ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 19 / 1อ่านอรรถกถา 19 / 1427อรรถกถา เล่มที่ 19 ข้อ 1434อ่านอรรถกถา 19 / 1454อ่านอรรถกถา 19 / 1786
อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค โสตาปัตติสังยุตต์ เวฬุทวารวรรคที่ ๑
๖. ถปติสูตร

               อรรถกถาถปติสูตรที่ ๖               
               พึงทราบอธิบายในถปติสูตรที่ ๖.
               บทว่า อยู่อาศัยในหมู่บ้านส่วย ความว่า อยู่ในบ้านส่วยของตน.
               บรรดาช่างไม้เหล่านั้น ช่างไม้ชื่อว่า อิสิทัตตะ เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามีมาก่อน เป็นผู้สันโดษในกาลทุกเมื่อ.
               บทว่า วางบุรุษไว้ในหนทาง ความว่า ทราบว่า ทางเป็นที่เสด็จไปของพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยประตูบ้านของพวกช่างไม้เหล่านั้น เพราะฉะนั้น พวกช่างไม้นั้นจึงวางบุรุษไว้กลางหนทาง ด้วยคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อพวกเราหลับแล้วหรือประมาทแล้วในเวลา พึงเสด็จไป ครั้งนั้นพวกเราพึงได้เฝ้า.
               บทว่า เดินตามแล้ว ความว่า ติดตามไปข้างพระปฤษฎางค์ๆ แต่ไม่ไกล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จโดยทางพระบาทในท่ามกลางทางเกวียน. พวกช่างไม้นอกนี้ได้ติดตามไปทั้งสองข้าง.
               บทว่า ทรงแวะจากหนทาง ความว่า การทำปฏิสันถารแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้เสด็จไปกับใครๆ ก็ควรการทำปฏิสันถารของพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ประดับยืนกับใครๆ ผู้ประทับนั่งตลอดวันกับใครๆ ก็ควร เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริแล้วว่า การทำปฏิสันถารของพระพุทธเจ้าผู้เสด็จไปกับคนพวกนี้ไม่ควรแล้ว การทำปฏิสันถารของพระพุทธเจ้าผู้เสด็จไปกับคนผู้ยืนอยู่ไม่ควรแล้ว เพราะว่าชนเหล่านี้เป็นเจ้าของศาสนาของเรามีผลอันถึงแล้ว (เป็นพระสกทาคามิ) เราจักนั่งทำปฏิสันถารตลอดทั้งวันกับคนพวกนี้ ดังนี้แล้ว จึงทรงแวะลงจากหนทาง เสด็จเข้าไปหาทางทิศที่มีโคนไม้อยู่.
               บทว่า ประทับนั่งรอบนอาสนะที่เขาปูลาดถวาย ความว่า ถามว่าพวกช่างไม้ได้ให้ถือเอาร่ม รองเท้า ไม้เท้า น้ำมันทาเท้า น้ำปานะ ๘ อย่าง และบัลลังก์ก็มีขาเหมือนเท้าสัตว์ไปแล้วหรือหนอ.
               ตอบว่า ให้ปูบัลลังก์ที่เขานำมาถวายแล้ว. พระศาสดาประทับนั่งบนบัลลังก์นั้น.
               บทว่า นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ความว่า พวกช่างไม้กล่าวแล้วว่า พวกท่านจงถวายของที่เหลือมีร่มและรองเท้าเป็นต้นแก่ภิกษุสงฆ์. แม้ตนเองก็ได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
               คำทั้งหมดเป็นต้นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักเสด็จจาริกจากกรุงสาวัตถีไปในโกศลชนบท พวกช่างไม้มีอิสิทัตตะเป็นต้น กราบทูลแล้วด้วยอำนาจมัชฌิมประเทศนั่นเอง.
               เพราะเหตุไร จึงกำหนด.
               เพราะว่า การเที่ยวจาริกไปก็ดี การยังอรุณให้ตั้งขึ้นก็ดีของพระผู้มีพระภาคเจ้า พวกช่างไม้กล่าวแล้วด้วยอำนาจมัชฌิมประเทศ เพราะคำนั้นกำหนดแน่นอนว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมเสด็จจาริกไปในมัชฌิมประเทศนั่นเทียว พระองค์ย่อมให้อรุณตั้งขึ้นในมัชฌิมประเทศ.
               ในบทว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักใกล้เราทั้งหลาย ความว่า พวกช่างไม้นั้นมีความยินดี เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ใกล้ที่นั่นเทียวอย่างเดียวหามิได้ ที่แท้แล พวกเขามีความดีใจว่า บัดนี้เราจักได้ถวายทาน ทำการบูชาด้วยของหอมและระเบียบเป็นต้น (และ) ถามปัญหา.
               บทว่า คฤหบดีทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นนั่นแหละ ฆราวาสคับแคบ ความว่า คฤหบดีทั้งหลาย เมื่อเราอยู่ไกล พวกท่านย่อมมีความเสียใจไม่น้อย เมื่อเราอยู่ใกล้ก็ย่อมมีความดีใจไม่น้อย เพราะเหตุใด เพราะเหตุนั้น พึงทราบคำนี้ว่าฆราวาสคับแคบ. ก็เพราะโทษของฆราวาส พวกท่านจึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ก็ถ้าเราละฆราวาสแล้วบวช.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงเนื้อความนี้แก่ช่างไม้ชื่อว่าอิสิทัตตะนั้น จึงตรัสอย่างนี้ว่า เมื่อพวกท่านไปและมากับเราอย่างนี้ เหตุนั้นจึงไม่มี. พึงทราบความที่การอยู่ครองเรือนคับแคบ เพราะอรรถว่ามีกิเลสเครื่องกล และมีความห่วงใยในคำนั้น. ก็ฆราวาสของผู้ที่อยู่ในที่อยู่อาศัยใหญ่ ชื่อว่าคับแคบ เพราะอรรถว่ามีกิเลสชาติเครื่องให้กังวล และมีความห่วงใย.
               บทว่า เป็นทางมาแห่งธุลี ความว่า เป็นทางมาแห่งธุลี คือราคะโทสะและโมหะ. อธิบายว่า เพื่อประโยชน์แก่การมา.
               บทว่า บรรพชาปลอดโปร่ง ความว่า บรรพชา ชื่อว่าปลอดโปร่ง เพราะอรรถว่าไม่มีกิเลสชาติเครื่องกังวล และไม่มีความห่วงใย ก็บรรพชาของภิกษุสองรูปผู้นั่งคู้บัลลังก์ในห้องแม้ ๔ ศอก ชื่อว่าปลอดโปร่ง เพราะอรรถว่าไม่มีกิเลสชาติเครื่องกังวล และไม่มีความห่วงใย.
               บทว่า คฤหบดีทั้งหลาย ก็ท่านทั้งหลายควรไม่ประมาท ความว่า การที่พวกท่านอยู่เป็นฆราวาสที่คับแคบแล้วอย่างนี้ ควรทำความไม่ประมาทเทียว.
               บทว่า พวกข้าพระองค์จะให้พระชายาซึ่งเป็นที่โปรดปรานนั่งข้างหน้าพระองค์หนึ่ง ข้างหลังพระองค์หนึ่ง ความว่า ได้ยินว่า ชนแม้ทั้งสองเหล่านั้นให้หญิงเหล่านั้นที่ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง ประทับนั่งบนช้างสองเชือกเหล่านั้นอย่างนี้ ยืนช้างของพระราชาไว้ตรงกลาง แล้วไป ในข้างทั้งสอง เพราะฉะนั้น พวกช่างไม้นั้นจึงกล่าวแล้วอย่างนี้.
               บทว่า แม้ช้าง ข้าพระองค์ทั้งหลายก็ต้องระวัง ความว่า ช้างย่อมไม่ทำอะไรๆ ให้เป็นอันเสพผิดแล้วฉันใด เป็นอันพึงรักษาไว้ฉันนั้น.
               บทว่า พระชายา แม้เหล่านั้น ความว่า พระชายาเหล่านั้นย่อมไม่ถึงความประมาทโดยประการใด ย่อมเป็นอันพึงรักษาโดยประการนั้น.
               บทว่า แม้ตน ความว่า แม้ตนอันบุคคลผู้ไม่ทำกิริยามีการแย้ม การร่าเริง การกล่าวและการชำเลืองเป็นต้น ชื่อว่าเป็นอันพึงรักษาตน แม้บุคคลกระทำอยู่อย่างนั้น เป็นอันพึงข่มว่า นาย เจ้านี่ประทุษร้าย. คฤหบดีทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นนั่นแล พระราชาย่อมมอบให้พวกท่านรับของหลวงเป็นนิจ เพราะเหตุใด เพราะทั้งนั้น ฆราวาสคับแคบชื่อว่าเป็นทางมาแห่งธุลี.
               ก็ภิกษุถือผ้าบังสุกุล เมื่อให้รับอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่มี เพราะเหตุใด เพราะเหตุนั้น บรรพชาชื่อว่าปลอดโปร่ง. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า แม้บรรพชาก็เป็นอย่างนี้ คฤหบดีทั้งหลาย ก็ท่านทั้งหลายควรไม่ประมาท คือทำความไม่ประมาทนั่นแล.
               บทว่า มีจาคะอันปล่อยแล้ว ความว่า มีจาคะอันสละแล้ว.
               บทว่า มีฝ่ามืออันชุ่ม ความว่า มีมืออันล้างแล้ว เพื่อประโยชน์แก่การให้แก่ผู้ที่มาแล้วทั้งหลาย.
               บทว่า ยินดีในการสละ ความว่า ผู้ยินดีแล้วในการสละกล่าวคือการสละลง.
               บทว่า ควรแก่การขอ คือ ผู้ควรที่บุคคลพึงขอ.
               บทว่า ยินดีในการจำแนกทาน ความว่า ผู้ยินดีแล้วในการจำแนกวัตถุไรๆ แม้มีประมาณน้อย ในทานนั่นเทียวที่ได้แล้วนั้น.
               บทว่า เฉลี่ยแบ่งปันให้เท่าๆ กัน ความว่า ของทั้งปวงที่ไม่ทำการแบ่งอย่างนี้ว่า นี้จักเป็นของพวกเรา นี้จักเป็นของพวกภิกษุ เป็นของอันพวกเธอพึงให้ตั้งอยู่แล้ว.

               จบอรรถกถาถปติสูตรที่ ๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค โสตาปัตติสังยุตต์ เวฬุทวารวรรคที่ ๑ ๖. ถปติสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 19 / 1อ่านอรรถกถา 19 / 1427อรรถกถา เล่มที่ 19 ข้อ 1434อ่านอรรถกถา 19 / 1454อ่านอรรถกถา 19 / 1786
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=19&A=8338&Z=8440
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=7811
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=7811
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๕  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :