ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 18 / 1อ่านอรรถกถา 18 / 307อรรถกถา เล่มที่ 18 ข้อ 309อ่านอรรถกถา 18 / 317อ่านอรรถกถา 18 / 803
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สฬายตนสังยุตต์ อาสีวิสวรรคที่ ๔
๑. อาสีวิสสูตร

               อาสีวิสวรรคที่ ๔               
               อรรถกถาอาสีวิสสูตรที่ ๑               
               อาสีวิสวรรค อาสีวิสสูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า ภิกฺขู อามนฺเตสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุเหล่าโยคาวจรผู้ชอบจาริกไปรูปเดียว ๒ รูป ๓ รูป ๔ รูป ๕ รูป ผู้มีความประพฤติต้องกัน ผู้ปฏิบัติ ผู้ขะมักเขม้น แม้ทุกรูปซึ่งนั่งล้อมเหล่าภิกษุผู้บำเพ็ญกรรมฐานมีทุกขลักษณะเป็นอารมณ์ แท้จริงพระสูตรนี้ ตรัสด้วยอัธยาศัยของบุคคล.
               จริงอยู่ ในบรรดาบุคคลทั้งหลาย ตรัสด้วยอำนาจเหล่าภิกษุอุคฏิตัญญูบุคคลที่อยู่ในทิศต่างๆ ผู้บำเพ็ญกรรมฐานมีทุกขลักขณะเป็นอารมณ์ ซึ่งมาในเวลาเฝ้า นั่งแวดล้อมพระศาสดา แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น ข้อนี้จึงเป็นปัจจัยแก่บุคคล ๔ เหล่ามีอุคฆฏิตัญญูบุคคลเป็นต้น.
               จริงอยู่ อุคฆฏิตัญญูบุคคลจักบรรลุพระอรหัตด้วยยกหัวข้อแห่งพระสูตรขึ้นเท่านั้น. วิปจิตัญญูบุคคลบรรลุพระอรหัต ด้วยการแจกหัวข้อธรรมโดยพิสดาร เนยยบุคคลท่องบ่นพระสูตรนี้เท่านั้น ใส่ใจโดยแยบคาย คบหาเข้าใกล้กัลยาณมิต จึงจักบรรลุพระอรหัต สำหรับปทปรมบุคคล พระสูตรนี้จักเป็นวาสนาเครื่องอบรมบ่มบารมีในอนาคตแล ด้วยประการดั่งว่ามานี้
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่าพระองค์ทรงมีอุปการะแก่สัตว์แม้ทุกหมู่เหล่า ทรงเป็นประหนึ่งยกภูเขาสิเนรุขึ้น ประหนึ่งทำอากาศให้กว้างขวาง และประหนึ่งทำภูเขาจักรวาลให้หวั่นไหว จึงเริ่มอาสีวิสสูตรนี้ ด้วยความอุตสาหะอย่างใหญ่ว่า เสยฺยถาปิ ภิกฺขเว.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จตฺตาโร อาสีวิสา ความว่า อสรพิษ (งู) ๔ จำพวก คือ กัฏฐมุขะ ปูติมุขะ อัคคิมุขะ สัตถมุขะ.
               ในงู ๔ จำพวกนั้น ทั่วเรือนร่างของคนที่ถูกงูกัฏฐมุขะกัด จะแข็งกระด้างเหมือนไม้แห้งในข้อต่อทั้งหลาย ข้อต่อจะแข็งกระด้างตั้งอยู่เหมือนเสียบไว้ด้วยหลาวเหล็ก. เรือนร่างของผู้ถูกงูปูติมุขะกัด ก็จะมีน้ำหนองไหลเยิ้มอยู่ เหมือนขนุนสุกเน่า เป็นดั่งน้ำที่เขาใส่ไว้ในหม้อเกรอะ. ทั่วเรือนร่างของผู้ถูกงูอัคคิมุขะกัด จะไหม้กระจายไป เป็นเหมือนกำขี้เถ้าและเป็นเหมือนกำแกลบ ทั่วเรือนร่างของผู้ถูกงูสัตถมุขะกัด ย่อมขาดเป็นช่อง เป็นเหมือนสถานที่ฟ้าผ่า และเป็นเหมือนปากที่ต่อเรือนที่ถูกสว่านใหญ่เจาะ. อสรพิษทั้ง ๔ จำแนกโดยพิเศษด้วยประการฉะนี้.
               แต่เมื่อว่าโดยอาการแผกกันแห่งกำลังเร็วของพิษอสรพิษทั้ง ๔ ชนิดนั้นรวมเป็น ๑๖ จำพวก. จริงอยู่ งูกัฏฐมุขะมี ๔ ชนิด คือมีพิษที่กัด มีพิษที่พบ มีพิษที่ถูกต้องมัน มีพิษที่ลม.
               จริงอยู่ เรือนร่างของคนที่ถูกงูกัฏฐมุขะนั้นกัดก็ดี เห็นก็ดี ถูกต้องก็ดี ถูกลมกระทบก็ดี ย่อมแข็งกระด้างโดยประการดั่งกล่าวแล้ว.
               แม้ในงูที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               อสรพิษย่อมมี ๑๖ ด้วยอำนาจความแผกกันแห่งกำลังเร็วแห่งพิษด้วยประการฉะนี้
               งูพิษย่อมมี ๖๔ ชนิดด้วยอำนาจบุคคลบัญญัติอีก คืออย่างไร.
               คืออย่างนี้ อันดับแรก บรรดางูกัฏฐมุขะ งูกัฏฐมุขะมีพิษที่กัดมี ๔ ชนิด คือพิษแล่นแต่พิษไม่ร้าย พิษร้ายแต่พิษไม่แล่น พิษแล่นและพิษร้าย และพิษไม่แล่นพิษไม่ร้าย.
               ในจำนวนงู ๔ ประเภทนั้น พิษของงูใดควรกล่าวได้ว่า แล่นเร็วขึ้นจับตา จับคอ จับศีรษะ เหมือนไฟไม้คบหญ้าลุกโชน เช่นพิษงูมณีสัปปะ (งูเห่าปีแก้ว). อนึ่ง เมื่อคนร่ายมนต์ เป่าลมเข้าทางช่องหู พอเอาไม้ตี พิษก็จะแล่นลงมาหยุดอยู่ตรงที่ถูกกัดเท่านั้น. งูนี้นั้นชื่อว่ามีพิษแล่นเร็ว แต่พิษไม่ร้าย.
               ส่วนพิษของงูใดค่อยๆ แล่นขึ้น แต่ในที่ๆ พิษแล่นขึ้น ก็เป็นเหมือนน้ำที่ดื่มเข้าไป แม้โดยล่วงไปสิบ ๑๒ ปีก็ยังปรากฏที่ข้างหลังหูและหลังคอเป็นต้น เป็นเหมือนพิษของงูน้ำ แต่เมื่อหมองูทำการร่ายมนต์เป็นต้น พิษก็ไม่ลดลงเร็ว. งูนี้นั้นชื่อว่ามีพิษร้าย แต่พิษไม่แล่นเร็ว.
               ส่วนพิษของงูใดขึ้นเร็วแต่ไม่ลงเร็ว เช่น พิษของงูจงอางเป็นต้น. งูนี้นั้นชื่อว่าทั้งมีพิษแล่นเร็ว ทั้งมีพิษร้าย.
               พิษของงูใด แม้ถูกหมองูเป่ามนต์ให้ลดลง ก็ลงง่ายๆ เช่น พิษของงูเขียวและงูเรือนเป็นต้น. งูนี้นั้นชื่อว่ามีพิษไม่แล่นเร็ว และมีพิษไม่ร้าย.
               พิษที่ถูกกัดในจำพวกงูกัฏฐมุขะและพิษที่ถูกกัดในจำพวกงูปูติมุขะเป็นต้นก็พึงทราบ โดยอุบายนี้ เพราะเหตุนั้น อสรพิษจึงมี ๖๔ ประเภทด้วยอำนาจบุคคลบัญญัติด้วยประการฉะนี้.
               ใน ๖๔ ประเภทนั้น แต่ละประเภทยังแยกออกอย่างละ ๔ ตามกำเนิดโดยนัยว่า งูเกิดแต่ฟองไข่เป็นต้น จึงรวมเป็นงู ๒๕๖ ประเภท. งูเหล่านั้นเอา ๒ คูณด้วยงูที่เกิดในน้ำและบนบกเป็นต้น จึงเป็นงู ๕๑๒. งูเหล่านั้นเอา ๒ คูณด้วยสามารถกามรูปและอกามรูป จึงนับได้ ๑,๐๒๔.
               งูเหล่านั้น เมื่อย่อเข้าโดยปฏิโลม ย้อนกลับแห่งทางที่งูเลื้อยไปอีก จึงเป็นอสรพิษ ๔ ประเภทด้วยอำนาจงูกัฏฐมุขะเป็นต้น ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอางูเหล่านั้น จึงตรัสว่า เสยฺยถาปิ ภิกฺขเว จตฺตาโร อาสีวิสา เป็นต้น.
               ก็งูเหล่านั้น ท่านถือเอาด้วยอำนาจตระกูล.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาสีวิสา ความว่า ชื่อว่าอาสีวิสา เพราะมีพิษที่รดก็มี ชื่อว่าอาสีวิสา เพราะมีพิษที่ลิ้มก็มี อาสีวิสา เพราะมีพิษเช่นกับดาบก็มี.
               บทว่า อาสิตฺตวิสา ความว่า มีพิษที่ดังเขารดน้ำชโลมทั่วกาย และพิษที่รดลงที่กายของผู้อื่น.
               บทว่า อสิตวิสา ความว่า สิ่งใดๆ อันงูเหล่านั้นลิ้มแล้ว กินแล้ว สิ่งนั้นๆ ย่อมกลายเป็นพิษไป เพราะฉะนั้น ที่ชื่อว่าอสิตวิสา เพราะสิ่งที่มันลิ้มกลายเป็นพิษ.
               บทว่า อสิสทิสวิสา ความว่า ที่ชื่อว่าอสิสทิสวิสา เพราะพิษของงูเหล่านั้นคมกริบ สามารถตัดขาดได้อย่างยอดเหมือนดาบ.
               พึงทราบความแห่งคำในที่นี้ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อุคฺคเตชา ได้แก่ มีเดชสูง คือมีอำนาจแรง.
               บทว่า โฆรวิสา ได้แก่ มีพิษที่แก้ไขได้ยาก.
               บทว่า เอวํ วเทยฺยุํ ได้แก่ พึงกล่าวอย่างนี้ เพื่อจะให้เขาบำรุงเลี้ยง.
               จริงอยู่ พระราชาทั้งหลายสั่งให้จับงูพิษทั้งหลายไว้ทรงพระดำริว่า เราจะให้งูเหล่านี้กัดโจรเช่นนี้ให้ตาย หรือปล่อยมันไปที่กองทัพข้าศึกเวลาที่ข้าศึกประชิดนคร เราเมื่อไม่สามารถจะต่อต้านกำลังข้าศึกได้ ก็จะกินอาหารดีๆ แล้ว ขึ้นสู่ที่นอนอย่างดี ให้งูเหล่านั้นกัดตนเอง ไม่ยอมติดอยู่ในอำนาจของเหล่าศัตรู ให้ตายสมความพอใจของตน ดังนี้แล้ว ให้บำรุงเลี้ยงอสรพิษทั้งหลายไว้ พระราชาเหล่านั้นไม่ปรารถนาจะทำบุรุษใดให้ตายโดยฉับพลัน ก็ปรารถนาว่าผู้นั้นจักต้องประสบทุกข์นานๆ แล้วตายไป ด้วยอาการอย่างนี้ จึงตรัสกะบุรุษนั้นอย่างนี้ว่า ก็พวกนี้มันคืออสรพิษ ๔ จำพวก นี่พ่อมหาจำเริญ.
               บทว่า กาเลน กาลํ ได้แก่ ทุกเวลา. บทว่า ปเวเสตพฺพา ได้แก่ ให้นอน.
               บทว่า อญฺญตโร วา อญฺญตโร วา ความว่า บรรดาอสรพิษ ๔ ประเภทมีกัฏฐมุขะเป็นต้นตัวใดตัวหนึ่ง.
               คำว่า ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ขอท่านจงกระทำกิจที่ท่านพึงกระทำเสีย นี้พึงทราบว่าเป็นคำของผู้บำเพ็ญประโยชน์.
               ได้ยินว่า พระราชาทั้งหลายทรงมอบอสรพิษทั้งหลายแก่บุรุษนั้นด้วยอาการอย่างนี้ แล้วทรงบอกกล่าวแก่เหล่าอสรพิษที่เขาวางไว้ในกะโปรงทั้ง ๔ กะโปรงว่า นี้เป็นผู้บำรุงเจ้านะ.
               ลำดับนั้น งูตัวหนึ่งก็เลื้อยออกมา เลื้อยขึ้นตามเท้าขวาของบุรุษนั้นแล้วพันมือขวาตั้งแต่ข้อมือ แผ่พังพาน ใกล้ช่องหูขวา นอนกระทำเสียงว่า สุสุ ดังนี้. อีกตัวหนึ่งเลื้อยไปตามเท้าซ้ายแล้วพันมือซ้าย ในที่นั้นนั่นเอง แผ่พังพานที่ใกล้ช่องหูซ้าย แล้วนอนกระทำเสียงว่า สุสุ ดังนี้. ตัวที่ ๓ เลื้อยออกขึ้นไปตรงหน้าพันท้อง แผ่พังพาน ใกล้หลุมคอ นอนทำเสียงว่า สุสุ ดังนี้. ตัวที่ ๔ เลื้อยไปตามส่วนข้างหลัง พันคอ วางพังพานบนกระหม่อม นอนกระทำเสียงว่า สุสุ ดังนี้.
               เมื่ออสรพิษ ๔ ประเภทนั้นอยู่ที่ร่างกายอย่างนี้ บุรุษผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อบุรุษนั้น เห็นเขาเข้าจึงถามว่า พ่อมหาจำเริญ ท่านได้อะไร?
               ลำดับนั้น เมื่อบุรุษผู้ถูกงูพันนั้นกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ อสรพิษเหล่านี้ พระราชาพระราชทานให้เป็นเครื่องประดับเป็นพิเศษบางประการที่มือทั้งสองเหมือนกำไลมือ ที่แขนเหมือนกำไลต้นแขน ที่ท้องเหมือนผ้าคาดท้อง ที่หูเหมือนตุ้มหู ที่คอเหมือนสร้อยมุกดา และที่ศีรษะเหมือนเครื่องประดับศีรษะ จึงกล่าวว่า
               ท่านผู้เจริญช่างโง่เขลาจริง ท่านอย่าเข้าใจอย่างนี้ว่า พระราชาทรงยินดีพระราชทานเครื่องประดับนั่นแก่เรา ท่านเป็นโจรทำความผิดร้าย ทั้งอสรพิษ ๔ ประเภทเหล่านี้ก็บำรุงยาก ปฏิบัติยาก เมื่อตัวหนึ่งต้องการจะลุกขึ้น ตัวหนึ่งต้องการจะอาบน้ำ เมื่อตัวหนึ่งต้องการจะอาบน้ำ ตัวหนึ่งต้องการจะกิน เมื่อตัวหนึ่งต้องการจะกิน ตัวหนึ่งก็ต้องการจะอาบน้ำ. ในงู ๔ ประเภทนั้นตัวใดยังไม่เต็มความต้องการตัวนั้นก็จะกัดให้ตายในที่นั้นนั่นแล. ท่านผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครๆ ผู้ถึงความสวัสดีปลอดภัยยังจะมีอยู่หรือ.
               เขากล่าวว่า จริงสิ รู้ว่าพวกราชบุรุษเจ้าหน้าที่ฟุ้งเฟ้อเผลอตัวหนีไปเสียก็จะปลอดภัย ก็พึงกล่าวว่า ท่านจงกระทำกิจที่ท่านควรกระทำเถิด.
               ฝ่ายบุรุษที่ถูกจับเป็นโจรรู้เรื่องนั้นแล้ว เห็นขณะที่อสรพิษทั้ง ๔ เผลอตัว และปลอดจากราชบุรุษเจ้าหน้าที่จึงเอามือขวาพันมือซ้าย แล้ววางพังพานไว้ใกล้จอนหู ทำทีประจงลูบคลำร่างอสรพิษตัวที่นอนหลับ ค่อยๆ แกะให้มันออกไป แล้วแกะตัวอื่นๆ ออกไป ด้วยอุบายอย่างนี้นั่นแล กลัวต่อพวกมันแล้วพึงหนีไป.
               ครั้งนั้น อสรพิษเหล่านั้นพากันติดตามบุรุษนั้นมาด้วยคิดว่าบุรุษนี้ พระราชาพระราชทานให้เป็นผู้บำรุงเลี้ยงพวกเรา.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาเรื่องนี้ จึงตรัสว่า อถ โข ภิกฺขเว ปุริโส ภีโต จตุนฺนํ อาสีวิสานํ ฯเปฯ ปลาเปถ ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล บุรุษนั้นกลัวต่ออสรพิษเหล่านั้น ฯลฯ พึงหนีไปเสีย.
               ก็เมื่อบุรุษนั้นตรวจดูแล้วดูอีกซึ่งหนทางที่มาอย่างนั้นแล้วกำลังหนีไป พระราชาทรงสดับว่าบุรุษนั้นหนีไปแล้ว จึงทรงดำริว่า ใครหนอจักอาจติดตามไปฆ่าบุรุษนั้นได้ จึงเลือกได้คน ๕ คนผู้เป็นศัตรูต่อบุรุษนั้นนั่นแล้ว ทรงส่งไปด้วยดำรัสสั่งว่า พวกเธอจงไป จงติดตามไปฆ่าบุรุษนั้นเสีย.
               ลำดับนั้น เหล่าบุรุษผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อบุรุษนั้น ทราบเรื่องนั้นแล้วพึงได้บอก บุรุษนั้นกลัวเหลือประมาณ พึงหนีไป.
               ท่านหมายเอาเนื้อความนี้ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ตเมนํ เอวํ วเทยฺยุํ ดังนี้.
               บทว่า ฉฏฺโฐ อนฺตรจโร วธโก ความว่า พวกอำมาตย์กราบทูลว่า บุรุษโจรผู้นี้ถูกพวกอสรพิษติดตามไปก่อน ลวงอสรพิษเหล่านั้น ท่าโน้นท่านี้หนีไป บัดนี้เขาถูกศัตรู ๕ คนติดตามก็หนีเตลิดไป ใครๆ ไม่อาจจะจับเขาได้อย่างนี้ แต่สามารถจะจับได้ด้วยการหลอกลวง เพราะฉะนั้น ขอทรงโปรดส่งคนผู้สนิทสนม เป็นคนภายในเคยกินเคยดื่มร่วมกันตั้งแต่รุ่นหนุ่มไปมอบแก่เพชฌฆาต พระราชาก็ทรงส่งเพชฌฆาตผู้สอดแนม ให้ไปเสาะหาเขา.
               บทว่า โส ปสฺเสยฺย สุญฺญํ คามํ ความว่า บุรุษโจรนั้นกลับเหลียวดูเห็นอสรพิษทั้ง ๔ ศัตรูผู้ฆ่า ๕ คนกำลังสูดดมกลิ่นรอยเท้าไปโดยเร็ว เห็นเพชฌฆาตผู้สอดแนมคำรบ ๖ มาพูดเกลี้ยกล่อมว่า ดูราท่านผู้เจริญ ท่านจงกลับเสียอย่าหนีเลย บริโภคกามกับบุตรภรรยา ก็จักอยู่เป็นสุข. เขากลัวเหลือประมาณก็หนีซอกซอนไป พึงเห็นบ้านร้างหมู่หนึ่งซึ่งมีกระท่อม ๖ หลังอยู่ตรงหน้า ปลายเขตแคว้น.
               บทว่า ริตฺตกํเยว ปวิเสยฺย ความว่า พึงเข้าไปยังกระท่อมที่ว่างเปล่าเท่านั้น เพราะเว้นจากทรัพย์ ธัญญาหาร เตียงและตั่งเป็นต้น.
               บทว่า ตุจฺฉกํ สุญฺญตํ นี้ เป็นไวพจน์ของบทว่า ริตฺตกํเยว นั่นแล.
               บทว่า ปริมเสยฺย ความว่า พึงเที่ยวไปด้วยหวังว่า ถ้าน้ำดื่มมีเราจักดื่ม ข้าวมีก็จักกิน ดังนี้แล้ว สอดมือเข้าไปข้างในแล้วคลำดู.
               บทว่า ตเมนํ เอวํ วเทยฺยุํ ความว่า บุรุษนั้นไม่ได้อะไรๆ แม้ในเรือนสักหลังเดียวในจำนวนเรือนทั้ง ๖ หลัง แต่แล้วก็เห็นแผ่นกระดานคดๆ ที่เขาปูไว้ที่ต้นไม้ที่มีเงาสงบต้นหนึ่งซึ่งมีอยู่กลางหมู่บ้าน แล้วคิดจักนั่งในที่นี้ก่อน แล้วก็ไปนั่งในที่นั้น ถูกลมอ่อนๆ พัดโชยมา ทำให้หวลระลึกถึงความสุขแม้มีประมาณเท่านั้นโดยสงบ บุรุษผู้บำเพ็ญประโยชน์บางเหล่ารู้เรื่องภายนอกแล้ว ก็พึงพูดกะเขาอย่างนั้น.
               บทว่า อิทานิมฺโภ ปุริส ตัดเป็น อิทานิ อมฺโภ ปุริส แปลว่า ดูราบุรุษผู้เจริญ บัดนี้.
               บทว่า โจรา คามฆาตกา ได้แก่ โจรผู้ฆ่าชาวบ้าน ๖ จำพวกผู้มาด้วยหมายว่า จักยึดเอาทรัพย์ที่จักได้ในที่นั้น หรือฆ่าเจ้าทรัพย์เสีย.
               บทว่า อุทกณฺณวํ ได้แก่ น้ำลึกและน้ำกว้าง.
               จริงอยู่ น้ำลึกแต่ไม่กว้าง หรือน้ำกว้างแต่ไม่ลึก. ท่านไม่เรียกว่า ห้วงน้ำ. ส่วนน้ำที่ทั้งลึกทั้งกว้างเท่านั้นจึงจะเป็นชื่อห้วงน้ำนั้นนั่นแล.
               บทว่า สาสงฺกํ สปฺปฏิภยํ ความว่า ฝั่งนี้ ชื่อว่าน่ารังเกียจและน่ามีภัยเฉพาะหน้า เพราะอำนาจอสรพิษทั้ง ๔ ศัตรูผู้ฆ่าทั้ง ๕ เพชฌฆาตผู้สอดแนมคำรบ ๖ และโจรผู้ฆ่าชาวบ้าน ๖ จำพวก.
               บทว่า เขมํ อปฺปฏิภยํ ความว่า ฝั่งโน้น ชื่อว่าเป็นแดนเกษมและไม่มีภัยเฉพาะหน้า เพราะไม่มีอสรพิษเป็นต้นเหล่านั้นนั่นแล. เป็นสวนที่วิจิตรประเสริฐ เป็นดังบ่อน้ำที่ดื่มของชนหมู่มาก เช่นกับเทพนคร.
               บทว่า นตฺถสฺส นาวา สนฺตารณี ความว่า เรือข้ามฟากที่เขาจัดไว้ด้วยประสงค์อย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายจักข้ามจากฝั่งนี้ไปฝั่งโน้นดังนี้ก็ไม่พึงมี.
               บทว่า อุตฺตรเสตุ วา ความว่า หรือบรรดาสะพานไม้ สะพานเดินเท้าและสะพานเกวียน สะพานข้ามอย่างใดอย่างหนึ่งไม่พึงมี.
               บทว่า ติฏฺฐติ พฺราหฺมโณ ความว่า นั่นแหละไม่ใช่ พราหมณ์จะถามว่า เพราะเหตุไรจึงตรัสบุรุษนั้นว่าเป็นพราหมณ์ เพราะพวกข้าศึกมีประมาณเท่านั้น ถูกพราหมณ์นั้นลอยเสียแล้ว.
               อีกนัยหนึ่ง เมื่อจะทรงเปลี่ยนเทศนา จึงได้ตรัสอย่างนั้น เมื่อทรงแสดงพราหมณ์ผู้เป็นพระขีณาสพองค์หนึ่ง.
               ก็เมื่อบุรุษผู้นั้นข้ามฟากได้อย่างนี้แล้ว อสรพิษทั้ง ๔ กล่าวว่า เราไม่ได้ตัวท่านแล้ว วันนี้พวกเราจะรุมกันกัดชีวิตของท่านทิ้งเสีย. ศัตรูทั้ง ๕ ก็กล่าวว่า เราไม่ได้ตัวท่านแล้ว วันนี้เราจะล้อมตัดอวัยวะน้อยใหญ่ของท่านเสียแล้วไปในสำนักของพระราชาพึงได้ทรัพย์ ๑๐๐ หรือ ๑,๐๐๐. ผู้สอดแนมคำรบ ๖ กล่าวว่า เราไม่ได้ตัวท่านแล้ว วันนี้เราจะเอาดาบสีแก้วผลึกตัดศีรษะท่าน แล้วพึงได้ตำแหน่งเสนาบดี เสวยสมบัติ. พวกโจรทั้ง ๖ คิดว่า เราไม่ได้ตัวท่านแล้ว วันนี้เราจะให้ทำกรรมกรณ์ (ลงโทษ) ต่างๆ แล้วให้ท่านนำทรัพย์เป็นอันมากมามอบ ดังนี้แล้ว เมื่อไม่สามารถจะข้ามห้วงน้ำได้ ทั้งไม่สามารถจะไปข้างหน้าได้ เพราะถูกพระราชากริ้วลงราชอาชญา ก็จะพึงซูบซีดตายอยู่ในที่นั้นนั่นเอง.
               ในบทว่า อุปมา โข มฺยายํ นี้ พึงทราบการเทียบเคียงข้ออุปมาตั้งแต่ต้นดังต่อไปนี้.
               จริงอยู่ กรรมพึงเห็นเหมือนพระราชา.
               ปุถุชนผู้อาศัยวัฏฏะ พึงเห็นเหมือนบุรุษผู้ทำผิดกฏหมาย
               มหาภูตรูป ๔ เหมือนอสรพิษทั้ง ๔ เวลาที่กรรมให้แก่มหาภูตรูป ๔ ในขณะปฏิสนธิของมหาชนนั่นเอง เหมือนในเวลาที่พระราชาทรงให้ปกปิดอสรพิษทั้ง ๔,
               เวลาที่พระศาสดาตรัสกรรมฐานมีมหาภูตรูปเป็นอารมณ์แก่ภิกษุนี้ แล้วตรัสว่าเมื่อเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในมหาภูตรูป ๔ นี้ก็จักหลุดพ้นจากวัฏฏะด้วยอาการอย่างนี้ เหมือนเวลาที่ตรัสว่า ท่านจงออกไปในขณะที่อสรพิษเผลอและในขณะที่ราชบุรุษสงัดเงียบแล้วหนีไปตามคำว่า บุรุษผู้เจริญ กิจใดที่ท่านควรทำ จงทำกิจนั้นเสีย เวลาที่ภิกษุนี้ได้กรรมฐานในสำนักพระศาสดา แล้วหนีไปด้วยการหนีคือญาณ เพื่อประโยชน์แก่การหลุดพ้นจากอสรพิษคือมหาภูตรูป เหมือนการได้ยินคำของผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อบุรุษนั้นแล้วออกในขณะที่อสรพิษทั้ง ๔ เผลอและในขณะที่ราชบุรุษสงัดเงียบแล้วหนีซอกซอนไป.
               พึงทราบกถาว่าด้วยมหาภูตรูป ๔ อุปาทานขันธ์ ๕ และอายตนกถา ในคำว่า จตุนฺนํ มหาภูตานํ ปฐวีธาตุยา อาโปธาตุยา เป็นต้น โดยนัยที่กล่าวไว้พิสดารแล้วในวิสุทธิมรรคนั่นแล.
               ก็ในที่นี้ ปฐวีธาตุพึงเห็นเหมือนงูกัฏฐมุขะ (ปากไม้) ธาตุที่เหลือพึงเห็นเหมือนงูปูติมุขะ (ปากเน่า) งูอัคคิมุขะ (ปากไฟ) และงูสัตถมุขะ (ปากศัสตรา). กายทั้งสิ้นของบุคคลผู้ถูกงูปากไม้กัด ย่อมแข็งกระด้างฉันใด แม้กายทั้งสิ้นย่อมแข็งกระด้าง เพราะปฐวีธาตุกำเริบก็ฉันนั้น.
               อนึ่ง กายทั้งสิ้นของผู้ถูกงูปากเน่าเป็นต้นกัด ย่อมน้ำเหลืองไหลออก ย่อมไหม้และย่อมทรุดโทรมฉันใด กายทั้งสิ้นย่อมน้ำเหลืองไหลออก ย่อมไหม้ และย่อมทรุดโทรม แม้เพราะความกำเริบของอาโปธาตุ เตโชธาตุและวาโยธาตุ ฉันนั้น.
               ด้วยเหตุนั้น อรรถกถาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า
                                   ร่างกายที่ถูกงูปากไม้กัดเอาแล้ว ย่อมแข็ง
                         กระด้างไป ร่างกายนั้น เพราะปฐวีธาตุกำเริบ ก็
                         ย่อมแข็งกระด้าง ดังงูปากไม้กัดฉะนั้น ก็มี
                                   ร่างกายที่ถูกงูปากเน่ากัดเอาแล้ว ย่อมเน่า
                         ไป ร่างกายนั้น เพราะอาโปธาตุกำเริบ ก็ย่อมเน่า
                         ดังงูปากเน่ากัดฉะนั้น ก็มี
                                   ร่างกายที่ถูกงูปากไฟกัดเอาแล้ว ย่อมร้อน
                         ไหม้ ร่างกายนั้น เพราะเตโชธาตุกำเริบ ก็ย่อม
                         ร้อนไหม้ ดังงูปากไฟกัดฉะนั้น ก็มี
                                   ร่างกายที่ถูกงูปากศัสตรากัดเอาแล้ว ย่อม
                         ขาดแหว่ง ร่างกายนั้น เพราะวาโยธาตุกำเริบ ก็
                         ย่อมขาดแหว่ง ดังงูปากศัสตรากัดฉะนั้น.

               ในข้อนี้ พึงทราบส่วนประกอบของสรีระโดยพิเศษ ด้วยประการฉะนี้ก่อน
               แต่เมื่อว่าโดยไม่แผกกัน พึงทราบว่าธาตุเหล่านั้นมีภาวะเสมือนกันกับอสรพิษ โดยเหตุเหล่านี้ คือโดยที่อาศัย โดยความผิดกันแห่งกำลังเร็วแห่งพิษ โดยถือเอาแต่สิ่งไม่น่าปรารถนา โดยบำรุงเลี้ยงยาก โดยเข้าไปหาได้ยาก โดยเป็นสัตว์ไม่รู้คุณคน โดยมีปกติกัดไม่เลือก โดยมีโทษและอันตรายอย่างอนันต์.
               ในบรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาสยโต ความว่า จริงอยู่ จอมปลวกชื่อว่าเป็นที่อาศัยของอสรพิษทั้งหลาย. ก็อสรพิษเหล่านั้นย่อมอยู่อาศัยที่จอมปลวกนั้น. จอมปลวกคือกายเป็นที่อาศัย แม้ของมหาภูตรูปทั้งหลาย.
               จริงอยู่ โพรงต้นไม้ ใบหญ้า ใบไม้ ที่รกและกองหยากเยื่อ ก็เป็นที่อาศัยของอสรพิษทั้งหลาย. อสรพิษเหล่านั้นย่อมอยู่ในที่แม้เหล่านั้น. โพรงไม้คือกาย ที่รกคือกาย กองหยากเยื่อคือกายก็เป็นที่อาศัย แม้ของมหาภูตรูปทั้งหลาย พึงทราบความที่มหาภูตรูปเหล่านั้นเหมือนกันดังพรรณนามาอย่างนี้ก่อน.
               บทว่า วิสเวควิการโต ความว่า อสรพิษทั้งหลายโดยประเภทมี ๔ มีงูปากไม้เป็นต้น ด้วยอำนาจแห่งตระกูล.
               ในอสรพิษเหล่านั้น ตระกูลหนึ่งๆ เมื่อแบ่งโดยความผิดแผกกันแห่งพิษก็มี ๔ อย่าง คือมีพิษที่ถูกกัดเป็นต้น แม้มหาภูตรูปก็มี ๔ โดยต่างเป็นปฐวีธาตุเป็นต้นด้วยอำนาจลักษณะจำเพาะตัว. ในมหาภูตรูปเหล่านี้ มหาภูตรูปอย่างหนึ่งๆ ย่อมมี ๔ อย่างด้วยอำนาจมหาภูตรูปมีกรรมเป็นสมุฏฐานเป็นต้น
               พึงทราบว่า มหาภูตรูปเหล่านั้นเสมือนกันโดยความผิดแผกกันแห่งกำลังเร็วของพิษด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อนตฺถคหณโต ความว่า อสรพิษทั้งหลาย เมื่อจะยึดเอาย่อมยึดเอาสิ่งซึ่งไม่น่าปรารถนา ๕ อย่าง คือย่อมถือเอาแต่ของเหม็น ถือเอาของไม่สะอาด ย่อมถือเอาแต่ตัวโรค ย่อมถือเอาแต่ของมีพิษ ย่อมถือเอาแต่ความตาย แม้มหาภูตรูป เมื่อถือเอา ย่อมถือเอาแต่สิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ๕ อย่าง คือ ย่อมถือเอาแต่ของเหม็น ถือเอาแต่ของไม่สะอาด ถือเอาแต่ความเจ็บ ถือเอาแต่ความแก่ ถือเอาแต่ความตาย.
               ด้วยเหตุนั้น พระโปราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า
                                   ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมจับงูอันเปื้อนคูถ
                         มีพิษมาก เป็นผู้เพลิดเพลินงูในโลก ชื่อว่าจับเอา
                         ภาวะที่ไม่น่าปรารถนาทั้ง ๕ คือ ของเหม็น ของไม่
                         สะอาด พยาธิ ชรา มรณะเป็นที่ ๕ ภาวะที่ไม่น่า
                         ปรารถนา ๕ อย่างเหล่านี้ มีอยู่ในงูที่เปื้อนคูถ.
                                   ปุถุชนผู้บอดและเขลาไม่ฉลาด ก็อย่างนั้น
                         เหมือนกัน เป็นผู้เพลิดเพลินความเกิดในภพ ชื่อว่า
                         จับอนัตถะภาวะที่ไม่น่าปรารถนา คือของเหม็น ของ
                         ไม่สะอาด พยาธิ ชรา มรณะเป็นที่ ๕ ภาวะที่ไม่น่า
                         ปรารถนา ๕ เหล่านี้ มีอยู่ในกายอันเป็นดังงูที่เปื้อน
                         คูถฉะนั้น.

               พึงทราบว่ามหาภูตรูป เหมือนกันโดยถือเอาแต่อนัตถะภาวะที่ไม่น่าปรารถนา ด้วยประการฉะนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า ทุรูปปฏฺฐานโต ดังต่อไปนี้.
               อสรพิษเหล่านั้นบำรุงเลี้ยงได้ยาก เมื่อตัวหนึ่งประสงค์จะลุก ตัวหนึ่งประสงค์จะอาบน้ำ เมื่อตัวนั้นประสงค์จะอาบน้ำ อีกตัวหนึ่งประสงค์จะกิน เมื่อตัวนั้นประสงค์จะกิน อีกตัวหนึ่งประสงค์จะนอน. บรรดางูเหล่านั้น งูตัวใดๆ ยังไม่เต็มประสงค์ งูตัวนั้นก็จะกัดให้ตายในที่นั้นนั่นเอง แต่เหล่าภูตรูปนั่นแลบำรุงเลี้ยงยากกว่าอสรพิษเหล่านี้.
               จริงอยู่ เมื่อปรุงยาแก่ปฐวีธาตุ อาโปธาตุก็กำเริบ. เมื่อผู้นั้นปรุงยา เตโชธาตุก็กำเริบดังกล่าวมานี้ เมื่อปรุงยาแก่ธาตุอันหนึ่ง ธาตุอีกอันหนึ่งก็กำเริบ เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า ธาตุทั้งหลายเหมือนกันโดยบำรุงเลี้ยงได้ยากด้วยประการฉะนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า ทุราสทโต ดังต่อไปนี้
               จริงอยู่ อสรพิษทั้งหลาย ชื่อว่าพบได้ยาก คนทั้งหลายพบอสรพิษที่หน้าเรือน ก็จะหนีไปทางหลังเรือน พบที่หลังเรือนก็จะหนีไปทางหน้าเรือน พบกลางเรือนก็จะหนีเข้าห้อง พบที่ห้องก็จะหนีขึ้นเตียงตั่ง. มหาภูตรูปทั้งหลาย ชื่อว่าพบได้ยากมากกว่านั้น.
               จริงอยู่ เมื่อคนเป็นโรคเรื้อน หูจมูกเป็นต้นก็จะจะขาดตกไป เป็นที่เนื้อตัว ฝูงแมลงวันหัวเขียวก็จะตอม กลิ่นตัวก็จะคลุ้งไปไกล บุรุษโรคเรื้อนนั้นกำลังด่าก็ดี กำลังร้องครวญครางก็ดี คนทั้งหลายก็ไม่อาจเข้าไปด่าใกล้ๆ ได้ ไม่อาจเข้าไปช่วยใกล้ๆ ได้ ต้องปิดจมูก บ้วนน้ำลาย ห่างบุรุษโรคเรื้อนนั้นไปเสียไกลๆ พึงทำความข้อนี้ให้แจ่มแจ้งอย่างนั้น โดยโรคอย่างอื่นๆ เช่นโรคบานทะโรค โรคท้องโรคลมเป็นต้น และโรคที่ทำความขยะแขยงน่าเกลียด เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า มหาภูตรูปทั้งหลายก็เหมือนกัน โดยพบได้ยากด้วยประการฉะนี้.

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สฬายตนสังยุตต์ อาสีวิสวรรคที่ ๔ ๑. อาสีวิสสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 18 / 1อ่านอรรถกถา 18 / 307อรรถกถา เล่มที่ 18 ข้อ 309อ่านอรรถกถา 18 / 317อ่านอรรถกถา 18 / 803
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=18&A=4774&Z=4833
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=1308
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=1308
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :