ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 17 / 1อ่านอรรถกถา 17 / 256อรรถกถา เล่มที่ 17 ข้อ 258อ่านอรรถกถา 17 / 260อ่านอรรถกถา 17 / 594
อรรถกถา สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ขันธสังยุตต์ มัชฌิมปัณณาสก์ ปุปผวรรคที่ ๕
คัททูลสูตรที่ ๒ ว่าด้วยอุปมาขันธ์ ๕ ด้วยเสาล่ามสุนัข

               อรรถกถาคัททูลสูตรที่ ๒               
               พึงทราบวินิจฉัยในคัททูลสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะเหตุที่พาลปุถุชนผู้ติดอยู่ในวัฏฏะ ผู้อาศัยโซ่ตรวนคือทิฏฐิจึงถูกผูกไว้ที่เสาคือสักกายะ ด้วยเชือกคือตัณหา อาศัยขันธปัญจกะเป็นไปอยู่ในอิริยาบถทั้งปวง. อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่จิตนี้เศร้าหมองเพราะราคะ โทสะ โมหะ มานาน.

               สัตว์เศร้าหมองเพราะจิตเศร้าหมอง               
               บทว่า จิตฺตสงฺกิเลสา ความว่า ก็สัตว์ทั้งหลายแม้อาบน้ำดีแล้ว ก็ชื่อว่าเศร้าหมองเพราะจิตเศร้าหมองนั่นแล แต่ว่าแม้ร่างกายจะสกปรกก็ชื่อว่าผ่องแผ้วได้เพราะจิตผ่องแผ้ว.
               ด้วยเหตุนั้น โบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า :-
                                   พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงแสวงหาพระคุณ
                         อันยิ่งใหญ่มิได้ตรัสไว้ว่า เมื่อรูปเศร้าหมอง สัตว์
                         ทั้งหลายจึงชื่อว่า เศร้าหมอง เมื่อรูปบริสุทธิ์ สัตว์
                         ทั้งหลายจึงชื่อว่า บริสุทธิ์.
                                   (แต่) พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงแสวงหา
                         พระคุณอันยิ่งใหญ่ได้ตรัสไว้ว่า เมื่อจิตเศร้าหมอง
                         สัตว์ทั้งหลายจึงชื่อว่าเศร้าหมอง เมื่อจิตบริสุทธิ์
                         สัตว์ทั้งหลายจึงชื่อว่าบริสุทธิ์ด้วย.
               บทว่า จรณํ นาม จิตฺตํ ได้แก่ วิจรณจิต (ภาพเขียน). พราหมณ์ผู้เป็นเจ้าลัทธิชื่อว่า สังขา มีอยู่ พวกเขาให้สร้างแผ่นผ้าแล้ว ให้ช่างเขียนภาพแสดงสมบัติและวิบัตินานัปการ โดยเป็นสวรรค์ เป็นนรก ลงในแผ่นภาพนั้น แสดง (ถึงผลของกรรม) ว่า ทำกรรมนี้แล้ว จะได้รับผลนี้ ทำกรรมนี้แล้ว จะได้รับผลนี้ ถือเอาจิตรกรรมนั้นเที่ยวไป.
(ปาฐะว่า นโข นาม พฺราหฺมณปาสณฺฑิกา โหนฺติ เต ปน โกฏฺฐกํกตฺวา ตตฺถ นานปฺปการา สฺคติทฺคฺคติวเสน สมฺปตฺติวิปตติโย ลิขาเปตฺวา อิทํ กมฺมํ กตฺวา อิทํ ปฏิลกติ อิทํกตฺวา อิทนฺติ ทสฺเสนโต ตํ จิตฺตํ คเหตฺวา วิจรติ.
ฉบับพม่าเป็น สงฺขา นาม พฺราหฺมณปาสณฺฑิกา โหนฺติ, เต ปฏโกฏฐกํ กตฺวา ตตฺถ นานปฺปการา สุคติทุคฺคติวเสน สมฺปตฺติวิปตฺติโย เลขาเปตุวา อิทํ กมฺมํ กตฺวา อิทํ ปฏิลภติ อิทํ กตฺวา อิทนฺติ ทสฺเสนฺตา ตํ จิตฺตํ คหเตฺวา วิจรติ. แปลตามฉบับพม่า)
               บทว่า จิตฺเตเนว จินฺติตํ ความว่า ชื่อว่า อันจิตรกร (ช่างเขียน) ให้สวยงามแล้วด้วยจิต เพราะคิดแล้วจึงเขียน.
(ปาฐะว่า จิตฺตกาเรน จินฺเตตฺวา เอกคฺคตาจิตฺเตน จินฺติตํ. ฉบับพม่าเป็น จิตฺตกาเรน จินฺเตตฺวา กตตฺตา จิตฺเตน จินฺติตํ นาม. แปลตามฉบับพม่า.)
               บทว่า จิตฺตญฺเญว จิตฺตตรํ ความว่า จิตที่แสวงหาอุบายของจิตนั้น วิจิตรกว่าจิตที่ชื่อว่า จรณะแม้นั้น.
               บทว่า ติรจฺฉานคตา ปาณา จิตฺเตเนว จินฺติตา ความว่า สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นวิจิตรแล้ว เพราะจิตที่เป็นเหตุให้ทำกรรมนั่นเอง.
(ปาฐะว่า จินฺติตา ฉบับพม่าเป็น จิตฺติตา แปลตามฉบับพม่า.)
               ก็สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้มีนกกระจอกและนกกระทาเป็นต้น ที่จะชื่อว่าประมวลเอาจิตที่เป็นเหตุให้ทำกรรมนั้นมาโดยคิดว่า เราทั้งหลายจักวิจิตรอย่างนี้ไม่มีเลย. กรรมต่างหากชักนำไปสู่กำเนิด. การที่สัตว์เหล่านั้นสวยงาม ก็โดยมีกำเนิดเป็นมูล.
               จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายที่เข้าถึงกำเนิดแล้ว ย่อมวิจิตรเหมือนกับสัตว์ที่เกิดอยู่ในกำเนิดนั้นๆ บัณฑิตพึงทราบว่า ความวิจิตรสำเร็จมาแต่กำเนิด กำเนิดสำเร็จมาแต่กรรม ด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรมดาว่าจิตนี้เป็นสหชาตธรรม (ธรรมที่เกิดร่วมกัน) จึงพึงทราบว่า มีอารมณ์อันวิจิตรกว่าความวิจิตรของสัตว์เดียรัจฉานทั้งหลาย เพราะวิจิตรด้วยสหชาตธรรม (ธรรมที่เกิดร่วมกัน) เพราะวิจิตรด้วยวัตถุ (ที่อาศัย) เพราะวิจิตรด้วยทวาร เพราะวิจิตรด้วยอารมณ์ ทั้งเพราะให้สำเร็จความวิจิตรเป็นอเนก เช่น เพศต่างๆ กัน สัญญาต่างๆ กัน โวหารต่างๆ กันเป็นต้น ซึ่งมีกรรมชนิดต่างๆ กันเป็นมูล.
               บทว่า รชโก ได้แก่ ช่างที่เขียนรูปด้วยสีลงในวัตถุทั้งหลาย ก็ช่างนั้น (ถ้า) ไม่ฉลาด ก็จะเขียนรูปได้ไม่น่าพอใจ (แต่ถ้า) ฉลาดก็เขียนรูปได้ น่าพอใจ สวยน่าดูฉันใด. ปุถุชนก็เป็นอย่างนั้นแหละ คือย่อมยังรูปที่ผิดปกติอันเว้นจากคุณสมบัติ มีความถึงพร้อมด้วยจักษุเป็นต้นให้เกิดขึ้นด้วยอกุศลจิต หรือด้วยกุศลจิตที่เป็นญาณวิปปยุต ย่อมยังรูปที่สวยงามอันถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติ มีความถึงพร้อมด้วยจักษุเป็นต้นให้เกิดขึ้นด้วยกุศลจิตที่เป็นญาณสัมปยุต.

               จบอรรถกถาคัททูลสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ขันธสังยุตต์ มัชฌิมปัณณาสก์ ปุปผวรรคที่ ๕ คัททูลสูตรที่ ๒ ว่าด้วยอุปมาขันธ์ ๕ ด้วยเสาล่ามสุนัข จบ.
อ่านอรรถกถา 17 / 1อ่านอรรถกถา 17 / 256อรรถกถา เล่มที่ 17 ข้อ 258อ่านอรรถกถา 17 / 260อ่านอรรถกถา 17 / 594
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=17&A=3314&Z=3353
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=7864
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=7864
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๐  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :