ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 406อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 424อ่านอรรถกถา 2 / 429อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์
ปาจิตติย์ โอวาทวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๒

               ภิกขุนีวรรค อัตถังคตสิกขาบทที่ ๒               
               พึงทราบวินิจฉัยในสิกขาบทที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-
____________________________
#- บาลี เป็นโอวาทวรรค

               [แก้อรรถคาถาของพระจูฬปันถกเถระ]               
               บทว่า ปริยาเยน คือ ตามวาระ ความว่า ตามลำดับ.
               บทว่า อธิเจตโส คือ ผู้มีอธิจิต. อธิบายว่า ผู้ประกอบด้วยจิตที่ยิ่งกว่าจิตทั้งหมด คืออรหัตผลจิต.
               บทว่า อปฺปมชฺชโต คือ ผู้ไม่ประมาท. มีคำอธิบายว่า ผู้ประกอบด้วยการบำเพ็ญกุศลธรรมติดต่อกันด้วยความไม่ประมาท.
               บทว่า มุนิโน มีความว่า ญาณ ตรัสเรียกว่า โมนะ เพราะรู้โลกทั้ง ๒ อย่างนี้ว่า ผู้ใดย่อมรู้โลกทั้ง ๒ ผู้นั้น เราเรียกว่า มุนี เพราะเหตุนั้น หรือ พระขีณาสพ ตรัสเรียกชื่อว่า มุนี เพราะประกอบด้วยญาณนั้นแก่มุนีนั้น.
               สองบทว่า โมนปเถสุ สิกฺขโต มีความว่า ผู้ศึกษาอยู่ในทางแห่งญาณชื่อโมนะ กล่าวคืออรหัตมรรคญาณ คือในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ หรือในไตรสิกขา. ก็คำนี้พระผู้มีพระภาคตรัสหมายเอาปฏิปทาเป็นส่วนเบื้องต้น. เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษาพึงเห็นใจความในคำว่า มุนิโน โมนปเถสุ สิกฺขโต นี้ อย่างนี้ว่า แก่มุนีผู้ศึกษาอยู่ในธรรมเป็นส่วนเบื้องต้นอย่างนี้ บรรลุความเป็นมุนีด้วยการศึกษานี้.
               บทพระคาถาว่า โสกา น ภวนฺติ ตาทิโน มีความว่า ความโศกทั้งหลาย เพราะเรื่องมีการพลัดพรากจากอิฏฐารมณ์เป็นต้นในภายใน (ในจิต) ย่อมไม่มีแก่พระขีณาสวมุนีผู้คงที่. อีกอย่างหนึ่ง ในบทว่า ตาทิโน นี้ มีใจความแม้อย่างนี้ว่า ความโศกทั้งหลายย่อมไม่มีแก่มุนีผู้ประกอบด้วยลักษณะคงที่เห็นปานนี้.
               บทว่า อุปสนฺตสฺส ได้แก่ ผู้สงบระงับเพราะสงบกิเลสมีราคะเป็นต้นได้.
               บทว่า สทา สตีมโต ได้แก่ ผู้ไม่เว้นจากสติ ตลอดกาลเป็นนิตย์ เพราะเป็นผู้ถึงความไพบูลย์แห่งสติ.
               สองบทว่า อากาเส อนฺตลิกฺเข ได้แก่ ในอากาศ กล่าวคือกลางหาว, ไม่ใช่อากาศเพิกกสิณ ไม่ใช่อากาศเป็นเครื่องกำหนดรูป.
               สองบทว่า จงฺกมติปิ ติฏฺฐติปิ มีความว่า พระจูฬปันถกเถระได้ฟังถ้อยคำของภิกษุณีเหล่านั้น คิดว่า ภิกษุณีเหล่านี้ดูหมิ่นเราว่า พระเถระรูปนี้รู้ธรรมเพียงเท่านี้แหละ, เอาละ! บัดนี้ เราจะแสดงอานุภาพของตนแก่ภิกษุณีเหล่านี้ จึงยังความเคารพมาก ในธรรมให้เกิดขึ้นแล้ว เข้าจตุตถฌานมีอภิญญาเป็นบาท ออกแล้วได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์เห็นปานนี้ คือเดินจงกรมในอากาศกลางหาวบ้าง ฯลฯ หายตัวไปในระหว่างบ้าง.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนฺตรา ปิธายติ มีความว่า หายตัวไปบ้าง คือไปไม่ปรากฏให้เห็นบ้าง.
               ข้อว่า ตญฺเญว อุทานํ ภณติ อญฺญญฺจ พหุํ พุทฺธวจนํ มีความว่า ได้ยินว่า พระเถระถูกให้เรียนคาถานี้ในสำนักของพระเถระผู้เป็นหลวงพี่ของตนว่า
                         ดอกบัวชื่อโกกนุท มีกลิ่นหอม พึงบานแต่เช้า
                         ยังไม่วายกลิ่น ฉันใด, ท่านจงดูพระอังคีรส
                         ผู้รุ่งโรจน์เหมือนดวงอาทิตย์แผดรัศมีรุ่งโรจน์
                         อยู่ในกลางหาว ฉันนั้น.

               ได้สาธยายถึง ๔ เดือน แต่ไม่อาจทำให้คล่องแคล่วได้.
               ครั้งนั้น พระเถระ (หลวงพี่) จึงขับไล่พระจูฬปันถกนั้นไปเสียจากวิหาร ด้วยกล่าวว่า เธอเป็นคนอาภัพในพระศาสนานี้. ท่านได้ยืนร้องไห้อยู่ที่ซุ้มประตู. คราวนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูพุทธเวไนยสัตว์ ทอดพระเนตรเห็นท่านแล้ว จึงเสด็จไปใกล้ๆ ท่าน ดุจเสด็จเที่ยวไปยังวิหารจาริก ตรัสว่า จูฬปันถก! เธอร้องไห้ทำไม? ท่านจึงกราบทูลเรื่องราวนั้น.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงประทาท่อนผ้าอันสะอาดแก่ท่าน ตรัสว่า เธอจงลูบคลำผ้านี้ว่า ผ้าเช็ดธุลี. ท่านรับว่า สาธุ แล้ว นั่งในที่อยู่ของตนลูบคลำที่สุดด้านหนึ่งแห่งผ้านั้น. ที่ที่ถูกลูบคลำนั้น ได้กลายเป็นสีดำ. ท่านกลับได้ความสลดใจว่า ผ้าชื่อว่าแม้บริสุทธิ์อย่างนี้ อาศัยอัตภาพนี้ กลับกลายเป็นสีดำ ดังนี้แล้วจึงปรารภวิปัสนา.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า ท่านปรารภความเพียร ได้ทรงภาษิตโอภาสคาถานี้ว่า อธิเจตโส เป็นต้น. พระเถระบรรลุพระอรหัตผลในเวลาจบคาถา. เพราะเหตุนั้น พระเถระจึงเคารพรักคาถานี้ ตามปรกติเทียว. ท่านกล่าวคาถานั้นนั่นแล เพื่อให้ทราบความเคารพรักคาถานี้นั้น และนำพุทธพจน์อื่นเป็นอันมากมากล่าวอยู่ในระหว่าง. เพราะเหตุนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า กล่าวอุทานนั้นนั่นแล และพระพุทธพจน์อย่างอื่นเป็นอันมาก.
               สองบทว่า เอกโต อุปสมฺปนฺนาย ได้แก่ ภิกษุณีผู้อุปสมบทในภิกษุณีสงฆ์. แต่เป็นปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้กล่าวสอนภิกษุณีผู้อุปสมบทในภิกษุสงฆ์.
               บทที่เหลือในสิกขาบทนี้ตื้นทั้งนั้น.
               และแม้สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเหมือนปทโสธรรมสิกขาบทนั่นแล.

               อัตถังคตสิกขาบทที่ ๒ จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์ ปาจิตติย์ โอวาทวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๒ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 406อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 424อ่านอรรถกถา 2 / 429อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=9508&Z=9579
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=7821
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=7821
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๕  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :