ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 378อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 381อ่านอรรถกถา 15 / 386อ่านอรรถกถา 15 / 956
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค โกสลสังยุตต์ ทุติยวรรคที่ ๒
ทุติยอัปปมาทสูตรที่ ๘

               อรรถกถาทุติยอัปปมาทสูตรที่ ๘               
               พึงทราบวินิจฉัยในทุติยอัปปมาทสูตรที่ ๘ ต่อไป :-
               บทว่า โส จ โข กลฺยาณมิตฺตสฺส ความว่า ก็ธรรมนี้นั้น ย่อมชื่อว่าสวากขาตธรรมของผู้มีมิตรดีเท่านั้น หาใช่สวากขาตธรรมของผู้มีมิตรชั่วไม่.
               จริงอยู่ ธรรมเป็นสวากขาตธรรม แม้ของทุกคนก็จริง ถึงอย่างนั้น ย่อมทำประโยชน์ให้เต็มแก่ผู้มีมิตรดี ผู้ตั้งใจฟังด้วยดี ผู้เชื่อถือ เหมือนยาเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้ หาเป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่ใช้ไม่ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำนี้ พึงทราบว่าเทศนาธรรมในคำว่า ธมฺโม นี้.
               บทว่า อุปฑฺฒมิทํ ความว่า ได้ยินว่า พระเถระเจ้าไปในที่ลับคิดว่า เมื่อมิตรดีผู้โอวาทพร่ำสอนมีอยู่ สมณธรรมนี้ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ตั้งอยู่ในความพยายามเฉพาะตัว ดังนั้น พรหมจรรย์กึ่งหนึ่งมาจากมิตรดี กึ่งหนึ่งมาจากความพยายามเฉพาะตัว. ครั้งนั้น พระเถระดำริว่า เราอยู่ในปเทสญาณ (ญาณในธรรมบางส่วน) รู้บางส่วน ไม่อาจคิดได้หมดทุกส่วน จำต้องทูลถามพระศาสดา จึงจักหมดสงสัย เพราะฉะนั้น ท่านจึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา แล้วกล่าวอย่างนั้น.
               บทว่า พฺรหฺมจริยสฺส ได้แก่ อริยมรรค.
               บทว่า ยทิทํ กลฺยาณมิตฺตตา ความว่า ความเป็นผู้มีมิตรดีที่ได้ ย่อมมาสู่พรหมจรรย์กึ่งหนึ่ง จากพรหมจรรย์กึ่งหนึ่ง ดังนั้น พระเถระจึงกล่าวว่า อริยมรรคมีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น ครึ่งหนึ่งย่อมมาจากความเป็นผู้มีมิตรดี อีกครึ่งหนึ่งย่อมมาจากความพยายามเฉพาะตัว. ก็จริงอยู่ นี้เป็นความปรารถนาของพระเถระ แท้จริง แม้ในที่นี้ธรรมที่แบ่งแยกไม่ได้นี้ ก็ไม่อาจแบ่งแยกได้ว่า บรรดาอริยมรรคมีสัมมาสัมทิฏฐิเป็นต้น เท่านี้เกิดจากความมีมิตรดี เท่านี้เกิดจากความพยายามเฉพาะตน เปรียบเหมือนเมื่อคนมากคนยกเสาหิน ก็แบ่งแยกไม่ได้ว่า ที่เท่านี้คนโน้นยก ที่เท่านี้คนโน้นยก และเหมือนอย่างว่า เมื่อบุตรอาศัยมารดาบิดาเกิดขึ้น ก็แบ่งแยกไม่ได้ว่าเกิดจากมารดาเท่านี้ เกิดจากบิดาเท่านี้ ฉะนั้น. ถึงกระนั้น พรหมจรรย์ชื่อว่ากึ่งหนึ่ง ตามอัธยาศัยของพระเถระว่า เพราะเป็นผู้มีมิตรดี ก็ได้คุณกึ่งหนึ่ง พรหมจรรย์ชื่อว่าทั้งสิ้น ตามอัธยาศัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ก็ได้คุณทั้งสิ้น.
               ก็คำว่า กลฺยาณมิตฺตตา นี้ท่านถือว่า ชื่อว่าได้คุณที่เป็นส่วนเบื้องต้น ว่าโดยใจความก็ได้แก่ขันธ์ ๔ คือ ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ วิปัสสนาขันธ์อันอาศัยกัลยาณมิตรได้มา. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า สังขารขันธ์ก็มี.
               บทว่า มาเหวํ อานนฺท ความว่า อย่าพูดอย่างนี้ เธอเป็นพหูสูต บรรลุปฏิสัมภิทาฝ่ายเสขะ รับพร ๘ ประการแล้วอุปัฏฐากเรา เธอผู้ประกอบด้วยอัจฉริยัพภูตธรรม ๔ ประการ ไม่ควรกล่าวอย่างนี้แก่บุคคลเช่นนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำนี้ว่า ดูก่อนอานนท์ ความมีมิตรดี ความมีสหายดี ความมีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้น ดังนี้ ทรงหมายว่า มรรค ๔ ผล ๔ วิชชา ๓ อภิญญา ๖ ทั้งหมดมีมิตรดีเป็นมูลทั้งนั้น.
               บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงเหตุ โดยการเปล่งพระวาจานั่นแล จึงตรัสคำว่า กลฺยามิตฺสฺเสตํ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปาฏิกงฺขํ ความว่า พึงหวัง พึงปรารถนาว่ามีอยู่แท้.
               บทว่า อิธ แปลว่า ในศาสนานี้.
               ก่อนอื่น อาทิบททั้ง ๘ ในคำว่า สมฺมาทิฏฺฐึ ภาเวติ เป็นต้นมีพรรณนาสังเขปดังนี้. สัมมาทิฏฐิมีลักษณะเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะมีลักษณะยกสหชาตธรรมขึ้นสู่อารมณ์ชอบ สัมมาวาจามีลักษณะกำหนดอารมณ์ชอบ สัมมากัมมันตะมีลักษณะตั้งตนไว้ชอบ. สัมมาอาชีวะมีลักษณะทำอารมณ์ให้ผ่องแผ้วชอบ. สัมมาวายามะมีลักษณะประคองชอบ สัมมาสติมีลักษณะปรากฏชอบ สัมมาสมาธิมีลักษณะตั้งมั่นชอบ.
               บรรดามรรคมีองค์ ๘ นั้น มรรคองค์หนึ่งๆ มีกิจ ๓ คือ ก่อนอื่นสัมมาทิฏฐิย่อมละมิจฉาทิฏฐิ พร้อมกับเหล่ากิเลสที่เป็นข้าศึกของตนอย่างอื่นๆ ๑ ทำนิโรธให้เป็นอารมณ์ ๑ และเห็นสัมปยุตธรรมเพราะไม่ลุ่มหลง โดยกำจัดโมหะอันปกปิดสัมปยุตธรรมนั้น ๑.
               แม้สัมมาสังกัปปะเป็นต้น ก็ละมิจฉาสังกัปปะเป็นต้น และทำนิโรธให้เป็นอารมณ์ อย่างนั้นเหมือนกัน แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในมรรคมีองค์ ๘ นั้น สัมมาสังกัปปะย่อมยกอารมณ์ขึ้นสู่สหชาตธรรม.
               สัมมาวาจาย่อมกำหนดถือเอาชอบ สัมมากัมมันตะย่อมตั้งตนไว้ชอบ สัมมาอาชีวะย่อมผ่องแผ้วชอบ สัมมาวายามะย่อมประคองความเพียรๆ ชอบ สัมมาสติย่อมตั้งไว้ชอบ สัมมาสมาธิย่อมตั้งมั่นชอบ.
               อนึ่งเล่า ธรรดาสัมมาทิฏฐินี้ ในส่วนเบื้องต้นย่อมมีขณะต่างๆ มีอารมณ์ต่างๆ แต่ในขณะมรรคจิตมีขณะอันเดียว มีอารมณ์อย่างเดียว. แต่ว่าโดยกิจ ย่อมได้ชื่อ ๔ ชื่อมี ทุกฺเข ญาณํ รู้ในทุกข์ดังนี้เป็นต้น แม้สัมมาสังกัปปะเป็นต้น ในส่วนเบื้องต้นก็มีขณะต่างกัน มีอารมณ์ต่างกัน แต่ในขณะแห่งมรรคจิตย่อมมีขณะอันเดียว มีอารมณ์อย่างเดียว. ในมรรคมีองค์ ๘ นั้น สัมมาสังกัปปะว่าโดยกิจ ย่อมได้ชื่อ ๓ ชื่อมีเนกขัมมสังกัปปะเป็นต้น. สัมมาวาจาเป็นต้นย่อมเป็นวิรัติ ๓ บ้าง เป็นเจตนาเป็นต้นบ้าง แต่ในขณะแห่งมรรคจิตก็เป็นวิรัติเท่านั้น.
               สัมมาวายามะและสัมมาสติทั้งสองดังว่ามานี้ ว่าโดยกิจก็ได้ชื่อ ๔ ชื่อโดยสัมมัปปธาน ๔ สติปัฏฐาน ๔. ส่วนสัมมาสมาธิทั้งในส่วนเบื้องต้น ทั้งในขณะแห่งมรรคจิต ก็สมาธิอย่างเดียว.
               ครั้นทราบการพรรณนาอาทิบททั้ง ๘ ที่ท่านกล่าวโดยนัยว่า สมฺมาทิฏฐึ ดังนี้เป็นต้นอย่างนี้ก่อนแล้ว บัดนี้ พึงทราบความในคำว่า ภาเวติ วิเวกนิสฺสิตํ เป็นต้นดังนี้.
               บทว่า ภาเวติ แปลว่า เจริญ. อธิบายว่า ทำให้เกิด บังเกิดในจิตสันดานของตน.
               บทว่า วิเวกนิสฺสิตํ แปลว่า อาศัยวิเวก.
               บทว่า วิเวโก ได้แก่ ความเป็นผู้สงัด.
               พึงทราบความดังนี้ว่า ความเป็นผู้สงัดนี้ ได้แก่ วิเวก ๕ อย่างคือ ตทังควิเวก วิกขัมภนวิเวก สมุจเฉทวิเวก ปฏิปัสสัทธิวิเวก นิสสรณวิเวก. วิเวกมี ๕ อย่างดังนี้.
               บทว่า วิเวกนิสฺสิตํ ก็ได้แก่ เจริญสัมมาทิฏฐิที่อาศัยตทังควิเวก อาศัยสมุจเฉทวิเวก และอาศัยนิสสรณวิเวก.
               อนึ่งเล่า พระโยคี [โยคาวจร] ผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งอริยมรรคภาวนานี้ ในขณะเจริญวิปัสสนาย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิที่อาศัยตทังควิเวก โดยกิจที่อาศัยนิสสรณวิเวกโดยอัธยาศัย แต่ในขณะแห่งมรรคจิตย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิที่อาศัยสมุจเฉทวิเวกโดยกิจ ที่อาศัยนิสสรณวิเวกโดยอารมณ์.
               ในบทว่าที่อาศัยวิราคะเป็นต้น ก็นัยนี้.
               ก็วิราคะเป็นต้น ก็มีวิเวกความสงัดเป็นอรรถนั่นแหละ.
               ก็ในที่นี้อย่างเดียว โวสสัคคะมี ๒ อย่างคือ ปริจาคโวสสัคคะและปักขันทนโวสสัคคะ.
               บรรดาโวสสัคคะ ๒ อย่างนั้น การละกิเลสด้วยอำนาจตทังคปหานในขณะเจริญวิปัสสนา และการละกิเลสด้วยอำนาจสมุจเฉทปหานในขณะแห่งมรรคจิต ชื่อว่าปริจาคโวสสัคคะ.
               ในขณะเจริญวิปัสสนาก็แล่นไปสู่พระนิพพานด้วยความเป็นผู้น้อมไปในพระนิพพานนั้น แต่ในขณะแห่งมรรคจิตก็แล่นไปสู่พระนิพพานด้วยการทำพระนิพพานให้เป็นอารมณ์ ชื่อว่าปักขันทนโวสสัคคะ.
               โวสสัคคะแม้ทั้งสองนั้นย่อมควรในอรรถกถานัยที่ผสมทั้งโลกิยะและโลกุตระนี้.
               จริงอย่างนั้น สัมมาทิฏฐินี้ย่อมสละกิเลสและแล่นไปสู่พระนิพพานโดยประการตามที่กล่าวแล้ว ด้วยคำทั้งสิ้นนี้ว่า โวสฺสคฺคปริณามึ ท่านอธิบายไว้ดังนี้ว่า กำลังน้อมไปและน้อมไปแล้ว กำลังบ่มและบ่มสุกแล้ว เพื่อโวสสัคคะ.
               จริงอยู่ ภิกษุผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งอริยมรรคภาวนานี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิโดยอาการที่สัมมาทิฏฐินั้นกำลังบ่มเพื่อโวสสัคคะคือการสละกิเลส และเพื่อโวสสัคคะคือการแล่นไปสู่พระนิพพาน และโดยอาการที่สัมมาทิฏฐินั้นบ่มสุกแล้ว.
               ในองค์มรรคที่เหลือก็นัยนี้.
               บทว่า อาคมฺม ได้แก่ ปรารภหมายถึง อาศัยแล้ว.
               บทว่า ชาติธมฺมา ได้แก่ มีการเกิดเป็นสภาวะ คือมีการเกิดเป็นปกติ [ธรรมดา].
               บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะเหตุที่แม้อริยมรรคทั้งสิ้นอาศัยกัลยาณมิตรจึงได้ ฉะนั้น
               ศัพท์ว่า หนฺท เป็นนิบาตลงในอรรถว่าเชื้อเชิญ.
               บทว่า อปฺปามาทํ ปสํสนฺติ ได้แก่ บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาท เพราะฉะนั้น จึงควรทำความไม่ประมาท.
               บทว่า อตฺถาภิสมยา แปลว่า เพราะได้ประโยชน์.

               จบอรรถกถาทุติยอัปปมาทสูตรที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค โกสลสังยุตต์ ทุติยวรรคที่ ๒ ทุติยอัปปมาทสูตรที่ ๘ จบ.
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 378อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 381อ่านอรรถกถา 15 / 386อ่านอรรถกถา 15 / 956
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=2791&Z=2866
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=3878
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=3878
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๘  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :