมบ้าง ชนบทบ้างตามลำดับ.
               พวกมนุษย์พากันทิ้งบ้าน ต้องการที่ปลอดภัย ย่อมหลีกไป. ภิกษุก็ดี ภิกษุณีก็ดีที่อาศัยพวกมนุษย์เหล่านั้นอยู่ ก็ละทิ้งที่เป็นที่อยู่ของตนๆ หลีกไป. ในที่ที่ผ่านไปภิกษาก็ดี เสนาสนะก็ดี ย่อมเป็นของหายาก. ภัยย่อมจะมีมาแก่บริษัททั้ง ๔ ด้วยประการอย่างนี้.
               แม้ในบรรพชิตทั้งหลาย ภิกษุพาล ๒ รูปก่อการวิวาทกันเริ่มฟ้องกันขึ้น ดังนั้น การทะเลาะกันย่อมเกิดขึ้น เหมือนพวกภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ภัยย่อมมีแก่บริษัททั้ง ๔ เป็นแน่แท้ ภัยแม้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้น พึงทราบว่า เกิดจากคนพาลด้วยประการดังพรรณนามานี้.
               บทว่า เอตทโวจ ความว่า พระอานนท์คิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ (ตรัส) พระธรรมเทศนาให้ถึงที่สุด ก็ทรงจบเสีย ไฉนหนอ เราพึงทูลถามพระทศพลแล้วกระทำเทศนาให้บริบูรณ์ด้วยพระสัพพัญญุตญาณนั่นแล จึงได้กราบทูลคำมีอาทิว่า กิตฺตาวตา นุ โข ภนฺเต นี้.

               รูปปริคคหะ-อรูปปริคคหะ               
               ในบรรดาธาตุ ๑๘ อย่าง การกำหนดธาตุ ๑๐ อย่างครึ่ง ชื่อว่ารูปปริคคหะ (คือการกำหนดรูป) การกำหนดธาตุ ๗ อย่างครึ่ง เป็นอรูปปริคคหะ (คือการกำหนดอรูป) ฉะนั้นจึงเป็นอันตรัสการกำหนดทั้งรูปและอรูปทีเดียว.
               ธาตุแม้ทั้งหมดเป็นเบญจขันธ์ด้วยอำนาจขันธ์ แม้เบญจขันธ์ก็เป็นทุกขสัจ. ตัณหาอันยังเบญจขันธ์เหล่านั้นให้ตั้งขึ้นเป็นสมุทัยสัจ. ความไม่เป็นไปแห่งทุกขสัจและสมุทัยสัจทั้งสองเป็นนิโรจสัจ. ปฏิปทาเป็นเครื่องให้ถึงนิโรธ เป็นมรรคสัจ. ดังนั้นกรรมฐานมีสัจจะทั้ง ๔ เป็นอารมณ์ จึงเป็นอันพระองค์ตรัสให้ถึงที่สุด เป็นการย้ำท้ายสำหรับภิกษุรูปหนึ่ง.
               นี้เป็นความย่อในที่นี้ แต่โดยพิสดาร ธาตุเหล่านี้ได้กล่าวไว้แล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.
               ตรัสมรรคไว้พร้อมกับวิปัสสนา ด้วยบทว่า ชานาติ ปสฺสติ ตรัสปฐวีธาตุเป็นต้น เพื่อทรงแสดงกายที่มีวิญญาณโดยเป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์. ด้วยว่าปฐวีธาตุเป็นต้นนั้นจะต้องให้เต็มจำนวนด้วยธาตุ ๑๘ อย่างหมวดแรก เมื่อจะให้เต็มจำนวน ก็ควรให้เต็มโดยนำออกไปจากวิญญาณธาตุ. วิญญาณธาตุที่เหลือย่อมมี ๖ อย่างด้วยอำนาจจักขุวิญญาณเป็นต้น.
               บรรดาวิญญาณธาตุเหล่านั้น เมื่อกำหนดเอาจักขุวิญญาณธาตุ ก็เป็นอันทรงกำหนดเอาธาตุทั้งสองเหมือนกัน คือจักขุธาตุอันเป็นที่ตั้งของจักขุวิญญาณธาตุนั้น ๑ รูปธาตุที่เป็นอารมณ์ ๑ แม้ในธาตุทั้งปวงก็นัยนี้นั่นแล. แต่เมื่อกำหนดมโนวิญญาณธาตุ ธาตุทั้งสองคือมโนธาตุโดยเป็นธาตุที่มาก่อนมโนวิญญาณธาตุนั้น ๑ ธรรมธาตุโดยเป็นอารมณ์ ๑ ก็เป็นอันทรงกำหนดเอาแล้วเหมือนกัน. ด้วยเหตุนี้บรรดาธาตุ ๑๘ อย่างเหล่านี้ ธาตุ ๑๐ อย่างครึ่งจึงเป็นรูปปริคคหะ (คือการกำหนดรูป) เพราะเหตุนั้น ธาตุกรรมฐานแม้นี้ย่อมเป็นอันพระองค์ตรัสให้ถึงที่สุด เป็นการย้ำท้ายสำหรับภิกษุรูปหนึ่ง โดยนัยก่อนเหมือนกัน.

               อธิบายสุขธาตุ               
               พึงทราบวินิจฉัย ในบทว่า สุขธาตุ เป็นต้นต่อไป.
               ชื่อว่าสุขธาตุ เพราะสุขนั้นด้วย ชื่อว่าเป็นธาตุด้วย เพราะอรรถว่าไม่ใช่สัตว์และเป็นของสูญ. ในบททั้งปวงก็มีนัยนี้เหมือนกัน. ก็ในธาตุ ๖ อย่างนี้ ธาตุ ๔ ธาตุแรก ท่านถือเอาเนื่องด้วยเป็นสิ่งขัดกัน แต่ ๒ ธาตุหลังท่านถือเอาเนื่องด้วยคล้ายกัน. ธาตุคืออุเบกขาคล้ายกันกับธาตุคืออวิชชา แม้เพราะเป็นภาวะที่ไม่ชัดแจ้ง. อนึ่งในธาตุ ๖ นี้ เมื่อทรงกำหนดเอาสุขธาตุและทุกขธาตุ ก็เป็นอันทรงกำหนดเอาวิญญาณธาตุด้วย. เมื่อทรงกำหนดเอาธาตุที่เหลือ ก็เป็นอันทรงกำหนดเอามโนวิญญาณธาตุด้วย. ธาตุ ๖ อย่างแม้เหล่านี้ (คือสุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส อุเบกขา อวิชชา) ก็พึง (แจกออกไป) ให้เต็ม (รูปแบบ) โดยธาตุ ๑๘ อย่างข้างต้นนั่นแล. เมื่อจะทำให้เต็ม (รูปแบบ) ต้องทำให้เต็มจำนวน โดยนำออกจากอุเบกขาธาตุดังกล่าวมานี้ในบรรดาธาตุ ๑๘ อย่างเหล่านี้ ธาตุ ๑๐ อย่างครึ่งเป็นการกำหนดรูปแล.
               แม้กรรมฐานนี้ย่อมเป็นอันตรัสให้ถึงที่สุด เป็นการย้ำท้ายแก่ภิกษุรูปหนึ่ง โดยนัยก่อนนั่นแล.

               อธิบายกามธาตุ               
               พึงทราบเนื้อความแห่งกามธาตุเป็นต้นโดยนัยที่ตรัสไว้ในกามวิตกเป็นต้นในเทวธาวิตักกสูตร. แม้ในพระอภิธรรม กามธาตุเป็นต้นเหล่านั้น ท่านได้ให้พิสดารไว้แล้วโดยนัยมีอาทิว่า
               ธาตุเหล่านั้น กามธาตุเป็นไฉน? ได้แก่ ความตรึก ความวิตกอันประกอบด้วยกามดังนี้.
               ธาตุ ๖ แม้เหล่านี้ (คือกาม เนกขัมมะ พยาบาท อัพยาบาท วิหิงสา อวิหิงสา) ก็พึงทำให้เต็มจำนวนด้วยธาตุ ๑๘ อย่างข้างต้นนั่นแหละ. เมื่อจะทำให้เต็มจำนวนควรทำให้เต็มโดยนำออกจากกามธาตุ. ดังที่กล่าวมานั้น ธาตุ ๑๐ อย่างครึ่งในธาตุ ๑๘ อย่าง จึงเป็นรูปปริคคหะแล.
               แม้กรรมฐานนี้ก็เป็นอันพระองค์ตรัสให้ถึงที่สุด เป็นการย้ำท้ายสำหรับภิกษุรูปหนึ่ง โดยนัยก่อนนั้นแหละ.

               ขันธ์จัดเป็นธาตุ               
               ในบรรดากามธาตุเป็นต้น ขันธ์อันเป็นกามาวจร ๕ ชื่อว่ากามธาตุ ขันธ์อันเป็นรูปาวจร ๕ ชื่อว่ารูปธาตุ ขันธ์อันเป็นอรูปาวจร ๔ ชื่อว่าอรูปธาตุ.
               ก็ความพิสดารของธาตุเหล่านี้ มีมาในพระอภิธรรม โดยนัยเป็นต้นว่า
               บรรดาธาตุเหล่านั้น กามธาตุเป็นไฉน? เบื้องล่างทำอเวจีนรกให้เป็นที่สุด.
               ธาตุ ๓ แม้เหล่านี้ก็ควรทำให้เต็มจำนวนด้วยธาตุ ๑๘ ข้างต้นนั่นแหละ. เมื่อจะทำให้เต็มจำนวนควรทำให้เต็มจำนวนโดยนำออกจากกามธาตุ. ดังที่กล่าวมานั้น ธาตุ ๑๐ ครึ่งในบรรดาธาตุ ๑๘ อย่างเหล่านี้จึงเป็นรูปปริคคหะแล. แม้กรรมฐานนี้ก็เป็นอันพระองค์ตรัสให้ถึงที่สุด เป็นการย้ำท้ายสำหรับภิกษุรูปหนึ่ง โดยนัยก่อนนั่นแหละ.

               สังขตะ-อสังขตะ               
               บทว่า สงฺขตา แปลว่า อันปัจจัยทั้งหลายมาร่วมกันทำ คำนี้เป็นชื่อของขันธ์ ๕. ที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง ชื่อว่าอสังขตะ คำนี้เป็นชื่อของพระนิพพาน. ธาตุทั้งสองแม้เหล่านี้ ก็พึงทำให้เต็มจำนวนด้วยธาตุ ๑๘ อย่างข้างต้นนั่นแหละ เมื่อจะทำให้เต็มจำนวนควรทำให้เต็มโดยนำออกไปจากสังขตธาตุ. ดังที่กล่าวมานั้น ธาตุ ๑๐ อย่างครึ่งในบรรดาธาตุ ๑๘ อย่างเหล่านี้จึงเป็นรูปปริคคหะแล. แม้กรรมฐานนี้ก็เป็นอันพระองค์ตรัสให้ถึงที่สุดเป็นการย้ำท้ายสำหรับภิกษุรูปหนึ่ง โดยนัยก่อนนั่นแล.

               อายตนะภายใน-ภายนอก               
               บทว่า อชฺฌตฺติกพาหิรานิ ได้แก่ ทั้งภายในและภายนอก. ก็ในคำนี้ จักษุเป็นต้นจัดเป็นอายตนะภายใน และรูปเป็นต้นจัดเป็นอายตนะภายนอก. แม้ในที่นี้ก็ตรัสมรรคกับวิปัสสนาด้วยบทว่า ชานาติ ปสฺสติ (ย่อมรู้ ย่อมเห็น) ดังนี้.
               บทว่า อิมสฺมึ สติ อิทํ ดังนี้เป็นต้น ได้กล่าวไว้อย่างพิสดารแล้วในมหาตัณหาสังขยสูตร.

               ฐานะ-โอกาส               
               บทว่า อฏฺฐานํ ได้แก่ ปฏิเสธเหตุ.
               บทว่า อนวกาโส ได้แก่ ปฏิเสธปัจจัย.
               แม้บททั้งสองก็ห้ามเหตุด้วยกันนั่นแหละ. อันที่จริงเหตุท่านเรียกว่า ฐานะและโอกาส เพราะเป็นที่ตั้งแห่งผลของตน เพราะผลเป็นไปเนื่องกับเหตุนั้น.
               บทว่า ยํ แปลว่า เหตุใด
               บทว่า ทิฏฺฐิสมฺปนฺโน ได้แก่ พระโสดาบันอริยสาวกผู้สมบูรณ์ด้วยมรรคทิฏฐิ.
               บทว่า กิญฺจิ สงขารํ ได้แก่ สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง คือสังขารอย่างหนึ่งในบรรดาสังขารที่เป็นไปในภูมิ ๔.
               บทว่า นิจฺจโต อุปคจฺเฉยฺย คือ พึงยึดถือว่าเที่ยง
               บทว่า เนตํ ฐานํ วิชฺชติ ได้แก่ เหตุนั้นไม่มี คือจัดเข้าไม่ได้.
               บทว่า ยํ ปุถุชฺชโน ได้แก่ เพราะเหตุใด ปุถุชน.
               บทว่า ฐานเมตํ วิชฺชติ ได้แก่ เหตุนั้นมีอยู่. อธิบายว่า แท้จริงบุคคลนั้นพึงยึดสังขารอะไรๆ ในบรรดาสังขารที่เป็นไปในภูมิ ๓ โดยความเป็นของเที่ยง ด้วยสัสสตทิฏฐิ.
               แม้ในบทว่า กิญฺจิ สงฺขารํ สุขโต เป็นต้น ก็พึงทราบความหมายโดยนัยนี้ว่า ก็สังขารทั้งหลายอันเป็นไปในภูมิที่ ๔ (โลกุตรภูมิ) ย่อมไม่เป็นอารมณ์ของทิฏฐิ หรือของอกุศลทั้งหลายอื่น เหมือนก้อนเหล็กที่ร้อนระอุด้วยอำนาจความร้อนที่ร้อนระอุขึ้นเป็นต้น ย่อมไม่เป็นที่ติดใจของพวกแมลงวันฉะนั้น.
               บทว่า สุขโต อุปคจฺเฉยฺย นี้ ตรัสหมายเอาความยึดถือว่าเป็นสุขด้วยอำนาจอัตตทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นตน) อย่างนี้ว่า อัตตาเป็นสภาวะที่มีสุขโดยส่วนเดียว ไม่มีโรค เบื้องหน้าแต่ตายไป ดังนี้เป็นต้น. ก็พระอริยสาวกเข้าไปยึดถือสังขารอย่างหนึ่งว่าเป็นสุข ด้วยจิตที่เป็นทิฏฐิวิปปยุต เปรียบเหมือนช้างตัวตกมันถูกความเร่าร้อนครอบงำ มีความเย็นเหลืออยู่น้อย เพื่อระงับความเร่าร้อนจึงวิ่งเข้าอาศัยกองคูถ และเปรียบเหมือนโปกขรพราหมณ์วิ่งเข้าอาศัยกองคูถฉะนั้น.
               ในวาระที่ว่าด้วยเรื่องตน๑- ไม่ตรัสว่าสังขาร ตรัสว่าธรรมไรๆ ดังนี้ เพื่อจะรวมเอาบัญญัติมีกสิณเป็นต้นเข้าไว้ด้วย.
____________________________
๑- ฉบับพม่าเป็น อตฺตวาเร แปลตามฉบับพม่า

               แม้ในที่นี้ (คือพระสูตรนี้) พึงทราบความหมายที่เนื่องด้วยสังขารอันเป็นไปในภูมิ ๔ สำหรับพระอริยสาวก. ที่เนื่องด้วยสังขารอันเป็นไปในภูมิ ๓ เท่านั้นสำหรับปุถุชน. อีกอย่างหนึ่ง ในวาระทั้งปวง การกำหนดด้วยอำนาจสังขารที่เป็นไปในภูมิ ๓ เท่านั้น ย่อมควรแม้แก่พระอริยสาวก.
               จริงอยู่ ปุถุชนย่อมยึดถือสิ่งใดๆ พระอริยสาวกย่อมคลายความยึดถือจากสิ่งนั้นๆ ก็แม้ปุถุชนย่อมยึดถือสิ่งใดๆ ว่าเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตา พระอริยสาวกถือเอาสิ่งนั้นๆ ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ย่อมกลับความยึดถืออันนั้น.

               พระอริยะอาจไม่รู้ว่าเป็นอริยะในชาติต่อไป               
               ในคำว่า มาตรํ เป็นต้น มีอธิบายว่า หญิงผู้ให้กำเนิดนั่นแล ท่านประสงค์เอาว่ามารดา. ชายผู้ให้กำเนิด ท่านประสงค์เอาว่าบิดา. และพระขีณาสพที่เป็นมนุษย์ ท่านประสงค์เอาว่าพระอรหันต์.
               ถามว่า ก็พระอริยสาวกพึงปลงชีวิตคนอื่นหรือ?
               ตอบว่า แม้ข้อนั้นก็ไม่ใช่ฐานะที่มีได้.
               ก็ถ้าใครๆ จะพึงกล่าวกะพระอริยสาวกผู้อยู่ในระหว่างภพ (ผู้ยังเวียนว่ายตายเกิด) ทั้งที่ไม่รู้ว่าตนเป็นพระอริยสาวก แม้อย่างนี้ว่า ก็ท่านจงปลงชีวิตมดดำมดแดงนี้แล้ว ครอบครองความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในห้องจักรวาลทั้งหมดดังนี้ ท่านจะไม่ปลงชีวิตมดดำมดแดงนั้นเลย. แม้ถ้าจะกล่าวกะท่านอย่างนี้ว่า ถ้าท่านจักไม่ฆ่าสัตว์นี้ ฉันจักตัดศีรษะท่าน. แต่ท่านจะไม่ฆ่าสัตว์นั้น. คำนี้ท่านพูดเพื่อแสดงว่า ภาวะของปุถุชนมีโทษมากและเพื่อแสดงกำลังของพระอริยสาวก.
               ก็ในข้อนี้มีอธิบายดังนี้ว่า ความเป็นปุถุชนมีโทษมากตรงที่จักกระทำอนันตริยกรรมมีการฆ่ามารดาเป็นต้นได้ ส่วนพระอริยสาวกมีกำลังมากตรงที่ไม่กระทำกรรมเหล่านี้.
               บทว่า ทุฏฺฐจิตฺโต แปลว่า มีจิตประทุษร้ายด้วยจิตคิดจะฆ่า.
               บทว่า โลหิตํ อุปฺปาเทยฺย ความว่า พึงทำพระวรกายที่มีชีวิตให้ห้อพระโลหิต แม้มาตรว่าแมลงวันตัวเล็กๆ พอดื่มได้.
               บทว่า สงฺฆํ ภินฺเทยฺย คือ พึงทำลายสงฆ์ผู้มีสังวาสเสมอกัน ตั้งอยู่ในสีมาเดียวกัน โดยเหตุ ๕ ประการ.
               สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนอุบาลี สงฆ์ย่อมแตกกันโดยอาการ ๕ คือ โดยกรรม ๑ โดยอุทเทส ๑ โดยโวหาร ๑ โดยการสวดประกาศ ๑ โดยการให้จับสลาก ๑.
               ใน ๕ อย่างนั้น บทว่า กมฺเมน ได้แก่ กรรม ๔ อย่างอย่างใดอย่างหนึ่งมีอปโลกนกรรมเป็นต้น.
               บทว่า อุทฺเทเสน ได้แก่ อุทเทสอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาปาติโมกขุทเทส ๕.
               บทว่า โวหรนฺโต ความว่า กล่าวคือ แสดงเรื่องที่ทำให้แตกกัน ๑๘ ประการมีอาทิว่า แสดงสิ่งที่มิใช่ธรรมว่าเป็นธรรม ตามเหตุที่ให้เกิดเรื่องนั้นๆ.
               บทว่า อนุสฺสาวเนน ความว่า ด้วยการเปล่งวาจาประกาศใกล้หูโดยนัยเป็นต้นว่า พวกท่านรู้มิใช่หรือว่า ผมออกบวชจากตระกูลสูงและเป็นพหูสูต พวกท่านควรทำแม้ความคิดให้เกิดขึ้นว่า ธรรมดาคนอย่างผม (หรือ) ควรจะให้ถือสัตถุศาสน์นอกธรรมนอกวินัย อเวจีนรกเยือกเย็นเหมือนป่าดอกอุบลเขียวสำหรับผมหรือ? ผมไม่กลัวอบายหรือ?
               บทว่า สลากคฺคาเหน ความว่า ด้วยการประกาศอย่างนั้น สนับสนุนความคิดภิกษุเหล่านั้น ทำไม่ให้หวนกลับมาเป็นปกติแล้ว จึงให้จับสลากว่า พวกท่านจงจับสลากนี้.
               ก็ในเรื่องนี้ กรรมเท่านั้นหรืออุทเทสเป็นสำคัญ ส่วนการกล่าว (ชักชวน) การประกาศและการให้จับสลากเป็นวิธีการเบื้องต้น. เพราะเมื่อกล่าวเนื่องด้วยการแสดงเรื่อง ๑๘ ประการแล้วประกาศเพื่อทำให้เกิดความชอบใจในเรื่องนั้น แล้วจึงให้จับสลาก สงฆ์ยังเป็นอัน (นับว่า) ไม่แตกกัน แต่เมื่อใด ภิกษุ ๔ รูปหรือเกินกว่า จับสลากอย่างนั้นแล้ว แยกทำกรรมหรืออุเทส เมื่อนั้น สงฆ์ย่อมชื่อว่าแตกกัน.
               ข้อนี้ที่ว่าบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิอย่างนี้ พึงทำลายสงฆ์ดังนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้. อนันตริยกรรม ๕ มีการฆ่ามารดาเป็นต้น ย่อมเป็นอันแสดงแล้วด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้.

               วินิจฉัยอนันตริยกรรม ๕               
               เพื่อจะอธิบายอนันตริยกรรมที่ปุถุชนทำ แต่พระอริยสาวกไม่ทำ ให้แจ่มแจ้ง.
               พึงทราบวินิจฉัยโดยกรรม โดยทวาร โดยการตั้งอยู่ชั่วกัป โดยวิบากและโดยสาธารณะเป็นต้น.

               วินิจฉัยโดยกรรม               
               ใน ๕ อย่างนั้น พึงทราบวินิจฉัยโดยกรรมก่อน.
               ก็ในเรื่องกรรมนี้ เมื่อบุคคลเป็นมนุษย์ปลงชีวิตมารดาหรือบิดาผู้เป็นมนุษย์ซึ่งไม่เปลี่ยนเพศ กรรมเป็นอนันตริยกรรม. บุคคลนั้นคิดว่าเราจักห้ามผลของกรรมนั้น จึงสร้างสถูปทองประมาณเท่ามหาเจดีย์ ให้เต็มจักรวาลทั้งสิ้นก็ดี ถวายทานแก่พระสงฆ์ผู้นั่งเต็มจักรวาลทั้งสิ้นก็ดี เที่ยวไปไม่ปล่อยชายสังฆาฏิของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ดี เมื่อแตกกาย (ทำลายขันธ์) ย่อมเข้าถึงนรกเท่านั้น.
               ส่วนผู้ใด ตนเองเป็นมนุษย์ ปลงชีวิตมารดาบิดาผู้เป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือตนเองเป็นเดรัจฉาน ปลงชีวิตมารดาบิดาผู้เป็นมนุษย์ หรือเป็นเดียรัจฉานเหมือนกัน ปลงชีวิตมารดาบิดาผู้เป็นเดียรัจฉาน กรรมของผู้นั้นยังไม่เป็นอนันตริยกรรม แต่เป็นกรรมหนัก ตั้งอยู่ใกล้ชิดอนันตริยกรรม.
               แต่ปัญหานี้ ท่านกล่าวเนื่องด้วยสัตว์ผู้มีกำเนิดเป็นมนุษย์.
               ในปัญหานั้นควรกล่าวเอฬกจตุกกะ สังคามจตุกกะและโจรจตุกกะ.
               อธิบายว่า มนุษย์ฆ่ามารดาบิดาที่เป็นมนุษย์ซึ่งอยู่ในที่ที่แพะอยู่ แม้ด้วยความมุ่งหมายว่า เราจะฆ่าแพะ ย่อมต้องอนันตริยกรรม. แต่ฆ่าแพะด้วยความมุ่งหมายว่าเป็นแพะ หรือด้วยความมุ่งหมายว่าเป็นมารดาบิดา ย่อมไม่ต้องอนันตริยกรรม. ฆ่ามารดาบิดาด้วยความมุ่งหมายว่าเป็นมารดาบิดา ย่อมต้องอนันตริยกรรมแน่.
               ใน ๒ จตุกกะแม้ที่เหลือก็มีนัยดังกล่าวนี้นั่นแหละ.
               พึงทราบจตุกกะเหล่านี้แม้ในพระอรหันต์เหมือนในมารดาบิดา.
               ฆ่าพระอรหันต์ที่เป็นมนุษย์เท่านั้น ต้องอนันตริยกรรม. ที่เป็นยักษ์ (เทวดา) ไม่ต้อง (อนันตริยกรรม). แต่กรรมเป็นกรรมหนัก เช่นอนันตริยกรรมเหมือนกัน.
               ก็สำหรับพระอรหันต์ที่เป็นมนุษย์ เมื่อประหารด้วยศัสตราหรือแม้ใส่ยาพิษในเวลายังเป็นปุถุชน ถ้าท่านบรรลุพระอรหัตแล้วตายด้วยการกระทำอันนั้น เป็นอรหันตฆาตแน่ๆ.
               ส่วนทานที่ถวายในเวลาท่านเป็นปุถุชน ซึ่งท่านฉันแล้วบรรลุพระอรหัต ทานนั้นเป็นอันให้แก่ปุถุชนนั่นแหละ. ไม่มีอนันตริยกรรม แก่คนผู้ฆ่าพระอริยบุคคลทั้งหลายที่นอกเหนือจากพระอรหันต์. แต่กรรมเป็นกรรมหนัก เช่นเดียวกับอนันตริยกรรมนั่นแล.
               พึงทราบวินิจฉัยในโลหิตุปปาทกรรม (กรรมคือการทำพระโลหิตให้ห้อ) ต่อไป.
               ชื่อว่าการทำให้หนังขาดด้วยความพยายามของคนอื่น แล้วทำให้เลือดออก ไม่มีแก่พระตถาคต เพราะพระองค์มีพระวรกายไม่แตก แต่พระโลหิตคั่งอยู่ในที่เดียวกันในภายในพระสรีระ. แม้สะเก็ดหินที่แตกกระเด็นไปจากศิลาที่พระเทวทัตกลิ้งลงไป กระทบปลายพระบาทของพระตถาคต พระบาทได้มีพระโลหิตห้ออยู่ข้างในทีเดียว ประหนึ่งถูกขวานทุบ. เมื่อพระเทวทัตทำเช่นนั้น จึงจัดเป็นอนันตริยกรรม.
               ส่วนหมอชีวกเอามีดตัดหนังพระบาทตามที่พระตถาคตทรงเห็นชอบ นำเลือดเสียออกจากที่นั้น ทำให้ทรงพระสำราญ เมื่อทำอย่างนั้น เป็นการกระทำที่เป็นบุญทีเดียว.
               ถามว่า ต่อมา เมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว ชนเหล่าใดทำลายเจดีย์ ทำลายต้นโพธิ์ ประทุษร้ายพระบรมธาตุ กรรมอะไรจะเกิดแก่ชนเหล่านั้น?
               ตอบว่า (การทำเช่นนั้น) เป็นกรรมหนัก เสมอด้วยอนันตริยกรรม. แต่การตัดกิ่งไม้โพธิ์ที่ขึ้นเบียดพระสถูปที่บรรจุพระธาตุหรือพระปฏิมา ควรทำ. แม้ถ้าพวกนกจับที่กิ่งโพธิ์นั้นถ่ายอุจจาระรดพระเจดีย์ ก็ควรตัดเหมือนกัน. ก็เจดีย์ที่บรรจุพระสรีรธาตุสำคัญกว่าบริโภคเจดีย์ (เจดีย์ที่บรรจุเครื่องใช้สอยของพระพุทธเจ้า) แม้รากโพธิ์ที่งอกออกไปทำลายพื้นที่ที่ตั้งเจดีย์ จะตัดทิ้งก็ควร.
               ส่วนกิ่งโพธิ์กิ่งใดขึ้นเบียดเรือนโพธิ์ จะตัดกิ่งโพธิ์นั้นเพื่อรักษาเรือน (โพธิ์) ไม่ควร. ด้วยว่า เรือนมีไว้เพื่อต้นโพธิ์ ไม่ใช่ต้นโพธิ์มีไว้เพื่อประโยชน์แก่เรือน แม้ในเรือนอาสนะก็มีนัยนี้เหมือนกัน. ก็ในเรือนอาสนะใด เขาบรรจุพระบรมธาตุไว้ เพื่อจะรักษาเรือนอาสนะนั้น จะตัดกิ่งโพธิ์เสียก็ได้. เพื่อการบำรุงต้นโพธิ์จะตัดกิ่งที่ค้อมลง หรือที่ (เนื้อ) เสียออกไป ก็ควรเหมือนกัน แม้บุญก็ได้ เหมือนในการปฏิบัติพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พึงทราบวินิจฉัยในการทำสังฆเภทต่อไป.
               ความแตกกันและอนันตริยกรรม ย่อมมีแก่ภิกษุผู้เมื่อสงฆ์ผู้อยู่ในสีมา ไม่ประชุมกัน พาบริษัทแยกไปทำการชักชวน การสวดประกาศและการให้จับสลาก ผู้ทำกรรมหรือสวดอุทเทส. แต่เมื่อภิกษุทำกรรมด้วยคิดว่าควร เพราะสำคัญว่าเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน เป็นความแตกกันเท่านั้น ไม่เป็นอนันตริยกรรม. เพราะบริษัทหย่อนกว่า ๙ รูปก็เหมือนกัน (เป็นความแตกกัน แต่ไม่เป็นอนันตริยกรรม) โดยกำหนดอย่างต่ำที่สุด ในคน ๙ คน คนใดทำลายสงฆ์ได้ อนันตริยกรรมย่อมมีแก่คนนั้น. สำหรับพวกอธรรมวาทีผู้คล้อยตามย่อมมีโทษมาก ผู้เป็นธรรมวาทีไม่มีโทษ.
               ในการทำลายหมู่ของภิกษุทั้ง ๙ รูปนั้น (สงฆ์ ๙ รูป) นั้น (ปรากฏ) พระสูตรเป็นหลักฐานดังนี้ว่า ดูก่อนอุบาลี ฝ่ายหนึ่งมีภิกษุ ๔ รูป อีกฝ่ายหนึ่งมี ๔ รูป รูปที่ ๙ สวดประกาศให้จับสลากว่า นี้ธรรม นี้วินัย นี้สัตถุศาสน์ พวกท่านจงถือเอาสิ่งนี้ จงชอบใจสิ่งนี้. ดูก่อนอุบาลี ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ย่อมมีอย่างนี้แล. ดูก่อนอุบาลี ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ย่อมมีแก่ภิกษุจำนวน ๙ รูปหรือเกินกว่า ๙ รูปได้ดังนี้.
               ก็บรรดาอนันตริยกรรมทั้ง ๕ ประการเหล่านั้น สังฆเภทเป็นวจีกรรม ที่เหลือเป็นกายกรรม พึงทราบวินิจฉัยโดยกรรมด้วยประการดังนี้แล.

               วินิจฉัยโดยทวาร               
               บทว่า ทฺวารโต ความว่า ก็กรรมเหล่านี้ทั้งหมดนั่นแหละ ย่อมตั้งขึ้นทางกายทวารบ้าง วจีทวารบ้าง. ก็ในเรื่องนี้ กรรม ๔ ประการเบื้องต้น ถึงจะตั้งขึ้นทางวจีทวารด้วยอาณัตติกประโยค (การสั่งบังคับ) ก็ให้เกิดผลทางกายทวารได้เหมือนกัน สังฆเภทแม้จะตั้งขึ้นทางกายทวารของภิกษุผู้ทำการทำลายด้วยใช้หัวแม่มือ ให้เกิดผลทางวจีทวารได้เหมือนกัน ในเรื่องที่ว่าด้วยสังฆเภทนี้ พึงทราบวินิจฉัยแม้โดยทวารด้วยประการดังนี้.

               วินิจฉัยโดยตั้งอยู่ชั่วกัป               
               บทว่า กปฺปฏฺฐิติยโต ความว่า ก็ในอธิการนี้ สังฆเภทเท่านั้นตั้งอยู่ชั่วกัป. ด้วยว่าบุคคลทำสังฆเภทในคราวกัปเสื่อมหรือตอนกลางของกัป ในเมื่อกัปพินาศไป ย่อมพ้น (จากกรรมได้) ก็แม้ถ้าว่า พรุ่งนี้กัปเสื่อมพินาศ ทำสังฆเภทวันนี้ พอพรุ่งนี้ก็พ้น ตกนรกวันเดียวเท่านั้น. แต่เหตุการณ์อย่างนี้ไม่มี. กรรม ๔ ประการที่เหลือเป็นอนันตริยกรรมอย่างเดียว ไม่เป็นกรรมที่ตั้งอยู่ชั่วกัป. พึงทราบวินิจฉัยโดยการตั้งอยู่ชั่วกัปในเรื่องนี้ ด้วยประการฉะนี้.

               วินิจฉัยโดยวิปาก               
               บทว่า ปากโต ความว่า ก็บุคคลใดทำอนันตริยกรรมเหล่านี้แม้ทั้ง ๕ ประการ สังฆเภทอย่างเดียวย่อมให้ผลเนื่องด้วยการปฏิสนธิแก่บุคคลนั้น. กรรมที่เหลือย่อมนับเข้าในข้อมีอาทิอย่างนี้ว่า “เป็นอโหสิกรรม แต่ไม่เป็นอโหสิวิบาก” ในเมื่อไม่มีการทำสังฆเภท การทำพระโลหิตให้ห้อขึ้นย่อมให้ผล. ในเมื่อไม่มีการทำพระโลหิตให้ห้อขึ้น อรหันตฆาตย่อมให้ผล. และในเมื่อไม่มีอรหันตฆาต ถ้าบิดามีศีล มารดาไม่มีศีล ปิตุฆาตย่อมให้ผล หรือบิดาไม่มีศีล แต่มารดามีศีล มาตุฆาตย่อมให้ผล เนื่องด้วยการให้ปฏิสนธิ. ถ้ามาตาปิตุฆาตจะให้ผลไซร้ในเมื่อท่านทั้งสองเป็นคนมีศีลด้วยกัน หรือเป็นคนไม่มีศีลด้วยกัน มาตุฆาตเท่านั้นย่อมให้ผลเนื่องด้วยปฏิสนธิ เพราะมารดาทำสิ่งที่คนทำได้ยากกับทั้งมีอุปการะมากแก่พวกลูกๆ.
               พึงทราบวินิจฉัยแม้โดยวิบากในเรื่องอนันตริยกรรมนี้ ด้วยประการอย่างนี้.

               วินิจฉัยโดยสาธารณะเป็นต้น               
               บทว่า สาธารณาทีหิ ความว่า อนันตริยกรรม ๔ ประการข้อต้นๆ เป็นกรรมทั่วไปแก่คฤหัสถ์และบรรพชิตแม้ทั้งหมด. แต่สังฆเภทเป็นกรรมเฉพาะภิกษุผู้มีประการดังตรัสไว้โดยพระบาลีว่า
               ดูก่อนอุบาลี ภิกษุณีทำลายสงฆ์ไม่ได้ สิกขมานา สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา (เหล่านี้) ก็ทำลายสงฆ์ไม่ได้.
               ดูก่อนอุบาลี ภิกษุเหล่านั้นที่เป็นปกตัตตะมีสังวาสเสมอกันอยู่ในสีมาเดียวกัน จึงจะทำลายสงฆ์ได้.
               ดังนี้ (สังฆเภท) ไม่เป็นกรรมสำหรับคนอื่น เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องไม่ทั่วไป (แก่คนพวกอื่น). ด้วยอาทิศัพท์ (ในบทว่า สาธารณาทีหิ) บุคคลเหล่านั้นทั้งหมด ท่านประสงค์เอาว่า เป็นผู้มีทุกขเวทนา สหรคตด้วยทุกข์ และสัมปยุตด้วยโทสะและโมหะ. พึงทราบวินิจฉัยแม้โดย (เป็นกรรมที่) สาธารณะเป็นต้นในที่นี้อย่างนี้แล.

               แก้บท อญฺญํ สตฺถารํ               
               บทว่า อญฺญํ สตฺถารํ ความว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ พึงยึดถืออย่างนี้ว่า พระศาสดาของเรานี้ไม่สามารถทำหน้าที่ของพระศาสดาได้ และแม้ในระหว่างภพจะพึงยึดถือเจ้าลัทธิอื่นอย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้เป็นศาสดาของเราดังนี้ ข้อที่กล่าวมานั้น ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

               เขต ๓               
               บทว่า เอกิสสา โลกธาตุยา ได้แก่ หมื่นโลกธาตุ.
               ก็เขตมี ๓ เขตคือ ชาติเขต อาณาเขต วิสัยเขต.
               ในเขตทั้งสามนั้น หมื่นโลกธาตุ ชื่อว่าชาติเขต. เพราะหมื่นโลกธาตุนั้นย่อมไหว ในเวลาพระตถาคตเสด็จลงสู่พระครรภ์ เสด็จออกทรงผนวช ตรัสรู้ ประกาศพระธรรมจักร ทรงปลงอายุสังขาร และเสด็จปรินิพพาน. ส่วนแสนโกฏิจักรวาล ชื่ออาณาเขต. เพราะอาณา (อำนาจ) ของอาฏานาฏิยปริตร โมรปริตร ธชัคคปริตร รัตนปริตรและเมตตาปริตรเป็นต้น ย่อมแผ่ไปในแสนโกฏิจักรวาลนี้.
               ส่วนวิสัยเขตไม่มีปริมาณ (คือนับไม่ได้) อันที่จริง พระพุทธเจ้าทั้งหลายจะชื่อว่าไม่มีวิสัยก็หามิได้ เพราะพระบาลีว่า พระญาณมีเท่าใด สิ่งที่ควรรู้ก็มีเท่านั้น สิ่งที่ควรรู้มีเท่าใด พระญาณก็มีเท่านั้น สิ่งที่ควรรู้มีพระญาณเป็นที่สุด พระญาณมีสิ่งที่ควรรู้เป็นที่สุด.

               พระพุทธเจ้าไม่อุบัติในจักรวาลอื่น               
               ไม่มีพระสูตรที่ว่า “ก็ในเขตทั้ง ๓ เหล่านี้ เว้นจักรวาลนี้แล้วพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมเสด็จอุบัติในจักรวาลอื่น” ดังนี้ มีแต่พระสูตรว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่เสด็จอุบัติในจักรวาลอื่น. ปิฎก ๓ คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก การสังคายนาปิฎก ๓ ครั้ง คือการสังคายนาของพระมหากัสสปเถระ การสังคายนาของพระยศเถระ การสังคายนาของพระโมคคัลลีบุตรเถรแล. ในพุทธพจน์คือ พระไตรปิฎกที่ยกขึ้นสังคายนา ๓ ครั้งเหล่านี้ ไม่มีสูตรว่า “พ้นจักรวาลนี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงบังเกิดขึ้นในจักรวาลอื่นได้” มีแต่ไม่ทรงบังเกิดขึ้น (ในจักรวาลอื่น).
               บทว่า อปุพพํ อจริมํ แปลว่า ไม่ก่อนไม่หลัง. อธิบายว่า ไม่เกิดร่วมกัน คือ เกิดก่อนหรือภายหลัง.
               ก็ในคำนั้นไม่ควรเข้าใจว่า ในกาลก่อนเพียงเท่าที่ทรงถือปฏิสนธิในพระครรถ์พระมารดา จนถึงเวลาที่ประทับนั่งที่โพธิบัลลังก์ ด้วยทรงอธิษฐานว่า เรายังไม่บรรลุพระโพธิญาณจักไม่ลุกขึ้น. เพราะท่านทำการกำหนดเขตไว้ด้วยการยังหมื่นจักรวาลให้หวั่นไหว ในเพราะการถือปฏิสนธิของพระโพธิสัตว์นั่นแล. เป็นอันห้ามการเสด็จอุบัติของพระพุทธเจ้าพระองค์อื่น.
               ไม่ควรเข้าใจว่าในภายหลังตั้งแต่เสด็จปรินิพพาน จนกระทั่งพระบรมธาตุมีขนาดเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดยังประดิษฐานอยู่. เพราะเมื่อพระบรมธาตุยังดำรงอยู่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมเป็นอันยังอยู่ทีเดียว. เพราะฉะนั้นในระหว่างเวลาดังกล่าวนี้ ย่อมเป็นอันห้ามการเสด็จอุบัติแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นอย่างเด็ดขาด.
               แต่เมื่อพระบรมธาตุเสด็จปรินิพพานแล้ว ไม่ห้ามการเสด็จอุบัติแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์อื่น.

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อนุปทวรรค พหุธาตุกสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 198อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 234อ่านอรรถกถา 14 / 247อ่านอรรถกถา 14 / 853
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=3432&Z=3646
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=1803
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=1803
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :