บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
พึงทราบวินิจฉัยในสังขารูปปัตติสูตรนั้นดังต่อไปนี้. ความว่า ความเกิดขึ้นแห่งสังขารทั้งหลายเท่านั้น ชื่อว่า สงฺขารูปปตฺติ ไม่ใช่การอุปบัติของสัตว์ ของบุคคล. อีกอย่างหนึ่ง อุปปัตติภพ คือความอุบัติแห่งขันธ์ทั้งหลายด้วยปุญญาภิสังขาร ชื่อว่า สงฺขารูปปตฺติ. บทว่า สทฺธาย สมนฺนาคโต ความว่า ธรรม ๕ ประการมีศรัทธาเป็นต้น เป็นโลกิยะ. บทว่า ทหติ แปลว่า ตั้งไว้. บทว่า อธิฏฺฐาติ ได้แก่ ประดิษฐานไว้. บทว่า สงฺขารา จ วิหารา จ (แปลว่า ความปรารถนาและวิหารธรรม) ได้แก่ ธรรม ๕ ประการมีศรัทธาเป็นต้นนั่นแหละ พร้อมด้วยความปรารถนา. บทว่า ตตฺรูปปตฺติยา คือ เพื่อต้องการเกิดในที่นั้น. บทว่า มคฺโค ปฏิปทา ได้แก่ ธรรม ๕ ประการนั่นแหละพร้อมกับความปรารถนา. อธิบายว่า บุคคลใดมีธรรม ๕ ประการ แต่ไม่มีความปรารถนา คติของบุคคลนั้นไม่ต่อเนื่องกัน. บุคคลใดมีความปรารถนา แต่ไม่มีธรรม ๕ ประการ คติแม้ของบุคคลนั้นก็ไม่ต่อเนื่องกัน. บุคคลเหล่าใดมีธรรม ๕ ประการและความปรารถนาทั้งสองอย่าง คติของบุคคลเหล่านั้นต่อเนื่องกัน. อุปมาเหมือนบุคคลยิงลูกศรไปในห้วงอากาศ กำหนดไม่ได้ว่าจะเอาปลาย หรือตรงกลาง หรือเอาโคนลงฉันใด การถือปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นก็ฉันนั้น เอาแน่นอนไม่ได้ เพราะฉะนั้น กระทำกุศลกรรมแล้วทำความปรารถนาในที่แห่งหนึ่งย่อมควร. บทว่า อามณฺฑํ ได้แก่ ผลมะขามป้อม. ผลมะขามป้อมนั้นย่อมปรากฏโดยประการทั้งปวงทีเดียวแก่บุรุษผู้มีตาดีฉันใด พันแห่งโลกธาตุพร้อมทั้งสัตว์ผู้เกิดในนั้น ย่อมปรากฏแก่พรหมนั้นฉันนั้น. ในทุกบทก็มีนัยดังกล่าวนี้. บทว่า สุโภ แปลว่า งาม. บทว่า โชติมา คือ ถึงพร้อมด้วยอาการ. บทว่า สุปริกมฺมกโต ได้แก่ มีบริกรรมอันทำไว้ดีแล้วด้วยการเจียระไนเป็นต้น. บทว่า ปณฺฑุกมฺพเล นิกฺขิตโต ได้แก่ วางไว้บนผ้ากัมพลแดง. บทว่า สตสหสฺโส ได้แก่ พรหมผู้แผ่แสงสว่างไปในแสนโลกธาตุ. บทว่า นิกฺขํ ได้แก่ เครื่องประดับที่ทำด้วยทองนิกขะ ๕ สุวัณณะ ทองเนื้อห้า ชื่อว่านิกขะ ก็เครื่องประดับที่ทำด้วยทองหย่อนนิกขะจะไม่ทนต่อการตีและการขัดสี แต่ที่ทำด้วยทองเกินนิกขะจะทนต่อการตีและการขัดสี แต่มีสีไม่สวย ปรากฏเป็นธาตุหยาบ. ที่ทำด้วยทองนิกขะจะทนต่อการตีและการขัดสี. บทว่า ชมฺโพนทํ คือ เกิดในแม่น้ำชมพู. ก็กิ่งหนึ่งๆ ของต้นหว้าใหญ่ (มหาชมพู) แผ่กว้างไปกิ่งละ ๕๐ โยชน์. แม่น้ำสายใหญ่ๆ ไหลผ่านไปทางพื้นที่ทั้งหลายเหล่านั้น หน่อทองคำเกิดขึ้นในที่ที่ผลชมพูตกลง ณ สองฟากฝั่งของแม่น้ำเหล่านั้น ถูกน้ำในแม่น้ำนั้นพัดพาไหลเข้าไปสู่มหาสมุทรโดยลำดับ. ท่านหมายถึงทองที่เกิดดังกล่าวนั้น จึงกล่าวว่า ชมฺโพนทํ (ทองนิกขะที่เกิดในแม่น้ำชมพู) ดังนี้. บทว่า ทกฺขกมฺมารปุตฺตอุกฺกามุขสุกุสลสมฺปหฏฺฐํ ความว่า อันบุตรช่างทองผู้ฉลาด ผู้ขยัน หลอมในเบ้าให้ได้ที่แล้ว. บทว่า อุกฺกามุเข ได้แก่ ในเตา. บทว่า สมฺปหฏฺฐํ คือ ทั้งสุม (ไล่ขี้) ทั้งตีและขัด. ก็ในวัตถูปมสูตรและธาตุวิภังคสูตร ตรัสการทำทองทั้งก้อนให้บริสุทธิ์ แต่ในพระสูตรนี้ ตรัสการทำทองรูปพรรณให้บริสุทธิ์. ก็ในคำว่า ผริตฺวา อธิมุจฺจิตฺวา ซึ่งตรัสไว้ในทุกวาระนั้น การแผ่ไปมี ๕ อย่าง คือแผ่ไปด้วยจิต ๑ แผ่ไปด้วยกสิณ ๑ แผ่ไปด้วยทิพยจักษุ ๑ แผ่ไปด้วยแสงสว่าง ๑ แผ่ไปด้วยสรีระ ๑. ในการแผ่ ๕ อย่างนั้น การรู้จิตของสัตว์ทั้งหลายในพันโลกธาตุ ชื่อว่าแผ่ไปด้วยจิต. การแผ่กสิณไปในพันโลกธาตุ ชื่อว่าแผ่ไปด้วยกสิณ. การขยายแสงสว่างออกไปแล้วดูพันโลกธาตุ ชื่อว่าแผ่ไปด้วยทิพยจักษุ. แม้การแผ่ไปด้วยแสงสว่าง ก็คือการแผ่ไปด้วยทิพยจักษุนั่นแหละ. การแผ่รัศมีแห่งสรีระไปในพันโลกธาตุ ชื่อว่าการแผ่ไปด้วยสรีระ. ในที่ทุกแห่ง ควรกล่าวการแผ่ ๕ ประการนี้ ไม่ให้แตกแยกกัน. ส่วนพระติปิฎกจุลลาภยเถระกล่าวว่า ในการเปรียบด้วยแก้วมณี การแผ่ไปย่อมปรากฏเหมือนแผ่ด้วยกสิณ ในการเปรียบด้วยทองนิกขะ การแผ่ย่อมปรากฏเหมือนแผ่ไปด้วยรัศมีแห่งสรีระ. ดูเหมือนท่านจะปฏิเสธวาทะของท่านติปิฎกจุลลาภยเถระว่า ชื่อว่าอรรถกถา (การอธิบายความอย่างที่ท่านว่านั้น) ไม่มี แล้วกล่าวว่า การแผ่รัศมีแห่งสรีระไม่มีตลอดกาล ควรกล่าวโดยไม่ทำให้การแผ่ ๔ ประการเสียหาย. บทว่า อธิมุจฺจติ เป็นไวพจน์ (คำใช้แทนกันได้) ของบทว่า ผรณะ (คือการแผ่). อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ผรติ ได้แก่ แผ่ไป. บทว่า อธิมุจฺจติ ได้แก่ รู้อยู่. ในบทว่า อาภา เป็นต้น เทวดาอีกเหล่าหนึ่งต่างหาก ชื่อว่าอาภาเป็นต้น ไม่มี (มีแต่) เทวดา ๓ เหล่า มีเหล่าปริตตาภาเป็นต้น ชื่อว่าอาภา. เทวดาเหล่าปริตตาสุภาเป็นต้น และเหล่าสุภกิณหาเป็นต้น ชื่อว่าสุภา. เทวดาเหล่าเวหัปผลาเป็นต้นปรากฏชัดแล้ว. บุคคลอบรมธรรม ๕ ประการเหล่านี้ จะเกิดในสวรรค์ชั้นกามาวจรได้ (ก็ไม่ว่ากระไร) ก่อน แต่ท่านจะบังเกิดในพรหมโลก และถึงความสิ้นอาสวะได้ อย่างไร? ธรรม ๕ ประการ (คือศรัทธา ศีล สุตะ จาคะและปัญญา) เหล่านี้เป็นศีล. บุคคลนั้นตั้งอยู่ในศีลนี้แล้วกระทำกสิณบริกรรม ทำสมาบัติทั้งหลายเหล่านั้นให้เกิดขึ้นในกาลนั้น ย่อมบังเกิดในพรหมโลกที่มีรูป. ทำอรูปฌานทั้งหลายให้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมบังเกิดในพรหมโลกที่ไม่มีรูป. เจริญวิปัสสนาอันมีสมาบัติเป็นปทัฏฐานแล้วทำให้แจ้งอนาคามิผล ย่อมเกิดในชั้นสุทธาวาส ๕. เจริญมรรคให้สูงขึ้น ย่อมถึงความสิ้นอาสวะแล. จบอรรถกถาสังขารูปปัตติสูตรที่ ๑๐ ----------------------------------------------------- รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. อนุปทสูตร ๒. ฉวิโสธนสูตร ๓. สัปปุริสสูตร ๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร ๕. พหุธาตุกสูตร ๖. อิสิคิลิสูตร ๗. มหาจัตตารีสกสูตร ๘. อานาปานสติสูตร ๙. กายคตาสติสูตร ๑๐. สังขารูปปัตติสูตร .. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อนุปทวรรค สังขารูปปัตติสูตร จบ. |