ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 113อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 117อ่านอรรถกถา 2 / 128อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา นิสสัคคิยกัณฑ์
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๑

               นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๑               
               พรรณนาปัตตสิกขาบท               
               ปัตตสิกขาบทว่า เตน สมเยน เป็นต้น ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไป :-
               ในปัตตสิกขาบทนั้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ปตฺตวณิชฺชํ มีความว่า พวกสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจักเที่ยวทำการขายบาตร หรือออกร้านขายภาชนะดินในบ้านและนิคมเป็นต้น. ภาชนะท่านเรียกว่า อามัตตะ (ในคำว่า อามตฺติกาปณํ). ภาชนะเหล่านั้นเป็นสินค้าของชนเหล่าใด ชนเหล่านั้น ชื่อว่า อามัตติกา (ผู้มีภาชนะเป็นสินค้า). ร้านตลาดของผู้มีภาชนะเป็นสินค้าเหล่านั้น ชื่อว่า อามัตติกาปณะ. อธิบายว่า ร้านขายสินค้าของพวกช่างหม้อ.

               [อธิบายขนาดบาตร ๓-๙ ขนาด]               
               หลายบทว่า ตโย ปตฺตสฺส วณฺณา ได้แก่ ขนาดแห่งบาตร ๓ ขนาด.
               สองบทว่า อฑฺฒาฬฺหโกทนํ คณฺหติ มีความว่า ย่อมจุข้าวสุกแห่งข้าวสาร ๒ ทะนาน โดยทะนานมคธ. ในอันธกอรรถกถา ท่านกล่าวว่า ที่ชื่อว่า ทะนานมคธมี ๑๒ ปละครึ่ง. ในมหาอรรถกถา ท่านกล่าวว่า ในเกาะสิงหล ทะนานตามปกติใหญ่ ทะนานของชาวทมิฬเล็ก, ทะนานมคธ ได้ขนาด. ทะนานครึ่ง โดยทะนานมคธนั้น เป็นหนึ่งทะนานสิงหล.
               บทว่า จตุพฺภาคขาทนียํ มีความว่า ของเคี้ยวประมาณเท่าส่วนที่ ๔ แห่งข้าวสุก. ขาทนียะนั้น พึงทราบด้วยสามารถแห่งแกง ถั่วเขียว พอหยิบด้วยมือได้.
               สองบทว่า ตทุปิยญฺจ พฺยญฺชนํ มีความว่า กับข้าวมีปลาเนื้อ ผักดองผลไม้และหน่อไม้เป็นต้น อันสมควรแก่ข้าวสุกนั้น.
               ในบาตรนั้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               พึงเอาข้าวสารแห่งข้าวสาลีเก่า (ซึ่งเก็บไว้แรมปี) ที่ไม่หัก ซึ่งซ้อมบริสุทธิ์ดีแล้ว ๒ ทะนานมคธ หุงให้เป็นข้าวสุกด้วยข้าวสารเหล่านั้นไม่เช็ดน้ำ ไม่เป็นข้าวท้องเล็น ไม่แฉะ ไม่เป็นก้อน สละสลวยดี เช่นกับกองดอกมะลิตูมในหม้อ แล้วบรรจุลงในบาตรไม่ให้เหลือ เพิ่มแกงถั่วที่ปรุงด้วยเครื่องปรุงทุกอย่าง ไม่ข้นนัก ไม่เหลวนัก พอมือหยิบได้ลงไป ประมาณเท่าส่วนที่ ๔ แห่งข้าวสุกนั้น.
               แต่นั้น จึงเพิ่มกับข้าวมีปลา เนื้อเป็นต้น ลงไปสมควรแก่คำข้าวเป็นคำๆ จนเพียงพอกับคำข้าวเป็นอย่างยิ่ง. ส่วนเนยใส น้ำมัน รสเปรียงและน้ำข้าวเป็นต้น ไม่ควรนับ. เพราะของเหล่านั้น มีคติอย่างข้าวสุกนั่นเทียว ไม่อาจเพื่อจะลดลงและไม่อาจจะเพิ่มขึ้นได้. อาหารที่บรรจุลงอย่างนี้แม้ทั้งหมดนั่น ถ้าตั้งอยู่เสมอแนวล่างแห่งขอบปากบาตร, เมื่อเอาเส้นด้ายหรือไม้ซีก (เสี้ยนตาล) ปาดไป (ของในบาตรนี้) ถูกที่สุดภายใต้เส้นด้ายหรือไม้ซีกนั้น (คือของในบาตรมีข้าวสุกทะนานครึ่งเป็นต้นนี้ถูกที่สุดเบื้องล่างแห่งด้ายหรือเสี้ยนตาลของบุคคลผู้ตัดด้วยด้ายหรือเสี้ยนตาล), บาตรนี้ ชื่อว่าบาตรขนาดใหญ่ (อย่างกลาง). ถ้าของในบาตรนั้นพูนเป็นจอมเลยแนว (ขอบปากบาตร) นั้นขึ้นมา, บาตรนี้ชื่อว่าบาตรขนาดใหญ่อย่างเล็ก. ถ้าของในบาตรนั้น ไม่ถึงแนวขอบ (ปากบาตร) พร่องอยู่ภายในเท่านั้น, บาตรนี้ ชื่อว่า บาตรขนาดใหญ่อย่างใหญ่.
               บทว่า นาฬิโกทนํ ได้แก่ ข้าวสุกแห่งข้าวสาร ๑ ทะนานโดยทะนานมคธ.
               บทว่า ปตฺโถทนํ ได้แก่ ข้าวสุกกึ่งทะนานโดยทะนานมคธ.
               บทที่เหลือ พึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               แต่มีความแปลกกันในเหตุสักว่าชื่อ ดังต่อไปนี้ :-
               ถ้าของมีข้าวสุก ๑ ทะนานเป็นต้นแม้ทั้งหมดที่บรรจุลงแล้ว อยู่เสมอแนวขอบล่าง โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นเอง. บาตรนี้ชื่อว่า บาตรขนาดกลาง (อย่างกลาง). ถ้าของพูนเป็นจอมเลยแนวขอบนั้นขึ้นมา, บาตรนี้ ชื่อว่า บาตรขนาดกลางอย่างเล็ก. ถ้าไม่ถึงแนวขอบนั้น, พร่องอยู่เพียงภายในเท่านั้น, บาตรนี้ชื่อว่า บาตรขนาดกลางอย่างใหญ่.
               ถ้าของทั้งหมดมีข้าวสุกประมาณกึ่งทะนานเป็นต้น ที่บรรจุลงแล้วอยู่เสมอแนวล่าง (แห่งขอบปากบาตร), บาตรนี้ ชื่อว่าบาตรขนาดเล็ก (อย่างกลาง). ถ้าของพูนเป็นจอมเลยแนวขอบนั้นขึ้นมา, บาตรนี้ ชื่อว่าบาตรขนาดเล็กอย่างเล็ก. ถ้าของไม่ถึงแนวขอบนั้นพร่องอยู่ภายในเท่านั้น, บาตรนี้ ชื่อว่าบาตรขนาดเล็กอย่างใหญ่. ผู้ศึกษาพึงทราบบาตร ๙ ชนิดเหล่านี้ โดยประการดังกล่าวมาฉะนี้แล.
               บรรดาบาตร ๙ ชนิดนั้น บาตร ๒ ชนิด คือ บาตรขนาดใหญ่อย่างใหญ่ ๑ บาตรเล็กอย่างเล็ก ๑ ไม่จัดเป็นบาตร (เป็นบาตรใช้ไม่ได้).
               จริงอยู่ คำว่า ใหญ่กว่านั้น ไม่ใช่บาตร เล็กกว่านั้น ไม่ใช่บาตร นี้ตรัสหมายเอาบาตร ๒ ชนิดนั่น. แท้จริง บรรดาบาตร ๒ ชนิด บาตรขนาดใหญ่อย่างใหญ่ คือใหญ่กว่านั้น ตรัสว่า ไม่ใช่บาตร เพราะใหญ่กว่าขนาดใหญ่. และบาตรขนาดเล็กอย่างเล็ก คือ เล็กกว่านั้น ตรัสว่า ไม่ใช่บาตร เพราะเล็กกว่าขนาดเล็ก. เพราะฉะนั้น บาตรเหล่านี้ ควรใช้สอยอย่างใช้สอยภาชนะ ไม่ควรอธิษฐาน ไม่ควรวิกัป. ส่วนบาตร ๗ ชนิดนอกนี้ พึงอธิษฐานหรือวิกัปไว้ใช้เถิด.
               เมื่อภิกษุไม่กระทำอย่างนี้ ให้บาตรนั้นล่วง ๑๐ วันไป เป็นนิสสัคคิปาจิตตีย์ คือเมื่อภิกษุให้บาตรแม้ทั้ง ๗ ชนิด ล่วงกาลมี ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่งไป เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ แล.
               ข้อว่า นิสฺสคฺคิยํ ปตฺตํ อนิสฺสชฺชิตฺวา ปริภุญฺชติ พึงทราบความว่า เป็นทุกกฏ ทุกๆ ประโยคอย่างนี้ คือเมื่อภิกษุดื่มยาคูแล้ว ล้างบาตร เป็นทุกกฏ, เมื่อฉันของควรเคี้ยว ฉันภัตตาหารแล้วล้างบาตร เป็นทุกกฏ.

               [อธิบายบาตรที่ควรอธิษฐานและวิกัป]               
               ก็ในคำว่า อนาปตฺติ อนฺโตทสาหํ อธิฏฺเฐติ วิกปฺเปติ นี้ ผู้ศึกษาพึงทราบแม้บาตรที่ได้ประมาณเป็นบาตรควรอธิษฐานและวิกัป โดยนัยดังจะกล่าวอย่างนี้ :-
               บาตรเหล็ก ระบมแล้วด้วยการระบม ๕ ไฟ บาตรดินระบมแล้วด้วยการระบม ๒ ไฟ จึงควรอธิษฐาน. บาตรทั้ง ๒ ชนิด เมื่อให้มูลค่าที่ควรให้แล้วนั่นแล ถ้าระบมยังหย่อนอยู่แม้เพียงหนึ่งไฟหรือยังไม่ได้ให้มูลค่าแม้เพียงกากณิกหนึ่ง ไม่ควรอธิษฐาน. ถ้าเจ้าของบาตรกล่าวว่า ท่านจงให้ในเวลาท่านมีมูลค่า, ท่านจงอธิษฐานใช้สอยเถิด ดังนี้ ก็ยังไม่ควรอธิษฐานแท้. เพราะว่า ยังไม่ถึงการนับว่าเป็นบาตร เพราะการระบมยังหย่อนอยู่, ยังไม่ถึงความเป็นบาตรของตน. ยังเป็นของผู้อื่นอยู่ทีเดียว เพราะมูลค่าทั้งหมด หรือส่วนหนึ่งยังไม่ได้ให้ เพราะฉะนั้น เมื่อระบม และเมื่อให้มูลค่าเสร็จแล้วนั่นแล จึงเป็นบาตรควรอธิษฐานบาตรใบที่ควรอธิษฐานเท่านั้น จึงควรวิกัป. บาตรนั้นจะมาถึงมือแล้วก็ตาม ยังไม่มาถึงก็ตาม ควรอธิษฐาน หรือควรวิกัปไว้เสีย.
               ก็ถ้าว่า ช่างบาตรได้มูลค่าแล้ว หรือเป็นผู้ประสงค์จะถวายเอง กล่าวว่า ท่านขอรับ! ผมจักทำบาตรถวายท่าน ระบมแล้วในวันชื่อโน้น จักเก็บไว้ และภิกษุให้ล่วง ๑๐ วันไป จากวันที่ช่างบาตรนั้นกำหนดไว้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
               ก็ถ้าว่า ช่างบาตรกล่าวว่า ผมจักทำบาตรถวายท่าน ระบมแล้วจักส่งข่าวมาให้ทราบ แล้วทำเหมือนอย่างนั้น, ส่วนภิกษุผู้ที่ช่างบาตรนั้นวานไปไม่บอกแก่ภิกษุนั้น, ภิกษุอื่นเห็นหรือได้ยิน จึงบอกว่า ท่านขอรับ! บาตรของท่านเสร็จแล้ว, การบอกของภิกษุนั่นไม่เป็นประมาณ. แต่ในเวลาที่ภิกษุซึ่งช่างบาตรนั้นวานนั่นแหละบอก, เมื่อภิกษุให้ล่วง ๑๐ วันไปจำเดิมแต่วันที่ได้ยินคำบอกกล่าวของภิกษุนั้น เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
               ถ้าช่างบาตรกล่าวว่า ผมจักทำบาตรถวายท่าน ระบมแล้วจักส่งไปในมือของภิกษุบางรูป แล้วกระทำตามพูดนั้น, แต่ภิกษุผู้รับบาตรมาเก็บไว้ในบริเวณของตนแล้วไม่บอกแก่เธอ, ภิกษุอื่นบางรูปกล่าวว่า ท่านขอรับ! บาตรที่ได้มาใหม่สวยดีบ้างไหม? เธอกล่าวว่า คุณ! บาตรที่ไหนกัน? ภิกษุบางรูปนั้นกล่าวว่า ช่างบาตรส่งมาในมือของภิกษุชื่อนี้. ถ้อยคำของภิกษุแม้นี้ก็ไม่เป็นประมาณ. แต่ในเวลาที่ภิกษุนั้นให้บาตร, เมื่อเธอให้ล่วง ๑๐ วันไปนับแต่วันที่ได้บาตรมา เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์. เพราะฉะนั้น อย่าให้ล่วง ๑๐ วัน พึงอธิษฐานหรือพึงวิกัปเสีย.

               [อธิบายการอธิษฐานบาตร]               
               บรรดาการอธิษฐานและวิกัปนั้น อธิษฐานบาตรมี ๒ คือ อธิษฐานด้วยกายอย่าง ๑ อธิษฐานด้วยวาจาอย่าง ๑. ภิกษุเมื่อจะอธิษฐานด้วยอำนาจแห่งการอธิษฐาน ๒ อย่างนั้น พึงปัจจุทธรณ์บาตรเก่าที่ตั้งอยู่ต่อหน้าหรือในที่ลับหลังอย่างนี้ว่า
               อิมํ ปตฺตํ ปจฺจุทฺธรามิ แปลว่า ข้าพเจ้าถอนบาตรใบนี้
               หรือว่า เอตํ ปตฺตํ ปจฺจุทฺรามิ แปลว่า ข้าพเจ้าถอนบาตรใบนั่น หรือให้แก่ภิกษุอื่นแล้ว เอามือลูบคลำบาตรใหม่ที่ตั้งอยู่ในที่แห่งใดแห่งหนึ่งแล้ว ทำความคำนึงด้วยใจ แล้วทำกายวิการ อธิษฐานด้วยกาย หรือเปล่งวาจา แล้วอธิษฐานด้วยวาจาว่า
               อิมํ ปตฺตํ อธิฏฺฐามิ แปลว่า ข้าพเจ้าอธิษฐานบาตรใบนี้.
               ในอธิษฐานวิสัยนั้น อธิษฐานมี ๒ อย่าง. ถ้าบาตรอยู่ในหัตถบาส พึงเปล่งวาจาว่า อิมํ ปตฺตํ อธิฏฺฐามิ ข้าพเจ้าอธิษฐานบาตรใบนี้. ถ้าบาตรนั้นอยู่ภายในห้องก็ดี ที่ปราสาทชั้นบนก็ดี ในวิหารใกล้เคียงก็ดี, ภิกษุพึงกำหนดสถานที่บาตรตั้งอยู่ แล้วพึงเปล่งวาจาว่า เอตํ ปตฺตํ อธิฏฺฐามิ ข้าพเจ้าอธิษฐานบาตรใบนั่น. ก็ภิกษุผู้อธิษฐานแม้อธิษฐานรูปเดียวก็ควร. แม้จะอธิษฐานในสำนักของภิกษุอื่น ก็ควร.
               การอธิษฐานในสำนักของภิกษุอื่นมีอานิสงส์ดังต่อไปนี้ :-
               ถ้าเธอเกิดความเคลือบแคลงว่า บาตร เราอธิษฐานแล้วหรือไม่หนอ ดังนี้, อีกรูปหนึ่งจักเตือนให้นึกได้ตัดความสงสัยเสีย. ถ้าภิกษุบางรูปได้บาตรมา ๑๐ ใบ ตนเองประสงค์จะใช้สอยทั้งหมดทีเดียว, อย่าพึงอธิษฐานทั้งหมด. อธิษฐานบาตรใบหนึ่งแล้ววันรุ่งขึ้นปัจจุทธรณ์บาตรนั้นแล้วพึงอธิษฐานใบใหม่. โดยอุบายนี้อาจจะได้บริหาร (การคุ้มครอง) ตั้ง ๑๐๐ ปี.

               [ว่าด้วยการขาดอธิษฐานของบาตร]               
               ถามว่า การขาดอธิษฐาน พึงมีแก่ภิกษุผู้ไม่ประมาทอย่างนี้ได้หรือ?
               ตอบว่า พึงมีได้.
               หากว่า ภิกษุนี้ให้บาตรแก่ภิกษุอื่นก็ดี หมุนไปผิดก็ดี บอกลาสิกขาก็ดี กระทำกาละเสียก็ดี เพศของเธอกลับก็ดี ปัจจุทธรณ์เสียก็ดี บาตรมีช่องทะลุก็ดี บาตรย่อมขาดอธิษฐาน. และคำนี้แม้พระอาจารย์ทั้งหลายก็ได้กล่าวไว้ว่า
                         การขาดอธิษฐาน ย่อมมีได้ด้วยการให้ ๑
                         หมุนไปผิด ๑ ลาสิกขา ๑ กระทำกาลกิริยา ๑
                         เพศกลับ ๑ ปัจจุทธรณ์ (ถอน) ๑ เป็นที่ ๗
                         กับช่องทะลุ ๑ ดังนี้.

               แม้เพราะโจรลักและการถือเอาโดยวิสาสะ บาตรก็ขาดอธิษฐานเหมือนกัน. บาตรจะขาดอธิษฐานด้วยช่องทะลุประมาณเท่าไร? จะขาดอธิษฐานด้วยช่องทะลุพอเมล็ดข้าวฟ่างลอดออกได้ และลอดเข้าได้.
               จริงอยู่ บรรดาธัญชาติ ๗ ชนิด เมล็ดข้าวฟ่างนี้ เป็นเมล็ดธัญชาติอย่างเล็ก. เมื่อช่องนั้นอุดให้กลับเป็นปกติด้วยผงเหล็ก หรือด้วยหมุดแล้วพึงอธิษฐานบาตรนั้นใหม่ภายใน ๑๐ วัน.
               ในการอธิษฐานที่ตรัสไว้ในคำว่า อนฺโตทสาหํ อธิฏฺเฐติ วิกปฺเปติ นี้ มีวินิจฉัยเพียงเท่านี้ก่อน.

               [ว่าด้วยการวิกัปบาตร]               
               ก็ในการวิกัป มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               วิกัปมี ๒ อย่าง คือวิกัปต่อหน้าอย่าง ๑ วิกัปลับหลังอย่าง ๑.
               วิกัปต่อหน้าเป็นอย่างไร? คือภิกษุพึงรู้ว่าบาตรมีใบเดียวหรือหลายใบ และวางไว้ใกล้หรือมิได้วางไว้ใกล้ แล้วกล่าวว่า อิมํ ปตฺตํ ซึ่งบาตรนี้ หรือว่า อิเม ปตฺเต ซึ่งบาตรเหล่านี้ ก็ดี ว่า เอตํ ปตฺตํ ซึ่งบาตรนั่น หรือว่า เอเต ปตฺเต ซึ่งบาตรเหล่านั้น ก็ดี แล้วกล่าวว่า ตุยฺหํ วิกปฺเปมิ ข้าพเจ้าวิกัปแก่ท่าน นี้ชื่อว่าวิกัปต่อหน้าอย่าง ๑. ด้วยวิธีวิกัปเพียงเท่านี้จะเก็บไว้ควรอยู่. แต่จะใช้สอย จะจำหน่าย หรือจะอธิษฐานไม่สมควร.
               แต่เมื่อภิกษุผู้รับวิกัปกล่าวอย่างนี้ว่า มยฺหํ สนฺตกํ ปริภุญฺช วา วิสฺสชฺเชหิ วา ยถาปจฺจยํ วา กโรหิ บาตรนี้ของข้าพเจ้า ท่านจงใช้สอย จงจำหน่าย หรือจงกระทำตามปัจจัยก็ตาม ดังนี้ ชื่อว่าถอน. จำเดิมแต่นั้น แม้การใช้สอยเป็นต้นควรอยู่.
               อีกนัยหนึ่ง ภิกษุทราบว่า บาตรมีใบเดียวหรือหลายใบ และวางไว้ใกล้หรือมิได้วางไว้ใกล้อย่างนั้นเหมือนกัน แล้วกล่าวว่า อิมํ ปตฺตํ ซึ่งบาตรนี้ หรือว่า อิเม ปตฺเต ซึ่งบาตรทั้งหลายเหล่านี้ก็ดี ว่า เอตํ ปตฺตํ ซึ่งบาตรนั่น หรือว่า เอเต ปตฺเต ซึ่งบาตรทั้งหลายเหล่านั่นก็ดี ในสำนักของภิกษุนั้นนั่นแหละ แล้วระบุชื่อแห่งบรรดาสหธรรมิกทั้ง ๕ รูปใดรูปหนึ่ง คือ ท่านใดท่านหนึ่งที่ตนชอบใจแล้วพึงกล่าวว่า ติสฺสสฺส ภิกฺขุโน วิกปฺเปมิ ข้าพเจ้าวิกัปแก่ภิกษุชื่อว่าติสสะ ดังนี้ก็ดี ว่า ติสฺสาย ภิกฺขุนิยา ... ติสฺสาย สิกฺขมานาย ... ติสฺสสฺส สามเณรสฺส ... ติสฺสาย สามเณริยา วิกปฺเปมิ ข้าพเจ้าวิกัปแก่ภิกษุณีชื่อติสสา ... แก่สิกขมานาชื่อติสสา ... แก่สามเณรชื่อติสสะ ... แก่สามเณรีชื่อติสสา ดังนี้ก็ดี นี้ชื่อว่าวิกัปต่อหน้า แม้อีกอย่างหนึ่ง. ด้วยคำเพียงเท่านี้ จะเก็บไว้ สมควรอยู่,
               แต่บรรดากิจมีการบริโภคเป็นต้น แม้กิจอย่างหนึ่งก็ไม่ควร.
               แต่เมื่อภิกษุผู้รับวิกัปนั้นกล่าวว่า ติสฺสสฺส ภิกฺขุโน สนฺตกํ ฯเปฯ ติสฺสาย สามเณริยา สนฺตกํ ปริภุญฺช วา วิสฺสชฺเชหิ วา ยถาปจฺจยํ วา กโรหิ บาตรนี้ของภิกษุชื่อติสสะ ฯลฯ ของสามเณรีชื่อติสสา ท่านจงใช้สอยก็ตาม จงจำหน่ายก็ตาม จงกระทำตามปัจจัยก็ตาม ดังนี้แล้ว ชื่อว่าถอน. จำเดิมแต่นั้น แม้การบริโภคเป็นต้นก็สมควร.
               วิกัปลับหลังเป็นอย่างไร? คือ ภิกษุทราบว่าบาตรมีใบเดียวหรือหลายใบ และว่าวางไว้ใกล้ หรือมิได้วางไว้ใกล้อย่างนั้นนั่นแลแล้วกล่าวว่า อิมํ ปตฺตํ ซึ่งบาตรนี้ หรือว่า อิเม ปตฺเต ซึ่งบาตรเหล่านี้ ก็ดี ว่า เอตํ ปตฺตํ ซึ่งบาตรนั่น หรือว่า เอเต ปตฺเต ซึ่งบาตรเหล่านั้นก็ดี แล้วกล่าวว่า ตุยฺหํ วิกปฺปนตฺถาย ทมฺมิ ข้าพเจ้าให้แก่ท่านเพื่อต้องการวิกัป ดังนี้.
               ภิกษุผู้รับวิกัปนั้น พึงถามเธอว่า ใครเป็นมิตรหรือเป็นเพื่อนเห็นกันของท่าน. ลำดับนั้น ภิกษุผู้วิกัปนอกนี้ พึงกล่าวว่า ติสฺโส ภิกฺขุ ภิกษุชื่อว่าติสสะ ฯลฯ หรือว่า ติสฺสา สามเณรี สามเณรีชื่อว่าติสสา โดยนัยก่อนนั่นแล.
               ภิกษุนั้นพึงกล่าวอีกว่า อหํ ติสฺสสฺส ภิกฺขุโน ทมฺมิ ฯเปฯ หรือว่า ติสฺสาย สามเณริยา ทมฺมิ ข้าพเจ้าให้แก่ภิกษุชื่อติสสะ ฯลฯ หรือว่า ข้าพเจ้าให้แก่สามเณรีชื่อติสสา. นี้ชื่อว่าวิกัปลับหลัง. ด้วยการวิกัปเพียงเท่านี้จะเก็บไว้ ควรอยู่,
               แต่บรรดากิจมีการบริโภคเป็นต้น กิจแม้อย่างเดียวไม่ควร.
               เมื่อภิกษุนั้นกล่าวว่า อิตฺถนฺนามสฺส สนฺตกํ ปริภุญฺช วา วิสฺสชฺเชหิ วา ยถาปจฺจยํ วา กโรหิ บาตรนี้ของภิกษุชื่อนี้ ท่านจงใช้สอยก็ตาม จงจำหน่ายก็ตาม จงกระทำตามปัจจัยก็ตาม โดยนัยดังกล่าวแล้ว ในวิกัปต่อหน้าอย่างที่สองนั่นแล ย่อมชื่อว่าถอน. จำเดิมแต่นั้น แม้การจะใช้สอยเป็นต้น ก็ควร.
               แต่ข้อแตกต่างกันแห่งวิกัปทั้งสองอย่างนี้ และลำดับแห่งวรรณนาที่ยังเหลือทั้งหมด ผู้ศึกษาพึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้ว ในวรรณนาแห่งปฐมกฐินสิกขาบทนั่นแหละ พร้อมทั้งสมุฏฐานเป็นต้น ฉะนี้แล.

               ปัตตสิกขาบทที่ ๑ จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา นิสสัคคิยกัณฑ์ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 113อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 117อ่านอรรถกถา 2 / 128อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=2945&Z=3080
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=5074
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=5074
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๖  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :