ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 475อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 486อ่านอรรถกถา 2 / 494อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์
ปาจิตติย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๓

               โภชนวรรค ปรัมปรโภชนสิกขาบทที่ ๓               
               ในสิกขาบทที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

               [แก้อรรถปฐมบัญญัติ เรื่องปรัมปรโภชนะ]               
               คำว่า น โข อิทํ โอรกํ ภวิสฺสติ ยถา อิเม มนุสฺสา สกฺกจฺจํ ภตฺตํ กโรนฺติ มีความว่า มนุษย์พวกนี้ทำภัตตาหารโดยเคารพ โดยทำนองที่เป็นเหตุให้พระศาสนานี้ หรือทานในพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขนี้ ปรากฏชัด จักไม่เป็นทานต่ำต้อยเลย คือจักไม่เป็นกุศลเล็กน้อยเลวทรามเลย.
               คำว่า กิร ในบทที่ว่า กิรปติโก นี้ เป็นชื่อของกุลบุตรนั้น. ก็กุลบุตรนั้นเขาเรียกว่า กิรปติกะ เพราะอรรถว่า เป็นอธิบดี (เป็นใหญ่). ได้ยินว่า เขาเป็นใหญ่ เป็นอธิบดี ให้ค่าจ้างใช้กรรมกรทำงานโดยกำหนดเป็นรายเดือน ฤดูและปี. กรรมกรผู้ยากจนนั้น กล่าวคำว่า พทรา ปฏิยตฺตา นี้ ด้วยอำนาจโวหารของชาวโลก.
               บทว่า พทรมิสฺสเกน คือ ปรุงด้วยผลพุทรา.
               สองบทว่า อุสฺสุเร อาหรียิตฺถ คือ ทายกนำบิณฑบาตมาถวายสายไป. การวิกัปนี้ว่า ข้าพเจ้าให้ภัตตาหารที่หวังจะได้ ของข้าพเจ้าแก่ท่านผู้มีชื่อนี้ ชื่อว่า การวิกัปภัตตาหาร. การวิกัปภัตตาหารควรทั้งต่อหน้าทั้งลับหลัง. เห็น (ภิกษุ) ต่อหน้าพึงกล่าวว่า ผมวิกัปแก่ท่าน แล้วฉันเถิด. ไม่เห็น พึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าวิกัปแก่สหธรรมิก ๕ ผู้มีชื่อนี้ แล้วฉันเถิด. แต่ในอรรถกถาทั้งหลายมีมหาปัจจรีเป็นต้น ท่านกล่าวไว้แต่วิกัปลับหลังเท่านั้น. ก็เพราะการวิกัปภัตตาหารนี้นั้น ทรงสงเคราะห์ด้วยวินัยกรรม ฉะนั้น จึงไม่ควรวิกัปแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               จริงอยู่ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งในพระคันธกุฎีก็ดี ประทับนั่งในท่ามกลางสงฆ์ก็ดี กรรมนั้นๆ ที่สงฆ์รวม ภิกษุครบคณะแล้วทำ เป็นอันกระทำดีแล้วแล. พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงทำให้เสียกรรม ไม่ทรงทำให้กรรมสมบูรณ์, ไม่ทรงทำให้เสียกรรม เพราะพระองค์มีความเป็นใหญ่โดยธรรม, ไม่ทรงทำให้กรรมสมบูรณ์ ก็เพราะพระองค์มิได้เป็นคณปูรกะ (ผู้ทำคณะให้ครบจำนวน).
               คำว่า เทฺว ตโย นิมนฺเตน เอกโตภุญฺชติ มีความว่า บรรจุคือรวมนิมันตนภัต ๒-๓ ที่บาตรใบเดียว คือทำให้เป็นอันเดียวกันแล้วฉัน. ท่านกล่าวไว้ในมหาปัจจรีว่า ตระกูล ๒-๓ ตระกูล นิมนต์ภิกษุให้นั่งในที่แห่งเดียว แล้วนำ (ภัตตาหาร) มาจากที่นี้และที่นั่น แล้วเทข้าวสวย แกงและกับข้าวลงไป, ภัตเป็นของสำรวมเป็นอันเดียวกัน, ไม่เป็นอาบัติในภัตสำรวมนี้.
               ก็ถ้าว่า นิมันตนภัตครั้งแรกอยู่ข้างล่าง นิมันตนภัตทีหลังอยู่ข้างบน, เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ฉันนิมันตภัตทีหลังนั้นตั้งแต่ข้างบนลงไป. แต่ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ฉันโดยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง จำเดิมตั้งแต่เวลาที่เธอเอามือล้วงลงไปภายใน แล้วควักคำข้าวแม้คำหนึ่งจากนิมันตนภัตครั้งแรก ขึ้นมาฉันแล้ว.
               ท่านกล่าวไว้ในมหาปัจจรีว่า แม้ถ้าว่า ตระกูลทั้งหลายราดนมสดหรือรสลงไปในภัตนั้น, ภัตที่ถูกนมสดและรสใดราดทับ มีรสเป็นอันเดียวกันกับนมสด และรสนั้น, ไม่เป็นอาบัติ แก่ภิกษุผู้ฉันตั้งแต่ยอดลงไป.
               แต่ในมหาอรรถกถากล่าวว่า ภิกษุได้ขีรภัต (ภัตเจือนมสด) หรือรสภัต (ภัตมีรสแกง) นั่งแล้ว แม้ชาวบ้านพวกอื่นเทขีรภัตหรือรสภัต (อื่น) ลงไปบนขีรภัตและรสภัตนั้นนั่นแหละ (อีก), ไม่เป็นอาบัติ แก่ภิกษุผู้ดื่มนมสด, หรือรส, แต่ภิกษุผู้กำลังฉันอยู่ จะเปิบชิ้นเนื้อหรือก้อนข้าวที่ได้ก่อนเข้าปาก แล้วฉันตั้งแต่ยอดลงไปควรอยู่, แม้ในข้าวปายาสเจือเนยใส ก็นัยนี้เหมือนกัน. ุ
               ท่านกล่าวไว้ในมหาอรรถกถาว่า อุบาสกผู้ใหญ่นิมนต์ภิกษุไว้, เมื่อภิกษุไปสู่ตระกูลแล้ว อุบาสกก็ดี อันโตชนมีบุตรภรรยาและพี่น้องชายพี่น้องของอุบาสกนั้นก็ดี นำเอาเอาภัตส่วนของตนๆ มาใส่ในบาตร, เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่ฉันภัตส่วนที่อุบาสกถวายก่อน ฉันส่วนที่ได้ทีหลัง. ในอรรถกถากุรุนทีกล่าวว่า ควร. ในมหาปัจจรีกล่าวว่า ถ้าพวกเขาแยกกันหุงต้ม, นำมาถวายจากภัตที่หุงต้มเพื่อตนๆ. บรรดาภัตเหล่านั้น เป็นปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ฉันภัตที่เขานำมาทีหลังก่อน, แต่ถ้าพวกเขาทั้งหมดหุงต้มรวมกัน, ไม่เป็นปรัมปรโภชนะ.
               อุบาสกผู้ใหญ่นิมนต์ภิกษุให้นั่งคอย. ชาวบ้านอื่นจะรับเอาบาตร, ภิกษุอย่าพึงให้. เขาถามว่า ทำไม ขอรับ! ท่านจึงไม่ให้? พึงกล่าวว่า อุบาสก! ท่านนิมนต์พวกเราไว้มิใช่หรือ? เขากล่าวว่า ช่างเถอะขอรับ! นิมนต์ ท่านฉันของที่ท่านได้แล้วๆ เถิด. จะฉันก็ควร. ในกุรุนทีกล่าวว่า เมื่อคนอื่นนำภัตมาถวาย ภิกษุแม้บอกกล่าวแล้วฉันก็ควร. พวกชาวบ้านทั้งหมดอยากฟังธรรมจึงนิมนต์ภิกษุผู้ทำอนุโมทนาแล้วจะไปว่า ท่านขอรับ! แม้พรุ่งนี้ก็นิมนต์ท่านมาอีก. ในวันรุ่งขึ้น ภิกษุจะมาฉันภัตที่ได้แล้วๆ ควรอยู่. เพราะเหตุไร? เพราะชาวบ้านทั้งหมดนิมนต์ไว้.
               ภิกษุรูปหนึ่งไปเที่ยวบิณฑบาตได้ภัตตาหารมา. อุบาสกอื่นนิมนต์ภิกษุรูปนั้นให้นั่งคอยอยู่ในเรือน และภัตยังไม่เสร็จก่อน. ถ้าภิกษุนั้นฉันภัตที่ตนเที่ยวบิณฑบาตได้มา เป็นอาบัติ. เมื่อเธอไม่ฉัน นั่งคอย อุบาสกถามว่า ทำไม ขอรับ! ท่านจึงไม่ฉัน? เธอกล่าวว่าเพราะท่านนิมนต์ไว้ แล้วเขาเรียนว่า นิมนต์ท่านฉันภัตที่ท่านได้แล้วๆ เถิด ขอรับ! ดังนี้ จะฉันก็ได้.
               สองบทว่า สกเลน คาเมน มีความว่า ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้อันชาวบ้านทั้งมวล รวมกันนิมนต์ไว้เท่านั้น ซึ่งฉันอยู่ในที่แห่งหนึ่งแห่งใด. แม้ในหมู่คณะก็นัยนี้นั่นแล.
               คำว่า นิมนฺติยมาโน ภิกฺขํ คณฺหิสฺสามีติ ภณติ มีความว่า ภิกษุผู้ถูกเขานิมนต์ว่า นิมนต์ท่านรับภัตตาหาร กล่าวว่ารูปไม่มีความต้องการภัตของท่าน, รูปจักรับภิกษา. ในคำว่า ภตฺตํ ฯเปฯ วทติ นี้พระมหาปทุมเถระกล่าวว่า ภิกษุผู้กล่าวอย่างนี้ อาจเพื่อจะทำไม่ให้เป็นนิมันตนภัตในสิกขาบทนี้ได้, แต่ได้ทำโอกาสเพื่อประโยชน์แก่การฉัน เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงไม่พ้นจากคณโภชนะ และไม่พ้นจากจาริตตสิกขาบท. พระมหาสุมนเถระกล่าวว่า ภิกษุอาจจะทำให้ไม่เป็นนิมันตนภัตโดยส่วนใด, ไม่เป็นคณโภชนะ ไม่เป็นจาริตตะ โดยส่วนนั้น.
               คำที่เหลือดังที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจกฐินสิกขาบท เกิดขึ้นทางกายและวาจา ๑ ทางกายวาจาและจิต ๑ เป็นทั้งกิริยาทั้งอกิริยา.
               จริงอยู่ ในกิริยาและอกิริยานี้ การฉันเป็นกิริยา การไม่วิกัปเป็นอกิริยา เป็นโนสัญญาวิโมกข์ อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ มีเวทนา ๓ ดังนี้แล.

               ปรัมปรโภชนสิกขาบทที่ ๓ จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์ ปาจิตติย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๓ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 475อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 486อ่านอรรถกถา 2 / 494อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=10444&Z=10589
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=8279
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=8279
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๕  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :