บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
อรรถกถาปฐมมิคชาลสูตรที่ ๑ บทว่า จกฺขุวิญฺเญยฺยา ได้แก่ พึงกำหนดรู้ด้วยจักขุวิญญาณ. แม้ในสภาวะที่จะพึงรู้แจ้งด้วยโสตวิญญาณ ก็นัยนี้เหมือนกัน. บทว่า อิฏฺฐา ความว่า จะเป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนาหรือไม่น่าปรารถนาก็ตาม บทว่า กนฺตา แปลว่า น่าใคร่. บทว่า มนาปา แปลว่า น่าเจริญใจ. บทว่า ปิยรูปา แปลว่า เป็นที่รัก. บทว่า กามูปสญฺหิตา ความว่า ประกอบด้วยความใคร่ ซึ่งเกิดขึ้นทำเป็นอารมณ์. บทว่า รชนิยา แปลว่า เป็นที่ตั้งความกำหนัด อธิบายว่า เป็นเหตุให้เกิดความกำหนัด. บทว่า นนฺทิ ได้แก่ ความเพลิดเพลินด้วยอำนาจตัณหา. บทว่า สญฺโญโค ได้แก่ สัญโญชน์. บทว่า นนฺทิสญฺโญชนสมฺปยุตฺโต ได้แก่ พัวพันด้วยความเพลินและความผูกพัน. บทว่า อรญฺญวนปฏฺฐานิ ได้แก่ ป่าและติณชาตที่เกิดในป่า ในบทเหล่านั้น แม้ในอภิธรรมท่านกล่าวตรงๆ ว่าป่าที่ออกไปนอกเสาเขื่อนทั้งหมดนั้นเป็นอรัญญะ ก็จริง ถึงอย่างนั้น เสนาสนะที่ให้สำเร็จเป็นอารัญญิกธุดงค์องค์คุณของผู้อยู่ป่า ที่ท่านกล่าวว่า โดยที่สุดชั่ว ๕๐๐ ธนู นั้นแหละ พึงทราบว่า ท่านประสงค์เอาแล้ว. บทว่า วนปฏฺฐํ ได้แก่ ที่เลยชายบ้านไป พวกมนุษย์ไม่ใช้สอย ซึ่งไม่เป็นที่ไถหว่าน. สมจริงด้วยคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า คำว่า วนปฏฺฐํ นี้เป็นชื่อของเสนาสนะไกล. คำว่า วนปฏฺฐํ นี้เป็นชื่อไพรสณฑ์. คำว่า วนปฏฺฐํ นี้เป็นเหตุที่น่ากลัว. คำว่า วนปฏฺฐํ นี้เป็นชื่อของความกลัวขนลุกชัน. คำว่า วนปฏฺฐํ นี้เป็นชื่อของชายแดน. คำว่า วนปฏฺฐํ นี้เป็นชื่อของเสนาสนะที่อยู่ห่างไกลมนุษย์. ในที่นี้ หมู่ไม้ที่อยู่ในป่า เว้นปริยายหนึ่งนี้ที่ว่าชายแดน ก็พึงทราบโดยปริยายที่เหลือแล. บทว่า ปนฺตานิ แปลว่า ที่สุดแดน คือไกลมาก. บทว่า อปฺปสทฺทานิ ได้แก่ ชื่อว่ามีเสียงน้อย เพราะไม่มีเสียงครกเสียงสากและเสียงเด็กเป็นต้น. บทว่า อปฺปนิคฺโฆสานิ ได้แก่ ชื่อว่ามีเสียงกึกก้องน้อย เพราะไม่มีบันลือลั่นและกึกก้องอย่างมากของเสียงนั้นๆ. บทว่า วิชนวาตานิ ได้แก่ เว้นจากลมในร่างกายของคนผู้สัญจร. บทว่า มนุสฺสราหเสยฺยกานิ ได้แก่ สมควรแก่การงานลับของพวกมนุษย์. บทว่า ปฏิสลฺลานสารุปฺปานิ ได้แก่ สมควรแก่การหลีกเร้น. จบอรรถกถาปฐมมิคชาลสูตรที่ ๑ ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สฬายตนสังยุตต์ มิคชาลวรรคที่ ๒ ๑. มิคชาลสูตรที่ ๑ จบ. |