ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 698อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 706อ่านอรรถกถา 14 / 720อ่านอรรถกถา 14 / 853
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค
ทักขิณาวิภังคสูตร

               ๑๒. อรรถกถาทักขิณาวิภังคสูตร               
               ทักขิณาวิภังคสูตร มีคำเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับอย่างนี้ :-
               ในทักขิณาวิภังคสูตรนั้น บทว่า มหาปชาปตี โคตมี ได้แก่ พระโคตรว่า โคตมี.
               ก็ในวันขนานพระนาม พราหมณ์ทั้งหลายได้รับสักการะแล้ว เห็นพระลักษณสมบัติของพระนางแล้ว ได้พยากรณ์ว่า ถ้าพระนางนี้จักได้พระธิดา พระธิดาจักเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าจักได้พระโอรส พระโอรสจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระปชาของพระนางจักเป็นผู้ยิ่งใหญ่ โดยประการแม้ทั้งสองนั้นเทียว ดังนี้. พระญาติทั้งหลายจึงได้ขนานพระนามของพระนางว่าปชาบดี ด้วยประการฉะนี้.
               แต่ในสูตรนี้ ท่านรวมเอาพระโคตรด้วย จึงกล่าวว่า มหาปชาบดีโคตมี.
               บทว่า นวํ ได้แก่ ใหม่.
               บทว่า สามํ วายิตํ คือ ทรงทอเองด้วยพระหัตถ์.
               ก็ในวันนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีอันหมู่พระพี่เลี้ยงนางนมแวดล้อมแล้ว เสด็จมาสู่โรงงานทอผ้าของศิลปินทั้งหลาย ทรงจับปลายกระสวย ได้ทรงทำอาการแห่งการทอผ้า.
               คำนั้น ท่านกล่าวหมายถึงการทอผ้านั้น.
               ถามว่า พระนางโคตมีทรงเกิดพระทัยเพื่อถวายผ้าคู่หนึ่งแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในกาลไหน.
               ตอบว่า ในกาลที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรลุอภิสัมโพธิญาณแล้ว เสด็จมาสู่กรุงกบิลพัสดุ์ โดยการเสด็จครั้งแรก.
               จริงอย่างนั้น พระเจ้าสุทโธทนมหาราชทรงพาพระศาสดาซึ่งเสด็จบิณฑบาต ให้เสด็จไปยังพระราชนิเวศน์ของพระองค์. ครั้งนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงเห็นพระรูปโสภาของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ทรงพระดำริว่า พระอัตภาพของบุตรเรางดงามหนอดังนี้.
               ลำดับนั้น พระนางก็เกิดพระโสมนัสเป็นกำลัง. แต่นั้น ทรงพระดำริว่า เมื่อบุตรของเราอยู่ในท่ามกลางวังตลอด ๒๙ ปี วัตถุที่เราให้แล้วโดยที่สุดแม้สักว่าผลกล้วยนั้นเทียว ไม่มีเลย แม้บัดนี้ เราจักถวายผ้าจีวรแก่บุตรนั้น. ทรงยังพระหฤทัยให้เกิดขึ้นว่า ก็ในกรุงราชคฤห์นี้มีผ้าราคาแพงมาก ผ้าเหล่านั้นย่อมไม่ยังเราให้ดีใจ ผ้าที่เราทำเองนั้นแล ย่อมยังเราให้ดีใจได้ เราจำจะต้องทำผ้าเองถวาย ดังนี้.
               ครั้งนั้น พระนางทรงให้นำฝ้ายมาจากตลาด ทรงขยำทรงยีด้วยพระหัตถ์ กรอด้ายอย่างละเอียด ทรงให้สร้างโรงงานทอผ้าในภายในพระราชวังนั้นเทียว ทรงให้เรียกช่างศิลป์ทั้งหลาย พระราชทานเครื่องบริโภคขาทนียะและโภชนียะของพระองค์นั้นแลให้แก่ช่างศิลป์ทั้งหลาย แล้วทรงให้ทอผ้า.
               ก็พระนางอันคณะพระพี่เลี้ยงนางนมแวดล้อมแล้ว เสด็จไปจับปลายกระสวยตามสมควรแก่กาลเวลา. ในกาลที่ผ้านั้นทอเสร็จแล้ว ทรงทำการสักการะใหญ่แก่ช่างศิลป์ทั้งหลายแล้ว ทรงใส่ผ้าคู่หนึ่งในหีบอันมีกลิ่นหอม ทรงให้ถือผ้าทูลแด่พระราชาว่า หม่อมฉันจักถือผ้าจีวรไปถวายแก่บุตรเรา. พระราชาตรัสสั่งให้เตรียมทางเสด็จ. ราชบริวารทั้งหลายปัดกวาดถนน ตั้งหม้อน้ำเต็ม ยกธงผ้าทั้งหลาย ตกแต่งทางตั้งแต่พระทวารพระราชวัง จนถึงพระวิหารนิโครธาราม ทำทางให้เกลื่อนกล่นด้วยดอกไม้.
               ฝ่ายพระนางมหาปชาบดีทรงประดับเครื่องอลังการทุกอย่าง ผู้อันคณะพระพี่เลี้ยงนางนมแวดล้อมแล้ว ทรงทูลหีบผ้า เสด็จไปยังสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้าใหม่คู่นี้เป็นของหม่อมฉัน ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า ทุติยมฺปิ โข ความว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนโคตมี พระนางจงถวายสงฆ์เถิด พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้กราบทูลอ้อนวอนว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันอาจเพื่อถวายผ้าจีวรทั้งหลายจากคลังผ้าแก่ภิกษุร้อยรูปบ้าง พันรูปบ้าง ก็ผ้าใหม่คู่นี้หม่อมฉันกรอด้ายเอง ทอเอง ตั้งใจอุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดรับผ้าใหม่คู่นั้นของหม่อมฉันเถิด. พระนางกราบทูลอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง.
               แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสห้ามอย่างนั้นเทียว.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงให้ถวายผ้าใหม่คู่ที่พระนางจะถวายแด่พระองค์ แก่พระภิกษุสงฆ์เล่า.
               ตอบว่า เพราะเพื่อทรงอนุเคราะห์พระมารดา.
               ก็ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงมีพระดำริว่า เจตนา ๓ อย่างคือ บุพเจตนา มุญเจตนา อปราปรเจตนาของพระนางมหาปชาบดีนี้ เกิดขึ้นปรารภเราแล้ว จงเกิดขึ้นปรารภพระภิกษุสงฆ์บ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ เจตนาทั้ง ๖ อย่างก็จะรวมเป็นอันเดียวกัน จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนานแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมีนั้น ดังนี้.
               ฝ่ายวิตัณฑวาที (ผู้พูดให้หลงเชื่อ) กล่าวว่า ทานที่ถวายสงฆ์มีผลมาก. พึงท้วงติงวิตัณฑวาทีนั้นว่า เพราะเหตุไรจึงกล่าวอย่างนั้น ท่านย่อมกล่าวถึงทานที่ถวายสงฆ์มีผลมากกว่าทานที่ถวายแก่พระศาสดาหรือ. เออขอรับ เรากล่าว. ท่านจงอ้างพระสูตรมา. ท่านวิตัณฑวาทีอ้างพระสูตรว่า ดูก่อนโคตมี พระนางถวายสงฆ์เถิด เมื่อถวายสงฆ์แล้ว จักเป็นอันพระนางได้บูชาทั้งอาตมภาพและสงฆ์. ก็พระสูตรนี้มีเนื้อความเพียงเท่านี้หรือ. เออ เพียงเท่านี้.
               ผิว่าเป็นเช่นนั้น ทานที่ให้แก่คนกินเดนทั้งหลายก็พึงมีผลมาก ตามพระดำรัสว่า ดูก่อนอานนท์ ถ้าอย่างนั้น เธอจงให้ขนมแก่คนกินเดนทั้งหลาย และว่า ดูก่อนกัจจานะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงให้งบน้ำอ้อยแก่คนกินเดนทั้งหลาย ดังนี้.
               ก็เมื่อเป็นอย่างนั้น พระศาสดาจึงทรงยังผ้าที่จะถวายพระองค์ให้ถึงสงฆ์แล้ว ดังนี้. ก็ชนทั้งหลายแม้มีพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชาเป็นต้น ย่อมสั่งให้บรรณาการที่นำมาเพื่อตน ให้แก่ชนทั้งหลายมีคนเลี้ยงช้างเป็นต้น ชนเหล่านั้นก็พึงใหญ่กว่าพระราชาเป็นต้น.
               จริงอยู่ ทักขิไณยบุคคลที่ยอดเยี่ยมกว่าพระศาสดาไม่มี ตามพระบาลีว่า เพราะฉะนั้น ท่านอย่าถืออย่างนั้น ทักขิไณยบุคคลที่ถึงความเป็นผู้เลิศแห่งอาหุไนยบุคคลทั้งหลาย ผู้ต้องการบุญแสวงผลไพบูลย์ที่ประเสริฐที่สุด เช่นกับพระพุทธเจ้าไม่มีในโลกนี้ หรือในโลกอื่น. พระเจตนา ๖ ประการของพระนางมหาปชาบดีโคตมีนั้นรวมเข้ากันแล้ว จักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ตลอดกาลนานอย่างนี้.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามถึง ๓ ครั้งแล้ว ทรงให้ถวายแก่สงฆ์ ทรงมุ่งหมายอะไร. ตรัสอย่างนั้น เพื่อชนรุ่นหลังและเพื่อทรงให้เกิดความยำเกรงในสงฆ์ด้วย.
               นัยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระดำริอย่างนี้ว่า เราไม่ดำรงอยู่นาน แต่ศาสนาของเราจักตั้งอยู่ในพระภิกษุสงฆ์ ชนรุ่นหลังจงยังความยำเกรงในสงฆ์ให้เกิดขึ้น ดังนี้ จึงทรงห้ามถึง ๓ ครั้งแล้ว ทรงให้ถวายสงฆ์. ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น พระศาสดาจึงทรงให้ถวายผ้าใหม่คู่หนึ่งแม้ที่พระนางจะถวายแด่พระองค์ให้แก่สงฆ์ ทักขิไณยบุคคลชื่อว่าสงฆ์ เพราะฉะนั้น ชนรุ่นหลังยังความยำเกรงให้เกิดขึ้นในสงฆ์ จักสำคัญปัจจัยสี่เป็นสิ่งพึงถวาย สงฆ์เมื่อไม่ลำบากด้วยปัจจัยสี่ จักเรียนพระพุทธวจนะทำสมณธรรม เมื่อเป็นอย่างนั้น ศาสนาของเราจักตั้งอยู่ถึง ๕,๐๐๐ ปี ดังนี้.
               ก็คำว่า ธรรมดาทักขิไณยบุคคลที่ยอดเยี่ยมกว่าพระศาสดาไม่มีนั้น ควรกล่าวแม้โดยคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดรับเถิด ดังนี้.
               ก็พระอานนท์เถระไม่มีความอาฆาต หรือเวรในพระนางมหาปชาบดี ทั้งพระเถระไม่ต้องการว่า ทักขิณาของพระนางอย่าได้มีผลมาก.
               จริงอยู่ พระเถระเป็นบัณฑิต พหูสูต บรรลุเสกขปฏิปทา. พระเถระนั้นเมื่อเห็นความที่ผ้าใหม่คู่หนึ่งที่พระนางถวายพระศาสดานั้นมีผลมาก จึงกราบทูลขอเพื่อทรงรับว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดรับเถิดดังนี้.
               วิตัณฑวาทีกล่าวอีกว่า พระศาสดาทรงนับเนื่องกับสงฆ์ เพราะพระดำรัสว่า เมื่อถวายสงฆ์แล้ว จักเป็นอันพระนางได้บูชาทั้งอาตมภาพและสงฆ์ ดังนี้.
               วิตัณฑวาทีนั้นควรถูกท้วงติงว่า ก็ท่านรู้หรือว่า สรณะมีเท่าไร ความเลื่อมใสแน่นแฟ้นมีเท่าไร.
               วิตัณฑวาที เมื่อรู้ก็จะกล่าวว่า สรณะมี ๓ ความเลื่อมใสแน่นแฟ้นมี ๓.
               แต่นั้นก็ควรถูกกล่าวว่า ตามลัทธิของท่านสรณะก็คงมี ๒ อย่างเท่านั้น เพราะความที่พระศาสดานับเนื่องกับสงฆ์. เมื่อเป็นอย่างนั้น บรรพชาที่ทรงอนุญาตอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบรรพชาอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์ ดังนี้ แม้อุปสมบทก็ไม่เจริญขึ้น. แต่นั้น ท่านก็จะไม่เป็นบรรพชิต คงเป็นคฤหัสถ์. ครั้นแม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่ง ณ พระคันธกุฎี ภิกษุทั้งหลายกระทำอุโบสถบ้าง ปวารณาบ้าง สังฆกรรมทั้งหลายบ้าง กรรมเหล่านั้นก็พึงกำเริบ เพราะความที่พระศาสดาทรงนับเนื่องกับสงฆ์ และจะไม่มี. เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรกล่าวคำนี้ว่า พระศาสดาทรงนับเนื่องกับสงฆ์.
               บทว่า อาปาทิตา ได้แก่ ทรงให้เจริญพร้อมแล้ว. อธิบายว่า ครั้นพระหัตถ์และพระบาทของพระองค์ไม่ยังกิจด้วยพระหัตถ์และพระบาทให้สำเร็จ พระนางก็ทรงให้พระหัตถ์และพระบาทให้เจริญปรนปฏิบัติ.
               บทว่า โปสิกา ความว่า พระนางทรงเลี้ยงพระองค์ โดยให้อาบน้ำ ทรงให้เสวย ทรงให้ดื่ม วันละ ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง.
               บทว่า ถญฺญํ ปาเยสิ ความว่า ได้ยินว่า โพธิสัตว์ทรงพระเยาว์เพียงสอง-สามวันเท่านั้น ครั้นเมื่อนันทกุมารประสูติแล้ว พระนางมหาปชาบดีทรงให้พระโอรสของพระองค์ ให้แก่พระพี่เลี้ยงนางนม พระองค์เองให้หน้าที่นางนมให้สำเร็จ ประทานพระขีรรสแด่พระโพธิสัตว์ พระเถระหมายถึงการประทานพระขีรรสนั้น จึงกราบทูลอย่างนี้.
               พระเถระครั้นแสดงความที่พระนางมหาปชาบดีทรงมีพระอุปการะมากด้วยประการฉะนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะแสดงความที่พระตถาคตทรงมีพระอุปการะมาก จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภควนฺตํ อาคมฺม คือ ทรงอาศัย คือทรงพึ่งพา ทรงมุ่งหมายพระผู้มีพระภาคเจ้า. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงอนุโมทนา ถึงพระอุปการะยิ่งๆ ขึ้นไปในพระอุปการะทั้งสอง จึงตรัสว่า ข้อนั้นเป็นอย่างนั้น เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยํ หานนฺท ปุคฺคโล ปุคฺคลํ อาคมฺม ความว่า บุคคลผู้อันเตวาสิกอาศัยบุคคลผู้อาจารย์ใด.
               บทว่า อิมสฺสานนฺท ปุคฺคลสฺส อิมินา ปุคฺคเลน ความว่า บุคคลผู้อันเตวาสิกนี้ตอบแทนต่อบุคคลผู้อาจารย์นี้.
               บทว่า น สุปฏิการํ วทามิ ความว่า เราไม่กล่าวการตอบแทนอุปการะเป็นการทำด้วยดี.
               ในกรรมทั้งหลายมีการอภิวาทนะเป็นต้น การเห็นอาจารย์แล้วทำการกราบไหว้ ชื่อว่าอภิวาทนะ ได้แก่เมื่อจะสำเร็จอิริยาบถทั้งหลาย ผินหน้าไปทางทิศาภาคที่อาจารย์อยู่ ไหว้แล้วเดิน ไหว้แล้วยืน ไหว้แล้วนั่ง ไหว้แล้วนอน. ส่วนการเห็นอาจารย์แต่ที่ไกลแล้ว ลุกขึ้นทำการต้อนรับ ชื่อว่าปัจจุฏฐานะ. ก็กรรมนี้ คือเห็นอาจารย์แล้ว ประคองอัญชลีไว้เหนือศีรษะ นมัสการอาจารย์หรือแม้ผินหน้าไปทางทิสาภาคที่อาจารย์นั้นอยู่ นมัสการอย่างนั้นแล เดินไปก็ดี ยืนก็ดี นั่งก็ดี นอนก็ดี ประคองอัญชลีแล้วนมัสการนั้นเทียว ชื่อว่าอัญชลีกรรม. การทำกรรมอันสมควร ชื่อว่าสามีจิกรรม ในวัตถุทั้งหลายมีจีวรเป็นต้น เมื่อจะถวายจีวร ไม่ถวายตามมีตามเกิด. ถวายจีวรอันมีค่ามากมีมูลค่า ๑๐๐ บ้าง ๕๐๐ บ้าง ๑,๐๐๐ บ้าง.
               ในวัตถุทั้งหลายแม้มีบิณฑบาตเป็นต้น มีนัยนี้เหมือนกัน. ด้วยปัจจัยมากอย่างไร. แม้เมื่อยังระหว่างจักรวาลให้เต็มด้วยปัจจัยอันประณีต ๔ ถือเอายอดเท่าสิเนรุบรรพตถวาย ย่อมไม่อาจเพื่อทำกิริยาที่สมควรแก่อาจารย์เลย.
               เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงปรารภว่า ก็ทักขิณา ๑๔ นี้แล. สูตรนี้เกิดขึ้นปรารภทักขิณาเป็นปาฏิบุคคลิก. ฝ่ายพระอานนท์เถระถือทักขิณาเป็นปาฏิบุคคลิกอย่างเดียวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดรับ ดังนี้. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภเทศนานี้ เพื่อทรงแสดงว่า ทานที่บุคคลให้แล้วในฐานะสิบสี่ ชื่อว่าเป็นปาฏิบุคคลิก.
               บทว่า อยํ ปฐมา ความว่า ทักขิณานี้ประการที่ ๑ ด้วยอำนาจคุณบ้าง ด้วยอำนาจเป็นทักขิณาเจริญที่สุดบ้าง.
               จริงอยู่ ทักขิณานี้ที่หนึ่ง คือประเสริฐ ได้แก่เจริญที่สุด ชื่อว่าประมาณแห่งทักขิณานี้ ไม่มี. ทักขิณาแม้ประการที่ ๒-๓ เป็นทักขิณาอย่างยิ่งเหมือนกัน. ทักขิณาทั้งหลายที่เหลือ ย่อมไม่ถึงความเป็นทักขิณาอย่างยิ่งได้.
               บทว่า พาหิรเก กาเมสุ วีตราเค ได้แก่ ผู้กัมมวาที ผู้กิริยวาที ผู้มีอภิญญา ๕ อันเป็นโลกิยะ.
               บทว่า ปุถุชฺชนสีลวา ความว่า ปุถุชนผู้มีศีล โดยชื่อ เป็นผู้มีศีลเป็นพื้น ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา ไม่เบียดเบียนคนอื่น สำเร็จชีวิตด้วยกสิกรรมหรือพาณิชกรรม โดยธรรม โดยชอบ.
               บทว่า ปุถุชฺชนทุสฺสีเล ความว่าบุคคลทั้งหลายมีนายเกวัฏฏะ และผู้จับปลาเป็นต้น ชื่อว่าปุถุชนผู้ทุศีล. เลี้ยงชีวิต ด้วยการเบียดเบียนสัตว์อื่น.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงกำหนดวิบากของทักขิณา เป็นปาฏิบุคคลิก จึงตรัสว่า ตตฺรานนฺท เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ติรจฺฉานคเต ความว่า ทานใดที่บุคคลให้แล้ว เพื่อเลี้ยงด้วยอำนาจแห่งคุณด้วยอำนาจแห่งอุปการะ ทานนี้ไม่ถือเอา. ทานแม้ใดสักว่าข้าวคำหนึ่งหรือครึ่งคำอันบุคคลให้แล้ว ทานแม้นั้นไม่ถือเอาแล้ว. ส่วนทานใดอันบุคคลหวังผลแล้วให้ตามความต้องการแก่สัตว์ทั้งหลายมีสุนัข สุกร ไก่และกาเป็นต้นตัวใดตัวหนึ่งที่มาถึง ทรงหมายถึงทานนี้ จึงตรัสว่า ให้ทานในสัตว์ดิรัจฉานดังนี้.
               บทว่า สตคุณา ได้แก่ มีอานิสงส์ร้อยเท่า.
               บทว่า ปาฏิกงฺขิตพฺพา คือ พึงปรารถนา.
               มีอธิบายว่า ทักขิณานี้ย่อมให้อานิสงส์ห้าร้อยเท่า คืออายุร้อยเท่า วรรณะร้อยเท่า สุขร้อยเท่า พละร้อยเท่า ปฏิภาณร้อยเท่า. ทักขิณาให้อายุในร้อยอัตภาพ ชื่อว่าอายุร้อยเท่า ให้วรรณะในร้อยอัตภาพ ชื่อว่าวรรณะร้อยเท่า ให้สุขในร้อยอัตภาพ ชื่อว่าสุขร้อยเท่า ให้พละในร้อยอัตภาพ ชื่อว่าพละร้อยเท่า ให้ปฏิภาณทำความไม่สะดุ้งในร้อยอัตภาพ ชื่อว่าปฏิภาณร้อยเท่า.
               แม้ในภพร้อยเท่าที่กล่าวแล้ว ก็มีเนื้อความอย่างนี้แล.
               พึงทราบนัยทุกบท ด้วยทำนองนี้.
               ในบทนี้ว่า ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล แม้อุบาสกผู้ถึงไตรสรณะโดยที่สุดเบื้องต่ำ ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล. แม้ทานที่ให้ในอุบาสก ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผลนั้น นับไม่ได้ ประมาณไม่ได้. ส่วนทานที่ให้แก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในศีลห้ามีผลมากกว่านั้น. ทานที่ให้แก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในศีลสิบมีผลมากกว่านั้นอีก. ทานที่ถวายแก่สามเณรที่บวชในวันนั้นมีผลมากกว่านั้น ทานที่ถวายแก่ภิกษุผู้อุปสมบทมีผลมากกว่านั้น ทานที่ถวายแก่ภิกษุผู้อุปสมบทนั้นแลผู้ถึงพร้อมด้วยวัตรมีผลมากกว่านั้น ทานให้แก่ผู้ปรารภวิปัสสนามีผลมากกว่านั้น. ก็สำหรับผู้มรรคสมังคีโดยที่สุดชั้นสูง ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ชื่อว่าปฏิบัติแล้ว. ทานที่ให้แก่บุคคลนั้นมีผลมากกว่านั้นอีก.
               ถามว่า ก็อาจเพื่อให้ทานแก่ภิกษุผู้มรรคสมังคี หรือ.
               ตอบว่า เออ อาจเพื่อให้.
               ก็ภิกษุผู้ปรารภวิปัสสนา ถือบาตรและจีวร เข้าบ้านเพื่อบิณฑบาต. เมื่อภิกษุผู้มรรคสมังคีนั้น ยืนที่ประตูบ้าน ชนทั้งหลายรับบาตรจากมือก็ใส่ขาทนียะและโภชนียะ. การออกจากมรรคของภิกษุย่อมมีในขณะนั้น. ทานนี้ชื่อว่าเป็นอันให้แล้วแก่ภิกษุผู้มรรคสมังคี.
               ก็อีกประการหนึ่ง ภิกษุนั้นนั่ง ณ โรงฉัน. มนุษย์ทั้งหลายไปแล้ววางขาทนียะโภชนียะในบาตร. การออกจากมรรคของภิกษุนั้น ย่อมมีในขณะนั้น. ทานแม้นี้ ชื่อว่าให้แล้วแก่ภิกษุผู้มรรคสมังคี.
               อีกอย่างหนึ่ง เมื่อภิกษุนั้นนั่ง ณ วิหารหรือโรงฉัน อุบาสกทั้งหลายถือบาตรไปสู่เรือนของตนแล้ว ใส่ขาทนียะและโภชนียะ. การออกจากมรรคของภิกษุนั้นย่อมมีในขณะนั้น. ทานแม้นี้ ชื่อว่าให้แล้วแก่ภิกษุผู้มรรคสมังคี.
               พึงทราบความที่ทานอันบุคคลให้แล้วแก่ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผลนั้น เหมือนน้ำในลำรางไม่อาจนับได้ฉะนั้น. พึงทราบความที่ทานอันบุคคลให้แล้วในบุคคลทั้งหลาย มีพระโสดาบันเป็นต้น ดุจน้ำในมหาสมุทรแล ในบรรดามหานทีนั้นๆ เป็นอันนับไม่ได้. พึงแสดงเนื้อความนี้แม้โดยความที่ทำฝุ่นในสถานสักว่าลานข้าวแห่งแผ่นดินเป็นต้น จนถึงฝุ่นทั้งแผ่นดินอันประมาณไม่ได้.
               เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงปรารภว่า ก็ทักขิณา ๗ อย่างนี้. ทรงปรารภเทศนานี้ ที่ตรัสว่า ดูก่อนโคตมี พระนางจงถวายสงฆ์เถิด เมื่อถวายสงฆ์แล้วจักเป็นอันพระนางได้บูชาทั้งอาตมภาพและสงฆ์ เพื่อทรงแสดงว่า ทานที่ให้ในฐานะ ๗ นั้น เป็นอันชื่อว่าถวายสงฆ์แล้ว.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พุทฺธปฺปมุเข อุภโตสงฺเฆ ความว่า สงฆ์นี้คือ ภิกษุสงฆ์ฝ่ายหนึ่ง ภิกษุณีสงฆ์ฝ่ายหนึ่ง พระศาสดาประทับนั่ง ณ ท่ามกลาง ชื่อว่าสงฆ์ ๒ ฝ่ายมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข.
               บทว่า อยํ ปฐมา ความว่า ชื่อว่าทักขิณามีประมาณเสมอด้วยทักขิณานี้ไม่มี. ก็ทักขิณาทั้งหลายมีทักขิณาที่สองเป็นต้น ย่อมไม่ถึงทักขิณาแม้นั้น.
               ถามว่า ก็เมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว อาจเพื่อถวายทานแด่พระสงฆ์ ๒ ฝ่ายมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขหรือ.
               ตอบว่า อาจ.
               อย่างไร. ก็พึงตั้งพระพุทธรูปที่มีพระธาตุในฐานะประมุขของสงฆ์ ๒ ฝ่ายในอาสนะ วางตั่ง ถวายวัตถุทั้งหมดมีทักขิโณทกเป็นต้นแด่พระศาสดาก่อน แล้วถวายแด่พระสงฆ์ ๒ ฝ่าย. ทานเป็นอันชื่อว่าถวายสงฆ์ ๒ ฝ่ายมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยประการฉะนี้.
               ถามว่า ในพระสงฆ์ ๒ ฝ่ายนั้น ทานใดถวายพระศาสดา ทานนั้นพึงทำอย่างไร.
               ตอบว่า พึงถวายภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยวัตร ผู้ปฏิบัติพระศาสดา ด้วยว่าทรัพย์อันเป็นของบิดาย่อมถึงแก่บุตร. แม้การถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ ก็ควร. ก็ถือเนยใสและน้ำมันพึงตามประทีป ถือผ้าสาฎกพึงยกธงปฎาก.
               บทว่า ภิกฺขุสงฺเฆ ได้แก่ ภิกษุสงฆ์ส่วนมากยังไม่ขาดสาย.
               แม้ในภิกษุณีสงฆ์ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า โคตฺรภุโน ได้แก่ เสวยสักว่า โคตรเท่านั้น. อธิบายว่า เป็นสมณะแต่ชื่อ.
               บทว่า กาสาวกณฺฐา คือ ผู้มีชื่อว่ามีผ้ากาสาวะพันคอ.
               ได้ยินว่า ภิกษุเหล่านั้นพันผ้ากาสาวะผืนหนึ่งที่มือหรือที่คอเที่ยวไป. ก็ประตูบ้าน แม้กรรมมีบุตรภริยากสิกรรมและวณิชกรรมเป็นต้นทั้งหลายของภิกษุผู้ทุศีลเหล่านั้น ก็จักเป็นปกติเทียว. ไม่ได้ตรัสว่า สงฆ์ทุศีล ในบทนี้ว่า คนทั้งหลายจักถวายทานเฉพาะสงฆ์ได้ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น จริงอยู่ สงฆ์ชื่อว่าทุศีลไม่มี แต่อุบาสกทั้งหลายชื่อว่าทุศีล จักถวายทานด้วยคิดว่า เราจักถวายเฉพาะสงฆ์ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น.
               แม้ทักขิณาที่ถวายสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มีผลนับไม่ได้ ด้วยการนับคุณ ด้วยประการฉะนี้. แม้ทักขิณาที่ให้ในสงฆ์ซึ่งมีภิกษุมีผ้ากาสาวะพันคอ ตรัสว่ามีผลนับไม่ได้ ด้วยการนับคุณเหมือนกัน. ก็ทักขิณาที่ถึงสงฆ์ย่อมมีแก่บุคคลผู้อาจเพื่อทำความยำเกรงในสงฆ์. แต่ความยำเกรงในสงฆ์ ทำได้ยาก.
               ก็บุคคลใดเตรียมไทยธรรมด้วยคิดว่าเราจักให้ทักขิณาถึงสงฆ์ ไปวิหารแล้วเรียนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงให้พระเถระรูปหนึ่งเจาะจงสงฆ์เถิด.
               ลำดับนั้น ได้สามเณรจากสงฆ์ย่อมถึงความเป็นประการอื่นว่า เราได้สามเณรแล้ว ดังนี้. ทักขิณาของบุคคลนั้นย่อมไม่ถึงสงฆ์. เมื่อได้พระมหาเถระแม้เกิดความโสมนัสว่า เราได้มหาเถระแล้ว ดังนี้ ทักขิณาก็ไม่ถึงสงฆ์เหมือนกัน.
               ส่วนบุคคลใดได้สามเณร ผู้อุปสมบทแล้ว ภิกษุหนุ่มหรือเถระ ผู้พาลหรือบัณฑิต รูปใดรูปหนึ่งจากสงฆ์แล้ว ไม่สงสัย ย่อมอาจเพื่อทำความยำเกรงในสงฆ์ว่า เราจะถวายสงฆ์ ทักขิณาของบุคคลนั้นเป็นอันชื่อว่าถึงสงฆ์แล้ว.
               ได้ยินว่า พวกอุบาสกชาวสมุทรฝั่งโน้นกระทำอย่างนี้.
               ก็ในอุบาสกเหล่านั้นคนหนึ่งเป็นเจ้าของวัด เป็นกุฎุมพี เจาะจงจากสงฆ์ว่า เราจักถวายทักขิณาที่ถึงสงฆ์ จึงเรียนว่า ขอท่านจงให้ภิกษุรูปหนึ่ง. อุบาสกนั้นได้ภิกษุทุศีลรูปหนึ่ง พาไปสู่สถานที่นั่ง ปูอาสนะผูกเพดานเบื้องบน บูชาด้วยของหอม ธูป และดอกไม้ ล้างเท้าทาด้วยน้ำมัน ได้ถวายไทยธรรมด้วยความยำเกรงในสงฆ์ ดุจทำความนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า.
               ภิกษุรูปนั้นมาสู่ประตูเรือนว่า ท่านจงให้จอบเพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติวัดในภายหลังภัต. อุบาสกนั่งเขี่ยจอบด้วยเท้าแล้วให้ว่า จงรับไป. มนุษย์ทั้งหลายได้กล่าวกะเขานั้นว่า ท่านได้ทำสักการะแก่ภิกษุนี้แต่เช้าตรู่เทียวไม่อาจเพื่อจะกล่าว บัดนี้ แม้สักว่า อุปจาระ (มรรยาท) ก็ไม่มีนี้ชื่อว่าอะไร ดังนี้.
               อุบาสกกล่าวว่า แน่ะนาย ความยำเกรงนั้นมีต่อสงฆ์ ไม่มีแก่ภิกษุนั้น.
               ถามว่า ก็ใครย่อมยังทักขิณาที่ถวายสงฆ์ ซึ่งมีภิกษุมีผ้ากาสาวะพันคอให้หมดจด.
               ตอบว่า พระมหาเถระ ๘๐ รูปมีพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นต้น ย่อมให้หมดจดได้.
               อนึ่ง พระเถระทั้งหลายปรินิพพานนานแล้ว พระขีณาสพทั้งหลายที่ยังมีชีวิตอยู่ตั้งแต่พระเถระเป็นต้น จนถึงทุกวันนี้ ย่อมให้หมดจดเหมือนกัน.
               ในบทนี้ว่า ดูก่อนอานนท์ แต่ว่า เราไม่กล่าวปาฏิบุคคลิกทานว่ามีผลมากกว่าทักขิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์โดยปริยายไรๆ เลย สงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขมีอยู่ สงฆ์ปัจจุบันนี้มีอยู่ สงฆ์ซึ่งมีภิกษุมีผ้ากาสาวะพันคอในอนาคตก็มีอยู่ สงฆ์ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขไม่พึงนำเข้าไปกับสงฆ์ในปัจจุบันนี้ สงฆ์ในปัจจุบันนี้ก็ไม่พึงนำเข้าไปกับสงฆ์ซึ่งมีภิกษุมีผ้ากาสาวะพันคอในอนาคต พึงกล่าวตามสมัยนั้นเท่านั้น. ก็สมณปุถุชนซึ่งนำไปเฉพาะจากสงฆ์ เป็นปาฏิบุคคลิกโสดาบัน เมื่อบุคคลอาจเพื่อทำความยำเกรงในสงฆ์ ทานที่ให้ในสมณะผู้ปุถุชน มีผลมากกว่า.
               ในคำแม้มีอาทิว่า โสดาบันอันทายกถือเอาเจาะจง เป็นปาฏิบุคคลิก สกทาคามีก็มีนัยนี้เหมือนกัน. จริงอยู่ เมื่อบุคคลอาจเพื่อทำความยำเกรงในสงฆ์ ให้ทานแม้ในภิกษุทุศีลซึ่งเจาะจงถือเอา มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายในพระขีณาสพนั้นแล.
               ก็คำใดที่กล่าวว่า ดูก่อนมหาบพิตร ทานที่ให้แก่ผู้มีศีลแล มีผลมาก ทานที่ให้ในผู้ทุศีลหามีผลมากอย่างนั้นไม่ คำนั้นพึงละนัยนี้แล้ว พึงเห็นในจตุกะนี้ว่า ดูก่อนอานนท์ ก็ความบริสุทธิ์แห่งทักขิณานี้มี ๔ อย่าง.
               บทว่า ทายกโต วิสุชฺฌติ ความว่า ทักขิณาบางอย่างบริสุทธิ์ โดยความมีผลมาก. อธิบายว่า เป็นทาน มีผลมาก.
               บทว่า กลฺยาณธมฺโม ได้แก่ มีสุจิธรรม.
               บทว่า ปาปธมฺโม คือ มีธรรมอันชั่ว. ก็พึงแสดงพระเวสสันดรมหาราชในบทนี้ว่า ทักขิณบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายทายก. ก็พระเวสสันดรมหาราชนั้นทรงให้พระโอรสพระธิดาแก่พราหมณ์ชูชกแล้ว ยังแผ่นดินให้หวั่นไหว. พึงแสดงนายเกวัฏฏะผู้อาศัยอยู่ที่ประตูปากน้ำกัลยาณนทีในคำนี้ว่า ทักขิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก.
               ได้ยินว่า เกวัฏฏะนั้นได้ถวายบิณฑบาตแก่พระทีฆโสมเถระถึง ๓ ครั้ง นอนบนเตียงเป็นที่ตายได้กล่าวว่า บิณฑบาตที่ถวายแก่พระผู้เป็นเจ้าทีฆโสมเถระย่อมยกข้าพเจ้าขึ้น.
               พึงแสดงถึงพรานผู้อยู่ในวัฑฒมานะในบทว่า เนว ทายกโต นี้.
               ได้ยินว่า นายพรานนั้นเมื่อให้ทักขิณาอุทิศถึงผู้ตายได้ให้แก่ภิกษุผู้ทุศีลรูปหนึ่งนั้นแลถึง ๓ ครั้ง. ในครั้งที่ ๓ อมนุษย์ร้องขึ้นว่า ผู้ทุศีลปล้นฉัน ดังนี้. ในเวลาที่พรานนั้นถวายแก่ภิกษุผู้มีศีลรูปหนึ่งมาถึง ผลของทักขิณาก็ถึงแก่เขา.
               พึงแสดงอสทิสทานในคำนี้ว่า ทักขิณาบางอย่างบริสุทธิ์ ฝ่ายทายกเท่านั้น.
               ในคำว่า ทักขิณานั้นบริสุทธิ์ฝ่ายทายกนี้ พึงทราบความบริสุทธิ์แห่งทานในบททั้งปวง โดยทำนองนี้ว่า ชาวนาผู้ฉลาดได้นาแม้ไม่ดี ไถในสมัยกำจัดฝุ่น ปลูกพืชที่มีสาระ ดูแลตลอดคืนวัน เมื่อไม่ถึงความประมาท ย่อมได้ข้าวดีกว่านาที่ไม่ดูแลของคนอื่นชื่อฉันใด ผู้มีศีลแม้ให้ทานแก่ผู้ทุศีลย่อมได้ผลมากฉันนั้น.
               ในบทว่า วีตราโค วีตราเคสุ นี้ พระอนาคามีชื่อว่าปราศจากราคะ ส่วนพระอรหันต์เป็นผู้ปราศจากราคะโดยสิ้นเชิงทีเดียว เพราะฉะนั้น ทานที่พระอรหันต์ให้แก่พระอรหันต์นั้นแหละ เป็นทานอันเลิศ. เพราะเหตุไร. เพราะไม่มีความปรารถนาภพของผู้อาลัยในภพ.
               ถามว่า พระขีณาสพย่อมไม่เชื่อผลทานมิใช่หรือ.
               ตอบว่า บุคคลทั้งหลายเชื่อผลทานที่เป็นเช่นกับพระขีณาสพเทียว ไม่มี. ก็กรรมที่พระขีณาสพทำแล้ว ไม่เป็นกุศลหรืออกุศล เพราะเป็นผู้ปราศจากฉันทราคะแล้ว ย่อมตั้งอยู่ในฐานกิริยา ด้วยเหตุนั้น บัณฑิตทั้งหลายจึงกล่าวว่า ทานของพระขีณาสพนั้นมีผลเลิศ ดังนี้.
               ถามว่า ก็ทานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้แก่พระสารีบุตรเถระมีผลมาก หรือว่าทานที่พระสารีบุตรเถระถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีผลมาก.
               ตอบว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่าทานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้แก่พระสารีบุตรมีผลมาก. เพราะเหตุไร. เพราะบุคคลอื่นเว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชื่อว่าสามารถให้ผลทานให้เกิดขึ้นไม่มี. จริงอย่างนั้น ทานย่อมให้ผลแก่ผู้อาจเพื่อทำด้วยสัมปทา ๔ ในอัตภาพนั้นแล.
               สัมปทาในสูตรนี้มีดังนี้ คือ ความที่ไทยธรรมไม่เบียดเบียนผู้อื่นเกิดขึ้น โดยธรรม โดยชอบ, ความที่เจตนาด้วยอำนาจแห่งบุพเจตนาเป็นต้น เป็นธรรมใหญ่, ความเป็นผู้มีคุณอันเลิศยิ่ง โดยความเป็นพระขีณาสพ, ความถึงพร้อมด้วยวัตถุ โดยความเป็นผู้ออกแล้วจากนิโรธในวันนั้น ดังนี้.

               จบอรรถกถาทักขิณาวิภังคสูตรที่ ๑๒               
               จบวิภังควรรคที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

               รวมพระสูตรในวรรคนี้ ดังนี้
                         ๑. ภัทเทกรัตตสูตร
                         ๒. อานันทภัทเทกรัตตสูตร
                         ๓. มหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร
                         ๔. โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร
                         ๕. จูฬกัมมวิภังคสูตร
                         ๖. มหากัมมวิภังคสูตร
                         ๗. สฬายตนวิภังคสูตร
                         ๘. อุทเทสวิภังคสูตร
                         ๙. อรณวิภังคสูตร
                         ๑๐. ธาตุวิภังคสูตร
                         ๑๑. สัจจวิภังคสูตร
                         ๑๒. ทักขิณาวิภังคสูตร
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค ทักขิณาวิภังคสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 698อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 706อ่านอรรถกถา 14 / 720อ่านอรรถกถา 14 / 853
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=9161&Z=9310
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=5710
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=5710
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :