ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 17 / 1อ่านอรรถกถา 17 / 165อรรถกถา เล่มที่ 17 ข้อ 170อ่านอรรถกถา 17 / 182อ่านอรรถกถา 17 / 594
อรรถกถา สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ขันธสังยุตต์ มัชฌิมปัณณาสก์ ขัชชนิยวรรคที่ ๓
ปาลิเลยยสูตร ว่าด้วยการรู้เห็นที่ทำให้สิ้นอาสวะ

               อรรถกถาปาลิเลยยสูตรที่ ๙               
               พึงทราบวินิจฉัยในปาลิเลยยสูตรที่ ๙ ดังต่อไปนี้ :-

               ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะกัน               
               บทว่า จาริกํ ปกฺกามิ ความว่า ในคราวที่ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะกัน วันหนึ่ง พระศาสดาจึงทรงนำเรื่องของพระเจ้าทีฆีติโกศลมาแล้วตรัสสอนด้วยพระคาถาทั้งหลายมีอาทิว่า
                         ไม่ว่าในกาลไหนๆ ในโลกนี้ เวรทั้งหลาย
                         ไม่ (เคย) ระงับด้วยเวรเลย.

               วันนั้น เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังทะเลาะกันอยู่ ราตรีก็สว่างแล้ว แม้วันที่สองพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสเรื่องนั้นซ้ำอีก. แม้วันนั้น เมื่อภิกษุเหล่านั้นยังคงทะเลาะกันอยู่เหมือนเดิม ราตรีก็สว่างแล้ว ถึงวันที่ ๓ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ยังตรัสเรื่องนั้นซ้ำอีกแล.

               พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปองค์เดียว               
               ครั้นแล้ว ภิกษุรูปหนึ่ง จึงได้กราบทูลกะพระองค์อย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงขวนขวายน้อย หมั่นประกอบการประทับอยู่เป็นสุขในปัจจุบันอยู่เถิด ข้าพระองค์ทั้งหลายจักปรากฏ เพราะความบาดหมาง ทะเลาะวิวาทกันครั้งนี้เอง
               พระศาสดาทรงดำริว่า โมฆบุรุษเหล่านี้มีจิตถูกโทสะครอบงำแล้วแล เราตถาคตไม่สามารถจะไกล่เกลี่ยโมฆบุรุษพวกนี้ให้ยอมกันได้เลยดังนี้แล้ว ทรงดำริ (อีก) ว่า ประโยชน์อะไรของเราตถาคตกับโมฆบุรุษเหล่านี้ เราตถาคตจักอยู่ด้วยการเที่ยวจาริกไปคนเดียว.
               พระศาสดาทรงดำริอย่างนี้แล้ว รุ่งเช้าครั้นทรงชำระพระวรกายเรียบร้อยแล้ว จึงได้เสด็จ (ออก) เที่ยวบิณฑบาตในเมืองโกสัมพี มิได้ตรัสเรียกใครๆ (ให้ตามเสด็จไปด้วย) พระองค์เดียวเท่านั้นเสด็จหลีกจาริกไปไม่มีเพื่อนสอง.
               พระเถระกล่าวคำนี้ว่า ยสฺมึ อาวุโส สมเย ก็เพราะท่านได้ทราบการเสด็จเที่ยวไปของพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหมดว่า วันนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจักเสด็จหลีกไปกับภิกษุรูปเดียว วันนี้จักเสด็จหลีกไปกับภิกษุสองรูป วันนี้จักเสด็จหลีกไปกับภิกษุ ๑๐๐ รูป วันนี้จักเสด็จหลีกไปกับภิกษุ ๑,๐๐๐ รูป และวันนี้จักเสด็จหลีกไปเพียงลำพังพระองค์เดียว คือการเสด็จเที่ยวไปของพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหมดปรากฏ คือแจ่มแจ้งแก่พระเถระนั้น.

               เสด็จสู่ป่าปาลิเลยยกะ               
               บทว่า อนุปุพฺเพน ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับคามนิคม พลางประสงค์จะโปรดภิกษุอยู่ด้วยการเที่ยวจาริกไปแต่ลำพัง จึงได้เสด็จไปยังพาลกโลณการคาม.
               ณ พาลกโลณการคามนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอานิสงส์ในการอยู่ด้วยการเที่ยว (จาริก) ไปตามลำพัง แก่พระภัคคุเถระตลอดเวลาหลังเสวยพระกระยาหารเสร็จ (ในเวลากลางวัน) และตลอดทั้ง ๓ ยามในเวลากลางคืน รุ่งขึ้นทรงมีพระเถระนั้นเป็นปัจฉาสมณะเสด็จเที่ยวบิณฑบาตแล้วทรงให้พระเถระนั้นกลับในที่นั้นนั่นเอง ทรงดำริว่า เราตถาคตจักโปรดกุลบุตร ๓ คน (ภิกษุ ๓ รูป) ผู้อยู่ด้วยกันด้วยความสมัครสมาน จึงได้เสด็จพุทธดำเนิน (ต่อไป) ยังป่าปาจีนวังสะ. พระองค์ได้ตรัสอานิสงส์ในการอยู่ด้วยกันด้วยความสมัครสมานแก่ภิกษุทั้ง ๓ รูปนั้นตลอดคืน (แล้วรุ่งเช้าเสด็จออกบิณฑบาต) ทรงให้ภิกษุทั้ง ๓ รูปนั้นกลับในที่นั้นนั่นเอง แล้วเสด็จหลีกมุ่งสู่เมืองปาลิเลยยกะตามลำพังพระองค์เดียว เสด็จถึงเมืองปาลิเลยยกะตามลำดับ ด้วยเหตุนั้น พระสังคีติกาจารย์จึงกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะเสด็จจาริกไปตามลำดับ ก็ได้เสด็จไปทางเมืองปาลิเลยยกะ.

               ช้างอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า               
               บทว่า ภทฺทสาลมูเล ความว่า ชาวเมืองปาลิเลยยกะถวายทานแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ได้พากันสร้างบรรณศาลาถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าในราวป่าชื่อรักขิตะ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากป่าปาลิเลยยกะ ทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ประทับอยู่ว่า ขอนิมนต์พระองค์ประทับอยู่ในบรรณศาลานี้เถิด.
               ก็แล ต้นสาละบางต้นในราวป่านั้นนั่นแล เป็นต้นไม้ใหญ่ประเสริฐ จึงเรียกว่า ภัททสาละ พระผู้มีพระภาคเจ้าเข้าไปอาศัยเมืองนั้นประทับอยู่ที่โคนต้นไม้นั้น (ซึ่งอยู่) ใกล้บรรณศาลาในราวป่านั้น ด้วยเหตุนั้น พระสังคีติกาจารย์จึงกล่าวว่า ภทฺทสาลมูเล.
               ก็เมื่อพระตถาคตประทับอยู่ในราวป่านั้นอย่างนั้น ช้างพลายตัวหนึ่งถูกพวกช้างพังและลูกช้างเป็นต้น เบียดเสียดในสถานที่ทั้งหลายมีสถานที่ออกหากินและสถานที่ลงท่าน้ำเป็นต้น เมื่อหน่าย (ที่จะอยู่) ในโขลง คิดว่า เราจะอยู่กับช้างพวกนี้ไปทำไม จึงละโขลง (ออก) ไปยังถิ่นมนุษย์ เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าในราวป่าปาลิเลยยกะ (ทันทีที่เห็น) ใจก็สงบเยือกเย็นประหนึ่งความร้อนที่ถูกดับด้วยน้ำพันหม้อ. ได้ยืนอยู่ใกล้พระศาสดา.
               นับแต่นั้นมา ช้างนั้นก็ทำวัตรปฏิบัติถวายพระศาสดา ถวายน้ำบ้วนพระโอษฐ์ นำน้ำสรงมาถวาย ถวายไม้สีฟัน กวาดบริเวณ นำผลไม้มีรสอร่อยจากป่ามาถวายพระศาสดา. พระศาสดาก็ทรงเสวย. คืนวันหนึ่ง พระศาสดาเสด็จจงกรมแล้วประทับนั่งบนแผ่นหิน. ฝ่ายช้างพลายก็ยืนอยู่ในที่ใกล้ๆ. พระศาสดาทรงเหลียวมองด้านพระปฤษฎางค์แล้ว มองไม่เห็นใครๆ เลย เหลียวมองด้านหน้าและด้านพระปรัศว์ทั้งสอง ก็มองไม่เห็นใครๆ เลยอย่างนั้น (เหมือนกัน).
               ขณะนั้นพระองค์เกิดพระดำริขึ้นว่า สุขแท้หนอที่เราตถาคตอยู่แยกจากภิกษุผู้ก่อความบาดหมางกันเหล่านั้น. ฝ่ายช้างพลายก็คิดถึงเหตุเป็นต้นว่า ไม่มีช้างเหล่าอื่นคอยเคี้ยวกินกิ่งไม้ที่เราโน้มลง แล้วเกิดความคิดขึ้นว่า สุขแท้หนอที่เราอยู่ช้างเดียว เราได้ทำวัตรถวายพระศาสดา.
               พระศาสดาตรวจดูพระดำริของพระองค์แล้วทรงดำริว่า จิตของเราตถาคตเป็นเช่นนี้ก่อน จิตของช้างเป็นเช่นไรหนอแล ทรงเห็นจิตของช้างนั้นเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน จึงทรงดำริว่า จิตของเราทั้งสองเหมือนกันดังนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ว่า
                         จิตของช้างตัวประเสริฐผู้มีงางอน กับจิต
                         อันประเสริฐ (ของเราตถาคต) นี้ ย่อมเข้ากันได้
                         (และ) ไม่ว่าจะเป็นใคร ถ้ายินดีอยู่ในป่า (จิต
                         ของเขากับจิตของเราตถาคตย่อมเข้ากันได้ทั้งนั้น)

               บทว่า อถโข สมฺพหุลา ภิกฺขู ความว่า ครั้งนั้น เมื่อพระตถาคตประทับอยู่ในป่าปาลิเลยยกะนั้นดังพรรณนามานี้ ภิกษุ ๕๐๐ รูปที่จำพรรษาอยู่ในทิศทั้งหลาย.
               บทว่า เยนายสฺมา อานนฺโท ความว่า (ภิกษุเหล่านั้น) ไม่สามารถจะไปสำนักพระศาสดาตามธรรมดาของตนได้ จึงเข้าไปหาพระอานนท์จนถึงที่อยู่.

               ศาสนธรรม               
               บทว่า อนนฺตรา อาสวานํ ขโย ความว่า อรหัตตผลต่อจากมรรค.
               บทว่า วิจยโส แปลว่า ด้วยการวิจัย. อธิบายว่า กำหนดด้วยญาณซึ่งสามารถวิจัยถึงสภาวะของธรรมเหล่านั้นๆ.
               บทว่า ธมฺโม หมายถึง ศาสนธรรม. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมกำหนดส่วนเหล่าใดมีอาทิว่า สติปัฏฐาน ๔ ไว้ เพื่อต้องการประกาศส่วนเหล่านั้น พระองค์จึงตรัส (พระพุทธพจน์นี้ไว้).

               ปฏิจจสมุปบาทย่อย               
               บทว่า สมนุปสฺสนา ได้แก่ การพิจารณาเห็นด้วยทิฏฐิ.
               บทว่า สงฺขาโร โส ได้แก่ สังขารคือทิฏฐินั้น.
               บทว่า ตโตโช โส สงฺขาโร ความว่า สังขารนั้นเกิดจากตัณหานั้น. อธิบายว่า ในบรรดาจิตที่สัมปยุตด้วยตัณหา สังขารนั้นย่อมเกิดในจิต ๔ ดวง.
               บทว่า สาปิ ตณฺหา ได้แก่ ตัณหาซึ่งเป็นปัจจัยของสังขารคือทิฏฐินั้น.
               บทว่า สาปิ เวทนา ได้แก่ เวทนาซึ่งเป็นปัจจัยของตัณหานั้น.
               บทว่า โสปิ ผสฺโส ได้แก่ สัมผัสอันเกิดจากอวิชชาซึ่งเป็นปัจจัยของเวทนานั้น.
               บทว่า สาปิ อวิชฺชา ได้แก่ อวิชชาอันสัมปยุตด้วยผัสสะนั้น.

               ถ้ามีเรา บริขารของเราก็มี               
               บทว่า โน จสฺสํ โน จ เม สิยา ความว่า ถ้าเราไม่พึงมีไซร้ แม้บริขารของเราก็ไม่พึงมีด้วย.
               บทว่า น ภวิสฺสามิ น เม ภวิสฺสติ ความว่า ก็ถ้าแม้ในอนาคต เราจักไม่มีไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้บริขารของเราก็จักไม่มีด้วย.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาให้ภิกษุนั้นสลัดทิ้งทิฏฐิที่ยึดถือไว้แล้วๆ ตามอัธยาศัยบุคคลบ้าง ตามการยักย้ายเทศนาบ้าง.
               ในบทว่า ตโตโช โส สงฺขาโร พึงทราบอธิบายว่า :-
               ถามว่า ในจิตที่สัมปยุตด้วยตัณหาไม่มีวิจิกิจฉาเลย (แล้ว) สังขารคือวิจิกิจฉาจะเกิดจากตัณหาได้อย่างไร?
               ตอบว่า สังขารคือวิจิกิจฉาเกิดจากตัณหาก็เพราะยังละตัณหาไม่ได้. อธิบายว่า เมื่อตัณหาใดยังละไม่ได้ สังขารคือวิจิกิจฉานั้นก็เกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาตัณหานั้น จึงตรัสคำนี้ว่า ตโตโช โส สงฺขาโร.
               แม้ในทิฏฐิก็ได้นัย (ความหมาย) อย่างเดียวกันนี้. เพราะธรรมดาว่า สัมปยุตตทิฏฐิ ย่อมไม่มีในจิตตุบาท ๔ ดวง.
               อนึ่ง สัมปยุตตทิฏฐินั้นเกิดขึ้น เพราะละตัณหาใดไม่ได้หมายเอาตัณหานั้น ความหมายนี้จึงใช้ได้แม้ในทิฏฐินั้น รวมความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสวิปัสสนาจนถึงอรหัตตผลไว้ในฐานะ ๒๓ ในสูตรนี้.

               จบอรรถกถาปาลิเลยยสูตรที่ ๙               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ขันธสังยุตต์ มัชฌิมปัณณาสก์ ขัชชนิยวรรคที่ ๓ ปาลิเลยยสูตร ว่าด้วยการรู้เห็นที่ทำให้สิ้นอาสวะ จบ.
อ่านอรรถกถา 17 / 1อ่านอรรถกถา 17 / 165อรรถกถา เล่มที่ 17 ข้อ 170อ่านอรรถกถา 17 / 182อ่านอรรถกถา 17 / 594
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=17&A=2111&Z=2227
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=7340
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=7340
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :