ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 17 / 1อ่านอรรถกถา 17 / 208อรรถกถา เล่มที่ 17 ข้อ 215อ่านอรรถกถา 17 / 222อ่านอรรถกถา 17 / 594
อรรถกถา สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ขันธสังยุตต์ มัชฌิมปัณณาสก์ เถรวรรคที่ ๔
วักกลิสูตร ว่าด้วยการเห็นธรรมชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า

               อรรถกถาวักกลิสูตรที่ ๕               
               พึงทราบวินิจฉัยในวักกลิสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า กุมฺภการนิเวสเน แปลว่า ในโรงช่างหม้อ เล่ากันมาว่า พระเถระออกพรรษาปวารณาแล้วได้เดินทางมาเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านเกิดอาพาธหนัก (ขณะที่เดินทางมาถึง) กลางพระนคร (ราชคฤห์) เท้า (ทั้งสองข้าง) ก้าวไม่ออก. ที่นั้น พวกชาวเมืองใช้วอมีลักษณะเป็นเตียงน้อยหามท่านไปไว้ในโรงช่างหม้อ. และโรงนั้นก็เป็นโรงที่ทำงานของช่างหม้อเหล่านั้น (แต่) มิใช่เป็นโรงที่เขาพักอาศัยกัน
               พระสังคีติกาจารย์หมายเอาโรงนั้นจึงกล่าวว่า กุมฺภการนิเวสเน วิหรติ (พระวักกลิเถระอยู่ในเรือนของช่างหม้อ).
               บทว่า พาฬฺหคิลาโน คือ เป็นไข้เกินขนาด (ไข้หนัก).
               บทว่า สมญฺโจปิ ความว่า (พระวักกลิเถระ) แสดงนอบน้อม (เคารพ) แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยอาการไหว (กาย) ทั่วไป.
               ว่ากันว่า การที่ภิกษุผู้มีพรรษาอ่อนกว่าเห็นภิกษุผู้มีพรรษาแก่กว่า แม้ (ตนเอง) จะเจ็บป่วยหนักก็ต้องแสดงความนอบน้อมด้วยอาการลุกขึ้น นี้ถือเป็นธรรมเนียม แต่ภิกษุผู้มีพรรษาแก่กว่านั้นก็ต้องบอกเธอว่า อย่าลุกขึ้นเลย.
               บทว่า สนฺติมานิ อาสนานิ ความว่า ก็ในสมัยพุทธกาล ในที่อยู่ของภิกษุแม้รูปหนึ่งจะปูลาดอาสนะไว้รอท่าเหมือนกันหมด ด้วยหวังว่า ถ้าพระศาสดาจักเสด็จมาไซร้จักได้ประทับนั่งบนอาสนะนี้. ชั้นที่สุด (ถ้าไม่มีอาสนะ) ก็จะปูลาดแต่แผ่นกระดาน (หรือ) แม้เพียงเครื่องลาดใบไม้ก็จะปูลาดไว้.
               บทว่า ขมนียํ ยาปนียํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า เธอทนได้แลหรือ คือเธอสามารถทนทุกข์หรือเคลื่อนไหวอิริยาบถได้แลหรือ.
               บทว่า ปฏิกฺกมนฺติ แปลว่า ทุเลาลง (ลดน้อย).
               บทว่า อภิกฺกมนฺติ แปลว่า กำเริบ (สูงขึ้น).
               บทว่า ปฏิกฺกโมสานํ เท่ากับ ปฏิกฺกโม เอตาสํ แปลว่า ทุกขเวทนาเหล่านั้นเพลาลง.
               บทว่า สีลโต น อุปวทติ ความว่า กล่าวติเตียนเพราะปรารภศีล คือโดยศีลเป็นเหตุไม่ได้.
               บทว่า จิรปฏิกาหํ ตัดบทเป็น จิรปฏิโก อหํ ความว่า ข้าพระองค์ (ประสงค์จะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า) ตั้งแต่นานมาแล้ว.
               บทว่า ปูติกาเยน ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงพระวรกายของพระองค์ แม้จะมีสีงามดังสีทองคำอย่างนั้น ก็เพราะหมายความว่า (มีของปฏิกูล) ไหลออกประจำ.
               ในบทว่า โย โข วกฺกลิ ธมฺมํ นี้ พึงทราบอธิบายว่า (ยังสงสัยจะเป็นพระนาคเสน กล่าวหรือเปล่า?) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระธรรมกายที่ตรัสไว้ว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร ธรรมกายแลคือพระตถาคต ความจริงโลกุตตรธรรม ๙ อย่าง (มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑) ชื่อว่า พระกายของพระตถาคต.
               บัดนี้ เมื่อจะทรงเริ่มแสดงธรรม มีปริวัฏ ๓ แก่พระเถระ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า ตึ กึ มญฺญสิ เป็นต้น.
               บทว่า กาฬสิลา ได้แก่ วัดกาฬสิลา.
               บทว่า วิโมกฺขาย ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่มรรควิโมกข์.
               บทว่า สุวิมุตฺโต วิมุจฺจิสฺสต ความว่า (พระวักกลิเถระนั้น) เป็นผู้หลุดพ้นดีแล้ว จักหลุดพ้นด้วยวิมุตติคืออรหัตตผล.
               ได้ยินว่า เทวดาเหล่านั้นทราบว่า พระเถระนี้ปรารภวิปัสสนาแล้ว ท่านก็จักบรรลุพระอรหัตตผลโดยไม่มีอันตรายโดยทำนองใด จึงได้กล่าวอย่างนี้.
               บทว่า อปาปกํ คือ ไม่ลามก.
               บทว่า สตฺถํ อาหเรสิ ความว่า ได้ยินว่า พระเถระเป็นผู้มีมานะจัด. ท่านมองไม่เห็นการกลับฟุ้งขึ้นมา (อีก) แห่งกิเลสทั้งหลายที่ข่มไว้ได้ด้วยสมาธิและวิปัสสนา จึงมีความสำคัญว่า เราเป็นพระขีณาสพ แล้วคิด (ต่อไป) ว่า ชีวิตนี้เป็นทุกข์ เราจะอยู่ไปทำไม เราจักเอามีดมาฆ่าตัวตาย ดังนี้แล้ว ได้เอามีดที่คมมาเฉือนก้านคอ.
               ทันใดนั้น ทุกขเวทนาก็เกิดขึ้นแก่ท่าน. ขณะนั้น ท่านจึงทราบว่า ตนเองยังเป็นปุถุชนอยู่เลย รีบคว้าเอากัมมัฏฐานข้อเดิมมาพิจารณา เนื่องจากว่าท่านยังไม่ได้ละทิ้งกัมมัฏฐาน (ไม่ช้า) ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วมรณภาพ (ทันที).
               ถามว่า ก็ปัจจเวกขณญาณได้มีแล้วอย่างไร?
               ตอบว่า พระขีณาสพมีปัจจเวกขณญาณ ๑๙ อย่าง ปัจจเวกขณญาณทั้งหมด พระขีณาสพต้องได้อย่างแน่แท้. ก็เมื่อพระวักกลิเถระเอามีดคมตัดศีรษะ (ปัจจเวกขณ) ญาณ ย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอนไม่หนึ่งก็สองข้อ.
               บทว่า วิวตฺตกฺขนฺธํ แปลว่า คอบิด.
               บทว่า เสยฺยมานํ แปลว่า นอนอยู่.
               ได้ยินว่า พระเถระนอนหงายแล้วเอามีดมา (เชือดคอตนเอง) ร่างกายของท่านได้ทรงอยู่ดุจเดิม ส่วนศีรษะได้บิดไปอยู่ข้างขวา อันที่จริงพระอริยสาวกทั้งหลาย ส่วนมาก (เมื่อนิพพาน) จะนิพพานโดย (นอน) ตะแคงข้างขวาเหมือนกันหมด ด้วยเหตุนั้น ร่างกายของพระวักกลินั้นจึงได้ทรงอยู่ดุจเดิม ส่วนศีรษะกลับบิดไปอยู่ข้างขวา
               พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายหมายถึงพระวักกลิเถระผู้นอนคอบิดอยู่นั้น จึงกล่าวว่า พระวักกลิ (นอน) คอบิด ดังนี้บ้าง.
               บทว่า ธูมายิตตฺตํ แปลว่า ภาวะที่เกิดเป็นควัน.
               บทว่า ติมิรายิตตฺตํ แปลว่า ภาวะที่มืดมิด. อธิบายว่า เปรียบเหมือนเมฆควันและเปรียบเหมือนหมอก.

               จบอรรถกถาวักกลิสูตรที่ ๕               
               ---------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ขันธสังยุตต์ มัชฌิมปัณณาสก์ เถรวรรคที่ ๔ วักกลิสูตร ว่าด้วยการเห็นธรรมชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า จบ.
อ่านอรรถกถา 17 / 1อ่านอรรถกถา 17 / 208อรรถกถา เล่มที่ 17 ข้อ 215อ่านอรรถกถา 17 / 222อ่านอรรถกถา 17 / 594
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=17&A=2680&Z=2799
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=7557
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=7557
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๐  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :