ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 836อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 838อ่านอรรถกถา 15 / 847อ่านอรรถกถา 15 / 956
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ยักขสังยุต
อาฬวกสูตรที่ ๑๒

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               อาฬวกยักษ์จึงทูลถามปัญหา ๔ ข้อเหล่านี้ ด้วยคาถานี้อย่างนี้ว่า
                         อะไรเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐของคนในโลกนี้
                         อะไรที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้
                         อะไรเป็นรสอันเลิศกว่ารสทั้งหลาย
                         นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตของผู้เป็นอยู่อย่างไรว่า ประเสริฐสุด.
               ลำดับนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงวิสัชนา ตามนัยที่พระกัสสปทศพลทรงวิสัชนาแก่เขา จึงตรัสคาถานี้ว่า สทฺธีธ วิตฺตํ เป็นต้น.
               พึงทราบคำว่า ทรัพย์เครื่องปลื้มใจในคาถานั้น ทรัพย์เครื่องปลื้มใจมีเงินทองเป็นต้น ย่อมนำมาซึ่งความสุขในการใช้สอย ย่อมป้องกันความทุกข์ที่เกิดจากความหิวกระหายเป็นต้น ย่อมระงับความยากจน ย่อมเป็นเหตุให้ได้แก้วมีมุกดาเป็นต้น และย่อมนำมาซึ่งความสืบต่อแห่งโลกฉันใด แม้ศรัทธาทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ ย่อมนำมาซึ่งวิบากสุขทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตรตามที่เกิดขึ้น ย่อมป้องกันทุกข์มีชาติและชราเป็นต้นของผู้ปฏิบัติตามหน้าที่ศรัทธา ย่อมระงับความยากจนแห่งคุณ และเป็นเหตุให้ได้แก้วมีสติสัมโพชฌงค์เป็นต้นฉันนั้น.
               ศรัทธา ท่านกล่าวว่าเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจ เพราะจัดว่าย่อมนำมาซึ่งความสืบต่อแห่งโลก ตามพระพุทธพจน์ว่า
                         ผู้มีศรัทธาถึงพร้อมด้วยศีล เอิบอิ่มด้วยยศ
                         และโภคะไปสู่ถิ่นใดๆ เขาบูชาในถิ่นนั้นๆ.

               ก็เพราะทรัพย์เครื่องปลื้มใจคือศรัทธานี้ เป็นเครื่องติดตามไป ไม่ทั่วไปแก่คนอื่น เป็นเหตุแห่งสมบัติทั้งปวง เป็นเค้ามูลแห่งทรัพย์เครื่องปลื้มใจ มีเงินและทองเป็นต้นที่เป็นโลกิยะ.
               จริงอยู่ ผู้มีศรัทธา ทำบุญมีทานเป็นต้น ย่อมได้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ. ส่วนผู้ไม่มีศรัทธา ก็มีจิตใจเพียงเพื่อสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์เท่านั้น เพราะฉะนั้น ทรัพย์เครื่องปลื้มใจคือศรัทธา ท่านจึงกล่าวว่าประเสริฐ.
               บทว่า ปุริสสฺส คือ แสดงข้อกำหนดอย่างอุกฤษฏ์. เพราะฉะนั้น ทรัพย์เครื่องปลื้มใจคือศรัทธา แม้ของหญิงเป็นต้น ก็พึงทราบว่าประเสริฐ ไม่ใช่ของบุรุษฝ่ายเดียวเท่านั้น.
               บทว่า ธมฺโม คือ กุศลธรรม ๑๐ หรือธรรมมีทานและศีลเป็นต้น.
               บทว่า สุจิณฺโณ ได้แก่ กระทำดีแล้ว คือประพฤติดีแล้ว.
               บทว่า สุขมาวหาติ ความว่า นำมาซึ่งความสุขของมนุษย์เช่นความสุขของโสณเศรษฐีบุตร และพระรัฐบาลเป็นต้น ซึ่งความสุขทิพย์ เช่นความสุขของท้าวสักกะเป็นต้น และนิพพานสุข เช่นความสุขของพระมหาปทุมเป็นต้นในปริโยสาน.
               สัจจะศัพท์นี้ ในบทว่า สจฺจํ ย่อมปรากฏในหลายอรรถ กล่าวคือปรากฏในวาจาสัจจะ ในบทเป็นต้นว่า๑- พึงกล่าวคำสัจ ไม่พึงโกรธดังนี้.
               ปรากฏในวิรัติสัจจะ ในบทเป็นต้นว่า๒- สมณพราหมณ์ตั้งอยู่ในความสัจดังนี้.
               ปรากฏในทิฏฐิสัจจะ ในบทเป็นต้นว่า๓- เพราะเหตุไร คนทั้งหลายจึงกล่าวสัจจะต่างๆ กัน ผู้ตั้งอยู่ในความดี ย่อมขัดแย้งกันดังนี้.
               ปรากฏในพราหมณสัจจะ ในบทว่า๔- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พราหมณสัจจะมี ๔ อย่างนี้.
               ปรากฏในปรมัตถสัจจะ ในบทเป็นต้นว่า๕- ก็สัจจะมีอย่างเดียว ไม่มีที่ ๒ ดังนี้.
               ปรากฏในอริยสัจจะ ในบทเป็นต้นว่า๖- สัจจะ ๔ มีกุศลเท่าไร.
____________________________
๑- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๗
๒- ขุ. ชา. เล่ม ๒๘/ข้อ ๓๕๘
๓- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๔๑๙
๔- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๑๘๕
๕- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๔๑๙
๖- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๕๕๑

               แต่ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาวาจาสัจจะ ทำปรมัตถสัจจะให้เป็นนิพพาน และทำวิรัติสัจจะให้เป็นภายใน. สมณพราหมณ์ย่อมยังน้ำเป็นต้น ให้เป็นไปในอำนาจด้วยอานุภาพแห่งสัจจะใด ย่อมข้ามฝั่งแห่งชาติชราและมรณะได้.
               เหมือนสัจจะ (นั้น) ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๗-
                    เขากั้นน้ำด้วยคำสัจ บัณฑิตย่อมกำจัดแม้พิษได้ด้วยสัจจะ
                    ฝนฟ้าคะนองตกลงด้วยสัจจะ สมณพราหมณ์ ผู้ตั้งอยู่ใน
                    สัจจะย่อมปรารถนาความสงบ รสอย่างใดอย่างหนึ่งเหล่า
                    นี้มีอยู่ในแผ่นดิน สัจจะดีกว่ารสเหล่านั้น สมณพราหมณ์
                    ผู้ตั้งอยู่ในสัจจะ ย่อมข้ามฝั่งแห่งชาติชราและมรณะได้.
____________________________
๗- ขุ. ชา. เล่ม ๒๘/ข้อ ๓๕๘

               บทว่า สาธุตรํ ความว่า ดีกว่า ไพเราะกว่า ประณีตกว่า.
               บทว่า รสานํ ความว่า รสเหล่านี้ใดมีลักษณะซึมซาบ โดยนัยเป็นต้นว่า รสที่เกิดจากราก รสที่เกิดจากต้น.
               ธรรมมีการอยู่ด้วยกำจัดกิเลส เว้นโทษ และพยัญชนะที่เหลือเป็นต้นเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ท่านเรียกว่า ธรรมรส โดยนัยเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรสผลไม้ทั้งปวง.
               พระโคดมผู้เจริญ มีรูปไม่เป็นรส
               ดูก่อนพราหมณ์ รสแห่งรูป รสแห่งเสียงเหล่าใดแล
               ไม่เป็นอาบัติในเพราะรสแห่งรส.
               ธรรมวินัยนี้ มีรสอย่างเดียวกัน มีวิมุตติเป็นรส. พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้มีส่วนแห่งอรรถรส แห่งธรรมรส แห่งรสเหล่านั้น. คำสัจนั่นแลดีกว่า คือความสัจเท่านั้น ดีกว่า. หรือว่า บทว่า สาธุตรํ แปลว่า ประเสริฐกว่า ยิ่งกว่า.
               จริงอยู่ รสแห่งรากเป็นต้น ย่อมยังร่างกายให้เติบโต ชื่อว่านำมาซึ่งความสุขอันประกอบด้วยสังกิเลส. รสแห่งสัจจะคือรสแห่งวิรัติสัจจะและวาจาสัจจะ ย่อมเพิ่มพูนจิตด้วยสมถะและวิปัสสนาเป็นต้น ชื่อว่านำมาซึ่งความสุขอันไม่ประกอบด้วยสังกิเลส. วิมุตติรส ชื่อว่าดี เพราะมีรสคือปรมัตถสัจจะอบรมแล้ว. อรรถรสและธรรมรสก็เหมือนกัน เพราะอาศัยอรรถและธรรมที่เป็นอุบายบรรลุวิมุตติรสนั้น ย่อมเป็นไป.
               ก็ในบทว่า ปญฺญาชีวึ นี้ พึงทราบความอย่างนี้ว่า
               ในบรรดาผู้มีจักษุบอดข้างเดียวและมีจักษุสองข้าง บุคคลผู้มีจักษุสองข้างนี้นั้นที่เป็นคฤหัสถ์ บำเพ็ญข้อปฏิบัติของคฤหัสถ์ มีการขยันทำการงานถึงสรณะแจกทานสมาทานศีลและรักษาอุโบสถเป็นต้น หรือเป็นบรรพชิตบำเพ็ญข้อปฏิบัติของบรรพชิต กล่าวคือศีลที่ไม่ให้เดือดร้อน ต่างด้วยจิตตวิสุทธิที่ยิ่งกว่านั้นเป็นต้น ด้วยปัญญาเป็นอยู่ ท่านกล่าวชีวิตของผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญานั้น คือ ท่านกล่าวชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญานั้นว่าประเสริฐที่สุด.
               ยักษ์ได้ฟังปัญหาทั้ง ๔ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงวิสัชนาอย่างนี้แล้ว ก็พอใจ เมื่อจะถามปัญหาที่ยังเหลืออีก ๔ ข้อ จึงกล่าวคาถาว่า กถํสุ ตรติ โอฆํ ดังนี้ (คนจะข้ามโอฆะได้อย่างไร) เป็นต้น.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงวิสัชนาโดยนัยก่อนจึงตรัสคาถาว่า สทฺธาย ตรติ เป็นต้น (คนจะข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา).
               ในข้อนั้นผู้ใดข้ามโอฆะ ๔ อย่างได้ ผู้นั้นย่อมข้ามห้วงสงสารก็ได้ ล่วงพ้นวัฏทุกข์ก็ได้ ย่อมหมดจดจากมลทินคือกิเลสก็ได้ ก็จริง แต่เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้ไม่มีศรัทธา เมื่อไม่เชื่อก็แล่นไปสู่ที่ข้ามโอฆะไม่ได้. ผู้ประมาทแล้วด้วยการปล่อยใจไปในกามคุณ ๕ ก็ข้ามห้วงสงสารไม่ได้ เพราะติดอยู่ในกามคุณนั้น. ผู้เกียจคร้านคลุกเคล้าด้วยอกุศลธรรม ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ผู้ไม่มีปัญญา ไม่รู้ทางบริสุทธิ์ ย่อมไม่บริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงแสดงข้อความที่เป็นปฏิปักษ์นั้น จึงตรัสคาถานี้.
               ก็เมื่อตรัสคาถานี้อย่างนี้แล้ว เพราะสัทธินทรีย์เป็นปทัฏฐานแห่งโสดาปัตติยังคะ ฉะนั้น จึงทรงประกาศโสดาปัตติมรรคอันเป็นเครื่องข้ามโอฆะคือทิฏฐิ และโสดาบัน ด้วยบทนี้ว่า สทฺธาย ตรติ โอฆํ (คนข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา). ก็เพราะพระโสดาบันประกอบด้วยความไม่ประมาท กล่าวคือการกระทำที่ติดต่อกันด้วยการเจริญกุศลธรรม บำเพ็ญมรรคที่ ๒ เว้นมรรคที่จะมาสู่โลกนี้เพียงครั้งเดียว ย่อมข้ามห้วงสงสารอันเป็นที่ตั้งแห่งภโวฆะที่เหลือยังข้ามไม่ได้ด้วยโสดาปัตติมรรค ฉะนั้น จึงทรงประกาศสกทาคามิมรรคอันเป็นเครื่องข้ามภโวฆะและพระสกทาคามี ด้วยบทนี้ว่า อปฺปมาเทน อณฺณวํ (บุคคลย่อมข้ามอรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท ดังนี้. และเพราะพระสกทาคามีบำเพ็ญมรรคที่ ๓ ด้วยความเพียร ย่อมล่วงกามทุกข์อันเป็นที่ตั้งแห่งกาโมฆะและกำหนดว่าเป็นกาโมฆะที่ไม่ล่วงแล้วด้วยสกทาคามิมรรค ฉะนั้น จึงทรงประกาศอนาคามิมรรคอันเป็นเครื่องข้ามกาโมฆะและพระอนาคามีด้วยบทนี้ว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ (บุคคลย่อมล่วงความทุกข์ได้ด้วยความเพียรดังนี้). แต่เพราะพระอนาคามีบำเพ็ญปัญญาแห่งมรรคที่ ๔ อันบริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ด้วยปัญญาอันบริสุทธิ์ ปราศจากเปือกตมคือกาม ละมลทินอย่างยิ่ง กล่าวคืออวิชชาที่ยังละไม่ได้ด้วยอนาคามิมรรค ฉะนั้น จึงทรงประกาศอรหัตมรรคและความเป็นพระอรหันต์อันเป็นเครื่องข้ามอวิชชา ด้วยบทนี้ว่า ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ (บุคคลย่อมบริสุทธิ์ด้วยปัญญา) ดังนี้.
               ก็แลในที่สุดแห่งคาถาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยธรรมมีพระอรหัตเป็นยอดนี้ ยักษ์ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.
               บัดนี้ ยักษ์ถือเอาบทว่า ปัญญา ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในบทนี้ว่า ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ นั้น เมื่อจะถามปัญหาที่เจือด้วยโลกุตระด้วยปฏิภาณของตน จึงทูลถามคาถา ๖ บทนี้ว่า กถํสุ ลภเต ปญฺญํ (บุคคลย่อมได้ปัญญาอย่างไรเล่า) เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า กถํสุ เป็นคำถามที่ไม่ยุติในที่ทั้งปวง.
               จริงอยู่ ยักษ์นี้รู้อรรถมีปัญญาเป็นต้นแล้ว จึงถามยุติแห่งอรรถนั้นว่า บุคคลย่อมได้ปัญญาอย่างไร คือด้วยยุติอะไร ด้วยเหตุไร.
               ในทรัพย์เป็นต้น ก็มีนัยนี้แล.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงการได้ปัญญาด้วยเหตุ ๔ อย่างแก่ยักษ์นั้น จึงตรัสคำว่า สทฺทหาโน เป็นต้น.
               พึงทราบเนื้อความแห่งธรรมนั้น (ดังต่อไปนี้)
               พระอรหันต์ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวกของพระพุทธเจ้าถึงนิพพานด้วยธรรมอันต่างด้วยกายสุจริตเป็นต้นในเบื้องต้น และต่างด้วยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการในเบื้องปลายอันใด บุคคลเชื่อธรรมของพระอรหันต์นั้น จึงได้ปัญญาทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระเพื่อบรรลุพระนิพพาน.
               ก็แลการได้นั้น ย่อมไม่ได้ด้วยธรรมเพียงศรัทธาเท่านั้น. ก็เพราะบุคคลเกิดศรัทธาแล้วก็เข้าไปหา เมื่อเข้าไปหาก็เข้าไปนั่งใกล้ เมื่อเข้าไปนั่งใกล้ย่อมเงี่ยหู เงี่ยหูแล้ว ย่อมฟังธรรม ฉะนั้น จำเดิมแต่เข้าไปหา จนถึงการฟังธรรม ฟังด้วยดีย่อมได้ (ปัญญา).
               ท่านกล่าวไว้อย่างไร.
               ท่านกล่าวไว้ว่า แม้เขาเชื่อธรรมนั้นแล้ว เข้าไปหาอาจารย์อุปัชฌาย์ตามกาลเวลา เข้าไปนั่งใกล้ไหว้ด้วยการกระทำวัตรปฏิบัติ เมื่อใดมีจิตใจยินดีในการเข้าไปนั่งใกล้ย่อมเป็นผู้ใคร่จะกล่าวอะไรๆ เมื่อนั้น เขาเงี่ยหูฟังเพราะความเป็นผู้ใคร่ฟังย่อมได้ (ปัญญา).
               ก็แล แม้เมื่อเขาตั้งใจฟังอย่างนี้ ไม่ประมาทโดยไม่อยู่ปราศจากสติ เป็นผู้พิจารณาด้วยความเป็นผู้รู้คำสุภาษิตและทุพภาษิตก็ย่อมได้ (ปัญญา) เหมือนกัน. ไม่ใช่คนนอกนี้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เป็นผู้ไม่ประมาท เป็นผู้พิจารณาดังนี้. เพราะเขาปฏิบัติตามข้อปฏิบัติอันเป็นไปเพื่อได้ปัญญาด้วยศรัทธา ฟังอุบายเป็นเครื่องเข้าถึงปัญญาด้วยการตั้งใจฟัง คือด้วยความเคารพ ไม่หลงลืมข้อที่รับไว้แล้วด้วยความไม่ประมาท ถือเอาไม่ยิ่งไม่หย่อนและความไม่ผิดทำให้พิสดารด้วยความเป็นผู้พิจารณา หรือเป็นผู้เงี่ยหูลงด้วยความตั้งใจฟังแล้ว ฟังธรรมอันเป็นเหตุได้ปัญญา ครั้นฟังด้วยความไม่ประมาทแล้วทรงจำธรรม ใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้แล้วด้วยความพิจารณา ทำปรมัตถสัจจะให้แจ้งโดยลำดับ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าถูกถามว่า กถํสุ ลภเต ปญฺญํ (บุคคลจะได้ปัญญาอย่างไรเล่า).
               เมื่อจะทรงแสดงเหตุ ๔ อย่างนี้แก่อาฬวกยักษ์นั้น จึงตรัสคาถานี้ว่า สทฺทหาโน ฯลฯ วิจกฺขโณ ดังนี้.
               บัดนี้ เมื่อจะทรงวิสัชนาปัญหา ๓ ข้ออื่นจากนั้น จึงตรัสคาถานี้ว่า ปฏิรูปการี เป็นต้น. ในคาถานั้น บุคคลใดไม่ทำเทศะและกาละเป็นต้นให้เสียหาย ทำการงานให้เหมาะสม คือให้เป็นอุบายที่จะได้ทรัพย์อันเป็นโลกิยะหรือโลกุตระ เหตุนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่า ปฏิรูปการี (ผู้ทำการงานให้เหมาะเจาะ).
               บทว่า ธุรวา คือ ไม่ทอดธุระด้วยอำนาจความเพียรทางใจ.
               บทว่า อุฏฺฐาตา ความว่า ประกอบด้วยความขยันด้วยอำนาจความเพียรทางกาย มีความบากบั่นไม่ย่อหย่อนโดยนัยเป็นต้นว่า ก็ผู้ใดไม่สำคัญความเย็นและความร้อนให้ยิ่งไปกว่าหญ้า.
               บทว่า วินฺทเต ธนํ ความว่า บุคคลย่อมได้โลกิยทรัพย์เหมือนลูกน้องของจุลลกเศรษฐีได้ทรัพย์ ๔ แสนโดยไม่ช้าด้วยหนูตัวเดียว และได้โลกุตรทรัพย์ เหมือนพระมหาติสสเถระผู้เฒ่า.
               เขาคิดว่า เราจักอยู่ด้วยอิริยาบถ ๓ อย่างเท่านั้น ดังนี้แล้วทำวัตรปฏิบัติ ในเวลาง่วงนอนก็เอาใบไม้ชุบน้ำวางไว้บนศีรษะ ลงน้ำประมาณคอป้องกันความง่วงนอน บรรลุพระอรหัตโดยพรรษา ๑๐.
               บทว่า สจฺเจน ความว่า บุคคลย่อมได้รับชื่อเสียงอย่างนี้ว่า เป็นผู้กล่าวคำสัตย์ กล่าวคำจริงด้วยวจีสัจจะบ้าง ว่าพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอริยสาวกด้วยปรมัตถสัจจะบ้าง.
               บทว่า ททํ ความว่า ผู้ให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เขาต้องการปรารถนา ย่อมผูก ย่อมเพิ่มพูน ย่อมกระทำไมตรีได้. หรือว่าผู้ให้ของไม่ดี ก็ย่อมได้ของไม่ดี. หรือว่าสังคหวัตถุ ๔ พึงทราบว่า ท่านก็จัดเอาทานเป็นหัวหน้า. ท่านกล่าวไว้ว่า บุคคลย่อมทำไมตรีด้วยสังคหวัตถุ ๔ นั้น.
               ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงวิสัชนาปัญหา ๔ ข้อโดยนัยที่เจือโลกิยะและโลกุตระปะปนกันทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตอย่างนี้แล้ว บัดนี้ จะทรงวิสัชนาปัญหาที่ ๕ นี้ว่า กถํ เปจฺจ น โสจติ (บุคคลตายไปแล้วจะไม่เศร้าโศกอย่างไร) ด้วยอำนาจคฤหัสถ์ จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ยสฺเสเต ดังนี้.
               พึงทราบเนื้อความแห่งข้อนั้น (ดังนี้)
               คฤหัสถ์ผู้บริโภคกามมีศรัทธา เพราะประกอบด้วยศรัทธาที่ก่อให้เกิดกัลยาณธรรมทั้งปวง ที่ตรัสไว้ในบทนี้ว่า สทฺทหาโน อรหตํ (เชื่อธรรมของอรหันต์) เป็นผู้แสวงหาการครองเรือน หรือกามคุณทั้ง ๕ ในคำนี้ว่า สทฺธสฺส ฆรเมสิโน (ผู้ครองเรือน) มีธรรม ๔ อย่างนี้ คือสัจจะอย่างที่ตรัสไว้แล้วในบทนี้ว่า สจฺเจน กิตฺตึ ปปฺโปติ (บุคคลย่อมได้รับชื่อเสียงด้วยคำสัตย์) ธรรมดังที่ตรัสไว้แล้วด้วยชื่อแห่งปัญญา ที่ได้ด้วยการตั้งใจฟังในบทนี้ว่า สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ (ผู้ตั้งใจฟังย่อมได้ซึ่งปัญญา) ธิติที่ตรัสไว้แล้วด้วยชื่อว่าธุระและด้วยชื่อว่าขยัน ในบทนี้ว่า ธุรวา อุฏฺฐาตา (มีธุระ ขยัน) และจาคะอย่างที่ตรัสไว้แล้วในบทนี้ว่า ททํ มิตฺตานิ คนฺถติ (ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้).
               บทว่า ส เว เปจฺจ น โสจติ ความว่า เขาละไปสู่โลกนี้และโลกอื่น ย่อมไม่เศร้าโศก.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงวิสัชนาปัญหาที่ ๕ อย่างนี้แล้วจะเตือนยักษ์นั้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า อิงฺฆ อญฺเญปิ (เชิญถาม) ธรรมแม้อย่างอื่น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อิงฺฆ เป็นนิบาตในอรรถแห่งคำเตือน.
               บทว่า อญฺเญปิ ความว่า จงถามธรรมแม้อย่างอื่นกะสมณพราหมณ์เป็นอันมาก. หรือว่าจงถามสมณพราหมณ์เป็นอันมากที่ปฏิญญาตนว่าเป็นสัพพัญญู มีปูรณกัสสปเป็นต้นแม้เหล่าอื่น. หรือว่าหากจะมีเหตุที่ได้รับชื่อเสียงยิ่งไปกว่าสัจจะอย่างที่เรากล่าวไว้แล้วในบทนี้ว่า สจฺเจน กิตฺตึ ปปฺโปติ (บุคคลย่อมได้รับชื่อเสียงด้วยคำสัตย์). หรือว่ายังมีเหตุได้โลกิยปัญญาและโลกุตรปัญญายิ่งกว่าทมะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยอ้างถึงปัญญาว่า สุสฺสูสา
               ในบทว่า สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ (ผู้ตั้งใจฟังย่อมได้ปัญญา). หรือว่าเหตุเป็นเครื่องผูกไมตรียิ่งกว่าจาคะ อย่างที่ตรัสไว้แล้วในบทนี้ว่า ททํ มิตฺตานิ คนฺถติ (ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้). หรือว่าเหตุที่เป็นเครื่องได้โลกิยะทรัพย์และโลกุตรทรัพย์ยิ่งกว่าขันติ กล่าวคือความเพียรที่ถึงความพากเพียร โดยอรรถว่านำของหนักหน่วงไป ตามที่ทรงอาศัยอำนาจแห่งเหตุนั้นๆ ตรัสไว้ด้วยชื่อว่า ธุระและด้วยความขยัน ในบทนี้ว่า ธุรวา อุฏฺฐาตา. หรือว่าเหตุที่ไม่เศร้าโศก เพราะละจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่นยิ่งกว่าธรรม ๔ อย่างนี้ ที่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า สจฺจํ ธมฺโม ธิติ จาโค นี้เป็นพรรณนาความพร้อมกับการเชื่อมความโดยย่อในบทนี้ว่า อิธ วิชฺชติ ดังนี้ (มีอยู่ในโลกนี้) แต่พึงแยกบทหนึ่งๆ โดยนัยที่ยกอรรถ ยกบทและพรรณนาบทแล้วทราบการพรรณนาอรรถโดยพิสดาร.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ยักษ์จะพึงถามสมณพราหมณ์อื่นด้วยความสงสัยใด เพราะเป็นผู้ละความสงสัยนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า บัดนี้ ข้าพระองค์จะพึงถามสมณพราหมณ์เป็นอันมากอย่างไรเล่า ดังนี้ เมื่อจะให้คนที่ยังไม่รู้เหตุที่ไม่ถามให้รู้ จึงกล่าวว่า โยหํ อชฺช ปชานามิ โย อตฺโถ สมฺปรายิโก ดังนี้ (วันนี้เราได้รู้อยู่ว่า ประโยชน์ใดมีอยู่ในสัมปรายภพ).
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อชฺช อธิบายว่า กำหนดเวลามีในวันนี้เป็นต้น.
               บทว่า ปชานามิ คือ รู้โดยประการตามที่ตรัสแล้ว.
               บทว่า โย อตฺโถ ความว่า ทรงแสดงข้อปฏิบัติในปัจจุบันที่ตรัสไว้แล้วโดยนัยว่า สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ (ผู้ตั้งใจฟังย่อมได้ปัญญา) ด้วยคำมีประมาณเท่านี้. ทรงแสดงข้อปฏิบัติในโลกหน้า ซึ่งกระทำการละไปแล้ว ไม่มีความเศร้าโศก ซึ่งตรัสไว้แล้วว่า ยสฺเสเต จตุโร ธมฺมา (ผู้ใดมีธรรม ๔ อย่างนี้) ด้วยบทว่า สมฺปรายิโก ดังนี้.
               ก็บทว่า อตฺโถ นี้เป็นชื่อของเหตุ.
               จริงอยู่ ศัพท์ว่า อตฺถ นี้ ย่อมเป็นไปในอรรถแห่งปาฐะ ในบททั้งหลายเป็นต้นอย่างนี้ว่า๘- สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ (พร้อมด้วยอรรถ พร้อมด้วยพยัญชนะ).
               เป็นไปในความต้องการในบทเป็นต้นว่า๙- อตฺโถ เม คหปติ หิรญฺญสุวณฺเณน ดูก่อนคฤหบดี เราต้องการเงินและทอง.
               เป็นไปในความเจริญในบทเป็นต้นว่า๑๐- โหติ สีลวตํ อตฺโถ (ความเจริญย่อมมีแก่ผู้มีศีล).
               เป็นไปในทรัพย์ ในบทเป็นต้นว่า๑๑- พหุชโน ภชฺชเต อตฺถเหตุ (คนเป็นอันมากแตกกันเพราะทรัพย์).
               เป็นไปในประโยชน์เกื้อกูล ในบทเป็นต้นว่า๑๒- อุภินฺนมตฺถํ จรติ (ย่อมประพฤติประโยชน์แก่โลกทั้งสอง).
               เป็นไปในเหตุในบทเป็นต้นว่า๑๓- อตฺเถ ชาเต จ ปณฺฑิตํ (ก็เมื่อเหตุเกิดขึ้นย่อมต้องการบัณฑิต).
____________________________
๘- วิ. มหาวิ. เล่ม ๑/ข้อ ๑   ๙- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๑๖๙
๑๐- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๑๑   ๑๑- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๒๐๙๐
๑๒- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๖๓๓   ๑๓- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๙๒

               ก็แลศัพท์ว่า อตฺถ ในที่นี้ เป็นไปในเหตุ. เพราะฉะนั้น เหตุแห่งการได้ปัญญาเป็นต้นที่เป็นไปในปัจจุบันอันใด และเหตุแห่งความละไปแล้วไม่มีความเศร้าโศกเป็นไปในสัมปรายภพอันใด เราย่อมรู้เหตุนั้นเองตามนัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วในวันนี้ บัดนี้ เรานั้นจะพึงถามสมณพราหมณ์เป็นอันมากอย่างไรเล่า ดังนี้ พึงทราบเนื้อความโดยสังเขปในข้อนี้อย่างนี้.
               ยักษ์จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ปชานามิ โย อตฺโถ สมฺปรายิโก (เหตุใดที่มีในสัมปรายภพเรารู้) เมื่อจะแสดงความที่ญาณนั้นเป็นเค้ามูลของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงกล่าวว่า อตฺถาย วต เม พุทฺโธ (พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับ ณ เมืองอาฬวีเพื่อความประโยชน์แก่เรา).
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อตฺถาย คือ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล หรือเพื่อความเจริญ.
               บทว่า ยตฺถ ทินฺนํ มหปฺผลํ ความว่า ทานที่ให้ในพระพุทธเจ้าพระองค์ใดมีผลมาก เรารู้จักพระพุทธเจ้าผู้เป็นยอดทักขิไณยบุคคลพระองค์นั้น ด้วยจาคะที่ตรัสไว้ในบทว่า ยสฺเสเต จตุโร ธมฺมา (ผู้ใดมีธรรม ๔ อย่างนี้). แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ทรงหมายเอาพระสงฆ์จึงตรัสอย่างนี้.
               ครั้นยักษ์แสดงการบรรลุประโยชน์แก่ตนด้วยคาถานี้อย่างนี้แล้ว บัดนี้จะแสดงข้อปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า เรานั้นจักท่องเที่ยวไป.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า คามา คามํ ความว่า จากเทวคามสู่เทวคาม จากเทวนครสู่เทวนคร.
               บทว่า นมสฺสมาโน สมฺพุทฺธํ ธมฺมทฺสฺส จ สุธมฺมตํ ความว่า ซึ่งความตรัสรู้ดีของพระพุทธเจ้าและซึ่งความเป็นธรรมดีแห่งพระธรรม โดยนัยเป็นต้นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เองหนอ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว.
               ด้วยอำนาจ ศัพท์ก็เป็นอันกล่าวว่า ข้าพเจ้าจักเที่ยวชมเชยแล้วๆ ซึ่งความปฏิบัติดีของพระสงฆ์ นมัสการประกาศธรรมด้วยบทเป็นต้นว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติดีแล้วหนอ ดังนี้.
               การสิ้นสุดแห่งคาถานี้ การแจ้งสว่างแห่งราตรี การส่งเสียงสาธุการ การนำอาฬวกกุมารมายังที่อยู่ของยักษ์ ได้มีในขณะเดียวกันด้วยประการฉะนี้.
               พวกราชบุรุษได้ยินเสียงสาธุการแล้ว นึกว่า เสียงสาธุการเห็นปานนี้ ย่อมไม่บันลือลั่นแก่คนเหล่าอื่น เว้นพระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแล้วหนอ ได้เห็นรัศมีพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ยืนอยู่ข้างนอกเหมือนก่อน หมดความสงสัย หลบเข้าไปอยู่ข้างใน เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งอยู่ในที่อยู่ของยักษ์และเห็นยักษ์ยืนประคองอัญชลีอยู่ จึงกล่าวกะยักษ์ว่า ดูก่อนมหายักษ์ พระราชกุมารนี้เขานำมาเพื่อพลีกรรมแก่ท่าน เชิญท่านจงเคี้ยวกิน หรือเชิญกินเขาหรือทำตามต้องการเถิด.
               ยักษ์นั้นละอายเพราะความเป็นพระโสดาบัน และเมื่อถูกเขากล่าวอย่างนี้ต่อพระพักตร์พระผู้มีภาคเจ้าด้วยคำแปลกประหลาด จึงเอามือทั้งสองประคองพระกุมารนั้นน้อมเข้าไปหาพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุมารนี้เขาส่งมาให้ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ขอถวายกุมารนี้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดรับเด็กนี้ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อประโยชน์สุขแก่เด็กนี้เถิด พระเจ้าข้า.
               ก็แลยักษ์นั้นกล่าวคาถานี้ว่า
                         ข้าพระองค์เต็มใจยินดีถวายกุมารนี้ผู้มีลักษณะ
                         บุญตั้งร้อยทั่วสรรพางค์กาย มีทรวดทรงบริบูรณ์
                         แด่พระองค์ ขอพระองค์ผู้มีจักษุโปรดรับไว้เพื่อ
                         เกื้อกูลแก่ชาวโลกเถิด.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับกุมารไว้แล้ว.
               ก็แล เมื่อจะทรงรับก็กล่าวคาถาหย่อนบาท เพื่อทำมงคลแก่ยักษ์และแก่กุมาร. ยักษ์ยังกุมารนั้นให้ถึงพระองค์เป็นสรณะให้บริบูรณ์ด้วยบาทที่ ๔ ถึง ๓ ครั้ง คือ
                         กุมารนี้จงมีอายุยืน ดูก่อนยักษ์ เธอจงเป็นผู้เจริญและ
                         มีความสุข จงเป็นผู้ไม่เจ็บไข้ ดำรงอยู่เพื่อเกื้อกูลแก่
                         ชาวโลก กุมารนี้เข้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ.
                         กุมารนี้จงมีอายุยืน ดูก่อนยักษ์ เธอจงเป็นผู้เจริญและ
                         มีความสุข จงเป็นผู้ไม่เจ็บไข้ ดำรงอยู่เพื่อเกื้อกูลแก่
                         ชาวโลก กุมารนี้ เข้าถึงพระธรรมเป็นสรณะ.
                         กุมารนี้จงมีอายุยืน ดูก่อนยักษ์ เธอจงเป็นผู้เจริญและ
                         มีความสุข จงเป็นผู้ไม่เจ็บไข้ ดำรงอยู่เพื่อเกื้อกูลแก่
                         ชาวโลก กุมารนี้เข้าถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประทานกุมารแก่พวกราชบุรุษด้วยพระดำรัสว่า ท่านทั้งหลายจงยังกุมารนี้ให้เจริญ แล้วส่งให้เราอีก.
               กุมารนั้นเกิดมีชื่อว่าหัตถกะอาฬวกะ เพราะไปสู่มือยักษ์จากมือของพวกราชบุรุษ ไปสู่พระหัตถ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าจากมือยักษ์ แล้วไปสู่มือของพวกราชบุรุษจากพระหัตถ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าอีก. ชาวนาและคนทำงานในป่าเป็นต้น เห็นพวกราชบุรุษนำกุมารนั้นกลับมา กลัวแล้วถามว่า ยักษ์ไม่ต้องการกุมารเพราะเป็นเด็กเกินไปหรือ. พวกราชบุรุษบอกเรื่องทั้งหมดว่า ท่านทั้งหลายอย่ากลัวเลย เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทำความปลอดภัยให้แล้ว ดังนี้. แต่นั้นมา ชาวนครอาฬวีทั้งหมดก็กล่าวว่า ดีแล้วๆ หันหน้าเข้าหายักษ์ด้วยเสียงอึกทึกกึกก้องเป็นอันเดียวกัน. เมื่อถึงเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปภิกขาจาร แม้ยักษ์ก็ถือบาตรจีวรมาครึ่งทางจึงกลับ.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเที่ยวไปบิณฑบาต ทรงทำภัตกิจแล้ว ประทับนั่งบนบวรพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ดีแล้วที่โคนไม้อันเงียบสงัดแห่งใดแห่งหนึ่งใกล้ประตูเมือง. ต่อจากนั้น พระราชาและชาวเมืองพร้อมด้วยชนหมู่ใหญ่รวมเป็นอันเดียวกันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถวายบังคมแล้ว นั่งแวดล้อมแล้วทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงทรมานยักษ์ผู้ร้ายกาจได้อย่างไร.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำการรณรงค์ของราชบุรุษเหล่านั้นให้เป็นต้นแล้ว ตรัสว่า ยักษ์ยังฝน ๙ ชนิดให้ตกอย่างนี้ ทำให้น่าสะพึงกลัวอย่างนี้ ถามปัญหาอย่างนี้ เราวิสัชนาแก่ยักษ์นั้นอย่างนี้แล้ว จึงตรัสอาฬวกสูตรนั้น.
               ในที่สุดแห่งถ้อยคำ ธรรมาภิสมัยได้มีแก่ประชาชน ๘๔,๐๐๐. แต่นั้นมา พระราชาและชาวเมืองกระทำที่อยู่ของยักษ์ในที่ใกล้ที่อยู่ของท้าวเวสวัณมหาราช เปลี่ยนเป็นเครื่องสักการะมีดอกไม้ของหอมเป็นต้น ให้เป็นเครื่องเซ่นประจำ. และเขาปล่อยกุมารนั้นผู้ถึงความเป็นวิญญูชนแล้วว่า เธออาศัยพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ชีวิตจงไป เข้าไปนั่งใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์.
               หัตถกะอาฬกะนั้นเข้าไปนั่งใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ไม่นาน ก็ตั้งอยู่ในอนาคามิผล เรียนพระพุทธพจน์ทั้งปวง มีอุบาสก ๕๐๐ เป็นบริวาร.
               ก็แลพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศเข้าไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ยอดของอุบาสกสาวกของเราผู้สงเคราะห์ชุมชนด้วยวัตถุ ๔ คือ หัตถกะอาฬวกะ.


               จบอรรถกถาอาฬวกสูตรที่ ๑๒               
               จบอรรถกถายักขสังยุต ด้วยประการฉะนี้.               
               -----------------------------------------------------               

               รวมพระสูตรแห่งยักขสังยุต ๑๒ สูตร คือ
                         ๑. อินทกสูตร
                         ๒. สักกสูตร
                         ๓. สูจิโลมสูตร
                         ๔. มณิภัททสูตร
                         ๕. สานุสูตร
                         ๖. ปิยังกรสูตร
                         ๗. ปุนัพพสุสูตร
                         ๘. สุทัตตสูตร
                         ๙. ปฐมสุกกาสูตร
                         ๑๐. ทุติยสุกกาสูตร
                         ๑๑. จีราสูตร
                         ๑๒. อาฬวกสูตร
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ยักขสังยุต อาฬวกสูตรที่ ๑๒ จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 836อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 838อ่านอรรถกถา 15 / 847อ่านอรรถกถา 15 / 956
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=6878&Z=6943
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=7749
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=7749
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๘  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :