ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 15 / 4อ่านอรรถกถา 15 / 956
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวตาสังยุต นฬวรรคที่ ๑
โอฆตรณสูตรที่ ๑

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               ว่าด้วยบท ภควา               
               บทว่า ภควา ได้แก่ ครู. เพราะบัณฑิตในโลกเรียกครูว่า ภควา.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นครูของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เพราะความที่พระองค์เป็นผู้วิเศษสุดโดยคุณทั้งปวง เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบคำว่า ภควา ดังนี้.
               แม้พระโบราณาจารย์ทั้งหลายก็กล่าวว่า
                                   ภควาติ วจนํ เสฎฺฐํ    ภควาติ วจนมุตฺตมํ
                                   คุรุคารวยุตฺโต โส    ภควา เตน วุจฺจติ
                         คำว่า ภควา เป็นคำประเสริฐสุด คำว่า ภควา เป็นคำสูงสุด
                         พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นควรแก่การเคารพโดยฐานครู
                         เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า ภควา ดังนี้.


               อีกอย่างหนึ่ง บัณฑิตพึงทราบอรรถแห่งบทนั้นโดยพิสดาร ด้วยอำนาจแห่งคาถานี้ว่า
                                   ภาคฺยวา ภคฺควา ยุตฺโต    ภคฺเคหิ จ วิภตฺตวา
                                   ภตฺตวา วนฺตคมโน    ภเวสุ ภควา ตโต.
                         พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงมีโชค ทรงหักกิเลสได้แล้ว
                         ทรงประกอบด้วยภคธรรม ทรงจำแนกธรรม ทรงคบธรรม
                         ทรงคายการไปในภพทั้งหลายแล้ว เหตุนั้น พระองค์จึงทรง
                         พระนามว่า ภควา ดังนี้
.
               ก็อรรถแห่งภควานั้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในนิเทศแห่งพุทธานุสสติ ในปกรณ์วิเศษ ชื่อว่าวิสุทธิมรรคนั่นเทียว.
               ก็โดยลำดับแห่งถ้อยคำเพียงเท่านี้ พระอานนท์เมื่อแสดงธรรมตามที่ได้สดับมา ชื่อว่าย่อมทำธรรมกายของพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ประจักษ์ไว้ด้วยคำว่า เอวมฺเม สุตํ ในพระสูตรนี้ ด้วยคำนั้นแหละ ท่านพระอานนท์ชื่อว่าให้ประชาชนผู้กระวนกระวาย เพราะไม่ได้เห็นพระบรมศาสดา ให้เบาใจว่า ปาพจน์ (คือพระธรรมวินัย) นี้มีพระบรมศาสดาล่วงไปแล้วหามิได้ พระธรรมวินัยนี้เป็นพระบรมศาสดาของท่านทั้งหลายดังนี้.
               ด้วยคำว่า เอกํ สมยํ ภควา ท่านพระอานนท์ เมื่อแสดงซึ่งความที่พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงมีอยู่ในสมัยนั้น ชื่อว่าย่อมประกาศการปรินิพพานของรูปกาย ด้วยคำนั้นแหละ ท่านพระอานนท์ ชื่อว่ายังประชาชนผู้มัวเมาในชีวิตให้เกิดการสลดใจ ทั้งให้ความอุตสาหะในพระสัทธรรมเกิดขึ้นแก่ประชาชนว่า แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นซึ่งมีพระวรกายเสมอด้วยแท่งเพชร ผู้ทรงกำลังสิบ ผู้แสดงอริยธรรมชื่ออย่างนี้ๆ ยังเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ คนอื่นใครเล่าจะพึงมีความหวังในชีวิต ดังนี้.
               อนึ่ง พระอานนท์ เมื่อกล่าวคำว่า เอวํ ชื่อว่าย่อมแสดงถึงเทศนาสมบัติ เมื่อกล่าวว่า เม สุตํ ชื่อว่าย่อมแสดงถึงสาวกสมบัติ เมื่อกล่าวว่า เอกํ สมยํ ชื่อว่าย่อมแสดงถึงกาลสมบัติ เมื่อกล่าวคำว่า ภควา ชื่อว่าย่อมแสดงเทสกสมบัติ ดังนี้.
               บทว่า สาวตฺถิยํ ได้แก่ ในพระนครอันมีชื่ออย่างนี้.
               ก็คำว่า สาวตฺถิยํ นี้เป็นสัตตมีวิภัตติ ลงในอรรถว่าใกล้.
               บทว่า วิหรติ เป็นคำแสดงถึงความพร้อมเพรียงด้วยวิหารธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาอิริยาบถวิหาร ทิพยวิหาร พรหมวิหารและอริยวิหาร โดยไม่แปลกกัน.
               แต่ในที่นี้ คำว่า วิหรติ นี้เป็นคำแสดงถึงการประกอบด้วยอิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาอิริยาบถทั้งหลายชนิดต่างๆ มีการยืน การเดิน การนั่งและการนอน.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนก็ดี เสด็จดำเนินไปก็ดี ประทับนั่งก็ดี บรรทมก็ดี บัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมประทับอยู่นั่นแหละ.
               จริงอยู่ พระองค์ทรงบำบัดความลำบากแห่งอิริยาบถอย่างหนึ่ง ด้วยอิริยาบถอย่างหนึ่ง ทรงนำอัตภาพไป คือให้เป็นไปมิให้ทรุดโทรม เพราะเหตุนั้น ท่านพระอานนท์จึงกล่าวว่า ย่อมประทับอยู่ ดังนี้.
               บทว่า เชตวเน ได้แก่ ในอุทยานของพระราชกุมารทรงพระนามว่า เชต.
               จริงอยู่ พระราชอุทยานนั้น พระราชกุมารพระองค์นั้นทรงสร้างให้เจริญดีแล้ว ด้วยเหตุนั้น พระราชอุทยานนี้จึงชื่อว่าเชตวัน ฉะนั้น พระอานนท์จึงกล่าวว่า ณ พระเชตวันนั้น ดังนี้.
               บทว่า อนาถปิณฑิกสฺส อาราเม ความว่า ในพระอารามอันถึงการนับว่า เป็นของอนาถปิณฑิกคหบดี เพราะคหบดีชื่อว่าอนาถปิณฑิกะมอบถวายแก่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยการบริจาคเงินมีประมาณ ๕๔ โกฏิ.
               ความสังเขปในพระสูตรนี้มีเพียงเท่านี้. ส่วนเนื้อความพิสดารพระอรรถกถาจารย์พรรณนาไว้ในสัพพาสวสุตตวรรณนาในอรรถกถามัชฌิมนิกาย ชื่อปปัญจสูทนี.
               ในข้อนี้ หากมีผู้ท้วงขึ้นว่า ถ้าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถีก่อน พระเถระก็ไม่ควรจะพูดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวัน ถ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันก่อน ก็ไม่น่าจะพูดว่า ประทับอยู่ที่พระนครสาวัตถีดังนี้ เพราะว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่สามารถประทับอยู่ในสถานที่สองแห่งพร้อมๆ กันในเวลาเดียวกัน.
               ตอบว่า ข้อนั้นไม่พึงเห็นอย่างนั้น เพราะข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วมิใช่หรือว่า คำว่า สาวตฺถิยํ เป็นสัตตมีวิภัตติ ลงในอรรถว่าใกล้ ฉะนั้น ในที่แม้นี้ พระเชตวันนี้ใดอยู่ใกล้พระนครสาวัตถี พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อประทับอยู่ในที่นั้น ท่านพระอานนท์จึงกล่าวว่า สาวตฺถิยํ วิหรติ เชตวเน ซึ่งแปลว่า ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันใกล้พระนครสาวัตถี เปรียบเหมือนฝูงโคทั้งหลายเที่ยวไปใกล้แม่น้ำคงคาและแม่น้ำยมุนาเป็นต้น ชาวโลกย่อมเรียกว่าเที่ยวไปใกล้แม่น้ำคงคา เที่ยวไปใกล้แม่น้ำยมุนา ฉันนั้น.
               จริงอยู่ คำว่า สาวตฺถี ท่านพระเถระกล่าวไว้เพื่อแสดงถึงโคจรคามของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น คำที่เหลือ ท่านกล่าวเพื่อแสดงถึงสถานที่อยู่อาศัยอันสมควรแก่บรรพชิต.
               บทว่า อญฺญตรา เทวตา ได้แก่ เทพยดาองค์หนึ่งซึ่งมีชื่อและโคตรมิได้ปรากฏ.
               ก็ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบยิ่งซึ่งการบูชาของข้าพระองค์ พระองค์ได้ตรัสถึงวิมุตติอันเป็นธรรมสิ้นไปแห่งตัณหาแก่ยักษ์ผู้มีศักดาใหญ่ตนหนึ่ง ด้วยธรรมอันสังเขป ดังนี้ แม้ท้าวสักกเทวราช ผู้ปรากฏแล้วท่านก็กล่าวว่า อญฺญตโร หมายถึงองค์หนึ่ง.
               อนึ่ง คำว่า เทวตา นี้เป็นคำทั่วไปแก่เทวดาทั้งหลาย แม้แต่เทพธิดาทั้งหลาย แต่ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาเทพบุตร.
               ก็เทพบุตรนั้นแลองค์ใดองค์หนึ่งในบรรดาชั้นรูปาวจรภูมิ.

               ว่าด้วย อภิกกันตศัพท์               
               อภิกกันตศัพท์ ในบทว่า อภิกฺกนฺตาย รตฺติยา นี้ปรากฏในอรรถว่า ความสิ้นไป ดี งาม ยินดียิ่งเป็นต้น.
               ในบรรดาคำเหล่านั้น อภิกกันตศัพท์ปรากฏในอรรถว่าสิ้นไป เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า อภิกฺกนฺตา ภนฺเต รตฺติ นิกฺขนฺโต ปฐโม ยาโม จิรํ นิสินฺโน ภิกฺขุสํโฆ อุทฺทิสตุ ภนฺเต ภควา ภิกฺขูนํ ปาฏิโมกฺขํ แปลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีสิ้นไปแล้ว ปฐมยามล่วงไปแล้ว พระภิกษุสงฆ์นั่งแล้วสิ้นกาลนาน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงแสดงปาฏิโมกข์แก่ภิกษุทั้งหลายเถิด.
               อภิกกันตศัพท์ในอรรถว่าดี เช่นในประโยคที่มีอาทิอย่างนี้ว่า อยํ อิเมสํ จตุนฺนํ ปุคฺคลานํ อภิกฺกนฺโร ปณีตตโร จ แปลว่า บุคคลนี้ดีกว่าประณีตกว่าบุคคลทั้ง ๔ เหล่านี้.
                                   โก เม วนฺทติ ปาทานิ    อิทฺธิยา ยสฺสา ชลํ
                                   อภิกฺกนฺเตน วณฺเณน    สพฺพา โอภาสยํ ทิสา
                         ใครหนอรุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ด้วยยศ มีวรรณงดงาม
                         ยังทิศทั้งปวงให้สว่างไสวอยู่ มาไหว้เท้าของเรา.
               อภิกกันตศัพท์ในอรรถว่ายินดียิ่ง เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า อภิกฺกนฺตํ โภ โคตมํ อภิกฺกนฺตํ โภ โคตมํ แปลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่ายินดียิ่ง ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่ายินดียิ่ง.
               แต่ในที่นี้ อภิกกันตศัพท์ ใช้ในอรรถว่าสิ้นไป ด้วยคำนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เมื่อราตรีสิ้นไปแล้ว สิ้นไปรอบแล้ว. ในข้อนั้นพึงทราบว่า เทวบุตรนี้มาแล้วในเวลาใกล้ที่สุดแห่งมัชฌิมยามทีเดียว.
               ได้ยินว่า เทวดาทั้งหลาย เมื่อมาสู่ที่บำรุงของพระพุทธเจ้า หรือสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมมาในเวลามัชฌิมยามเท่านั้น นี้เป็นนิยามของเทวดาทั้งหลาย.
               อภิกกันตศัพท์ ในคำว่า อภิกฺกนฺตวณฺณา นี้ ใช้ในอรรถว่าวรรณะงาม.

               ว่าด้วย วัณณศัพท์               
               ก็วัณณศัพท์ปรากฎในอรรถได้หลายอย่าง เช่น ในอรรถว่า ผิว คุณความดี กุลวัคคะ (ชาติ) เหตุ ทรวดทรง ขนาด รูปายตนะเป็นต้น.
               ในบรรดาอรรถเหล่านั้น วัณณศัพท์ใช้ในอรรถว่า ผิว เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า สุวณฺวณฺโณ ภควา แปลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ามีผิวเพียงดังวรรณะแห่งทองคำ.
               วัณณศัพท์ในอรรถว่า คุณความดี (ถุติ) เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า กทา สพฺยุณฺหา ปน เต คหปติ สมณสฺส โคตมสฺส วณฺณา แปลว่า ดูก่อนคหบดี ท่านประมวลคุณความดีของพระสมณโคดมมาไว้แต่เมื่อไร.
               วัณณศัพท์ในอรรถว่า ชาติ (กุลวคฺค) เช่นในประโยคที่มีอาทิอย่างนี้ว่า จตฺตาโร เม โภ โคตโม วณฺณา แปลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ชาติ ตระกูล สี่เหล่านี้.
               วัณณศัพท์ในอรรถว่า เหตุ (การณ) เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า ในสังยุตตนิกายวนสังยุตว่า อถ เกน นุ วณฺเณน คนฺธตฺเถโนติ วุจฺตติ แปลว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เหตุไรเล่า ท่านจึงกล่าวว่า ขโมยกลิ่น.
               วัณณศัพท์ในอรรถว่า ทรวดทรง (สณฺฐาน) เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า มหนฺตํ หตฺถิราชวณฺณํ อภินิมฺมินิตฺวา แปลว่า นฤมิตทรวดทรงเป็นพระยาช้างใหญ่.
               วัณณศัพท์ในอรรถว่า ขนาด (ปมาณ) เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า ตโยปตฺตลฺส วณฺณา แปลว่า ขนาดแห่งบาตร ๓ อย่าง.
               วัณณศัพท์ในอรรถว่า รูปายตนะ เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า วณฺโณ คนฺโธ รโส โอชา แปลว่า สี กลิ่น รส โอชะ.
               ในที่นี้ วัณณศัพท์นั้น ท่านใช้ในอรรถว่า ผิว. ด้วยคำนั้นแหละ ท่านอธิบายว่า มีวรรณะงาม คือผิวงาม มีวรรณะน่าใคร่ มีวรรณะที่ชอบใจ.
               จริงอยู่ เทวดาทั้งหลาย เมื่อมาสู่มนุษยโลก ละวรรณะที่มีอยู่ตามปกติและฤทธิตามปกติแล้วทำอัตภาพให้หยาบ ทำวรรณะได้มากอย่าง ทั้งทำฤทธิ์ก็ได้หลายอย่าง เมื่อจะไปสู่สถานที่ทั้งหลายมีสถานที่เป็นที่แสดงมหรสพเป็นต้น ย่อมมาด้วยกายอันตนตกแต่งแล้ว.
               เทวดาทั้งหลายชั้นกามาวจร แม้มีกายอันตนมิได้ตกแต่งแล้วก็สามารถเพื่อจะมาในที่นั้นได้ ส่วนเทวดาชั้นรูปาวจรไม่สามารถ. อัตภาพของเทวดาเหล่านั้นแม้ทั้งหมดเป็นกายละเอียดยิ่ง การสำเร็จกิจด้วยอิริยาบถโดยอัตภาพนั้นมีอยู่ ด้วยเหตุดังนั้น เทวบุตรนี้จึงมาด้วยกายอันตนตกแต่งแล้วทีเดียว. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า อภิกฺกนฺตวณฺณา มีวรรณะงาม.

               ว่าด้วย เกวลศัพท์               
               เกวลศัพท์ในคำว่า เกวลกปฺปํ นี้ มีอรรถเป็นอเนก เช่นในอรรถว่าโดยไม่มีส่วนเหลือ โดยมาก ทั้งหมด ความมีไม่มาก มั่นคง การแยกออกจากกัน เป็นต้น.
               จริงอย่างนั้น เกวลศัพท์มีความหมายถึงความไม่มีส่วนเหลือ เช่นในประโยคมีคำว่า เกวลปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ เป็นต้น จงประกาศพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง.
               เกวลศัพท์มีความหมายว่าโดยมาก เช่นในประโยคมีคำว่า เกวลา องฺคมคธา ปหูตํ ขาทนียํ โภชนียํ อาทาย อุปสงฺกมิสฺสนฺติ เป็นต้น แปลว่า ถือเอาขาทนียะ และโภชนียะจากแคว้นอังคะและมคธโดยมาก เพียงพอแล้วจักเข้าไป.
               เกวลศัพท์มีความหมายถึงทั้งหมด เช่นในประโยคที่มีคำว่า เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ เป็นต้น แปลว่า สมุทัย ย่อมมีแก่กองทุกข์ทั้งมวล.
               เกวลศัพท์มีความหมายถึงความมีไม่มาก เช่นในประโยคที่มีคำว่า เกวลํ สทฺธามตฺตกํ นนุ อยมายสฺมา เป็นต้น แปลว่า ท่านผู้มีอายุ ให้ธรรมสักว่า ศรัทธามีประมาณไม่มากเป็นไปมิใช่หรือ.
               เกวลศัพท์มีความหมายถึงความต้องการอย่างมั่นคง เช่นในประโยคที่มีคำว่า อายสฺมโต อนุรุทฺธสฺส พาหิโก นาม สทฺธิวิหาริโก เกวลํ สํฆเภทาย ฐิโต เป็นต้น แปลว่า ท่านพระอนุรุทธะมีสัทธิวิหาริก ชื่อว่าพาหิกะ ตั้งอยู่มั่นคงในการทำลายสงฆ์.
               เกวลศัพท์มีความหมายถึงการแยกจากหมู่ เช่นในประโยคที่มีคำว่า เกวลี วุสิตฺวา อุตฺตมปุริโส วุจฺจติ แปลว่า อยู่แยกกัน ท่านกล่าวว่า เป็นอุตตมบุรุษ.
               แต่ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาเกวลศัพท์ที่ใช้ในความหมายถึงความไม่มีส่วนเหลือ.

               ว่าด้วย กัปปศัพท์               
               ก็กัปปศัพท์นี้มีอรรถเป็นอเนก เช่นในอรรถว่าเชื่อมั่นหรือวางใจได้ ในอรรถว่าโวหาร ในอรรถว่ากาล ในอรรถว่าบัญญัติ ในอรรถว่าการตัดหรือโกน ในอรรถว่าวิกัปปะ (ประมาณหรือควร) ในอรรถว่าเลส (เลสนัย หรือข้ออ้างเล็กๆ น้อยๆ) ในอรรถว่าโดยรอบเป็นต้น.
               จริงอย่างนั้น กัปปศัพท์ที่ใช้ในอรรถว่าเชื่อมั่น เช่นในประโยคที่มีอาทิอย่างนี้ว่า โอกปฺปนียเมตํ โภโต โคตมสฺส ยถาตํ อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส แปลว่า ข้อนั้นควรวางใจได้ว่า ท่านพระโคดมผู้เจริญเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.
               กัปปศัพท์ที่ใช้ในอรรถว่าโวหาร (คำชี้แจง) เช่นในประโยคที่มีอาทิอย่างนี้ว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว ปญฺจหิ สมณกปฺเปหิ ผลํ ปริภุญฺชิตุํ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเพื่อการบริโภคผลโดยทำกัปปะของสมณะ ๕ อย่าง.๑-
____________________________
๑- กัปปะ ๕ ในพระวินัยเรียกว่าทำกัปปิยะ คือ
               ๑ อคฺคิปริจิตํ ผลที่ลนไฟ
               ๒ สตฺถปริจิตํ ผลที่เจาะด้วยศาสตรา
               ๓ นขปริจิตํ ผลที่เจาะด้วยเล็บ
               ๔ อพีชํ ผลที่ไม่เป็นพืช
               ๕ นิพฺพฏฺพีชํ ผลที่เอาเม็ดออกแล้ว.

               กัปปศัพท์ที่ใช้ในอรรถว่ากาล เช่นในประโยคที่มีอาทิอย่างนี้ว่า เยน สุทํ นิจฺจกปฺปํ วิหรามิ แปลว่า ทราบว่า เราจะอยู่ตลอดกาลเป็นนิตย์.
               กัปปศัพท์ที่ใช้ในอรรถว่าบัญญัติ (หมายถึงนามบัญญัติ คือการตั้งชื่อ) เช่นในประโยคที่มีอาทิอย่างนี้ว่า อิจฺจายสฺมา กปฺโป แปลว่า ด้วยเหตุนี้ ท่านผู้มีอายุจึงมีชื่อว่ากัปปะ.
               กัปปศัพท์ที่ใช้ในอรรถว่าโกนตัด เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า อลงฺกตา กปฺปิตเกสมสฺสุ แปลว่า โกนผมและหนวดเสร็จแล้ว.
               กัปปศัพท์ที่ใช้ในอรรถว่าวิกัปปะ (ประมาณและควร) เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า กปฺปติ ทฺวงฺคุลกปฺโป แปลว่า ประมาณพระอาทิตย์คล้อย ๒ องคุลี ก็ควร.
               กัปปศัพท์ที่ใช้ในอรรถว่าเลส (เหตุเล็กน้อย) เช่นในประโยคที่มีอาทิอย่างนี้ว่า อตฺถิ กปฺโป นิปชฺชิตุํ แปลว่า เหตุเล็กน้อย เพื่อจะเอนกายมีอยู่.
               กัปปศัพท์ที่ใช้ในอรรถว่าโดยรอบ เช่นในประโยคที่มีอาทิอย่างนี้ว่า เกวลกปฺปํ เวฬุวนํ โอภาเสตฺวา แปลว่า ยังพระเชตวันโดยรอบทั้งสิ้น ให้สว่างไสวแล้ว.
               แต่กัปปศัพท์ในที่นี้ท่านประสงค์เอาในอรรถว่า โดยรอบ เพราะฉะนั้น ในคำว่า เกวลกปฺปํ เชตวนํ นี้ บัณฑิตพึงเห็นอย่างนี้ว่า ยังพระวิหารเชตวันโดยรอบทั้งสิ้น ดังนี้.
               บทว่า โอภาเสตฺวา ได้แก่ แผ่ไปซึ่งรัศมีอันเกิดขึ้นจากผ้า เครื่องประดับและสรีระ กระทำให้มีรัศมีเดียวกัน ให้มีโอกาสเดียวกัน ดุจพระจันทร์และพระอาทิตย์.
               บทว่า เยน ในข้อว่า เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ นี้เป็นตติยาวิภัตติลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ ฉะนั้น พึงทราบเนื้อความในที่นี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ใด เทวบุตรนั้นก็เข้าไปเฝ้า ณ ที่นั้น ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นเนื้อความในที่นี้อย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าอันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายพึงเข้าไปเฝ้าด้วยเหตุใด เทวบุตรนั้นก็เข้าไปเฝ้าแล้วด้วยเหตุนั้น ดังนี้.
               ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าอันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายพึงเข้าไปเฝ้า.
               ตอบว่า เพราะท่านเหล่านั้นมีความประสงค์เพื่อจะบรรลุคุณวิเศษมีประการต่างๆ เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่ผลิตผลตลอดฤดูกาลอันฝูงนกทั้งหลายพากันไปยังต้นไม้นั้น ด้วยประสงค์จะจิกกินซึ่งผลมีรสอร่อยฉะนั้น.
               อนึ่ง บทว่า อุปสงฺกมิ มีคำอธิบายว่า ไปแล้ว.
               บทว่า อุปสงฺกมิตฺวา นี้เป็นบทแสดงถึงเวลาสิ้นสุดลงของเวลาเข้าเฝ้า.
               อีกอย่างหนึ่ง ข้อนี้มีคำอธิบายว่า เทวบุตรนั้นไปแล้วอย่างนี้ คือไปสู่สถานที่ซึ่งใกล้กว่านั้น กล่าวคือที่ใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้ก็มี.
               บัดนี้ เทวบุตรนั้นมาสู่ที่บำรุงแห่งบุคคลผู้เลิศในโลกด้วยประโยชน์อันใด เป็นผู้ใคร่เพื่อทูลถามถึงประโยชน์อันนั้น จึงทำอัญชลีกรรมอันรุ่งเรืองแล้วด้วยอันประชุมแห่งเล็บทั้งสิบ นมัสการประดิษฐานไว้เหนือศีรษะแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง.
               ศัพท์ว่า เอกมนฺตํ เป็นศัพท์แสดงภาวนปุงสกลิงค์ ดุจในคำทั้งหลายมีคำว่า พระจันทร์และพระอาทิตย์หมุนเวียนไป มิได้สม่ำเสมอกัน เป็นต้น. เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบเนื้อความในที่นี้ว่า เทวบุตรนั้นได้ยืนอยู่แล้วโดยกิริยาที่ยืนอยู่แล้วนั้น ชื่อว่ายืนอยู่แล้ว ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง.
               อีกนัยหนึ่ง คำว่า เอกมนฺตํ นี้เป็นทุติยาวิภัตติใช้ในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ.
               บทว่า อฏฺฐาสิ ได้แก่ ย่อมสำเร็จซึ่งอิริยาบถยืน.
               จริงอยู่ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายผู้เป็นบัณฑิต เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ควรเคารพในฐานครู ย่อมยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง เพราะความที่ตนเป็นผู้ฉลาดในการนั่ง. ก็เทวดานี้เป็นองค์ใดองค์หนึ่ง ในบรรดาผู้เป็นบัณฑิตเหล่านั้น เพราะฉะนั้น จึงได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ดังนี้.
               ถามว่า ก็ยืนอยู่อย่างไร จึงชื่อว่า ยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง.
               ตอบว่า เว้นโทษของการยืน ๖ อย่าง คือ
                         ยืนไกลเกินไป
                         ยืนใกล้เกินไป
                         ยืนเหนือลม
                         ยืนในที่สูง
                         ยืนตรงหน้าเกินไป
                         ยืนข้างหลังเกินไป
               จริงอยู่ บุคคลผู้ยืนไกลเกินไปถ้าประสงค์จะพูด ก็จะต้องพูดเสียงดัง. ถ้ายืนใกล้เกินไปย่อมจะเบียดเสียดกัน. ถ้ายืนเหนือลมย่อมเดือดร้อนด้วยกลิ่นตัว. ถ้ายืนในที่สูงย่อมประกาศถึงความไม่เคารพ. ยืนตรงหน้าเกินไป ถ้าประสงค์จะมองก็จะต้องจ้องตากัน. ยืนข้างหลังเกินไป ถ้าใคร่จะเห็นหน้าก็จะต้องชะเง้อคอดู เพราะฉะนั้น แม้เทวบุตรนี้ก็ยืนเว้นโทษ ๖ เหล่านี้ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า เอกมนฺตํ อฏฺฐาสิ แปลว่า ได้ยืนอยู่แล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
               บทว่า เอตทโวจ แยกบทเป็น เอตํ อโวจ แปลว่า ได้กราบทูลคำนี้.
               บทว่า กถํ นุ เป็นการณปุจฉา.
               จริงอยู่ ความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงข้ามโอฆะได้แล้วปรากฏแก่หมื่นโลกธาตุ ด้วยเหตุนั้น ความสงสัยของเทวดานี้ ในที่นี้ว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงข้ามโอฆะได้แล้วด้วยเหตุนี้ จะไม่ทรงทราบอะไรๆ ย่อมไม่มี ด้วยเหตุนั้น เทวดานั้น เมื่อจะทูลถามถึงเหตุที่ทรงข้ามโอฆะนั้น จึงกราบทูลอย่างนี้.
               บทว่า มาริส นี้เป็นคำร้องเรียกด้วยถ้อยคำอันไพเราะ.
               อธิบายว่า ผู้ไม่มีทุกข์ ดังนี้ ผิว่าครั้นเมื่อความเป็นอย่างนั้นมีอยู่ เมื่อใด บุคคลถูกเสียบแทงหัวใจด้วยหลาว หรือเมื่อเราไหม้อยู่ในนรกสักพันปี ดังนี้. คำว่า มาริสะ นี้ย่อมคลาดเคลื่อนไป เพราะว่าสัตว์นรกที่ชื่อว่าผู้ไม่มีทุกข์หามีไม่ สัตว์นรกเป็นผู้ไม่ปราศจากทุกข์ แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ท่านก็เรียกว่า มาริส (ท่านผู้ไม่มีทุกข์) ด้วยเสียงของผู้เจริญแล้ว.
               ได้ยินว่า ในกาลก่อน โวหารว่า มาริสนี้เป็นของมนุษย์ต้นกัลป์ผู้ไม่มีทุกข์ ผู้สมบูรณ์ด้วยความสุข ต่อมาภายหลัง ความทุกข์จะมีหรือไม่ก็ตาม ท่านก็ยังเรียกคำนี้ด้วยเสียงของผู้เจริญแล้วนั่นแหละ เหมือนสระบัวทั้งหลายที่ไม่มีดอกบัวก็ดี ไม่มีน้ำก็ดี ท่านก็เรียกว่าสระบัวฉะนั้น.
               โอฆะ ๔ ในพระบาลีว่า โอฆมตริ นี้คือ กาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะและอวิชโชฆะ.
               ในโอฆะเหล่านั้น ความยินดีพอใจในกามคุณ ๕ ชื่อว่ากาโมฆะ. ความยินดีพอใจในรูปารูปภพและความใคร่ในฌาน ชื่อว่าภโวฆะ. ทิฐิ ๖๒ ชื่อว่าทิฏโฐฆะ. ความไม่รู้ในสัจจะ ๔ ชื่อว่าอวิชโชฆะ.
               ในบรรดาโอฆะ ๔ เหล่านั้น กาโมฆะย่อมเกิดขึ้นในจิตตุปบาทอันสหรคตด้วยโลภะ ๘ ดวง. ภโวฆะย่อมเกิดขึ้นในจิตตุปบาทอันสหรคตด้วยโลภทิฏฐิคตวิปปยุต ๔ ดวง. ทิฏโฐฆะย่อมเกิดขึ้นในจิตตุปบาทอันสัมปยุตด้วยทิฏฐิคตะ ๔ ดวง. อวิชโชฆะย่อมเกิดขึ้นในอกุศลทั้งปวง.
               ก็ธรรมทั้งหมดนี้ ชื่อว่าโอฆะ เพราะอรรถว่าเป็นเหตุนำสัตว์ไป และเพราะอรรถว่าเป็นหมู่ใหญ่.
               คำว่า เพราะอรรถว่าเป็นเหตุนำสัตว์ไป. อธิบายว่า เป็นเหตุให้ตกไปในเบื้องต่ำ.
               จริงอยู่ โอฆะนี้ย่อมยังสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในอำนาจของตนให้ตกไปในเบื้องต่ำ คือให้เกิดในทุคติต่างๆ มีนรกเป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง เมื่อไม่ให้ไปในเบื้องบน คือพระนิพพาน ย่อมให้ไปในเบื้องต่ำ คือในภพ ๓ กำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐิติ ๗ และสัตตาวาส ๙ ดังนี้บ้าง.
               คำว่า เพราะอรรถว่าเป็นหมู่ใหญ่ อธิบายว่า เพราะหมู่แห่งกิเลสนี้ใหญ่แผ่กระจายอำนาจไปตั้งแต่อเวจีมหานรกจนถึงภวัคคภูมิ หมู่แห่งกิเลสคือโอฆะนี้ใด ชื่อว่ามีความยินดีพอใจในกามคุณ ๕ แม้ในโอฆะที่เหลือก็นัยนี้แหละ. บัณฑิตพึงทราบกิเลสชื่อว่าโอฆะ เพราะอรรถว่าเป็นหมู่ใหญ่ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อตริ อธิบายว่า เทวบุตรนั้นทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พระองค์ข้ามโอฆะแม้ทั้ง ๔ นี้ด้วยอย่างไรหนอ ดังนี้.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงวิสัชนาปัญหาของเทวดานั้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า อปฺปติฏฺงฐํ ขฺวาหํ แปลว่า เราไม่พักอยู่เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปฺปติฏฐํ แก้เป็น อปฺปติฏฐหนฺโต แปลว่า ไม่พักอยู่.
               บทว่า อนายูหํ แก้เป็น อนายูหนฺโต แปลว่า ไม่เพียรอยู่ คือไม่พยายามอยู่.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสปัญหากระทำให้เป็นคำอันลี้ลับปิดบังแล้วด้วยประการฉะนี้.
               แม้เทวดาก็ฟังคำอันเป็นภายนอกก่อน ธรรมดาว่า บุคคลผู้ข้ามโอฆะต้องยืนอยู่ในที่อันตนควรยืน ต้องพยายามในที่อันตนพึงข้ามจึงข้ามไปได้ แต่พระองค์ตรัสว่า เราไม่พักอยู่ ไม่เพียรอยู่ ข้ามได้แล้วซึ่งกองกิเลส คือกิเลสเพียงดังโอฆะ (ห้วงน้ำวน) อันแผ่ควบคุมไปตั้งแต่อเวจีนรกจนถึงภวัคคภูมิดังนี้ จิตของเขาก็จะแล่นไปสู่ความสงสัยว่านั่นอะไรหนอ จึงชื่อว่าไม่ทราบซึ่งอรรถแห่งปัญหา.
               ถามว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีทั้งหลายแล้วแทงตลอดสัพพัญญุตญาณ เพื่อต้องการจะตรัสสิ่งที่สัตว์ยังมิได้รู้ มิใช่หรือ.
               ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าแทงตลอดสัพพัญญุตญาณ เพื่อทรงพระประสงค์จะตรัสคำเพียงเท่านี้หามิได้.
               ก็เทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้ามี ๒ อย่าง คือ แสดงโดยนิคคหมุขะและอนุคคหมุขะ.
               ในบรรดา ๒ อย่างนั้น บุคคลเหล่าใดมีความถือตัวว่าเป็นบัณฑิต ย่อมสำคัญในสิ่งที่ตนยังไม่รู้ว่ารู้แล้ว ดุจพราหมณ์ ๕๐๐ ที่บวชเป็นบรรพชิต เพื่อข่มมานะของพราหมณ์และบรรพชิตเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงธรรมเช่นกับพระสูตรทั้งหลายมีมูลปริยายสูตรเป็นต้น นี้ชื่อว่านิคคหมุขเทศนา.
               พระดำรัสนี้ สมดังที่ตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนอานนท์ เราจักกล่าวข่มบุคคลผู้ควรข่ม เราจักยกย่องบุคคลผู้ควรยกย่อง ภิกษุใดมีธรรมเป็นสาระ ภิกษุนั้นจักดำรงอยู่ ดังนี้.
               ส่วนชนเหล่าใดเป็นผู้ตรง ใคร่ต่อการศึกษา พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมแสดงธรรมแก่ชนเหล่านั้นกระทำให้เป็นผู้รู้ได้ง่าย เช่นในสูตรทั้งหลายมีอากังเขยยสูตรเป็นต้น ทั้งยังชนเหล่านั้นให้ปลอดโปร่งใจ เช่นในคำว่า ดูก่อนติสสะผู้ยินดียิ่ง ดูก่อนติสสะผู้ยินดียิ่ง...ด้วยโอวาทอันเรากล่าวแล้ว ด้วยการศึกษาอันเรากล่าวแล้ว. ด้วยอนุสาสนีอันเรากล่าวแล้ว ดังนี้ นี้ชื่อว่าอนุคคหมุขเทศนา.
               ก็เทวบุตรนี้มีมานะกระด้าง (มีความกระด้างด้วยการถือตัว) สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต.
               ได้ยินว่า เทวบุตรนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า เราย่อมรู้โอฆะ ย่อมรู้ซึ่งความที่พระตถาคตเจ้าทรงข้ามโอฆะได้แล้ว แต่ว่าเรายังไม่รู้ เหตุเพียงเท่านี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงข้ามโอฆะ ด้วยเหตุนี้ได้อย่างไรดังนี้ เราจักรู้อรรถอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบนั่นแหละ คำใดน้อยหรือมากที่เรายังไม่รู้ เราจักรู้คำนั้นอันพระผู้มีพระภาคตรัสบอกแล้วทีเดียว เพราะว่าคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างไรนั้น เรายังไม่ทราบ ดังนี้.
               ลำดับนั้น พระบรมศาสดาจึงตรัสปัญหาทำให้เป็นปัญหาซ่อนเร้น (คือเข้าใจยาก) ด้วยพระดำริว่า เทวบุตรนี้ยังไม่ละมานะนี้ ก็ไม่ควรเพื่อจะรับธรรมเทศนา เปรียบเหมือนผ้าที่ยังเศร้าหมอง (ยังไม่ซักให้สะอาด) ไม่ควรจะย้อมสี เราจักข่มมานะของเทวบุตรนี้ก่อน แล้วจักประกาศเนื้อความนั้นอีกแก่เธอโดยไม่มีจิตต่ำเช่นนี้ถามอยู่ ดังนี้.
               แม้เทวบุตรนั้นก็ได้เป็นผู้มีมานะอันพระองค์นำออกแล้ว และเทศนานั้น พึงทราบโดยคำถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไป เพราะความที่เธอเป็นผู้มีมานะอันพระองค์นำออกแล้วนั่นแหละ ทั้งเนื้อความนี้ก็ได้เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้ถามปัญหา.
               เทวบุตรทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ก็พระองค์ไม่พัก ไม่เพียร ข้ามโอฆะได้อย่างไรเล่า ข้าพระองค์จะทราบได้โดยประการใด ขอพระองค์จงตรัสบอกแก่ข้าพระองค์โดยประการนั้นเถิด ดังนี้.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสตอบปัญหาแก่เทวบุตรนั้น จึงตรัสว่า ยทา สฺวาหํ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยทา สฺวาหํ แก้เป็น ยสฺมึ กาเล อหํ (แปลว่าในกาลใดเรา).
               สุอักษรเป็นเพียงนิบาต. ก็สุอักษรในที่นี้ฉันใด ในบททั้งปวงก็ฉันนั้น.
               บทว่า สํสีทามิ ความว่า เมื่อเราไม่ข้ามก็จมอยู่ในที่นั้นนั่นแหละ.
               บทว่า นิพฺพุยฺหามิ ความว่า เมื่อเราไม่อาจเพื่อดำรงอยู่ ก็ย่อมเป็นไปล่วงปัญหาแม้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วอย่างนี้ว่า เราไม่พักไม่เพียรข้ามโอฆะได้แล้ว ดังนี้ แม้จะเป็นปัญหาอันเทวดาทราบแล้ว แต่ก็ไม่แจ่มแจ้ง เพราะเห็นโทษคือความไม่เข้าใจในเพราะการหยุดอยู่และในความพยายามเพื่อกระทำอรรถนั้นให้ปรากฏ ท่านจึงแสดงธรรมอันเป็นหมวดทุกะ ๗ หมวด.
               จริงอยู่ ว่าด้วยอำนาจกิเลส เมื่อบุคคลพักอยู่ ชื่อว่าย่อมจม. ว่าด้วยอำนาจอภิสังขาร เมื่อบุคคลเพียร ชื่อว่าย่อมลอย.
               อีกอย่างหนึ่ง ว่าด้วยตัณหาและทิฐิ เมื่อบุคคลพักอยู่ ชื่อว่าย่อมจม. ว่าด้วยอำนาจแห่งกิเลสที่เหลือและอภิสังขารทั้งหลาย เมื่อบุคคลเพียร ชื่อว่าย่อมลอย.
               อีกอย่างหนึ่ง ว่าด้วยอำนาจแห่งตัณหา เมื่อบุคคลพักอยู่ ชื่อว่าย่อมจม. ว่าด้วยอำนาจแห่งทิฐิ เมื่อบุคคลเพียร ชื่อว่าย่อมลอย.
               อีกอย่างหนึ่ง ว่าด้วยสัสสตทิฐิ เมื่อบุคคลพักอยู่ ชื่อว่าย่อมจม. ว่าด้วยอุจเฉททิฏฐิ เมื่อบุคคลเพียร ชื่อว่าย่อมลอย เพราะว่าภวทิฐิ ยึดมั่นในมานะอันเฉื่อยชา แต่วิภวทิฐิยึดมั่นในการแล่นเลยไป.
               อีกอย่างหนึ่ง ว่าด้วยอำนาจการติด (ลินะ) เมื่อพักอยู่ ชื่อว่าย่อมจม. ว่าด้วยอำนาจอุทธัจจะ เมื่อเพียร ชื่อว่าย่อมลอย.
               อนึ่ง ว่าด้วยกามสุขัลลิกานุโยค เมื่อบุคคลพักอยู่ ชื่อว่าย่อมจม. ว่าด้วยอัตตกิลมถานุโยค เมื่อเพียรชื่อว่าย่อมลอย.
               ว่าด้วยอำนาจแห่งอกุสลาภิสังขารทั้งหมด เมื่อบุคคลพักอยู่ ชื่อว่าย่อมจม. ว่าด้วยอำนาจแห่งกุสลาภิสังขารอันเป็นโลกีย์ทั้งหมด เมื่อบุคคลเพียร ชื่อว่าย่อมลอย.
               ข้อนี้สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
               เสยฺยถาปิ จุนฺท เยเกจิ อกุสลา ธมฺมา สพฺเพ เต อโธ ภาคํ คมนียา เยเกจิ กุสลา ธมฺมา สพฺเพ เต อุปริ ภาคํ คมนียา ดังนี้
               แปลว่า ดูก่อนจุนทะ อกุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ อกุศลธรรมทั้งหมดเหล่านั้นพึงส่งไปในเบื้องต่ำ กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ กุศลธรรมทั้งหมดเหล่านั้นพึงส่งไปในเบื้องบน.
               เทวดาฟังวิสัชนาปัญหานี้แล้วดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล เป็นผู้ยินดีแล้ว เลื่อมใสแล้ว ประกาศอยู่ซึ่งความยินดีและความเสื่อมใสของตนแล้ว จึงกล่าวคำเป็นคาถาว่า จิรสฺสํ วต เป็นต้น แปลว่า นานหนอ ข้าพเจ้าจึงจะเห็นขีณาสวพราหมณ์ผู้ดับรอบแล้ว ไม่พักไม่เพียรอยู่ ข้ามตัณหาเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในโลก.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จิรสฺสํ ความว่า โดยกาลอันล่วงไปแห่งกาลนาน.
               ได้ยินว่า เทวดานี้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ จำเดิมแต่พระองค์ปรินิพพานแล้ว ยังไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นในระหว่างกาลอันยาวนานนี้ เพราะฉะนั้น ครั้นเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าในวันนี้ จึงได้กราบทูลอย่างนี้.
               ถามว่า ก็ในกาลก่อนแต่กาลนี้ เทวดาองค์นี้ไม่เคยเห็นพระบรมศาสดา หรือ?.
               ตอบว่า เห็นหรือไม่เห็นจงยกไว้ เพราะอาศัยทัสสนะ (คือบรรลุโสดาปัตติมรรค) ก็สมควรจะกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า พฺราหฺมณํ ได้แก่ ขีณาสวพราหมณ์ผู้มีบาปอันปิดกั้นแล้ว.
               บทว่า ปรินิพฺพุตํ ได้แก่ ผู้ดับรอบแล้วด้วยการดับซึ่งกิเลส.
               บทว่า โลเก ได้แก่ ในสัตวโลก.
               ในบทว่า วิสตฺติกํ นี้ ตัณหา ท่านเรียกว่าเครื่องเกาะเกี่ยว เพราะเหตุที่มีการพัวพันและความอยากในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปารมณ์เป็นต้น.
               อธิบายว่า เทวดากราบทูลว่า นานหนอ ข้าพระองค์จึงจะเห็นขีณาสวพราหมณ์ผู้ไม่พักไม่เพียรอยู่ ผู้ข้ามได้แล้ว ผ่านพ้นไปแล้ว คือรื้อถอนออกแล้วซึ่งตัณหาอันเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวนั้น ดังนี้.
               บทว่า สมนุญฺโญ สตฺถา อโหสิ ความว่า พระศาสดาทรงชื่นชมถ้อยคำของเทวดาผู้มีอัชฌาศัยอันแน่วแน่ ด้วยพระทัยเท่านั้น.
               บทว่า อนฺตรธายิ ความว่า เทวดานั้นละกายอันตนตกแต่งแล้วดำรงอยู่ในกายอันเป็นอุปาทินนกะตามปกติของตน เพราะมีความหวังอันสำเร็จแล้ว มีที่พึ่งอันได้แล้ว ได้บูชาพระทศพล ด้วยของหอมทั้งหลายและพวงดอกไม้ทั้งหลาย แล้วกลับไปสู่พิภพของตน ดังนี้แล.

               จบอรรถกถาโอฆตรณสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวตาสังยุต นฬวรรคที่ ๑ โอฆตรณสูตรที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 15 / 4อ่านอรรถกถา 15 / 956
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=1&Z=29
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๔  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :