ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 19 / 1อ่านอรรถกถา 19 / 568อรรถกถา เล่มที่ 19 ข้อ 573อ่านอรรถกถา 19 / 601อ่านอรรถกถา 19 / 1786
อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค โพชฌงคสังยุตต์ หมวด ๖
๔. เมตตสูตร

               อรรถกถาเมตตาสูตรที่ ๔               
               พึงทราบวินิจฉัยในเมตตาสูตรที่ ๔
               บทว่า เมตฺตาสหคเตน เจตสา เป็นต้น ทั้งหมดท่านให้พิสดารไว้ในวิสุทธิมรรคโดยอาการทั้งปวงแล้ว. พวกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นฟังธรรมเทศนาของพระศาสดาโดยนัยก่อนนั่นแล จึงกล่าวบทแม้นี้ว่า มยมฺปิ โข อาวุโส สาวกานํ เอวํ ธมฺมํ เทสม ดังนี้.
               ความจริง ในลัทธิของพวกเดียรถีย์ การละนิวรณ์ ๕ หรือการเจริญพรหมวิหารมีเมตตาเป็นต้น ย่อมไม่มี.
               บทว่า กึ คติกา โหติ คือ มีอะไรสำเร็จ.
               บทว่า กิมฺปรมา คือ อะไรสูงสุด.
               บทว่า กิมฺผลา คือ มีอะไรเป็นอานิสงส์.
               บทว่า กิมฺปริโยสานา คือ มีอะไรจบลง.
               บทว่า เมตฺตาสหคตํ ได้แก่ สติสัมโพชฌงค์อันประกอบเกี่ยวข้องสัมปยุตด้วยเมตตา.
               ในบททั้งปวงก็นัยนี้แล.
               บทว่า วิเวกนิสฺสิตา เป็นต้น มีเนื้อความอันกล่าวแล้วแล.
               บทว่า อปฺปฏิกูลํ ความว่า สิ่งไม่ปฏิกูลมี ๒ อย่าง คือ ไม่ปฏิกูลในสัตว์และไม่ปฏิกูลในสังขาร. อธิบายว่า ในสิ่งอันน่าปรารถนาอันไม่ปฏิกูลนั้น.
               บทว่า ปฏิกูลสญฺญี คือ มีความสำคัญว่าไม่น่าปรารถนา.
               ถามว่า ข้อที่เธอมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลนั้น อย่างไรจึงอยู่อย่างนี้ได้.
               ตอบว่า เธอทำในใจว่าไม่งามแผ่ไป หรือว่าไม่เที่ยง จึงอยู่อย่างนี้ได้.
               ข้อนั้นจริง ตามที่ท่านกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทาว่า เธอมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลอย่างไร เธอย่อมแผ่ไปในสิ่งอันน่าปรารถนา โดยความเป็นของไม่งาม หรือพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง. แต่เมื่อเธอทำการแผ่เมตตา หรือทำในใจถึงโดยความเป็นธาตุในสิ่งอันเป็นปฏิกูล ไม่น่าปรารถนา ชื่อว่ามีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลอยู่.
               เหมือนที่ท่านกล่าวไว้ว่า ผู้มีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลอยู่อย่างไร เธอแผ่ไปในสิ่งอันไม่น่าปรารถนาโดยเมตตา หรือพิจารณาโดยความเป็นธาตุ ดังนี้.
               แม้ในบทที่คลุกเคล้ากันทั้งสอง ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ก็เธอเมื่อทำในใจว่าไม่งามแผ่ไป หรือว่าไม่เที่ยงนั้นนั่นแล ทั้งในสิ่งไม่ปฏิกูลและปฏิกูล มีความสำคัญว่าปฏิกูลอยู่. ก็เธอทำการแผ่เมตตา หรือทำในใจถึงความเป็นธาตุนั้นนั่นแลทั้งในสิ่งปฏิกูลและไม่ปฏิกูล ชื่อว่ามีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลอยู่. แต่เมื่อปรารถนา ฉฬังคุเปกขาอันท่านกล่าวไว้โดยนัยเป็นต้นว่า ตาเห็นรูป ไม่ดีใจเลยดังนี้ พึงทราบว่า เธอแยกสิ่งทั้งสองนั้น ในสิ่งไม่ปฏิกูลหรือสิ่งปฏิกูลออกเสียแล้ว วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ในสิ่งทั้งสองนั้น.
               ก็เทศนา พึงแยกออกจากกัน เพราะมรรคโพชฌงค์ และอริยิทธิกับวิปัสสนา ทรงแสดงแก่ภิกษุนี้ผู้ยังฌานหมวด ๓ หรือฌานหมวด ๔ ให้เกิดแล้วด้วยเมตตา ทำฌานนั้นแลให้เป็นบาท เจริญวิปัสสนาบรรลุพระอรหัต ด้วยคำมีประมาณเท่านี้.
               ส่วนภิกษุใดทำเมตตาฌานนี้ให้เป็นบาทแล้ว แม้พิจารณาสังขารทั้งหลายอยู่ ยังไม่สามารถจะบรรลุพระอรหัตได้ เพราะเมตตามีพระอรหัตเป็นอย่างยิ่งไม่มีแก่ภิกษุนั้น. แต่พึงแสดงข้อที่เมตตามีพระอรหัตเป็นอย่างยิ่งนั้น. ฉะนั้น ทรงเริ่มเทศนานี้เพื่อแสดงข้อนั้น.
               แม้ในบทเป็นต้นว่า สพฺพโส วา ปน รูปสญฺญานํ สมติกฺกมฺมา พึงทราบถึงประโยชน์ในการเริ่มต้นของเทศนา โดยนัยนี้อีกต่อไป.
               บทว่า สุภปรมํ ความว่า มีความงามเป็นที่สุด มีความงามเป็นส่วนสุด มีความงามสำเร็จ.
               บทว่า อิธ ปญฺญสฺส ความว่า ปัญญาของเธอในธรรมวินัยนี้ ปัญญาในที่นี้ ยังล่วงโลกนี้ไม่ได้. อธิบายว่า ปัญญานั้นเป็นโลกิยปัญญา.
               บทว่า อุตฺตริวิมุตฺตึ อปฺปฏิวิชฺฌโต ความว่า แทงตลอดโลกุตรธรรมยังไม่ได้. อธิบายว่า ส่วนภิกษุใดย่อมสามารถเพื่อแทงตลอดได้ ภิกษุนั้นได้เมตตา มีอรหัตเป็นอย่างยิ่ง.
               แม้ในบทว่า กรุณาเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสธรรมมีความงามเป็นอย่างยิ่งเป็นต้นแห่งธรรมมีเมตตาเป็นต้นเหล่านั้น
               ตอบว่า เพราะธรรมนั้นเป็นอุปนิสัยของภิกษุนั้นๆ ด้วยอำนาจความเป็นธรรมมีส่วนเสมอกัน.
               ความจริง พวกสัตว์ไม่เป็นสิ่งปฏิกูลสำหรับภิกษุผู้อยู่ด้วยเมตตา.
               ลำดับนั้น เมื่อเธอนำจิตเข้าไปในสีเขียวเป็นต้นอันเป็นสีบริสุทธิ์ ไม่ปฏิกูล จิตย่อมแล่นไปในสิ่งอันไม่เป็นปฏิกูลนั้น โดยไม่ยาก. เมตตาเป็นอุปนิสสยปัจจัยแห่งสุภวิโมกข์ ด้วยอาการอย่างนี้ หายิ่งกว่านั้นไม่ เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า สุภปรมา ดังนี้แล.
               ภิกษุผู้อยู่ด้วยกรุณา พิจารณาเห็นทุกข์ของสัตว์มีความเดือดร้อนเป็นต้น เป็นเครื่องหมายแห่งรูป. โทษในรูปจึงย่อมเป็นอันแสดง เพราะความเป็นไปและความเกิดแห่งกรุณา.
               ลำดับนั้น เธอเมื่อเพิกซึ่งในบรรดากสิณ ๔ มีปฐวีกสิณเป็นต้น กสิณอย่างใดอย่างหนึ่งได้แล้ว เพราะโทษแห่งรูปได้รู้หมดแล้ว นำจิตเข้าไปในอากาศเป็นที่สลัดรูปออก จิตย่อมแล่นไปในกสิณนั้นโดยไม่ยาก. กรุณาเป็นอุปนิสสยปัจจัยแก่อากาสานัญจายตนะด้วยอาการอย่างนี้ หายิ่งกว่านั้นไม่ เพราะฉะนั้นจึงตรัสว่า อากาสานญฺจายตนปรมา ดังนี้.
               ส่วนภิกษุผู้อยู่ด้วยมุทิตา พิจารณาเห็นความรู้สึกของพวกสัตว์ผู้มีปราโมทย์ที่เกิดขึ้น ด้วยทำปราโมทย์นั้น จะมีความรู้สึกได้เพราะความเป็นไปและความเกิดแห่งมุทิตา.
               ลำดับนั้น เมื่อเธอนำจิตเข้าไปในวิญญาณ ล่วงอากาสานัญจายตนะที่ได้แล้วตามลำดับ แต่ยังมีอากาศนิมิตเป็นอารมณ์จิตย่อมแล่นไปในอากาศนิมิตนั้น โดยไม่ยาก. มุทิตาเป็นอุปนิสปัจจัยแก่วิญญาณัญจายตนะด้วยอาการอย่างนี้ หายิ่งกว่านั้นไม่. เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า วิญฺญาณญฺจายตนปรมา ดังนี้.
               ส่วนภิกษุผู้อยู่ด้วยอุเบกขา มีจิตลำบากด้วยยึดสิ่งที่ไม่มี เพราะไม่มีความห่วงใยว่า ขอสัตว์ทั้งหลายจงมีสุขเถิด หรือจงพ้นทุกข์เถิด หรือว่า จงอย่าพลัดพรากจากสุขที่ถึงแล้วเถิด ดังนี้ เพราะมุ่งหน้ายึดปรมัตถ์ จากสุขและทุกข์เป็นต้น.
               ลำดับนั้น เมื่อเธอนำจิตเข้าไปในความไม่มีแห่งวิญญาณ เป็นปรมัตถ์ ซึ่งไม่มีอยู่ เพราะเกิดล่วงวิญญาณัญจายตนะที่ได้แล้วตามลำดับของจิต ซึ่งลำบากเพราะยึดสิ่งที่มีอยู่โดยปรมัตถ์ของจิตซึ่งมุ่งหน้ายึดปรมัตถ์ จิตย่อมแล่นไปในวิญญาณัญจายตนะนั้นโดยไม่ยาก อุเบกขาเป็นอุปนิสสยปัจจัยแก่อากิญจัญญายตนะด้วยอาการอย่างนี้ หายิ่งกว่านั้นไม่ เพราะฉะนั้นจึงตรัสว่า อากิญฺจญฺญายตนปรมา ดังว่ามาด้วยประการฉะนี้.
               ในที่สุดแห่งเทศนา พวกภิกษุ ๕๐๐ รูปบรรลุพระอรหัต.

               จบอรรถกถาเมตตาสูตรที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค โพชฌงคสังยุตต์ หมวด ๖ ๔. เมตตสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 19 / 1อ่านอรรถกถา 19 / 568อรรถกถา เล่มที่ 19 ข้อ 573อ่านอรรถกถา 19 / 601อ่านอรรถกถา 19 / 1786
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=19&A=3328&Z=3470
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=5239
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=5239
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๐  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :