ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 18 / 1อ่านอรรถกถา 18 / 339อรรถกถา เล่มที่ 18 ข้อ 343อ่านอรรถกถา 18 / 346อ่านอรรถกถา 18 / 803
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สฬายตนสังยุตต์ อาสีวิสวรรคที่ ๔
๙. วีณาสูตร

               อรรถกถาวีณาสูตรที่ ๙               
               ในวีโณปมสูตรที่ ๙ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               พระศาสดาทรงเริ่มคำว่า ยสฺส กสฺสจิ ภิกฺขเว ภิกฺขุสฺส วา ภิกฺขุนิยา วา ดังนี้ไว้ เพื่อทรงแสดงว่า เปรียบเหมือนว่า มหากุฏุมพีทำกสิกรรมมาก เสร็จนาได้ข้าวกล้าแล้ว สร้างปะรำไว้ที่ประตูเรือน เริ่มถวายทานแด่สงฆ์ทั้งหลาย. ถึงแม้เขาจะตั้งใจถวายแด่พระสงฆ์ทั้งสองฝ่าย (เท่านั้น) ก็จริง ถึงกระนั้น เมื่อบริษัททั้งสองฝ่ายอิ่มหนำสำราญแล้ว แม้ชนที่เหลือก็พลอยอิ่มหนำสำราญไปด้วยฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทรงบำเพ็ญบารมีมา ๔ อสงไขยเศษ ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณที่ควงโพธิพฤกษ์ ทรงแสดงธรรมจักรอันประเสริฐ ประทับนั่งที่พระเชตวันมหาวิหาร เมื่อประทานธรรมบูชาแก่ภิกษุบริษัทและภิกษุณีบริษัท จึงทรงปรารภวีโณปมสูตร.
               ก็วีโณปมสูตรนี้นั้น ถึงจะทรงปรารภหมายเอาบริษัททั้งสอง (เท่านั้น) ก็จริง ถึงกระนั้น ก็มิได้ทรงห้ามบริษัททั้ง ๔. เพราะฉะนั้น แม้บริษัททั้งมวลก็ควรฟังได้ ทั้งมีศรัทธาได้ด้วย ทั้งบำเพ็ญให้บริบูรณ์แล้ว๑- ก็จะได้ดื่มอรรถรส แห่งพระธรรมเทศนานั้น.
____________________________
๑- ปาฐะว่า ปริโยคาหิตฺวา ปสฺส ฉบับพม่าเป็น ปริโยคาหิตฺวา จสฺส แปลตามฉบับพม่า.

               บรรดาบทเหล่านั้น ในบทว่า ฉนฺโท เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               ตัณหาที่มีกำลังอ่อนแรกเกิด ชื่อว่าฉันทะ ฉันทะนั้นไม่สามารถเพื่อให้กำหนัดได้. แต่ตัณหาที่มีกำลัง เมื่อเกิดขึ้นบ่อยๆ จึงชื่อว่าราคะ. ราคะนั้นสามารถทำให้กำหนัดยินดีได้. ความโกรธที่มีกำลังน้อย แรกเกิดไม่สามารถ๒- เพื่อจะถือท่อนไม้เป็นต้นได้ ชื่อว่าโทสะ. ส่วนความโกรธที่มีกำลังมาก เกิดขึ้นติดต่อกันมา สามารถจะทำการเหล่านั้นได้ ชื่อว่าปฏิฆะ. ส่วนความไม่รู้ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งความหลงและความงมงาย ชื่อว่าโมหะ. เมื่อเป็นเช่นนั้น ในสูตรนี้เป็นอันท่านสงเคราะห์อกุศลมูล ๓ ไว้ด้วยบททั้ง ๕. เมื่อถือเอาอกุศลมูลเหล่านั้นแล้ว กิเลสที่มีอกุศลธรรมเหล่านั้นเป็นมูล ก็เป็นอันทรงหมายเอาแล้วแล.
____________________________
๒- ปาฐะว่า สมตฺโถ ฉบับพม่าเป็น อสมตฺโถ แปลตามฉบับพม่า.

               อีกอย่างหนึ่ง ด้วยบททั้ง ๒ ว่า ฉนฺโท ราโค นี้ เป็นอันทรงหมายเอาจิตตุปบาทที่สหรคตด้วยโลภจิต ๘ ดวง.
               ด้วยบททั้ง ๒ ว่า โทโส ปฏิฆํ เป็นอันทรงหมายเอาจิตตุปบาทที่สหรคตด้วยโทมนัส ๒ ดวง.
               ด้วยบทว่า โมหะ๓- เป็นอันทรงหมายเอาจิตตุปบาทที่สหรคตด้วยอุทธัจจะและวิจิกิจฉาสองดวง ปราศจากโลภะและโทสะ. สรุปแล้วเป็นอันทรงแสดงจิตตุปบาท (ฝ่ายอกุศล) ๑๒ ดวงทั้งหมดไว้แล้ว.
____________________________
๓- โมหมานโทสรหิตา ฉบับพม่า โมหปเทน โลภโทสรหิตา แปลตามฉบับพม่า.

               บทว่า สภโย ความว่า มีภัย เพราะเป็นสถานที่อยู่อาศัยของพวกโจรคือกิเลส.
               บทว่า สปฺปฏิภโย ความว่า มีภัยเฉพาะหน้า เพราะเป็นเหตุแห่งการฆ่าและการจองจำเป็นต้น.
               บทว่า สกณฺฏโก ความว่า มีหนาม เพราะมีหนามมีราคะ๔- เป็นต้น
____________________________
๔- ปาฐะว่า ราคาทีหิ กณฺฏโก ฉบับพม่าเป็น ราคาทีหิ กณฺฏเกหิ แปลตามฉบับพม่า.

               บทว่า อุมฺมคฺโค ความว่า ไม่ใช่ทางสำหรับผู้จะดำเนินไปสู่เทวโลก มนุสสโลก หรือพระนิพพาน.
               บทว่า กุมฺมคฺโค ความว่า ชื่อว่าทางชั่ว เพราะเป็นทางให้ถึงอบาย เหมือนทางเท้าที่ทอดไปสู่สถานที่ซึ่งน่ารังเกียจ สะอิดสะเอียน.
               บทว่า ทุหิติโก มีอรรถวิเคราะห์ว่า ชื่อว่า อิริยนา เพราะเป็นที่ดำเนินไป. ทางชื่อว่า ทุหิติโก เพราะเป็นที่ไปลำบาก.
               เพราะว่าทางใดไม่มีของขบเคี้ยวมีมูลผลาหารเป็นต้นหรือของลิ้ม ทางนั้นมีการไปลำบาก. คนเดินไปทางนั้นแล้ว ไม่สามารถจะถึงที่มุ่งหมายได้ (ฉันใด) คนดำเนินไปแม้สู่ทางคือกิเลส ก็ไม่อาจถึงสัมปัตติภพได้ (ฉันนั้น) เพราะฉะนั้น ทางคือกิเลสพระองค์จึงตรัสว่า ทุหิติโก (เป็นทางที่ไปลำบาก). ปาฐะว่า ทฺวีหิติโก ก็มี. ความหมายก็แนวเดียวกันนั่นแหละ.
               บทว่า อสปฺปุริสเสวิโต ความว่า เป็นทางที่อสัตบุรุษมีพระโกกาลิกะเป็นต้นเดินไปแล้ว.
               บทว่า ตโต จิตฺตํ นิวารเย ความว่า พึงห้ามจิตนั้นที่เป็นไปแล้วด้วยอำนาจแห่งฉันทะเป็นต้น จากรูปเหล่านั้นที่จะพึงรู้แจ้งได้ทางจักษุ ด้วยอุบายมีการระลึกถึงอสุภารมณ์เป็นต้น.
               อธิบายว่า เมื่อความกำหนัดในเพราะอิฏฐารมณ์ เกิดขึ้นในจักษุทวาร จิตของผู้ระลึกถึง (มัน) โดยความเป็นอสุภะ จะหมุนกลับ. เมื่อความขัดเคืองในเพราะอนิฏฐารมณ์เกิดขึ้น จิตของผู้ระลึกถึงมันโดยเมตตา จะหมุนกลับ. เมื่อความหลงในเพราะมัชฌัตตารมณ์เกิดขึ้น จิตของผู้ระลึกถึงการสอบถามอุทเทส การอยู่กับครู จะหมุนกลับ. แต่บุคคลเมื่อไม่สามารถทำอย่างนี้ได้ ควรระลึกถึงความที่พระศาสดาเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ความที่พระธรรมเป็นสวากขาตธรรม และความปฏิบัติของพระสงฆ์๕- เพราะว่า เมื่อภิกษุพิจารณาความที่พระศาสดาเป็นผู้ยิ่งใหญ่ก็ดี ความที่พระธรรมเป็นสวากขาตธรรมก็ดี พิจารณาการปฏิบัติชอบของพระสงฆ์ก็ดี จิตจะหมุนกลับ. ด้วยเหตุนั้น จึงได้กล่าวไว้ว่า อสุภาวชฺชนาทีหิ อุปาเยหิ นิวารเย.
____________________________
๕- ปาฐะว่า สุปฏิปตฺตึ ฉบับพม่าเป็น สุปฏิปตฺติ แปลตามฉบับพม่า.

               บทว่า กิฏฺฐํ ได้แก่ หัวคล้าที่เกิดขึ้นในที่ๆ แออัด.
               บทว่า สมฺปนฺนํ ได้แก่ บริบูรณ์แล้ว คืองอกงามดีแล้ว.
               บทว่า กิฏฺฐาโต ได้แก่ เคี้ยวกินข้าวกล้า.
               ในบทว่า เอวเมว โข นี้ พึงเห็นเบญจกามคุณเหมือนข้าวกล้าที่สมบูรณ์แล้ว. จิตโกงพึงเห็นเหมือนโคที่กินข้าวกล้าในที่แออัด. เวลาที่ภิกษุละทิ้งสติ (ปล่อยใจ) เที่ยวไปในทวารทั้ง ๖ เหมือนกับในเวลาที่ผู้เฝ้าข้าวกล้าประมาทฉะนั้น. ภาวะที่ภิกษุไม่ได้บรรลุสามัญญผล เพราะธรรมฝ่ายกุศลเสื่อมไป ในเมื่อจิตอาศัยการอยู่ปราศจากสติ [ที่]มีหน้าที่รักษาทวาร ๖ ชอบใจเบญจกามคุณ พึงทราบว่าเหมือนเจ้าของข้าวกล้าไม่ได้รับผลแห่งข้าวกล้า เพราะข้าวกล้าที่กำลังท้องถูกโคกิน โดยอาศัยความประมาทของผู้รักษาข้าวกล้า ฉะนั้น.
               บทว่า อุปริฆฏาย๖- ได้แก่ ในระหว่างเขาทั้งสอง.
____________________________
๖- ปาฐะว่า ฆาตานํ ฉบับพม่าเป็น ฆฏายํ แปลตามฉบับพม่า.

               บทว่า สุนิคฺคหิตํ นิคฺคณฺเหยฺย ความว่า จับให้มั่นที่เชือกสนสะพายที่พาดอยู่เหนือเขา.
               บทว่า ทณฺเฑน ความว่า ด้วยตะพด มีลักษณะคล้ายค้อน.
               บทว่า เอวํ หิ โส ภิกฺขเว โคโณ ความว่า โคนั้นอาศัยความเผลอของคนเฝ้าข้าวกล้าอย่างนี้แล้ว ในขณะที่อยากจะกินข้าวกล้าจะถูกเจ้าของปราบให้หมดพยศ โดยการกำหราบ ตี แล้วปล่อยไปอย่างนี้.
               บทว่า เอวเมว โข ความว่า แม้ในพระสูตรนี้๗- กามคุณทั้ง ๕ พึงเห็นเหมือนข้าวกล้าที่สมบูรณ์จิตโกง พึงเห็นเหมือนโคที่เป็นเหมือนความไม่เผลอของผู้เฝ้าข้าวกล้า. พระสูตร๘- เปรียบเหมือนไม้ตะพด. การระลึกถึงพระสูตรนั้นๆ ในบรรดาพระสูตรทั้งหลายมีอนมตคฺติยสูตร เทวทูตสูตร อาทิตตสูตร อาสีวิสูปมสูตร อนาคตภยสูตรเป็นต้น ในเวลาที่จิตมุ่งหน้าสู่อารมณ์หยาบในภายนอก๙- แล้วหักห้ามจิตตุปบาทไว้จากอารมณ์ที่หยาบ แล้วหยั่งลงในมูลกัมมัฏฐาน พึงทราบว่า เป็นเหมือนการตีโคด้วยไม้ตะพด ในเวลาที่มันบ่ายหน้าลงสู่ข้าวกล้า.๑๐-
____________________________
๗- ปาฐะว่า อิทานิบิ ฉบับพม่าเป็น อิธาปิ แปลตามฉบับพม่า.
๘- ปาฐะว่า สุตฺตโต ฉบับพม่าเป็น สุตฺตนฺฌต แปลตามฉบับพม่า.
๙- ปาฐะว่า ปุถุตฺตารมมณาภิมุขกาโล. อมนตคฆิย... ฉบับพม่าเป็น ปุถุตารมฺมณาภิมุขกาเล อนมตคฺคิย... แปลตามฉบับพม่า
๑๐- ปาฐะว่า กิฏฺฐาภิมุขกาโล. ทณฺเฑน ฉบับพม่าเป็น กิฏฺฐาภิมุขกาเล ทณฺเฑน แปลตามฉบับพม่า.

               ด้วยเหตุนั้น พระโบราณาจารย์จึงได้กล่าวไว้ว่า :-
                                   เพราะได้ฟังพระสูตรที่ตรัสดีแล้ว ใจจึงผ่อง
                         สงบ และจิตนั้นจะประสบปีติและสุข ในเวลานั้น
                         ใจของเธอจะดำรงอยู่ในอารมณ์ (แห่งกัมมัฏฐาน)
                         เหมือนโคที่กินข้าวกล้า ถูกหวดด้วยตะพดฉะนั้น.
               บทว่า อุทุชิตํ แปลว่า จิตอันภิกษุข่มแล้ว.
               บทว่า สุทุชิตํ แปลว่า กลายเป็นจิตอันภิกษุข่มไว้ดีแล้ว. อธิบายว่า อันเธอชนะแล้วด้วยดีบ้าง.
               บทว่า อุทุ สุทุ๑๑- นี้เป็นเพียงนิบาตเท่านั้น.
____________________________
๑๑- ปาฐะว่า อุรุ สุรุติ ฉบับพม่าเป็น อุทุ สุทุ และตรงตามฉบับพม่า.

               บทว่า อชฺฌตฺตํ แปลว่า มีอารมณ์เป็นภายใน.
               ในบทว่า สนฺติฏฺฐติ เป็นต้นมีอธิบายว่า สงบอยู่ด้วยอำนาจแห่งปฐมฌาน สงบนิ่งด้วยอำนาจแห่งทุติยฌาน เป็นจิตมีธรรมอย่างเอกผุดขึ้นด้วยอำนาจแห่งตติยฌาน ตั้งมั่นด้วยอำนาจแห่งจตุตถฌาน.
               อีกอย่างหนึ่ง คำทั้งหมดนี้ พึงทราบด้วยอำนาจปฐมฌาน.
               จริงอยู่ ธรรมดาอินทริยสังวรสีล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า เป็นการอนุรักษ์สมถะ ด้วยคำมีประมาณเท่านี้.
               บทว่า รญฺโญ วา หมายถึง เจ้าเมืองชายแดนลางองค์นั่นเอง.
               บทว่า สทฺทํ สุเณยฺยํ ความว่า ตื่นบรรทมในเวลาเช้า พึงได้สดับเสียงพิณอันไพเราะที่นักพิณผู้ชำนาญดีดอยู่.
               ในบทว่า รชนีโย เป็นต้น มีอธิบายว่า
               ชื่อว่า รชนีโย เพราะให้จิตยินดี. ชื่อว่า กมนีโย เพราะชอบให้ใคร่. ชื่อว่า มทนีโย เพราะ (ทำให้) จิตมัวเมา ชื่อว่า มุจฺฉนีโย เพราะหลงโดยเป็นเหมือนทำจิตให้ลุ่มหลง. ชื่อว่า พนฺธนีโย เพราะผูกพันไว้โดยยึดถือเหมือนผูกมัดไว้.
               บทว่า อลํ เม โภ ความว่า เมื่อเห็นสัณฐานของพิณแล้วไม่ปรารถนา จึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า อุปธารเณ ได้แก่ ลูกบิด (สำหรับขึ้นสาย).
               บทว่า โกณํ ได้แก่ ไม้แก่น ๔ เหลี่ยม.
               บทว่า โส ตํ วีณํ ความว่า พระราชานั้นรับสั่งว่า ท่านทั้งหลายจงนำพิณนั้นมา เราจะดูเสียงของมัน แล้วทรงจับพิณนั้น.
               ในบทว่า ทสธา วา เป็นต้น มีอธิบายว่า พึงผ่าออกเป็น ๑๐ เสี่ยงก่อน. ครั้นพระองค์ไม่เห็นเสียงของมัน จึงทรงผ่าออกเป็น ๑๐๐ เสี่ยง๑๒- เมื่อไม่ทรงเห็นอย่างนั้น จึงทรงสับเป็นชิ้นๆ เมื่อไม่ทรงเห็นอย่างนั้น จึงทรงพระดำริว่า จักเผาชิ้นเล็กชิ้นน้อย ส่วนเสียงจะหนีออกไป คราวนั้น เราจักเห็นมัน ดังนี้แล้ว จึงใช้ไฟเผา เมื่อไม่ทรงเห็นอย่างนั้น จึงทรงพระดำริว่า ละอองเขม่าที่เบาๆ จักปลิวไปตามลม ส่วนเสียงจักออกไป ตกลงใกล้เท้าเหมือนข้าวสารข้าวเปลือก. เมื่อนั้น เราจักเห็นมัน แล้วทรงโปรยไปที่ลมแรงๆ. แม้อย่างนั้นก็ไม่ทรงเห็น จึงทรงพระดำริว่า ละอองเขม่าจักลอยไปตามน้ำ ส่วนเสียงจักข้ามออกไป เหมือนคน (ข้าม) ไปสู่ฝั่ง๑๓- เมื่อนั้นเราจักเห็นมัน จึงทรงลอยมันไป ตามแม่น้ำที่มีกระแสเชี่ยว.
____________________________
๑๒- ปาฐะว่า สตฺตธา แต่ในบาลี และฉบับพม่าเป็น สตธา จึงแปลตามนั้น.
๑๓- ปาฐะว่า จารํ คจฺฉนฺโต ปุริโส วิย นิกฺขมิตฺวา ปติสฺสติ ฉบับพม่าเป็น ปารํ คจฺฉนฺโต ปุริโส วิย นิกฺมิตฺวา ตริสฺสติ แปลตามฉบับพม่า

               บทว่า เอวํ วเทยฺย ความว่า พระราชาเมื่อไม่ทรงเห็นด้วยอุบายวิธีเหล่านี้แม้ทุกอย่าง จึงตรัสกับคนเหล่านั้นอย่างนี้.
               บทว่า อสติ กิรายํ ความว่า ได้ยินว่า พิณนี้ไม่ได้สติ. อธิบายว่า เป็นพิณชั้นเลว.
               บทว่า อสติ นี้ เป็นคำเรียกถึงสิ่งที่ลามก.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                         อสา โลกิตฺถิโย นาม    เวลา ตาสํ น วิชฺชติ
                         สารตฺตา จ ปคพฺภา      จ สิขี สพฺพฆโส ยถา
               ขึ้นชื่อว่าหญิงประโลมโลก ลามก๑๔- ทั้งร่าน ทั้งคะนอง ไม่มีขอบเขต เหมือนไฟที่กินไม่เลือก๑๕- ฉะนั้น.
____________________________
๑๔- ปาฐะว่า อสฺสา ฉบับพม่าเป็น อสา แปลตามฉบับพม่า.
๑๕- ปาฐะว่า สพฺพโส ฉบับพม่าเป็น สพฺพฆโส แปลตามฉบับพม่า.

               บทว่า ยเถวํ ยงฺกิญฺจิ วีณา นาม มีอธิบายว่า ไม่ใช่พิณอย่างเดียวเท่านั้นที่เลวถึงสิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับดนตรีทุกชนิดก็เลวเหมือนพิณนั่นแหละ.๑๖-
____________________________
๑๖- ปาฐะว่า ยเถว ปน อยํ วีณาเยว ลามิกา ยเถวสฺส อยํ วีณา นาม. เอวํ ยงฺกิญฺจิ อญฺญมฺปิ ตนฺติพทฺธํ สพพํ ลามกเมวาติ อตฺโถ.
ฉบับพม่าเป็น ยเถว ปน อยํ วีณา นาม, เอวํ ยงฺกิญฺจิ อยฺญมฺปิ ตนฺติพทฺธํ สพฺพํ ตํ ลามกเมวาติ อตฺโถ แปลตามฉบับพม่า.

               พึงทราบวินิจฉัย ในบทว่า เอวเมว โข นี้ ดังต่อไปนี้ :-
               เบญจขันธ์ พึงทราบว่า เหมือนพิณ. พระโยคาวจร พึงทราบว่า เหมือนพระราชา. พระราชานั้น จำเดิมแต่ทรงผ่าพิณนั้นออก เป็น ๑๐ เสี่ยงแล้วทรงใคร่ครวญดู ก็ไม่ทรงเห็นเสียง จึงไม่มีประสงค์พิณฉันใด พระโยคาวจรก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อพิจารณาเบญจขันธ์ ไม่เห็นอะไรที่จะพึงถือเอาว่าเราหรือของเรา ก็ไม่มีความประสงค์ด้วยขันธ์.
               ด้วยเหตุนั้น เมื่อจะทรงแสดงการพิจารณาขันธ์นั้นแก่ภิกษุนั้น จึงตรัสคำมีอาทิว่า รูปํ สมนฺเนสติ ยาวตา รูปสฺส คติ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมนฺเนสติ ได้แก่ ปริเยสติ (แปลว่าแสวงหา).
               บทว่า ยาวตา รูปสฺส คติ ความว่า คติของรูปมีประมาณเท่าใด.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คติ ได้แก่ คติ ๕#- อย่าง คือ คติคติ ๑ สัญชาติคติ ๑ สลักขณคติ ๑ วิภวคติ ๑ เภทคติ ๑.
____________________________
#- ปาฐะว่า พหุวิธา ฉบับพม่าเป็น ปญฺจวิธา แปลตามฉบับพม่า.

               บรรดาคติทั้ง ๕ นั้น ขึ้นชื่อว่ารูปนี้ จะท่องเที่ยวหมุนเวียนไปในระหว่างนี้ เบื้องต่ำจดอเวจีนรก เบื้องบนจดพรหมโลกชั้นอกนิษฐ์ การท่องเที่ยวหมุนเวียนไปนี้ชื่อว่า คติคติ ของรูปนั้น.
               อนึ่ง กายนี้ไม่ใช่เกิดที่กลีบบัวหลวงเลย ไม่ใช่เกิดที่กลีบบัวเขียวและดอกบัวขาบเป็นต้น แต่เกิดที่ระหว่างท่ออาหารใหม่และท่ออาหารเก่า คือในโอกาสที่มืดมนเหลือหลาย ที่เป็นที่ท่องเที่ยวไปในป่าที่มีกลิ่นเหม็น น่าเกลียดอย่างยิ่ง เหมือนหนอนที่เกิดในปลาเน่าเป็นต้น นี้ชื่อว่า สญฺชาติคติ ของรูป.
               ก็ลักษณะของรูปมีสองอย่าง คือปัจจัตตลักษณะ กล่าวคือการย่อยยับที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่ารูป เพราะอรรถว่าย่อยยับไป ๑ สามัญญลักษณะ คือความไม่เที่ยงเป็นต้น ๑ นี้ชื่อว่า สลักขณคติ ของรูปนั้น.
               ความไม่มีแห่งรูป ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า :-
                         ป่าใหญ่ เป็นคติของเนื้อทั้งหลาย
                         อากาศเป็นคติ ของปักษีทั้งหลาย
                         วิภพ (สภาวะที่ปราศจากภพ) เป็นคติของธรรมทั้งหลาย.
                         พระนิพพานเป็นคติของพระอรหันต์.
               ชื่อว่า วิภวคติ.
               ก็ความแตกต่างแห่งรูปนั้น๑๘- นี้ชื่อว่า เภทคติ.
               แม้ในเวทนาเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน.
               แท้จริง ในที่นี้พึงทราบคติว่าเป็นที่เกิดแห่งรูปเหล่านั้น (ว่าเกิดใน) เบื้องบนจนถึงภวัคคพรหมอย่างเดียว. แต่ในสลักขณคติ๑๙- พึงทราบลักษณะเฉพาะอย่าง ด้วยสามารถแห่งการเสวย การจำได้ การปรุงแต่งและการรู้แจ้ง.
____________________________
๑๘- ปาฐะว่า โสมมนสฺส ฉบับพม่าเป็น โส ปนสฺส แปลตามฉบับพม่า.
๑๙- ปาฐะว่า สลกฺขณคติ อยญฺจ ฉบับพม่าเป็น สลกฺขณคติยํ จ แปลตามฉบับพม่า.

               บทว่า ตมฺปิ ตสฺส น โหติ ความว่า แม้การยึดถือ ๓ อย่างในรูปารมณ์เป็นต้นด้วยอำนาจทิฏฐิ ตัณหาและมานะ๒๐- ที่ท่านแสดงไว้อย่างนี้ว่าเรา ว่าของเรา หรือว่าเราเป็นนั้น ก็ไม่มีแก่พระขีณาสพนั้น. รวมความว่า พระสูตรชื่อว่าเป็นไปตามลำดับ.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในมหาอัฏฐกถาว่า
                         ศีลท่านกล่าวไว้ในเบื้องต้น สมาธิ และภาวนา
                         ท่านกล่าวไว้แล้ว ในท่ามกลาง และนิพพาน
                         กล่าวไว้ในที่สุด ข้ออุปมาด้วยพิณนี้ พระผู้มี-
                         พระภาคเจ้า ทรงแสดงไว้แล้ว ดังนี้.
____________________________
๒๐- ปาฐะว่า ทิฏฺฐิตณฺหามาน คาหตฺตยตํ ขีณาสวสฺส ฉบับพม่าเป็น ทิฏฺฐิตณฺหามานคฺคาหตฺตยํ ตมฺปิ ตสฺส แปลตามฉบับพม่า.

               จบอรรถกถาวีณาสูตรที่ ๙               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สฬายตนสังยุตต์ อาสีวิสวรรคที่ ๔ ๙. วีณาสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 18 / 1อ่านอรรถกถา 18 / 339อรรถกถา เล่มที่ 18 ข้อ 343อ่านอรรถกถา 18 / 346อ่านอรรถกถา 18 / 803
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=18&A=5275&Z=5326
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=2714
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=2714
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :