ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 333อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 343อ่านอรรถกถา 14 / 357อ่านอรรถกถา 14 / 853
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สุญญตวรรค
มหาสุญญตสูตร

               ๒. อรรถกถามหาสุญญตาสูตร               
               มหาสุญญตาสูตร๑- มีบทเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-
____________________________
๑- พระสูตรเป็น มหาสุญญตสูตร

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาฬเขมกสฺส ความว่า เจ้าศากยะนั้นมีผิวดำ.
               ก็คำว่า เขมโก เป็นชื่อของเจ้าศากยะนั้น.
               บทว่า วิหาโร หมายถึง ที่พักซึ่งเจ้าศากยะล้อมรั้ว ณ ประเทศแห่งหนึ่ง ใกล้นิโครธารามนั้นแหละ สร้างซุ้มประตู ประดิษฐานเสนาสนะรูปหงส์เป็นต้นและมาลมณฑลโรงฉันเป็นต้น สร้างไว้.
               บทว่า สมฺพหุลานิ เสนาสนานิ ได้แก่ เตียง ตั่ง ฟูก หมอน เสื่อ ท่อนหนัง สันถัตที่ทำด้วยหญ้า สันถัตที่ทำด้วยใบไม้ สันถัตที่ทำด้วยฟางเป็นต้น ซึ่งเขาปูลาดไว้ คือตั้งเตียงจดเตียง ฯลฯ ตั้งสันถัตที่ทำด้วยฟาง จดสันถัตที่ทำด้วยฟางเหมือนกัน. ได้เป็นเหมือนที่อยู่ของภิกษุที่อยู่กันเป็นคณะ.
               บทว่า สมฺพหุลา นุโข ความว่า ขึ้นชื่อว่าความสงสัยย่อมไม่มีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะพระองค์ทรงถอนกิเลสทั้งปวงได้แล้วที่โพธิบัลลังก์นั่นแล.
               ปุจฉาที่มีวิตกเป็นบุพภาคก็ดี และนุอักษรที่มีวิตกเป็นบุพภาคก็ดี เป็นเพียงนิบาต เมื่อถึงวาระพระบาลี ย่อมเป็นอันไม่ต้องวินิจฉัย.
               ได้ยินว่า ก่อนหน้าแต่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่เคยทอดพระเนตรเห็นภิกษุทั้งหลายจะอยู่ในที่เดียวกัน ถึง ๑๐ รูป ๑๒ รูป.
               ครั้งนั้น พระองค์ได้มีพระดำริดังนี้ว่า ขึ้นชื่อว่าการอยู่เป็นคณะนี้ ได้ประพฤติปฏิบัติกันมาในวัฏฏะแล้ว เหมือนน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำ และการอยู่เป็นคณะก็ได้ประพฤติกันมาแล้วในนรก กำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน ปิตติวิสัยและอสุรกายก็มี ในมนุษยโลก เทวโลกและพรหมโลกก็มี นรกหมื่นโยชน์แน่นไปด้วยสัตว์ทั้งหลาย เหมือนทะนานที่เต็มไปด้วยผงดีบุก เหล่าสัตว์ในสถานที่เขาลงโทษด้วยเครื่องจองจำ ๕ ประการจะประมาณหรือกำหนดไม่ได้ เหล่าสัตว์ที่อยู่กันเป็นคณะย่อมเดือดร้อน ในที่ซึ่งถูกมีดฟันเป็นต้นเหมือนอย่างนั้น.
               ในกำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน หมู่ปลวกในจอมปลวกแห่งหนึ่ง ย่อมจะประมาณหรือกำหนดไม่ได้ และหมู่มดแดงเป็นต้นแม้ในรังแต่ละรังเป็นต้นก็เหมือนกัน และแม้ในกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานก็ย่อมอยู่รวมกันเป็นคณะ.
               ก็นครเปรตมีคาวุตหนึ่งก็มี ครึ่งโยชน์ก็มี เต็มไปด้วยเปรต แม้ในพวกเปรตก็อยู่รวมกันเป็นคณะอย่างนี้แหละ. ภพอสูรมีประมาณหมื่นโยชน์เหมือนรูหูที่เอาเข็มเสียบไว้ที่หู แม้ในอสุรกายก็ย่อมอยู่กันเป็นคณะอย่างนี้.
               ในมนุษยโลกเฉพาะกรุงสาวัตถีมีถึงห้าล้านเจ็ดแสนตระกูล. ในกรุงราชคฤห์ทั้งภายในภายนอกมีมนุษย์อาศัยอยู่ ๑๘ โกฏิ ในฐานะแม้อื่นๆ คือ แม้ในมนุษยโลกก็อยู่กันเป็นคณะเหมือนกัน.
               แม้ในเทวโลกและพรหมโลก ตั้งต้นแต่ภุมมเทวดาไปก็อยู่กันเป็นคณะ. ก็เทวบุตรแต่ละองค์ย่อมมีเทพอัปสรผู้ฟ้อนรำถึงสองโกฏิครึ่ง บางองค์มีถึง ๙ โกฏิ ถึงพรหมจำนวนนับหมื่นก็อยู่รวมในที่เดียวกัน.
               แต่นั้นทรงดำริว่า เราบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ ถึง ๔ อสงไขยแสนกัป ก็เพื่อกำจัดการอยู่รวมเป็นคณะ แต่ภิกษุเหล่านี้ นับจำเดิมแต่นี้ไป ภิกษุเหล่านี้ย่อมเกาะกลุ่มยินดีในหมู่ กระทำกรรมไม่สมควรเลย.
               พระองค์ทรงเกิดธรรมสังเวช เพราะภิกษุทั้งหลายเป็นเหตุ ทรงดำริว่า ถ้าเราจักบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุสองรูปไม่พึงอยู่ในที่เดียวกัน แต่ไม่สามารถจะบัญญัติได้ เอาละ เราจะแสดงพระสูตรชื่อมหาสุญญตาปฏิบัติ ซึ่งจักเป็นเหมือนการบัญญัติสิกขาบทสำหรับกุลบุตรผู้ใคร่ต่อการศึกษา และเหมือนกระจกสำหรับส่องหมู่สัตว์ทุกหมู่เหล่าที่วางไว้ ณ ประตูเมือง แต่นั้นกษัตริย์เป็นต้นเห็นโทษของตนในกระจกบานหนึ่ง ละโทษนั้นย่อมเป็นผู้หาโทษมิได้ฉันใด แม้เมื่อเราปรินิพพานแล้วล่วงไปถึง ๕,๐๐๐ ปี กุลบุตรทั้งหลายย่อมระลึกถึงพระสูตรนี้ จักบรรเทาความเป็นหมู่ ยินดีในเอกีภาพ จักกระทำที่สุดแห่งวัฏฏทุกข์ได้. กุลบุตรทั้งหลายระลึกถึงพระสูตรนี้แล้ว บรรเทาความเป็นหมู่ยังทุกข์ในวัฏฏะให้สิ้นไป แล้วปรินิพพานนับไม่ถ้วน เหมือนยังมโนรถของพระผู้มีพระภาคเจ้าให้บริบูรณ์.
               ก็แม้ในวาลิกปิฏฐิวิหาร พระอภัยเถระผู้ชำนาญพระอภิธรรมสาธยายพระสูตรนี้รวมกับภิกษุทั้งหลายเป็นอันมาก ในวัสสูปนายิกสมัย กล่าวว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าโปรดให้ทำอย่างนี้ พวกเราจะทำอย่างไรกัน. ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมดบรรเทาความอยู่รวมเป็นคณะ ยินดีในเอกีภาพ แล้วบรรลุพระอรหัตภายในพรรษา. พระสูตรนี้ชื่อว่าทำลายความอยู่รวมเป็นคณะด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ฆฏายะ ได้แก่ เจ้าศากยะผู้มีชื่ออย่างนั้น.
               บทว่า วิหาเร ความว่า แม้ในวิหารนี้. พึงทราบว่า สร้างไว้ในเอกเทศของนิโครธารามนั่นเอง เหมือนวิหารของเจ้าศากยะชื่อกาฬเขมกะ.
               บทว่า จีวรกมฺมํ ความว่า การจัดแจงเอาผ้าเก่าเศร้าหมอง มาดามปะและซักเป็นต้นก็ดี ผ้าที่เกิดขึ้นเพื่อทำจีวร จะยังไม่ได้กะและยังไม่เย็บมาจัดแจงก็ดีก็ควร. แต่ในที่นี้ประสงค์เอาส่วนที่ยังไม่ได้จัดทำ. ก็มนุษย์ทั้งหลายได้ถวายผ้าจีวรแก่พระอานนทเถระ. เพราะฉะนั้น พระเถระจึงชวนภิกษุเป็นอันมาก ไปทำจีวรกรรมในวิหารนั้น. แม้ภิกษุเหล่านั้นนั่งตั้งแต่เริ่มร้อยเข็มแต่เช้าตรู่ ลุกขึ้นในเวลาไม่ปรากฏ. เมื่อเย็บเสร็จแล้ว ภิกษุเหล่านั้นคิดว่า จักจัดเสนาสนะแต่ยังไม่ได้จัด.
               บทว่า จีวรกาลสมโย โน ความว่า ได้ยินว่า พระเถระคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงเห็นเสนาสนะทั้งหลายที่ภิกษุเหล่านี้ยังไม่ได้เก็บไว้แน่แท้ ด้วยประการฉะนี้ พระศาสดาจักไม่ทรงพอพระทัยประสงค์จะกำหราบ เราจักช่วยเหลือภิกษุเหล่านี้ เพราะฉะนั้น พระเถระจึงกล่าวอย่างนี้.
               ก็ในข้อนี้มีอธิบายดังนี้ พระอานนท์ทูลว่า พระเจ้าข้า ภิกษุเหล่านี้มิใช่มุ่งแต่การงานอย่างเดียวเท่านั้น แต่อยู่อย่างนี้โดยจีวรกิจ.
               บทว่า น โข อานนฺท ความว่า ดูก่อนอานนท์ กัมมสมัยก็ดี อกัมมสมัยก็ดี จีวรกาลสมัยก็ดี อจีวรกาลสมัยก็ดี จงยกไว้ ภิกษุที่ยินดีด้วยการคลุกคลี ย่อมไม่งามเลย เธออย่าได้ช่วยเหลือในฐานะที่ไม่ควรช่วยเหลือ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สงฺคณิกา เป็นบทรวมบริษัทของตน.
               บทว่า คโณ เป็นบทรวมชนต่างๆ.
               ด้วยประการฉะนี้ ภิกษุจะยินดีด้วยการคลุกคลีก็ตาม ยินดีในคณะก็ตาม ยินดีในความหนาแน่นของหมู่ เกี่ยวเนื่องด้วยหมู่ ย่อมไม่งามโดยประการทั้งปวง. แต่ภิกษุปัดกวาดที่พักกลางวันในเวลาหลังภัตร แล้วล้างมือเท้าสะอาด รับมูลกัมมัฏฐาน ประกอบเนืองๆ ซึ่งความเป็นผู้มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ย่อมงดงามในพระพุทธศาสนา.
               บทว่า เนกฺขมฺมสุขํ ความว่า สุขของภิกษุผู้ออกจากกามแม้จะเป็นสุขที่เกิดแต่ความสงบ ก็จัดเป็นสุขเกิดแต่ความสงบจากกาม.
               ก็ที่ชื่อว่า อุปสมสุข เพราะอรรถว่าเป็นไปเพื่อสงบกิเลสมีราคะเป็นต้น.
               ชื่อว่า สัมโพธิสุข เพราะอรรถว่าเป็นไปเพื่อรู้พร้อมซึ่งมรรค.
               บทว่า นิกามลาภี แปลว่า ได้ตามที่ต้องการ คือได้ตามที่ปรารถนา.
               บทว่า อกิจฺฉลาภี แปลว่า ได้โดยไม่ยาก.
               บทว่า อกสิรลาภี แปลว่า ได้โดยง่าย.
               บทว่า สามายิกํ ได้แก่ พ้นกิเลสเป็นคราวๆ.
               บทว่า กนฺตํ แปลว่า เป็นที่ชอบใจ.
               บทว่า เจโตวิมุตตึ ได้แก่ เจโตวิมุตติที่เป็นรูปาวจรและอรูปาวจร.
               สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า ฌาน ๔ และอรูปสมาบัติ ๔ นี้ จัดเป็นวิโมกข์ชั่วสมัย.
               บทว่า อสามายิกํ ความว่า พ้นจากกิเลสโดยไม่เนื่องด้วยสมัย.
               อัจจันตวิมุตติจัดเป็นโลกุตตระแท้.
               สมดังที่ตรัสไว้ว่า อริยมรรค ๔ สามัญญผล ๔ นี้จัดเป็นวิโมกข์ที่ไม่เป็นไปชั่วสมัย.
               บทว่า อกุปฺปํ แปลว่า ไม่ยังกิเลสให้กำเริบ.
               ตามที่อธิบายมานี้ ท่านกล่าวหมายถึงอะไร. ภิกษุที่ชอบคลุกคลีกันและผูกพันเป็นคณะ ย่อมไม่อาจจะยังโลกิยคุณและโลกุตตรคุณให้เกิดขึ้นได้. แต่ถ้าบรรเทาการอยู่เป็นคณะ ยินดีในเอกีภาพ ก็อาจจะยังโลกิยคุณและโลกุตตรคุณให้เกิดได้.
               จริงอย่างนั้น แม้พระวิปัสสีโพธิสัตว์แวดล้อมไปด้วยบรรพชิต ๘๔,๐๐๐ รูป เที่ยวไป ๗ ปี ก็ไม่อาจจะยังสัพพัญญุตญาณให้เกิดได้. ครั้นบรรเทาความเป็นอยู่เป็นคณะแล้ว ยินดีในเอกีภาพ ขึ้นสู่โพธิมณฑล ๗ วัน ยังคุณแห่งสัพพัญญูให้เกิดแล้ว.
               พระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลายเที่ยวไปตลอด ๖ ปีกับภิกษุเบญจวัคคีย์ ก็ไม่สามารถจะยังคุณแห่งพระสัพพัญญูให้เกิดขึ้นได้. เมื่อพระเบญจวัคคีย์หลีกไปแล้ว ทรงยินดีในเอกีภาพ เสด็จขึ้นสู่โพธิมณฑล ยังคุณแห่งพระสัพพัญญูให้เกิดแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงว่า ผู้ที่ชอบคลุกคลีไม่มีทางที่จะบรรลุคุณพิเศษได้อย่างนี้แล้ว บัดนี้เมื่อจะทรงแสดงความเกิดโทษ จึงตรัสว่า นาหํ อานนฺท เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า รูปํ ได้แก่ สรีระ.
               บทว่า ยตฺถ รตฺตสฺส ได้แก่ ยินดีโดยกำหนัดในรูปใด.
               บทว่า น อุปฺปชฺเชยฺยุํ ความว่า ไม่เกิดแต่ภิกษุผู้กำหนัดในรูปใด เราไม่พิจารณาเห็นรูปนั้น. ที่แท้ย่อมบังเกิดขึ้นได้ เหมือนเกิดแก่ปริพาชกชื่อว่าสัญชัย โดยความเป็นอย่างอื่น คราวเมื่อพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะเข้าไปเป็นสาวกของพระทศพล. เหมือนเกิดแก่นิครนถ์นาฏบุตร คราวอุบาลีคฤหบดีเปลี่ยนใจและเหมือนเกิดแก่เศรษฐีเป็นต้นในปิยชาติกสูตร.
               บทว่า อยํ โข ปน อานนฺท เป็นบทเชื่อมความอันหนึ่ง.
               ก็ถ้าภิกษุผู้บวชใหม่ ผู้มีความรู้ต่ำบางรูป จักพึงกล่าวว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าดีแต่นำพวกเราออกจากหมู่ ประกอบไว้ในความโดดเดี่ยว เหมือนชาวนานำโคที่เข้าไปสู่นาออกจากนา ส่วนพระองค์เองแวดล้อมไปด้วยพระราชาและข้าราชบริพารเป็นต้น เพราะฉะนั้น พระตถาคตแม้จะประทับนั่งท่ามกลางบริษัทมีจักรวาลเป็นที่สุด ก็ทรงเริ่มเทศนานี้ เพื่อจะทรงแสดงว่าเป็นผู้อยู่โดดเดี่ยว เพื่อจะไม่ให้โอกาสภิกษุบางรูปนั้นพูดจ้วงจาบได้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพนิมิตฺตานํ ได้แก่ นิมิตที่ปรุงแต่งแล้วมีรูปเป็นต้น.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ ความว่า ในภายในตน.
               บทว่า สุญฺญตํ ได้แก่ สุญญตาผลสมาบัติ.
               บทว่า ตตฺถ เจ เป็นสัตตมีวิภัตติ ลงในอรรถทุติยาวิภัตติ. อธิบายว่า เท่ากับ ตํ เจ.
               บทว่า ปุน ตตฺร ความว่า พระตถาคตประทับอยู่ท่ามกลางบริษัทนั้น.
               บทว่า วิเวกนินฺเนน ได้แก่ น้อมไปในพระนิพพาน.
               บทว่า พฺยนฺตีภูเตน ความว่า ปราศจากคือสลัดออก ได้แก่พรากจากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะ.
               บทว่า อุยฺโยชนิกปฏิสํยุตฺตํ ความว่า ประกอบด้วยวาจาที่ชักชวนอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปเถิด.
               ถามว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ เวลาไหน.
               ตอบว่า ตรัสในเวลาหลังภัตกิจบ้าง ในเวลาบำเพ็ญพุทธกิจในยามต้นบ้าง. พระผู้มีพระภาคเจ้าสำเร็จสีหไสยาสน์ในพระคันธกุฎี ภายหลังภัตตาหาร ออกจากสีหไสยาสน์แล้ว ประทับนั่งเข้าผลสมาบัติ.
               ในสมัยนั้น บริษัททั้งหลายย่อมประชุมกันเพื่อฟังธรรม.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเวลาแล้ว เสด็จออกจากพระคันธกุฎี ตรงไปยังพุทธอาสน์อันประเสริฐ ทรงแสดงธรรม ไม่ให้เวลาล่วงผ่านไป เหมือนบุรุษผู้ถือเอาน้ำมันที่หุงไว้สำหรับประกอบยา ทรงส่งบริษัทไปด้วยจิตที่โน้มไปในวิเวก.
               เมื่อปุริมยามผ่านไป ทรงส่งบริษัทกลับด้วยพระดำรัสอย่างนี้ว่า ดูก่อนวาเสฏฐะ ราตรีผ่านไปแล้วแล บัดนี้ พวกท่านจงสำคัญกาลอันสมควรเถิด.
               นับจำเดิมแต่พระพุทธเจ้าทั้งหลายบรรลุพระโพธิญาณแล้ว แม้วิญญาณทั้ง ๑๐ ของพระองค์ก็น้อมไปเพื่อพระนิพพานอย่างเดียว.
               บทว่า ตสฺมาติหานนฺท ความว่า เพราะสุญญตาวิหาร สงบประณีต ฉะนั้น.
               บทว่า อชฺฌตฺตเมว ได้แก่ ภายในโคจรนั่นแหละ.
               ภายในของตนในบทนี้ว่า อชฺฌตฺตํ สุญฺญตํ อธิบายว่า อาศัยเบญจขันธ์ของตน.
               บทว่า สมฺปชาโน โหติ ความว่า รู้สึกตัว โดยรู้ว่ากัมมัฏฐานยังไม่สมบูรณ์.
               บทว่า พหิทฺธา ได้แก่ ในเบญจขันธ์ของผู้อื่น.
               บทว่า อชฺฌตฺตพหิทฺธา ความว่า บางครั้งภายใน บางครั้งภายนอก.
               บทว่า อเนญฺชํ ความว่า ใส่ใจอเนญชสมาบัติคืออรูปสมาบัติว่า เราจักเป็นอุภโตภาควิมุตติ.
               บทว่า ตสฺมึเยว ปุริมสฺมึ ท่านกล่าวหมายถึงฌานที่เป็นบาท.
               ก็เมื่อภิกษุนั้นออกจากฌานที่เป็นบาท ที่ยังไม่คล่องแคล่ว ใส่ใจสุญญตาในภายใน จิตย่อมไม่แล่นไปในสุญญตาสมาบัตินั้น. แต่นั้นใส่ใจไปในภายนอกว่า ในสันดานของผู้อื่นเป็นอย่างไรหนอ จิตย่อมไม่แล่นไปในสุญญตาสมาบัตินั้น. แต่นั้นใส่ใจทั้งภายในและภายนอกว่า ในสันดานของตนบางครั้งเป็นอย่างไร ในสันดานของผู้อื่นบางครั้งเป็นอย่างไร จิตย่อมไม่แล่นไป แม้ในสุญญตาสมาบัตินั้น. แต่นั้น ผู้ประสงค์จะเป็นอุภโตภาควิมุตติ ใส่ใจอเนญชาสมาบัติว่า ในอรูปสมาบัติเป็นอย่างไรหนอแล จิตย่อมไม่แล่นไป แม้ในอเนญชาสมาบัตินั้น. ภิกษุผู้ละเพียร ไม่พึงประพฤติตามหลังอุปัฏฐากเป็นต้น ด้วยคิดว่า บัดนี้จิตของเรายังไม่แล่นไป แต่พึงใส่ใจถึงฌานอันเป็นบาทให้สม่ำเสมอด้วยดีอย่างเดียว.
               เพื่อจะทรงแสดงว่า การใส่ใจพระกัมมัฏฐานย่อมแล่นไปสะดวก เหมือนบุรุษจะตัดไม้ เมื่อขวานวิ่น ต้องลับขวานเสียก่อนแล้วจึงค่อยตัด ขวานจึงจะคม ด้วยประการฉะนี้ จึงตรัสคำมีอาทิว่า ตสฺมิญฺเญ ดังนี้.
               บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงว่า เมื่อภิกษุนั้นปฏิบัติอย่างนี้ การใส่ใจในสมาบัตินั้นๆ ย่อมสมบูรณ์ จึงตรัสว่า ปกฺขนฺทติ.
               บทว่า อิมินา วิหาเรน ได้แก่ ด้วยวิหารธรรมคือสมถะและวิปัสสนา.
               บทว่า อิติ ตตฺถ สมฺปชาโน ความว่า แม้เมื่อกำลังเดินจงกรมอยู่ ก็รู้ชัดว่า เมื่อกัมมัฏฐานนั้นสมบูรณ์ กัมมัฏฐานของเราก็สมบูรณ์.
               บทว่า สยติ แปลว่า ย่อมนอน. ในข้อนี้ ความว่า ภิกษุจะเดินจงกรมเวลาไหนๆ ก็รู้ว่า บัดนี้เราอาจเดินจงกรมได้ตลอดเวลามีประมาณเท่านี้ ไม่พักอิริยาบถเลย ดำรงอยู่.
               ในวาระทั้งปวงก็นัยนี้.
               บทว่า อิติห ตตฺถ ความว่า ย่อมรู้ตัวในอิริยาบถนั้นๆ โดยรู้ว่า เราจักไม่กล่าวอย่างนี้.
               ถึงในทุติยวาระ ภิกษุก็รู้ตัวโดยรู้ว่า เราจะกล่าวถ้อยคำเห็นปานนี้.
               ก็ภิกษุนี้ยังมีสมถวิปัสสนาอ่อนอยู่โดยแท้ เพื่อจะตามรักษาสมถวิปัสสนาเหล่านั้น พึงปรารถนาสัปปายะ ๗ อย่าง คือ
                                   อาวาส ๑ โคจร ๑ การสนทนา ๑
                         บุคคล ๑ โภชนะ ๑ ฤดู ๑ อิริยาบถ ๑
               เพื่อจะแสดงสัปปายะ ๗ เหล่านั้น จึงตรัสอย่างนี้.
               ในวิตักกวาระทั้งหลาย พึงทราบความเป็นผู้รู้ตัว ทั้งอวิตกและวิตก.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมรรคทั้งสองด้วยการละวิตกดังกล่าวมานี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะตรัสบอกการเห็นแจ้งตติยมรรค จึงตรัสคำมีอาทิว่า ปญฺจ โข อิเม อานนฺท กามคุณา ดังนี้.
               บทว่า อายตเน ความว่า ในเหตุเกิดกิเลสอย่างใดอย่างหนึ่ง ในกามคุณเหล่านั้น.
               บทว่า สมุทาจาโร ได้แก่ กิเลสที่ยังละไม่ได้ เพราะยังฟุ้งซ่าน.
               บทว่า เอวํ สนฺตํ ความว่า มีอยู่อย่างนี้แล.
               บทว่า สมฺปชาโน ได้แก่ รู้ชัด โดยรู้ว่ากัมมัฏฐานยังไม่สมบูรณ์
               ในทุติยวารมีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               บทว่า เอวํ สนฺตํ แปลว่า มีอยู่อย่างนี้.
               บทว่า เอวํ สมฺปชาโน ได้แก่ รู้ชัด โดยรู้ว่า กัมมัฏฐานสมบูรณ์.
               ก็เมื่อภิกษุนี้พิจารณาอยู่ว่า ฉันทราคะในกามคุณทั้ง ๕ เราละได้แล้วหรือยังหนอดังนี้ รู้ว่ายังละไม่ได้ ต้องประคองความเพียร จึงจะเพิกถอนฉันทราคะนั้นได้ด้วยอนาคามิมรรค.
               แต่นั้น พิจารณาผลสมาบัติในลำดับแห่งมรรค ออกจากผลสมาบัติแล้วพิจารณาอยู่จึงรู้ว่าละได้แล้ว.
               อธิบายว่า ย่อมรู้ชัด โดยรู้ว่าละฉันทราคะนั้นได้แล้ว.
               บัดนี้ เมื่อจะตรัสบอกความเห็นแจ้งอรหัตตมรรค จึงตรัสคำมีอาทิว่า ปญฺจ โข อิเม อานนฺท อุปาทานกฺขนฺธา ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โส ปหียติ ความว่า ละมานะว่ามีในรูป ละฉันทะว่ามีในรูป ละอนุสัยว่ามีในรูป. ความรู้ชัดในเวทนาเป็นต้น พึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วอย่างนั้นนั่นแล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อิเม โข เต อานนฺท ธมฺมา ดังนี้ ทรงหมายถึงธรรมคือสมถวิปัสนา มรรคและผลที่ตรัสแล้วในหนหลัง.
               บทว่า กุสลายตฺติกา แปลว่า มาแต่กุศล.
               ความจริง กุศลธรรมทั้งหลายเป็นทั้งกุศล เป็นทั้งธรรมที่เนื่องมาแต่กุศล อากิญจัญญายตนฌานเป็นกุศล เนวสัญญานาสัญญายตนฌานเป็นทั้งกุศล เป็นทั้งธรรมที่เนื่องมาแต่กุศล เนวสัญญานาสัญญายตนฌานเป็นกุศล โสดาปัตติมรรคเป็นทั้งกุศล เป็นทั้งธรรมที่เนื่องมาแต่กุศล ฯลฯ อนาคามิมรรคเป็นกุศล อรหัตตมรรคเป็นทั้งกุศล เป็นทั้งธรรมที่เนื่องมาแต่กุศล ปฐมฌานก็จัดเป็นกุศลเหมือนกัน ธรรมที่สัมปยุตด้วยปฐมฌานนั้น เป็นทั้งกุศล เป็นทั้งธรรมที่เนื่องมาแต่กุศล ฯลฯ อรหัตตมรรคเป็นกุศล ธรรมที่สัมปยุตด้วยอรหัตตมรรคนั้น เป็นทั้งกุศล เป็นทั้งธรรมที่เนื่องมาแต่กุศล.
               บทว่า อริยา แปลว่า ไม่มีกิเลส คือบริสุทธิ์.
               บทว่า โลกุตฺตรา แปลว่า ยอดเยี่ยม คือบริสุทธิ์ในโลก.
               บทว่า อนวกฺกนฺตา ปาปิมตา แปลว่า อันมารผู้มีบาปหยั่งลงไม่ได้.
               ก็มารย่อมไม่เห็นจิตของภิกษุผู้นั่งเข้าสมาบัติ ๘ มีวิปัสสนาเป็นบาท คือไม่อาจเพื่อจะรู้ว่าจิตของภิกษุนั้นอาศัยอารมณ์ชื่อนี้เป็นไป เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า อนวกฺกนฺตา.
               เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสบทนี้ว่า ตํ กึ มญฺญสิ.
               ความจริงในคณะก็มีอานิสงส์อย่างหนึ่ง เพื่อจะทรงแสดงอานิสงส์นั้น จึงตรัสคำนี้.
               บทว่า อนุพนฺธิตุํ แปลว่า ติดตามไป คือแวดล้อม.
               ในบทว่า น โข อานนฺท นี้ มีวินิจฉัยว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระอริยสาวกผู้ได้สดับแล้วแต่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมละอกุศล เจริญกุศล ละธรรมที่มีโทษ เจริญธรรมที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้บริสุทธิ์ดังนี้ เป็นอันทำตนให้เป็นพหูสูต เหมือนทหารที่พรั่งพร้อมด้วยอาวุธ ๕ อย่าง.
               ก็เพราะภิกษุแม้ถึงจะเรียนสุตตปริยัติ แต่ไม่ปฏิบัติอนุโลมปฏิปทาสมควรแก่สุตตปริยัตินั้น เธอย่อมชื่อว่าไม่มีอาวุธนั้น. ส่วนภิกษุใดปฏิบัติ ภิกษุนั้นแหละจึงชื่อว่ามีอาวุธ ฉะนั้น
               เมื่อจะแสดงความนี้ว่า ไม่ควรจะติดตาม จึงตรัสว่า น โข อานนฺท ดังนี้.
               บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงเรื่องที่ควรติดตาม จึงตรัสคำมีอาทิว่า ยา จ โข ดังนี้เป็นต้น.
               กถาวัตถุ ๑๐ ในฐานะทั้ง ๓ มาในพระสูตรนี้ ด้วยประการฉะนี้. มาด้วยสามารถแห่งธรรมที่เป็นสัปปายะ และธรรมที่เป็นอสัปปะยะ ดังในประโยคว่า เราจึงกล่าวกถาเห็นปานนี้ด้วยประการฉะนี้. มาด้วยสามารถแห่งสุตตปริยัติ ดังในประโยคว่า ยทิทํ สุตฺตํ เคยฺยํ แต่ในที่นี้มาแล้วโดยบริบูรณ์. เพราะฉะนั้น เมื่อจะตรัสกถาวัตถุ ๑๐ ในพระสูตรนี้ จึงตรัสรวมไว้ในฐานะนี้.
               บัดนี้ เพราะเหตุที่ภิกษุบางพวกแม้จะอยู่รูปเดียว ก็ย่อมไม่เกิดประโยชน์ ฉะนั้นเพื่อจะทรงแสดงโทษในความอยู่โดดเดี่ยว. ทรงหมายถึงภิกษุบางพวกนั้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า เอวํ สนฺเต โข อานนฺท ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า เอวํ สนฺเต ความว่า เมื่ออยู่อย่างโดดเดี่ยวอย่างนั้น มีอยู่.
               บทว่า สตฺถา หมายเอาศาสดาเจ้าลัทธิ นอกศาสนา.
               บทว่า อนฺวาวตฺตนฺติ แปลว่า คล้อยตาม คือเข้าไปหา.
               บทว่า มุจฺจํ นิกามยติ แปลว่า ปรารถนาความอยากพ้น. อธิบายว่า ให้เป็นไป.
               บทว่า อาจริยูปทฺทเวน ความว่า ชื่อว่าอุปัททวะของอาจารย์ เพราะมีอันตรายคือกิเลสเกิดขึ้นในภายในของตน.
               แม้ในอุปัททวะที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อวธึสุ นํ แปลว่า ฆ่าศาสดานั้นเสียแล้ว.
               ก็ท่านกล่าวถึงความตายจากความดี ด้วยบทว่า อวธึสุ นํ นี้.
               บทว่า วินิปาตาย แปลว่า ให้ตกลงไปด้วยดี.
               ก็เพราะเหตุไร ท่านจึงกล่าวอุปัททวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ว่า มีทุกข์เป็นวิบากกว่า มีผลเผ็ดร้อนเป็นวิบากกว่า และเป็นไปเพื่อความตกต่ำ.
               แท้จริงการบวชภายนอกพระศาสนามีลาภน้อย และในการบวชนอกศาสนานั้น ไม่มีทางจะให้เกิดคุณใหญ่หลวงได้เลย จะมีก็เพียงแต่สมาบัติ ๘ อภิญญา ๕ เท่านั้น. เปรียบเหมือนผู้ที่พลัดตกจากหลังลา ย่อมไม่มีทุกข์มาก จะมีก็เพียงแต่ตัวเปื้อนฝุ่นเท่านั้นฉันใด ในลัทธินอกศาสนาก็ฉันนั้น จะเสื่อมก็เพียงโลกิยคุณเท่านั้น ฉะนั้น
               อุปัททวะสองอย่างข้างต้น ท่านจึงไม่กล่าวไว้อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               แต่การบวชในพระศาสนามีลาภมาก และในการบวชในพระศาสนานั้น มีคุณอันจะพึงได้บรรลุใหญ่หลวงนัก คือมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑.
               ขัตติยกุมารผู้อุภโตสุชาต ประทับบนคอช้าง เสด็จเลียบพระนคร เมื่อตกจากคอช้างย่อมถึงทุกข์มากฉันใด ผู้ที่เสื่อมจากพระศาสนาก็ฉันนั้น ย่อมเสื่อมจากโลกุตตรคุณ ๙ ประการฉะนี้.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวอุปัททวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ไว้อย่างนี้.
               บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะอุปัททวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ มีทุกข์เป็นวิบากมากกว่า อุปัททวะที่เหลือ หรือเพราะข้อปฏิบัติของผู้เป็นศัตรูย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน ข้อปฏิบัติของผู้เป็นมิตรย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ฉะนั้น พึงประกอบการเรียกร้องด้วยความเป็นมิตร และไม่ใช่เรียกร้องด้วยความเป็นศัตรู ด้วยอรรถทั้งก่อนแลหลังอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า มิตฺตวตฺตาย แปลว่า ด้วยการปฏิบัติฉันมิตร.
               บทว่า สปตฺตวตฺตาย แปลว่า ด้วยการปฏิบัติอย่างศัตรู.
               บทว่า โอกฺกมฺม จ สตฺถุ สาสเน ความว่า เมื่อจงใจล่วงอาบัติ แม้เพียงทุกกฏและทุพภาษิต ชื่อว่าประพฤติหลีกเลี่ยง เมื่อไม่จงใจล่วงเช่นนั้น ชื่อว่าไม่ประพฤติหลีกเลี่ยง.
               บทว่า น เต อหํ อานนฺท ตถา ปรกฺกมิสฺสามิ ความว่า เราไม่ปฏิบัติในเธอทั้งหลายอย่างนั้น.
               บทว่า อามเก แปลว่า ยังไม่สุก.
               บทว่า อามกมตฺเต แปลว่า ในภาชนะดิบ คือยังไม่แห้งดี.
               แท้จริง ช่างหม้อค่อยๆ เอามือทั้งสองประคองภาชนะดิบ ที่ยังไม่แห้งดี ยังไม่สุก ด้วยคิดว่า อย่าแตกเลย.
               ขยายความว่า เราจักไม่ปฏิบัติในเธอทั้งหลาย เหมือนช่างหม้อปฏิบัติในภาชนะดิบนั้น ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า นิคฺคยฺห นิคฺคยฺห ความว่า เราจักไม่สั่งสอนหนเดียว แล้วนิ่งเสีย แต่จะตำหนิแล้ว แล้วสั่งสอนคือพร่ำสอนบ่อยๆ.
               บทว่า ปเวยฺห ปเวยฺห แปลว่า เราจักยกย่อง จักยกย่อง.
               เปรียบเหมือนช่างหม้อคัดภาชนะที่เสียๆ ในภาชนะที่สุกออกรวมกองไว้ ทุบๆ คือเอาแต่ส่วนที่ดีเท่านั้นฉันใด แม้เราก็ฉันนั้นจักสนับสนุนยกย่อง กล่าวสอนตักเตือน พร่ำสอนบ่อยๆ.
               บทว่า โย สาโร โส ฐสฺสติ ความว่า บรรดาเธอทั้งหลายที่เรากล่าวสอนอยู่ ผู้ใดมีแก่นสาร คือ มรรคผล ผู้นั้นจักดำรงอยู่ได้.
               อีกอย่างหนึ่ง แม้โลกิยคุณ ก็ประสงค์เอาว่าเป็นแก่นสารในที่นี้เหมือนกัน.
               คำที่เหลือในบททั้งปวงง่ายทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถามหาสุญญตาสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สุญญตวรรค มหาสุญญตสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 333อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 343อ่านอรรถกถา 14 / 357อ่านอรรถกถา 14 / 853
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=4846&Z=5089
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=2841
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=2841
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :