ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 161อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 165อ่านอรรถกถา 2 / 169อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา นิสสัคคิยกัณฑ์
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๙

               นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๙               
               พรรณนาสาสังกสิกขาบท               
               สาสังกสิกขาบทว่า เตน สมเยน เป็นต้น ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไป :-
               ในสาสังกสิกขาบทนั้นมีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               สองบทว่า วุฏฺฐวสฺสา อารญฺญเกสุ มีความว่า ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น แม้ในกาลก่อน ก็อยู่ในป่าเหมือนกัน. แต่ภิกษุเหล่านั้นอยู่จำพรรษาในเสนาสนะใกล้แดนบ้าน ด้วยสามารถแห่งปัจจัย เพราะเป็นผู้มีจีวรคร่ำคร่า เป็นผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว ปรึกษากันว่า บัดนี้พวกเราหมดกังวลแล้ว จักกระทำสมณธรรม จึงพากันอยู่ในเสนาสนะป่า.
               บทว่า กตฺติกโจรกา ได้แก่ พวกโจรในเดือน ๑๒.
               บทว่า ปริปาเตนฺติ มีความว่า ย่อมรบกวน คือ วิ่งขวักไขว่ไปมาในที่นั้นๆ แล้วทำให้หวาดเสียว ให้หนีไป.
               สองบทว่า อนฺตรฆเร นิกฺขิปิตุํ ได้แก่ เพื่อเก็บไว้ในภายในบ้าน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตให้เก็บไว้ในละแวกบ้าน เพื่อสงวนจีวรไว้ เพราะธรรมดาว่า ปัจจัยทั้งหลายเป็นของหาได้ยากโดยชอบธรรม.
               จริงอยู่ ภิกษุผู้มีความขัดเกลา ไม่อาจเพื่อจะขอจีวร แม้กะมารดา. แต่พระองค์ไม่ทรงห้ามการอยู่ป่า เพราะเป็นการสมควรแก่ภิกษุทั้งหลาย.
               ในคำว่า อุปวสฺสํ โข ปน นี้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อุปวสฺสํ คือ เข้าอยู่แล้ว. มีคำอธิบายว่า เข้าอยู่จำพรรษาแล้ว.
               แท้จริง บัณฑิตพึงเห็นนิคหิตในคำว่า อุปวสฺสํ นี้ ดุจในคำมีคำว่า อุปสมฺปชฺชํ เป็นต้น. ความว่า เข้าถึงฤดูฝนและอยู่แล้ว (เข้าจำพรรษาและปวารณาแล้ว).
               และบทว่า อุปวสฺสํ นี้ สัมพันธ์ด้วยคำนี้ว่า ตถารูเปสุ ภิกฺขุ เสนาสเนสุ วิหรนฺโต แปลว่า ภิกษุอยู่ในเสนาสนะเห็นปานนั้น.
               ท่านกล่าวอธิบายไว้อย่างไร?
               ท่านกล่าวไว้ว่า ภิกษุเข้าถึงฤดูฝนและอยู่แล้ว (เข้าจำพรรษาและปวารณาแล้ว) จะอยู่ในเสนาสนะป่าที่รู้กันว่าเป็นที่รังเกียจ มีภัยจำเพาะหน้าเห็นปานนั้น ตลอดกาลอันเป็นที่สุดแห่งวันเพ็ญเดือนกัตติกาหลัง ต่อจากนั้นมา เมื่อปรารถนาพึงเก็บจีวร ๓ ผืนผืนใดผืนหนึ่งไว้ในละแวกบ้านได้
               อนึ่ง เพราะว่า ภิกษุใดเข้าจำพรรษาแล้ว อยู่มาจนถึงวันเพ็ญเดือนกัตติกาต้น, ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้อยู่ภายในแห่งพวกภิกษุผู้อยู่จำพรรษาแล้ว ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะไม่ทรงทำการวิจารณ์พยัญชนะที่รกรุงรังยิ่งนี้ แสดงบุคคลผู้ควรแก่การเก็บจีวรอย่างเดียวในบทภาชนะ จึงตรัสคำว่า วุฏฺฐวสฺสานํ ดังนี้.
               ถึงบทว่า วุฏฺฐวสฺสานํ นั้นก็สัมพันธ์กับคำนี้ว่า ภิกษุเมื่ออยู่ในเสนาสนะ.
               จริงอยู่ ในคำว่า วุฏฺฐวสฺสานํ นี้มีใจความดังนี้ว่า อยู่ในเสนาสนะทั้งหลาย ของพวกภิกษุผู้อยู่จำพรรษาแล้ว.
               มีคำอธิบายว่า ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งอยู่ภายในแห่งภิกษุทั้งหลายผู้เห็นปานนี้.
               ลักษณะแห่งป่า ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วในวรรณนาแห่งอทินนาทาน.
               ส่วนความแปลกกันดังต่อไปนี้ :-
               ถ้าว่า วัดมีเครื่องล้อม พึงวัดตั้งแต่เสาเขื่อนแห่งบ้านซึ่งมีเครื่องล้อม และจากสถานที่ควรล้อมแห่งบ้านที่ไม่ได้ล้อมไป จนถึงเครื่องล้อมวัด. ถ้าเป็นวัดที่ไม่ได้ล้อม, สถานที่ใดเป็นแห่งแรกเขาทั้งหมด จะเป็นเสนาสนะก็ดี โรงอาหารก็ดี สถานที่ประชุมประจำก็ดี ต้นโพธิ์ก็ดี เจดีย์ก็ดี, ถ้าแม้นมีอยู่ห่างไกลจากเสนาสนะ พึงวัดเอาที่นั้นให้เป็นเขตกำหนด.
               ถ้าแม้นว่า มีหมู่บ้านอยู่ใกล้, พวกภิกษุอยู่ที่วัด ย่อมได้ยินเสียงของพวกชาวบ้าน, แต่ไม่อาจจะไปทางตรงได้ เพราะมีภูเขาและแม่น้ำเป็นต้นกั้นอยู่. และทางใดเป็นทางตามปกติของบ้านนั้น ถ้าแม้นจะต้องโดยสารไปทางเรือ, ก็พึงกำหนดเอาที่ห้าร้อยชั่วธนู จากบ้านโดยทางนั้น. แต่ภิกษุใดปิดกั้นหนทางในที่นั้นๆ เพื่อยังบ้านใกล้ให้ถึงพร้อมด้วยองค์. ภิกษุนี้ พึงทราบว่า ผู้ขโมยธุดงค์.
               บทว่า สาสงฺกสมฺมตานิ แปลว่า รู้กันว่า เป็นที่มีรังเกียจ.
               อธิบายว่า เขารู้กันแล้วอย่างนั้น.
               แต่ในบทภาชนะ เพื่อจะทรงแสดงการณ์เป็นเหตุให้เสนาสนะเหล่านั้นเป็นที่รู้กันว่า เป็นที่มีรังเกียจ จึงตรัสคำมีว่า อาราเม อารามูปจาเร เป็นต้น. เสนาสนะที่เป็นไปกับด้วยภัยเฉพาะหน้า ชื่อว่า สปฏิภยะ (มีภัยเฉพาะหน้า).
               อธิบายว่า มีภัยร้ายแรงชุกชุม.
               แต่ในบทภาชนะ เพื่อทรงแสดงการณ์เป็นเหตุให้เสนาสนะเหล่านั้นเป็นที่มีภัยจำเพาะหน้า จึงตรัสคำว่า อาราเม อารามูปจาเร เป็นต้น.
               ข้อว่า สมนฺตา โคจรคาเม นิกฺขิเปยฺย มีความว่า เมื่อมีองค์ครบพึงเก็บไว้ ในโคจรคามที่ตนพอใจ ในทุกทิศาภาคโดยรอบแห่งเสนาสนะ
               ในเสนาสนะป่านั้น มีองคสมบัติดังต่อไปนี้ :-
               ภิกษุเข้าพรรษาในวันเข้าพรรษาแรก ปวารณาในวันมหาปวารณา, นี้เป็นองค์อันหนึ่ง. ถ้าภิกษุเข้าพรรษาในวันเข้าพรรษาหลังก็ดี มีพรรษาขาดก็ดี ย่อมไม่ได้เพื่อจะเก็บไว้. เป็นเดือน ๑๒ เท่านั้น, นี้เป็นองค์ที่ ๒. นอกจากเดือน ๑๒ ไป ย่อมไม่ได้เพื่อจะเก็บ. เป็นเสนาสนะที่ประกอบด้วยประมาณอย่างต่ำ ๕๐๐ ชั่วธนูเท่านั้น, นี้เป็นองค์ที่ ๓. ในเสนาสนะที่มีขนาดหย่อน หรือมีขนาดเกินคาวุตไป ย่อมไม่ได้ (เพื่อจะเก็บไว้).
               จริงอยู่ ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตแล้วอาจเพื่อกลับมาสู่วัดทันเวลาฉัน ในเสนาสนะใด, เสนาสนะนั้น ทรงประสงค์เอาในสิกขาบทนี้.
               แต่ภิกษุผู้รับนิมนต์ไว้ไปสิ้นทางกึ่งโยชน์บ้าง โยชน์หนึ่งบ้าง แล้วกลับมาเพื่อจะอยู่. ที่นี้ไม่ใช่ประมาณ. เป็นเสนาสนะมีความรังเกียจ และมีภัยเฉพาะหน้าเท่านั้น, นี้เป็นองค์ที่ ๔.
               จริงอยู่ ภิกษุผู้อยู่ในเสนาสนะ ไม่มีความรังเกียจ ไม่มีภัยเฉพาะหน้า แม้ประกอบด้วยองค์ก็ไม่ได้ เพื่อจะเก็บไว้ ฉะนี้แล.
               สองบทว่า อญฺญตฺร ภิกฺขุสมฺมติยา มีความว่า เว้นไว้แต่โกสัมพิกสมมติ ที่ทรงอนุญาตไว้ในอุทโทสิตสิกขาบท. ก็ถ้าว่า มีภิกษุได้สมมตินั้นไซร้, จะอยู่ปราศจากเกิน ๖ ราตรีไปก็ได้.
               คำว่า ปุน คามสีมํ โอกฺกมิตฺวา มีความว่า ถ้ามีเสนาสนะอยู่ทางทิศตะวันออกจากโคจรคาม และภิกษุนี้จะไปยังทิศตะวันตก, เธอไม่อาจจะมายังเสนาสนะให้ทันอรุณที่ ๗ ขึ้น แวะลงสู่แม้คามสีมาพักอยู่ในสภาหรือในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ทราบข่าวคราวแห่งจีวรแล้วจึงหลีกไป ควรอยู่.
               ภิกษุผู้ไม่อาจอย่างนั้น พึงยืนอยู่ในที่ที่ตนไปแล้วนั้นนั่นแล ปัจจุทธรณ์ (ถอน) เสีย. จีวรจักตั้งอยู่ ในฐานแห่งอติเรกจีวร ฉะนี้แล.
               คำที่เหลือในสิกขาบทนี้ ตื้นทั้งนั้นแล.
               สิกขาบทนี้มีกฐินเป็นสมุฏฐาน เกิดขึ้นทางกายกับวาจา ๑ ทางกายวาจากับจิต ๑ เป็นอกิริยา โนสัญญาวิโมกข์ อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ มีเวทนา ๓ ดังนี้แล.

               สาสังกสิกขาบท จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา นิสสัคคิยกัณฑ์ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๙ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 161อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 165อ่านอรรถกถา 2 / 169อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=4292&Z=4427
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=5829
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=5829
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๖  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :