บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
แม้ในวิภังคสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :- พึงทราบเหตุตั้งพระสูตรตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล. แต่ความแปลกกันมีดังนี้. พระสูตรแรกพระองค์ทรงแสดงไว้โดยย่อโดยอุคฆติตัญญูบุคคล พระสูตรนี้ทรงแสดงไว้โดยพิสดารโดยวิปจิตัญญูบุคคล. ก็แลในพระสูตรนี้ พึงกล่าวอุปมาด้วยบุรุษนำเถาวัลย์ไป ๔ อุปมา. อุปมานั้น ท่านกล่าวไว้แล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั่นแล. เปรียบเหมือนบุรุษผู้นำเถาวัลย์ไป พบยอดเถาวัลย์แล้วก็ค้นหาราก ตามแนวยอดเถาวัลย์นั้น พบราก (เถาวัลย์) แล้ว ก็ตัดที่รากเถาวัลย์ ถือเอาไปใช้ในการงานได้ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้น เมื่อทรงแสดงเทศนาอย่างพิสดาร ทรงนำเทศนาตั้งแต่ชรามรณะอันเป็นยอดแห่งปฏิจจสมุปบาท จนถึงอวิชชาบทซึ่งเป็นรากเหง้า แสดงวัฏกถาและวิวัฏกถาซ้ำอีกให้จบลงแล้ว. ในคำนั้น พึงทราบวินิจฉัยเนื้อความแห่งชราและมรณะเป็นต้นโดยวิตถารเทศนา ดังต่อไปนี้ :- พึงทราบวินิจฉัยในชรามรณนิเทศก่อน. ศัพท์ว่า เตสํ เตสํ นี้ โดยย่อพึงทราบว่าเป็นศัพท์แสดงความหมายทั่วไปแก่เหล่าสัตว์เป็นอันมาก. จริงอยู่ เมื่อบุคคลกล่าวอยู่แม้ตลอดวันหนึ่งอย่างนี้ว่า ชรามาถึงพระเทวทัต ชรามาถึงพระโสมทัต สัตว์ทั้งหลายย่อมไม่ถึงความแก่รอบทีเดียว แต่ด้วย ๒ บทนี้ สัตว์อะไรๆ ที่ชื่อว่าไม่ถูกชรามรณะครอบงำหามีไม่ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ศัพท์ว่า เตสํ เตสํ นี้ ว่าโดยย่อเป็นศัพท์แสดงความทั่วไปแก่หมู่สัตว์เป็นอันมากดังนี้. ศัพท์ว่า ตมฺหิ ตมฺหิ นี้ เป็นศัพท์แสดงความหมายทั่ไปแก่หมู่สัตว์จำนวนมาก โดยจัดตามคติและชาติ. คำว่า สตฺตนิกาเย เป็นคำแสดงโดยสรุป ถึงความที่ท่านแสดงไว้แล้วในสาธารณนิเทศ. ก็ศัพท์ว่า ชรา ในคำว่า ชรา ชีรณตา เป็นต้น เป็นศัพท์แสดงสภาวธรรม. ศัพท์ว่า ชีรณตา เป็นศัพท์แสดงอาการ. ศัพท์ว่า ขณฺฑิจฺจํ เป็นต้นเป็นศัพท์แสดงกิจในการล่วงกาล. ศัพท์ ๒ ศัพท์สุดท้ายเป็นศัพท์แสดงความปกติ. ก็ด้วยบทว่า ชรา นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงชราแม้โดยความเป็นสภาวธรรม. เพราะเหตุนั้น ศัพท์ว่า ชรา นี้ จึงเป็นศัพท์แสดงสภาวธรรม. เพราะเหตุนั้น ศัพท์ว่า ชรา นี้ จึงเป็นศัพท์แสดงสภาวธรรมแห่งชรานั้น. ด้วยคำว่า ชีรณตา นี้ ทรงแสดงโดยอาการ. เพราะเหตุนั้น ศัพท์ว่า ชรา นี้จึงเป็นศัพท์แสดงอาการของชรานั้น. ด้วยบทว่า ขณฺฑิจฺจํ นี้ ทรงแสดงโดยกิจคือภาวะที่พ้นและเล็บหักในเมื่อเวลาล่วงไป. ด้วยบทว่า ปาลิจฺจํ นี้ ทรงแสดงโดยกิจคือภาวะที่ผมและขนหงอก. ด้วยบทว่า วลิตจตา นี้ ทรงแสดงโดยกิจคือภาวะที่เนื้อเหี่ยวแห้งและหนังหย่อน เพราะเหตุนั้น ศัพท์ ๓ ศัพท์มีศัพท์ว่า ขณฺฑิจฺจํ เป็นต้นเหล่านี้ เป็นศัพท์แสดงกิจในเพราะเวลาล่วงไปถึงชรา. ด้วยศัพท์ทั้ง ๓ นั้น ท่านแสดงชราที่ปรากฏโต้งๆ โดยแสดงความเปลี่ยนแปลง เปรียบเหมือนทางไปของน้ำ ลมหรือไฟ ย่อมปรากฏ เพราะหญ้าและต้นไม้เป็นต้นถูกเผาทำลายหรือไหม้ แต่ทางไปของหญ้าและต้นไม้นั้นไม่ปรากฏ ปรากฏแต่น้ำเป็นต้นเท่านั้นฉันใด ทางไปของชราปรากฏโดยที่ฟันหักเป็นต้นฉันนั้นเหมือนกัน อวัยวะมีฟันเป็นต้น บุคคลแม้ลืมตาดูก็จับเอาได้ แต่ความที่ฟันหักเป็นต้น แม้ลืมตาก็จะรู้ทางจักษุไม่ได้ จับเอาไม่ได้ ชราก็ไม่ได้เหมือนกัน เพราะว่า ชราไม่พึงรู้ด้วยจักษุ. ก็ด้วยบทว่า อายุโน สํหานิ อินฺทฺริยานํ ปริปาโก (ความเสื่อมแห่งอายุ ความหง่อมแห่งอินทรีย์) นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ตามปกติ เพราะบุคคลจะเข้าใจความสิ้นไปแห่งอายุ และความหง่อมแห่งอินทรีย์มีจักษุเป็นต้น เพราะสังขารแปรปรวนไปในเมื่อเวลาล่วงไปนั่นแล. เพราะเหตุนั้น บท ๒ บทหลังนี้ แห่งคำว่า ชรานั้น พึงทราบว่าเป็นบทแสดงความปกติ. เพราะใน ๒ บทเหล่านั้น บุคคลผู้ถึงชรา อายุย่อมเสื่อมไป ฉะนั้น ชรา พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้โดยอิงเหตุใกล้กับผลว่า ความเสื่อมอายุ. และเพราะในเวลาเป็นหนุ่ม อินทรีย์มีจักษุเป็นต้นก็ผ่องใส สามารถจะรับอารมณ์ของตนแม้ที่ละเอียดได้โดยง่ายนัก เมื่อบุคคลถึงความชราแล้วย่อมแก่หง่อม คือขุ่นมัว ได้แก่ไม่ผ่องใส ไม่สามารถจะรับอารมณ์ของตนแม้ที่หยาบได้ เพราะเหตุนั้น ชรานั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้โดยอิงเหตุใกล้กับผลว่า ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์. ก็ชราแม้ทั้งหมดที่พระองค์ทรงแสดงไว้อย่างนี้นั้น มี ๒ อย่าง คือปากฏชรา ปฏิจฉันน ในชรา ๒ อย่างนั้น ความแก่ในรูปธรรม เพราะแสดงถึงฟันหักเป็นต้น ชื่อว่า ปากฏ ชราอีกนัยหนึ่งมี ๒ อย่าง อย่างนี้คือ อวิจิชรา สวิจิชรา ในชรา ๒ อย่างนั้น ชรา ชื่อว่า อวิจิชรา เพราะธรรมชาติมีความแปลกแห่งวรรณะติดต่อกันเป็นต้น รู้ได้ยาก เหมือนแก้วมณี ทอง เงิน แก้วประพาฬ พระจันทร์ พระอาทิตย์ เป็นต้น เหมือนเหล่าสิ่งมีปราณ ในสัตว์มันททสกะเป็นต้น และเหมือนสิ่งที่ไม่มีปราณในดอกไม้ ผลไม้และใบอ่อนเป็นต้นฉะนั้น. อธิบายว่า ชราที่ติดต่อกัน. อนึ่ง ชรา พึงทราบว่า ที่ชื่อว่า สวิจิชรา เพราะธรรมชาติมีความแปลกแห่งวรรณะติดต่อกันเป็นต้น วัตถุเหล่าอื่นจากนั้นตามที่กล่าวแล้วบุคคลรู้ได้ง่าย. คำว่า เตสํ เตสํ เป็นต้นนอกจากนี้ พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล. ก็คำว่า จุติ ในคำว่า จุติ จวนตา เป็นต้น ท่านกล่าวด้วยอำนาจการเคลื่อนจากภพ (เดิม). คำว่า จุติ นั้นเป็นชื่อของขันธ์ ๑ ขันธ์ ๔ ขันธ์ ๕ และอายตนะ. จวนตา เป็นคำแสดงลักษณะ ด้วยคำแสดงภาวะ. คำว่า เภโท เป็นคำแสดงความเกิดขึ้นและดับไปแห่งจุติขันธ์. คำว่า อนฺตรธานํ เป็นคำแสดงภาวะของสิ่งที่วิโรธิปัจจัยกระทบแตกไปของจุติขันธ์ที่แตกไปโดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่ง. บทว่า มจฺจุ มรณํ ได้แก่ มรณะคือมัจจุ. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิเสธสมุจเฉทมรณะเป็นต้นด้วยบทว่า มจฺจุมรณํ นั้น. สภาวะที่ทำที่สุด ชื่อว่ากาละ. การกระทำซึ่งกาละนั้น ชื่อว่ากาลกิริยา. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงมรณะ โดยโลกสมมติ ด้วยบทว่า กาโล นั้น ด้วยประการฉะนี้. บัดนี้เพื่อจะทรงแสดงโดยปรมัตถ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ขนฺธานํ เภโท ดังนี้เป็นต้น. จริงอยู่ เมื่อว่าโดยปรมัตถ์ ขันธ์เท่านั้นแตก. ใครๆ ที่ชื่อว่าสัตว์ ย่อมไม่ตาย. แต่เมื่อขันธ์แตก สัตว์ย่อมตาย จึงมีโวหารว่า เมื่อขันธ์แตก สัตว์ก็ชื่อว่าตาย. ก็ในที่นี้ พึงทราบความแตกแห่งขันธ์ด้วยอำนาจจตุโวการภพ (ภพที่มีขันธ์ ๔ เว้นรูปขันธ์) พึงทราบการทอดทิ้งร่างด้วยอำนาจเอกโวการภพ (ภพที่มีขันธ์ ๑ คือรูปขันธ์) และพึงทราบความแตกแห่งขันธ์ ด้วยอำนาจจตุโวการภพ. พึงทราบการทอดทิ้งร่างด้วยอำนาจภพ ๒ ที่เหลือ. เพราะเหตุไร. เพราะร่าง กล่าวคือรูปกาย เกิดในภพทั้ง ๒. อีกอย่างหนึ่งก็เพราะขันธ์ในจำพวกเทพชั้นจตุมหาราช ย่อมแตกเหมือนกันไม่ทอดทิ้งอะไรๆ ไว้ ฉะนั้น พึงทราบความแตกแห่งขันธ์ด้วยอำนาจเทพเหล่านั้น. ในหมู่สัตว์มีมนุษย์เป็นต้น มีการทอดทิ้งร่างไว้. ก็ในที่นี้พึงเห็นเนื้อความอย่างนี้ว่า ความตายเพราะทอดทิ้งร่างไว้ ท่านกล่าวไว้ว่า กเฬวรสฺส นิกฺเขโป. คำว่า อิติ อยญฺจ ชรา อิทญฺจ มรณํ อิทํ วุจฺจติ ภิกฺขเว นี้ ท่านกล่าวรวมทั้งสองเข้าเป็นอันเดียวกันว่า ชรามรณํ ดังนี้. ในชาตินิเทศ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :- ที่ชื่อว่า ชาติ ในคำเป็นต้นว่า ชาติ สญฺชาติ นี้ เพราะอรรถว่าเกิด. ชาตินั้นประกอบด้วยอายตนะที่ไม่บริบูรณ์. ที่ชื่อว่า สญฺชาติ เพราะอรรถว่าเกิดพร้อม. สัญชาตินั้นประกอบ บัดนี้เป็นปรมัตถเทศนา. จริงอยู่ เมื่อว่าโดยปรมัตถ์ ขันธ์เท่านั้นปรากฏ สัตว์ไม่ปรากฏ. บรรดาบทเหล่านั้น พึงทราบศัพท์ว่า ขนฺธานํ ได้แก่ ขันธ์ ๑ ในเอกโวการภพ ขันธ์ ๔ ในจตุโวการภพ ขันธ์ ๕ ในปัญจโวการภพ. บทว่า ปาตุภาโว แปลว่า การเกิด. ในบทว่า อายตนานํ นี้ พึงทราบการรวบรวมโดยอายตนะที่เกิดในภพนั้นๆ. บทว่า ปฏิลาโภ ได้แก่ ความปราฏโดยสันตตินั่นเอง. จริงอยู่ อายตนะที่กำลังปรากฏเหล่านั้นนั่นแล เป็นอันชื่อว่าได้เฉพาะแล้ว. ด้วยบทว่า อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว ชาติ นี้ ท่านกระทำการย้ำชาติที่ทรงแสดงโดยบัญญัติและโดยปรมัตถ์แล. ในภวนิเทศ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :- บทว่า กามภโว ได้แก่กรรมภพและอุปปัตติภพ. ในภพทั้งสองนั้น ชื่อว่ากรรมภพ ได้แก่กรรมที่ให้เกิดในกามภพนั่นเอง. จริงอยู่ กรรมนั้น เพราะเป็นเหตุแห่งอุปปัตติภพ ท่านจึงเรียกว่า ภพ โดยบัญญัติว่าเป็นตัวผล ดุจคำเป็นต้นว่า สุโข พุทฺธานํ อุปฺปาโท ทุกฺโข ปาปสฺส อุจฺจโย ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุข ความสั่งสมบาปเป็นเหตุนำมาซึ่งทุกข์. ที่ชื่อว่า อุปปัตติภพ ได้แก่ ขันธ์ ๕ ที่มีใจครองที่บังเกิดด้วยกรรมนั้น. จริงอยู่ กรรมนั้น ท่านเรียกว่าภพ เพราะเกิดขันธ์ ๕ นั้น. แม้ในที่ทั้งปวง กล่าวหมายเอากรรมภพและอุปปัตติภพ ดังนี้ และทั้งสองนี้ ท่านกล่าวว่ากามภพในที่นี้. ในรูปภพและอรูปภพก็นัยนี้แล. ในอุปาทานนิเทศ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :- ชื่อว่า กามุปาทาน ในคำว่า กามุปาทานํ เป็นต้น เพราะเป็นเหตุยึดถือวัตถุกาม หรือตนเองยึดถือวัตถุกามนั้น กามนั้นด้วย เป็นอุปาทานด้วย ฉะนั้นจึงชื่อกามุปาทาน. การยึดมั่นท่านเรียกว่าอุปาทาน จริงอยู่ อุปศัพท์ในคำว่า อุปาทานํ นี้ มีอรรถว่ามั่น เหมือนในอุปายาสศัพท์ และอุปกฏฺฐศัพท์เป็นต้น. คำว่า กามุปาทานนี้ เป็นชื่อของความกำหนัดอันเป็นไปในกามคุณ ๕. ในที่นี้มีความสังเขปเพียงเท่านี้ แต่เมื่อว่าโดยพิสดาร อุปาทานนี้พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วว่า ในอุปาทาน ๒ อย่างนั้น กามุปาทานเป็นไฉน. คือ ความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ในกามทั้งหลายนั่นเอง. อนึ่ง ทิฏฐินั้นด้วย เป็นอุปาทานด้วย ฉะนั้นจึงชื่อว่า ทิฏฺฐุปาทาน. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ทิฏฺฐุปาทาน เพราะยึดถือทิฏฐิ หรือเป็นเหตุยึดถือทิฏฐิ. จริงอยู่ อุตตรทิฏฐิย่อมยึดถือปุริมทิฏฐิ เจตสิกธรรมทั้งหลายย่อมยึดถือทิฏฐิด้วย บทว่า ทิฏฺฐุปาทาน นี้ เป็นชื่อของสีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน และทิฏฐิทั้งปวงที่มีโทษ. ความสังเขปในข้อนี้มีเท่านี้ ส่วนความพิสดาร ทิฏฐุปาทาน พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วว่า ในบรรดาอุปาทานเหล่านั้น ทิฏฐุปาทานเป็นไฉน. คือทานที่บุคคลให้แล้วย่อมไม่มีผล ดังนี้เป็นต้น. อนึ่ง ที่ชื่อว่า สีลัพพตุปาทาน เพราะยึดมั่นศีลพรตด้วยทิฏฐินั้นหรือยึดทิฏฐินั้นเสียเอง, ศีลพรตนั้นด้วย เป็นอุปาทานด้วย เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า สีลัพพตุปาทาน. ที่ชื่อว่า อุปาทาน เพราะยึดมั่นว่า ความบริสุทธิ์ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ มีโคศีล และโควัตรเป็นต้น. ในข้อนั้นมีความสังเขปเพียงเท่านี้ ส่วนความพิสดาร สีลัพพตุปาทานนั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วว่า ในอุปาทานเหล่านั้น สีลัพพตุปาทานเป็นไฉน. คือความบริสุทธิ์ ด้วยศีลของสมณะและพราหมณ์ ภายนอกพระพุทธศาสนานี้. บัดนี้ ชื่อว่า วาทะ เพราะเหตุกล่าวของเหล่าชน. ชื่อว่าอุปาทาน เพราะเป็นเหตุยึดถือของเหล่าชน. ถามว่า กล่าวหรือยึดถืออะไร. แก้ว่า กล่าวหรือยึดถือตน. การยึดมั่นวาทะของตน ชื่อว่า อัตตวาทุปาทาน. อีกอย่างหนึ่ง เพียงวาทะว่าตนเท่านั้น ชื่อว่า อัตตวาทุปาทาน. อัตตวาทุปาทานนี้ เป็นชื่อของทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐. ในข้อนี้มีความสังเขปเพียงเท่านี้ ส่วนเมื่อว่าโดยพิสดาร อัตตวาทุปาทานนี้ พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วว่า ในอุปาทานเหล่านั้น อัตตวาทุปาทานเป็นไฉน. คือปุถุชนผู้ไม่ได้ฟังในพระศาสนานี้ ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย. ในตัณหานิเทศ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :- คำว่า รูปตัณหา ฯลฯ ธรรมตัณหา นี้ เป็นชื่อแห่งตัณหาอันเป็นไปในชวนวิถีในจักขุทวารเป็นต้น โดยเป็นอารมณ์ เสมือนบิดา เหมือนเป็นชื่อฝ่ายบิดา ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า บุตรของเศรษฐี บุตรของพราหมณ์. ก็ในที่นี้ ตัณหาที่รูปเป็นอารมณ์ ชื่อว่า รูปตัณหา เพราะมีความอยากได้ในรูป, ตัณหานั้นชอบใจรูป เป็นไปอยู่ โดยเป็นกามราคะ ชื่อว่า กามตัณหา, ที่ชอบใจ เป็นไปอย่างนี้ว่า รูป เที่ยง ยั่งยืน เป็นไปติดต่อ โดยความเป็นราคะที่เกิดร่วมด้วยทิฏฐิ ชื่อว่าภวตัณหา, ที่ชอบใจ เป็นไปอย่างนี้ว่า รูปขาดสูญ พินาศ ละไปแล้วย่อมไม่เกิด ชื่อว่าวิภวตัณหา รวมความว่า รูปตัณหา มี ๓ อย่าง ด้วยประการฉะนี้. แม้สัททตัณหาเป็นต้น ก็เหมือนรูปตัณหา รวมความว่า เป็นตัณหาวิปริต ๑๘ ด้วยประการฉะนี้, ตัณหาวิปริตเหล่านั้น ที่เป็นไปในรูปภายในเป็นต้นมี ๑๘ ที่เป็นไปในรูปภายนอก ๑๘ รวมเป็น ๓๖, ที่เป็นอดีต ๓๖ อนาคต ๓๖ ปัจจุบัน ๓๖, รวมเป็นตัณหาวิปริต ๑๐๘ ด้วยประการฉะนี้, ตัณหาวิปริต ๑๘ ที่อาศัยรูปที่เป็นไปภายในเป็นต้น มีอาทิอย่างนี้ว่า เพราะอาศัยอายตนะที่เป็นไปภายใน ตัณหาวิปริตได้มีแล้ว หรือว่าจักมี หรือว่ากำลังมี (อย่างละ ๖) เป็นตัณหาวิปริต ๑๘ ที่อาศัยรูปที่เป็นไปภายนอกเป็นต้นว่า เพราะอาศัยอายตนะภายนอก ๖ ตัณหาวิปริตได้มีแล้วด้วยอายตนะภายนอกนี้ หรือว่าจักมี หรือว่ากำลังมี จึงรวมเป็นตัณหาวิปริต ๓๖ ดังนั้น ตัณหาวิปริตที่เป็นอดีต ๓๖ ที่เป็นอนาคต ๓๖ ที่เป็นปัจจุบัน ๓๖ จึงรวมเป็นตัณหาวิปริต ๑๐๘. เมื่อรวบรวมอีก ในอารมณ์มีรูปเป็นต้น ย่อมมีหมวดแห่งตัณหา ๖ มีกามตัณหาเป็นต้น ๓ นั่นแล เมื่อจะรวบรวมความพิสดารและความย่อของนิเทศอีก บัณฑิตพึงทราบตัณหาโดยอรรถแห่งนิเทศอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้แล. ในเวทนานิเทศ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :- บทว่า เวทนากายา แปลว่า ชุมนุมแห่งเวทนา. คำว่า จกฺขุสมฺผสฺสชาเวทนา ฯลฯ มโนสมฺผสฺสชาเวทนา นี้ เป็นชื่อของเวทนาที่เป็นกุศล อกุศล และอัพยากตะ ที่เป็นไปในจักขุทวารเป็นต้น เพราะมาในวิภังค์อย่างนี้ว่า จักขุสัมผัสสชาเวทนา เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นอัพยากตะก็มี เป็นชื่อโดยวัตถุเสมือนมารดา เหมือนเป็นชื่อฝ่ายมารดา ที่มาในประโยคอย่างนี้ มีอาทิว่า บุตรของนางพราหมณี ชื่อว่าสารี, บุตรของพราหมณี ชื่อว่ามันตานี. ก็ในที่นี้ มีอรรถแห่งคำดังต่อไปนี้ เวทนาที่เกิดจากเหตุคือจักขุสัมผัส ชื่อว่าจักขุสัมผัสสชาเวทนา. ในบททั้งปวงก็นัยนี้เหมือนกัน ในข้อนี้มีกถารวบรวมเวทนาทั้งปวง เป็นอันดับแรก แต่ว่าด้วยอำนาจวิบาก พึงทราบเวทนาด้วยอำนาจสัมปยุตกับจิตเหล่านี้คือ ในจักขุทวาร จักขุวิญญาณ ๒ มโนธาตุ ๒ มโนวิญญาณธาตุ ๓. ในโสตทวารเป็นต้นก็นัยนี้. และในมโนทวารประกอบกับมโนวิญญาณธาตุ. ในผัสสนิเทศ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :- บทว่า จกฺขุสมฺผสฺโส ได้แก่ สัมผัสในจักษุ. ในบททั้งปวงก็นัยนี้. ก็ด้วยอันดับคำเพียงเท่านี้ว่า จกฺขุสมฺผสฺโส ฯลฯ กายสมฺผสฺโส เป็นอันท่านกล่าวผัสสะ ๑๐ ซึ่งมีวัตถุ ๕ เป็นกุศลวิบากและอกุศลวิบาก. ด้วยบทว่า มโนสมฺผสฺโส นี้ ท่านกล่าวผัสสะที่สัมปยุตด้วยวิบากจิตที่เป็นโลกิยะ ๒๒ ที่เหลือ. ในสฬายตนนิเทศ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :- ในบทว่า จกฺขฺวายตนํ เป็นต้น คำที่จำต้องกล่าว ท่านกล่าวไว้แล้วในขันธนิเทศ และอายตนนิเทศ ในวิสุทธิมรรคนั่นแล. ในนามรูปนิเทศ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :- นามมีอันน้อมไปเป็นลักษณะ รูปมีการแตกสลายเป็นลักษณะ. ก็ในการจำแนกนามรูปนั้น บทว่า เวทนา ได้แก่ เวทนาขันธ์. บทว่า สัญญา ได้แก่สัญญาขันธ์. บทว่า เจตนา ผัสสะ มนสิการ พึงทราบว่า เป็นสังขารขันธ์. ก็ธรรมที่สงเคราะห์ด้วยสังขารขันธ์ แม้ด้วยเหล่าอื่นมีอยู่ก็จริง ถึงอย่างนั้น ธรรม ๓ ประการนี้ มีอยู่ในจิตที่มีกำลังเพลากว่าธรรมทั้งปวง เพราะฉะนั้น ในที่นี้ท่านแสดงสังขารขันธ์ด้วยอำนาจธรรมเหล่านั้นนั่นเอง. บทว่า จตฺตาโร ในบทว่า จตฺตาโร จ มหาภูตา นี้เป็นการกำหนดจำนวน. บทว่า มหาภูตา นี้ เป็นชื่อของปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ. ก็นัยวินิจฉัยอย่างหนึ่ง ในข้อที่เป็นเหตุให้ท่านกล่าวว่า ตานิ มหาภูตานิ ทั้งหมดท่านกล่าวไว้แล้วในรูปขันธนิเทศ ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค. ก็บทว่า จตุนฺนํ ในคำว่า จตุนฺนญฺจ มหาภูตานํ อุปาทาย นี้เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ลงในอรรถแห่งทุติยาวิภัตติ ท่านอธิบายว่า ซึ่งมหาภูตรูป ๔. บทว่า อุปาทาย แปลว่า ยึดมั่น. อธิบายว่า ถือมั่น อาจารย์บางพวกกล่าวว่า อาศัยก็มี. ก็ปาฐะที่เหลือว่า ปวตฺตมานํ นี้ พึงนำมาเชื่อมเข้าในที่นี้. อีกอย่างหนึ่ง คำนี้เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ลงในอรรถว่าประชุม พึงทราบเนื้อความดังนี้ว่า รูปอาศัยการประชุมแห่งมหาภูตรูป ๔ เป็นไป. เมื่อว่าโดยประการทั้งปวง มหาภูตรูป ๔ มีปฐวีเป็นต้น และรูป ๒๓ ที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ เป็นไปที่ท่านกล่าวไว้ในบาลีในอภิธรรม โดยแยกเป็นจักขายตนะเป็นต้น ทั้งหมดนั้นพึงทราบว่า รูป. ในวิญญาณนิเทศ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :- บทว่า จกฺขุวิญฺญาณํ ความว่า ที่ชื่อว่าจักขุวิญญาณ เพราะวิญญาณอาศัยจักษุ หรือวิญญาณเกิดแต่จักษุ. โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณและกายวิญญาณก็เหมือนกัน. แต่อีกวิญญาณหนึ่ง ชื่อว่า มโนวิญญาณ เพราะอรรถว่าวิญญาณคือใจ. คำนี้เป็นชื่อของวิบากจิตที่เป็นไปในภูมิ ๓ ที่เว้นทวิปัญจวิญญาณ. ในสังขารนิเทศ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :- สังขารมีการปรุงแต่งเป็นลักษณะ ก็ในการจำแนกสังขารนั้น มีอธิบายดังนี้ สังขารที่เป็นไปทางกาย ชื่อกายสังขาร. คำว่า กายสังขารนี้ เป็นชื่อแห่งกายสัญเจตนา ๒๐ คือฝ่ายกามาวจรกุศลจิต ๘ ฝ่ายอกุศลจิต ๑๒ ที่เป็นไปด้วยอำนาจไหวกายทวาร. คำว่า วจีสังขาร นี้เป็นชื่อแห่งวจีสัญเจตนา ๒๐ เหมือนกัน. ที่เป็นไปด้วยอำนาจการเปล่งวาจาในวจีทวาร. สังขารที่เป็นไปทางจิต ชื่อว่าจิตตสังขาร. คำว่า จิตตสังขาร นี้เป็นชื่อแห่งมโนสัญเจตนา ๒๙ คือกุศลจิต ๑๗ อกุศลจิต ๑๒ อันเป็นฝ่ายโลกิยะ ที่เป็นไปแก่บุคคลผู้ไม่ทำการไหวในกายทวารและวจีทวาร นั่งคิดอยู่ในที่ลับ. ในอวิชชานิเทศ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :- บทว่า ทุกฺเข อญาณํ ได้แก่ ความไม่รู้ในทุกขสัจจะ คำนี้เป็นชื่อของโมหะ. ในคำว่า สมุทเย อญาณํ เป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน. ในสัจจะ ๔ นั้น พึงทราบความไม่รู้ในทุกขสัจจะด้วยเหตุ ๔ คือ โดยภาวะที่หยั่งลงในภายใน โดยวัตถุ โดยอารมณ์ และโดยการปกปิด. จริงอย่างนั้น ความไม่รู้นั้น ชื่อว่าทุกขสัจจะ เพราะหยั่งลงในภายในทุกข์ เพราะนับเนื่องในทุกขสัจจะ ชื่อว่าเป็นวัตถุ เพราะเป็นนิสสยปัจจัยแห่งทุกขสัจจะนั้น ชื่อว่าเป็นอารมณ์ เพราะเป็นอารัมมณปัจจัย ความไม่รู้นั้นย่อมปกปิดทุกขสัจจะ โดยห้ามการแทงตลอดลักษณะตามที่เป็นจริงของทุกขสัจจะนั้น และโดยปราศจากความเป็นไปแห่งญาณในข้อนี้. พึงทราบความไม่รู้ในสมุทัยสัจจะ ด้วยเหตุ ๓ คือ โดยวัตถุ โดยอารมณ์และโดยการปกปิด. และพึงทราบความไม่รู้ในนิโรธปฏิปทา ด้วยเหตุอย่างเดียวเท่านั้น คือโดยการปกปิด. จริงอยู่ ความไม่รู้ที่ปกปิดนิโรธปฏิปทานั่นแล โดยห้ามการแทงตลอดลักษณะตามที่เป็นจริงของปฏิปทาเหล่านั้น และโดยปราศจากความเป็นไปแห่งญาณในปฏิปทาเหล่านั้น ความไม่รู้นั้น มิได้หยั่งลงในภายในในปฏิปทาเหล่านั้น เพราะไม่นับเนื่องในสัจจะทั้งสองนั้น สัจจะทั้งสองนั้น มิได้เป็นวัตถุ เพราะมิได้เกิดร่วมกัน มิได้เป็นอารมณ์ เพราะมิได้ปรารภสิ่งนั้นเป็นไป. ก็สัจจะทั้งสองข้างท้าย เห็นได้ยาก เพราะลึกซึ้ง ความไม่รู้ที่มืดตื้อย่อมไม่เป็นไปในสัจจะทั้งสองนั้น. ก็สัจจะข้อแรก ชื่อว่าลึกซึ้ง เพราะเห็นสภาวะลักษณะโดยอรรถที่ควรกล่าวได้ยาก ย่อมเป็นไปในความไม่รู้นั้น เพราะยึดถือคลาดเคลื่อนไปจากความจริง. อนึ่ง เพียงด้วยบทว่า ทุกฺเข นี้ ท่านแสดงอวิชชาโดยรวบรวม โดยวัตถุ โดยอารมณ์ และโดยกิจ. เพียงด้วยบทว่า ทุกฺขสมุทเย นี้ท่านแสดงโดยวัตถุ โดยอารมณ์ และโดยกิจ. เพียงด้วยบทว่า ทุกฺขนิโรธคามินิยา ปฏิปทาย นี้ ท่านแสดงโดยกิจ. แต่โดยไม่พิเศษ ด้วยบทว่า อญาณํ นี้ พึงทราบว่าท่านแสดงไขอวิชชาโดยสภาวะ. บทว่า อิติ โข ภิกฺขเว แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการอย่างนี้แล. บทว่า นิโรโธ โหติ ได้แก่ ไม่เกิดขึ้น. อนึ่ง ด้วยบทว่า นิโรธ เหล่านั้นทุกบทในที่นี้ ท่านแสดงถึงพระนิพพาน. ด้วยว่า ธรรมนั้นๆ อาศัยพระนิพพาน ดับไป ฉะนี้ พระนิพพานนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เตสํ นิโรโธ ดังนี้. ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงวัฏฏะและวิวัฏฏะด้วย ๑๒ บทในพระสูตรนี้ จึงให้เทศนาจบลงด้วยยอดแห่งพระอรหัตนั่นเอง. ในเวลาจบเทศนา ภิกษุ ๕๐๐ รูปบรรลุพระอรหัต โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล. จบอรรถกถาวิภังคสูตรที่ ๒ ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อภิสมัยสังยุตต์ พุทธวรรคที่ ๑ วิภังคสูตร จบ. |