บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
พระฉันนเถระ บทว่า อปาปุรณํ (พ. อวาปุรณํ) อาทาย คือ ถือเอาลูกกุญแจ. บทว่า วิหาเรน วิหารํ อุปสงฺกมิตฺวา ความว่า (พระฉันนะ) เข้าไปสู่วิหารหลังหนึ่ง ออกจากวิหารหลังนั้นแล้วก็เข้าไปสู่วิหารหลังอื่น ออกจากวิหารหลังอื่นนั้นแล้ว ก็เข้าไปสู่วิหารหลังอื่น (ต่อไปอีก) รวมความว่า ออกจากวิหารหลังนั้นๆ เข้าไปยังวิหารหลังนั้น อย่างนี้. บทว่า เอตทโวจ โอวทนฺตุ มํ (ปาฐะว่า เอตทโวจ โอวทนฺตุ มํ. ฉบับตาม ฉบับพม่า) ความว่า ถามว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงไปในวิหารนั้นๆ ด้วยความอุตสาหะมากถึงอย่างนี้แล้วได้กล่าวคำนี้? ตอบว่า เพราะท่านเกิดความสังเวช. เป็นความจริง เมื่อพระศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ท่านพระอานนท์ได้รับมอบหมายจากพระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลาย จึงได้ไปยังเมืองโกสัมพีแล้วได้ลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะนั้น. เมื่อ (พระฉันนะ) ถูกลงพรหมทัณฑ์แล้ว ท่านก็เกิดความเร่าร้อนจนสลบล้มลง ครั้นรู้สึกตัวขึ้นมาอีกจึงลุกขึ้นไปยังสำนักภิกษุรูปหนึ่ง ภิกษุรูปนั้นก็ไม่ยอมพูดจาอะไรกับท่าน. ท่านได้ไปยังสำนักภิกษุรูปอื่น แม้ภิกษุรูปนั้นก็มิได้พูด (อะไรกับท่าน) รวมความว่า ท่านท่องเที่ยวไปจนทั่ววัดอย่างนี้ แล้วก็เกิดเบื่อหน่ายจึงถือบาตรและจีวรไปยังเมืองพาราณสี เกิดความสังเวชจึงไปในวิหารหลังนั้นๆ แล้วได้กล่าวอย่างนี้. บทว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา ความว่า สังขารที่เป็นไปในภูมิ ๓ ทั้งหมดไม่เที่ยง. บทว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ความว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นไปในภูมิ ๔ ทั้งหมด เป็นอนัตตา. ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เมื่อจะโอวาทพระเถระ จึงบอกลักษณะ ๒ คือ อนิจจลักษณะ อนัตตลักษณะ แต่ไม่บอกถึงทุกขลักษณะ ด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้. ถามว่า เพราะเหตุไร? ตอบว่า ได้ยินว่า ภิกษุเหล่านั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ถ้าว่า เมื่อเราทั้งหลายบัญญัติทุกขลักษณะ ภิกษุนี้ (ฉันนะภิกษุ) จะพึงถือฟั่นเฝือไปว่า รูปเป็นทุกข์ ฯลฯ วิญญาณเป็นทุกข์ มรรคเป็นทุกข์ ผลเป็นทุกข์ ดังนั้นท่านทั้งหลายชื่อว่าเป็นภิกษุผู้ตกทุกข์ด้วย เราทั้งหลายจักบอกไม่ให้เป็นโทษแก่เธอโดยประการที่เธอไม่สามารถจะยึดถือ ฟั่นเฝือได้ ภิกษุเหล่านั้นจึงได้บอกสองลักษณะเท่านั้น. (ปาฐะว่า ปตฺโต ฉบับพม่าเป็น มคฺโค แปลตามฉบับพม่า) บทว่า ปริตฺตสฺสนาอุปาทานํ อุปฺปชฺชติ ความว่า ความสะดุ้งและอุปาทานเกิดขึ้น. บทว่า ปจฺจุทาวตฺตติ มานสํ อถ โก จรหิ เม อตฺตา ความว่า ใจของผมหมุนกลับอย่างนี้ว่า ถ้าว่า ในขันธ์ ๕ มีรูปเป็นต้น ไม่มีแม้ขันธ์เดียวที่เป็นอัตตาไซร้ ก็แล้วอะไรเล่า เป็นอัตตาของเรา. ได้ยินว่า พระเถระนี้เริ่มเจริญวิปัสสนาโดยไม่กำหนดปัจจัยเลย. วิปัสสนาที่หย่อนกำลังของท่านนั้นจึงไม่สามารถกำจัดการยึดถืออัตตาได้ ครั้นเมื่อสังขารทั้งหลายปรากฏโดยความเป็นของว่างเปล่า จึงกลับเป็นปัจจัย (ให้เกิด) อุจเฉททิฏฐิและความสะดุ้งว่า เราจักขาดสูญ เราจักพินาศ. และท่านก็เห็นอัตตาเหมือนตกลงไปในเหว จึงกล่าวว่า ความสะดุ้งและอุปาทานเกิดขึ้น ใจของผมจึงหมุนกลับอย่างนี้ว่า ก็แล้วอะไรเล่าเป็นอัตตาของเรา? บทว่า น โข ปเนตํ ธมฺมํ ปสฺสโต โหติ ความว่า ความคิดอย่างนี้ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้เห็นธรรมคือ สัจจะ ๔. บทว่า ตาวติกา วิสฺสฏฺฐิ แปลว่า ความคุ้นเคยเช่นนั้น. บทว่า สมฺมุขา เมตํ ความว่า พระเถระฟังคำของพระฉันนะนั้นแล้วจึงคิดว่า ธรรมเทศนาเช่นไรหนอแลจึงเหมาะแก่ภิกษุนี้ เลือกเฟ้นพระพุทธพจน์คือพระไตรปิฎก ก็ได้เห็นกัจจายนสูตรว่า พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอนแรกเป็นการคลายทิฏฐิ ตอนกลางเป็นการแสดงกำลังของพระพุทธเจ้า (ทสพลญาณ) (ตอนท้าย) เป็นการ พระอานนทเถระเมื่อจะแสดงสูตรนั้น จึงกล่าวคำว่า สมฺมุขา เมตํ เป็นต้น. จบอรรถกถาฉันนสูตรที่ ๘ ------------------------------- .. อรรถกถา สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ขันธสังยุตต์ มัชฌิมปัณณาสก์ เถรวรรคที่ ๔ ฉันนสูตร ว่าด้วยเหตุที่เรียกว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ จบ. |