ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 17 / 1อ่านอรรถกถา 17 / 151อรรถกถา เล่มที่ 17 ข้อ 152อ่านอรรถกถา 17 / 154อ่านอรรถกถา 17 / 594
อรรถกถา สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ขันธสังยุตต์ มัชฌิมปัณณาสก์ ขัชชนิยวรรคที่ ๓
อรหันตสูตรที่ ๑ ว่าด้วยพระอรหันต์เป็นผู้เลิศในโลก

               ๔. อรรถกถาอรหันตสูตรที่ ๑               
               พึงทราบวินิจฉัยในอรหันตสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ยาวตา ภิกฺขเว สตฺตาวาสา ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าสัตตาวาส มีอยู่ประมาณเท่าใด.
               บทว่า ยาวตา ภวคฺคํ ความว่า ชื่อว่าภวัคคพรหม (พรหมสถิตย์อยู่ในภพสูงสุด) มีอยู่ประมาณเท่าใด.
               บทว่า เอเต อคฺคา เอเต เสฏฺฐา ความว่า พระอรหันต์ทั้งหลายเหล่านั้นนับว่า เป็นเลิศและประเสริฐที่สุด.
               บทว่า ยทิทํ อรหนฺโต คือ เยเมว๑- อรหนฺโต นาม (แปลว่า ชื่อว่า พระอรหันต์เหล่านี้ใดแล) แม้พระสูตรนี้ ก็พึงทราบว่า เพิ่มพูนความยินดีและเร้าใจโดยนัยก่อนนั่นแล.
____________________________
๑- ปาฐะว่า เยเมว ฉบับพม่าเป็น เย อิเม

               บทว่า อถาปรํ เอตทโวจ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระดำรัสนั่น คือพระดำรัสมีอาทิว่า สุขิโน วต อรหนฺโต (พระอรหันต์ทั้งหลายเป็นสุขแท้หนอ) ด้วยคาถาทั้งหลายที่กำหนดแสดงความหมายนั้น และที่กำหนดแสดงความหมายพิเศษ.

               คุณสมบัติพิเศษของพระอรหันต์               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุขิโน คือ (พระอรหันต์ทั้งหลาย) เป็นสุขด้วยความสุขอันเกิดจากการเข้าฌานด้วยความสุขอันเกิดจากการบรรลุมรรค และด้วยความสุขอันเกิดจากการบรรลุผล.
               บทว่า ตณฺหา เตสํ น วิชฺชติ ความว่า พระอรหันต์เหล่านั้นไม่มีตัณหาที่เป็นตัวการให้เกิดทุกข์ (ที่จะต้องได้รับ) ในอบาย. พระอรหันต์เหล่านั้น ชื่อว่าเป็นสุขแท้ทีเดียว เพราะไม่มีทุกข์ที่มีตัณหาเป็นมูลแม้นี้ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อสฺมิมาโน สมุจฺฉินฺโน ความว่า อัสมิมานะ (ความสำคัญว่า เรามีอยู่) ๙ อย่าง (พระอรหันต์) ตัดได้ขาดแล้วด้วยอรหัตตมรรค.
               บทว่า โมหชาลํ ปทาลิตํ ความว่า ข่ายคือกิเลส (พระอรหันต์) ทำลายแล้วด้วยญาณ.
               บทว่า อเนชํ ได้แก่ พระอรหัตต์เป็นเครื่องละตัณหา กล่าวคือเอชา.๒-
____________________________
๒- ปาฐะว่า อเนชาสงฺขาตาย แต่ฉบับพม่าเป็น เอชาสงฺขาตาย แปลตามฉบับพม่า.

               บทว่า อนุปลิตฺตา ได้แก่ (พระอรหันต์) ไม่ถูกฉาบไล้ ด้วยเครื่องฉาบไล้ คือ ตัณหาและทิฏฐิ.
               บทว่า พฺรหฺมภูตา แปลว่า ประเสริฐที่สุด.
               บทว่า ปริญฺญาย ได้แก่ กำหนดรู้แล้วด้วยปริญญา ๓.
               ในบทว่า สตฺตสทฺธมฺมโคจรา มีวิเคราะห์ว่า สัทธรรม ๗ ประการเหล่านี้ คือ ศรัทธา ๑ หิริ ๑ โอตตัปปะ ๑ พาหุสัจจะ ๑ ความเป็นผู้ปรารภความเพียร ๑ ความเป็นผู้มีสติตั้งมั่น ๑ ปัญญา ๑ เป็นอารมณ์ของพระอรหันต์เหล่านั้น เหตุนั้น พระอรหันต์เหล่านั้นจึงชื่อว่ามีสัทธรรม ๗ เป็นอารมณ์.
               บทว่า สตฺตรตนสมฺปนฺนา ได้แก่ ประกอบด้วยรัตนะ คือโพชฌงค์ ๗ ประการ.
               บทว่า อนุวิจรนฺติ ความว่า แม้เหล่าโลกิยมหาชนก็เที่ยวถามอยู่ร่ำไป.
               ก็ในสูตรนี้ ท่านมุ่งถึงอาจาระที่ปราศจากข้อระแวงสงสัยของพระขีณาสพทั้งหลาย ด้วยเหตุนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ปหีนภยเภรวา (ผู้ละความกลัวธรรมดาและความกลัวขั้นรุนแรงได้แล้ว).
               ในบทว่า ปหีนภยเภรวา นั้น มีอธิบายว่า ความกลัวขั้นธรรมดา ชื่อว่าภัย. ความกลัวขั้นรุนแรง ชื่อว่าเภรวะ.
               บทว่า ทสหงฺเคหิ สมฺปนฺนา ได้แก่ ประกอบด้วยองค์ที่เป็นอเสขะ.
               บทว่า มหานาคา ได้แก่ เป็นมหานาคด้วยเหตุ ๔ ประการ.
               บทว่า สมาหิตา ได้แก่ (มีใจมั่นคง) ด้วยอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ.
               บทว่า ตณฺหา เตสํ น วิชฺชติ ความว่า พระอรหันต์เหล่านั้นไม่มีแม้ตัณหาที่ทำ (สัตว์โลก) ให้เป็นทาสซึ่งพระรัฐบาลเถระกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นตรัสไว้แล้วว่า สัตว์โลกพร่องอยู่ (เป็นนิตย์) ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหาดังนี้แล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงภาวะที่พระขีณาสพทั้งหลายเป็นไท ด้วยบทว่า ตณฺหา เตสํ น วิชฺชติ นี้.
               บทว่า อเสกฺขญาณํ ได้แก่ ญาณในอรหัตตผล.
               บทว่า อนฺติโมยํ สมุสฺสโย แปลว่า อัตตภาพนี้มีเป็นครั้งสุดท้าย.
               บทว่า โย สาโร พฺรหฺมจริยสฺส ความว่า ผลชื่อว่า เป็นสาระแห่งพรหมจรรย์คือมรรค.
               บทว่า ตสฺมึ อปรปจฺจยา ความว่า ดำรงอยู่ในอริยผลนั้น แทงตลอดโดยประจักษ์ (ด้วยตนเอง) ทีเดียวว่า สมบัตินี้ไม่ใช่สมบัติของผู้อื่น.
               บทว่า วิธาสุ น วิกมฺปนฺติ คือ ไม่หวั่นไหวในส่วนแห่งมานะ ๓.
               บทว่า ทนฺตภูมึ ได้แก่ อรหัตตผล.
               บทว่า วิชิตาวิโน ได้แก่ ชำนะกิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้นอย่างเด็ดขาด.
               ในบทว่า อุทฺธํ เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               (ในร่างกาย) ปลายผม พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่าเบื้องบน (อุทฺธํ) ฝ่าเท้า ตรัสเรียกว่าเบื้องล่าง (อปาจี) กลางลำตัว ตรัสเรียกว่าเบื้องขวาง (ติริยํ)
               (ในอารมณ์) อารมณ์ที่เป็นอดีตตรัสเรียกว่าเบื้องบน อารมณ์ที่เป็นอนาคต ตรัสเรียกว่าเบื้องล่าง อารมณ์ที่เป็นปัจจุบัน ตรัสเรียกว่าเบื้องขวาง.
               อีกอย่างหนึ่ง (ในโลก) เทวโลก ตรัสเรียกว่าเบื้องบน อบายโลก ตรัสเรียกว่าเบื้องล่าง มนุสสโลก ตรัสเรียกว่าเบื้องขวาง.
               บทว่า นนฺทิ เตสํ น วิชฺชติ ความว่า พระอรหันต์เหล่านั้นไม่มีตัณหาในฐานะเหล่านั้น หรือเมื่อว่าโดยย่อ (ก็คือ) ไม่มีตัณหาในขันธ์ทั้งหลาย ทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบัน.
               ในสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงว่า พระอรหันต์ทั้งหลายไม่มีตัณหาที่เป็นมูลรากของวัฏฏะ
               บทว่า พุทฺธา ได้แก่ ผู้รู้สัจจะ ๔.
               ในพระคาถานี้ มีการประมวลสีหนาทดังต่อไปนี้ :-
               พระขีณาสพทั้งหลายสถิตย์อยู่เบื้องหลังภพ (ผู้ข้ามภพได้แล้ว) ย่อมบันลือสีหนาท๓- กล่าวคือบันลืออย่างไม่หวาดกลัวว่า เราทั้งหลายอยู่เป็นสุขด้วยวิมุตติสุข ตัณหาที่ทำให้อยู่เป็นทุกข์เราทั้งหลายละได้แล้ว ขันธ์ ๕ เราทั้งหลายกำหนดรู้แล้ว ตัณหาที่ทำให้สัตว์โลกเป็นทาสและตัณหาที่เป็นมูลของวัฏฏะ นับว่า เราทั้งหลายละได้แล้ว เราทั้งหลายเป็นผู้ที่ไม่มีใครยิ่งไปกว่า (และ) ไม่เหมือนใคร ชื่อว่าพุทธะ (สาวกพุทธ) เพราะรู้สัจจะ ๔.
____________________________
๓- ปาฐะว่า นทนฺตขีณาสวานํ โหติ ฉบับพม่าเป็น สีหนาทํ นทนฺติ ขีณาสวา แปลตามฉบับพม่า.

               จบอรรถกถาอรหันตสูตรที่ ๑               
               --------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ขันธสังยุตต์ มัชฌิมปัณณาสก์ ขัชชนิยวรรคที่ ๓ อรหันตสูตรที่ ๑ ว่าด้วยพระอรหันต์เป็นผู้เลิศในโลก จบ.
อ่านอรรถกถา 17 / 1อ่านอรรถกถา 17 / 151อรรถกถา เล่มที่ 17 ข้อ 152อ่านอรรถกถา 17 / 154อ่านอรรถกถา 17 / 594
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=17&A=1877&Z=1906
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=6804
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=6804
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :