ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 18 / 1อ่านอรรถกถา 18 / 103อรรถกถา เล่มที่ 18 ข้อ 104อ่านอรรถกถา 18 / 112อ่านอรรถกถา 18 / 803
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สฬายตนสังยุตต์ ฉันนวรรคที่ ๔
๔. ฉันนสูตร

               อรรถกถาฉันนสูตรที่ ๔               
               ในฉันนสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า ฉนฺโน ได้แก่ พระเถระผู้มีชื่ออย่างนั้น. ไม่ใช่พระเถระผู้ออกไปครั้งเสด็จมหาภิเนษกรมณ์.
               บทว่า ปฏิสลฺลานา ได้แก่ จากผลสมาบัติ.
               บทว่า คิลานปุจฺฉกา ได้แก่ ผู้บำรุงภิกษุไข้. ชื่อว่าการบำรุงภิกษุไข้ อันพระพุทธเจ้าสรรเสริญแล้ว อันพระพุทธเจ้าชมเชยแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวอย่างนั้น.
               บทว่า สีสเวฐํ ทเทยฺย ความว่า ผ้าโพกศีรษะ ชื่อว่าสีสเวฐนะ และพึงให้ผ้าโพกศีรษะนั้น.
               บทว่า สตฺถํ ได้แก่ ศัสตราอันนำเสียซึ่งชีวิต (ฆ่าตัวตาย).
               บทว่า นาวกงฺขามิ ได้แก่ ย่อมไม่ปรารถนา. บทว่า ปริจิณฺโณ ได้แก่ ปรนนิบัติแล้ว.
               บทว่า มนาเปน ได้แก่ กายกรรมเป็นต้นอันน่าเจริญใจ.
               จริงอยู่ พระเสขะ ๗ จำพวก ชื่อว่าย่อมปรนนิบัติ พระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่าย่อมถูกปรนนิบัติ. พระอรหันต์ ชื่อว่าผู้อันเขาปรนนิบัติ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ชื่อว่าผู้อันเขาปรนนิบัติ.
               บทว่า เอตํ หิ อาวุโส สาวกสฺส ปฏิรูปํ ความว่า ดูก่อนอาวุโส นั่นชื่อว่าเป็นสิ่งที่สมควรแก่พระสาวก.
               บทว่า อนุปวชฺชํ ได้แก่ ไม่เป็นไป คือไม่มีปฏิสนธิ.
               บาลีว่า ปุจฺฉาวุโส สารีปุตฺต สุตฺวา เวทิสฺสาม นี้ ชื่อว่าปวารณาของพระสาวกเปิดโอกาสให้ถาม
               คำว่า เอตํ มม เป็นต้น ท่านกล่าวด้วยอำนาจการยึดถือด้วยอำนาจตัณหามานะและทิฏฐิ.
               บทว่า นิโรธํ ทิสฺวา ได้แก่ รู้ธรรมเป็นที่สิ้นไปและเสื่อมไป.
               บทว่า เนตํ มม เนโสหมสฺมิ น เมโส อตฺตาติ สมนุปสฺสามิ ความว่า ย่อมพิจารณาเห็นว่า เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา. ในฐานะมีประมาณเท่านี้ พระฉันนเถระใส่ปัญหาที่พระสารีบุตรถามลงในพระอรหัตต์ กล่าวแก้ปัญหานั้น.
               ฝ่ายพระสารีบุตรเถระแม้รู้ว่า พระฉันนเถระเป็นปุถุชน ก็ไม่ได้บอกท่านว่า เป็นปุถุชน หรือว่าเป็นพระขีณาสพ ได้แต่นิ่งอย่างเดียว. ส่วนพระจุนทเถระคิดว่า เราจะให้รู้ว่าท่านเป็นปุถุชน แล้วได้ให้โอวาท.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะท่านไม่สามารถจะอดกลั้นเวทนาปางตาย จึงกล่าวว่าเราจะนำศัสตรามา ฉะนั้น ท่านจึงเป็นปุถุชน จึงแสดงว่า เราจะใส่ใจแม้ในเรื่องนี้ อนึ่ง เพราะเหตุที่เห็นความดับแห่งอายตนะ ๖ แล้วกล่าวว่า เราจะพิจารณาเห็นจักษุเป็นต้นด้วยอำนาจคาหะ (ความยึดถือ) ทั้ง ๓ ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวแสดงเฉพาะข้อที่ท่านเป็นปุถุชนแม้นี้ว่า ศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าอันผู้มีอายุควรใส่ใจ.
               บทว่า นิจฺจกปฺปํ แปลว่า ตลอดกาลเป็นนิตย์.
               บทว่า นิสฺสิตสฺส ได้แก่ ผู้อันตัณหามานะและทิฏฐิอาศัยแล้ว.
               บทว่า จลิตํ ได้แก่ หวั่นไหวแล้ว. ท่านผู้มีอายุไม่สามารถจะอดกลั้นเวทนาที่เกิดขึ้นแล้วยังละการยึดถือไม่ได้ว่า เราเสวยเวทนา เวทนาของเรา บัดนี้ความหวั่นไหวนั้นยังมีอยู่ แม้ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวกะท่านว่าท่านเป็นปุถุชน.
               บทว่า ปสฺสทฺธิ ได้แก่ กายปัสสัทธิระงับกาย และจิตตปัสสัทธิระงับจิต. อธิบายว่า ชื่อว่ากิเลสปัสสัทธิระงับกิเลส.
               บทว่า นนฺทิ ได้แก่ ความเพลิดเพลินด้วยอำนาจตัณหา.
               บทว่า อสติ ความว่า เมื่อไม่มีความอาลัย ความใคร่ ความกลุ้มรุม เพื่อภพต่อไป.
               บทว่า อาคติคติ น โหติ ความว่า ชื่อว่าการมาย่อมมีด้วยอำนาจปฏิสนธิ ชื่อว่าการไปย่อมมีด้วยอำนาจคติภูมิเป็นที่ไป.
               บทว่า จุตูปปาโต ความว่า ชื่อว่าจุติ ด้วยอำนาจการเคลื่อนไป ชื่อว่าอุปปาต ด้วยอำนาจการเข้าถึง.
               บทว่า เนวิธ น หุรํ น อุภยมนฺตเรน ความว่า ไม่มีในโลกนี้ ไม่มีในโลกหน้า ไม่มีในโลกทั้งสอง.
               บทว่า เอเสวนฺโต ทุกฺขสฺส ความว่า นี้แลเป็นที่สุด นี้เป็นการขาด นี้เป็นการหมุนเวียนของวัฏฏทุกข์ ทุกข์ในวัฏฏะและกิเลสทุกข์ ทุกข์เกิดแต่กิเลส ก็ในข้อนี้มีอธิบายเพียงเท่านี้แล.
               ก็ชนเหล่าใดถือเอาว่า โดยระหว่างภพทั้ง ๒ จึงปรารถนาความไม่มีในระหว่าง. คำของชนเหล่านั้น ไร้ประโยชน์. จริงอยู่ ความเป็นในระหว่างภพ ท่านคัดค้านไว้แล้วในพระอภิธรรมนั้นแล.
               ก็คำว่า อนฺตเรน เป็นคำแสดงระหว่างเขตกำหนด เพราะฉะนั้น ในที่นี้พึงทราบความดังต่อไปนี้ว่า กำหนดอื่นอีกในโลกนี้ก็ไม่มี ในโลกหน้าก็ไม่มี ในโลกทั้ง ๒ ก็ไม่มี
               บทว่า สตฺถํ อาหเรสิ ได้แก่ นำศัสตรามาทำลายชีวิตคือตัดก้านคอ. ต่อมา มรณภัยก็มาถึงท่าน ในขณะนั้น คตินิมิตย่อมปรากฏ. ท่านรู้ว่าตนเป็นปุถุชน มีจิตสลดเริ่มตั้งวิปัสสนา กำหนดสังขารเป็นอารมณ์ บรรลุพระอรหัต เป็นพระอรหันตสมสีสี ปรินิพพานแล้ว.
               คำว่า สมฺมุขาเยว อนุปวชฺชตา พฺยากตา นี้เป็นคำพยากรณ์ ในเวลาที่พระเถระเป็นปุถุชนก็จริง ถึงอย่างนั้น ด้วยคำพยากรณ์นี้ ท่านได้ปรินิพพานในเวลาติดต่อกันนั้นเอง. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงถือเอาพยากรณ์นั้นแลตรัส.
               บทว่า อุปวชฺชกุลานิ ได้แก่ ตระกูลที่จะพึงเข้าไปหา.
               ด้วยคำนี้ พระเถระเมื่อถามถึงโทษในการคลุกคลีด้วยตระกูล ในปฏิปทาข้อปฏิบัติส่วนเบื้องต้นจึงถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่ออุปัฏฐากและอุปัฏฐายิกามีอยู่ ภิกษุนั้นจักปรินิพพานในศาสนาของพระองค์หรือ.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงความเป็นผู้คลุกคลีในตระกูล จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ดูก่อนสารีบุตร ก็ภิกษุเหล่านั้นมีอยู่หรือ.
               ได้ยินว่า ในที่นี้ความที่พระเถระเป็นผู้ไม่คลุกคลีในตระกูลได้ปรากฏแล้ว.
               คำที่เหลือในทุกๆ บทง่ายทั้งนั้น.

               จบอรรถกถาฉันนสูตรที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สฬายตนสังยุตต์ ฉันนวรรคที่ ๔ ๔. ฉันนสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 18 / 1อ่านอรรถกถา 18 / 103อรรถกถา เล่มที่ 18 ข้อ 104อ่านอรรถกถา 18 / 112อ่านอรรถกถา 18 / 803
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=18&A=1349&Z=1443
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=425
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=425
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :