ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 16 / 1อ่านอรรถกถา 16 / 188อรรถกถา เล่มที่ 16 ข้อ 196อ่านอรรถกถา 16 / 200อ่านอรรถกถา 16 / 725
อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อภิสมัยสังยุตต์ ทุกขวรรคที่ ๖
๒. อุปาทานสูตร

               อรรถกถาอุปาทานสูตรที่ ๒               
               พึงทราบวินิจฉัยในอุปาทานสูตรที่ ๒ ต่อไป.
               บทว่า อุปาทานีเยสุ อันเป็นปัจจัยแห่งอุปทาน ได้แก่ ในธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ อันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทาน ๔.
               บทว่า อสฺสาทานุปสฺสิโน เห็นความพอใจเนืองๆ คือเห็นอยู่เนืองๆ ซึ่งความพอใจ.
               บทว่า ตตฺร คือ ในกองไฟนั้น.
               บทว่า ตทาหาโร มีอาหารอย่างนั้น คือมีปัจจัยอย่างนั้น.
               คำว่า มีเชื้ออย่างนั้น เป็นไวพจน์ของปัจจัยนั้นนั่นเอง.
               ในคำว่า เอวเมว โข นี้ ภพ ๓ หรือที่เรียกว่า วัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓ บ้าง พึงเห็นว่าเหมือนกองไฟ.
               ปุถุชนผู้โง่เขลา ซึ่งอาศัยวัฏฏะคือความเวียนว่ายตายเกิด เหมือนบุรุษบำเรอไฟ. การทำกรรมที่เป็นกุศลและอกุศลทางทวาร ๖ ด้วยอำนาจตัณหาเป็นต้น ของปุถุชนผู้เห็นความพอใจเนืองๆ เหมือนการใส่โคมัยแห้งเป็นต้น. ความบังเกิดแห่งวัฎทุกข์ในภพต่อๆ ไป เพราะปุถุชนผู้โง่เขลาลุกขึ้นแล้วลุกขึ้นเล่า พยายามทำกรรมตามที่กล่าวแล้ว เหมือนเมื่อหญ้าและโคมัยเป็นต้นหมดแล้ว กองไฟก็ยังลุกโพลงอยู่เรื่อยไป เพราะใส่หญ้าและโคมัยเหล่านั้นเข้าไปบ่อยๆ.
               ข้อว่า น กาเลน กาลํ สุกฺขานิ เจว ติณานิ ปกฺขิเปยฺย ไม่ใส่หญ้าแห้งทุกๆ ระยะ.
               อธิบายว่า ก็ใครๆ ผู้หวังประโยชน์ พึงกล่าวกะบุรุษนั้นอย่างนี้ว่า "ผู้เจริญ เหตุไรท่านจึงลุกขึ้นแล้วลุกขึ้นเล่าเหยียบย่ำกระเบื้อง เอาหญ้าและไม้แห้งใส่กระบุงจนเต็ม ใส่โคมัยแห้งเข้าไป ทำให้ไฟกองนี้ลุกโพลง เพราะการกระทำนี้เป็นเหตุ ความเจริญไรๆ ย่อมมีแก่ท่านบ้างหรือหนอ."
               บุรุษนั้นกล่าวว่า "ท่านผู้เจริญ การกระทำเช่นนี้ มาตามวงศ์ (เป็นประเพณี) ของพวกเรา แต่การกระทำเช่นนี้ ก็ไม่มีความเจริญแก่เราเลย ความเจริญจักมีแต่ที่ไหน. เพราะเรามัวบำเรอไฟนี้อยู่ จึงไม่ได้อาบน้ำ ทั้งไม่ได้กิน ไม่ได้นอนเลย."
               ผู้หวังประโยชน์กล่าวว่า "ผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น จะมีประโยชน์อะไรแก่ท่าน กับการจุดไฟให้ลุกโพลงอันไร้ประโยชน์นี้ มาเถิดท่าน หญ้าเป็นต้นที่ท่านนำมาแล้วเหล่านี้ ที่ใส่เข้าไปในกองไฟนี้แล้ว จักลุกไหม้ขึ้นเองแหละ แต่ว่าท่านจงไปอาบน้ำที่สระโบกขรณี ซึ่งมีน้ำเย็นอยู่ในที่โน้น ตกแต่งตนด้วยเครื่องลูบไล้คือระเบียบและของหอม นุ่งห่มอย่างดี เข้าสู่เมืองด้วยรองเท้าชั้นดี ขึ้นสู่ปราสาทอันประเสริฐ เปิดหน้าต่าง แล้วนั่งอิ่มเอิบอยู่กับความสุข มีอารมณ์เดียว รุ่งเรืองอยู่บนถนนใหญ่. เมื่อท่านนั่นในปราสาทนั้นแล้ว ไฟกองนั้นจักถึงภาวะที่ตั้งอยู่ไม่ได้เองโดยแท้ เพราะสิ้นเชื้อมีหญ้าเป็นต้นเสีย."
               บุรุษนั้นพึงกระทำอย่างนั้น. และเมื่อเขานั่งบนปราสาทนั้นอย่างนั้นแล้ว ไฟกองนั้นพึงถึงภาวะคือการตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะสิ้นเชื้อ.
               คำว่า น กาเลน กาลํ เป็นต้นนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาความข้อนี้.
               แต่ในคำว่า เอวเมวโข นี้มีการเทียบเคียงด้วยข้ออุปมาดังนี้
               วัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓ พึงเห็นเหมือนไฟกองใหญ่ที่ลุกโพลงอยู่ด้วยไม้(ฟืน) ๔๐ เล่มเกวียน.
               พระโยคาวจรผู้ยังอาศัยวัฏฏะอยู่ เหมือนบุรุษผู้บำเรอไฟ. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนบุรุษผู้หวังประโยชน์.
               เวลาที่พระตถาคตตรัสกัมมัฏฐานในธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ แก่ภิกษุนั้นว่า "ดูก่อนภิกษุ เธอจงหน่ายในธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ เถิด เธอจักพ้นจากวัฏทุกข์อย่างนี้." เหมือนโอวาทที่บุรุษผู้หวังประโยชน์ให้แก่บุรุษผู้บำเรอไฟนั้น.
               เวลาที่พระโยคีรับโอวาทของพระสุคตแล้วเข้าไปสู่สุญญาคาร เริ่มตั้งวิปัสสนาในธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ ได้อาการสัปปายะเป็นต้น เห็นปานนั้นโดยลำดับ นั่งบนอาสนะเดียวแล้วตั้งอยู่ในผลอันเลิศ (อรหัตผล) เหมือนเวลาที่บุรุษ (ผู้บำเรอไฟ) นั้น ปฏิบัติตามที่มีผู้สอนแล้วนั่งในปราสาท.
               เวลาที่พระโยคีชำระมลทินคือกิเลสด้วยน้ำคือมรรคญาณที่สระโบกขรณีคืออริยมรรค นุ่งผ้าคือหิริโอตตัปปะ เข้าไปทาด้วยเครื่องลูบไล้คือศีล ตกแต่งอัตภาพด้วยเครื่องตกแต่งคือพระอรหัต ประดับพวงดอกไม้คือวิมุตติ สวมรองเท้าคืออิทธิบาท เข้าไปสู่นครคือพระนิพพาน ขึ้นสู่ปราสาทคือพระธรรม รุ่งเรืองอยู่บนถนนใหญ่คือสติปัฏฐาน แนบสนิทผลสมาบัติที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์อยู่ เหมือนเวลาที่บุรุษนั้นนั่งบนปราสาทนั้น มีอารมณ์เดียว อิ่มเอิบด้วยความสุข เพราะมีกายที่ชำระและตกแต่งแล้วด้วยการอาบน้ำและเครื่องลูบไล้เป็นต้น.
               ส่วนความสงบอันยิ่งใหญ่แห่งวัฏฏะของพระขีณาสพ ผู้ดำรงอยู่ตราบเท่าอายุ แล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เพราะความแตกแห่งขันธ์ที่มีใจครอง พึงเห็นเหมือนเวลาที่บุรุษนั้นนั่งบนปราสาทนั้นแล้ว กองไฟก็ถึงความไม่มีบัญญัติ เพราะสิ้นเชื้อมีหญ้าเป็นต้น.

               จบอรรถกถาอุปาทานสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อภิสมัยสังยุตต์ ทุกขวรรคที่ ๖ ๒. อุปาทานสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 16 / 1อ่านอรรถกถา 16 / 188อรรถกถา เล่มที่ 16 ข้อ 196อ่านอรรถกถา 16 / 200อ่านอรรถกถา 16 / 725
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=16&A=2279&Z=2307
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=2069
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=2069
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :