ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 19 / 1อ่านอรรถกถา 19 / 1119อรรถกถา เล่มที่ 19 ข้อ 1123อ่านอรรถกถา 19 / 1136อ่านอรรถกถา 19 / 1786
อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อิทธิปาทสังยุตต์ ปาวาลวรรคที่ ๑
๑๐. เจติยสูตร

               อรรถกถาเจติยสูตรที่ ๑๐               
               สูตรที่ ๑๐. คำว่า นิสีทนํ คือ หมายเอาท่อนหนัง.
               ท่านเรียกวัดที่สร้างไว้ที่เจดีย์สถานของอุเทนยักษ์ว่า อุเทนเจดีย์. แม้ในโคตมกเจดีย์เป็นต้นก็นัยเดียวกันนี้เอง.
               คำว่า ภาวิตา คือ อันเจริญแล้ว.
               คำว่า พหุลีกตา คือ ที่กระทำเรื่อยๆ ไป.
               คำว่า ทำให้เป็นดุจยาน คือ ทำให้เหมือนยานที่เทียม (โคไว้ที่แอก) แล้ว.
               คำว่า ทำให้เป็นที่ตั้ง คือ ทำให้เป็นเหมือนเป็นวัตถุ เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้ง.
               คำว่า ให้คล่องแคล่วแล้ว คือ อันมั่นคงยิ่ง.
               คำว่า อันสั่งสมแล้ว ได้แก่ สั่งสมไว้โดยทุกด้าน คืออันเจริญดีแล้ว.
               คำว่า อันปรารภดีแล้ว คือ ที่เริ่มไว้แล้วเป็นอย่างดี.
               ครั้นตรัสโดยไม่ชี้ชัดลงไปอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงชี้ชัดลงไปอีกครั้ง จึงตรัสคำว่า ตถาคตสฺส โข ดังนี้เป็นต้น. และในคำเหล่านี้ คำว่า กัป หมายเอาอายุกัป (กำหนดอายุ). ในกาลนั้น อันใดเป็นประมาณอายุของพวกมนุษย์ บุคคลพึงทำประมาณอายุนั้นให้บริบูรณ์ดำรงอยู่.
               คำว่า กปฺปาวเสสํ คือ หรือเกินร้อยปีที่ตรัสว่า กัปหรือเกิน.
               ฝ่ายท่านพระมหาสิวเถระกล่าวว่า สำหรับพระพุทธเจ้าทั้งหลายแล้ว ย่อมไม่มีการคุกคามในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ก็เหมือนเมื่อทรงข่มเวทนาปางที่แทบจะสิ้นพระชนม์ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านเวฬุวะ (เวฬุวคาม) ตั้งสิบเดือนนั่นแหละฉันใด ก็ฉันนั้น เมื่อทรงเข้าสมาบัตินั้นบ่อยๆ พึงข่มไว้ได้เป็นสิบเดือน ก็จะพึงทรงดำรงอยู่ได้ตลอดภัทรกัปนี้ทีเดียว.
               ถามว่า ก็ทำไมจึงไม่ทรงดำรงอยู่เล่า.
               ตอบว่า ขึ้นชื่อว่าพระสรีระที่เป็นผลของกรรมที่ถูกกิเลสเข้าไปยึดครองแล้ว ถูกชราทั้งหลายมีพระทนต์หักเป็นต้นจะครอบงำ ธรรมดาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายยังไม่ถึงความเป็นผู้มีพระทนต์หักเป็นต้นเลย ก็ย่อมปรินิพพานในส่วนพระชนมายุที่ ๕ ในเวลาที่ยังทรงเป็นที่รักที่ชื่นใจของคนจำนวนมากนั่นเอง แต่เมื่อเหล่าพระมหาสาวกผู้เป็นพุทธานุพุทธปรินิพพานแล้ว ก็ย่อมเป็นสรีระที่ต้องตั้งอยู่โดดเดี่ยว เหมือนตอไม้. หรือมีภิกษุหนุ่มและสามเณรห้อมล้อมบ้าง แต่นั้นก็จะต้องถึงความเป็นผู้ที่พึงถูกเยาะเย้ยเหยียดหยามว่า โอ้ บริษัทของพวกพุทธ์ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงไม่ดำรงอยู่. แต่เมื่อตรัสคำเช่นนี้แล้ว มารนั้นก็ชอบใจ.
               คำว่า อายุกัป นี้แหละ ท่านได้ชี้ชัดลงไปในอรรถกถาแล้ว.
               คำว่า ตํ นั้น ในคำว่า ยถา ตํ มาเรน ปริยฏฺฐิตจิตฺโต เป็นเพียงคำลงมาแทรกเข้าไว้. อธิบายว่า ปุถุชนแม้อื่นใดๆ ที่ถูกมารดลใจ คือถูกมารท่วมทับใจแล้ว ไม่พึงอาจเพื่อแทงตลอดได้ฉันใด พระเถระก็ไม่สามารถแทงตลอดฉันนั้นเหมือนกัน.
               จริงอยู่ มารย่อมดลจิตผู้ที่ยังละวิปลาส ๑๒ อย่างไม่ได้หมด. ส่วนพระเถระยังละวิปลาส ๔ อย่างไม่ได้ เพราะฉะนั้น มารจึงยังดลใจของท่านได้.
               ถามว่า ก็แล เมื่อมารนั้นจะทำการดลใจ ย่อมทำอะไร.
               ตอบว่า ย่อมแสดงรูปารมณ์ที่น่ากลัวบ้าง ให้ยินอารมณ์คือเสียงบ้าง. จากนั้น สัตว์ทั้งหลายได้เห็นรูปนั้น หรือได้ยินเสียงนั้นแล้วก็ทิ้งสติ เกิดเวียนหน้าขึ้นมา มันสอดมือเข้าปากแล้วบีบหัวใจสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่านั้นก็ยืนสลบไสล. ก็มารนี้สามารถสอดมือเข้าไปในปากของพระเถระเจียวหรือ ก็มันแสดงอารมณ์ที่กลัว พระเถระได้เห็นอารมณ์นั้น ก็แทงตลอดแสงแห่งนิมิตไม่ได้ ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงสามครั้ง เพื่ออะไร. เพื่อทรงทำให้เพลาโศก ด้วยการยกความผิดขึ้นว่า นี่เป็นความกระทำไม่ดีของเธอเอง นี่เป็นความผิดของเธอ เมื่อพระเถระทูลอ้อนวอนภายหลังว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงดำรงอยู่เถิด พระพุทธเจ้าข้า.
               ในคำว่า มารผู้มีบาป นี้ ชื่อว่ามาร เพราะประกอบสัตว์ไว้ในความฉิบหายให้ตาย. คำว่า ผู้มีบาป เป็นคำใช้แทนมารนั้นเอง. ก็มารนั้นเพราะประกอบด้วยบาปธรรม จึงเรียกว่าผู้มีบาป.
               ถึงคำว่า กัณห์ (ดำ) อันตกะ (ผู้ทำที่สุด) นมุจิ เผ่าพันธ์ผู้ประมาท ก็ล้วนแต่เป็นชื่อของมารนั้นเอง.
               คำว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระดำรัสนี้ คือ ในสัปดาห์ที่ ๘ แห่งการบรรลุความตรัสรู้พร้อมของพระผู้มีพระภาคเจ้า มารนี้แลได้มาที่โคนโพธิทีเดียว ทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาเพื่อประโยชน์อันใด พระองค์ก็ทรงได้บรรลุประโยชน์อันนั้นแล้วทรงแทงตลอดสัพพัญญุตญาณแล้ว พระองค์ท่องเที่ยวไปในโลกหาประโยชน์อะไรกัน แล้วได้อ้อนวอนเหมือนในวันนี้แหละว่า พระเจ้าข้า บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงปรินิพพานเถิด ขอพระสุคตเจ้าจงปรินิพพานเถิด.
               และพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสปฏิเสธไปกะมารนั้นเป็นต้นมา น ตาวหํ.
               มารหมายเอาพระดำรัสนั้น จึงกล่าวคำว่า พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระดำรัสนี้ไว้แล้วแล ดังนี้เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น คำว่า ผู้เฉียบแหลม หมายถึงผู้ฉลาดด้วยอำนาจมรรค.
               ผู้ได้รับการแนะนำและผู้แกล้วกล้า ก็อย่างนั้นนั่นแล.
               คำว่า เป็นพหูสูต คือ ชื่อว่าเป็นพหูสูต เพราะเขาได้ฟังด้วยอำนาจปิฎกสามมามาก.
               ชื่อว่าผู้ทรงธรรม ก็เพราะจักทรงธรรมนั้นแหละ.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นใจความในคำว่า ผู้ทรงธรรม นี้อย่างนี้ว่า เป็นพหูสูตทางปริยัติและเป็นพหูสูตทางปฏิเวธ จึงชื่อว่าเป็นผู้ทรงธรรม เพราะทรงจำธรรมคือปริยัติและปฏิเวธนั่นเอง.
               คำว่า ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺนา คือ เป็นผู้ปฏิบัติธรรม คือวิปัสสนาอันเป็นธรรมที่ไปตามธรรมของพระอริยเจ้า.
               คำว่า สามีจิปฏิปนฺนา คือ เป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่สมควร.
               คำว่า อนุธมฺมจาริโน คือ เป็นผู้ประพฤติตามธรรมเป็นปกติ.
               คำว่า สกํ อาจริยกํ คือ วาทะอาจารย์ของตน.
               คำทั้งหมดเป็นต้นว่า จักบอก เป็นคำสำหรับใช้แทนกันและกันนั่นเอง.
               คำว่า โดยสหธรรม คือ ด้วยถ้อยคำที่มีเหตุ มีการณ์.
               คำว่า มีปาฏิหาริย์ คือ จะแสดงธรรมทำให้ออกจากทุกข์ได้.
               คำว่า พรหมจรรย์ ได้แก่ ศาสนพรหมจรรย์ทั้งสิ้นที่สงเคราะห์ด้วยไตรสิกขา.
               คำว่า อิทฺธิ ได้แก่ สำเร็จพร้อมแล้วด้วยความยินดีในฌานเป็นต้น.
               คำว่า ผีตํ ได้แก่ ถึงความเจริญด้วยอำนาจการถึงพร้อมแห่งอภิญญา เหมือนดอกไม้บานสะพรั่ง.
               คำว่า วิตฺถาริตํ ได้แก่ แผ่ไปด้วยอำนาจตั้งมั่นในส่วนแห่งทิศนั้นๆ.
               คำว่า รู้กันโดยมาก ได้แก่ ที่คนหมู่มากรู้คือแทงตลอดด้วยอำนาจการตรัสรู้ของมหาชน.
               คำว่า หนาแน่น ได้แก่ ถึงความเป็นของหนาแน่น ด้วยอาการทุกอย่าง.
               ถาม อย่างไร.
               ตอบว่า จนกระทั่งพวกเทวดาและมนุษย์ประกาศดีแล้ว หมายความว่า อันพวกเทวดาและมนุษย์ที่ประกอบด้วยชาติแห่งผู้รู้ทั้งหมด ประกาศดีแล้ว.
               คำว่า มีความขวนขวายน้อย คือ หมดแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มารผู้มีบาป เจ้าแล ตั้งแต่สัปดาห์ที่แปดมาได้เที่ยวโวยวายว่า พระเจ้าข้า บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงปรินิพพานเถิด ขอพระสุคตเจ้าจงปรินิพพานเถิด. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า บัดนี้ตั้งแต่วันนี้ เจ้าจงเลิกความอุตสาหะได้แล้ว จงอย่าทำความพยายามเพื่อการปรินิพพานของเราเลย.
               คำว่า ทรงมีพระสติสัมปชัญญะทรงปลงอายุสังขาร คือ ทรงตั้งพระสติไว้เป็นอย่างดี ทรงใช้พระญาณกำหนดแล้วจึงทรงปลง คือทรงสละอายุสังขาร. ในกรณีนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงปลงอายุสังขารอย่างใช้พระหัตถ์โยนก้อนดินทิ้ง แต่ทรงเกิดความคิดว่า เราจะเข้าผลสมาบัติตลอดเวลาประมาณสามเดือนเทียว ต่อจากนั้นจักไม่เข้าสมาบัติอื่น พระอานนท์หมายเอาอาการอย่างนั้น จึงได้กล่าวว่า ทรงปลงแล้ว. ปาฐะว่า อฺสฺสชฺชิ ดังนี้ก็มี.
               คำว่า มหาภูมิจาโล คือ การไหวของแผ่นดินอย่างใหญ่.
               เล่ากันว่า ครั้งนั้น หมื่นโลกธาตุได้หวั่นไหวแล้ว. คำว่า น่าสะพึงกลัว คือ ทำให้เกิดความกลัว. คำว่า กลองทิพย์ ก็บันลือลั่น คือ กลองของเทวดาก็ดังก้อง. ฝนก็คำรามแสนคำราม. สายฟ้าที่มิใช่เวลาก็แปลบปลาบ มีคำที่ท่านอธิบายว่า ฝนก็ตกชั่วขณะ.
               ถามว่า คำว่า ทรงเปล่งอุทาน นี้ ทรงเปล่งทำไม อาจมีบางคนพูดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าถูกมารที่ติดตามข้างพระปฤษฎางค์ รบกวนว่า ปรินิพพานเถิด พระเจ้าข้า ปรินิพพานเถิด พระเจ้าข้า จึงทรงปลงอายุสังขาร เพราะความกลัว.
               ตอบว่า โอกาสของมารนั้นจงอย่ามี สำหรับผู้กลัวหาได้มีอุทานไม่ เพราะฉะนั้นจึงทรงเปล่งอุทานชนิดที่ปล่อยออกมาเพราะแรงปีติ.
               ในพระอุทานนั้น ชื่อว่า สิ่งที่เทียบเคียง เพราะถูกเทียบถูกกำหนดแล้ว โดยความเป็นสิ่งประจักษ์แม้แก่สุนัขและจิ้งจอกเป็นต้นทั้งหมด.
               สิ่งเทียบนั้นคืออะไร. คือ กามาวจรกรรม.
               ที่ชื่อว่าไม่มีสิ่งเทียบ เพราะไม่ใช่สิ่งที่เทียบได้ หรือสิ่งที่เทียบได้ คือสิ่งที่เหมือนกัน ของสิ่งนั้นได้แก่โลกิยกรรม อย่างอื่นไม่มี.
               สิ่งที่ไม่มีอะไรเทียบได้นั้นคืออะไร คือ มหัคคตกรรม.
               อีกอย่างหนึ่ง สิ่งที่เป็นกามาวจรและรูปาวจร เป็นสิ่งที่เทียบได้ สิ่งที่เป็นอรูปาวจรเป็นสิ่งที่เทียบไม่ได้ สิ่งที่มีวิบากน้อยเป็นสิ่งที่เทียบได้ สิ่งที่มีวิบากมาก เป็นสิ่งที่เทียบไม่ได้.
               คำว่า สมฺภวํ คือ เป็นเหตุแห่งการเกิดของสัตว์เหล่านั้น. อธิบายว่า ทำให้เป็นก้อน ทำให้เป็นกอง.
               คำว่า ภวสงฺขารํ คือ เครื่องปรุงแห่งการเป็นขึ้นอีก.
               คำว่า ได้ปลงเสียแล้ว คือ ปล่อยแล้ว.
               คำว่า มุนี คือ มุนีผู้เป็นพุทธะ.
               คำว่า ยินดีแล้วในภายใน คือ ผู้ยินดีภายในอย่างแน่นแฟ้น.
               คำว่า มีจิตตั้งมั่น คือ ผู้ตั้งมั่นด้วยอำนาจอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ.
               คำว่า ได้ทำลายแล้ว เหมือนเกราะคือได้ทำลายเหมือนผู้ทำลายเกราะ.
               คำว่า เกิดในตน คือ กิเลสที่เกิดในตน.
               ข้อนี้คำอธิบายว่า ทรงปลงสิ่งที่ได้ ชื่อว่าสมภพ เพราะอรรถว่ามีวิบาก. ชื่อว่าภวสังขาร เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องปรุงแต่งภพ และชื่อว่าทรงปลงโลกิยกรรมกล่าวคือสิ่งที่เทียบได้และเทียบไม่ได้ ทรงได้ทำลายกิเลสที่เกิดในตนเหมือนนักรบผู้ยิ่งใหญ่ในสงครามทำลายเกราะ และทรงเป็นผู้ยินดีในภายใน ทรงเป็นผู้ (มีพระหฤทัย) ตั้งมั่นแล้ว.
               อีกอย่างหนึ่ง คำว่า ตุลํ (แปลว่า ชั่งก็ได้) ได้แก่ ทรงชั่งอยู่ คือทรงพิจารณาอยู่.
               คำว่า สิ่งที่ชั่งไม่ได้และความเกิดพร้อม ได้แก่ นิพพานและภพ.
               คำว่า ธรรมอันปรุงแต่ภพ ได้แก่ กรรมที่ให้ถึงภพ.
               คำว่า พระมุนีได้ทรงปลงแล้ว คือ พระพุทธมุนีได้ทรงชั่งโดยนัยเป็นต้นว่า ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง ความดับขันธ์ ๕ ได้สนิทเป็นนิพพาน เป็นของเที่ยง ทรงเห็นโทษในภพ และเห็นอานิสงส์ในพระนิพพานแล้ว ได้ทรงปลงตัวปรุงแต่ภพอันเป็นรากเหง้าของขันธ์ ๕ เสีย ด้วยอริยมรรคอันทำความสิ้นกรรมที่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า เป็นไปเพื่อสิ้นกรรม คือ ภวสังขาร อย่างไร ทรงยินดีภายในมีพระหฤทัยตั้งมั่น ได้ทรงทำลายแล้ซึ่งข่าย คือ กิเลสอันเกิดในตน เหมือนนักรบผู้ยิ่งใหญ่ทำลายเกราะฉะนั้น.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นได้ทรงทำลายกิเลสทั้งหมดซึ่งรวบรัดมัดอัตภาพตั้งอยู่ เหมือนทหารผู้ยิ่งใหญ่ทำลายเกราะด้วยกำลังสมถะและวิปัสสนา เริ่มตั้งแต่ส่วนเบื้องต้นอย่างนี้ คือทรงยินดีในกายในด้วยอำนาจวิปัสสนา ทรงเป็นผู้มั่นคงด้วยอำนาจสมถะ (และได้ทรงทำลายกิเลส) ที่ได้ชื่อว่าสร้างตัวตน เพราะสร้างให้เกิดภายในตนและเพราะไม่มีกิเลส จึงชื่อว่าทรงละกรรมด้วยการละกิเลสอย่างนี้คือ กรรมชื่อว่าเป็นอันถูกปลงลงแล้ว เพราะไม่ทรงทำให้สืบเนื่อง สำหรับผู้ละกิเลสได้แล้ว ขึ้นชื่อว่าความกลัวไม่มี ฉะนั้น จึงทรงเป็นผู้ไม่กลัวเลย ทรงปลงอายุสังขารแล้ว และพึงทราบว่า ทรงเปล่งพระอุทานเพื่อทรงให้รู้ความเป็นผู้ไม่กลัวด้วย ดังนี้.

               จบอรรถกถาเจติยสูตรที่ ๑๐               
               จบอรรถกถาปาวาลวรรคที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

               รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
                         ๑. อปารสูตร
                         ๒. วิรันทธสูตร
                         ๓. อริยสูตร
                         ๔. นิพพุตสูตร
                         ๕. ปเทสสูตร
                         ๖. สัมมัตตสูตร
                         ๗. ภิกขุสูตร
                         ๘. พุทธสูตร
                         ๙. ญาณสูตร
                         ๑๐. เจติยสูตร
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อิทธิปาทสังยุตต์ ปาวาลวรรคที่ ๑ ๑๐. เจติยสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 19 / 1อ่านอรรถกถา 19 / 1119อรรถกถา เล่มที่ 19 ข้อ 1123อ่านอรรถกถา 19 / 1136อ่านอรรถกถา 19 / 1786
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=19&A=6549&Z=6637
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=7153
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=7153
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๕  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :