ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 16 / 1อ่านอรรถกถา 16 / 96อรรถกถา เล่มที่ 16 ข้อ 98อ่านอรรถกถา 16 / 104อ่านอรรถกถา 16 / 725
อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อภิสมัยสังยุตต์ กฬารขัตติยวรรคที่ ๔
ภูตมิทสูตร

               กฬารขัตติยวรรคที่ ๔               
               อรรถกถาภูตมิทสูตรที่ ๑               
               พึงทราบวินิจฉัยในภูตมิทสูตรที่ ๑ แห่งกฬารขัตติยวรรคต่อไป.
               บทว่า อชิตปญฺเห ในอชิตปัญหา ได้แก่ ในปัญหาที่อชิตมาณพทูลถามแล้ว.
               บทว่า สงฺขาตธมฺมาเส ได้ตรัสรู้ธรรมแล้ว ได้แก่ ผู้มีธรรมอันรู้แล้ว คือมีธรรมอันตรัสรู้แล้ว มีธรรมอันชั่งแล้ว มีธรรมอันไตร่ตรองเสร็จแล้ว.
               บทว่า เสกฺขา เสกขบุคคล ได้แก่ พระเสขะทั้ง ๗.
               บทว่า ปุถู จำนวนมาก คือพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาชน (พระเสขะ) ๗ พวกนั่นแหละ จึงตรัสว่า ปุถู.
               บทว่า อิธ คือ ในพระศาสนานี้. ในบทว่า นิปโก ปัญญา ท่านเรียกว่าเนปักกะ ผู้ประกอบด้วยปัญญานั้น ชื่อว่านิปกะ อชิตมาณพทูลวิงวอนว่า "ก็พระองค์ผู้ฉลาด ขอได้โปรดตรัสบอก."
               บทว่า อิริยํ ซึ่งความประพฤติ ได้แก่ความประพฤติ คือการปฏิบัติที่มีอาจาระความประพฤติดีเป็นแนวทางอยู่. อชิตมาณพกราบทูลเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ท่านผู้นิรทุกข์" ในอชิตปัญหานี้ มีความสังเขปดังนี้.
               "ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ผู้ฉลาด ท่านผู้มุ่งการปฏิบัติของพระเสขบุคคล และพระขีณาสพผู้ตรัสรู้ธรรมแล้ว อันข้าพเจ้าถามแล้ว ขอได้โปรดตรัสบอกแก่ข้าพเจ้าเถิด."
               คำว่า ตุณฺหี อโหสิ ได้นิ่งอยู่ ได้แก่ พระสารีบุตรเถระถูกพระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งถามถึง ๓ ครั้ง เพราะเหตุใด จึงได้นิ่งอยู่.
               ถามว่า คงจะสงสัยในปัญหาหรือไม่ก็สงสัยในพระอัธยาศัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               แก้ว่า มิได้สงสัยในปัญหา.
               เล่ากันว่า พระสารีบุตรเถระได้มีความคิดอย่างนี้ว่า "พระศาสดาทรงมีพระประสงค์จะให้เรากล่าวปฏิปทา (ข้อปฏิบัติ) อันควรบรรลุสำหรับพระเสขบุคคลและพระอเสขะ และปฏิปทานั้นไม่อาจกล่าวด้วยเหตุมาก คือด้วยอำนาจแห่งขันธ์ด้วยอำนาจแห่งธาตุ ด้วยอำนาจแห่งอายตนะ และด้วยอำนาจแห่งปัจจยาการ. เมื่อเรากล่าวอยู่ จักอาจกำหนดพระอัธยาศัยของพระศาสดากล่าวหรือไม่หนอ."
               ครั้งนั้น พระศาสดาทรงพระดำริว่า "เว้นเราเสียแล้ว ชื่อว่าสาวกอื่นผู้ถือบาตรเที่ยวไปอยู่ จะมีปัญญาเสมอกับพระสารีบุตร ย่อมไม่มี แม้เธอจะถูกเราถามปัญหา ก็ได้นิ่งเสียถึง ๓ ครั้ง เธอคงสงสัยในปัญหา หรือไม่ก็สงสัยในอัธยาศัย (ความประสงค์ของเรา).
               ครั้นทรงทราบว่าสงสัยในอัธยาศัยแล้ว เมื่อจะทรงประทานนัยเพื่อกล่าวแก้ปัญหา จึงตรัสว่า "ภูตมิทนฺติ สารีปุตฺต ปสฺสสิ ดูก่อนสารีบุตร เธอเห็นไหมว่า นี้คือขันธปัญจก (ขันธ์ ๕) ที่เกิดแล้ว"
               ในพระบาลีนั้น คำว่า ภูตํ แปลว่า เกิดแล้ว ได้แก่บังเกิดแล้ว. และคำว่า ภูตํ นี้เป็นชื่อของขันธปัญจก.
               เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงประทานนัยแก่พระสารีบุตรเถระว่า "ดูก่อนสารีบุตร เธอจงกล่าวแก้ปัญหานี้ด้วยอำนาจแห่งขันธ์ ๕" ดังนี้. และพร้อมกับการประทานนัย การพยากรณ์ปัญหาจึงปรากฏแก่พระสารีบุตรเถระ ด้วยนัยนับร้อยนับพัน ดุจมหาสมุทรอันโล่งเป็นผืนเดียวปรากฏแก่บุรุษผู้ยืนอยู่ที่ริมฝั่งฉะนั้น
               ครั้งนั้น พระสารีบุตรเถระเมื่อจะพยากรณ์ปัญหานั้น ได้กล่าวว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลเห็นด้วยปัญญาโดยชอบตามความเป็นจริงว่า นี้คือขันธปัญจกที่เกิดแล้ว."
               คำว่า ภูตมิทํ ในข้อนั้น แปลว่า นี้คือขันธปัญจกที่บังเกิดแล้ว.
               คำว่า ย่อมเห็นด้วยปัญญาโดยชอบ ได้แก่ ย่อมเห็นโดยชอบด้วยมรรคปัญญา (รู้ทางดำเนินไปสู่ความดับทุกข์) พร้อมด้วยวิปัสสนา.
               ข้อว่า ปฏิปนฺโน โหติ ได้แก่ ย่อมปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่นิพพิทาเป็นต้น เริ่มแต่ศีลจนถึงพระอรหัตมรรค. เพราะเหตุใด พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงปรารภความนี้ว่า "ขันธปัญจกนี้เกิดเพราะอาหารนั้น." เพราะขันธปัญจกนี้อาศัยอาหารจึงตั้งอยู่ได้ ฉะนั้น พระพุทธองค์จึงทรงปรารภความข้อนี้ เพื่อทรงแสดงอาหารนั้นทำให้เป็นสภาวนาม. ปฏิปทาคือข้อปฏิบัติของพระเสขบุคคลจึงเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วด้วยปริยายนี้แล.
               บทว่า ตทาหารนิโรธา เพราะอาหารนั้นดับ คือเพราะความดับแห่งอาหารเหล่านั้น.
               เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภข้อความนี้.
               เพราะขันธปัญจกนั้นย่อมดับเพราะอาหารดับ ฉะนั้น พระพุทธองค์จึงทรงปรารภข้อความนี้ เพื่อทรงแสดงความดับแห่งอาหารนั้น กระทำให้เป็นสภาวนาม. ปฏิปทาของพระเสขบุคคล จึงเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วด้วยปริยายนี้แล.
               คำว่า นิพฺพิทา เป็นต้น พึงทราบว่า เป็นการกล่าวบอกเหตุทุกอย่าง.
               บทว่า อนุปาทา เพราะความไม่ยึดมั่น ได้แก่พ้นจากอุปาทาน คือความยึดมั่น ๔ ประการ ไม่ถือเอาธรรมไรๆ.
               ด้วยคำว่า สาธุ สาธุ "ดีละๆ" นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำการพยากรณ์ปัญหาของพระสารีบุตรเถระให้รื่นเริง เมื่อจะทรงพยากรณ์เช่นนั้นแหละด้วยพระองค์เอง จึงตรัส้ซ้ำว่า "นี้คือขันธปัญจกที่เกิดแล้ว" ดังนี้เป็นต้น.

               จบอรรถกถาภูตมิทสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อภิสมัยสังยุตต์ กฬารขัตติยวรรคที่ ๔ ภูตมิทสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 16 / 1อ่านอรรถกถา 16 / 96อรรถกถา เล่มที่ 16 ข้อ 98อ่านอรรถกถา 16 / 104อ่านอรรถกถา 16 / 725
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=16&A=1179&Z=1262
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=1525
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=1525
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :