ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 19 / 1อ่านอรรถกถา 19 / 45อรรถกถา เล่มที่ 19 ข้อ 47อ่านอรรถกถา 19 / 49อ่านอรรถกถา 19 / 1786
อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค มัคคสังยุตต์ วิหารวรรคที่ ๒
๑. วิหารสูตรที่ ๑

               วิหารวรรคที่ ๒               
               อรรถกถาปฐมวิหารสูตรที่ ๑               
               พึงทราบวินิจฉัยในวิหารสูตรที่ ๑ แห่งวิหารวรรคที่ ๒.
               บทว่า อิจฺฉามหํ ภิกฺขเว อฑฺฒมาสํ ปฏิสลฺลียิตุํ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราปรารถนาจะหลีกเร้นนั่งอยู่แต่ผู้เดียวตลอดกึ่งเดือนหนึ่ง.
               บทว่า นมฺหิ เกนจิ อุปสงฺกมิตพฺโพ อญฺญตฺร เอเกน ปิณฺฑปาตนีหารเกน ความว่า ภิกษุใดไม่ทำวาจาอันขวนขวายเพื่อตน พึงนำบิณฑบาตอันตกแต่งในตระกูลทั้งหลาย ซึ่งมีศรัทธาไปเพื่อประโยชน์แก่เรา พึงน้อมเข้าไปเพื่อเรา ใครๆ คนอื่นจะเป็นภิกษุหรือคฤหัสถ์ไม่พึงเข้าไปหาเรา นอกจากภิกษุนั้นผู้นำบิณฑบาตไปให้รูปเดียว.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนี้.
               ตอบว่า ได้ยินว่า ในกึ่งเดือนนั้น สัตว์ที่พระองค์จะพึงแนะนำไม่มี. เมื่อความเช่นนั้น พระศาสดาทรงดำริว่า เราจักยังกึ่งเดือนนี้ให้ล่วงไปด้วยสุขอันเกิดแต่ผลสมาบัติ การอยู่เป็นสุขจักมีแก่เราด้วยอาการอย่างนี้ และในอนาคต ชนผู้เกิดในภายหลังจักเอาอย่างว่า แม้พระศาสดาทรงละคณะไปประทับอยู่แต่พระองค์เดียว จะกล่าวอะไรถึงพวกเราเล่า ข้อนั้นจักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ปัจฉิมชนนั้นตลอดกาลนาน ดังนี้ จึงตรัสอย่างนี้ ด้วยเหตุนี้ แม้ภิกษุสงฆ์ทูลรับพระดำรัสของพระศาสดาแล้ว จึงได้ถวายภิกษุรูปหนึ่ง ภิกษุรูปนั้นทำกิจทั้งปวงมีการกวาดบริเวณพระคันธกุฎี ถวายน้ำสรงพระพักตร์และไม้ชำระพระทนต์เป็นต้น แต่เช้าตรู่เสร็จแล้ว ก็หลีกไปในขณะนั้น.
               บทว่า เยน สฺวาหํ ตัดบทเป็น เยน สุ อหํ.
               บทว่า ปฐมาภิสมฺพุทฺโธ ความว่า เราได้ตรัสรู้ ครั้งแรก อยู่ด้วยวิหารธรรม ในภายใน ๔๙ วัน.
               บทว่า วิหรามิ นี้ เป็นคำปัจจุบันลงในอรรถของอดีต.
               บทว่า ตสฺส ปเทเสน ความว่า โดยส่วนแห่งวิหารธรรมแรกตรัสรู้นั้น. ส่วนแห่งขันธ์ ส่วนแห่งอายตนะ ธาตุ สัจจะ อินทรีย์ ปัจจยาการ สติปัฏฐาน ฌานและนามรูป ส่วนแห่งธรรมมีอย่างต่างๆ กัน ชื่อว่าส่วนในวิหารธรรมนั้น.
               พระองค์ทรงหมายถึงส่วนแห่งธรรมนั้นแม้ทั้งปวง จึงตรัสว่า ตสฺส ปเทเสน วิหาสึ ดังนี้.
               ก็ในปฐมโพธิกาล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงใคร่ครวญพิจารณาขันธ์ห้าหมดทุกส่วนแล้วในภายใน ๔๙ วัน เหมือนพระราชาทรงปกครองราชสมบัติแล้ว รับสั่งให้เปิดห้องนั้นๆ เพื่อทอดพระเนตรสมบัติอันเป็นแก่นสารของพระองค์ พึงพิจารณาอยู่ซึ่งรัตนะทั้งหลายมีทอง เงิน แก้วมุกดาและมณีเป็นต้นฉะนั้น.
               ส่วนในกึ่งเดือนนี้ ทรงพิจารณาอยู่ซึ่งเวทนาขันธ์เท่านั้นอันเป็นส่วนแห่งขันธ์เหล่านั้น. เมื่อพระองค์ทรงแลดูอยู่ว่า สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ย่อมเสวยซึ่งสุขชื่อเห็นปานนี้ เสวยซึ่งทุกข์เห็นปานนี้ ดังนี้ สุขเวทนาเป็นไปแล้วจนถึงภวัคคพรหม ทุกขเวทนาเป็นไปแล้วจนถึงอเวจี ทั้งหมดปรากฏแล้ว โดยอาการทั้งปวง. ต่อมา ทรงอยู่กำหนดเวทนานั้นโดยนัยเป็นต้นว่า เวทนาย่อมมีเพราะความเห็นผิดเป็นปัจจัยบ้างดังนี้.
               ในปฐมโพธิกาล ทรงอยู่ทำอายตนะ ๑๒ ให้หมดทุกส่วนอย่างนั้น. ก็ในกึ่งเดือนนี้ พระองค์ทรงพิจารณาอยู่ซึ่งส่วนหนึ่งแห่งธัมมายตนะ ด้วยสามารถเวทนาซึ่งเป็นส่วนแห่งอายตนะเหล่านั้น ซึ่งส่วนหนึ่งแห่งธัมมธาตุด้วยสามารถเวทนา ซึ่งเป็นส่วนแห่งธาตุทั้งหลาย ซึ่งส่วนหนึ่งแห่งทุกขสัจด้วยสามารถเวทนาขันธ์เท่านั้น ซึ่งเป็นส่วนแห่งสัจจะทั้งหลาย ซึ่งส่วนหนึ่งแห่งปัจจัยด้วยสามารถเวทนาเท่านั้น เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย ซึ่งเป็นส่วนแห่งปัจจัยทั้งหลาย ซึ่งส่วนหนึ่งแห่งองค์ฌานด้วยสามารถเวทนาเท่านั้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งแห่งฌานทั้งหลาย ทรงพิจารณาอยู่ซึ่งส่วนอันหนึ่งแห่งนามด้วยสามารถเวทนาเท่านั้น ซึ่งส่วนอันหนึ่งแห่งนามด้วยสามารถเวทนาเท่านั้น ซึ่งเป็นส่วนแห่งนามและรูป.
               ส่วนในปฐมสมโพธิ์ ทรงทำธรรมมีกุศลเป็นต้นให้หมดทุกส่วนในภายใน ๔๙ วัน เสร็จแล้วทรงพิจารณาอยู่ซึ่งปกรณ์ ๗ อันเป็นอนันตรนัย. ก็ในกึ่งเดือนนี้ พระองค์ทรงพิจารณาอยู่ซึ่งหมวด ๓ แห่งเวทนาอย่างเดียว ซึ่งเป็นส่วนแห่งธรรมทั้งปวง. วิหารสมาบัตินั้นๆ ในที่นั้นๆ เกิดแล้ว ด้วยอานุภาพแห่งเวทนา.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอยู่แล้วโดยอาการใด เมื่อจะทรงแสดงอาการนั้น จึงตรัสคำว่า มิจฺฉาทิฏฺฐิปจฺจยาปิ เป็นอาทิ.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า มิจฺฉาทิฏฺฐิปจฺจยาปิ ความว่า แม้เวทนาสัมปยุตด้วยทิฏฐิ ย่อมควร. เวทนาที่เป็นกุศลและอกุศลบ้าง เวทนาที่เป็นวิบากบ้าง เกิดขึ้นเพราะทำทิฏฐิให้เป็นอุปนิสัย ย่อมควร.
               ในบทนั้น เวทนาสัมปยุตด้วยมิจฉาทิฏฐิ ย่อมเป็นอกุศลอย่างเดียว.
               ส่วนเวทนาเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยทิฏฐิ. เพราะพวกมิจฉาทิฏฐิอาศัยทิฏฐิแล้ว ย่อมให้ข้าวยาคูและภัตเป็นต้นในวันปักษ์ ย่อมตั้งข้อปฏิบัติสำหรับคนเดินทางไกลเป็นต้น ย่อมสร้างศาลาบนทางใหญ่ ๔ แพร่ง ย่อมให้ช่วยกันขุดสระโบกขรณี ย่อมปลูกกอไม้ดอกในศาลเจ้าเป็นต้น ย่อมลาดสะพานในแม่น้ำและทางลำบากเป็นต้น ย่อมทำที่ไม่เสมอให้เสมอ. เวทนาที่เป็นกุศลย่อมเกิดขึ้นแก่คนเหล่านั้น ด้วยประการดังนี้.
               ส่วนคนเหล่านั้นอาศัยความเห็นผิด ย่อมด่าย่อมบริภาษพวกสัมมาทิฏฐิด้วยตนเอง ย่อมทำกรรมมีการฆ่าและการจองจำเป็นต้น ฆ่าสัตว์แล้วย่อมนำเข้าไปสังเวยแก่เทพดาทั้งหลาย. เวทนาที่เป็นอกุศลย่อมเกิดขึ้นแก่คนเหล่านั้นด้วยประการดังนี้.
               ส่วนเวทนาที่เป็นวิบากย่อมมีแก่ผู้อยู่ในระหว่างภพ.
               แม้เวทนาสัมปยุตด้วยสัมมาทิฏฐิ เวทนาที่เป็นกุศลและอกุศลบ้าง เวทนาที่เป็นวิบากบ้างอันเกิดขึ้นเพราะทำสัมมาทิฏฐิให้เป็นอุปนิสัย ย่อมควร แม้ในบทว่า สมฺมาทิฏฺฐิปจฺจยา นี้.
               ในบทนั้น เวทนาอันสัมปยุตด้วยสัมมาทิฏฐิย่อมเป็นกุศลอย่างเดียว. ส่วนคนเหล่านั้นอาศัยความเห็นชอบแล้ว จึงพากันทำบุญทั้งหลายเป็นอาทิอย่างนี้ว่า การบูชาพระพุทธเจ้า ประทีป ดอกไม้ การฟังธรรมใหญ่ การให้ประดิษฐานพระเจดีย์ในทิสาภาคซึ่งยังไม่ประดิษฐาน. เวทนาที่เป็นกุศลย่อมเกิดขึ้นแก่คนเหล่านั้น ด้วยประการดังนี้.
               คนเหล่านั้นอาศัยความเห็นชอบเท่านั้นแล้ว จึงด่าบริภาษพวกมิจฉาทิฏฐิ ย่อมยกตน ข่มคนอื่น. เวทนาอันเป็นอกุศลย่อมเกิดขึ้นแก่คนเหล่านั้น ด้วยประการดังนี้.
               ส่วนเวทนาอันเป็นวิบากย่อมมีแก่คนทั้งหลายผู้อยู่ในระหว่างภพเท่านั้น.
               แม้ในบทเป็นอาทิว่า มิจฺฉาสงฺกปฺปปจฺจยา ก็มีนัยนี้แล.
               ส่วนในบทเป็นอาทิว่า ฉนฺทปจฺจยา พึงทราบเวทนาอันสัมปยุตด้วยจิตประกอบด้วยโลภะ ๘ ดวง เพราะฉันทะเป็นปัจจัย. เวทนาในปฐมฌานย่อมมี เพราะวิตกเป็นปัจจัย เวทนาในสัญญาสมาบัติ ๖ ที่เหลือเว้นปฐมฌาน ย่อมมี เพราะสัญญาเป็นปัจจัย.
               ในบทเป็นอาทิว่า ฉนฺโท จ อวูปสนฺโต ความว่า เวทนาอันสัมปยุตด้วยจิตประกอบด้วยโลภะ ๘ ดวง ย่อมมีในเพราะความไม่สงบแห่งฉันทวิตกและสัญญาทั้งสาม แต่พอฉันทะสงบ เวทนาในปฐมฌานก็ย่อมมีเวทนามีทุติยฌานเป็นต้น ท่านประสงค์แล้วในเพราะความสงบฉันทะและวิตก.
               เวทนาในเนวสัญญานาสัญญายตนะย่อมมีในเพราะความสงบฉันทวิตกและสัญญาแม้สามได้.
               บทว่า อปฺปตฺตสฺส ปตฺติยา ได้แก่ เพื่อบรรลุอรหัตผล.
               บทว่า อตฺถิ วายามํ ได้แก่ มีความเพียร.
               บทว่า ตสฺมึปิ ฐาเน อนุปฺปตฺเต ความว่า เมื่อถึงเหตุแห่งพระอรหัตผลด้วยสามารถแห่งการปรารภความเพียรนั้น.
               บทว่า ตปฺปจฺจยาปิ เวทยิตํ ความว่า เวทนาย่อมมีเพราะฐานะเป็นปัจจัยแห่งพระอรหัต เวทนาอันเป็นโลกุตระซึ่งเกิดพร้อมกับมรรค ๔ ท่านถือเอาแล้วด้วยบทนั้นแล.

               จบอรรถกถาปฐมวิหารสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค มัคคสังยุตต์ วิหารวรรคที่ ๒ ๑. วิหารสูตรที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 19 / 1อ่านอรรถกถา 19 / 45อรรถกถา เล่มที่ 19 ข้อ 47อ่านอรรถกถา 19 / 49อ่านอรรถกถา 19 / 1786
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=19&A=256&Z=275
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=4167
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=4167
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๐  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :