ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 19 / 1อ่านอรรถกถา 19 / 522อรรถกถา เล่มที่ 19 ข้อ 547อ่านอรรถกถา 19 / 568อ่านอรรถกถา 19 / 1786
อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค โพชฌงคสังยุตต์ หมวด ๖
๒. ปริยายสูตร

               อรรถกถาปริยายสูตรที่ ๒               
               พึงทราบวินิจฉัยในปริยายสูตรที่ ๒
               บทว่า สมฺพหุลา ความว่า ชน ๓ คน ท่านเรียกว่า มากหลาย.
               โดยปริยายในวินัย มากกว่า ๓ คนนั้น เรียกว่าสงฆ์. ๓ คนเรียกว่า ๓ คนเหมือนกัน โดยปริยายแห่งพระสูตร แต่ ๓ คนขึ้นไป เรียกว่ามากหลาย.
               ในที่นี้ พึงทราบว่า มากหลาย โดยปริยายแห่งพระสูตร.
               บทว่า ปิณฺฑาย ปวิสึสุ ได้แก่ เข้าไปเพื่อบิณฑบาต.
               ก็ภิกษุเหล่านั้นยังไม่เข้าไปก่อน แต่เรียกว่าเข้าไปแล้วเพราะออกไปด้วยคิดว่า จักเข้าไป.
               ถามว่า เหมือนอะไร.
               ตอบว่า เหมือนคนออกไปด้วยคิดว่า จักไปบ้าน แม้ยังไม่ทันถึงบ้านนั้น เมื่อถูกเขาถามว่า คนชื่อนี้ ไปไหน. เขาจะตอบว่า ไปบ้านแล้ว ฉันใดก็ฉันนั้น.
               บทว่า ปริพฺพาชกานํ อาราโม นั้น ท่านกล่าวหมายถึงอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกมีอยู่ในที่ไม่ไกลพระเชตวัน.
               บทว่า สมโณ อาวุโส ความว่า ดูก่อนผู้มีอายุ พระสมณโคดมเป็นครูของท่านทั้งหลาย.
               บทว่า มยํปิ โข อาวุโส สาวกานํ เอวํ ธมฺมํ เทเสม ความว่า ในลัทธิของพวกเดียรถีย์ ไม่มีคำนี้ว่า นิวรณ์ ๕ พวกเธอพึงละโพชฌงค์ ๗ พวกเธอพึงเจริญ.
               ส่วนพวกเดียรถีย์เหล่านั้นไปยังอารามยืนอยู่ท้ายบริษัท ฟังธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นเหมือนมองดูสิ่งอื่น เหมือนส่งใจไปในที่อื่น.
               แต่นั้น ก็กำหนดว่า สมณโคดมจะกล่าวว่า พวกท่านจงละสิ่งนี้ จงเจริญสิ่งนี้เถิด แล้วจึงไปยังอารามของตนให้จัดอาสนะไว้ท่ามกลางอารามอันอุปัฏฐากชายหญิงห้อมล้อมยกศีรษะน้อมกายเขาไป. เมื่อแสดงอาการแทงตลอดโดยสยัมภูญาณของตน จึงกล่าวว่า คนควรละนิวรณ์ ๕ ควรเจริญโพชฌงค์ ๗ ดังนี้.
               ในบทว่า อิธ โน อาวุโส โก วิเสโส นี้. บทว่า อิธ แปลว่า ในบัญญัตินี้.
               บทว่า โก วิเสโส คือ อะไรยิ่งกว่ากัน.
               บทว่า โก อธิปฺปายโส คือ อะไรเป็นความเพียรเป็นเครื่องประกอบอันยิ่ง.
               บทว่า กึ นานากรณํ คือ อะไรเป็นความต่างกัน.
               บทว่า ธมฺมเทสนาย วา ธมฺมเทสนํ ความว่า พวกอัญญเดียรถีย์กล่าวข้อที่พวกเขาพึงปรารภธรรมเทศนาของพวกเรา กับธรรมเทศนาของพระสมณโคดม หรือธรรมเทศนาของพระสมณโคดมกับธรรมเทศนาของพวกเรา เรียกว่าการทำให้ต่างกัน นั้นชื่ออะไร.
               แม้ในบทที่สองก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า เนว อภินนฺทึสุ ได้แก่ พวกภิกษุไม่ยอมรับว่า อย่างนี้ อย่างนี้.
               บทว่า นปฺปฏิกฺโกสึสุ ได้แก่ ไม่คัดค้านว่า สิ่งนี้ไม่เป็นอย่างนี้.
               ถามว่า ก็พวกภิกษุเหล่านั้นเมื่อได้ทำอย่างนี้พอหรือ หรือว่าไม่พอ.
               ตอบว่า พอ.
               ภิกษุเหล่านั้นย่อมไม่สามารถกล่าวคำประมาณเท่านี้ได้ว่า ดูก่อนผู้มีอายุ ในลัทธิของท่านทั้งหลาย ไม่มีนิวรณ์ ๕ จะต้องละ ไม่มีโพชฌงค์ ๗ จะต้องเจริญ ดังนี้.
               แต่ภิกษุเหล่านั้นได้มีความดำริอย่างนี้ว่า ข้อที่เขานำมากล่าวนั้นไม่มี พวกเราทูลข้อนั้นแด่พระศาสดา เมื่อเป็นเช่นนั้น พระศาสดาจักแสดงพระธรรมเทศนาอันไพเราะแก่พวกเรา ดังนี้.
               บทว่า ปริยาโย แปลว่า เหตุ.
               บทว่า น เจว สมฺปายิสฺสนฺติ ความว่า พวกอัญญเดียรถีย์จักไม่อาจกล่าวแก้ได้เลย.
               บทว่า อุตฺตริญฺจ วิฆาตํ ความว่า จักถึงความทุกข์ แม้เป็นอย่างยิ่ง เพราะแก้ไม่ได้.
               ความจริง ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นแก่พวกเขาผู้ไม่สามารถเพื่อจะกล่าวแก้ได้.
               บทว่า ตํ ในบทว่า ยถา ตํ ภิกฺขเว อวิสยสฺมึ นี้เป็นเพียงนิบาต.
               บทว่า ยถา แปลว่า คำเป็นเหตุ. อธิบายว่า เพราะปัญหาที่ถูกถามในฐานะมิใช่วิสัย.
               บทว่า สเทวเก ได้แก่ ในโลกพร้อมด้วยเทวโลกกับด้วยเทพดาทั้งหลาย.
               แม้ในบทว่า สมารกะเป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ท่านแสดงว่า เรายังไม่แลเห็นเทวดาหรือมนุษย์นั้นในโลก อันพร้อมด้วยเทวโลกเป็นต้นที่ต่างกันนั้น หมายถึงสัตว์โลก แม้โดยฐานะ ๕ คือหมู่สัตว์ ๒ เพิ่มฐานะ ๓ ในโลกด้วยอาการอย่างนี้.
               บทว่า อิโต วา ปน สุตฺวา ได้แก่ หรือฟังจากศาสนานี้ของเรา.
               ท่านแสดงว่า ด้วยว่า พระตถาคตก็ดี สาวกของพระตถาคตก็ดี ฟังด้วยอาการอย่างนี้ พึงให้ยินดีคือให้พอใจได้. ชื่อว่าความยินดี จะไม่มีโดยประการอื่น.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงพระทัยยินดีด้วยการแก้ปัญหาเหล่านั้นของพระองค์ จึงตรัสคำว่า กตโม จ ภิกฺขเว ปริยาโย ดังนี้เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อชฺฌตฺตํ กามจฺฉนฺโท ได้แก่ ฉันทราคะเกิดขึ้นเพราะปรารภเบญจขันธ์ของตน.
               บทว่า พหิทฺธา กามจฺฉนฺโท ได้แก่ ฉันทราคะเกิดขึ้นเพราะปรารภเบญจขันธ์ของพวกคนเหล่าอื่น.
               บทว่า อุทฺเทสํ คจฺฉติ คือ ย่อมถึงการนับ.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ พฺยาปาโท ได้แก่ ปฏิฆะอันเกิดขึ้นในเพราะอวัยวะมีมือและเท้าเป็นต้นของตน.
               บทว่า พหิทฺธา พฺยาปาโท ได้แก่ ปฏิฆะอันเกิดขึ้นในเพราะมือและเท้าเหล่านั้นของคนอื่น
               บทว่า อชฺฌตฺตํ ธมฺเมสุ วิจิกิจฺฉา ได้แก่ ความสงสัยในขันธ์ของตน.
               บทว่า พหิทฺธา ธมฺเมสุ วิจิกิจฺฉา ได้แก่ ความสงสัยมากในฐานะ ๘ ในภายนอก.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ ธมฺเมสุ สติ ความว่า เมื่อกำหนดสังขารทั้งหลายในภายใน สติก็เกิดขึ้น.
               บทว่า พหิทฺธา ธมฺเมสุ สติ ความว่า เมื่อกำหนดสังขารทั้งหลายในภายนอก สติก็เกิดขึ้น.
               แม้ในธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า กายิกํ ได้แก่ ความเพียรเกิดขึ้นแก่ผู้อธิฏฐานจงกรมอยู่.
               บทว่า เจตสิกํ ความว่า ความเพียรอันเกิดขึ้น เว้นความเพียรทางกายอย่างนี้ว่า เราจักไม่ทำลายบัลลังก์นี้ จนกว่าจิตของเราจักพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่น.
               บทว่า กายปสฺสทฺธิ ได้แก่ ความสงบความกระวนกระวายแห่งขันธ์สาม.
               บทว่า จิตฺตปสฺสทฺธิ ได้แก่ ความสงบความกระวนกระวายแห่งวิญญาณขันธ์.
               ในอุเบกขาสัมโพชฌงค์มีวินิจฉัยเช่นเดียวกับสติสัมโพชฌงค์แล.
               ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโพชฌงค์คลุกเคล้ากันไป.
               โพชฌงค์เหล่านี้คือ สติ วิจยะและอุเบกขาในธรรมในภายในเหล่านั้น ชื่อว่าโลกิยะ เพราะมีขันธ์ของตนเป็นอารมณ์ ความเพียรทางกายยังไม่ถึงมรรคก็อย่างนั้น.
               ก็เพราะไม่มีวิตกและวิจาร ปีติและสมาธิเป็นรูปาวจร แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ในรูปาวจรจะไม่ได้โพชฌงค์ ดังนั้น ก็เป็นโลกุตระอยู่นั่นเอง. พระเถระเหล่าใดย่อมยกสัมโพชฌงค์ขึ้นแสดงในพรหมวิหารและในฌานที่เป็นบาทของวิปัสสนาเป็นต้น ตามมติของพระเถระเหล่านั้น โพชฌงค์ก็เป็นรูปาวจรบ้าง อรูปาวจรบ้าง.
               ก็ในโพชฌงค์ ปีติเท่านั้นไม่ได้ในอรูปาวจรโดยส่วนเดียว. โพชฌงค์ที่เหลือ ๖ ประการเป็นมิสสกะคลุกเคล้ากันด้วยประการฉะนี้.
               ในที่สุดแห่งเทศนา ภิกษุบางพวกเป็นโสดาบัน บางพวกเป็นสกทาคามี บางพวกเป็นอนาคามี บางพวกเป็นอรหันต์ ด้วยประการฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาปริยายสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค โพชฌงคสังยุตต์ หมวด ๖ ๒. ปริยายสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 19 / 1อ่านอรรถกถา 19 / 522อรรถกถา เล่มที่ 19 ข้อ 547อ่านอรรถกถา 19 / 568อ่านอรรถกถา 19 / 1786
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=19&A=3190&Z=3276
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=5164
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=5164
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๐  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :