ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 667อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 671อ่านอรรถกถา 15 / 677อ่านอรรถกถา 15 / 956
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พราหมณสังยุตต์ อุปาสกวรรคที่ ๒
กสิสูตรที่ ๑

               อุปาสกวรรคที่ ๒               
               อรรถกถากสิสูตรที่ ๑               
               ในกสิสูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า มคเธสุ ได้แก่ ในชนบทมีชื่ออย่างนั้น.
               บทว่า ทกฺขิณา คิริสฺมึ นั้นแลเป็นชื่อแม้แห่งวิหารในชนบทที่มีอยู่ด้านทิศใต้ แห่งภูเขาที่ตั้งล้อมกรุงราชคฤห์อยู่.
               บทว่า เอกนาลา ในคำว่า เอกนาลายํ พฺราหฺมณคาเม นี้เป็นชื่อของบ้านนั้น. ส่วนพวกพราหมณ์อาศัยอยู่ในบ้านนั้นเป็นอันมาก มีความร่าเริง ด้วยการปกครองของพราหมณ์ เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า พราหมณคาม.
               บทว่า เตนโข ปน สมเยน ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยพราหมณคาม ชื่อว่าเอกนาล ในมคธรัฐ ทรงรอคอยความแก่กล้าแห่งอินทรีย์ของพราหมณ์ ในทักขิณาคิรีวิหาร ตลอดสมัยใด โดยสมัยนั้น.
               บทว่า กสิภารทฺวาชสฺส ความว่า พราหมณ์นั้นอาศัยกสิกรรมเลี้ยงชีพ และโคตรสกุลของเขาชื่อว่า ภารทวาชะ.
               บทว่า ปญฺจมตฺตานิ แปลว่า มีประมาณ๕. ท่านอธิบายไว้ว่า มีไถประมาณ ๕๐๐ ไม่หย่อนไม่เกิน.
               บทว่า ปยุตฺตานิ แปลว่า ประกอบแล้ว. อธิบายว่า เอาเชือกผูกคอโคทั้งหลาย.
               บทว่า วปฺปกาเล ได้แก่ ในเวลาหว่าน คือในสมัยซัดพืช.
               ในการหว่านนั้น มี ๒ อย่าง คือหว่านในเนื้อที่นาเป็นตม และหว่านในเนื้อที่เป็นฝุ่น. ก็การหว่านในเนื้อที่เป็นฝุ่นนั้น ท่านประสงค์เอาในที่นี้.
               ก็การหว่านในพื้นที่เป็นฝุ่นนั้นแล เป็นการหว่านที่เป็นมงคลในวันแรก ในการนั้นต้องมีเครื่องอุปกรณ์พร้อมมูล คือต้องใช้โคถึงสามพันตัว. โคทั้งหมดต้องสวมเขาทำด้วยทอง คล้องอกทำด้วยเงิน. โคทั้งหมดประดับด้วยดอกไม้ขาว เจิมของหอมด้วยนิ้วทั้ง ๕ มีอวัยวะครบบริบูรณ์ สมบูรณ์ด้วยลักษณะดีทุกอย่าง บางพวกดำมีสีคล้ายดอกอัญชัน บางพวกขาวมีสีคล้ายเมฆ บางพวกแดงมีสีคล้ายแก้วประพาฬ บางพวกด่างมีสีคล้ายแก้วลาย.
               คนไถ ๕๐๐ คนทุกคนประดับด้วยผ้าใหม่สีขาวและดอกไม้ติดเทริดดอกไม้ที่บ่าขวา มีร่างกายรุ่งเรืองด้วยลายเขียนด้วยหรดาลและมโนศิลาเป็นต้น แบ่งเป็นพวกๆ พวกหนึ่งมีไถ ๑๐ คัน งอนไถ แอกและปฏักประดับทอง ไถคันแรกเทียมโคงาน ๘ ตัว ไถคันที่เหลือเทียมคันละ ๔ ตัว ไถนอกนั้นนำมาสำหรับผลัดเปลี่ยนคนที่เหนื่อย พวกหนึ่งๆ มีเกวียนบรรทุกเมล็ดพืชเล่มหนึ่ง คนไถคนหนึ่ง คนหว่านคนหนึ่ง.
               ฝ่ายพราหมณ์ชั้นแรกทีเดียวให้แต่งหนวด อาบน้ำ ไล้ทาด้วยของหอม นุ่งผ้าราคา ๕๐๐ ห่มผ้าเฉวียงบ่าราคา ๑,๐๐๐ สวมแหวนนิ้วละ ๒ วง รวมเป็นแหวน ๒๐ วง ประดับตุ้มหูรูปราชสีห์ที่หูทั้งสอง สวมผ้าโพกอย่างประเสริฐบนศีรษะ คล้องมาลัยทองที่คอ แวดล้อมไปด้วยหมู่พราหมณ์ สั่งการงาน.
               ลำดับนั้น นางพราหมณีของเขาให้หุงข้าวปายาสใส่ภาชนะหลายร้อยใบ บรรทุกเกวียนใหญ่หลายเล่ม แล้วอาบน้ำหอม ประดับด้วยเครื่องประดับทั้งปวง แวดล้อมไปด้วยหมู่พราหมณี ได้ไปสู่ที่การงาน. แม้เรือนของพราหมณ์นั้นก็ทาของเขียว โปรยข้าวตอกเกลื่อนกลาด ประดับด้วยหม้อเต็มน้ำ ต้นกล้วย ธงชายและธงประฏาก กระทำพลีกรรมอย่างดี ด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น. และที่นาก็ได้ยกธงชายและธงประฏากขึ้นในที่นั้นๆ. ชนผู้เป็นบริวารและชนผู้ทำงานรวมเป็นบริษัทมีคนประมาณ ๒,๕๐๐ คน. คนทั้งหมดนำผ้ามา. ทุกคนจัดเฉพาะข้าวปายาสมาเท่านั้น.
               ลำดับนั้น พราหมณ์ให้ล้างถาดทองใส่ข้าวปายาสเต็ม ประดับด้วยเนยใสน้ำผึ้งน้ำอ้อย ให้กระทำพลีกรรมไถ. นางพราหมณีให้แจกภาชนะทองเงินสำริด ทองแดงและโลหะแก่ชาวนา ๕๐๐ คน ถือทัพพีทอง เดินเลี้ยงข้าวปายาส. ฝ่ายพราหมณ์ให้กระทำพลีกรรมแล้ว คาดกายด้วยผ้าแดง สวมรองเท้า ถือไม้เท้าทองสีแดงเที่ยวสั่งงานว่า ตรงนี้จงให้ข้าวปายาส ตรงนี้จงให้เนยใส.
               ความเป็นไปในการงาน เท่านี้ก่อน.
               ในที่ที่พระสัมพุทธเจ้าทั้งหลายประทับอยู่ในวิหาร พระสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นย่อมมีกิจประจำวัน ๕ อย่าง. อะไรบ้าง. กิจในปุเรภัต ๑ กิจในปัจฉาภัต ๑ กิจในปุริมยาม ๑ กิจในมัชฌิมยาม ๑ กิจในปัจฉิมยาม ๑.
               ใน ๕ อย่างนั้น กิจในปุเรภัต ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงลุกแต่เช้าทีเดียว ทรงทำบริกรรมพระวรกายมีบ้วนพระโอษฐ์เป็นต้น เพื่ออนุเคราะห์ภิกษุผู้อุปัฏฐาก และเพื่อสำราญพระวรกาย แล้วทรงให้เวลาล่วงไป ณ เสนาสนะที่สงัดจนถึงเวลาเสด็จภิกขาจาร ถึงเวลาเสด็จภิกขาจารก็ทรงนุ่งสบงคาดประคดเอวแล้วทรงห่มจีวร ทรงถือบาตร บางครั้งเสด็จพระองค์เดียว บางคราวแวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จเข้าไปยังคามหรือนิคมเพื่อบิณฑบาต. บางครั้งก็เสด็จเข้าไปตามปกติ บางครั้งก็มีปาฏิหาริย์หลายอย่างเป็นไปอยู่.
               คือ เมื่อพระโลกนาถเสด็จเที่ยวบิณฑบาต ลมอ่อนพัดชำระแผ่นดินให้สะอาดไปข้างหน้า เมฆฝนหลั่งน้ำลงเป็นหยดๆ ให้ละอองในหนทางเรียบราบกั้นเป็นเพดานอยู่เบื้องบน. ลมอีกอย่างพัดเอาดอกไม้มาเบื้องบนเกลี่ยลงในหนทาง. ภูมิประเทศที่สูงขึ้นก็ต่ำลง ภูมิประเทศที่ต่ำลงก็สูงขึ้น ในสมัยทอดพระบาทลง พื้นแผ่นดินย่อมเรียบเสมอ.
               ดอกประทุมที่เป็นสุขสัมผัส ย่อมรับพระบาท. พอพระองค์วางพระบาทขวาภายในเสาเขื่อน รัศมีมีพรรณ ๖ สร้านออกจากพระสรีระ กระทำเรือนยอดปราสาท ให้มีสีเหลื่อมพรายด้วยน้ำทองและให้เป็นเหมือนแวดล้อมด้วยแผ่นผ้าอันวิจิตร สร้านไปข้างโน้นข้างนี้. ช้างม้าและวิหคเป็นต้นยืนอยู่ในที่ของตนๆ ส่งเสียงด้วยอาการอันไพเราะ. ดนตรีมีกลองและพิณเป็นต้น และอาภรณ์ที่สวมกายพวกมนุษย์อยู่ ก็เป็นอย่างนั้น.
               ด้วยสัญญาณนั้น พวกมนุษย์ย่อมรู้กันว่า วันนี้พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จเข้ามาบิณฑบาตในที่นี้. พวกเขานุ่งห่มเรียบร้อย ถือของหอมและดอกไม้เป็นต้น ออกจากเรือนเดินไประหว่างถนน บูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยดอกไม้เป็นต้นโดยเคารพ ถวายบังคมแล้ว ทูลขอว่า พระเจ้าข้า ขอพระองค์โปรดประทานภิกษุแก่พวกข้าพระองค์ ๑๐ รูป แก่พวกข้าพระองค์ ๒๐ รูป แก่พวกข้าพระองค์ ๑๐๐ รูป พระเจ้าข้า รับบาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วให้ปูลาดอาสนะ ต้อนรับด้วยบิณฑบาตโดยเคารพ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้วทรงตรวจดูสันดานของมนุษย์เหล่านั้นแล้วทรงแสดงธรรมอย่างนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุเคราะห์มหาชนโดยประการที่ชนบางพวกดำรงอยู่ในสรณคมน์ บางพวกดำรงอยู่ในศีล ๕ บางพวกดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล สกทาคามิผลและอนาคามิผลอย่างใดอย่างหนึ่ง บางพวกบวชแล้วดำรงอยู่ในอรหัตซึ่งเป็นผลอันเลิศ ทรงลุกจากอาสนะเสด็จไปพระวิหาร. ประทับนั่งเหนือบวรพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ในโรงกลมใกล้พระคันธกุฎี ทรงรอคอยให้ภิกษุทั้งหลายฉันเสร็จ ต่อแต่นั้น เมื่อภิกษุทั้งหลายฉันเสร็จ ภิกษุผู้อุปัฏฐากก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงทราบ. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าพระคันธกุฎี.
               นี้เป็นกิจในปุเรภัตเป็นอันดับแรก.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำกิจในปุเรภัตอย่างนี้แล้ว ประทับนั่งในที่บำรุงที่พระคันธกุฎี ทรงให้ทาพระบาทแล้วประทับยืนบนตั่งรองพระบาท ทรงโอวาทภิกษุสงฆ์ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด การอุบัติแห่งพระพุทธเจ้าหาได้ยากในโลก การได้อัตภาพเป็นมนุษย์หาได้ยาก การถึงพร้อมด้วยศรัทธาหาได้ยาก การบรรพชาหาได้ยาก การฟังพระสัทธรรมหาได้ยาก ดังนี้.
               ในที่นั้น บางพวกทูลถามกัมมัฏฐานกะพระผู้มีพระภาคเจ้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานกัมมัฏฐานอันเหมาะสมแก่จริยาของภิกษุเหล่านั้น. แต่นั้นภิกษุทั้งหมดถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ไปยังที่พักกลางคืนและที่พักกลางวันของตนๆ บางพวกไปสู่ป่า บางพวกไปสู่โคนไม้ บางพวกไปสู่ภูเขาเป็นต้นแห่งใดแห่งหนึ่ง บางพวกไปสู่ภพชั้นจาตุมหาราชิกา บางพวกไปสู่ภพชั้นวสวัตตี ดังนี้แล.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าพระคันธกุฎี ถ้าพระองค์มีพระพุทธประสงค์ ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ สำเร็จสีหไสยาสน์ครู่หนึ่งโดยพระปรัศว์เบื้องขวา. ลำดับนั้น พระองค์ทรงมีพระวรกายกระปรี้กระเปร่า ทรงลุกขึ้นตรวจดูโลกในภาคที่ ๒. ในภาคที่ ๓ ในบ้านหรือนิคมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปอาศัยประทับอยู่ ในปุเรภัต มหาชนถวายทาน ในปัจฉาภัตเขานุ่งห่มเรียบร้อยถือของหอมและดอกไม้เป็นต้นประชุมกันในวิหาร.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปด้วยปาฏิหาริย์อันเหมาะสมแก่บริษัทที่ประชุมกัน ประทับนั่งเหนือบวรพุทธาอาสน์ที่เขาปูลาดไว้ในธรรมสภาแสดงธรรม นี้สมควรแก่กาล สมควรแก่สมัย ครั้นทรงทราบเวลาจึงทรงส่งบริษัทไป. มนุษย์ทั้งหลายพากันถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วหลีกไป.
               นี้เป็นกิจในปัจฉาภัต.
               ครั้นพระองค์เสร็จกิจในปัจฉาภัตอย่างนี้แล้ว ถ้ามีพระประสงค์จะโสรจสรงพระวรกาย ทรงลุกจากพุทธอาสน์ เสด็จเข้าซุ้มเป็นที่สรง ทำพระวรกายให้เหมาะกับฤดูกาลด้วยน้ำที่อุปัฏฐากจัดถวาย. ฝ่ายอุปัฏฐากได้นำพุทธอาสน์มาปูไว้ในบริเวณพระคันธกุฎี. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งผ้าที่ย้อมแล้ว ๒ ชั้น คาดประคดเอว ทำเฉวียงบ่าเสด็จมาประทับนั่ง ณ ที่นั้น เร้นอยู่ครู่หนึ่งแต่พระองค์เดียว.
               ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายมาจากที่นั้นๆ ไปยังที่อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า. บรรดาภิกษุเหล่านั้น บางพวกถามปัญหา บางพวกขอกัมมัฏฐาน บางพวกขอฟังธรรม. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำความประสงค์ของภิกษุเหล่านั้นให้สำเร็จ ให้ปุริมยามล่วงไป.
               นี้เป็นกิจในปุริมยาม.
               ก็ในเวลาที่กิจในปุริมยามสิ้นสุดลง เมื่อภิกษุทั้งหลายถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วหลีกไป เหล่าเทวดาในหมื่นโลกธาตุทั้งสิ้นได้โอกาสเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถามปัญหาตามที่แต่งขึ้น โดยที่สุดถามถึงอักขระทั้ง ๔ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแก้ปัญหาของเทวดาเหล่านั้น ก็ให้มัชฌิมยามล่วงไป.
               นี้เป็นกิจในมัชฌิมยาม.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแบ่งปัจฉิมยามออกเป็น ๓ ส่วนแล้ว ทรงให้ส่วนหนึ่งล่วงไปด้วยการจงกรม เพื่อจะทรงปลดเปลื้องความบอบช้ำแห่งพระวรกาย ซึ่งถูกการนั่งจำเดิมแต่ปุเรภัตบีบคั้น. ในส่วนที่ ๒ พระองค์เสด็จเข้าไปยังพระคันธกุฎีทรงมีพระสติสัมปชัญญะ สำเร็จสีหไสยาสน์โดยพระปรัศว์เบื้องขวา. ในส่วนที่ ๓ พระองค์เสด็จลุกขึ้นประทับนั่ง ตรวจดูสัตวโลกด้วยพุทธจักษุ เพื่อทรงเห็นบุคคลผู้ที่ได้สร้างบุญญาธิการไว้โดยคุณมีทานและศีลเป็นต้นในสำนักแห่งพระพุทธเจ้าในปางก่อนทั้งหลาย.
               นี้เป็นกิจในปัจฉิมยาม.
               แม้ในกาลนั้น พระองค์ทรงตรวจดูอย่างนี้ทรงเห็นกสิภารทวาชพราหมณ์ ถึงพร้อมด้วยธรรมอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตแล้ว ทรงทราบว่าเมื่อเราไปในที่นั้น จักมีการพูดจากัน เมื่อจบการพูดจากัน พราหมณ์นั้นฟังธรรมเทศนาแล้วพร้อมด้วยบุตรและภรรยา จักตั้งอยู่ในสรณะ ๓ จักหว่านทรัพย์ ๘๐ โกฏิในศาสนาของเรา ภายหลังจักออกบรรพชา จักบรรลุพระอรหัตดังนี้ จึงเสด็จไปในที่นั้น ทรงตั้งเรื่องขึ้นแล้วแสดงธรรม. เพื่อจะแสดงความนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อถโข ภควา ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น คำว่า ปุพฺพณฺหสมยํ นี้ เป็นทุติยาวิภัติ ลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัติ. ความว่า เวลาเช้า.
               บทว่า นิวาเสตฺวา ได้แก่ ทรงนุ่ง. คำนั้น ท่านกล่าวโดยการผลัดเปลี่ยนจีวรในวิหาร.
               บทว่า ปตฺตจีวรมาทาย ความว่า ใช้มือถือบาตร ใช้กายถือจีวร. อธิบายว่า รับคือทรงไว้.
               ได้ยินว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระประสงค์จะเสด็จเข้าไปบิณฑบาต บาตรหินมีสีดังแก้วอินทนิลและแก้วมณีย่อมมาสู่ท่ามกลางพระหัตถ์ทั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้า เหมือนแมลงภู่มาสู่ท่ามกลางดอกปทุมทั้ง ๒ ที่แย้มบานฉะนั้น. อธิบายว่า รับบาตรนั้นที่มาถึงแล้วอย่างนี้ด้วยพระหัตถ์ทั้ง ๒ ทรงจีวรที่ห่มเป็นปริมณฑลด้วยพระวรกาย.
               บทว่า เตนุปสงฺกมิ ความว่า พระองค์ผู้เดียวเสด็จเข้าไปโดยหนทางที่การงานจะพึงดำเนินไป.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ภิกษุทั้งหลายจึงไม่ติดตามพระองค์ไป.
               ตอบว่า เพราะในกาลใด พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมมีพระประสงค์จะเสด็จไปในที่ไหนๆ แต่ผู้เดียว ในเวลาภิกษาจาร พระองค์ทรงปิดพระทวาร ทรงประทับนั่งในภายในพระคันธกุฎี. ภิกษุทั้งหลายรู้ด้วยสัญญานั้นว่า วันนี้พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระประสงค์จะเสด็จเที่ยวบิณฑบาตแต่พระองค์เดียว พระองค์ได้ทรงเห็นบุคคลที่ควรแนะนำสักคนหนึ่งเป็นแน่แท้. ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นถือบาตรและจีวรของตน กระทำประทักษิณพระคันธกุฎี ถวายบังคมแล้วไปสู่ที่ภิกษาจาร. ในกาลนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงกระทำอย่างนั้น. เพราะเหตุนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงไม่ติดตาม.
               บทว่า ปริเวสนา วตฺตติ ความว่า การเลี้ยงอาหารของชาวนา ๕๐๐ ผู้นั่งถือภาชนะทองเป็นต้นเหล่านั้นเป็นอันกระทำค้างไว้.
               บทว่า เอกมนฺตํ อฏฺฐาสิ ความว่า ประทับยืนในที่ที่คนยืนแล้วพราหมณ์จะเห็นได้ คือในที่สูงมีความผาสุกในทัสสนูปจารเห็นปานนั้น.
               ก็แล ครั้นพระองค์ประทับยืนแล้วทรงเปล่งรัศมีพระวรกายมีสีเหลืองดังทองธรรมชาติโดยรอบ ไพโรจน์ล่วงรัศมีพระจันท์และพระอาทิตย์ แผ่คลุมโรงงาน ฝาเรือน ต้นไม้และก้อนดิน ที่ไถเป็นต้นของพราหมณ์ได้เป็นเสมือนทำด้วยทอง.
               ลำดับนั้น พวกมนุษย์กำลังบริโภคอยู่ก็มี กำลังไถนาอยู่ก็มี ต่างพากันละทิ้งกิจทุกอย่าง เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระวรกายประดับด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ มีอนุพยัญชนะ ๘๐ เป็นบริวาร และคู่พระพาหาซึ่งงดงามด้วยรัศมีที่แผ่สร้านออกวาหนึ่ง ทรงรุ่งเรืองด้วยพระสิริ ราวกะว่าสระปทุมที่เกิดบนแผ่นดิน เพียงดังท้องฟ้าที่มีหมู่ดาวส่องแสงระยิบระยับและเพียงดังสุวรรณบรรพตอันประเสริฐที่ห่อหุ้มด้วยสายฟ้า ต่างล้างมือและเท้า เข้าไปยืนแวดล้อมประคองอัญชลีอยู่ .
               กสิภารทวาชพราหมณ์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแวดล้อมไปด้วยชนเหล่านั้น เสด็จบิณฑบาตด้วยอาการอย่างนี้ ครั้นเห็นแล้ว จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า อหํ โข สมณ กสามิ จ วปามิ จ ดังนี้.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พราหมณ์นี้จึงกล่าวอย่างนี้ว่า จัดข้าวปายาสแก่ชน ๒,๕๐๐ คน ด้วยความไม่เลื่อมใสในพระตถาคตผู้แม้ถึงการฝึกฝนและความสงบอย่างสูงสุด ผู้นำมาซึ่งความเลื่อมใสโดยรอบ เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส หรือว่าด้วยความตระหนี่ภิกษาในทัพพี.
               ตอบว่า ไม่ใช่ทั้ง ๒ อย่าง แต่พราหมณ์เห็นชนไม่อิ่มด้วยการดูพระผู้มีพระภาคเจ้า ทอดทิ้งการงาน จึงไม่พอใจว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาทำลายการงานของเรา ฉะนั้น พราหมณ์จึงกล่าวอย่างนั้น. และเพราะพราหมณ์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสมบูรณ์ด้วยพระลักษณะ คิดว่าถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้านี้จักได้ประกอบการงานไซร้ พระองค์ก็จักได้เป็นดุจจุฬามณีบนศีรษะของพวกมนุษย์ทั่วชมพูทวีป ประโยชน์อะไรจักไม่สำเร็จแก่พระองค์เล่า ด้วยอาการอย่างนี้แล พระองค์ไม่ประกอบการงานเพราะความเกียจคร้าน เสด็จเที่ยวบิณฑบาตในงานวัปปมงคลเป็นต้น ดังนี้ จึงเกิดความไม่พอใจ.
               ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์จึงกล่าวว่า อหํ โข สมณ กสามิ จ วปามิ จ กสิตฺวา จ วปิตฺวา จ ภิญฺชามิ ดังนี้.
               ได้ยินว่า พราหมณ์นั้นมีความประสงค์ดังนี้ว่า การงานทั้งหลายแม้ของเรายังไม่พินาศก่อน เรามิได้เป็นผู้มีลักษณะสมบูรณ์เหมือนท่าน แม้ท่านไถและหว่านแล้ว จงบริโภคเถิด ประโยชน์อะไรจะไม่พึงสำเร็จแก่ท่านผู้สมบูรณ์ด้วยลักษณะอย่างนี้เล่า.
               อีกอย่างหนึ่ง พราหมณ์ได้ฟังว่า เล่ากันมาว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นกุมารเกิดในสักยราชตระกูล ละความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงผนวช เพราะเหตุดังนี้ พราหมณ์รู้ในบัดนี้ว่าผู้นี้คือผู้นั้น ยกขึ้นติเตียนว่า ท่านละความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิลำบากแล้วจึงกล่าวอย่างนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง พราหมณ์นี้มีปัญญาแก่กล้าจะกล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยไม่เลื่อมใสก็หาไม่. แต่ได้เห็นรูปสมบัติของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงสรรเสริญบุญสมบัติกล่าวอย่างนี้ เพื่อให้มีการพูดจากันบ้าง.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงพระองค์ว่าเป็นผู้ไถผู้หว่านชั้นเลิศในโลกพร้อมทั้งเทวโลกโดยเป็นเวไนยสัตว์ จึงได้ตรัสว่า อหมฺปิ โข พฺราหฺมณ เป็นต้น.
               ลำดับนั้น พราหมณ์คิดว่า สมณะนี้กล่าวว่าแม้เราก็ไถก็หว่าน แต่เราไม่เห็นเครื่องไถมีแอกและไถเป็นต้นที่ใหญ่ๆ ของสมณะนี้ สมณะนี้กล่าวเท็จหรือหนอตรวจดูพระผู้มีพระภาคเจ้าตั้งแต่พื้นพระบาทจนถึงปลายพระเกสา เพราะตนสำเร็จวิชาดูลักษณะ จึงรู้ว่าสมณะนั้นสมบูรณ์ด้วยลักษณะประเสริฐ ๓๒ ประการ เหตุได้สั่งสมบุญญาธิการไว้ เกิดมานะอย่างแรงกล้าว่า ข้อที่สมณะเห็นปานนี้พูดมุสามิใช่ฐานะที่จะเป็นได้ จึงละวาทะว่าสมณะในพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยโคตร จึงกล่าวว่า น โข ปน มยํ ปสฺสาม โภโต โคตมสฺส เป็นต้น.
               ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงพุทธานุภาพ เพราะเหตุที่ขึ้นชื่อว่าการกล่าวด้วยเป็นผู้เทียบด้วยธรรมมีในก่อน เป็นอานุภาพของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จึงตรัสคำมีอาทิว่า สทฺธา พีชํ ดังนี้.
               ถามว่า ก็ในข้อนี้ ความเป็นผู้มีส่วนเสมอด้วยธรรมมีในก่อน คืออะไร.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าถูกพราหมณ์ถามถึงเครื่องไถมีแอกและไถเป็นต้นมิใช่หรือ แต่พระองค์ตรัสว่า สทฺธา พีชํ เป็นต้น เพราะพืชที่ไม่ถูกถามเทียบกันได้ และเมื่อเป็นเช่นนั้น แม้ถ้อยคำก็ต่อกันไม่ได้ ธรรมดาว่าถ้อยคำของพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่ต่อกันไม่ได้ จะมีไม่ได้เลย. พระพุทธเจ้าทั้งหลายจะตรัสด้วยความที่ธรรมมีในก่อนเทียบกันไม่ได้ ก็หาไม่.
               ก็ในข้อนี้ พึงทราบอนุสนธิอย่างนี้ว่า
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าถูกพราหมณ์ถามถึงการไถ โดยเครื่องไถมีแอกและไถเป็นต้น. ด้วยความอนุเคราะห์พราหมณ์นั้น พระองค์ประสงค์ให้พราหมณ์ทราบเรื่องการไถพร้อมทั้งมูล พร้อมทั้งอุปการะ พร้อมทั้งสัมภาระที่เหลือ พร้อมทั้งผล มิให้ลดน้อยลง ด้วยพระดำริว่า ข้อนี้เขามิได้ถาม เมื่อจะทรงแสดงจำเดิมแต่ต้นมา จึงตรัสคำมีอาทิว่า สทฺธา พีชํ ดังนี้.
               พืชในเรื่องนั้น เป็นมูลของการไถ เพราะเมื่อพืชมีก็ควรทำ เมื่อพืชไม่มีก็ไม่ควรทำ แต่ควรทำให้พอเหมาะแก่พืชนั้น เพราะเมื่อมีพืช ชาวนาย่อมไถนา เมื่อไม่มีก็ไม่ไถ. ชาวนาผู้ฉลาดย่อมไถนาพอเหมาะแก่พืชเท่านั้น ไม่ทำให้พร่องด้วยคิดว่า ข้าวกล้าของเราอย่าเสียหาย ไม่ทำให้เกินด้วยคิดว่าความพยายามของเราอย่าได้ไร้ประโยชน์.
               ก็เพราะพืชนั่นแหละเป็นมูลฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงการไถตั้งแต่มูล คือทรงแสดงธรรมเบื้องต้นแห่งการไถของพระองค์ โดยความที่พืชคือธรรมเบื้องต้นเทียบได้กับการไถของพราหมณ์นั้น จึงตรัสว่า สทฺธา พีชํ ดังนี้. ในข้อนี้แม้ความที่การไถของพราหมณ์เทียบได้ด้วยธรรมเบื้องต้น ก็พึงทราบอย่างนี้.
               หากจะมีคำถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเฉพาะที่พราหมณ์ถามเท่านั้น ไม่ตรัสข้อที่ไม่ถามภายหลัง.
               แก้ว่า เพราะพระองค์เป็นผู้อุปการะแก่พราหมณ์นั้น และเพราะพระองค์เป็นผู้สามารถเชื่อมพระธรรม.
               จริงอยู่ พราหมณ์นี้เป็นผู้ไม่มีศรัทธา เพราะเกิดในตระกูลมิจฉาทิฏฐิตระกูลหนึ่ง แต่เป็นผู้มีปัญญา ไม่ปฏิบัติในข้อที่มิใช่วิสัยของตนที่เกี่ยวถึงผู้อื่น จึงไม่ได้บรรลุคุณวิเศษ. ก็ศรัทธาของพราหมณ์นั้นเพียงปราศจากกิเลสและธรรมฝ่ายดำที่ฟูขึ้น มีลักษณะเพียงความผ่องใส มีกำลังน้อย เป็นไปกับด้วยปัญญาซึ่งมีกำลัง จึงไม่ทำให้สำเร็จประโยชน์ เหมือนโคที่เทียมในแอกเดียวกับช้าง ดังนั้น ศรัทธาของเขาจึงเป็นเครื่องสนับสนุน ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงสถาปนาพราหมณ์นั้นไว้ในศรัทธา จึงตรัสเนื้อความนี้ที่ควรจะตรัสแม้ในภายหลังเอามาตรัสเสียก่อน เพราะความที่ทรงเป็นผู้ฉลาดในเทศนา.
               ก็ฝนเป็นอุปการะแก่พืช ฝนนั้นพระองค์ตรัสในลำดับนั้นเอง จึงเป็นธรรมชาติที่สามารถ. ความข้อนี้พระองค์ควรตรัสแม้ภายหลัง เพราะความที่ทรงสามารถเชื่อมพระธรรม. เครื่องไถอื่นๆ มีงอนไถและเชือกเป็นต้นเห็นปานนี้ พึงทราบว่า ตรัสก่อนแล้ว.
               ในข้อนั้น ศรัทธามีความผ่องใสเป็นลักษณะ หรือมีความปักใจลงเป็นลักษณะ.
               บทว่า พีชํ ได้แก่ พืช ๕ อย่าง คือ พืชเกิดแต่ราก พืชเกิดแต่ลำต้น พืชเกิดแต่ข้อ พืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่เมล็ดเป็นที่ ๕ ทั้งหมดนั้นนับว่า พืชเกิดแต่เมล็ดทั้งนั้น เพราะงอกได้.
               ในข้อนั้น พืชเป็นมูลกสิกรรมของพราหมณ์ แยกออกเป็นสอง คือข้างล่างออกราก ข้างบนออกหน่อฉันใด ศรัทธาเป็นมูลกสิกรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้างล่างมีศีลเป็นราก ข้างบนมีสมถะและวิปัสสนาเป็นหน่อฉันนั้น.
               เหมือนอย่างว่า พืชนั้นรับรสปฐวีธาตุ อาโปธาตุด้วยราก ย่อมเติบโตขึ้นเพื่อรับความแก่สุกแห่งธัญญชาติด้วยก้านฉันใด ศรัทธานี้รับรสคือสมถะและวิปัสสนาด้วยรากคือศีล เติบโตขึ้นเพื่อรับความแก่กล้าแห่งธัญญชาติคืออริยผล ด้วยก้านคืออริยมรรคฉันนั้น.
               อนึ่ง พืชนั้นตั้งอยู่ในพื้นดินที่ดี เจริญงอกงามไพบูลย์ด้วยราก หน่อ ใบ ก้านเง่าและใบอ่อน ให้เกิดน้ำนม ให้สำเร็จเป็นรวงข้าวสาลี เต็มไปด้วยเมล็ดข้าวสาลีเป็นอันมากฉันใด ศรัทธานี้ก็ฉันนั้น ตั้งมั่นอยู่ในจิตสันดาน เจริญงอกงามไพบูลด้วยวิสุทธิ ๖ ให้เกิดน้ำนมคือญาณทัสสนวิสุทธิ ให้สำเร็จเป็นพระอรหัตผล อันเพียบไปด้วยปฏิสัมภิทาญาณเป็นอเนก.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า สทฺธา พีชํ ดังนี้.
               หากจะมีคำถามว่า ก็เมื่อกุศลธรรมกว่า ๕๐ เกิดร่วมกัน เหตุไรจึงตรัสว่า สทฺธา พีชํ ดังนี้.
               แก้ว่า เพราะทำหน้าที่เหมือนพืช.
               เหมือนอย่างว่า บรรดากุศลธรรมเหล่านั้น วิญญาณนั่นแลทำหน้าที่รู้แจ้งฉันใด ศรัทธาก็ทำหน้าที่เหมือนพืช (ต้นเหตุ) ฉันนั้น. ก็ศรัทธานั้นเป็นมูลเหตุแห่งกุศลธรรมทั้งปวง. เหมือนอย่างที่กล่าวไว้ว่า บทว่า สทฺธาชาโต อุปสงฺกมิ ความว่า ผู้มีศรัทธาเมื่อเข้าไปหา ย่อมนั่งใกล้ ฯลฯ และแทงตลอดกุศลธรรมนั้นเห็นด้วยปัญญา.
               ชื่อว่า ตโป เพราะเผาอกุศลธรรมและกาย.
               คำว่า ตโป นี้เป็นชื่อของอินทริยสังวร ความเพียร ธุดงค์และทุกกรกิริยา. แต่ในที่นี้ประสงค์เอาอินทริยสังวร.
               บทว่า วุฏฺฐิ ได้แก่ ฝนหลายอย่างเป็นต้นว่า น้ำฝน ลมเจือฝน. ในที่นี้ประสงค์เอาน้ำฝน. เหมือนอย่างว่า ข้าวกล้าของพราหมณ์มีพืชเป็นมูล มีน้ำฝนช่วยอย่างดี ย่อมงอกไม่เหี่ยวแห้ง ย่อมผลิตผลฉันใด ธรรมทั้งหลายมีศีลเป็นต้นของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้น มีศรัทธาเป็นมูล มีอินทริยสังวรช่วยอนุเคราะห์ ย่อมงอกงามไม่เหี่ยวแห้ง ย่อมผลิตผล เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ตโป วุฏฺฐิ ดังนี้.
               เม ศัพท์ที่ท่านกล่าวไว้ในคำว่า ปญฺญา เม นี้ พึงประกอบแม้ในบทต้นๆ ว่า สทฺธา เม พีชํ ตโป เม วุฏฺฐิ. ด้วยคำนั้น ท่านแสดงไว้อย่างไร.
               ท่านแสดงไว้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ เมื่อนาที่ท่านหว่านไว้แล้ว ถ้ามีฝน ข้อนั้นเป็นการดี ถ้าไม่มีก็จำต้องให้น้ำก่อนฉันใด เราใช้เชือกคือใจผูกแอกและไถ ซึ่งมีงอนคือหิริให้ติดกัน เทียมโคคือความเพียร แทงด้วยประตักคือสติ เมื่อหว่านพืชคือศรัทธา ลงในนาคือจิตสันดานของตน ชื่อว่าฝนไม่มี เราก็ใช้ตบะคืออินทริยสังวรตลอดกาลเป็นนิจ เป็นน้ำฝนฉันนั้น.
               บทว่า ปญฺญา ได้แก่ ปัญญาหลายอย่างต่างโดยปัญญาฝ่ายกามาวจรเป็นต้น. แต่ในที่นี้ ท่านประสงค์มรรคปัญญา พร้อมด้วยวิปัสสนา.
               บทว่า ยุคนงฺคลํ ได้แก่ แอกและไถ. เหมือนอย่างว่า พราหมณ์มีแอกและไถฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงมีปัญญา ๒ อย่าง ฉันนั้น.
               ใน ๒ อย่างนั้น แอกย่อมเป็นที่อาศัยของงอนไถ ข้างหน้าติดด้วยงอนไถ เป็นที่อาศัยของเชือกช่วยให้โคงานเดินไปพร้อมกันฉันใด ปัญญาก็ฉันนั้น ย่อมเป็นที่อาศัยแห่งธรรมทั้งหลายอันมีหิริเป็นประธาน ฉันนั้น.
               อย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า กุศลธรรมทั้งหมดยิ่งด้วยปัญญา และว่าผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวว่า ปัญญาประเสริฐที่สุด ดุจบรรดาดวงดาวทั้งหลาย พระจันทร์ประเสริฐสุดฉะนั้น ชื่อว่าอยู่ข้างหน้า เพราะอรรถว่าเป็นหัวหน้าแห่งกุศลธรรม.
               อย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า ศีลก็ดี สิริก็ดี และธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมติดตามคือคล้อยตามผู้มีปัญญา. แต่ปัญญาย่อมเนื่องด้วยหิริดุจงอนไถ เพราะไม่เกิดขึ้น โดยปราศจากหิริ ย่อมเป็นที่อาศัยของเชือกทั้งหลาย โดยเป็นนิสัยปัจจัยของเชือกคือสมาธิ กล่าวคือใจ ย่อมช่วยให้โคงานคือวิริยะ เดินไปพร้อมกัน เพราะห้ามการปรารภเพียรเกินไปและความย่อหย่อนเกินไป. ไถประกอบด้วยผาล ย่อมทำลายความทึบของแผ่นดินในการไถ ทำลายความสืบต่อแห่งมูลดินฉันใด
               ปัญญาอันประกอบด้วยสติก็ฉันนั้น ย่อมทำลายความทึบแห่งธรรมทั้งหลายซึ่งมีกิจคือการประชุมแห่งสันตติเป็นอารมณ์ ในเวลาเจริญวิปัสสนา ย่อมทำลายความสืบต่อแห่งมูลแห่งกิเลสทั้งปวง. และปัญญานั้นแลเป็นโลกุตระอย่างเดียว. ส่วนปัญญานอกนี้ พึงเป็นแต่โลกิยะ. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ปญฺญา เม ยุคนงฺคลํ.
               ชื่อว่า หิริ เพราะละอายแต่ธรรมอันลามก. ด้วยการถือเอาหิรินั้น แม้โอตตัปปะที่ไม่ประกอบด้วยหิรินั้น ก็เป็นอันท่านถือเอาแล้วด้วยหิริศัพท์นั้น.
               บทว่า อีสา ได้แก่ ท่อนแห่งต้นไม้สำหรับทรงตัวแอกและไถ. เหมือนอย่างงอนไถของพราหมณ์ย่อมทรงไว้ซึ่งแอกและไถฉันใด แม้หิริของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้น ย่อมทรงไว้ซึ่งแอกและไถกล่าวคือโลกิยปัญญาและโลกุตรปัญญา.
               ชื่อว่าไม่มีหิริ ก็เพราะไม่มีปัญญา. เหมือนอย่างว่า แอกและไถที่เนื่องด้วยงอนไถ กระทำหน้าที่ไม่ไหว ไม่หย่อนฉันใด ปัญญาแม้เนื่องด้วยหิริก็ฉันนั้น กระทำหน้าที่ไม่ไหว ไม่หย่อน ไม่ระคนด้วยความไม่มีหิริ.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า หิริ อีสา ดังนี้.
               ชื่อว่ามนะ เพราะอรรถว่ารู้. คำว่า มนะ นี้เป็นชื่อของจิต. แต่ในที่นี้ท่านประสงค์เอาสมาธิที่ประกอบด้วยมนะนั้นโดยยกมนะขึ้นเป็นประธาน.
               บทว่า โยตฺตํ ได้แก่ เครื่องผูกคือเชือก.
               เชือกนั้นมี ๓ อย่าง คือเป็นเครื่องผูกแอกกับงอนไถ ๑ เป็นเครื่องผูกโคงานกับแอก ๑ เป็นเครื่องล่ามโคงานต่อกันกับนายสารถี ๑.
               ใน ๓ อย่างนั้น เชือกของพราหมณ์ย่อมทำงอนไถแอกและโคงานให้ปฏิบัติในกิจของตนฉันใด สมาธิของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้น ผูกธรรมคือหิริปัญญาและวิริยะเหล่านั้นทั้งหมดไว้ในอารมณ์เดียวกัน โดยสภาวะคือไม่ซัดส่าย ให้ปฏิบัติในหน้าที่ของตน. ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า มโน โยตฺตํ ดังนี้.
               ชื่อว่าสติ เพราะอรรถว่าระลึกถึงความมีกิจที่ทำไว้นานเป็นต้นได้. ชื่อว่าผาละ เพราะอรรถว่าผ่า. ชื่อว่าปาชนะ เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องขับไป. ในที่นี้ท่านกล่าวว่า ปาจนะ.
               บทว่า ปาจนะ นั้นเป็นชื่อของประตัก. ผาลและประตักชื่อว่า ผาลปาจนะ. สติที่ประกอบด้วยวิปัสสนา และประกอบด้วยมรรคของพระผู้มีพระภาคเจ้า เปรียบเหมือนผาลและประตักของพราหมณ์.
               พึงทราบวินิจฉัยในข้อนั้นดังต่อไปนี้
               สติค้นหาคติของกุศลธรรมทั้งหลาย หรือทำให้ปรากฏในอารมณ์ ย่อมรักษาไถคือปัญญา เหมือนผาลรักษาไถ และไปข้างหน้าไถนั้น. ด้วยเหตุนั้นแหละ สตินั้น ท่านจึงกล่าวว่า อารกฺโข เครื่องรักษา ดุจในประโยคมีอาทิว่า สตารกฺเขน เจตสา วิหรติ มีใจมีสติเป็นเครื่องรักษาอยู่ ดังนี้.
               ก็ปัญญานั้นมีสติอยู่ข้างหน้า ทำให้ไม่หลงลืม ด้วยว่าปัญญาย่อมรู้ชัดด้วยธรรมที่สติอบรมแล้ว มิใช่ด้วยความหลงลืม. เหมือนอย่างว่า ประตักแสดงภัย คือการแทงโคงานทั้งหลาย ไม่ให้เกียจคร้าน ป้องกันเดินนอกทางฉันใด สติก็ฉันนั้น แสดงภัยคืออบายแก่โคงานคือวิริยะ ไม่ให้เกียจคร้าน ป้องกันอโคจรกล่าวคือกามคุณ แล้วประกอบไว้ในกัมมัฏฐาน ป้องกันเดินออกนอกทาง. ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า สติ เม ผาลปาจนํ ดังนี้.
               บทว่า กายคุตฺโต ได้แก่ คุ้มครองด้วยกายสุจริต ๓ อย่าง.
               บทว่า วจีคุตฺโต ได้แก่ คุ้มครองด้วยวจีสุจริต ๔ อย่าง. ก็ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ เป็นอันท่านกล่าวปาติโมกขสังวรศีลแล้ว.
               ในข้อว่า อาหาเร อุทเร ยโต นี้ มีความว่า สำรวมในปัจจัยทั้ง ๔ อย่าง เพราะท่านสงเคราะห์ปัจจัยทุกอย่างด้วยมุขคืออาหาร. อธิบายว่า สำรวมแล้ว คือปราศจากอุปกิเลส.
               ด้วยคำนี้เป็นอันท่านกล่าวอาชีวปาริสุทธิศีลแล้ว.
               บทว่า อุทเร ยโต ได้แก่ สำรวมในท้อง คือสำรวม คือบริโภคพอประมาณ. ท่านอธิบายไว้ว่า รู้จักประมาณในอาหาร. ด้วยมุขคือความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคนี้ เป็นอันท่านกล่าวการเสพเฉพาะปัจจัยสันนิสสติตศีลแล้ว.
               ถามว่า ด้วยข้อนั้น ท่านแสดงความอย่างไร.
               ตอบว่า ท่านแสดงความว่า พราหมณ์ ท่านหว่านพืชแล้ว ล้อมด้วยรั้วหนามรั้วต้นไม้หรือกำแพง เพื่อรักษาข้าวกล้า ฝูงโคกระบือและเนื้อทั้งหลายเข้าไปไม่ได้ แย่งข้าวกล้าไม่ได้ เพราะการล้อมนั้นฉันใด เราตถาคตก็ฉันนั้น หว่านพืชคือศรัทธาเป็นอันมากแล้ว ล้อมรั้ว ๓ ชั้นได้แก่ควบคุมกาย ควบคุมวาจาและควบคุมอาหาร เพื่อรักษากุศลธรรมนานาประการ ฝูงโคกระบือและเนื้อกล่าวคืออกุศลธรรมมีราคะเป็นต้นเข้าไปไม่ได้ แย่งข้าวกล้าคือกุศลนานาประการของเราไปไม่ได้เพราะการล้อมรั้วนั้น.
               การพูดไม่ผิดด้วยอาการ ๒ อย่าง ชื่อว่าสัจจะ ในคำว่า สจฺจํ กโรมิ นิทฺทานํ นี้.
               บทว่า นิทฺทานํ ได้แก่ ตัด เกี่ยว ถอน.
               แลคำนี้พึงทราบว่าเป็นทุติยาวิภัตติ ใช้ในอรรถแห่งตติยาวิภัตติ. ก็ในคำนี้มีเนื้อความดังนี้ว่า เราดายหญ้า (คือวาจาสับปรับ) ด้วยคำสัตย์. คำนี้มีอธิบายว่า ท่านทำการไถภายนอก ใช้มือหรือมีดดายหญ้าที่ทำข้าวกล้าให้เสียฉันใด แม้เราก็ฉันนั้น ไถในภายในแล้ว ใช้สัจจะดายหญ้าคือการกล่าวคลาดเคลื่อนที่ประทุษร้ายข้าวกล้าคือกุศล. อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบสัจจะในคำว่า สจฺจํ กโรมิ นิทฺทานํ นี้ หมายเอายถาภูตญาณ. ท่านแสดงว่า เราทำการดายหญ้ามีอัตตสัญญาเป็นต้นด้วยยถาภูตญาณนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า นิทฺทานํ ความว่า ตัด เกี่ยว ถอนขึ้น. ท่านแสดงว่า ท่านใช้ทาสหรือกรรมกรให้ดาย คือตัดเกี่ยวถอนหญ้าทั้งหลาย ด้วยคำว่า จงดายหญ้าทั้งหลายฉันใด เราก็ฉันนั้นใช้สัจจะดายหญ้า.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สจฺจํ ได้แก่ ทิฏฐิสัจจะ ความว่า เราทำการดายหญ้านั้น คือ ตัดสิ่งที่ควรตัด เกี่ยวสิ่งที่ควรเกี่ยวถอนสิ่งที่ควรถอน. ในวิกัปทั้ง ๒ เหล่านี้ ควรประกอบเนื้อความด้วยทุติยาวิภัตติเท่านั้น.
               ในคำว่า โสรจฺจํ เม ปโมจนํ นี้ ศีลคือการไม่ล่วงละเมิดทางกาย การไม่ล่วงละเมิดทางวาจานั่นแหละ ท่านกล่าวว่า โสรัจจะ ข้อนั้นท่านไม่ประสงค์.
               ก็คำว่า โสรจฺจํ นั้น ท่านกล่าวไว้ด้วยคำว่า กายคุตฺโต เป็นต้นเท่านั้น. แต่ท่านประสงค์เอาอรหัตผล. ก็พระอรหัตผลนั้น ท่านเรียกว่าโสรัจจะ เพราะความยินดีในพระนิพพานอันดี.
               บทว่า ปโมจนํ ได้แก่ สละโยคกิเลสเครื่องประกอบ.
               คำนี้มีอธิบายว่า การปลดเปลื้องของท่าน ย่อมไม่เป็นการปลดเปลื้องเลย เพราะต้องประกอบในเวลาเย็น ในวันที่สองหรือในปีหน้าแม้อีกฉันใด การปลดเปลื้องของเราหาเป็นฉันนั้นไม่. ขึ้นชื่อว่าการปลดเปลื้องในระหว่างของเราหามีไม่. เพราะเราเทียมโคงานคือความเพียร ที่ไถคือปัญญา จำเดิมแต่ครั้งพระทศพลพระนามว่าทีปังกร ไถเป็นการใหญ่สิ้นสี่อสงขัยแสนกัป ก็ยังไม่พ้น ตราบเท่าที่ยังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ. ก็เมื่อใดเราใช้เวลาทั้งหมดนั่งเหนืออปราชิตบัลลังก์ ณ โคนโพธิพฤกษ์. พระอรหัตผลที่มีคุณทั้งปวงเป็นบริวารก็เกิดขึ้น เมื่อนั้น เราปล่อยวางพระอรหัตผลนั้นด้วยการระงับความขวนขวายทุกอย่าง บัดนี้จักไม่ประกอบต่อไป ทรงหมายเนื้อความดังว่ามานี้ จึงตรัสว่า โสรจฺจํ เม ปโมจนํ.
               บทว่า วิริยํ ในคำว่า วิริยํ เม ธุรโธรยฺหํ นี้ ได้แก่ การปรารภความเพียรทางกายและทางจิต.
               บทว่า ธุรโธรยฺหํ ความว่า นำไปในธุระ. อธิบายว่า นำธุระไป.
               เหมือนอย่างว่า ไถที่พราหมณ์ชักไปและดึงไปในธุระ ย่อมทำลายแผ่นของดินและการสืบต่อแห่งมูลดินฉันใด ไถคือปัญญาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าชักมาด้วยความเพียร ก็ฉันนั้น ย่อมทำลายแผ่นกิเลสตามที่กล่าวแล้ว และทำลายการสืบต่อแห่งกิเลส. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า วิริยํ เม ธุรโธรยฺหํ.
               อีกอย่างหนึ่ง สภาวะที่นำธุระเบื้องต้นไป ชื่อว่าธุระสภาวะที่นำธุระเดิมไป ชื่อว่าโธรัยหา ธุระและโธรัยหะ ชื่อว่าธุรโธรัยหะ ธุรโธรัยหะอันต่างด้วยโคงาน ๔ ตัว ในไถแต่ละไถของพราหมณ์ เมื่อนำไปทำหน้าที่กำจัดรากหญ้าที่เกิดขึ้นๆ และทำความสมบูรณ์แห่งข้าวกล้าให้สำเร็จฉันใด ธุรโธรัยหะอันต่างด้วยความเพียรคือสัมมัปปธาน ๔ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้น เมื่อนำมาย่อมทำหน้าที่กำจัดอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วๆ และทำความสมบูรณ์แห่งกุศลให้สำเร็จ. เพราะเหตุนั้นจึงตรัสว่า วิริยํ เม ธุรโธรยฺหํ ดังนี้.
               ในคำว่า โยคกฺเขมาธิวาหนํ นี้มีวินิจฉัยว่า
               พระนิพพาน ชื่อว่าโยคักเขมะ เพราะเป็นแดนเกษมจากโยคะทั้งหลาย. พระนิพพานนั้น ชื่อว่าอธิวาหนะ เพราะนำไปเจาะจงหรือว่านำไปเฉพาะหน้า การนำไปเฉพาะหน้าซึ่งธรรมอันเกษมจากโยคะ ชื่อว่าโยคักเขมาธิวาหนะ.
               ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ดังนี้ว่า
               ธุรโธรัยหะของท่านที่นำมุ่งไปทิศใดทิศหนึ่งมีปุรัตถิมทิศเป็นต้นฉันใด ธุรโธรัยหะของเราย่อมนำมุ่งตรงต่อพระนิพพานก็ฉันนั้น. ธุรโธรัยหะที่เรานำไปอย่างนี้ ชื่อว่าไปไม่หวนกลับ คือไปจำเดิมแต่เวลาที่พระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร ไม่หวนกลับเหมือนธุรโรรัยหะ (ของท่าน) นำไถไปถึงที่สุดนา ยังกลับมาอีก.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะกิเลสที่เราละได้ด้วยมรรคนั้นๆ ไม่จำต้องละร่ำไป เหมือนหญ้าที่ตัดด้วยไถของท่าน จำต้องตัดในเวลาต่อมาอีก ฉะนั้น ธุรโธรัยหะละไม้คือกิเลสที่เห็นแล้วด้วยปฐมมรรค ละกิเลสหยาบๆ ด้วยทุติยมรรค ละกิเลสที่เป็นอนุสัยด้วยตติยมรรค ละกิเลสทุกอย่างด้วยจตุตถมรรค ไปไม่หวนกลับด้วยอาการอย่างนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า คจฺฉติ อนิวตฺตํ ความว่า เป็นธรรมชาติเว้นการไม่กลับไปเลย.
               บทว่า ตํ โยคธุรโรธรยฺหํ ในคำว่า ธุรโธรยฺหํ นี้ พึงทราบความอย่างนี้ ก็ธุรโธรัยหะของเรา เมื่อไปโดยประการที่ธุรโธรัยหะของท่านไม่ไปยังที่นั้น แต่ธุรโธรัยหะของเรานั้น ย่อมไปสู่ที่ชาวนาไปแล้ว ไม่เศร้าโศกปราศจากธุลี ไม่เสียใจ.
               บทว่า ยตฺถ คนฺตฺวา นโสจติ ความว่า ชาวนาเช่นเราเตือนการนำธุระไปด้วยความเพียรนั้นด้วยประตัก คือสติไปในที่ใด ไม่เศร้าโศก ปราศจากธุลี ไม่เสียใจ ถึงที่นั้นทั้งหมด กล่าวคืออมตนิพพานอันเป็นที่ถอนลูกศรคือความโศก
               บัดนี้ เมื่อจะทรงย้ำคำลงท้ายจึงตรัสคาถาว่า เอวเมสา กสี ดังนี้เป็นต้น.
               ข้อนั้นมีเนื้อความสังเขปดังต่อไปนี้
               จงเห็นเถิดท่านพราหมณ์ พืชคือศรัทธานี้ น้ำฝนคือตบะช่วยเหลือแม้การไถ เราใช้เชือกคือใจผูกแอกและไถคือปัญญาและงอนไถคือหิริไว้ด้วยกัน ใช้ไถคือปัญญาตอกผาลคือสติ ยึดประตักคือสติคุ้มครองด้วยการควบคุมกายวาจาและอาหาร ใช้สัจจะเป็นเครื่องดายหญ้า นำธุรโธรัยหะคือความเพียรซึ่งให้เกิดโสรัจจะมุ่งตรงพระนิพพานอันเป็นแดนเกษมจากโยคะไม่ถอยกลับ ไถแล้วการไถให้ถึงสามัญญผล ๔ อย่างซึ่งเป็นที่สุดแห่งการงาน ดังนี้.
               บทว่า สา โหติ อมตปฺผลา ความว่า การไถนี้นั้นย่อมมีผลเป็นอมตะ. พระนิพพาน ท่านเรียกว่าอมตะ. อธิบายว่า การไถนั้นมีพระนิพพานเป็นอานิสงส์. การไถนี้นั้นจะมีผลเป็นอมตะเฉพาะเราผู้เดียวเท่านั้นก็หามิได้ ใครๆ จะเป็นกษัตริย์พราหมณ์แพศย์สูทรก็ตาม คฤหัสถ์หรือบรรพชิตก็ตามไถอย่างนี้ ครั้นไถอย่างนี้แล้ว เขาทั้งหมดย่อมพ้นทุกข์ทั้งปวงโดยแท้แล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเทศนาแก่พราหมณ์ ยกพระนิพพานแสดงเป็นเรื่องสุดท้าย จบลงด้วยยอดคือพระอรหัต ด้วยประการฉะนี้.
               ต่อแต่นั้น พราหมณ์ฟังพระธรรมเทศนาซึ่งมีเนื้อความลึกซึ้งแล้ว ทราบว่าคนบริโภคผลแห่งการไถนาของเรา ย่อมจะหิวในวันรุ่งขึ้นเป็นแน่ แต่คนบริโภคผลแห่งการไถที่เป็นอมตะนี้ ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ดังนี้ มีความเลื่อมใส เมื่อจะแสดงทำอาการเลื่อมใส จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ภุญฺชตุ ภวํ โคตโม ดังนี้.
               คำทั้งหมดและคำนอกจากนั้น เราอธิบายเนื้อความไว้แล้วทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถากสิสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พราหมณสังยุตต์ อุปาสกวรรคที่ ๒ กสิสูตรที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 667อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 671อ่านอรรถกถา 15 / 677อ่านอรรถกถา 15 / 956
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=5561&Z=5614
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=5970
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=5970
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๘  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :