ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 795อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 801อ่านอรรถกถา 15 / 804อ่านอรรถกถา 15 / 956
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ยักขสังยุต
อินทกสูตรที่ ๑

               ยักขสังยุตตวัณณนา               
               อรรถกถาอินทกสูตรที่ ๑               
               พึงทราบวินิจฉัยในอินทกสูตรที่ ๑ แห่งยักขสังยุตต่อไปนี้ :-
               บทว่า อินฺทกสฺส คือ ยักษ์อยู่ที่เขาอินทกูฏ.
               จริงอยู่ พระสูตรนี้ได้ชื่อจากยักษ์กับยอด และจากยอดกับยักษ์.
               บทว่า รูปํ น ชีวนฺติ วทนฺติ ความว่า ถ้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่กล่าวรูปอย่างนี้ว่า สัตว์ บุคคล.
               บทว่า กถํ นฺวยํ ตัดบทว่า กถํ นุ อยํ.
               บทว่า กุตสฺส อฏฺฐิยกปิณฺฑเมติ ความว่า กระดูกและก้อนเนื้อของสัตว์นั้นจะมาแต่ไหน. ก็ในคำนี้ ท่านถือเอากระดูก ๓๐๐ ท่อนด้วยศัพท์ว่า อัฏฐิ. ชิ้นเนื้อ ๙๐๐ ด้วยศัพท์ว่า ยกปิณฑะ.
               ถามว่า ถ้ารูปไม่ใช่ชีวะ เมื่อเป็นเช่นนั้น กระดูกเหล่านี้และชิ้นเนื้อเหล่านี้ของเขาย่อมมาแต่ไหน.
               บทว่า กถํ นฺวยํ สชฺชติ คพฺภสฺมึ ความว่า สัตว์นี้ติดอยู่คือข้องอยู่ เกิดอยู่ในครรภ์ของมารดา ด้วยเหตุไรหนอ.
               ได้ยินว่า ยักษ์นี้มักพูดแต่บุคคลถือว่า สัตว์เกิดในครรภ์ของมารดาโดยการร่วมครั้งเดียวดังนี้ จึงกล่าวอย่างนี้ตามความเห็นว่า มารดาของสัตว์ที่เกิดในท้องย่อมกินปลาและเนื้อเป็นต้น ปลาและเนื้อเป็นต้นทั้งปวงถูกเผาเพียงคืนเดียวก็ละลายไปเหมือนฟองน้ำ ถ้ารูปไม่พึงเป็นสัตว์ก็พึงละลายไปอย่างนี้.
               ลำดับนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงแสดงแก่ยักษ์นั้นว่า สัตว์ไม่ได้เกิดในครรภ์ของมารดาโดยการร่วมครั้งเดียวเท่านั้น เจริญขึ้นโดยลำดับ จึงตรัสว่า ปฐมํ กลลํ โหติ เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ปฐมํ ความว่า ชื่อว่าติสสะ หรือว่าปุสสะ ย่อมไม่พร้อมกับปฏิสนธิวิญญาณทีแรก. โดยที่แท้ กลละมีประมาณเท่าหยาดน้ำมันงาซึ่งตั้งอยู่ที่ปลายเส้นด้ายที่ทำด้วยเส้นขนสัตว์ ๓ เส้น
               ท่านกล่าวหมายความว่า
                         หยาดแห่งน้ำมันงา เนยใส ใสไม่ขุ่นมัว ฉันใด
                         เขาเรียกกันว่า กลละมีสีคล้ายกัน ฉันนั้น.
               บทว่า กลลา โหติ อมฺพุทํ๑- ความว่า เมื่อกลละนั้นล่วงไป ๗ วัน ก็มีสีเหมือนน้ำล้างเนื้อจึงชื่อว่าอัมพุทะ. ชื่อว่ากลละก็หายไป.
               สมดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                         เป็นกลละอยู่ ๗ วัน ครั้นแก่ข้นขึ้น
                         เปลี่ยนภาวะนั้นเกิดเป็น อัมพุทะ.
               บทว่า อมฺพุทา๒- ชายเต เปสิ ความว่า เมื่ออัมพุทะนั้นล่วงไป ๗ วัน ก็เกิดเป็นเปสิ คล้ายดีบุกเหลว. เปสินั้นพึงแสดงด้วยน้ำตาลเม็ดพริกไทย.
____________________________
๑- บาลีเป็น อพฺพุทํ
๒- บาลีเป็น อพฺพุทา
                         [๘๐๓] ปฐมํ กลลํ โหติ    กลลา โหติ อพฺพุทํ
                                   อพฺพุทา ชายเต เปสิ    เปสิ นิพฺพตฺตตี ฆโน
                                   ฆนา ปสาขา ชายนฺติ    เกสา โลมา นขาปิ จ
                                   ยญฺจสฺส ภุญฺชติ มาตา    อนฺนํ ปานญฺจ โภชนํ
                                   เตน โส ตตฺถ ยาเปติ    มาตุกุจฺฉิคฺคโต นโรติ ฯ

               จริงอยู่ เด็กชาวบ้านถือเอาพริกไทยสุกทำเป็นห่อไว้ที่ชายผ้าขยำเอาแต่ส่วนที่ดีใส่ลงในกระเบื้องตากแดด. เม็ดพริกไทยนั้นแห้งๆ ย่อมหลุดตกเปลือกทั้งหมด. เปสิมีรูปร่างอย่างนี้. ชื่อว่าอัมพุทะก็หายไป.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                         เป็นอัมพุทะอยู่ ๗ วัน แก่ข้นขึ้น
                         เปลี่ยนภาวะนั้น เกิดเป็นเปสิ.
               บทว่า เปสิ นิพฺพตฺตติ ฆโน ความว่า เมื่อเปสินั้นล่วงไป ๗ วัน ก้อนเนื้อชื่อฆนะ มีสัณฐานเท่าไข่ไก่เกิดขึ้น. ชื่อว่าเปสิก็หายไป.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                         เป็นเปสิอยู่ ๗ วัน ครั้นแก่ข้นขึ้นเปลี่ยนภาวะ
                         นั้น เกิดเป็นฆนะ สัณฐานแห่งฆนะเกิดขึ้น
                         เพราะเหตุแห่งกรรมเหมือนไข่ไก่ เกิดเป็น
                         ก้อนกลมโดยรอบ.
               บทว่า ฆนา จ สาขา ชายนฺติ ความว่า ในสัปดาห์ที่ ๕ เกิดปุ่มขึ้น ๕ แห่งเพื่อเป็นมือและเท้าอย่างละ ๒ และเป็นศีรษะ ๑. มีคำที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในสัปดาห์ที่ ๕ ปุ่มตั้งขึ้น ๕ แห่งตามกรรมดังนี้. ต่อแต่นี้ไป ทรงย่อพระเทศนาผ่านสัปดาห์ที่ ๖ ที่ ๗ เป็นต้น เมื่อจะทรงแสดงเอาเวลาที่ผ่านไป ๔๒ สัปดาห์ จึงตรัสว่า ผมเป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า เกสา โลมา นขาปิ จ ความว่า ผมเป็นต้นเหล่านี้ย่อมเกิดใน ๔๒ สัปดาห์.
               บทว่า เตน โส ตตฺถ ยาเปติ ความว่า จริงอยู่ สายสะดือตั้งขึ้นจากสะดือของเด็กนั้น ติดเป็นอันเดียวกับแผ่นท้องของมารดา. สายสะดือนั้นเป็นรูเหมือนก้านบัว. รสอาหารแล่นไปตามสายสะดือนั้น ดังรูปซึ่งมีอาหารเป็นสมุฏฐานให้ตั้งขึ้น. เด็กนั้นย่อมเป็นอยู่ ๑๐ เดือนด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า มาตุ กุจฺฉิคโต นโร ความว่า คนอยู่ในท้องมารดาคืออยู่ภายในท้อง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ดูก่อนยักษ์ สัตว์นี้เจริญขึ้นในท้องของมารดาโดยลำดับ ไม่ใช่เกิดโดยการร่วมครั้งเดียว.

               จบอรรถกถาอินทกสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ยักขสังยุต อินทกสูตรที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 795อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 801อ่านอรรถกถา 15 / 804อ่านอรรถกถา 15 / 956
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=6627&Z=6642
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=7325
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=7325
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๘  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :