ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 142อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 143อ่านอรรถกถา 15 / 145อ่านอรรถกถา 15 / 956
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวตาสังยุต อาทิตตวรรคที่ ๕
อัจฉราสูตรที่ ๖

               อรรถกถาอัจฉราสูตรที่ ๖               
               พึงทราบวินิจฉัยในอัจฉราสูตรที่ ๖ ต่อไป :-
               บทว่า อจฺฉราคณสงฺฆุฏฺฐํ ความว่า
               ได้ยินว่า เทวบุตรนี้บวชในพระศาสนาของพระศาสดา บำเพ็ญวัตรปฏิบัติอยู่ ปวารณาแล้ว ในกาลแห่งตนมีพรรษา ๕ ทำมาติกาทั้งสองให้แคล่วคล่องแล้ว ศึกษาแล้วถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ เรียนพระกรรมฐานอันเป็นที่พอใจแล้ว เป็นผู้ประพฤติเบาพร้อมเข้าไปสู่ป่า คิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าอนุญาตว่า มัชฌิมยามอันใดเป็นส่วนแห่งการนอนดังนี้ แม้เมื่อมัชฌิมยามนั้นถึงพร้อมแล้ว เราก็ยังกลัวต่อความประมาท ดังนี้ จึงสละเตียงนอนแล้ว พยายามทั้งกลางคืนและกลางวันทำกรรมฐานนั่นแหละไว้ในใจ.
               ลำดับนั้น ลมทั้งหลายเพียงดังศัสตราเกิดขึ้นในภายในแห่งภิกษุนั้น ทำลายชีวิตเสียแล้ว. ภิกษุนั้นได้ทำกาละในเพราะธุระ คือความเพียรนั่นแหละ.
               อนึ่ง ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งจงกรมอยู่ในเพราะการจงกรมก็ตาม ยืนอยู่เพราะอาศัยส่วนที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวไว้ก็ตาม วางจีวรไว้ที่สุดแห่งที่จงกรมเหนือศีรษะแล้วนั่งหรือนอนก็ตาม กำลังแสดงธรรมบนธรรมาสน์อันเขาตกแต่งในท่ามกลางแห่งบริษัทก็ตาม ย่อมกระทำกาละ ภิกษุนั้นทั้งหมดชื่อว่ากระทำกาละในเพราะธุระ คือความเพียร.
               แม้ภิกษุนี้ก็ทำกาละแล้วในที่เป็นที่จงกรม เพราะความที่ตนเป็นผู้มีอุปนิสัยน้อยจึงยังมิได้ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ ได้ถือปฏิสนธิในภพดาวดึงส์ที่ประตูวิมานใหญ่ ราวกะว่าหลับแล้วตื่นขึ้นฉะนั้น. อัตภาพของเทวบุตรนั้นมีสามคาวุตเกิดขึ้น เหมือนเสาระเนียดปิดทองในขณะนั้นนั่นแหละ. ภายในวิมานนางอัปสรประมาณหนึ่งพันเห็นเทวบุตรนั้น แล้วกล่าวว่า เทวบุตรผู้เป็นเจ้าของวิมานมาแล้ว พวกเราจักให้เทวบุตรนั้นพอใจดังนี้ จึงถือเอาเครื่องดนตรีมาแวดล้อมแล้ว.
               เทวบุตรนั้นย่อมไม่รู้ซึ่งความที่ตนเป็นผู้จุติแล้วก่อน ยังสำคัญว่าตนเป็นบรรพชิตอยู่นั่นแหละ จึงเกิดความละอายเพราะเห็นหญิงทั้งหลายมาเที่ยวถึงที่อยู่ จึงเอาผ้าปิดเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ดุจภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุลเอาผ้าที่วางกองไว้ข้างบนมาทำเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง สำรวมอินทรีย์ทั้งหลายแล้วได้ยืนก้มหน้าอยู่.
               พวกนางอัปสรเหล่านั้นทราบว่า เทวบุตรนี้เป็นเทวบุตรมาแต่สมณะโดยเห็นการเคลื่อนไหวกายของเทวบุตรนั้น จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าแต่เทวบุตรผู้เป็นเจ้า นี้ชื่อว่าเทวโลก ขณะนี้มิใช่โอกาสที่จะทำสมณธรรม ที่นี้เป็นโอกาสที่จะเสวยสมบัติ ดังนี้.
               เทวบุตรนั้นได้ยืนอยู่เหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ.
               นางอัปสรเหล่านั้นคิดว่า เทวบุตรนี้ยังกำหนดไม่ได้ดังนี้ จึงบรรเลงดนตรีทั้งหลาย.
               เทวบุตรนั้นก็ยังไม่แลดูอยู่นั่นแหละ ได้ยืนอยู่แล้วเหมือนอย่างนั้น.
               ลำดับนั้น เทพธิดาทั้งหลายเหล่านั้นจึงวางกระจกอันให้เห็นกายทั้งหมดไว้ข้างหน้า.
               เทวบุตรนั้นเห็นเงาในกระจกแล้ว จึงทราบความที่ตนเป็นผู้จุติแล้ว ได้เป็นผู้มีความเดือดร้อนเพราะสมบัติ ด้วยคิดว่า
                         เราทำสมณธรรมมิได้ปรารถนาฐานะเช่นนี้
                         เราปรารถนาพระอรหัตอันเป็นอุดมประโยชน์ ดังนี้.
               เทวบุตรนั้นพิจารณาดูแผ่นผ้าดังสีทอง จึงคิดว่า
                         ชื่อว่าสมบัติในสวรรค์นี้เป็นของหาได้ง่าย
                         ความปรากฏแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายหาได้ยาก
                         ราวกะนักมวยปล้ำหยั่งลงสู่ที่ที่รบกัน (ย่อมต้องการ
                         ของมีค่า) แต่กลับได้กำแห่งหัวมัน ดังนี้
               จึงมิได้เข้าไปสู่วิมานเลย ผู้อันหมู่แห่งนางอัปสรแวดล้อมแล้ว ด้วยทั้งศีลยังมิได้ทำลายนั่นแหละมาสู่สำนักของพระทศพล ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กล่าวคาถานี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อจฺฉราคณสงฺฆุฏฺฐํ ความว่า อันหมู่แห่งนางอัปสรให้กึกก้องแล้วด้วยการขับร้องและดนตรี.
               บทว่า ปิสาจคณเสวิตํ อธิบายว่า เทวบุตรนั้นย่อมกล่าวทำหมู่แห่งนางอัปสรนั้นนั่นแหละว่าเป็นหมู่แห่งปีศาจ.
               บทว่า วนํ ความว่า เทวบุตรนั้นกล่าวหมายเอาสวนชื่อนันทนวัน.
               จริงอยู่ เทวบุตรนี้ย่อมไม่ชอบใจที่จะกล่าวหมู่แห่งเทวดาว่าเป็นหมู่แห่งเทวดา ย่อมกล่าวหมู่แห่งเทวดาว่าเป็นหมู่แห่งปีศาจ ดังนี้ ก็เพราะจิตตนิยาม โดยความเป็นผู้หนักแน่นของตน. และไม่กล่าวสวนนันทนวันว่าเป็นสวนนันทนวัน ย่อมกล่าวสวนนันทนวันว่าเป็นป่าโมหนะ (ป่าเป็นที่หลง).
               บทว่า กถํ ยาตฺรา ภวิสฺสติ อธิบายว่า การออกไปจักมีได้อย่างไร การก้าวออกไปจักมีได้อย่างไร ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์จงตรัสบอกวิปัสสนาอันเป็นปทัฏฐาน (เหตุใกล้) แห่งพระอรหัตแก่ข้าพระองค์.
               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาอยู่ว่า เหตุที่เทวบุตรนี้กำหนดอยู่นั่นแหละเป็นอะไรหนอ ดังนี้ ทรงทราบแล้วซึ่งความที่เทวบุตรนั้นเป็นบรรพชิตในศาสนาของพระองค์ จึงทรงดำริว่า เทวบุตรนี้ทำกาละ เพราะความเพียรอันแรงกล้าแล้วเกิดในเทวโลก ทั้งอัตภาพของเธอนั้นในที่เป็นที่จงกรมนั่นแหละ แม้ในวันนี้ก็มิได้ทำลายศีลมาแล้ว ดังนี้.
               ธรรมดาว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมตรัสบอกปฏิปทาอันเป็นส่วนเบื้องต้นก่อนว่า เธอจงชำระศีลให้บริสุทธิ์ก่อน จงเจริญสมาธิ จงทำกัมมัสสกตปัญญาให้ตรง ดังนี้ ราวกะนายช่างจิตรกรทำการตกแต่งฝาผนังบอกแก่อันเตวาสิกผู้ไม่มั่นใจในการกระทำ ผู้เริ่มทำครั้งแรก ผู้ไม่ชำนาญในการทำฉะนั้น แต่ว่า เมื่อบุคคลผู้กระทำเคยประกอบแล้วประกอบทั่วแล้ว พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมตรัสบอกสุญญตาวิปัสสนาทีเดียวซึ่งเป็นภาวะสุขุมลึกซึ้งอันเป็นปทัฏฐานแห่งพระอรหัตมรรค.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเข้าพระทัยดีว่า เทวบุตรนี้เป็นผู้กระทำ ผู้มีศีลยังมิได้ทำลาย ก็มรรคหนึ่งจักมีแก่เทวบุตรนี้ในอนาคต ดังนี้.
               เมื่อจะทรงบอกสุญญตาวิปัสสนา จึงตรัสคำว่า อุชุโก นาม เป็นอาทิ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุชุโก อธิบายว่า มรรคประกอบด้วยองค์แปด ชื่อว่าทางตรง เพราะความที่ทางนั้นไม่มีการคดทั้งหลายมีการคดทางกายเป็นต้น.
               บทว่า อภยา นาม สาทิสา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาพระนิพพาน.
               จริงอยู่ ในพระนิพพานนั้น ภัยอะไรๆ ก็ไม่มี หรือว่าภัยนั้น ย่อมไม่มีแก่ผู้ถึงพระนิพพานแล้ว เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อภยา นาม สาทิสา แปลว่า ทิศนั้นชื่อว่าไม่มีภัย.
               บทว่า รโถ อกุชฺชโน ข้อนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระประสงค์เอาอัฏฐังคิกมรรค.
               เหมือนอย่างว่า เมื่อเพลาแห่งรถไม่มีน้ำมันหยอด หรือว่าเมื่อคนขึ้นมากเกินไป ธรรมดารถก็ต้องมีเสียงดัง คือย่อมส่งเสียงดังฉันใด รถคืออริยมรรคฉันนั้น หามิได้.
               จริงอยู่ รถคืออริยมรรคนั้นแม้สัตว์ตั้งแปดหมื่นสี่พันขึ้นอยู่โดยการนำไปคราวเดียวกัน ย่อมไม่ดัง ย่อมไม่ส่งเสียง เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อกุชฺชโน แปลว่า ไม่มีเสียงดัง.
               บทว่า ธมฺมจกฺเกหิ สํยุโต อธิบายว่า ประกอบพร้อมแล้วด้วยล้อคือธรรมทั้งหลาย กล่าวคือความเพียรอันเป็นไปทางกายและทางใจ.
               บทว่า หิริ นี้ แม้โอตตัปปะ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงถือเอาแล้วด้วยศัพท์ว่าหิริ นั่นแหละ.
               บทว่า ตสฺส อปาลมฺโพ อธิบายว่า เมื่อนักรบทั้งหลายยืนอยู่บนรถอันมีในภายนอก ย่อมมีฝาที่ทำด้วยไม้เพื่อต้องการแก่อันมิให้ตกไปฉันใด หิริและโอตตัปปะแห่งรถคือมรรคนี้อันมีทั้งภายในและภายนอกเป็นสมุฏฐาน เป็นเครื่องป้องกันฉันนั้น.
               บทว่า สตฺยสฺส ปริวารณํ อธิบายว่า สติอันสัมปยุตด้วยรถคือมรรคแม้นี้เป็นเกราะกำบัง ราวกะรถของนักรบที่หุ้มด้วยวัตถุทั้งหลายมีหนังสีหะเป็นต้น.
               บทว่า ธมฺมํ ได้แก่ โลกกุตรมรรค.
               บทว่า สมฺมาทิฏฺฐิปุเร ชวํ อธิบายว่า สัมมาทิฏฐิแห่งวิปัสสนานำหน้าไป คือเป็นเครื่องดำเนินไปก่อน (เป็นประธาน) แห่งมรรคนั้นมีอยู่ เพราะเหตุนั้น มรรคนั้นจึงชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐินำหน้า.
               ธรรมมีสัมมาทิฏฐินำหน้านั้น คือเหมือนอย่างว่า เมื่อราชบุรุษทั้งหลายทำหนทางให้สะอาดโดยการนำชนทั้งหลายมีคนบอดคนง่อยเป็นต้นออกไปก่อน แล้วพระราชาจึงเสด็จมาในภายหลังฉันใด ครั้นเมื่อธรรมทั้งหลายมีขันธ์เป็นต้นอันสัมมาทิฏฐิแห่งวิปัสสนาชำระให้หมดจดแล้วด้วยสามารถแห่งความเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น สัมมาทิฏฐิแห่งมรรคอันกำหนดรู้อยู่ซึ่งวัฏฏะได้แล้วในภูมิ จึงเกิดขึ้นในภายหลังฉันนั้นนั่นแหละ.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ธมฺมาหํ สารถึ พฺรูมิ สมฺมาทิฏฺฐิปุเร ชวํ แปลว่า เรากล่าวธรรมมีสัมมาทิฏฐินำหน้าว่า เป็นสารถี.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นให้เทศนาสำเร็จด้วยประการฉะนี้แล้ว ในที่สุดทรงแสดงสัจจะ ๔ ในเวลาที่สุดลงแห่งเทศนา เทวบุตรตั้งอยู่เฉพาะแล้วในโสดาปัตติผล.
               เหมือนอย่างว่า ในเวลาที่พระราชาเสวยพระกระยาหาร พระองค์ก็ยกขึ้นเสวยโดยประมาณของพระองค์ บุตรที่นั่งอยู่ที่ตักก็ย่อมทำคำข้าวโดยประมาณแก่ปากของตนฉันใด
               ข้อนี้ก็ฉันนั้นนั่นแหละ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ทรงแสดงเทศนาอันสุดยอดคือพระอรหัตอยู่ สัตว์ทั้งหลายย่อมบรรลุธรรมทั้งหลายมีโสดาปัตติผลเป็นต้นโดยสมควรแก่ธรรมเป็นอุปนิสัยของตน ฉะนั้น.
               แม้เทวบุตรนี้ก็บรรลุโสดาปัตติผล แล้วบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยวัตถุทั้งหลายมีของหอมเป็นต้น แล้วหลีกไป.

               จบอรรถกถาอัจฉราสูตรที่ ๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวตาสังยุต อาทิตตวรรคที่ ๕ อัจฉราสูตรที่ ๖ จบ.
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 142อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 143อ่านอรรถกถา 15 / 145อ่านอรรถกถา 15 / 956
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=955&Z=965
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=2177
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=2177
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๘  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :