บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
คำว่า ผู้สำรวมด้วยความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงศีลที่ประเสริฐที่สุดของศีลทั้ง ๔ อย่าง จึงได้ตรัสอย่างนี้. ท่านปิฎกจุลนาคเถระกล่าวว่า ศีล ก็คือการสำรวมในพระปาฏิโมกข์นั่นเอง. ท่านค้านว่า ขึ้นชื่อว่าฐานะที่ว่าอีก ๓ ข้อ เป็นศีล ไม่มี เมื่อไม่ยอมเห็นด้วยอย่างเด็ดขาดจึงกล่าวไว้. ที่ชื่อว่า อินทริยสังวร ก็สักว่าที่เป็นไปในทวาร ๖ เท่านั้น. อาชีวปาริสุทธิก็สักว่าที่เกิดปัจจัยขึ้นโดยถูกต้องตามทำนองคลองธรรมเท่านั้น. ชื่อว่า ปัจจัยนิสสิต ก็ตรงที่พิจารณาว่าเพื่อประโยชน์นี้ในปัจจัยที่ได้มาแล้วบริโภค (เพราะฉะนั้น) ว่าโดยตรง ศีลก็คือการสำรวมในพระปฏิโมกข์เท่านั้น. ปาฏิโมกขสังวรนั้นของภิกษุใดแตกแล้ว ภิกษุนี้ก็ไม่พึงกล่าวได้ว่าจะรักษาศีลที่เหลือไว้ได้ เพราะเหมือนคนหัวขาด ไม่มีทางจะรักษามือเท้าไว้ได้ฉะนั้น. ส่วนปาฏิโมกขสังวรนั้นของภิกษุใดไม่เสียหาย ภิกษุนี้ก็สามารถเพื่อทำศีลที่เหลือให้กลับเป็นปกติได้อีกแล้วรักษาข้ออื่น เหมือนคนหัวไม่ขาด สามารถรักษาชีวิตไว้ได้ฉะนั้น. เพราะฉะนั้น ศีลก็คือปาฏิโมกขสังวรนั่นเอง. ด้วยความสำรวมในพระปาฏิโมกข์นั้น. คำว่า ผู้สำรวมแล้ว หมายความว่า ผู้สำรวมเข้าถึงคือประกอบด้วยความสำรวมในพระปาฏิโมกข์. คำว่า ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร คือ สมบูรณ์ทั้งอาจาระ ทั้งโคจร. คำว่า อณุมตฺเตสุ คือ มีประมาณเล็กน้อย. คำว่า โทษ คือ ในธรรมที่เป็นอกุศล. คำว่า มีปกติเห็นภัย คือ เห็นเป็นของน่ากลัวโดยปกติ. คำว่า ยึดมั่น คือ ถือไว้อย่างถูกต้อง. คำว่า จงศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย ได้แก่ การยึดถือศึกษาสิกขาบทนั้นๆ ใน นี้เป็นความย่อในพระสูตรนี้ ส่วนความพิสดาร ท่านกล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค ด้วยประการฉะนี้ ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแต่ปาฏิโมกขสังวรศีลเท่านั้น. จบอรรถกถาปาฏิโมกขสูตรที่ ๖ ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สติปัฏฐานสังยุตต์ อมตวรรคที่ ๕ ๖. ปาฏิโมกขสูตร จบ. |