ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 504อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 508อ่านอรรถกถา 2 / 512อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์
ปาจิตติย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๗

               โภชนวรรค วิกาลโภชนาสิกขาบทที่ ๗               
               ใน๑- สิกขาบทที่ ๗ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
____________________________
๑- ศัพท์ที่เป็นชื่อขาทนียะโภชนียะและเภสัชเป็นต้น เท่าที่ค้นหาได้แปลไว้ในสิกขาบทนี้ ยังไม่แน่ใจขอฝากให้ท่านผู้รู้พิจารณาแก้ไขต่อไป. ผู้ชำระ.

               [เรื่องภิกษุสัตตรสวัคคีย์ไปดูมหรสพบนยอดเขา]               
               บทว่า คิรคฺคสมชฺโช คือ มหรสพชั้นเยี่ยมบนภูเขา.
               อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ มหรสพ (ที่แสดง) บนยอดเขาแห่งภูเขา. ทวยนครทำการโฆษณาในเมืองว่า นัยว่า มหรสพนั้นจักมีกันในวันที่ ๗. ฝูงชนเป็นอันมากได้ชุมนุมกันที่ร่มเงาแห่งบรรพต บนภูมิภาคที่ราบเรียบภายนอกเมือง การฟ้อนรำของพวกนักฟ้อน มีประการมากมายหลายอย่างเป็นไปอยู่. ชนทั้งหลายได้ผูกเตียงซ้อนเตียง เพื่อดูการฟ้อนรำของพวกนักฟ้อนเหล่านั้น. พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์อุปสมบทแต่ยังเด็กๆ ในเมื่อสิกขาบทยังมิได้ทรงบัญญัติ. ภิกษุเหล่านั้นชักชวนกันว่า ผู้มีอายุ! พวกเราจักไปดูฟ้อนรำกัน แล้วได้ไปในที่นั้น.
               ครั้งนั้น เหล่าญาติของพวกเธอมีจิตยินดีว่า พระผู้เป็นเจ้าของพวกเราก็มาด้วย จึงให้อาบน้ำ ลูบไล้ ให้ฉันแล้ว ได้ถวายแม้ของอื่น มีขนมและของควรเคี้ยวเป็น ต้นติดมือไปด้วย. พระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลายหมายถึงญาติเหล่านั้น จึงได้กล่าวว่า พวกมนุษย์ได้เห็นภิกษุสัตตรสวัคคีย์เหล่านั้น เป็นต้น.
               บทว่า วิกาเล คือ ในเมื่อกาลผ่านไปแล้ว. กาลแห่งโภชนะของภิกษุทั้งหลายท่านประสงค์เอาว่า กาล ก็กาลแห่งโภชนะนั้นโดยกำหนดอย่างต่ำกว่าเขาทั้งหมด เที่ยงวัน.
               อธิบายว่า เมื่อกาล (เวลา) เที่ยงวันนั้นล่วงเลยไปแล้ว. ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ ในบทภาชนะแห่งบทว่า วิกาเล นั้น พระอุบาลีเถระจึงกล่าวว่า เมื่อกาลเที่ยงวันล่วงไปแล้วจนถึงอรุณขึ้น ชื่อว่าวิกาล แม้เวลาเที่ยงตรงก็ถึงการสงเคราะห์เข้าเป็นกาล. จำเดิมแต่เวลาเที่ยงตรงไป ภิกษุไม่อาจเพื่อจะเคี้ยวหรือฉันได้ (แต่) ยังอาจเพื่อจะรีบดื่มได้, ส่วนภิกษุผู้มีความรังเกียจไม่พึงทำ. และเพื่อรู้กำหนดกาลเวลา ควรปักเสาเครื่องหมายกาลเวลาไว้. อนึ่ง พึงทำภัตกิจภายในกาล.
               ในคำว่า อวเสสํ ขาทนียํ นาม นี้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               ในอาหารวัตถุมีขนมต้มเป็นต้น๑- ที่สำเร็จมาแต่บุพพัณชาติ และอปรัณชาติมีคำที่ควรจะกล่าวก่อนอย่างนี้ :-
               วัตถุแม้ใดมีชนิดเช่นใบและรากเหง้าเป็นต้น เป็นของมีคติอย่างอามิส, นี้ คืออย่างไร? คือ วัตถุแม้นี้เป็นต้นว่า รากควรเคี้ยว หัวควรเคี้ยว เหง้าควรเคี้ยว ยอดควรเคี้ยว ลำต้นควรเคี้ยว เปลือกควรเคี้ยว ใบควรเคี้ยว ดอกควรเคี้ยว ผลควรเคี้ยว เมล็ดควรเคี้ยว แป้งควรเคี้ยว ยางเหนียวควรเคี้ยว ย่อมถึงการสงเคราะห์เข้าในขาทนียะ (ของควรเคี้ยว) ทั้งนั้น.
               ก็ในมูลขาทนียะเป็นต้นนั้น เพื่อกำหนดรู้ของควรเคี้ยวมีคติอย่างอามิส มีของควรเคี้ยว ซึ่งจะชี้ให้เห็นพอเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้ :-
____________________________
๑- อัตถโยชนา ๒/๗๐ สกฺขลิโมทโกติ วฏฏโมทโก. ชาวอินเดียเรียกขนมชนิดนี้ว่า ลัฑฑู นัยว่า ทำจากแป้งเป็นก้อนกลมๆ ข้างในใส่ไส้แล้วทอดด้วยน้ำมันพืชลักษณะใกล้กับขนมต้มของไทย จึงได้แปลไว้อย่างนั้น. -ผู้ชำระ.

               [อธิบายของควรเคี้ยวที่จัดเป็นกาลิกต่างๆ]               
               พึงทราบวินิจฉัยในมูลขาทนียะก่อน :-
               ใบและรากที่ควรเป็นสูปะ (กับข้าว) ได้ มีอาทิอย่างนี้ คือมูลกมูล วารกมูล ปุจจุมูลตัมพกมูล ตัณฑุเลยยกมูล วัตถุเลยยกมูล วัชชกลิมูล ชัชฌริมูล๑- มีคติอย่างอามิส. ก็บรรดาขาทนียะ มีมูลกมูลเป็นต้นนี้ ชนทั้งหลาย ตัดหัวอ่อน ในวัชชกลิมูล (หัวมันใหญ่) ทิ้ง, หัวอ่อนนั้นเป็นยาวชีวิก. รากเหง้าแม้อย่างอื่นเห็นปานนี้ ก็พึงทราบโดยนัยนี้แหละ. ท่านกล่าวไว้ว่า ส่วนหัวของมูลกะวารกะและชัชฌริ (เผือกมัน มันอ้อนและมันเสา) แม้ยังอ่อน ก็มีคติอย่างอามิสเหมือนกัน.
               ส่วนเภสัชเหล่าใดที่ตรัสไว้ในพระบาลีว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตมูลเภสัช คือขมิ้น ขิง ว่านน้ำ ว่านเปราะ อุตพิด ข่า แฝก แห้วหมู ก็หรือมูลเภสัชแม้ชนิดอื่นใดบรรดามี ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรเคี้ยวในของควรเคี้ยว ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรบริโภคในของควรบริโภค๒- ดังนี้.
               เภสัชเหล่านั้น เป็นยาวชีวิก. เภสัชเป็นยาวชีวิกเหล่านั้น เมื่อคำนวณนับโดยนัยเป็นต้นว่า จูฬเบญจมูล มหาเบญจมูล (รากทั้งห้า รากทั้งห้าใหญ่) ไม่มีที่สุดด้วยการนับ. ก็ภาวะ คือ ความไม่สำเร็จประโยชน์แก่ขาทนียะ และประโยชน์แก่โภชนียะนั่นแล เป็นลักษณะแห่งมูลเภสัชที่เป็นยาวชีวิกเหล่านั้น.
               เพราะฉะนั้น ๓- รากเหง้าชนิดใดชนิดหนึ่ง สำเร็จประโยชน์แก่ขาทนียะ และประโยชน์แก่โภชนียะของพวกมนุษย์ ด้วยอำนาจแห่งอาหารตามปรกติในชนบทนั้นๆ, รากเหง้านั้น พึงทราบว่า เป็นยาวกาลิก, รากเหง้านอกนี้ พึงทราบว่าเป็นยาวชีวิก, ถึงแม้พวกเราจะกล่าวให้ละเอียดมากไป ก็จำต้องยืนยันอยู่ในลักษณะนี้แล. แต่เมื่อจะกล่าวนามสัญญา (เครื่องหมายชื่อ) ทั้งหลายไว้ ก็จะเป็นความฟั่นเฟื้อหนักขึ้น แก่เหล่าชนผู้ไม่รู้ชื่อนั้นๆ. เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ทำความเอื้อเฟื้อในนามสัญญา แสดงไว้แต่ลักษณะเท่านั้น. อนึ่ง พึงทราบวินิจฉัยด้วยอำนาจแห่งลักษณะที่ได้แสดงไว้แม้ในหัวมันเป็นต้นนั่นแลเหมือนในรากเหง้า ฉะนั้น. อนึ่ง แม้ลำต้น เปลือก ดอกและผลแห่งเหง้า ๘ ชนิด มีขมิ้นเป็นต้น ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในพระบาลีทั้งหมด ท่านก็กล่าวว่า เป็นยาวชีวิก.
               ในหัวควรเคี้ยว มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               หัวมัน (หัวใต้ดิน) มี ๒ ชนิด คือ ชนิดยาว ๑ ชนิดกลม ๑ หัวบัวและหัวทองกวาวเป็นต้น มีทั้งชนิดยาวและชนิดสั้น, หัวบัวและหัวกระจับเป็นต้น ที่อาจารย์บางพวกเรียกว่า คัณฐีก็มี เป็นหัวชนิดกลม. บรรดาหัวเหล่านั้นที่แก่และอ่อนของหัว สะเก็ดและจำพวกรากฝอยแห่งหัวทุกอย่าง จัดเป็นยาวชีวิก.
               ส่วนจำพวกหัวที่สำเร็จประโยชน์แก่ขาทนียะและประโยชน์แก่โภชนียะของพวกมนุษย์ ด้วยอำนาจอาหารตามปรกติในชนบทนั้นๆ มีอาทิอย่างนี้ คือหน่อต้นขานางที่ยังอ่อน เคี้ยวง่าย หัวอ่อนต้นทองกวาว หัวต้นมะกอก หัวการะเกด หัวเถาย่านทราย หัวบัวหลวงและบัวขาวที่เรียกกันว่าเหง้าบัว หัวเถาวัลย์มีเถาพวงและเถาหูกวางเป็นต้น หัวเครือเขา๔- หัวต้นมะรุม หัวตาล หัวบัวเขียวบัวแดง โกมุทและจงกลนี หยวกกล้วย หน่อไม้ไผ่ หัวกระจับที่ยังอ่อน เคี้ยวง่าย จัดเป็นยาวกาลิก. หัวเถากลอย (เถาน้ำนม เถาข้าวสารก็ว่า) ที่ยังไม่ฟอก เป็นยาวชีวิก, ที่ฟอกแล้วเป็นยาวกาลิก.
               ส่วนหัวของกระทือกระเม็ง (ไพร) กระชาย (ขิง) และกระเทียมเป็นต้น เป็นยาวชีวิก. หัวเหล่านั้นท่านสงเคราะห์เข้ากับมูลเภสัชนั่นแลในพระบาลีอย่างนี้ว่า ก็หรือว่า มูลเภสัชเหล่าใด แม้อย่างอื่นบรรดามี.
               ในมูลฬาลขาทนียะ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               เหง้าบัวหลวงเป็นเช่นเดียวกันกับเหง้าบัวขาวนั่นแหละ. เหง้าที่สำเร็จประโยชน์แก่ขาทนียะ และประโยชน์แก่โภชนียะของพวกมนุษย์ ด้วยอำนาจอาหารตามปรกติในชนบทนั้นๆ มีอาทิอย่างนี้ คือเหง้าตะไคร้น้ำ เหง้าเถาคล้า เป็นยาวกาลิก.
               ส่วนเหง้าของขมิ้น ขิง ปอ เถา ๔ เหลี่ยม การะเกด ตาล เต่าร้าง ต้นตาว๕- มะพร้าว ต้นหมากเป็นต้น จัดเป็นยาวชีวิก. เหง้าขมิ้นเป็นต้นแม้ทั้งหมดนั้น ท่านสงเคราะห์เข้ากับมูลเภสัชเหมือนกัน ในพระบาลีอย่างนี้ว่า ก็หรือว่า มูลเภสัชแม้ชนิดอื่นในบรรดามี.
               ในมัตถกขาทนียะ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ยอดหรือหน่อแห่งต้นไม้และเถาวัลย์เป็นต้น ที่สำเร็จประโยชน์แก่ขาทนียะ และประโยชน์แก่โภชนียะของพวกมนุษย์ด้วยอำนาจอาหารตามปรกติในชนบทนั้นๆ มีอาทิอย่างนี้ คือ ยอดที่เรียกกันว่าหน่อของตาล เต่าร้าง ต้นตาว การะเกด มะพร้าว ต้นหมาก อินทผลัม (เป้งก็ว่า) หวาย ตะไคร้น้ำ และกล้วย หน่อไม้ไผ่ หน่ออ้อ หน่ออ้อย หน่อเผือกมัน หน่อเมล็ดพันธุ์ผักกาด หน่อสามสิบและหน่อแห่งธัญชาติ ๗ ชนิด จัดเป็นยาวกาลิก. โคนรากอ่อน (ยอดอ่อน) แห่งหน่อขมิ้น ขิง ว่านน้ำ ปอ กระเทียมและแห่งหน่อตาล เต่าร้าง ต้นตาว มะพร้าว ที่เขาตัดให้ขาดตกไปเป็นยาวชีวิก.
____________________________
๑- หัวเผือกมัน หัวลูกเดือย หัวมันอ้อน หัวมันแดง หัวเถาข้าวสาร หัวผักโหหัด หัวมันใหญ่ หัวผักไห่ หรือผักปลัง วชิรพุทธิฏีกาฉบับพม่า ขาทกมูลนฺติ ยูปสมูลํ. จจฺจุมูลํ=เนฬิยมูลํ. ตมฺพกํ=วจํ. ตณฺฑฺเลยฺยกํ=จูฬกุหุ. วตฺถุเลยฺยกํ=มหากุหุ วชกลิ=นิโกฏฐํ. ชชฺฌริ=หิรโต. -ผู้ชำระ.
๒- วิ. มหา. เล่ม ๕/ข้อ ๒๘/หน้า ๔๑.
๓- โยชนาปาฐะ ๒/๗๒ เป็น ตสฺมา แปลตามนั้นเห็นว่าถูกกว่า -ผู้ชำระ.
๔- ชาวอินเดียเรียกว่า อาลู เป็นมันชนิดหนึ่ง สมัยนี้แปลกันว่า มันฝรั่ง -ผู้ชำระ.
๕- บางท่านก็ว่า ต้นลาน.

               [ว่าด้วยลำต้นเปลือกและใบที่ควรเคี้ยว]               
               ในขันธขาทนียะ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ลำต้นมีอาทิอย่างนี้ คือลำต้นไม้ขานาง ลำอ้อย สายบัวเขียว บัวแดง โกมุท และจงกลนีที่อยู่ภายในปฐพี ที่สำเร็จประโยชน์แก่ขาทนียะและประโยชน์แก่โภชนียะ ของพวกมนุษย์ด้วยอำนาจแห่งอาหารตามปรกติในชนบทนั้นๆ จัดเป็นยาวกาลิก. ก้านใบแห่งบัวชนิดอุบลชาติก็ดี ก้านทั้งหมดแห่งบัวชนิด ปทุมชาติก็ดี และก้านบัวที่เหลือทุกๆ อย่างมีก้านบัวหลวงเป็นต้น จัดเป็นยาวชีวิก.
               ในตจขาทนียะ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               เปลือกอ้อยอย่างเดียวเท่านั้น ท่านจัดเป็นยาวกาลิก. เปลือกอ้อยแม้นั้น ยังเป็นของมีรส (หวานอยู่). เปลือกที่เหลือทุกอย่างเป็นยาวชีวก. ก็ยอด ลำต้นและเปลือกทั้ง ๓ นั้น พึงทราบว่า สงเคราะห์เข้ากับกสาวเภสัชในพระบาลี. สมดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้นี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกสาวเภสัช (น้ำฝาดที่เป็นยา) คือน้ำฝาดสะเดา น้ำฝาดมูกมัน (น้ำฝาดกระดอมหรือมูลกา๑-) น้ำฝาดบอ ระเพ็ดหรือพญามือเหล็ก น้ำฝาดกถินพิมาน, ก็หรือกสาวเภสัชแม้ชนิดอื่นใดบรรดามี ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรเคี้ยวในของควรเคี้ยว ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรบริโภคในของควรบริโภค.๒-
               การสงเคราะห์ยอดลำต้นและเปลือกแม้เหล่านี้เข้าในพระพุทธานุญาตนี้ ย่อมสำเร็จ (ย่อมใช้ได้). และจำพวกน้ำฝาดที่กล่าวแล้วบัณฑิตพึงทราบว่า เป็นของสมควรโดยประการทุกอย่าง.
               ในปัตตขาทนียะ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ใบทั้งหลายแห่งรุกชาติเหล่านี้ คือเผือกมัน ลูกเดือย มันอ้อน และมันแดง มะพลับ บุนนาค ผักโหมหัด มันใหญ่ ผักไห่ หรือผักปลัง มะคำไก่ หรือมะกอก กะเพรา ถั่วเขียวจีน ถั่วเหลือง ถั่วราชมาษ ยอป่าที่เหลือ เว้นยอใหญ่ (ยอบ้านเสีย) คนทิสอ หรือพังคี เบญจมาศ กุ่มขาว มะพร้าว ชาเกลือเกิดบนดิน และใบไม้เหล่าอื่นเห็นปานนี้ ที่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรเคี้ยว และสำเร็จประโยชน์แก่ของควรบริโภคของพวกมนุษย์ด้วยอำนาจอาหารตามปรกติในชนบทนั้นๆ จัดเป็นยาวกาลิกโดยส่วนเดียว.
               แต่ชาเกลือมีใบขนาดเท่าหลังเล็บเขื่องๆ แม้อื่นใด เลื้อยขึ้นบนต้นไม้หรือพุ่มไม้, พวกอาจารย์ชาวเกาะ (ชาวชมพูทวีปหรือชาวลังกาทวีป) กล่าวใบชาเกลือนั้นว่า เป็นยาวชีวก และใบพรหมี๓- ว่าเป็นยาวชีวิก. ใบมะม่วงอ่อนเป็นยาวกาลิก. ส่วนใบอโศกอ่อนเป็นยาวชีวิก.
               ก็หรือใบอื่นใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในพระบาลีว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตปัณณเภสัช (ใบไม้ที่เป็นยา) คือใบสะเดา ใบมูกมัน ใบกระดอม หรือกะเพรา หรือแมงรักใบฝ้าย, ก็หรือปัณณเภสัช แม้ชนิดอื่นใดบรรดามีที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรเคี้ยว ในของควรเคี้ยวที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรบริโภค ในของควรบริโภค๔- ดังนี้.
               ใบเหล่านั้นเป็นยาวชีวิก. และไม่ใช่แต่ใบอย่างเดียว แม้ดอกและผลของสะเดาเป็นต้นเหล่านั้นก็เป็นยาว
               ชีวิก (เหมือนกัน). จำพวกใบที่เป็นยาวชีวิกจะไม่มีที่สุดด้วยอำนาจการนับอย่างนี้ว่า ใบกระดอมหรือมูลกา ใบสะเดาหรือบอระเพ็ด ใบแมงรักหรืออ้อยช้าง ใบตะไคร้หรือผักคราด ใบพลู ใบบัวเป็นต้น.
____________________________
๑- ในอรรถกถาตกปโฏลกสาวํ ในพระบาลีมีครบ - ผู้ชำระ.
๒- วิ. มหา. เล่ม ๕/ข้อ ๒๙/หน้า ๔๒.
๓- วชิรพทฺธิ. แก้เป็น เทเมเตเยปณสา.
๔- วิ. มหา. เล่ม ๕/ข้อ ๓๐/หน้า ๔๒.

               [ว่าด้วยดอก ผล เมล็ด แป้ง และยางที่ควรเคี้ยว]               
               ในปุปผขาทนียะ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ดอกที่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรเคี้ยวและที่สำเร็จประโยชน์แก่ของที่ควรบริโภคของหมู่มนุษย์ ด้วยอำนาจแห่งอาหารตามปรกติในชนบทนั้นๆ มีอาทิอย่างนี้ คือดอกเผือกมัน ดอกลูกเดือย ดอกมันอ้อน ดอกมันแดง ดอกมะพลับ (ดอกมันใหญ่) ดอกผักโหมหัด ดอกผักไห่ ดอกยอป่า ดอกยอใหญ่ (ยอบ้าน) ดอกกระจับ ดอกอ่อนของมะพร้าว ตาลและการะเกด (ลำเจียก) ดอกกุ่มขาว ดอกมะรุม ดอกบัวชนิดอุบล และปทุม ดอกกรรณิการ์ ดอกไม้มีกลิ่น (ดอกคนทิสอ) ดอกชบา (ดอกทองหลาง) ดอกเทียนขาว เป็นยาวกาลิก.
               ส่วนดอกของพวกรุกขชาติ เช่น อโศก พิกุล กระเบา บุนนาค จำปา ชาตบุษย์ ชบา กรรณิการ์ คล้า (ตาเลีย) มะลิวัน มะลิซ้อนเป็นต้น เป็นยาวชีวิก. ดอกไม้ที่เป็นยาวชีวิกนั้น ไม่มีสิ้นสุดด้วยการนับ. แต่ผู้ศึกษาพึงทราบว่า สงเคราะห์ดอกไม้ที่เป็นยาวชีวิกนั้นเข้ากับกสาวเภสัชในพระบาลีนั่นแล.
               ในผลขาทนียะ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ผลไม้ทั้งหลายมีขนุน ขนุนสำปะลอ ตาล มะพร้าว มะม่วง ชมพู่ มะกอก มะขาม มะงั่ว มะขวิด น้ำเต้า ฟักเขียว ผลแตงไทย มะพลับ แตงโม มะเขือ (มะแว้ง) กล้วยมีเมล็ด กล้วยไม่มีเมล็ดและมะซางเป็นต้น (และ) จำพวกผลไม้ที่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรเคี้ยว และที่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรบริโภคของหมู่มนุษย์ด้วยอาหารตามปกติในชนบทนั้นๆ ในโลก ทุกๆ อย่างเป็นยาวกาลิก. และด้วยอำนาจการนับชื่อ ใครๆ ก็ไม่อาจจะแสดงผลไม้ที่เป็นยาวกาลิกเหล่านั้นให้สิ้นสุดได้.
               ก็แลผลเหล่าใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในพระบาลีว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผลเภสัช (ผลไม้ที่เป็นยา) คือลูกพิลังกาสา ดีปลี พริก สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม ผลแห่งโกฐ, ก็หรือผลเภสัชชนิดอื่นใดบรรดามี ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรเคี้ยวในของควรเคี้ยวที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรบริโภคในของควรบริโภค๑- ดังนี้.
               ผลเหล่านั้นเป็นยาวชีวิก. แม้ผลไม้ที่เป็นยาวชีวิกเหล่านั้น ใครๆ ก็ไม่อาจจะแสดงให้สิ้นสุดลงด้วยอำนาจแห่งชื่ออย่างนี้ คือ พวกผลแห่งหมากไฟ (ลูกเข็ม) ลูกไทร หรือตำลึง การะเกด (ลำเจียก) ไข่เน่า (มะตูม) เป็นต้นที่ยังไม่สุก ลูกจันทน์เทศ ลูกข่า (พริก) กระวานใหญ่ กระวาน (เล็ก) เป็นต้น.
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๕/ข้อ ๓๑/หน้า ๔๒-๔๓.

               ในอัฏฐิขาทนียะ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               เมล็ดทั้งหลาย มีอาทิอย่างนี้ คือเมล็ดขนุนสำปะลอ เมล็ดขนุน เมล็ดมะกอก เมล็ดหูกวาง เมล็ดของผลที่ยังอ่อนแห่งจำพวกอินทผลัม (เป้งก็ว่า) การะเกด (ลำเจียก) มะพลับ เมล็ดมะขาม เมล็ดตำลึง เมล็ดสะคร้อ เมล็ดบัว (ลูกบัว) ชนิดอุบลและปทุมที่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรเคี้ยว และที่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรบริโภค ด้วยอำนาจแห่งอาหารตามปรกติของหมู่มนุษย์ในชนบทนั้นๆ จัดเป็นยาวกาลิก. เมล็ดมีอาทิอย่างนี้ คือ เมล็ดมะซาง เมล็ดบุนนาค เมล็ดจำพวกสมอไทยเป็นต้น เมล็ดพันธุ์ผักกาด เมล็ดผักชีล้อม จัดเป็นยาวชีวิก. เมล็ดที่เป็นยาวชีวิกเหล่านั้น ผู้ศึกษาพึงทราบว่า สงเคราะห์เข้ากับผลเภสัชในพระบาลีนั่นแล.
               ในปิฏฐขาทนียะ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               แป้งทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้คือ แป้งแห่งธัญชาติ ๗ ชนิด ธัญชาติอนุโลมและอปรัณชาติ แป้งขนุน แป้งขนุนสำปะลอ แป้งมะกอก แป้งหูกวาง แป้งตาลที่ฟอกแล้ว แป้งหัวกลอย (เถาน้ำนม เถาข้าวสารก็ว่า) ที่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรเคี้ยว และที่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรบริโภคแห่งหมู่มนุษย์ด้วยอำนาจแห่งอาหารตามปรกติในชนบทนั้น จัดเป็นยาวกาลิก. แป้งตาลที่ยังไม่ได้ฟอก แป้งหัวกลอย (เถาน้ำนม เถาข้าวสารก็ว่า) แป้งต้นฟ้าแป้น๒- เป็นต้น (ที่ยังไม่ได้ฟอก) จัดเป็นยาวชีวิก. แป้งที่เป็นยาวชีวิกเหล่านั้น ผู้ศึกษาพึงทราบว่า สงเคราะห์เข้ากับพวกน้ำฝาดและพวกรากผล.
____________________________
๒- ต้นสาคู กระม้ง?

               ในนิยยาสขาทนียะ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ยางอ้อย๓- (น้ำอ้อยตังเม) อย่างเดียว เป็นสัตตาหกาลิก. ยางที่เหลือซึ่งตรัสไว้ในพระบาลีอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตชตุเภสัช (ยางไม้ที่เป็นยา) คือ ยางอันไหลออกจากต้นหิงคุ ยางอันเขาเคี่ยวจากก้านและใบแห่งต้นหิงคุ ยางอันเขาเคี่ยวจากใบแห่งต้นหิงคุ หรือเจือของอื่นด้วยยางอันไหลออกจากยอดไม้ตักกะ๔- ยางอันไหลออกจากใบแห่งต้นตักกะ ยางอันเขาเคี่ยวจากใบ หรือไหลออกจากก้านแห่งต้นตักกะ กำยาน ก็หรือชตุเภสัชชนิดอื่นใดบรรดามี ดังนี้ จัดเป็นยาวชีวิก. ใครๆ ก็ไม่อาจจะแสดงชตุเภสัชที่ท่านสงเคราะห์ด้วยเยวาปนกนัย ในพระบาลีนั้น ให้สิ้นสุดลงด้วยอำนาจแห่งชื่ออย่างนี้ คือยางกรรณิการ์ ยางมะม่วงเป็นต้น.
               บรรดาขาทนียะมีมูลขาทนียะเป็นต้นเหล่านี้ดังกล่าวมานี้ ยาวกาลิกชนิดใดชนิดหนึ่งแม้ทั้งหมด ท่านสงเคราะห์เข้าในอรรถนี้ว่า ที่เหลือ ชื่อว่าขาทนียะ (ของควรเคี้ยว). ส่วนคำที่ควรกล่าวในคำว่า โภชนะ ๕ อย่าง ชื่อว่าโภชนียะ (ของควรบริโภค) เป็นต้น ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วแล.
               คำว่า ขาทิสฺสามิภุญฺชิสฺสามีติ ปฏิคฺคณฺหาติ อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส มีความว่า ภิกษุใดรับประเคนขาทนียะและโภชนียะนั่นในเวลาวิกาล, ภิกษุนั้นต้องอาบัติทุกกฏในเพราะรับก่อน.
               บทที่เหลือในสิกขาบทนี้ตื้นทั้งนั้นแล.
               สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเอฬกโลมสิกขาบท เกิดขึ้นทางกาย ๑ ทางกายกับจิต ๑ เป็นกิริยา โนสัญญาวิโมกข์ อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม มีจิต ๓ มีเวทนา ๓ ดังนี้แล.
____________________________
๓- น้ำอ้อยตังเม คือน้ำอ้อย หรือน้ำตาลเคี่ยวเป็นตังเม - ผู้ชำระ.
๔- วิ. บาลีเป็นตกะ

               วิกาลโภชนสิกขาบทที่ ๗ จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์ ปาจิตติย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๗ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 504อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 508อ่านอรรถกถา 2 / 512อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=10873&Z=10931
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=8712
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=8712
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :