ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 648อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 652อ่านอรรถกถา 15 / 658อ่านอรรถกถา 15 / 956
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พราหมณสังยุตต์ อรหันตวรรคที่ ๑
อัคคิกสูตรที่ ๘

               อรรถกถาอัคคิกสูตรที่ ๘               
               ในอัคคิกสูตรที่ ๘ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อคฺคิกภารทฺวาโช ได้แก่ พราหมณ์แม้นี้ ก็ชื่อว่าภารทวาชะเหมือนกัน แต่โดยที่เขาบำเรอไฟ พระสังคีติกาจารย์จึงตั้งชื่อเขาอย่างนั้น.
               บทว่า สนฺนิหิโต ได้แก่ อันเขาปรุงอย่างดี.
               บทว่า อฏฺฐาสิ ความว่า เพราะเหตุไร จึงยืนอยู่ในที่นั้น.
               เล่ากันมาว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูโลกในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นพราหมณ์นี้ ทรงพระดำริว่า พราหมณ์นี้ถือข้าวปายาสอันเลิศเห็นปานนี้เอาไปเผาไฟ ด้วยตั้งใจจะให้มหาพรหมบริโภค ย่อมกระทำสิ่งที่ไร้ผล ก้าวลงสู่ทางอบาย เมื่อไม่ละลัทธินี้ก็จักทำอบายให้เต็ม จำเราจักไปทำลายทิฐิของเขาด้วยธรรมเทศนาแล้วให้บรรพชา ให้มรรค ๔ ผล ๔ แก่เขา เพราะฉะนั้น ในเวลาเช้าจึงเสด็จเข้ากรุงราชคฤห์ ได้ประทับยืนอยู่ ณ ที่นั้น.
               บทว่า ตีหิ วิชฺชาหิ ได้แก่ ด้วยเวท ๓.
               บทว่า ชาติมา ความว่า ประกอบด้วยชาติที่บริสุทธิ์ ๗ ชั่วโคตร.
               บทว่า สุตวา พหู ความว่า ฟังคัมภีร์ต่างๆ เป็นอันมาก.
               บทว่า โสมํ ภุญฺเชยฺย ความว่า พราหมณ์กล่าวว่า พราหมณ์นั้นได้วิชชา ๓ ควรบริโภคข้าวปายาสนี้ แต่ข้าวปายาสนี้ไม่ควรแก่พระองค์.
               บทว่า เวทิ ความว่า รู้ คือแทงตลอดด้วยบุพเพนิวาสญาณ.
               บทว่า สคฺคาปายํ ได้แก่ เห็นทั้งสวรรค์ทั้งอบายด้วยทิพยจักษุ.
               บทว่า ชาติกฺขยํ ได้แก่ พระอรหัต.
               บทว่า อภิญฺญาโวสิโต ความว่า ผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว เพราะรู้ยิ่ง.
               บทว่า พฺราหฺมโณ ภวํ ความว่า พราหมณ์ขีณาสพผู้สมบูรณ์ด้วยชาติเช่นพระโคดมผู้เจริญนั้น ตั้งแต่อเวจีจนถึงภวัคคพรหมไม่มี พระองค์ผู้เจริญนี่แหละเป็นพราหมณ์.
               ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ได้บรรจุข้าวปายาสเต็มถาดทอง แล้วน้อมเข้าไปถวายพระทศพล. พระศาสดาทรงแสดงอุบัติเหตุเกิด ทรงห้ามโภชนะเสีย จึงตรัสคำเป็นต้นว่า คาถาภิคีตํ เม ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คาถาภิคีตํ ได้แก่ ขับกล่อมด้วยคาถาทั้งหลาย.
               บทว่า อโภชเนยฺยํ ได้แก่ ไม่ควรบริโภค.
               ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า พราหมณ์ ท่านไม่อาจให้อาหารเพียงทัพพีหนึ่งแก่เรา ผู้ดำรงอยู่ด้วยภิกขาจารวัตรตลอดกาลเท่านี้ แต่บัดนี้ เราประกาศพระพุทธคุณทั้งปวงแก่ท่าน เหมือนคนหว่านงาลงบนเสื่อลำแพน ดังนั้น โภชนะนี้เหมือนได้มาเพราะขับกล่อม ฉะนั้น เราไม่ควรบริโภคโภชนะที่ได้มาด้วยการขับกล่อม.
               บทว่า สมฺปสฺสตํ พฺราหฺมณ เนส ธมฺโม ความว่า พราหมณ์ ผู้ที่พิจารณาเห็นอรรถและธรรมไม่มีธรรมเนียมนี้ว่า ควรบริโภคโภชนะเห็นปานนี้ แต่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงรังเกียจสุธาโภชนะที่ได้ด้วยการขับกล่อม คือพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงขจัดออกซึ่งโภชนะที่ได้มาเพราะขับกล่อม.
               บทว่า ธมฺเม สติ พฺราหฺมณ วุตฺติ เรสา ความว่า พราหมณ์ เมื่อธรรมมีอยู่ เมื่อบุคคลพิจารณาธรรม ตั้งอยู่ในธรรม เลี้ยงชีพอยู่ นี้เป็นความประพฤติ คือนี้เป็นการเลี้ยงชีพว่า ควรขจัดโภชนะเห็นปานนี้เสีย แล้วบริโภคโภชนะที่ได้มาโดยธรรมเท่านั้น.
               ลำดับนั้น พราหมณ์คิดว่า เมื่อก่อนเราไม่รู้ถึงคุณหรือโทษของพระสมณโคดม แต่บัดนี้ เรารู้คุณของพระสมณโคดมนั้นแล้ว จึงปรารถนาจะโปรยทรัพย์ประมาณ ๘๐ โกฏิในเรือนของเราลงในพระศาสนา. ก็พระสมณโคดมนี้จะตรัสว่า ปัจจัยที่เราถวาย เป็นอกัปปิยะ พระสมณโคดมคงไม่ทรงตำหนิเรา.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงส่งพระสัพพัญญุตญาณ พิจารณาวารจิตของพราหมณ์นั้น ทรงพระดำริว่า พราหมณ์นี้กำหนดปัจจัยที่ตนให้แม้ทั้งหมดว่าเป็นอกัปปิยะ ความจริง กถาเกิดขึ้นเพราะปรารภโภชนะใด โภชนะนั้นแลไม่มี กถานอกนั้นไม่มีโทษ ดังนี้ เมื่อจะทรงแสดงประตูแห่งการถวายปัจจัย ๔ แก่พราหมณ์ จึงตรัสคำมีอาทิว่า อญฺเญน จ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุกฺกุจฺจํ วูปสนฺตํ ความว่า สงบความรำคาญเสียได้ด้วยอำนาจความคะนองมือเป็นต้น.
               คำว่า อนฺเนน ปาเนน นี้เป็นเพียงเทศนา.
               ก็ความนี้พึงทราบดังต่อไปนี้
               ท่านจงบำรุงด้วยปัจจัยเหล่าอื่นมีจีวรเป็นต้น ที่ท่านกำหนดว่าจักบริจาค ข้อนั้นเป็นเขตของผู้มุ่งบุญ.
               ชื่อว่าคำสอนของพระตถาคตนี้ เป็นอันท่านผู้มุ่งบุญ คือปรารถนาบุญตกแต่งแล้ว เหมือนพืชแม้น้อยที่หว่านลงในนาดี ย่อมให้ผลมาก ดังนี้แล.

               จบอรรถกถาอัคคิกสูตรที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พราหมณสังยุตต์ อรหันตวรรคที่ ๑ อัคคิกสูตรที่ ๘ จบ.
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 648อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 652อ่านอรรถกถา 15 / 658อ่านอรรถกถา 15 / 956
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=5375&Z=5410
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=5690
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=5690
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๘  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :