บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
คำว่า อาศัยแล้ว ได้แก่ ทำให้เป็นที่พึ่งพาอาศัย หมายความว่าทำให้ยิ่งใหญ่. เครื่องปรุงที่เป็นความเพียร ชื่อว่าปธานสังขาร คำนี้เป็นชื่อของความเพียรที่เรียกชื่อว่า ความเพียรชอบที่ทำหน้าที่สี่อย่างให้สำเร็จ. ความพอใจในคำเป็นต้นว่า อิติ อยํ จ ฉนฺโท เป็นฉันทสมาธิประกอบด้วยฉันทะและปธานสังขาร แม้ปธานสังขารก็ประกอบด้วยฉันทะและสมาธิ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงรวมธรรมทั้งหมดนั้นเข้าด้วยกัน แล้วตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าอิทธิบาทที่ประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร. ส่วนในอิทธิบาทวิภังค์๑- ตรัสถึงธรรมที่หารูปมิได้ที่เหลือซึ่งประกอบด้วยธรรมเหล่านี้ด้วยนัยเป็นต้นว่า เวทนาขันธ์ของผู้เช่นนั้นใด ว่าเป็นอิทธิบาท. ____________________________ ๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๕๐๘ อีกอย่างหนึ่ง ธรรมทั้งสามอย่าง เป็นทั้งฤทธิ์ เป็นทั้งทางให้ถึงฤทธิ์. อย่างไร. จริงอยู่ เมื่อเจริญฉันทะ ฉันทะก็ย่อมชื่อว่าเป็นฤทธิ์. สมาธิและปธานสังขารก็ย่อมชื่อว่าเป็นทางให้ถึงฤทธิ์. เมื่อเจริญสมาธิ สมาธิก็ย่อมชื่อว่าเป็นฤทธิ์ ฉันทะและปธานสังขารก็ย่อมกลายเป็นทางให้ถึงฤทธิ์แห่งสมาธิ. เมื่อเจริญปธานสังขาร ปธานสังขารก็กลายเป็นฤทธิ์ ฉันทะ อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบความที่ธรรมเหล่านี้เป็นอิทธิบาท แม้ด้วยอำนาจความเป็นส่วนเบื้องต้นของธรรมนั้นๆ. จริงอยู่ ฌานที่ ๑ ชื่อว่าเป็นฤทธิ์ ฉันทะเป็นต้นที่ประกอบพร้อมกับการตระเตรียมอันเป็นส่วนเบื้องต้นของฌานที่ ๑ ก็ชื่อว่าเป็นทางให้ถึงฤทธิ์. ตามนัยนี้ไปจนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ เริ่มแต่การแสดงฤทธิ์ไปจนถึงอภิญญาคือตาทิพย์ แล้วนำเอานัยนี้ไปใช้ได้ตั้งแต่โสดาปัตติมรรคกระทั่งถึงอรหัตมรรค. แม้ในอิทธิบาทที่เหลือก็ทำนองนี้. แต่สำหรับบางท่านกล่าวว่า ฉันทะที่ยังไม่สำเร็จ๒- เป็นอิทธิบาท. ____________________________ ๒- พม่าเป็น ยังไม่เกิด. ในกรณีนี้ เพื่อเป็นย่ำยีวาทะของท่านเหล่านั้น เรามีถ้อยคำชื่อว่า อุตตรจูฬวาร ที่มาในอภิธรรมว่า อิทธิบาทมี ๔ อย่าง คือ ฉันทิทธิบาท วิริยิทธิบาท จิตติทธิบาท วีมังสิทธิบาท. ในอิทธิบาท ๔ นั้น ฉันทิทธิบาท เป็นไฉน. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สมัยใด เจริญโลกุตรฌานที่นำออกจากทุกข์ ที่ให้ถึงความสิ้นไปแห่งทุกข์ สงัดจากกามทั้งหลายได้แล้ว เพื่อบรรลุชั้นที่ ๑ สำหรับละความเห็นผิด ฯลฯ แล้วเข้าถึงฌานที่ ๑ ซึ่งปฏิบัติยาก รู้ได้ช้าแล้วอยู่ ในสมัยนั้น ความพอใจ ความเป็นผู้พอใจ ความอยากทำ ความฉลาดเฉลียว ความใคร่ธรรม อันนี้ เราเรียกว่า อิทธิบาทคือความพอใจ.๓- ธรรมที่เหลือประกอบเข้ากับอิทธิบาทคือความพอใจ แต่อิทธิบาทเหล่านี้มาแล้ว ด้วยอำนาจโลกุตระเท่านั้น. ____________________________ ๓- อภิ. วิ. ๓๕/๕๓๑-๕๓๒ ในอิทธิบาท ๔ นั้น พระรัฐปาลเถระทำความพอใจให้เป็นธุระแล้วจึงยังโลกุตรธรรมให้เกิดได้. พระโสณเถระทำความเพียรให้เป็นธุระ. พระสัมภูตเถระทำความเอาใจใส่ให้เป็นธุระ. พระโมฆราชผู้มีอายุทำความพิจารณาใคร่ครวญหาเหตุผลให้เป็นธุระ ด้วยประการฉะนี้. ในอิทธิบาท ๔ นั้น เหมือนเมื่อลูกอำมาตย์ ๔ คนปรารถนาตำแหน่ง เข้าไปอาศัยพระราชาอยู่ คนหนึ่งเกิดความพอใจในการรับใช้ รู้พระราชอัธยาศัย และความพอพระราชหฤทัยของพระราชา จึงรับใช้ทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้พระราชาโปรดปรานแล้วก็ได้รับตำแหน่งฉันใด พึงทราบผู้ให้โลกุตรธรรมเกิดได้ด้วยฉันทธุระฉันนั้น. แต่อีกคนหนึ่งไม่อาจรับใช้ทุกๆ วันได้ จึงคิดว่าเมื่อเกิดความจำเป็นขึ้น เราจะรับใช้จนสุดสามารถ เมื่อชายแดนกำเริบถูกพระราชาส่งไปแล้วก็ปราบข้าศึกจนสุดสามารถ ได้รับตำแหน่ง. คนนั้นฉันใด พึงทราบผู้ที่ให้โลกุตรธรรมเกิดได้ด้วยวิริยธุระ ฉันนั้น. อีกคนคิดว่า การรับใช้ทุกๆ วันก็ดี การเอาทรวงอกรับหอกและลูกศรก็ดีเป็นภาระโดยแท้ เราจะรับใช้ด้วยกำลังมนต์ แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาฝึกหัดความรู้เกี่ยวกับเพลงอาวุธ ทำให้พระราชาโปรดปรานด้วยการจัดแจงมนต์ (ความรู้) จนได้รับตำแหน่ง. บุคคลนั้นฉันใด พึงทราบผู้ที่ให้โลกุตรธรรมเกิดได้ด้วยจิตตธุระ (การเอาใจใส่) ฉันนั้น. อีกคนหนึ่งคิดว่า การรับใช้เป็นต้นจะมีประโยชน์อะไร ธรรมดาพวกพระราชาย่อมประทานตำแหน่งแก่ผู้สมบูรณ์ด้วยชาติ (ลูกผู้ดี) เมื่อประทานแก่ผู้เช่นนั้นก็จะประทานแก่เรา อาศัยความถึงพร้อมด้วยชาติเท่านั้นก็ได้รับฐานันดร. เขาฉันใด พึงทราบผู้ที่อาศัยความพินิจพิจารณาไตร่ตรองหาเหตุผลล้วนๆ แล้วทำให้เกิดโลกุตรธรรมด้วยวีมังสาธุระฉันนั้น. ในสูตรนี้ ทรงแสดงอิทธิที่มีวิวัฏฏะเป็นบาท ดังที่ว่ามานี้. จบอรรถกถาฉันทสูตรที่ ๓ ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อิทธิปาทสังยุตต์ ปาสาทกัมปนวรรคที่ ๒ ๓. ฉันทสูตร จบ. |