ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 16 / 1อ่านอรรถกถา 16 / 53อรรถกถา เล่มที่ 16 ข้อ 57อ่านอรรถกถา 16 / 60อ่านอรรถกถา 16 / 725
อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อภิสมัยสังยุตต์ อาหารวรรคที่ ๒
พาลปัณฑิตสูตร

               อรรถกถาพาลบัณฑิตสูตรที่ ๙               
               ในพาลบัณฑิตสูตรที่ ๙ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า อวิชฺชานีวรณสฺส ได้แก่ ถูกอวิชชากางกั้น.
               บทว่า เอวมยํ กาโย สมุทาคโต ความว่า กายนี้ ชื่อว่าเกิดขึ้นแล้ว เพราะถูกอวิชชากางกั้น และเพราะประกอบด้วยตัณหานั่นเอง ด้วยอาการอย่างนี้.
               บทว่า อยญฺเจว กาโย ได้แก่ กายที่มีวิญญาณของตน ของคนพาลนั้น นี้.
               บทว่า พหิทฺธา จ นามรูปํ ได้แก่ และกายที่มีวิญญาณของคนเหล่าอื่นภายนอก. ข้อความนี้พึงแสดงด้วยขันธ์ ๕ และอายตนะ ๖ ทั้งของตนและคนอื่น.
               บทว่า อิตฺเถตํ ทฺวยํ ได้แก่หมวดสองนี้. ด้วยอาการอย่างนี้.
               ด้วยบทว่า ทฺวยํ ปฏิจฺจ ผสฺโส นี้ ท่านกล่าวจักษุสัมผัสเป็นต้น เพราะอาศัยอายตนะทั้งสองฝ่าย มีจักษุและรูปเป็นต้น ไว้ในที่อื่น แต่ในที่นี้ท่านหมายอายตนะภายในและอายตนะภายนอก นัยว่า อายตนะทั้งสองฝ่าย ชื่อว่าใหญ่ทั้งสอง.
               บทว่า สเฬวายตนานิ ได้แก่ ผัสสายตนะ คือเหตุแห่งผัสสะ ๖.
               บทว่า เยหิ ผุฏฺโฐ ได้แก่ถูกผัสสะอันเกิดขึ้นเพราะอายตนะซึ่งเป็นตัวเหตุเหล่าใด ถูกต้อง.
               ในบทว่า อญฺญตเรน นี้ พึงทราบอายตนะอื่นๆ ที่บริบูรณ์และไม่บริบูรณ์.
               บทว่า ตตฺร ได้แก่ ในเพราะการเกิดขึ้นแห่งกายเป็นต้น ของคนพาลและบัณฑิตนั้น.
               บทว่า โก อธิปฺปายโส ได้แก่ คืออะไรเป็นความพยายามอย่างยิ่ง.
               บทว่า ภควํมูลกา ได้แก่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นมูลแห่งธรรมเหล่านั้น เหตุนั้น ธรรมเหล่านั้น ชื่อว่า ภควํมูลกา. ท่านกล่าวอธิบายไว้ดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของพวกข้าพระองค์เหล่านี้ อันพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าในปางก่อนทรงให้บังเกิดขึ้น เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว ล่วงไปพุทธันดรหนึ่ง คนอื่นจะเป็นสมณะก็ตาม พราหมณ์ก็ตาม ชื่อว่าสามารถจะให้ธรรมเหล่านี้เกิดขึ้น มิได้มีเลย แต่ธรรมเหล่านี้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย. เพราะอาศัยพระผู้มีพระภาคเจ้า พวกข้าพระองค์จึงมารู้ คือแทงตลอดธรรมเหล่านี้ เพราะเหตุนั้น ธรรมของพวกข้าพระองค์จึงชื่อว่ามีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นมูล ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ภควํเนตฺติกา ความว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะ ได้แก่แนะนำธรรมทั้งหลาย คือระบุชื่อธรรมะ เฉพาะอย่างๆ ตามสภาพความเป็นจริงแสดง เพราะเหตุนั้น ธรรมทั้งหลายจึงชื่อว่ามีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้แนะนำ.
               บทว่า ภควํปฏิสรณา ความว่า ธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๔ เมื่อมาปรากฏแก่พระสัพพัญญุตญาณ ชื่อว่าย่อมรวมลงในพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะเหตุนั้น ธรรมเหล่านั้น จึงชื่อว่า มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่รวมลง.
               บทว่า ปฏิสรนฺติ ได้แก่ ย่อมประชุม. อีกอย่างหนึ่ง ผัสสะมาด้วยอำนาจการแทงตลอดแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ประทับนั่ง ณ โพธิมัณฑสถาน ทูลถามว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ชื่ออะไร. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เธอชื่อผัสสะ เพราะอรรถว่าถูกต้อง. เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ... ก็มาทูลถามว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ชื่ออะไร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เธอชื่อวิญญาณ เพราะอรรถว่า รู้แจ้ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงระบุชื่อ ธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๔ เฉพาะอย่างๆ ตามสภาพความเป็นจริง รวมธรรมทั้งหลายไว้ด้วยอาการอย่างนี้ เหตุนั้น ธรรมเหล่านั้นชื่อว่า ภควํปฏิสรณา.
               บทว่า ภควนฺตํเยว ปฏิภาตุ ความว่า เนื้อความแห่งภาษิตนั้น จงปรากฏ (แจ่มแจ้ง) แก่พระผู้มีพระภาคเจ้าทีเดียว อธิบายว่า ขอพระองค์โปรดตรัสแสดงธรรม แก่พวกข้าพระองค์เถิด.
               ในคำว่า สา เจว อวิชฺชา นี้ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               อวิชชาและตัณหานั้น แม้ยังกรรมให้แล่นไป ชักปฏิสนธิมาแล้ว ดับไปก็จริง ถึงอย่างนั้น ท่านก็กล่าวคำนี้ว่า สา เจว อวิชฺชา สา เจว ตณฺหา ไว้แม้ในที่นี้ เพราะอรรถว่าเห็นสมกัน เหมือนเภสัชที่ดื่มัวันวาน แม้วันนี้บริโภคโภชนะเข้าไป เภสัชนั้นก็ยังเรียกว่าเภสัชนั่นเอง ฉันนั้น.
               บทว่า พฺรหฺมจริยํ ได้แก่ มรรคพรหมจรรย์.
               บทว่า ทุกฺขกฺขยาย ได้แก่ เพื่อความสิ้นไปแห่งวัฏทุกข์.
               บทว่า กายูปโยค โหติ ได้แก่ เป็นผู้เข้าถึงปฏิสนธิกายอื่น. ด้วยบทว่า ยทิทํ พฺรหฺมจริยวาโส นี้ ท่านแสดงว่า มรรคพรหจริยวาสนี้ใด. นี้คือความแปลกกันของบัณฑิตจากคนพาล. ดังนั้นในพระสูตรนี้ ท่านจึงเรียกว่าปุถุชนผู้ยังมีปฏิสนธิทั้งหมดว่า เป็นคนพาล พระขีณาสพผู้ไม่มีปฏิสนธิ เรียกว่าเป็นบัณฑิต. ส่วนพระโสดาบัน พระสกทาคามีและพระอนาคามี ใครๆ ไม่ควรเรียกว่า บัณฑิต หรือคนพาล. แต่เมื่อคบ ก็คบแต่ฝ่ายบัณฑิต.

               จบอรรถกถาพาลบัณฑิตสูตรที่ ๙               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อภิสมัยสังยุตต์ อาหารวรรคที่ ๒ พาลปัณฑิตสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 16 / 1อ่านอรรถกถา 16 / 53อรรถกถา เล่มที่ 16 ข้อ 57อ่านอรรถกถา 16 / 60อ่านอรรถกถา 16 / 725
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=16&A=557&Z=589
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=978
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=978
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :