ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 19 / 1อ่านอรรถกถา 19 / 1348อรรถกถา เล่มที่ 19 ข้อ 1355อ่านอรรถกถา 19 / 1363อ่านอรรถกถา 19 / 1786
อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อานาปานสังยุตต์ เอกธรรมวรรคที่ ๑
๑๐. กิมิลสูตร

               อรรถกถากิมิลสูตรที่ ๑๐               
               กิมิลสูตรที่ ๑๐.
               คำว่า ใกล้เมืองกิมิลา๑- คือ ในนครมีชื่ออย่างนั้น.
____________________________
๑- สี. ในเมืองกิมพิลา

               คำว่า เอตทโวจ ความว่า ได้ยินว่า พระเถระคิดว่า เทศนานี้มิได้ทำอย่างมีอนุสนธิ เราจะให้ถึงอย่างมีอนุสนธิ (ยถานุสนธิ) เมื่อจะสืบต่ออนุสนธิแห่งเทศนา จึงได้กล่าวคำนี้.
               คำว่า กายอันหนึ่งในบรรดากายทั้งหลาย คือ เรากล่าวกายอย่างใดอย่างหนึ่งในกายทั้งหลายมีกายคือดินเป็นต้น หมายความว่า เรากล่าวถึงกายคือลม.
               อีกอย่างหนึ่ง ส่วนแห่งรูป ๒๕ ชนิด คือ อายตนะคือ ตา ฯลฯ อาหารที่ทำเป็นคำๆ ชื่อว่ารูปกาย. ในส่วนแห่งรูปเหล่านั้น ลมหายใจออกและหายใจเข้าย่อมเป็นกายอย่างหนึ่ง เพราะรวมเข้าในอายตนะ คือสิ่งที่จะพึงถูกต้อง. แม้เพราะเหตุนั้น พระเถระจึงได้กล่าวอย่างนั้น.
               คำว่า ตสฺมา ติห ความว่า เพราะย่อมพิจารณาเห็นกายคือลม ซึ่งเป็นกายอย่างหนึ่งในกายทั้ง ๔ หรือย่อมพิจารณาเห็นลมหายใจออกและหายใจเข้าซึ่งเป็นกายอย่างหนึ่งในรูปกาย ในส่วนแห่งรูป ๒๕ ฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกาย. พึงทราบใจความในทุกบทอย่างนี้.
               คำว่า เวทนาอันหนึ่งในบรรดาเวทนาทั้งหลาย คือ เวทนาอย่างหนึ่งในเวทนาทั้ง ๓ อย่าง คำนี้ท่านกล่าวหมายเอาสุขเวทนา.
               คำว่า การทำไว้ในใจให้ดี คือ ความเอาใจใส่อย่างดีที่เกิดขึ้นแล้วด้วยอำนาจการเสวยปีติเป็นต้น.
               ถามว่า ก็ความเอาใจใส่เป็นเวทนา หรือ.
               ตอบว่า ไม่เป็น นี้เป็นหัวข้อเทศนา เหมือนอย่างว่า สัญญาท่านเรียกโดยชื่อว่าสัญญา ในคำนี้ว่า เป็นผู้ประกอบตามการอบรมอนิจจสัญญา๒- (ความสำคัญว่าไม่เที่ยง) ฉันใด แม้ในที่นั้นก็ฉันนั้น พึงทราบว่า ท่านเรียกเวทนาในฌาน โดยชื่อว่าความเอาใจใส่ (มนสิการ).
____________________________
๒- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๒๘๖

               
               จริงอยู่ ในหมวด ๔ นี้ ท่านเรียกเวทนาโดยหัวข้อแห่งปีติในบทแรก. ในบทที่ ๒ เรียกโดยสรุปว่าสุขเท่านั้น ในจิตตสังขาร ๒ บท เพราะพระบาลีว่า ธรรมเหล่านี้คือสัญญาและเวทนานี้เป็นเจตสิก เกี่ยวกับจิต เป็นเครื่องปรุงจิต๓- ท่านจึงกล่าวเวทนาโดยชื่อว่าจิตตสังขาร (เครื่องปรุงจิต) เพราะพระบาลีว่า ยกเว้นความตรึกและความตรองแล้ว ธรรมที่ประกอบกับจิตแม้ทั้งหมด รวมลงในจิตตสังขาร. พระเถระรวมธรรมทั้งหมดนั้น โดยชื่อว่ามนสิการ (คือความเอาใจใส่) แล้วกล่าวว่า การกระทำไว้ในใจให้ดี ในที่นี้.
____________________________
๓- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๔๑๑

               ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็เลยมีผู้ค้านว่า เพราะเหตุที่เวทนานี้เป็นอารมณ์ไม่ได้ ฉะนั้น การพิจารณาเห็นเวทนาก็ไม่ถูกนะซิ เพราะแม้ในมหาสติปัฏฐานสูตรเป็นต้น บุคคลทำวัตถุมีสุขเป็นต้นนั้นๆ ให้เป็นอารมณ์แล้วย่อมเสวยเวทนา แต่วัตถุมีสุขเป็นต้นนั้น เพราะอาศัยความเป็นไปแห่งเวทนาจึงเป็นเพียงโวหารว่า เราเสวยอยู่ ท่านหมายเอาวัตถุมีสุขเป็นต้นนั้น จึงกล่าวว่า เมื่อเสวยสุขเวทนา (ก็รู้ชัดว่า) เราเสวยสุขเวทนาอยู่ ดังนี้เป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านยังได้กล่าวคำตอบของปัญหานี้ไว้ในการพรรณนาเนื้อความของคำว่า ปีติปฏิสํเวที เป็นต้นไว้เหมือนกัน.
               สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคว่า
               ปีติย่อมเป็นอันรู้แจ้งแล้วโดยอาการ ๒ อย่าง คือโดยอารมณ์ ๑ โดยความไม่หลงใหล ๑.
               ปีติย่อมเป็นอันรู้แจ้งแล้ว โดยอารมณ์เป็นอย่างไร
               ภิกษุย่อมเข้าฌานที่มีปีติ ๒ ฌาน ในขณะเข้าฌานนั้น ปีติย่อมเป็นอันผู้ได้ฌานรู้แจ้งแล้วโดยอารมณ์ เพราะความที่อารมณ์อันตนรู้แจ้งแล้ว.
               ปีติย่อมเป็นอันรู้แจ้งแล้ว โดยความไม่หลงใหลอย่างไร
               ภิกษุเข้าฌานที่มีปีติ ๒ ฌานออกแล้ว ย่อมพิจารณาปีติที่ประกอบกับฌานโดยความเป็นของสิ้นไป โดยความเป็นของเสื่อมไป ในขณะการเห็นแจ่มแจ้งของภิกษุนั้น ปีติย่อมเป็นอันรู้แจ้งแล้ว เพราะความไม่หลงใหลด้วยการแทงตลอดลักษณะ.
               ดังที่พระสารีบุตรได้กล่าวไว้ในปฏิสัมภิทามรรคว่า
               เมื่อภิกษุรู้ชัดความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง คือ ความไม่ซัดส่ายของจิตด้วยอำนาจการหายใจออกยาว สติย่อมเป็นอันเข้าไปตั้งไว้แล้ว ปีตินั้นย่อมเป็นอันรู้แจ้งแล้ว ด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น.๔-
____________________________
๔- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๔๐๘

               บัณฑิตพึงทราบใจความ แม้บทที่เหลือโดยทำนองนี้แหละ.
               เครื่องปรุงจิตคือปีติและสุข โดยอาวรณ์ ย่อมเป็นอันผู้ได้บรรลุฌาน ได้รู้แจ้งแล้ว ดังที่ว่ามานี้ ฉันใดนั่นแหละ เวทนาโดยอารมณ์ก็ย่อมเป็นอันได้รู้แจ้งแล้ว ด้วยการได้เฉพาะซึ่งมนสิการกล่าวคือเวทนาที่ประกอบด้วยฌาน แม้นี้ ฉันนั้น. เพราะเหตุนั้น คำว่า ภิกษุ เป็นผู้ตามพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย อยู่ในสมัยนั้น จึงเป็นคำที่กล่าวไว้ดีแล้วทีเดียว.
               ในคำว่า นาหํ อานนฺท มุฏฺฐสฺสติสฺส อสมฺปชานสฺส นี้มีอธิบายดังต่อไปนี้
               เพราะเหตุที่ภิกษุผู้เป็นไปแล้วโดยนัยเป็นต้นว่า เราจักกำหนดรู้จิต หายใจออก ย่อมเอาลมหายใจออกและหายใจเข้ามาเป็นอารมณ์ แม้โดยแท้ ถึงอย่างนั้น เมื่อเข้าไปตั้งสติและสัมปชัญญะในอารมณ์ของจิตนั้นแล้ว ย่อมชื่อว่าภิกษุนี้เป็นผู้พิจารณาเห็นจิตในจิต เพราะความเป็นไปโดยแท้. อานาปานสติภาวนา (การเจริญสติในการหายใจออกและหายใจเข้า) ของผู้ลืมสติ ผู้ไม่มีความรู้สึกตัว ย่อมมีไม่ได้เลย ฉะนั้น โดยอารมณ์แล้ว ในสมัยนั้น ภิกษุเป็นผู้พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ด้วยสามารถรู้แจ้งจิต ดังนี้.
               อภิชฌา ทรงแสดงไว้ในคำว่า เธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสด้วยปัญญา จึงวางเฉยเสียได้ด้วยปัญญาเป็นอย่างดี นี้ ได้แก่ กามฉันทนีวรณ์นั่นเอง. ทรงแสดงพยาบาทนีวรณ์ด้วยอำนาจแห่งโทมนัส ก็แลหมวดสี่นี้ ตรัสด้วยอำนาจวิปัสสนาเท่านั้น ส่วนธัมมานุปัสสนามี ๖ อย่าง๕- ด้วยอำนาจนีวรณบรรพเป็นต้น นีวรณบรรพเป็นข้อต้นของธัมมานุปัสสนานั้น แม้ของนีวรณบรรพนั้นมีหมวดสองแห่งนีวรณ์นี้ขึ้นต้น. เพื่อจะทรงชี้ถึงคำขึ้นต้นแห่งธัมมานุปัสสนาดังที่ว่ามานี้ จึงตรัสว่า อภิชฌาและโทมนัสดังนี้.
____________________________
๕- พม่า - ๕ อย่าง

               คำว่า การละ หมายเอาความรู้สำหรับละอย่างนี้ว่า ภิกษุย่อมละความสำคัญว่าเที่ยง ด้วยการตามพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง.
               คำว่า ตํ ปญฺญาย ทิสฺวา คือ ญาณเครื่องละอันได้แก่อนิจจญาณ วิราคญาณ นิโรธญาณและปฏินิสสัคคญาณนั้น ย่อมมีด้วยวิปัสสนาปัญญา.
               อีกอย่างหนึ่ง ทรงแสดงถึงความสืบต่อถัดๆ กันแห่งวิปัสสนา แม้นั้นอย่างนี้ว่า อย่างอื่นอีก.
               คำว่า จึงวางเฉยเสียได้ คือ ชื่อว่าย่อมวางเฉยอย่างยิ่งโดยสองทางคือ ย่อมวางเฉยอย่างยิ่งกะผู้ดำเนินไปในความสงบ ๑ ย่อมวางเฉยอย่างยิ่งกะการบำรุงพร้อมกัน ๑. ในกรณีนั้น ความวางเฉยอย่างยิ่งย่อมมีแม้ต่อธรรมที่เกิดร่วมกันบ้าง ความวางเฉยอย่างยิ่งย่อมมีต่ออารมณ์บ้าง ในที่นี้ประสงค์เอาความวางเฉยอย่างยิ่งต่ออารมณ์.
               คำว่า เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ คือ เพราะเหตุที่อานาปานสติสมาธิเป็นไปแล้วโดยทำนองเป็นต้นว่า เราจักตามพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงหายใจออก ไม่ใช่เป็นไปแต่ในธรรมมีนิวรณ์เป็นต้นเท่านั้น แต่ภิกษุได้เห็นญาณเครื่องละธรรมที่กล่าวไว้แล้วในหัวข้อคืออภิชฌาและโทมนัส ด้วยปัญญาแล้ว ย่อมเป็นผู้วางเฉยอย่างยิ่ง ฉะนั้น พึงทราบว่า ภิกษุเป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย ในสมัยนั้นอยู่.
               ในคำว่า ฉันนั้นเหมือนกัน นี้ พึงเห็นอายตนะทั้ง ๖ อย่างเหมือนทางใหญ่ ๔ แพร่ง กิเลสในอายตนะทั้ง ๖ อย่างเหมือนกองฝุ่น (ขยะ) สติปัฏฐาน ๔ ที่เป็นไปในอารมณ์ทั้ง ๔ เหมือนเกวียนและรถที่กำลังมาจากทิศทั้ง ๔. พึงทราบการเข้าไปฆ่าธรรมที่เป็นบาปอกุศลด้วยกายานุปัสสนาเป็นต้นเหมือนการกำจัดกองฝุ่นด้วยเกวียนหรือรถนั้น ด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถากิมิลสูตรที่ ๑๐               
               จบอรรถกถาเอกธรรมวรรควรรณนาที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

               รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
                         ๑. เอกธรรมสูตร
                         ๒. โพชฌงคสูตร
                         ๓. สุทธิกสูตร
                         ๔. ผลสูตรที่ ๑
                         ๕. ผลสูตรที่ ๒
                         ๖. อริฏฐสูตร
                         ๗. กัปปินสูตร
                         ๘. ทีปสูตร
                         ๙. เวสาลีสูตร
                         ๑๐. กิมิลสูตร.
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อานาปานสังยุตต์ เอกธรรมวรรคที่ ๑ ๑๐. กิมิลสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 19 / 1อ่านอรรถกถา 19 / 1348อรรถกถา เล่มที่ 19 ข้อ 1355อ่านอรรถกถา 19 / 1363อ่านอรรถกถา 19 / 1786
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=19&A=7841&Z=7916
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=7640
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=7640
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๕  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :