ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 613อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 620อ่านอรรถกถา 15 / 626อ่านอรรถกถา 15 / 956
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พรหมสังยุต ทุติยวรรคที่ ๒
ปรินิพพานสูตรที่ ๕

               อรรถกถาปรินิพพานสูตรที่ ๕               
               ในปรินิพพานสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อุปวตฺตเตน มลฺลานํ สาลวเน ความว่า สาลวโนทยานอยู่ฝั่งโน้มแห่งแม่น้ำ ชื่อว่าหิรัญญวดี เหมือนทางไปถูปารามทางประตูราชมาตุวิหารแต่ฝั่งแม่น้ำกัทธัมพะ. สาลวโนทยานนั้นอยู่ในกรุงกุสินารา เหมือนถูปารามแห่งอนุราธบุรี. แถวต้นสาละจากสาลวโนทยานมุ่งไปทางทิศปราจีน ออกทางทิศอุดร เหมือนทางที่ไปสู่พระนครโดยประตูด้านทิศทักษิณ จากถูปารามตรงไปทางด้านปราจินทิศ ออกทางทิศอุดรฉะนั้น. เพราะฉะนั้น สาลวโนทยานนั้น ท่านจึงเรียกว่า ทางโค้ง. ในสาลวันของเจ้ามัลละอันเป็นทางโค้งนั้น.
               บทว่า อนฺตเรน ยมกสาลานํ ความว่า ในระหว่างแห่งต้นสาละที่ยืนต้นเกี่ยวกันและกัน ทางรากลำต้นค่าคบและใบ.
               บทว่า อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ ความว่า ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงให้สำเร็จด้วยความไม่อยู่ปราศจากสติ. ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรทมเหนือพระแท่นปรินิพพาน จึงทรงใส่พระโอวาททั้งหมดที่ทรงประทานมา ๔๕ พรรษาลงในบทอัปปมาทธรรมบทเดียวเท่านั้น เหมือนอย่างกุฎุมพีผู้มีทรัพย์มาก ผู้นอนบนเตียงเป็นที่ตาย พึงบอกทรัพย์อันเป็นสาระแก่บุตรทั้งหลาย ฉะนั้น.
               ก็คำว่า อยํ ตถาคตสฺส ปจฺฉิมวาจา นี้ เป็นคำของพระสังคีติกาจารย์.
               เบื้องหน้าแต่นี้ เพื่อจะแสดงถึงบริกรรมแห่งปรินิพพานที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำแล้วปรินิพพาน พระสังคีติกาจารย์จึงกล่าวว่า อถโข ภควา ปฐมชฺฌานํ ดังนี้เป็นต้น.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ในที่นั้น เทพดาและมนุษย์เห็นความไม่เป็นไปของลมอัสสาสปัสสาสะ จึงได้ร้องขึ้นพร้อมกันด้วยเข้าใจว่า พระศาสดาปรินิพพานเสียแล้ว.
               ฝ่ายพระอานนทเถระถามพระอนุรุทธเถระว่า ท่านอนุรุทธะเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้วหรือหนอ.
               พระอนุรุทธเถระตอบว่า อาวุโสอานนท์ พระตถาคตยังไม่ปรินิพพาน แต่พระองค์ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ.
               ถามว่า ท่านพระอนุรุทธะรู้ได้อย่างไร.
               ตอบว่า เล่ากันมาว่า พระเถระเข้าสมาบัตินั้นๆ พร้อมกับพระศาสดาทีเดียว ไปจนถึงออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ได้รู้ว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเข้านิโรธสมาบัติ และชื่อว่าการทำกาละภายในนิโรธสมาบัติ ย่อมไม่มี.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเข้าปฐมฌานในฐานะ ๒๔ ในคำนี้ว่า ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ แล้วเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ฯลฯ ออกจากตติยฌาน แล้วเข้าจตุตถฌาน.
               ในฐาน ๑๓ เข้าทุติยฌาน ตติยฌานก็เหมือนกัน.
               ในฐาน ๑๕ ทรงเข้าจตุตถฌาน. เข้าอย่างไร?
               ก่อนอื่น ทรงเข้าปฐมฌานในฐานะ ๒๔ เหล่านี้ คืออสุภ ๑๐ อาการ ๓๒#- กสิณ ๘ เมตตา กรุณา มุทิตา อานาปานัสสติ ๑ ปริจเฉทากาสกสิณ ๑. แต่ทรงเว้นอาการ ๓๒ อสุภ ๑๐ ทรงเข้าทุติยฌานและตติยฌานในบรรดาฌาน ๑๓ ที่เหลือ. อนึ่ง ทรงเข้าจตุตถฌานในฐานะ ๑๕ เหล่านี้ คือ กสิณ ๘ อุเบกขาพรหมวิหาร ๑ อานาปานัสสติ ๑ ปริจเฉทากาสกสิณ ๑ อรูปฌาน ๔.
               ก็กถาโดยสังเขปเพียงเท่านี้.
____________________________
#- อาการ ๓๒ นับเป็น ๑ ฐาน.

               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นเจ้าของแห่งธรรมเสด็จเข้าสู่นครนิพพาน ทรงเข้าสมาบัติทั้งหมดนับได้ ๒๔ แสนโกฏิ แล้วเข้าเสวยสุขในสมาบัติทั้งหมด เหมือนคนไปสู่ต่างประเทศสวมกอดคนที่เป็นญาติ.
               ก็ในคำว่า จตุตฺถชฺฌานา วุฏฺฐหิตฺวา สมนนฺตรา ภควา ปรินิพฺพุโต นี้ ความว่า มีลำดับ ๒ อย่างคือ ลำดับแห่งฌาน ๑ ลำดับแห่งปัจจเวกขณญาณ ๑.
               การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าออกจากจตุตถฌานหยั่งลงสู่ภวังคจิต แล้วปรินิพพานในขณะนั้นนั่นเอง ชื่อว่าลำดับแห่งฌาน. การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าออกจากจตุตถฌานแล้วพิจารณาองค์ฌานซ้ำอีกหยั่งลงสู่ภวังคจิตแล้ว ปรินิพพานในขณะนั้นนั่นเอง ชื่อว่าลำดับแห่งปัจจเวกขณญาณ. ลำดับ ๒ อย่างดังว่ามานี้. ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าเข้าฌานแล้ว ออกจากฌานแล้ว ทรงพิจารณาองค์ฌาน ปรินิพพานด้วยอัพยากตทุกขสัจจะอันเป็นภวังคจิต.
               ก็ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งไม่ว่าพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าหรือพระอริยสาวก โดยที่สุดกระทั่งมดดำมดแดงทั้งหมดย่อมทำกาละด้วยอัพยากตทุกขสัจจะอันเป็นภวังคจิตทั้งนั้น ฉะนี้แล.
               บทว่า ภูตา แปลว่า หมู่สัตว์.
               บทว่า อปฺปฏิปุคฺคโล ได้แก่ เว้นจากบุคคลผู้จะเปรียบเทียบ.
               บทว่า พลปฺปตฺโต ได้แก่ ผู้บรรลุพลญาณ ๑๐.
               บทว่า อุปฺปาทวยธมฺมิโน ได้แก่ มีการเกิดและการดับเป็นสภาวะ.
               บทว่า เตสํ วูปสโม สุโข ความว่า พระนิพพานกล่าวคือการเข้าไปสงบแห่งสังขารเหล่านั้นนั่นเองเป็นสุข.
               ด้วยคำว่า ตทาสิ ท่านกล่าวหมายเอาแผ่นดินไหวที่ท่านกล่าวไว้ในมหาปรินิพพานสูตรอย่างนี้ว่า แผ่นดินใหญ่ไหวย่อมมีพร้อมกับปรินิพพาน. ความจริง แผ่นดินใหญ่ไหวนั้นให้เกิดขนพองสยองเกล้าและมีอาการน่าสะพึงกลัว.
               บทว่า สพฺพาการวรูเปเต ได้แก่ ประกอบด้วยการกระทำอันประเสริฐโดยอาการทั้งปวง.
               บทว่า นาหุ อสฺสาสปสฺสาโส ได้แก่ ลมอัสสาสปัสสาสะ ไม่เกิด.
               บทว่า อเนโช ความว่า ชื่อว่าอเนชะ เพราะไม่มีกิเลสชาติเครื่องหวั่นไหวกล่าวคือตัณหา.
               บทว่า สนฺติมารพฺภ ได้แก่ อาศัยคือหมายเอาอนุปาทิเสสนิพพาน.
               บทว่า จกฺขุมา ได้แก่ ผู้มีจักษุด้วยจักษุ ๕.
               บทว่า ปรินิพฺพุโต ได้แก่ ปรินิพพานด้วยขันธปรินิพพาน.
               บทว่า อสลฺลีเนน ได้แก่ มีจิตไม่หดหู่ ไม่คดงอ คือเบิกบานด้วยดีนั่นเอง.
               บทว่า เวทนํ อชฺฌาวสยิ ได้แก่ อดกลั้นเวทนา ไม่คล้อยตามเวทนากระสับกระส่ายไปข้างโน้นข้างนี้.
               บทว่า วิโมกฺโข ได้แก่ หลุดพ้น ไม่มีเครื่องกีดขวาง. อธิบายว่า เข้าถึงความไม่มีบัญญัติโดยประการทั้งปวง เป็นเสมือนไฟที่ลุกโพลงดับไป ฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาปรินิพพานสูตรที่ ๕               
               วรรคที่ ๒ แห่งพรหมสังยุต เพียงเท่านี้               
               -----------------------------------------------------               

               รวมพระสูตร               
               พรหมปัญจกะนี้ พระธรรมสังคาหกาจารย์แสดงด้วย
                         สนังกุมารสูตร
                         เทวทัตตสูตร
                         อันทธกวินทสูตร
                         อรุณวตีสูตร และ
                         ปรินิพพานสูตร

               จบพรหมสังยุตต์               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พรหมสังยุต ทุติยวรรคที่ ๒ ปรินิพพานสูตรที่ ๕ จบ.
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 613อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 620อ่านอรรถกถา 15 / 626อ่านอรรถกถา 15 / 956
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=5084&Z=5135
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=5485
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=5485
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๘  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :