ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 349อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 354อ่านอรรถกถา 2 / 358อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์
ปาจิตติย์ ภูตคามวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๑

               ปาจิตตีย์ เสนาสนวรรคที่ ๒               
               ภูตคามสิกขาบทที่ ๑               
               พึงทราบวินิจฉัยในสิกขาบทที่ ๑ แห่งเสนาสนวรรค๑- ดังต่อไปนี้ :-
____________________________
๑- บาลีเป็นภูตคามวรรค

               [เรื่องภิกษุชาวเมืองอาฬวี ตัดต้นไม้]               
               บทว่า อนาทิยนฺโต คือ ไม่เชื่อฟังถ้อยคำของเทวดานั้น.
               หลายบทว่า ทารกสฺสพาหุํ อาโกฏฺเฏสิ มีความว่า ภิกษุนั้นไม่อาจยั้งขวานที่เงื้อขึ้น จึงตัดเอาแขนตรงที่ใกล้ราวนม ของทารกผู้นอนอยู่บนวิมานทิพย์ ซึ่งตั้งอยู่บนต้นไม้ อันเทวดานั้นได้มาจากสำนักของท้าวจาตุมมหาราช ซึ่งล่วงเลยวิสัยแห่งจักษุของพวกมนุษย์.
               ในคำว่า น โข ปเนตํ ปฏิรูปํ เป็นต้น มีการพรรณนาโดยสังเขปดังต่อไปนี้ :-
               ได้ยินว่า ในป่าหิมพานต์มีการประชุมเทวดาทุกๆ วันปักษ์, ในป่าหิมพานต์นั้น พวกเทวดาย่อมถามถึงรุกขธรรมว่า ท่านตั้งอยู่หรือไม่ได้ตั้งอยู่ในรุกขธรรม. ชื่อว่า รุกขธรรม ได้แก่ การที่รุกขเทวดาไม่ทำความประทุษร้ายทางใจ ในเมื่อต้นไม้ถูกตัด.
               บรรดาเทวดาเหล่านั้น เทวดาองค์ใดไม่ตั้งอยู่ในรุกขธรรม, เทวดาองค์นั้นย่อมไม่ได้เพื่อจะเข้าสู่ที่ประชุม. เทวดาองค์นั้นได้มองเห็นโทษมีการไม่ตั้งอยู่ในรุกขธรรมเป็นปัจจัยนี้ ด้วยประการดังนี้ และระลึกถึงบุรพจรรยาในปางที่พระตถาคตเจ้าเสวยพระชาติเป็นพญาช้างฉัททันต์เป็นต้น โดยกระแสแห่งพระธรรมเทศนาที่ตนเคยสดับมาเฉพาะพระพักตร์แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               เพราะเหตุนั้น เทวดานั้นจึงได้มีความรำพึงว่า น โข ปเนตํ ปฏิรูปํ ฯเปฯ ชีวิตาโวโรเปยฺยุํ (ก็การที่เราจะปลงชีวิตภิกษุรูปนี้เสีย ณ ที่นี้ นั่นไม่สมควรเลย) ดังนี้. ก็ความรำพึงนี้ว่า ถ้ากระไร เราควรกราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้ ได้มีแก่เทวดานั้นผู้ฉุกคิดอยู่อย่างนี้ว่า ภิกษุนี้เป็นบุตรมีบิดา, พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสดับอัชฌาจารนี้ของภิกษุนี้แล้ว จักทรงป้องกันมารยาท จักทรงบัญญติสิกขาบทแน่นอน.
               คำว่า สจชฺช ตฺวํ เทวเต มีความว่า ดูก่อนเทวดา! ถ้าท่าน (ปลงชีวิตภิกษุรูปนั้น) ในวันนี้ไซร้.
               บทว่า ปสเวยฺยาสิ แปลว่า พึงให้เกิด คือ พึงให้บังเกิดขึ้น.
               ก็แลพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว เมื่อจะให้เทวดานั้นยินยอม จึงได้ตรัสพระคาถานี้ว่า๑-
                         บุคคลใดแล ข่มความโกรธที่เกิดขึ้นแล้วได้
                         เหมือนกับสารถีหยุดรถ ซึ่งกำลังแล่นอยู่ได้
                         เราตถาคตเรียกบุคคลนั้นว่า เป็นสารถี
                         ชนนอกจากนี้ เป็นแต่คนถือบังเหียน.

               ในเวลาจบพระคาถา เทวดานั้นได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล. พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่บริษัทผู้ประชุมกันพร้อมแล้ว จึงได้ทรงภาษิตพระคาถานี้อีกว่า๒-
                         ภิกษุใดแล ย่อมกำจัดซึ่งความโกรธที่เกิดขึ้น
                         เหมือนหมอกำจัดพิษงูที่แล่นซ่านไปแล้วด้วย
                         โอสถทั้งหลาย ฉะนั้น ภิกษุนั้นย่อมละฝั่งนี้
                         และฝั่งโน้นได้ เหมือนงูลอกคราบเก่าแก่ทิ้งไป
                         ฉะนั้น.

               บรรดาคาถาทั้งสองนั้น คาถาที่ ๑ พระธรรมสังคาหกาจารย์ยกขึ้นสู่สังคหะ ในธรรมบท, คาถาที่ ๒ ยกขึ้นสู่สังคหะ ในสุตตนิบาต, ส่วนเรื่องยกขึ้นสู่สังคหะ ในวินัยปิฎกแล.
____________________________
๑- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๗/หน้า ๔๔-๔๕
๒- ขุ. สุ.เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๙๔/หน้า ๓๒๔

               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่นั่นเทียว ทรงตรวจดูสถานที่อยู่ของเทวดานั้น ทอดพระเนตรเห็นสถานที่อันสมควรแล้วจึงตรัสว่า ไปเถิดเทวดา! ณ ที่โอกาสโน้นมีต้นไม้ว่างอยู่, เธอจงเข้าไปอยู่ที่ต้นไม้นั้น.
               ได้ยินว่า ต้นไม้นั้นไม่มีในแคว้นอาฬวี, มีอยู่ภายในกำแพงเครื่องล้อมแห่งพระเชตวัน ซึ่งมีเทวบุตรผู้เป็นเจ้าของได้จุติไปแล้ว เพราะเหตุนั้น ต้นไม้นั้นจึงตรัสว่า ว่างแล้ว. ก็แลจำเดิมแต่ปางนั้นมา เทวดานั้นได้ความคุ้มครองจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เป็นพุทธอุปัฏฐายิกา.
               ในคราวมีเทวสมาคม เมื่อเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ทั้งหลายมาอยู่ เทวดาเหล่าอื่นผู้มีศักดิ์น้อย ย่อมถอยร่นไปจนจดมหาสมุทร และภูเขาจักรวาล. ส่วนเทวดานี้นั่งฟังธรรมอยู่ในที่อยู่ของตนนั่นแหละ. เทวดานั้นนั่งฟังปัญหาทั้งหมด แม้ที่พวกภิกษุถามในปฐมยาม (และ) ที่พวกเทวดาถามในมัชฌิมยามบนวิมานนั้นนั่นแล. แม้ท้าวมหาราชทั้ง ๔ มาสู่ที่บำรุงของพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะไป ก็เยี่ยมเทวดานั้นก่อนแล้วจึงไป.

               [แก้อรรถปาฐะว่าภูตคามปาตัพยตาย]               
               ในบทว่า ภูตคามปาตพฺยตาย นี้ พึงทราบวินิจฉัย ดังนี้ :-
               ที่ชื่อว่า ภูตะ เพราะอรรถว่า เกิดอยู่ด้วย เติบโตขึ้นอยู่ด้วย.
               อธิบายว่า ย่อมเกิด ย่อมเจริญ หรือว่า เกิดแล้ว เจริญแล้ว.
               บทว่า คาโม แปลว่า กอง. กองแห่งภูตทั้งหลาย เหตุนั้นจึงชื่อว่าภูตคาม. อีกอย่างหนึ่ง กอง คือภูต ชื่อภูตคาม. คำว่า ภูตคาม นั่นเป็นชื่อแห่งหญ้า และต้นไม้เขียวสดที่ยืนต้นแล้ว เป็นต้น.
               ภาวะแห่งการพราก ชื่อ ปาตัพยตา (ความเป็นแห่งการพราก).
               อธิบายว่า ภาวะอันบุคคลพึงบริโภคใช้สอยตามความพอใจ ด้วยการตัดและการทุบเป็นต้น. ในเพราะความเป็นผู้พรากภูตคามนั้นแห่งภิกษุนั้น. คำนี้เป็นสัตตมีวิภัตติลงในอรรถแห่งนิมิต. อธิบายว่า เป็นปาจิตตีย์ เพราะความเป็นผู้พรากภูตคามเป็นเหตุ คือ เพราะการตัดภูตคามเป็นต้นเป็นปัจจัย.

               [อธิบายภูตคาม ๕ ชนิดมีมูลพืชเป็นต้น]               
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงจำแนกแสดงภูตคามนั้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ภูตคาโม นามปญฺจ วีชชาตานิ ดังนี้.
               ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาทั้งหลายว่า ในคำว่า ภูตคามเป็นต้นนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกภูตคามขึ้นด้วยคำว่า ภูตคาโม นาม ดังนี้ แล้วตรัสคำ ปญฺจ วีชชาตานิ เป็นต้น เพื่อทรงแสดงพืชที่เมื่อมันมีอยู่ ภูตคามจึงมี. แม้เมื่อมีอย่างนี้ คำว่า ยานิ วาปนญฺญานิปิ อตฺถิ มูเล ชายนฺติ เป็นต้น ก็ไม่สมกัน.
               จริงอยู่ พืช ๕ ชนิดมีพืชเกิดจากเหง้าเป็นต้น ไม่ใช่เกิดอยู่ที่เหง้าเป็นต้น, แต่พืชเหล่านั้น เมื่อจะเกิดที่เหง้าเป็นต้น ก็ชื่อว่ามูลพืชเป็นต้น เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบวรรณนาในคำว่า ภูตคาโม นาม เป็นต้นนี้ (โดยนัยที่กำลังจะกล่าว) อย่างนี้ :-
               บทว่า ภูตคาโม นาม เป็นบทควรแจก.
               บทว่า ปญฺจ เป็นการกำหนดชนิดแห่งภูตคามนั้น.
               บทว่า วีชชาตานิ เป็นบทแสดงไขธรรมที่ได้กำหนดไว้.
               ใจความแห่งบทว่า วีชชาตานิ นั้นว่า ที่ชื่อว่า พีชชาต เพราะอรรถว่า เกิดจากจำพวกเมล็ด คำนี้เป็นชื่อแห่งพืชมีต้นไม้เป็นต้น.
               อีกนัยหนึ่ง พืชเหล่านั้นด้วย เกิดแล้วด้วย คือ ผลิแล้ว ได้แก่ มีใบและรากงอกออกแล้ว เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า พีชชาต. ด้วยคำว่า พีชชาต นี้ เป็นอันท่านทำการสงเคราะห์เอาพืช มีขิงเป็นต้น ที่เขาชำไว้ในทรายเปียกเป็นต้น ซึ่งมีใบและรากงอกขึ้นแล้ว.
               บัดนี้ พืชมีต้นไม้เป็นต้นที่ตรัสเรียกว่า พีชชาต เพราะเกิดจากพืชเหล่าใด, เมื่อจะทรงแสดงพืชเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า มูลพีชํ เป็นต้น. อุเทศแห่งพืช มีพืชเกิดจากรากเหง้าเป็นต้นนั้น ปรากฏชัดเจนแล้วแล. ในคำว่า ก็หรือว่าพืชแม้อย่างอื่นใด บรรดามีซึ่งเกิดที่เหง้า งอกที่เหง้า นี้ ในอุเทศ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพืชที่เกิดจากเมล็ด.
               เพราะฉะนั้น พึงเห็นใจความในคำว่า ยานิ วาปนญฺญานิ เป็นต้นนี้อย่างนี้ว่า ก็หรือพืชแม้อย่างอื่นใดบรรดามี เป็นต้นว่า ไม้กอ ไม้เถา และไม้ต้น ซึ่งเกิดและงอกขึ้นที่เหง้ามีชนิดเช่น รากเหง้าเชือกเขา๑- (รากเหง้าเถามัน) กระจับ บัวแดง บัวเขียว บัวขาบ บัวขาว (บัวสาย) เผือก มันและแคฝอยเป็นต้น, ไม้กอ ไม้เถา และไม้ต้นเป็นอาทินั้น ย่อมเกิดและย่อมงอกที่เหง้าใด, ก็เหง้านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วในบาลี, พืชเกิดจากเหง้า มีขมิ้นเป็นต้นนี้ แม้ทั้งหมด ชื่อว่า มูลพืช. ในขันธพืชเป็นต้น (พืชเกิดจากลำต้น) ก็นัยนี้.
               ก็อีกอย่างหนึ่ง บรรดาพืชทั้งหลาย มีพืชที่เกิดจากลำต้นเป็นอาทินี้ พืชเหล่าใดมีต้นมะกอก ต้นช้างน้าว (อ้อยช้างก็ว่า) สลัดได ทองหลาง กรรณิการ์เป็นต้น บัณฑิตพึงเห็นว่า พืชเกิดจากลำต้น, พืชทั้งหลายมีเถาส้ม เถาสี่เหลี่ยมและเถาดีปลี (ยี่หร่าก็ว่า) เป็นต้น บัณฑิตพึงเห็นว่า พืชเกิดแต่ข้อ, พืชมีปอ มะลิ หงอนไก่เป็นต้น บัณฑิตพึงเห็นว่า พืชเกิดจากยอด, พืชมีเมล็ดมะม่วง หว้าและขนุนเป็นต้น พึงทราบว่า พืชเกิดจากเมล็ด.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงชนิดแห่งอาบัติ อนาบัติ และชนิดแห่งความถูกพราก ด้วยอำนาจสัญญา (ชื่อ) ในคำที่พระองค์ตรัสไว้ว่า ภูตคามปาตพฺยตาย ปาจิตฺติยํ (เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะความถูกพรากแห่งภูตคาม) จึงตรัสคำว่า พีเช พีชสญฺญี เป็นต้น.
               ภูตคามที่เกิดจากเมล็ด บัณฑิตพึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า พืช ในคำว่า พีเช พีชสญฺญี นั้น ดุจข้าวสุกแห่งข้าวสารข้าวสาลี เขาเรียกกันว่า ข้าวสุกแห่งข้าวสาลี ในคำว่า สาลีนญฺเจว โอทนํภุญฺชติ เป็นต้น ฉะนั้น. ส่วนพืชที่ท่านคัดออกไว้ให้พ้นไปจากภูตคามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในคำว่า พีชคามภูตคามสมารมฺภา ปฏิวิรโต เป็นต้นเป็นวัตถุแห่งทุกกฏ.
               อีกอย่างหนึ่ง บัณฑิตพึงประกอบกับบทต้นแห่งสิกขาบทวิภังค์ที่ว่า ภูตคาโม นาม แล้วพึงทราบเนื้อความในคำว่า พีเช พีชสญฺญี นี้ อย่างนี้ว่า ภิกษุมีความสำคัญในพืชที่มีชื่อว่าภูตคาม ว่าเป็นพืช เอาศัสตราเป็นต้น ตัดเองก็ดี ใช้ให้คนอื่นตัดก็ดี เอาก้อนหินเป็นต้นทุบเองก็ดี ใช้ให้คนอื่นทุบก็ดี นำเอาไฟเข้าไปเผาเองก็ดี ใช้คนอื่นให้เผาก็ดี ต้องปาจิตตีย์. แต่บัณฑิตไม่พึงถือเอาตามพระบาลี ปรับปาจิตตีย์ ในเพราะความพราก มีชนิดตัดพืชนอกไปจากภูตคามเป็นต้น.
____________________________
๑- สมัยนี้แปลว่าว่ามันฝรั่ง แต่ชาวอินเดียเรียกว่า "อาล" -ผู้ชำระ.

               [อธิบายพีชคามและภูตคามเป็นต้น]               
               จริงอยู่ ในภูตคามสิกขาบทนี้ มีวินิจฉัยกถา ดังต่อไปนี้ :-
               ภิกษุพรากภูตคาม เป็นปาจิตตีย์. พรากพีชคามแม้ทั้ง ๕ อย่าง อันนอกจากภูตคาม เป็นทุกกฏ. ชื่อว่า พีชคามและภูตคามนี้ อยู่ในนํ้าก็มี อยู่บนบกก็มี.
               บรรดาพีชคามและภูตคามที่อยู่ในนํ้าและบนบกทั้งสองนั้น พีชคามและภูตคามที่อยู่ในนํ้า คือ เสวาลชาติ (สาหร่าย) ทั้งที่มีใบและไม่มีใบทั้งหมดมีชนิดเช่นแหนและจอกเป็นต้น โดยที่สุดกระทั่งฝ้านํ้า (ตระไคร้นํ้า) บัณฑิตพึงทราบว่า ภูตคาม. ชื่อว่าฝ้านํ้า (ตระไคร้นํ้า) ข้างบนแข็ง มีสีกร้าน ข้างล่างอ่อน มีสีเขียว.
               บรรดาเสวาลชาตินั้น รากของสาหร่ายใดหยั่งลงไปอยู่ในแผ่นดิน, แผ่นดินเป็นฐานของสาหร่ายนั้น. นํ้าเป็นฐานของสาหร่ายที่ลอยไปมาบนนํ้า เป็นปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้พรากภูตคามที่อยู่ในแผ่นดินในที่ใดที่หนึ่งก็ดี ยกขึ้นย้ายไปสู่ที่อื่นก็ดี. เป็นปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้พรากภูตคามที่ลอยไปมาบนนํ้าเหมือนกัน. แต่จะเอามือทั้งสองแหวกไปทางโน้นทางนี้ แล้วอาบนํ้า ควรอยู่.
               แท้จริง นํ้าทั้งสิ้นเป็นฐานของสาหร่ายที่อยู่ในนํ้านั้น เพราะเหตุนั้น สาหร่ายนั้น ยังไม่จัดว่าเป็นอันภิกษุย้ายไปสู่ที่อื่น ด้วยเหตุเพียงเท่านี้. แต่จะแกล้งยกขึ้นจากนํ้า โดยเว้นนํ้าเสียไม่ควร. ยกขึ้นพร้อมทั้งนํ้า แล้ววางลงในนํ้าอีก ควรอยู่. สาหร่ายออกมาทางช่องผ้ากรองนํ้า, ควรให้ทำกัปปิยะก่อน จึงบริโภคนํ้า. ภิกษุถอนเถาวัลย์และหญ้าที่เกิดในนํ้า มีกออุบลและกอปทุมเป็นต้น ขึ้นจากนํ้าก็ดี พรากเสียในนํ้านั้นเองก็ดี เป็นปาจิตตีย์. พรากกออุบลและกอปทุมเป็นต้นที่คนอื่นถอนขึ้นไว้แล้ว เป็นทุกกฏ. จริงอยู่ กออุบลและปทุมเป็นต้นที่คนอื่นถอนขึ้นไว้นั้น ย่อมถึงรากสงเคราะห์เข้าในพีชคาม. แม้สาหร่ายคือจอกและแหน๑- ที่เขายกขึ้นจากนํ้าแล้ว ยังไม่เหี่ยว ย่อมถึงซึ่งอันสงเคราะห์เข้าในพืชที่เกิดจากยอด.
               ในอรรถกถามหาปัจจรีเป็นต้น ท่านกล่าวไว้ว่า แหน๒- ไม่มีราก และหน่อและตระไคร้นํ้าเป็นต้น เป็นวัตถุแห่งทุกกฏ. เหตุในคำนั้นไม่ปรากฏ. ในอันธกอรรถกถา ท่านกล่าวไว้ว่า ยังไม่เป็นภูตคามที่สมบูรณ์ เหตุนั้นจึงเป็นทุกกฏ. แม้คำในอันธกอรรถกถานั้น ก็ไม่สมกัน (กับพระบาลี).
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าปรับปาจิตตีย์ในเพราะภูตคาม, ปรับทุกกฏในเพราะพีชคาม.
               ชื่อว่า ภูตคามอันไม่สมบูรณ์ เป็นโกฏฐาสที่ ๓ ไม่ได้มาในบาลี ไม่ได้มาในอรรถกถาทั้งหลายเลย. ก็ถ้าจะพึงมีมติว่า แหนไม่มีรากและหน่อนั้น จักถึงการสงเคราะห์เข้าในพีชคามไซร้, แม้คำนั้นก็ไม่ควร เพราะพืชเช่นนั้น ไม่เป็นมูลเหตุแห่งภูตคามเลย.
               อีกนัยหนึ่ง คำว่า บรรดาฐานะที่หนักและเบา ภิกษุควรตั้งอยู่ในฐานะที่หนัก นี้เป็นลักษณะแห่งวินัย.
____________________________
๑- ๑. โยชนาปาฐะ ๒/๒๕-๑ ตตฺถ ติลพีชกเสวาโล นาม อุปริ ขฺทฺทกปตฺโต
เหฏฺฐา ขุทฺทกมูโล เสวาโล. สาสปเสวาโล นาม สาสปมตฺโต ขุทฺทกเสวาโล.
แปลว่า บรรดาสาหร่ายเหล่านั้น ที่ชื่อว่า ติลพีชกสาหร่าย ได้แก่ สาหร่ายที่ข้าง
บนมีใบเล็กๆ ข้างล่างมีรากเล็กๆ ที่มีชื่อว่า สาสปสาหร่าย ได้แก่ สาหร่ายเล็กๆ
มีขนาดเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด.
๒-๒. โยชนาปาฐะ ๒/๒๑ อนนฺตกติลกพีชโกติ อมูลงฺกุรติลพีชโก
พืชขนาดเท่าเมล็ดงาไม่มีรากและหน่อ ชื่อว่าแหน. -ผู้ชำระ.

               [ว่าด้วยภูตคามที่เกิดบนบกและการพรากภูตคามนั้น]               
               วินิจฉัยในภูตคามที่เกิดบนบกต่อไป :-
               ส่วนที่เหลือของจำพวกต้นไม้ที่ถูกตัดจัดว่าเป็นตอไม้ที่เขียวสด. ในตอไม้เขียวสดนั้น ตอแห่งไม้กุ่ม ไม้กระถินพิมาน ไม้ประยงค์และไม้ขนุนเป็นต้น ย่อมงอกขึ้นได้. ตอไม้นั้น ท่านสงเคราะห์เข้าด้วยภูตคาม. ตอแห่งต้นตาลและมะพร้าวเป็นต้น ย่อมไม่งอกขึ้นได้. ตอแห่งต้นตาลเป็นต้นนั้น ท่านสงเคราะห์เข้าด้วยพีชคาม.
               ส่วนตอกล้วยที่ยังไม่ตกเครือ ท่านสงเคราะห์ด้วยภูตคาม. ตอกล้วยที่ตกเครือแล้ว ท่านสงเคราะห์เข้าด้วยพีชคาม. แต่ต้นกล้วยที่ตกเครือแล้ว ท่านสงเคราะห์เข้าด้วยภูตคามเหมือนกัน ตลอดเวลาที่ยังมีใบเขียวอยู่. ไม้ไผ่ที่ตกขุยแล้ว ก็อย่างนั้น. แต่ไม้ไผ่ ในเวลาแห้งลงมาตั้งแต่ยอด จึงถึงอันสงเคราะห์ด้วยพีชคาม. สงเคราะห์ด้วยพีชคามชนิดไหน. ด้วยพีชคามชนิดเกิดจากข้อ อะไรเกิดจากต้นไผ่นั้น. จริงอยู่ ถ้าหากว่าอะไรๆ ไม่พึงเกิด. (ต้นไผ่ตกขุย) พึงถึงการสงเคราะห์เข้าในภูตคาม.
               ชนทั้งหลายตัดไม้ช้างน้าวเป็นต้น รวมเป็นกองไว้. กิ่งทั้งหลายแม้ประมาณศอกหนึ่งงอกออกจากท่อนไม้ที่รวมเป็นกองไว้ ย่อมถึงการสงเคราะห์เข้าด้วยพีชคามเหมือนกัน. ชนทั้งหลายปักลงในพื้นดิน เพื่อประโยชน์เป็นมณฑปก็ดี เพื่อประโยชน์เป็นรั้วก็ดี เพื่อประสงค์จะปลูกเถาวัลย์ก็ดี. เมื่อจำพวกรากและใบงอกออกแล้ว ย่อมถึงอันนับเข้าเป็นภูตคามอีกแม้โดยแท้, ถึงอย่างนั้นเมื่องอกเพียงตุ่มรากหรือเพียงตุ่มใบก็สงเคราะห์เข้าเป็นพืชคามเท่านั้น.
               เมล็ดจำพวกใดจำพวกหนึ่ง ที่ชนทั้งหลายเอานํ้ารดชำไว้ในแผ่นดิน หรือว่าชนทั้งหลายใส่ดินเปียกลงในกระถางเป็นต้นเพาะไว้, เมล็ดทั้งหมดนั้น แม้เมื่องอกเพียงตุ่มราก หรือเพียงตุ่มใบ ก็จัดเป็นเพียงพืชเท่านั้น. ถ้าแม้นว่า รากทั้งหลายและหน่อข้างบนงอกออก ก็ยังจัดเป็นพืชนั่นแล ตลอดเวลาที่หน่อยังไม่เขียว, ก็เมื่อใบแห่งถั่วเขียวเป็นต้นงอกขึ้น หรือเมื่อหน่อแห่งข้าวเปลือกเป็นต้นเขียวสด เกิดใบมีสีเขียวแล้ว ย่อมถึงการสงเคราะห์เข้าเป็นภูตคาม.
               รากแห่งเมล็ดตาลทั้งหลายงอกออกทีแรก เหมือนเขี้ยวสุกร. แม้เมื่องอกออกแล้ว ก็จัดเป็นพีชคามเหมือนกัน ตลอดเวลาที่ม้วนกลีบ ใบข้างบนยังไม่คลี่ออก. หน่องอกทะลุเปลือกมะพร้าวออกเหมือนไม้สลัก ก็จัดเป็นพีชคามอยู่นั่นเอง ตลอดเวลาที่ม้วนกลีบใบเขียวคล้ายกับเขามฤคยังไม่มี. แม้เมื่อรากยังไม่ออก กลีบใบเช่นนั้นเกิดขึ้นแล้ว ก็ถึงการสงเคราะห์เข้าในภูตคามที่ไม่มีราก.
               จำพวกเมล็ดมีเมล็ดมะม่วงเป็นต้น พระวินัยธรพึงตัดสินด้วยจำพวกข้าวเปลือกเป็นต้น. ก้านหรือรุกขชาติอย่างใดอย่างหนึ่งอื่นก็ดี เกิดที่ต้นไม้แล้ว คลุมโอบต้นไม้. ต้นไม้นั่นแหละเป็นฐานของก้านเป็นต้นนั้น. ภิกษุพรากก้านเป็นต้นนั้นก็ดี ถอนขึ้นจากต้นไม้นั้นก็ดี เป็นปาจิตตีย์.
               เถาวัลย์ชนิดหนึ่งไม่มีราก ย่อมพันพุ่มไม้ป่าและท่อนไม้ดุจวงแหวน (ฝอยทอง), แม้เถาวัลย์นั้นก็มีวินิจฉัยอย่างนี้เหมือนกัน. ที่หน้ามุขเรือน กำแพงชุกชี และเจดีย์เป็นต้น มีตระไคร้น้ำสีเขียว. ตลอดเวลาที่ยังไม่เกิดใบ ๒-๓ ใบ ย่อมถึงการสงเคราะห์เข้าเป็นพืชเกิดจากยอด. เมื่อใบทั้งหลายเกิดแล้ว เป็นวัตถุแห่งปาจิตตีย์. เพราะเหตุนั้น จะให้การฉาบปูนขาวในฐานะเช่นนั้น ไม่ควร. จะให้การฉาบน้ำปูนขาวที่ละเอียดบนที่อันอนุปสัมบันฉาบแล้ว ควรอยู่. ถ้าในฤดูร้อนตระไคร้น้ำแห้งติดอยู่. จะเอาไม้กวาดเป็นต้นขูดตระไคร้น้ำนั้นออกเสีย ควรอยู่. ตระไคร้น้ำข้างนอกหม้อน้ำดื่มเป็นต้น เป็นวัตถุแห่งทุกกฏ, อยู่ภายในเป็นอัพโพหาริก. แม้เห็ดราที่ไม้ชำระฟันและขนมเป็นต้น เป็นอัพโพหาริกเหมือนกัน.
               สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ถ้าฝาที่เขากระทำบริกรรมด้วยยางไม้เกิดเป็นเห็ดรา ภิกษุพึงชุบผ้าให้เปียกบีบแล้วเช็ดเถิด.๑-
               ปาสาณชาติ ปาสาณทัททุ เสวาละ เสเลยยกะ๒- (ราหิน ตะไคร้หิน สาหร่าย และเอื้องหินหรือเอื้องผา) เป็นต้น ยังไม่มีสีเขียวสด และไม่มีใบ เป็นวัตถุแห่งทุกกฏ. เห็ด เป็นวัตถุแห่งทุกกฏตลอดเวลาที่ยังตูมอยู่. จำเดิมแต่บานแล้ว เป็นอัพโพหาริก. ก็ภิกษุเก็บเห็ดจากต้นไม้สดแกะเอาเปลือกต้นไม้ออก เพราะเหตุนั้น จึงเป็นปาจิตตีย์ ในเพราะการแกะเปลือกไม้นั้น. แม้ในสะเก็ดไม้ ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน.
               สะเก็ดแห่งต้นช้างน้าว และต้นกุ่มเป็นต้น หลุดจากต้นแล้ว ยังเกาะอยู่. เมื่อภิกษุถือเอาสะเก็ดนั้น ไม่เป็นอาบัติ. แม้ยางไม้ไหลออกจากต้นไม้แล้ว ยังติดอยู่ก็ดี ติดอยู่ที่ต้นไม้แห้งก็ดี จะถือเอา ควรอยู่. จะถือเอาจากต้นที่ยังสด ไม่ควร. แม้ในครั่ง ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน. เมื่อภิกษุเขย่าต้นไม้ ให้ใบเหลืองหล่นก็ดี ทำให้ดอกมีดอกกรรณิการ์โรยเป็นต้นหล่นก็ดี เป็นปาจิตตีย์ทั้งนั้น. แม้ภิกษุจารึกตัวอักษรลงบนต้นไม้ มีต้นช้างน้าว และต้นสลัดไดเป็นต้น ตรงที่ยังอ่อนก็ดี ที่ใบตาลซึ่งเกิดอยู่บนต้นตาลเป็นต้นนั้นก็ดี ด้วยความคะนองมือ ก็นัยนี้นั่นแล.
               เมื่อพวกสามเณรเลือกเก็บดอกไม้อยู่ ภิกษุจะเหนี่ยวกิ่งลงให้ ก็ควร. แต่ภิกษุอย่าพึงอบน้ำดื่มด้วยดอกไม้เหล่านั้น. ภิกษุต้องการอบกลิ่นน้ำดื่ม พึงอุ้มสามเณรขึ้นแล้วให้เก็บดอกไม้ให้. แม้กิ่งไม้ที่มีผล ตนเองต้องการจะขบฉัน อย่าพึงเหนี่ยวลงมา. พึงอุ้มสามเณรขึ้นแล้วให้เก็บผลไม้. จะจับฉุดมาร่วมกับสามเณรทั้งหลายผู้กำลังถอนไม้กอ หรือเถาวัลย์อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ควร. แต่เพื่อให้เกิดความอุตสาหะแก่สามเณรเหล่านั้น จะจับที่ปลายแสดงท่าทีฉุด ดุจกำลังลากมา ควรอยู่.
               ภิกษุกรีดกิ่งต้นไม้ที่มีกิ่งงอกขึ้น อันตนมิได้ให้อุปสัมบันทำให้เป็นกัปปิยะถือเอา เพื่อประโยชน์แก่พัดไล่แมลงวันเป็นต้น ที่เปลือกหรือที่ใบ โดยที่สุดแม้ด้วยเล็บมือ เป็นทุกกฏ. แม้ในขิงสดเป็นต้นก็นัยนี้แล. ก็ถ้าหากว่า รากแห่งขิงสดที่ภิกษุให้กระทำให้เป็นกัปปิยะแล้ว เก็บไว้ในพื้นที่เย็น งอกขึ้น จะตัดที่ส่วนเบื้องบนควรอยู่. ถ้าเกิดหน่อจะตัดที่ส่วนข้างล่าง ก็ควร. เมื่อรากกับหน่อเขียวเกิดแล้ว จะตัดไม่ควร.
____________________________
๑- วิ. จุลฺ. เล่ม ๗/ข้อ ๔๓๙/หน้า๒๔๙
๒- วิมติ ; สาเลยฺยกํ นาม สิลาย สมภูตา เอกา คนฺธชาติ.
แปลว่า ของหอมชนิดหนึ่งเกิดจากหิน ชื่อว่า สาเลยยกะ.
เห็นจะได้แก่ ที่เรียกกันว่าเมือกผา หรือโมกผา
สารตฺถทีปนี ๓/๒๖๕ สาเลยฺยกํ นาม สิลาย สมฺภูตฺ เอกา สคนฺธชาติ. -ผู้ชำระ.

               [ว่าด้วยการตัดทำลายเผาเองและใช้ให้ทำเป็นต้น]               
               สองบทว่า ฉินฺทติ วา ฉินฺทาเปติ วา มีความว่า ภิกษุเมื่อจะกวาดพื้นดิน ด้วยคิดว่า เราจักตัดหญ้า ตัดเองก็ดี ใช้คนอื่นให้ตัดก็ดี โดยที่สุดแม้ด้วยซี่ไม้กวาด.
               สองบทว่า ภินฺทติ วา ภินฺทาเปติ วา มีความว่า โดยที่สุดแม้เมื่อจะเดินจงกรมแกล้งเอาเท้าทั้งสองเหยียบไป ด้วยคิดว่า สิ่งที่จะขาดจงขาดไป, สิ่งที่จะแตก จงแตกไป, เราจักแสดงที่ที่เราจงกรม ดังนี้ ย่อมทำลายเองก็ดี ใช้คนอื่นให้ทำลายก็ดี ซึ่งหญ้าและเถาวัลย์เป็นต้น. ถ้าแม้นว่า เมื่อภิกษุทำหญ้าและเถาวัลย์ให้เป็นขมวด หญ้าและเถาวัลย์จะขาด, แม้ทำให้เป็นขมวด ก็ไม่ควร.
               ก็ชนทั้งหลายย่อมตอกไม้แมงมุม (หุ่นยนต์แมงมุม) ผูกหนามที่ต้นตาลเป็นต้น เพื่อต้องการไม่ให้พวกโจรขึ้นลัก. การกระทำอย่างนั้น ไม่ควรแก่ภิกษุ. ก็ถ้าว่า หุ่นยนต์แมงมุมเป็นแต่เพียงติดอยู่ที่ต้นไม้เท่านั้น, ไม่บีบรัดต้นไม้ ควรอยู่ แม้จะกล่าวว่า เธอจงตัดต้นไม้ จงตัดเถาวัลย์ จงถอนเหง้า หรือราก ดังนี้ ก็ควรอยู่ เพราะเป็นคำพูด ไม่กำหนดลงแน่นอน. แต่จะกำหนดลงไป พูดคำเป็นต้นว่า จงตัดต้นไม้นี้ ไม่ควร. ถึงแม้การระบุชื่อกล่าวคำเป็นต้นว่า จงตัด จงทุบ จงถอน ต้นมะม่วง เถาสี่เหลี่ยม หัวเผือกมัน หญ้ามุงกระต่าย สะเก็ดต้นไม้โน้น ดังนี้ ก็เป็นคำที่ไม่กำหนดแน่นอนเหมือนกัน. แท้จริง คำเป็นต้นว่า ต้นมะม่วงนี้ เท่านั้น ชื่อว่าเป็นคำกำหนดแน่นอน, คำนั้น ไม่ควร.
               สองบทว่า ปจติ วา ปจาเปติ วา มีความว่า บัณฑิตพึงทราบคำทั้งปวง โดยนัยดังได้กล่าวแล้วในปฐวีขนนสิกขาบทนั้นแลว่า ชั้นที่สุด แม้ประสงค์จะระบมบาตร แกล้งก่อไฟข้างบนกองหญ้าเป็นต้น เผาเองก็ดี ใช้คนอื่นให้เผาก็ดี ดังนี้. แต่จะกล่าวไม่กำหนดแน่นอนว่า จงต้มถั่วเขียว จงต้มถั่วเหลือง เป็นต้น ควรอยู่. จะกล่าวอย่างนี้ว่า จงต้มถั่วเขียวเหล่านี้, จงต้มถั่วเหลืองเหล่านี้ ไม่ควร.
               ในคำว่า อนาปตฺติ อิมํ ชาน เป็นต้น บัณฑิตพึงเห็นเนื้อความอย่างนี้ว่า เธอจงรู้มูลเภสัชนี้ จงให้รากไม้ หรือใบไม้นี้ก็ดี จงนำต้นไม้หรือเถาวัลย์นี้มาก็ดี ต้องการดอกไม้หรือผลไม้หรือใบไม้นี้ก็ดี จงกระทำต้นไม้ หรือเถาวัลย์ หรือว่าผลไม้นี้ ให้เป็นกัปปิยะก็ดี. ด้วยคำเพียงเท่านี้ ย่อมเป็นอันภิกษุกระทำการปลดเปลื้องภูตคาม. แต่ภิกษุผู้จะบริโภคพึงให้อนุปสัมบันทำให้เป็นกัปปิยะซ้ำอีก เพื่อปลดเปลื้องพีชคาม.

               [อธิบายการทำกัปปิยะและวัตถุที่ใช้ทำกัปปิยะ]               
               ก็การกระทำกัปปิยะในสิกขาบทนี้ บัณฑิตพึงทราบโดยกระแสแห่งสูตรนี้ว่า
               ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเพื่อบริโภคผลไม้ ด้วยสมณกัปปะ (สมณโวหาร) ๕ คือผลที่จี้ด้วยไฟ ที่แทงด้วยมีด ที่จิกด้วยเล็บ ผลที่ไม่มีเมล็ด ที่ปล้อนเม็ดออกแล้ว เป็นที่คำรบ ๕.#-
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อคฺคิปริจิตํ มีอรรถว่า ฉาบ คือลวก เผา จี้แล้วด้วยไฟ.
               บทว่า สตฺถกปริจิตํ มีอรรถว่า จด คือฝาน ตัด หรือแทงแล้วด้วยมีดเล็กๆ. ในข้อว่า จิกด้วยเล็บ ก็นัยนี้นั่นแล. ผลไม้ที่ไม่มีเมล็ดและผลไม้ที่ปล้อนเมล็ดออกแล้ว เป็นกัปปิยะด้วยตัวมันเองแท้.
               ภิกษุเมื่อจะทำกัปปิยะด้วยไฟ พึงทำกัปปิยะด้วยบรรดาไฟฟืนและไฟโคมัยเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยที่สุดแม้ด้วยแท่งโลหะที่ร้อน. ก็แลวัตถุนั้นจับไว้ข้างหนึ่ง พึงกล่าวคำว่า กัปปิยัง๒- แล้วทำเถิด.
               เมื่อจะทำด้วยมีดแสดงรอยตัด รอยผ่า ด้วยปลายหรือด้วยคมแห่งมีดที่ทำด้วยโลหะอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยที่สุดแม้แห่งเข็มและมีดตัดเล็บเป็นต้น. พึงกล่าวว่า กัปปิยัง แล้วทำเถิด.
               เมื่อจะทำกัปปิยะด้วยเล็บ อย่าพึงทำด้วยเล็บเน่า. ก็เล็บของพวกมนุษย์ สัตว์ ๔ เท้ามีสีหะ เสือโคร่ง เสือเหลืองและลิงเป็นต้น และแห่งนกทั้งหลายเป็นของแหลมคม, พึงทำด้วยเล็บเหล่านั้น. กีบแห่งสัตว์มีม้า กระบือ สุกร เนื้อและโคเป็นต้น ไม่คม, อย่าพึงทำด้วยกีบเหล่านั้น. แม้ทำแล้วก็ไม่เป็นอันทำ. ส่วนเล็บช้าง ไม่เป็นกีบ. จะทำกัปปิยะด้วยเล็บช้างเหล่านั้น ควรอยู่. แต่การทำกัปปิยะด้วยเล็บเหล่าใด สมควร, พึงแสดงการตัด การจิกด้วยเล็บเหล่านั้นที่เกิดอยู่ในที่นั้นก็ดี ที่ยกขึ้นถือไว้ก็ดี กล่าวว่า กัปปิยัง แล้วกระทำเถิด.
               บรรดาพืชเป็นต้นเหล่านั้น ถ้าแม้นว่าพืชกองเท่าภูเขาก็ดี ต้นไม้จำนวนพันที่เขาตัดแล้ว ทำให้เนื่องเป็นอันเดียวกันกองไว้ก็ดี อ้อยมัดใหญ่ที่เขามัดรวมไว้ก็ดี, เมื่อทำพืชเมล็ดหนึ่ง กิ่งไม้กิ่งหนึ่งหรืออ้อยลำหนึ่งให้เป็นกัปปิยะแล้ว ย่อมเป็นอันทำให้เป็นกัปปิยะแล้วทั้งหมด. อ้อยลำและไม้ฟืนเป็นของอันเขามัดรวมกันไว้. อนุปสัมบันจะแทงไม้ฟืนด้วยตั้งใจว่า เราจักกระทำอ้อยให้เป็นกัปปิยะ ดังนี้ ก็ควรเหมือนกัน. แต่ถ้าเป็นของที่เขาผูกมัดด้วยเชือกหรือด้วยเถาวัลย์ใด จะแทงเชือกหรือเถาวัลย์นั้น ไม่ควร. ชนทั้งหลายบรรจุกระเช้าให้เต็มด้วยลำอ้อยท่อนแล้วนำมา. เมื่อทำอ้อยท่อนลำหนึ่งให้เป็นกัปปิยะแล้ว อ้อยท่อนทั้งหมดย่อมเป็นอันทำให้กัปปิยะแล้วเหมือนกัน.
               ก็ถ้าว่า พวกทายกนำภัตปนกับพริกสุกเป็นต้นมา, เมื่อภิกษุกล่าวว่า จงกระทำกัปปิยะ ถ้าแม้นว่า อนุปสัมบันแทงที่เมล็ดข้าวสวย ก็สมควรเหมือนกัน. แม้ในเมล็ดงาและข้าวสารเป็นต้น ก็นัยนี้นั่นแล. แต่พริกสุกเป็นต้นนั้นที่เขาใส่ลงในข้าวต้ม ไม่ตั้งอยู่ติดเนื่องเป็นอันเดียวกัน. บรรดาพริกสุกเป็นต้นนั้น พึงทำกัปปิยะแทงที่ละเมล็ดนั่นเทียว. เยื่อในแห่งผลมะขวิดเป็นต้น ร่อนเปลือกแล้วคลอนอยู่ (หลุดจากกะลาคลอนอยู่ข้างใน) ภิกษุพึงให้ทุบแล้วให้ทำกัปปิยะ. (ถ้า) ยังติดเนื่องเป็นอันเดียวกัน (กับเปลือก), จะทำ (กัปปิยะ) แม้ทั้งเปลือก (ทั้งกะลา) ก็สมควร.
____________________________
#- วิ. จุลฺ. เล่ม ๗/ข้อ ๒๕/หน้า ๑๑
๒- อุปสัมบันผู้ให้ทำกัปปิยะกล่าวว่า "กปฺปิยํ กโรหิ" อนุปสัมบันผู้ทำกัปปิยะเอามือหนึ่งจับสิ่งของที่จะทำกัปปิยะ มือหนึ่งจับวัตถุที่จะใช้ทำกัปปิยะ มีมีดเป็นต้นแล้ว ตัดหรือผ่าหรือจี้ลงไปที่สิ่งของนั้นพร้อมกล่าวว่า "กปฺปิยํ ภนฺเต" เป็นเสร็จพิธี. =ผู้ชำระ.

               [อธิบายอนาปัตติวาร]               
               บทว่า อสญฺจิจฺจ มีความว่า เมื่อภิกษุกลิ้งหินและต้นไม้เป็นต้นก็ดี ฉุดลากกิ่งไม้ก็ดี เอาไม้เท้ายันพื้นดินเดินไปก็ดี หญ้าเป็นต้นขาดไป. หญ้าเหล่านั้น ย่อมชื่อว่า เป็นอันภิกษุไม่ได้จงใจทำให้ขาด เพราะไม่ได้จงใจตัดอย่างนี้ว่า เราจักตัดหญ้า ด้วยการกลิ้งเป็นต้นนั้น. ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่แกล้งตัดอย่างนี้.
               บทว่า อสติยา มีความว่า ส่งใจไปทางอื่นยืนพูดอะไรๆ กับใครๆ เอาหัวแม่เท้า หรือมือเด็ดหญ้า หรือเถาวัลย์อยู่, ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ตัด เพราะไม่มีสติอย่างนี้.
               บทว่า อชานนฺตสฺส มีความว่า ภิกษุไม่รู้ว่า พีชคาม หรือว่า ภูตคาม มีอยู่ในภายในนี้ ทั้งไม่รู้ว่า เรากำลังตัด วางสิ่ว เสียมและจอบที่รั้ว หรือที่กองฟาง เพื่อต้องการเก็บรักษาอย่างเดียว หรือว่า มือถูกไฟไหม้ ทิ้งไฟลงก็ดี, ถ้าว่าในที่นั้น หญ้าเป็นต้น ขาดก็ดี ถูกไฟไหม้ก็ดี ไม่เป็นอาบัติ.
               แต่ในทุกๆ อรรถกถาในมนุสสวิคคหปาราชิกวรรณนา ท่านกล่าวไว้ว่า ถ้าภิกษุถูกต้นไม้โค่นทับ หรือว่าตกลงในหลุม และอาจเพื่อจะตัดต้นไม้แล้ว กลิ้งต้นไม้นั้นไปเสีย หรือขุดแผ่นดินแล้วออกมาได้, ภิกษุไม่ควรจะกระทำด้วยตนเอง แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต, แต่ภิกษุอื่นจะขุดพื้นดิน หรือตัดต้นไม้ หรือว่าตัดท่อนไม้จากต้นไม้สด งัดต้นไม้นั้นไปแล้ว ให้ (ภิกษุนั้น) ออกมาควรอยู่ ไม่เป็นอาบัติ. เหตุในคำนั้นไม่ปรากฏ. แต่ปรากฏเพียงสูตรเดียวนี้เท่านั้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตอนุญาตให้จุดไฟรับ ให้ทำการป้องกัน ในเมื่อไฟป่ากำลังไหม้มา๑- ดังนี้.
               ถ้าว่า (การขุดดินเป็นต้น) จะอนุโลมเข้าสูตรนี้ได้ ก็ไม่อาจได้เหตุแตกต่างกันนี้ว่า เพื่อตนไม่ควร เพื่อผู้อื่นควร.
               ถ้าในสูตรนี้ อาจารย์ผู้โจทก์พึงกล่าวว่า ภิกษุผู้ทำเพื่อประโยชน์ตนเอง ย่อมกระทำด้วยอกุศลจิต เพราะรักตนเท่านั้น, แต่ภิกษุอื่นกระทำให้ด้วยความการุณ เพราะเหตุนั้น จึงไม่เป็นอาบัติ. แม้คำที่ว่าเพื่อประโยชน์แก่ตน นั่นก็ไม่ใช่เหตุ.
               จริงอยู่ ภิกษุย่อมต้องอาบัตินี้ แม้ด้วยอกุศลจิต แต่เพราะคำนี้ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาทุกแห่ง จึงไม่อาจเพื่อจะค้านได้, บัณฑิตจึงควรแสวงหายุติในคำนี้, อีกอย่างหนึ่งพึงรับไว้โดยเชื่อต่ออรรถกถาจารย์ทั้งหลายแล.
               บทที่เหลือตื้นทั้งนั้น.
               สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ เกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑ ทางวาจากับจิต ๑ ทางกายวาจากับจิต ๑ เป็นกิริยา สัญญาวิโมกข์ สจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ มีเวทนา ๓ ดังนี้แล.
____________________________
๑- วิ. จุลฺ. เล่ม ๗/ข้อ ๑๗๗/หน้า ๖๙

               ภูตคามสิกขาบทที่ ๑ จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์ ปาจิตติย์ ภูตคามวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 349อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 354อ่านอรรถกถา 2 / 358อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=8542&Z=8605
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=6624
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=6624
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๒  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :