ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 17 / 1อ่านอรรถกถา 17 / 222อรรถกถา เล่มที่ 17 ข้อ 225อ่านอรรถกถา 17 / 231อ่านอรรถกถา 17 / 594
อรรถกถา สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ขันธสังยุตต์ มัชฌิมปัณณาสก์ เถรวรรคที่ ๔
เขมกสูตร ว่าด้วยไม่มีตนในขันธ์ ๕

               อรรถกถาเขมกสูตรที่ ๗               
               พึงทราบวินิจฉัยในเขมกสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อตฺตนิยํ ได้แก่ ที่เป็นบริขารของตน.
               บทว่า อสฺมีติ อธิคตํ ความว่า เราประสบกับตัณหาและมานะที่เป็นไปอย่างนี้ว่า เรามีเราเป็น.
               บทว่า สนฺธาวนิกาย ได้แก่ ด้วยการไปการมาบ่อยๆ.
               บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า พระเขมกะเดินทางจากวัดพทริการามไปยังวัดโฆสิตาราม (ซึ่งอยู่ห่างกัน) ประมาณ ๓ คาวุต ฝ่ายพระทาสกเถระ วันนั้นเดินทางไกลถึง ๒ โยชน์ ด้วยการไปมาถึง ๔ ครั้ง.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระเถระทั้งหลายจึงส่งพระทาสกะนั้นไป (ยังสำนักพระเขมกะ) ด้วยหวังว่า เราทั้งหลายจัก (คอย) ฟังธรรมจากสำนักพระธรรมกถึกผู้มีชื่อเสียง? เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ไปกันเอง?
               ตอบว่า ป่าอันเป็นสถานที่อยู่ของพระเถระคับแคบ ในป่านั้น พระเถระจำนวนตั้ง ๖๐ รูป ไม่มีที่ว่าง (พอ) ยืนหรือนั่งได้ เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านั้นจึงไม่ไปเอง (แต่ส่งพระทาสกะไปด้วยหวังว่า) ขอท่านเขมกะจงมากล่าวธรรมแก่เราทั้งหลายในที่นี้.
               อนึ่ง ถามว่า เพราะเหตุไร พระเถระทั้งหลายจึงส่งพระทาสกะนั้นไป (ยังสำนักพระเขมกะ) เล่า?
               ตอบว่า เพราะพระ (เขมก) เถระอาพาธ.
               ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรจึงส่งไปบ่อย.
               ตอบว่า ส่งไปก็ด้วยหวังว่า พระเขมกะทราบแล้วจักมากล่าวธรรมแก่เราทั้งหลายด้วยตนเองทีเดียว.
               ฝ่ายพระ (เขมก) เถระทราบอัธยาศัยของพระเถระเหล่านั้นแล้ว จึงได้เดินไป (เอง).
               บทว่า น ขฺวาหํ อาวุโส รูปํ ความว่า ก็ภิกษุใดกล่าวเฉพาะรูปว่า เป็นเรา ขันธ์ ๔ นอกนี้ก็เป็นอันภิกษุนั้นกล่าวปฏิเสธแล้ว. ภิกษุใดกล่าวนอกไปจากรูป รูปก็เป็นอันภิกษุนั้นกล่าวปฏิเสธแล้ว.
               ในเวทนาทั้งหลายก็มีนัย (ความหมายอย่างเดียวกัน) นี้. ฝ่ายพระเขมกเถระได้ประสบกับตัณหาและมานะว่า เรามีในขันธ์ทั้ง ๕ โดยประมวล เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวอย่างนั้น.
               บทว่า อนุสหคโต แปลว่า สุขุม (ละเอียด).
               บทว่า อูเส คือ น้ำด่างที่เกิดจากเถ้า.
               บทว่า ขาเร คือ น้ำด่างที่เกิดจากดินเค็ม
               บทว่า สมฺมทฺทิตฺวา คือ ให้เปียก ได้แก่ให้ชุ่ม
               ในบทว่า เอวเมว โข นี้ มีข้ออุปมาเปรียบเทียบดังต่อไปนี้ :-
               ก็วาระจิตของปุถุชน เปรียบเหมือนผ้าสกปรก
               อนุปัสสนา ๓ เปรียบเหมือนน้ำด่าง ๓ ชนิด
               วาระจิตของพระอนาคามี เปรียบเหมือนผ้าที่ซักด้วยน้ำด่าง ๓ ชนิด
               กิเลสที่อรหัตตมรรคฆ่า เปรียบเหมือนกลิ่นดินเค็มเป็นต้นที่ละเอียด.
               อรหัตตมรรคญาณ เปรียบเหมือนผอบของหอม ความสิ้นไปแห่งกิเลสทั้งหมดด้วยอรหัตตมรรค เปรียบเหมือนกลิ่นดินเค็มเป็นต้นที่ละเอียดหมดไปเพราะอาศัยผอบของหอม.
               การที่พระขีณาสพผู้ฟุ้งตลบไปทั้ง ๑๐ ทิศ ด้วยกลิ่นหอมทั้งหลายมีกลิ่นศีลเป็นต้น. ท่องเที่ยว (จาริก) ไปตามใจปรารถนา เปรียบเหมือนการที่คนมีกลิ่นตัวหอม นุ่งห่มผ้าที่อบด้วยกลิ่นหอมแล้วท่องเที่ยวไป ตามท้องถนนในวันมีมหรสพ.

               ปุถุชนสอนปุถุชนบรรลุมรรคผล               
               บทว่า อาจิกฺขิตุํ แปลว่า เพื่อบอก.
               บทว่า ทสฺเสตุํ แปลว่า เพื่อประกาศ.
               บทว่า ปญฺญเปตุํ แปลว่า เพื่อให้คนอื่นทราบ.
               บทว่า ปฏฺฐเปตุํ แปลว่า เพื่อให้ (คำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า) ดำรงมั่น.
               บทว่า วิวริตุํ แปลว่า เพื่อทำ (คำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า) ให้เปิดเผย.
               บทว่า วิภชิตุํ แปลว่า เพื่อทำ (คำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า) ให้เป็นอันจำแนกไว้ดีแล้ว.
               บทว่า อุตฺตานีกาตุํ แปลว่า เพื่อทำ (คำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า) ให้มีความหมายง่ายขึ้น.
               บทว่า สฏฺฐีมตฺตานํ เถรานํ ความว่า ได้ยินว่า พระเถระประมาณ ๖๐ รูปนั้นเริ่มเจริญวิปัสสนาในที่ที่พระเถระกล่าว (ธรรมแก่พวกตน) แล้วพิจารณาสูงขึ้นๆ เวลาจบเทศนาก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์.
               ฝ่ายพระ (เขมก) เถระไม่กล่าวโดยทำนองอื่นแต่กล่าวด้วยจิตสหรคตด้วยวิปัสสนานั่นเอง เพราะฉะนั้น ท่านจึงสำเร็จเป็นพระอรหันต์ด้วย ด้วยเหตุนั้น พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า จิตของภิกษุเถระประมาณ ๖๐ รูป และของท่านพระเขมกะหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่น.

               จบอรรถกถาเขมกสูตรที่ ๗               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ขันธสังยุตต์ มัชฌิมปัณณาสก์ เถรวรรคที่ ๔ เขมกสูตร ว่าด้วยไม่มีตนในขันธ์ ๕ จบ.
อ่านอรรถกถา 17 / 1อ่านอรรถกถา 17 / 222อรรถกถา เล่มที่ 17 ข้อ 225อ่านอรรถกถา 17 / 231อ่านอรรถกถา 17 / 594
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=17&A=2858&Z=2962
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=7610
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=7610
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๐  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :